Skip to main content
sharethis

ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย กล่าวว่า  รู้สึกแปลกใจมากที่รัฐบาลพล.อ. สุรยุทธ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่กลับมติคณะรัฐมนตรีการเปิิดบานประตูเขื่อนปากมูล 


ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้เปิดเขื่อนปากมูนตามมติครม.ที่เคยมีอยู่ในรัฐบาลเดิม แต่ปรากฎว่าผ่านมา 2 อาทิตย์หลังจากนั้นคือ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา รัฐบาลกลับเปลี่ยนใจให้ปิดประตูเขื่อนปากมูลถาวรโดยที่ไม่มีการแถลงและไม่มีรายละเอียดใดๆกระทั่งทหารไปปิดประตูเขื่อนชาวบ้านจึงรู้ความจริงว่ามีการปิดเขื่อน ทำให้เขาเดือดร้อนมากเพราะได้ลงทุนซื้ออุปกรณ์หาปลาเพื่อฉลองการเปิดเขื่อน การกลับให้มีการปิดเขื่อนถือว่าเป็นมติครม.ที่สกปรกที่สุด


ผศ.ดร.ประภาส กล่าวอีกว่า  สาเหตุที่ทำให้มีการปิดประตูเขื่อนอีกครั้งเป็นหนึ่งในแนวทางกดดันชาวบ้านของรัฐทหารในพื้นที่ซึ่งทหารมักจะเข้าใจแบบง่ายๆ ว่าคนอีสานเป็นคนจนต้องเป็นคนมวลชนของระบอบทักษิณ ซึ่งขณะนี้บางโรงเรียนในพื้นที่มีทหารมาอยู่กว่าร้อยคน ถือว่าเป็นสภาวะที่ไม่ปกติเข้มงวดมากเกินไป ซึ่งเรื่องการปิดเขื่อนมาจากพล.อ.สุรินทร์  พิกุลทอง เป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน ของ ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนภายใต้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ซึ่งอยู่ภายใต้กองอำนวยการร่วมรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)  ที่มีพล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลินในฐานะผู้อำนวยการ กอ.รมน. 


โดยส่วนตัวเชื่อว่าการที่ครม.มีมติออกมาแบบนี้คงเป็นเพราะถูกหลอก เพราะเขาไม่ได้เขียนคำว่า "ปิดประตู" เขื่อนโดยตรง แต่เขียนแบบให้เข้าใจยากว่าปิดประตูเพื่อรักษาระดับน้ำที่ระดับ 106 - 108 ม.รก. ซึ่งเป็นระดับที่ใช้ปั่นไฟฟ้าทำให้ต้องปิดบานประตูเขื่อนทันที


"ชาวบ้านโกรธมาก ต้องการไปยึดเขื่อนคืน แต่พวกเราห้ามไว้เพราะไม่อยากให้มีเรื่องรุนแรง และทุกวันนี้ยังมีประกาศ คปค.ฉบับที่ 6 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ทำให้เคลื่อนไหวยาก ทหารแทรกแซงความเป็นอยู่ของชาวบ้านมากขึ้น ไปไหนมาไหนต้องตรวจบัตรประชาชนแม้แต่การนั่งรถไปตัดอ้อยก็ต้องถูกตรวจบัตรและต้องขออนุญาตจากทหารในพื้นที่ก่อน เมื่อเป็นเช่นนี้ถ้ามี พ.ร.บ.ความมั่นคงออกมาอีกเชื่อว่าทหารจะคุกคามรุกรานชาวบ้านมากกว่านี้และทำให้ชาวบ้านเกลียดทหารมากขึ้น นำไปสู่การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแน่นอน อยากให้คณะมนตรีความมั่นคงพึงสังวรไว้ และขอร้องว่าอย่าเหมารวมว่าคนยากจนต้องเป็นคนของอำนาจเก่าทั้งหมด  อย่าดูถูกกันแบบนี้ เพราะคนจนก็มีศักดิ์ศรี  เพราะจะทำให้ทหารเสียแนวร่วมโดยใช่เหตุ   ดังนั้น รัฐทหารต้องเปลี่ยนทัศนคติการปกครองใหม่และควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่าที่เป็นอยู่"  ผศ.ดร.ประภาส กล่าว


จากนั้น ผศ.ดร.ประภาส กล่าวต่อว่า ปัญหาเรื่องการปิดเขื่อนปากมูลเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ดังนั้น ทางคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย และภาคประชาชนหลายองค์กร จะจัดงานเสวนา เรื่อง  "มติครม. 12 มิ.ย. 2550  ปิดเขื่อนปากมูนถาวรเพื่ออะไร?" โดยมีนักวิชาการและตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมเสวนา อาทิ รศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย และสมาชิกสภานิติบัญญัติ  ศ.ดร.ประกอบ วิโรจน์กูฎ อธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  อาจารย์ศุภวิทย์ เปี่ยมพงษ์ศานต์ อดีตหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม  ผศ.บัณฑร อ่อนดำ อดีตประธานคณะกรรมการกลางแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีต สว. จ.อุบลราชธานี ดร.ชวลิต วิทยานานนท์ กองทุนสัตว์ป่าโลก ดร.เดชรัตน์  สุขกำเนิด  คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.ดร.กนกวรรณ มโนรมย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  รศ.ดร.สุธีร์ ประศาสน์เศรษฐ์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และอดีตอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนที่เกี่ยวข้องกับกฟผ. นายประสาร มฤคพิทักษ์ ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราพงศ์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ดร.นลินี ตันธุวนิตย์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  คุณวิฑูรย์  เพิ่มพงศาเจริญ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ                

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net