Skip to main content
sharethis

ชาวตูนีเซียประท้วงต่อต้านกฎหมายที่ชื่อ "กฤษฎีกา 54" ที่มักจะนำมาใช้ปราบปรามคนเห็นต่างจากผู้นำ หลังจากที่ผู้นำคนใหม่ทำตัวเป็นเผด็จการด้วยการยึดกุมอำนาจทำลายระบบถ่วงดุลในประเทศแล้วหันมาใช้คำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีเพื่อปกครอง ซึ่งกรณีการจับกุมนักข่าวหลายคนรอบล่าสุดทำให้เกิดการประณามจากนานาชาติ รวมถึงจากองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF)

2 มิ.ย. 2567 องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) แถลงการณ์ประณามรัฐบาลตูนีเซียที่ทำการยกระดับการคุกคามผู้สื่อข่าวรอบล่าสุด จากกรณีที่ตำรวจตูนีเซียจับกุมผู้สื่อข่าว 2 รายผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เมื่อวันที่ 11 พ.ค. และในวันเดียวกับที่มีการจับกุมนักข่าว 2 รายแรก ก็มีการคุกคาม ทำร้ายร่างกาย และควบคุมตัวนักข่าวอีก 2 ราย ที่รายงานในสื่อ France 24 เรื่องเกี่ยวกับการจับกุมนักข่าว 2 รายแรก

ในขณะที่มีการปล่อยตัวนักข่าว France 24 แล้วนักข่าว 2 รายแรกก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวและยังเพิ่งจะถูกตัดสินลงโทษด้วย ทาง RSF เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักข่าว 2 รายดังกล่าวนี้คือ บอร์เฮน บซาอีส ผู้สื่อข่าว-พิธีกรรายการวิทยุ IFM และ มูรัด เซกีดี ผู้สื่อข่าวของ Carthage+ TV โดยทันที

ทนายความของเซกีดีบอกว่าเขาถูกจับกุมเพราะ "การโพสต์โซเชียลมีเดียที่เขาได้แสดงการสนับสนุนโมฮัมเหม็ด บูกัลเหล็บ นักข่าวอีกรายหนึ่งที่ถูกลงโทษจำคุก 6 เดือนด้วยข้อหาหมิ่นประมาทจากคำพูดของเขาในรายการโทรทัศน์ตั้งแต่เดือน ก.พ."

ทนายความของบซาอีสกล่าวว่า ลูกความของเขาถูกจับกุมภายใต้กฎหมายกฤษฎีกา 54 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ควรจะนำมาใช้แก้ปัญหา "ข่าวปลอมและข่าวลือ" ออนไลน์ แต่มักจะถูกนำมาใช้ในการปิดกั้นสื่อและละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นประจำ

สถานการณ์ล่าสุดคือเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา มีคำสั่งตัดสินจำคุกต่อทั้ง บซาอีสและเซดีดี เป็นเวลา 1 ปี โดยอ้างว่าพวกเขาเผยแพร่ "ข่าวปลอม" และ "แพร่กระจายข่าวที่มีข้อมูลเท็จซึ่งมีเป้าหมายต้องการทำลายชื่อเสียงคนอื่น" ในขณะที่นักข่าวทั้งสองคนนี้ให้การในศาลปกป้องสิ่งที่พวกเขาทำว่าสิ่งเป็น "งานข่าว"

ตำรวจนายเดียวกับที่จับกุมทนายความ โซเนีย ดาห์มานี ที่สำนักงานใหญ่ของสมาคมทนายความ ได้ทำการคุกคามทำร้ายทีมงานโทรทัศน์สื่อ France 24 ด้วยในวันเดียวกัน โดยมีการฉุดกระชากนักข่าว มารีลีน ดูมาส และทุบตีทำร้ายรวมถึงจับกุมช่างภาพข่าว ฮัมดี ทลีลี ก่อนที่จะปล่อยตัวไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น

ดูมาส นักข่าวของ France 24 ผู้ที่ทำงานอยู่ในตูนีเซียเป็นเวลา 9 ปีแล้ว ได้กล่าวเสริมว่า ตำรวจทุบตีช่างภาพของเธอในตอนที่มีการจับกุมเขานอกจากนี้ยังมีการทุบตีทนายความที่พยายามเข้าไปยับยั้งเหตุการณ์ด้วย

คาเล็ก ดราเรนี ตัวแทน RSF ของภูมิภาคแอฟริกาเหนือกล่าวว่า การคุมขังนักข่าว 2 ราย และการโจมตีทีมงานของ France 24 เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นการยกระดับการปราบปรามสื่อในตูนีเซียที่น่าหวาดหวั่นอย่างมาก

"พวกเราขอสนับสนุนนักข่าวตูนีเซียและเรียกร้องให้หยุดการกีดขวางการทำงานอย่างร้ายแรง(ต่อการทำข่าว) ที่เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่ามีการตีกรอบเข้มงวดมากขึ้นจากรัฐบาลที่มีความเป็นอำนาจนิยมสูงขึ้น" ดราเรนีกล่าว

