Skip to main content
sharethis

เร่งเครื่อง “หนึ่งตำบล หนึ่งกลุ่มอาชีพอิสระ” หวังเพิ่มศักยภาพแรงงานอิสระทั่วประเทศ

นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.รง. เร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบาย “หนึ่งตำบล หนึ่งกลุ่มอาชีพอิสระ” ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยมอบหมายให้คณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพอิสระ ที่มีตนเป็นประธาน ลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี ร่วมกับ เรือเอก สาโรจน์ คมคาย รองปลัดกระทรวงแรงงาน และเจ้าหน้าที่ เพื่อเก็บข้อมูลและศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ โดยได้พบปะพี่น้องแรงงานอิสระ 4 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช กลุ่มแปรรูปปลาเม็ง อ.บ้านนาเดิม กลุ่มทอผ้า อ.วิภาวดี และกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งผลจากการลงพื้นที่ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการตามนโยบายของ รมว.รง.ได้อย่างแน่นอน

โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รมว.รง. ต้องการให้คณะทำงานลงไปค้นหากลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีความเข้มแข็ง มีสินค้าหรือบริการของกลุ่มที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ยังขาดการส่งเสริมสนับสนุนและต่อยอดแบบครบวงจร โดยเน้นการพัฒนาความรู้ เช่น เรื่องกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อยกระดับจากสินค้าธรรมดาให้เป็นสินค้าหรือบริการระดับ Premium และเป็น Soft Power ของท้องถิ่น จากนั้นจึงส่งเสริมการขายและเชื่อมโยงไปสู่ตลาดทั้งภายในประเทศที่จะร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานของกระทรวงแรงงานที่กระจายอยู่ทุกพื้นที่ รวมไปถึงตลาดต่างประเทศที่มีสำนักงานแรงงานประจำอยู่ ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังตลาดในภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งนี้คณะทำงานจะนำเสนอแนวทางการดำเนินงานต่อ รมว.รง. ในการประชุมผู้บริหารกระทรวงในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้

"ตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไปจะเริ่มเห็นภาพของโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งกลุ่มอาชีพอิสระที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งตนเชื่อว่าเมื่อ รมว.รง.ได้รับทราบแนวทางที่คณะทำงานจะนำเสนอแล้วก็จะมีข้อสั่งการเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ บูรณาการร่วมกันและผลักดันให้เกิดผลสำเร็จต่อไป โดยมีเป้าหมายเพื่อให้พี่น้องแรงงานอิสระมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีรายได้ดูแลตนเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี" นายภูมิพัฒน์ กล่าว

ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย, 2/6/2567

บีโอไอ ดึงดูดแรงงานฝีมือดี-ทักษะสูง 5.6 หมื่นราย

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายสำคัญสำหรับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ทั้งบุคลากรที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญพิเศษ (Talent) นักลงทุน และผู้ที่ต้องการเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในประเทศไทย โดยมีแนวโน้มได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งแนวโน้มการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตและบุคลากรที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งกลุ่ม Talent ต่างชาติเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาทำงานร่วมกับบุคลากรไทย เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของไทยให้ก้าวสู่เศรษฐกิจใหม่ ในปัจจุบันมีบุคลากรต่างชาติกว่า 56,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัญชาติญี่ปุ่น จีน อินเดีย ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ที่ได้รับอนุมัติผ่านศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (One Stop Service) ที่ชั้น 18 อาคารจามจุรีสแควร์ ซึ่งเป็นการให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว รวมทั้งมีการให้บริการผ่านระบบออนไลน์ Single Window โดยความร่วมมือระหว่างบีโอไอ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงแรงงาน

“ท่ามกลางกระแสการแย่งชิงบุคลากรที่มีศักยภาพสูง หรือ Talent War ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประเทศไทยมีศักยภาพหลายด้านที่ดึงดูด Talent และบุคลากรชาวต่างชาติที่มีคุณภาพสูงให้เข้ามาทำงานและอยู่อาศัย

ทั้งโอกาสทางธุรกิจที่หลากหลาย ความน่าอยู่และความเป็นมิตรของคนไทย ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีดิจิทัล โรงเรียนนานาชาติกว่า 200 แห่ง โรงพยาบาลชั้นนำมาตรฐาน JCI มากกว่า 60 แห่ง ซึ่งสูงสุดในอาเซียน สามารถรองรับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และที่สำคัญคือการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน ซึ่งเป็นภารกิจที่บีโอไอให้ความสำคัญมาโดยตลอด และเดินหน้าพัฒนาการให้บริการของศูนย์ One Stop Service รวมทั้งระบบบริการออนไลน์ Single Window ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายนฤตม์ กล่าว

