Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ก่อนเข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 21 มันแทบจะเป็นไปได้ยากมากที่ใครๆจะสามารถจินตนาการถึงสถานการณ์ที่ประเทศเพื่อนบ้านอดีตอาณานิคมของฝรั่งเศส และผู้สนับสนุนกบฎพรรคคอมมิวนิสต์รายใหญ่บริเวณพรมแดนไทย-ลาวอย่าง ‘เวียดนาม’ จะสามารถขยายอิทธิพลขึ้นมามีสถานะเป็นผู้นำภูมิภาคของกลุ่ม ASEAN ได้ เพราะหากพิจารณาจากบริบทในยุค 1980s นั้น ประเทศที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักใน ASEAN ก็มีแค่ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์เท่านั้น ยิ่งเมื่อย้อนกลับไปเพ่งพิจยังขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ก็จะเห็นว่าตามหลังไทยเราเป็นเกือบ 10 เท่า เมื่อมีการกล่าวถึงสถานะ “เสือของเอเชีย” จึงไม่มีใครคาดคิดว่าวันหนึ่งมันจะตกมาอยู่ที่เวียดนาม

อย่างไรก็ตาม เมื่อเถลิงศกศตวรรษใหม่ เพื่อนบ้านคอมมิวนิสต์ของไทยรายดังกล่าวนี้ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการเจริญเติบโตที่ชัดเจนมากขึ้น เวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่แนวโน้มประชากรวัยเกษียณขยายตัวค่อนข้างช้า สวนทางกับทั้งไทยที่มีอัตราการขยายตัวของประชากรสูงอายุสูงเป็นอันดับต้นๆของ ASEAN ประชากรวัยแรงงาน (working-age population) ของเวียดนามก็ยังอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจและมั่นคงมากพอในสายตาของนักลงทุนทั่วโลกด้วยตัวเลขที่สูงกว่า 75,000,000 คน หรือคิดเป็นเกือบ 70% ของประชากรทั้งประเทศขณะที่ของไทยมีประชากรวัยพร้อมทำงานอยู่เพียงประมาณ 40,000,000 คน น้อยกว่าเวียดนามเกือบครึ่ง เสถียรภาพทางการเมืองก็ไม่มี ผู้มีอำนาจในรัฐบาลจะปรับคณะรัฐมนตรีครั้งหนึ่งยังประสบปัญหาภายในมากมาย 

สิ่งเหล่านี้ คือ สิ่งที่รัฐบาลไทยมอบให้แก่นักลงทุนต่างชาติไม่ได้ แต่รัฐบาลคอมมิวนิสต์เวียดนามสามารถทำได้ ด้านหนึ่งเพราะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว รัฐประหารจากคู่แข่งทางการเมืองยิ่งแล้วใหญ่ ไม่มีผู้นำกองทัพตั้งตนเป็นปรปักษ์ให้รบกวนจิตใจ ข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (Vietnam-EU FTA) จึงคลอดออกมาได้ก่อนไทย นับจำนวน FTA แล้วก็ถือว่ามากกว่าไทย หากเทียบเอาจากสถิติปี 2022 จะเห็นได้ว่า GDP ของเวียดนามตามหลังไทยอยู่แค่ประมาณ 20% เท่านั้น แทบจะปิดช่องว่างที่เคยมีมานานร่วมหลายทศวรรษไปได้ง่ายๆภายในไม่เกินห้วง 10-20 ปีข้างหน้านี้แล้ว 

อย่าลืมว่าตั้งแต่มีสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี และการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกาในยุค Donald Trump และ Joe Biden จนเกิดการปรับห่วงโซ่อุปทานใหม่นั้น เวียดนามกลับเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและการลงทุนตั้งข้อสังเกตไว้ว่าจะเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุด แทนที่จะเป็นประเทศไทย เหตุผลง่ายๆ คือ เวียดนามมีพรมแดนติดกับจีนมากที่สุด นายทุนยักษ์ใหญ่ไม่ว่าจะไต้หวัน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ที่เคยเข้าไปตั้งโรงงานในจีนล้วนชี้นิ้วไปที่เวียดนามทั้งสิ้น เพราะเวียดนามมี FTA และมีรัฐบาลที่สามารถสนับสนุน/อำนวยความสะดวกในการย้ายฐานการผลิตแก่พวกเขาเหล่านั้นได้ ในขณะที่ไทยจะทำ FTA กับสหภาพยุโรปทีหนึ่งยังต้องมัวไปวิ่งแก้ปัญหาการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงอยู่เลย 10 ปีที่ผ่านมาระหว่างที่ไทยเสียเวลากับการรัฐประหารนั้น เวียดนามเพื่อนบ้านธงแดงกลับใช้เวลาไปกับการเปิดบ้านต้อนรับนักล็อบบี้จากทั้งจีน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือแม้แต่รัสเซีย 

ถึงแม้เวียดนามจะยังไม่ใช่มหาอำนาจด้านการทหารเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในละแวกใกล้เคียงกัน แต่ในไม่ช้าเวทีการเมืองโลกอาจได้เห็นการแสดงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เพราะหากย้อนกลับไปดูเมื่อปี 2023 จะพบว่าหนึ่งในประเทศที่พยายามเข้าไปผสมโรงมีบทบาทด้านมนุษยธรรมในยูเครน คือ เวียดนาม ที่กระทำคู่ขนานไปกับการพยายามเสนอตัวเป็นคนกลางระหว่างยูเครน-รัสเซีย โดยใช้ความได้เปรียบด้านความสัมพันธ์ทางการทูตที่เวียดนามมีต่อรัสเซียมายาวนาน ซึ่งสะท้อนเป็นที่ประจักษ์จากกรณีที่จีนพยายามแสดงบทบาทอันก้าวร้าวในพื้นที่ทะเลจีนใต้ด้วยการนำขบวนเรือยามฝั่ง (China Coast Guard) มาลาดตระเวนใกล้ๆชายฝั่งเวียดนาม แต่เวียดนามนั้นเลือกวิธีหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า (confrontation approach) อย่างแยบยลด้วยการดึงกลุ่มทุนพลังงานยักษ์ใหญ่ Gazprom รัฐวิสาหกิจของรัสเซียเข้ามาร่วมลงทุนขุดเจาะก๊าซธรรมชาติกับเวียดนามเพื่อใช้อิทธิพลของรัสเซียคานกับจีนในทะเลจีนใต้