RSF  ระบุอีกว่าสถานการณ์ด้านเสรีภาพสื่อในตูนีเซียเลวร้ายลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้กฎหมายกฤษฎีกา 54 อย่างเป็นระบบ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวนี้มีการออกมาบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2565 เป็นต้นมา โดยประกาศเป้าหมายเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ระบบข้อมูลและการสื่อสาร กฤษฎีกาฉบับนี้กลายเป็นที่กังวลอย่างมากในวงการสื่อและจากสังคมโดยรวมมาตั้งแต่แรก และทาง RSF ยังคงเรียกร้องต่อไปให้มีการยกเลิกกฤษฎีกา 54 นี้

หวั่นประชาธิปไตยถดถอย เมื่อผู้นำตูนีเซียปรับ ครม. หลังการกวาดจับผู้คน

ประธานาธิบดีของตูนีเซีย คาอิส ซาอีด ทำการปรับคณะรัฐมนตรีของตูนีเซีย โดยมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในคนใหม่ คาเล็ด นูรี มาแทนที่ คาเมล เฟกี นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้ง สายเทคโนแครตอย่าง คาเมน มาดูรี มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกิจการสังคมแทนที่ มาเล็ก ซาฮี อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนตัวผู้ดูแลด้านความมั่นคงภายใต้กระทรวงกิจการภายในด้วย

การปรับครม. ในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่มีการกวาดจับนักข่าว,นักสิทธิมนุษยชน และทนายความ ประมาณ 10 ราย ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้

จากข้อมูลของสมาคมนักข่าวแห่งชาติตูนีเซียระบุว่ามีนักช่าว, ทนายความ และฝ่ายค้านมากกว่า 60 ราย แล้วที่เผชิญกับการถูกลงโทษด้วยกฎหมายกฤษฎีกา 54 ในจำนวนนี้เป็นนักข่าว 6 ราย

ทางสหภาพยุโรป สหประชาชาติ และฝรั่งเศสที่เคยเป็นประเทศเจ้าอาณานิคมของตูนีเซีย ต่างก็แสดงความเป็นห่วงต่อการจับกุมผู้คนเหล่านี้ ซึ่งประธานาธิบดี ซาอีด โต้ตอบท่าทีเหล่านี้จากต่างชาติว่าเป็น "การแทรกแซงจากต่างชาติอย่างยอมรับไม่ได้"

ชุมนุมประท้วงต้านกฎหมายกฤษฎีกา 54 ประณามผู้นำทำตัวเผด็จการ

เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ยังส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากเดินขบวนไปตามเมืองหลวงของตูนีเซียเพื่อประท้วงต่อต้านรัฐบาลและต่อต้านกฎหมายกฤษฎีกา 54 ที่ถูกมองว่านำมาใช้เล่นงานผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลด้วย

ผู้ประท้วงพากันประสานเสียงคำขวัญว่า "เผด็จการจงพินาศ" และ "กฤษฎีกา(54)จงพินาศ"  นอกจากนี้ยังมีการตะโกนคำขวัญ  "เผด็จการคาอิส (ซาอีด) มันถึงตาคุณแล้ว" ด้วย ซึ่งเป็นคำขวัญแบบเดียวกับที่ใช้ต่อต้านเผด็จการในอดีตที่ชื่อ ซีเน เอล อาบีดีน เบน อาลี ในช่วงที่มีการลุกฮืออาหรับสปริงปี 2554

ซาอีด ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นประธานาธิบดีตามระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา แต่ก็ทำการยึดกุมอำนาจตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา โดยมีการสั่งชัทดาวน์รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งแล้วปกครองโดยอาศัยอำนาจจากคำสั่งพิเศษโดยอ้างกฎหมายกฤษฎีกาแทน นอกจากนี้ซาอีดยังทำการยึดอำนาจตุลาการของประเทศด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝ่ายค้านบอกว่าเทียบได้กับเป็นการรัฐประหาร

คาเมล มาสซูด ทนายความของเซกีดีประณามกฎหมายกฤษฎีกา 54 ว่า "ขัดหลักรัฐธรรมนูญ" และกล่าวอีกว่า "เมื่อการเมืองเข้ามาในศาล ความยุติธรรมก็จากไป"

ถึงแม้ว่าตั้งแต่การปฏิวัติตูนีเซียเพื่อโค่นล้มเผด็จการยุคปี 2554 เป็นต้นมา ตูนีเซียจะเป็นประเทศที่มีความเปิดกว้างของสื่ออย่างมากแห่งหนึ่งในโลกอาหรับ แต่ในปัจจุบันทั้งนักการเมือง, นักข่าว และสหภาพแรงงานต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเสรีภาพสื่อกำลังตกอยู่ในอันตรายนับตั้งแต่ ซาอีดขึ้นเป็นประธานาธิบดี


เรียบเรียงจาก
Another escalation in Tunisia’s persecution of journalists, RSF, 13-05-2024
Tunisia’s President Saied reshuffles cabinet after wave of arrests, France 24, 26-05-2024
‘Down with dictatorship’: Tunisians rally against gov’t crackdown on media, Aljazeera, 25-05-2024
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net