รัฐบาลเวียดนามทราบดีว่าการอยู่ร่วมกับสองมหาอำนาจอย่างจีนและรัสเซียนั้นไม่เพียงพอสำหรับการอยู่รอดในสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ยุคสงครามการค้า และการแย่งชิงเขตอิทธิพลในภูมิภาคเอเชีย นำมาซึ่งการติดต่อขอการสนับสนุนด้านระบบป้องกันชายฝั่งจากรัฐบาลอินเดีย ช่วยให้รัฐบาลเวียดนามยังสามารถคงนโยบายต่างประเทศตามยุทธศาสตร์ Four-Nos ดั้งเดิมของตนเองได้ พร้อมๆไปกับการแสดงบทบาทในเวทีโลกที่เพิ่มขึ้น อีกประเด็นที่น่าติดตาม คือ เมื่อ 5 ปีก่อน บทสนทนาของผู้นำในประชาคมระหว่างประเทศอาจมีแต่เรื่องที่จีนสามารถส่งคนของตนเองไปนั่งยังตำแหน่งระดับบริหารขององค์การระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติได้หลายคน แต่มาถึงในปี 2024 นี้ บทสนทนาเหล่านั้นกำลังหันเหไปที่เวียดนามที่สามารถส่งคนสัญชาติตนเองเข้าไปนั่งที่ตำแหน่งระดับท็อปของ UNESCO ได้ อีกทั้งการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ASEAN Future Forum 2024 ที่ฮานอยนั้น ตามบทสัมภาษณ์ของเอกอัครราชทูต Nguyen Hai Bang ยังสะท้อนถึงความพยายามของเวียดนามในการเป็นผู้ร่วมกำหนดกติกาในเวทีภูมิภาคของ ASEAN ด้วย

ห้วงที่ผ่านมาเวียดนามอาจประสบปัญหาความยุ่งยากจากการเมืองภายใน มีผู้บริหารระดับสูงลาออกหลายคน แต่เวียดนามก็ยังสามารถคุมทิศทางนโยบายต่างประเทศให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์มองไปข้างนอกให้ไกลกว่าแค่ประเทศรอบบ้าบบ้านในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง และเอเชียตะวันออก (traditional continental orientation) ที่ชนชั้นนำในเวียดนามมักประพฤติปฏิบัติกันมายาวนาน ซึ่งสอดคล้องกับข้อคิดของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทยท่านหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์จะออกนามที่เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่าเวียดนามมีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ ASEAN ควบคู่กับอินโดนีเซียในห้วงทศวรรษถัดไปได้ แต่มีเงื่อนไขสำคัญ คือ ต้องสามารถลดทอนปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ที่มีต่อจีนลงให้ได้ก่อน โดยมีแนวโน้มสูงที่จะต้องใช้กลไกระเบียบระหว่างประเทศที่มีกฎกติกากลางเป็นที่ตั้ง (rules-based international order) เข้าช่วย ซึ่งประเด็นข้างต้นนี้มีอุปสรรคสำคัญ คือ ความสัมพันธ์พิเศษที่เวียดนามมีต่อรัสเซีย ทำให้เวียดนามมีข้อจำกัดในการแสดงบทบาทบนเวทีโลกในกรณีที่เกี่ยวข้องกับรัสเซีย และที่สำคัญที่สุดจะเป็นเงื่อนไขที่ผูกมัดเวียดนามให้ไม่สามารถประณามการกระทำของรัสเซียต่อยูเครนได้ 

ทั้งนี้ทั้งนั้น ท่ามกลางความท้าทายทั้งหมดที่มีต่อเวียดนาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในปัจจุบันเปิดโอกาสให้เวียดนามสามารถแสดงบทบาทและสถานะบนเวทีโลกได้มากขึ้นในฐานะประเทศที่มีอัตราการเติบโตดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่นานเวียดนามอาจแซงไทยขึ้นเป็นมหาอำนาจของ ASEAN ได้ และถึงบทบาทของเวียดนามบนเวทีโลกอาจจะยังไม่มากเท่าไทย สิงคโปร์ หรืออินโดนีเซีย แต่ประสบการณ์ที่เวียดนามใช้ในการเอาตัวรอดจากการรายล้อมที่เข้มข้นเต็มไปด้วยมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นไม่ได้ด้อยไปกว่าไทยเลย ในขณะที่ไทยยังหลงกับความฝันการเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย และความภาคภูมิใจในอดีตจากการเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ASEAN และการเปิดพื้นที่เจรจาให้แก่มหาอำนาจจากต่างถิ่น เวียดนามกำลังดำเนินการแย่งชิงพื้นที่การค้าจากไทยโดยอาศัยความสัมพันธ์พิเศษที่มีต่อทั้งรัสเซีย สหรัฐอเมริกา และประเทศคู่ค้ารายใหญ่อื่นๆ ทำให้มีเม็ดเงินจากการปรับห่วงโซ่อุปทานระดับโลกไหลเข้ามายังเวียดนามอย่างต่อเนื่อง
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net