ในจำนวนบุคลากรต่างชาติกว่า 56,000 คน ที่ได้รับอนุมัติให้เข้ามาทำงานและพำนักในประเทศไทยในปัจจุบัน ประกอบด้วย ผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่เข้ามาทำงานภายใต้โครงการที่ได้รับการส่งเสริม

การลงทุน จำนวนประมาณ 50,000 คน นอกจากนี้ เป็นชาวต่างชาติที่ได้รับอนุมัติภายใต้ SMART Visa ซึ่งเป็นวีซ่าเพื่อดึงดูดบุคลากรทักษะสูงเข้ามาทำงานและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เน้นขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งกลุ่ม Startup รวมทั้งสิ้น 2,170 คน ส่วนใหญ่มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา รัสเซีย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และเยอรมัน

สำหรับวีซ่าพำนักระยะยาวหรือ Long-Term Resident Visa (LTR Visa) ซึ่งเป็นมาตรการล่าสุดที่รัฐบาลได้มอบหมายให้บีโอไอเป็นผู้รับผิดชอบหลัก เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่มเข้าสู่ประเทศไทย ได้แก่ 1) ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ 2) ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย 3) ผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง 4) ผู้เกษียณอายุ รวมทั้งผู้ติดตาม สามารถพำนักในประเทศไทยได้ 10 ปี ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เดินทางเข้าออกประเทศ อีกทั้งจะได้รับอนุญาตให้ทำงาน โดยลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ เหลือร้อยละ 17 และยังได้รับการผ่อนปรนระยะเวลาการรายงานตัวกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จากปกติทุก 90 วัน เป็นปีละ 1 ครั้ง โดยปัจจุบันได้อนุมัติ LTR Visa รวมทั้งสิ้นกว่า 4,000 คน มาจากสหรัฐอเมริกามากที่สุด 791 คน รองลงมา ได้แก่ รัสเซีย 479 คน สหราชอาณาจักร 332 คน จีน 277 คน เยอรมัน 236 คน ญี่ปุ่น 207 คน และฝรั่งเศส 198 คน

ที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติวีซ่าดังกล่าวให้แก่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำระดับโลก ที่มีการลงทุนหรือตั้งสำนักงานในประเทศไทยหลายแห่ง อาทิ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี, บริษัท โรเบิร์ตบ๊อช ออโตโมทีฟ เทคโนโลยีส์, บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์, บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์, บริษัท ไอเอชไอ พาวเวอร์ ซิสเต็ม, บริษัท ดูคาติ มอเตอร์, บริษัท อะเมซอน ดาต้า เซอร์วิสเซส เป็นต้น

ทั้งนี้ Smart Visa และ LTR Visa ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษเข้ามาทำงานในระยะยาว กระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและ

องค์ความรู้ ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเกิดเม็ดเงินในการใช้จ่ายโดยตรงของชาวต่างชาติกระจายไปยังภาคส่วนอื่น ๆ ของประเทศ

ที่มา: AEC10NEWS, 31/5/2567

เฉลี่ยแล้ววัยแรงงานในกรุงเทพและนนทบุรี มีวุฒิการศึกษาสูงกว่าจังหวัดอื่น

ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาวิเคราะห์สภาพการได้รับการศึกษาของประชากรไทยวัยแรงงานกลุ่มอายุ 15-59 ปี ส่วนใหญ่มีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยอยู่ที่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นแต่เป้าหมายของแผนการศึกษาแห่งชาติกำหนดไว้ที่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือสูงกว่า

โดยวัยแรงงานที่อาศัยในกรุงเทพฯ และนนทบุรีมีการศึกษาเฉลี่ยสูงที่สุดคืออยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รองลงมาเป็นพระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ทั้งนี้จังหวัดที่มีความสามารถในการผลักดันการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาของประชากรไทยวัยแรงงานสูงที่สุด 5 อันดับแรก คือ แพร่ จันทบุรี พะเยา ร้อยเอ็ด และลพบุรี

ดร.อรรถพล กล่าวต่อไปว่า หากจะให้บรรลุตามเป้าหมายของแผนการศึกษาแห่งชาติกำหนด ภาครัฐควรสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานในทุกระดับการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงศึกษาธิการต้องจัดทำระบบรับและติดตามนักเรียนเข้ารับการศึกษาที่เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ ด้วยการใช้บัตรประจำตัวประชาชนในการยืนยันข้อมูล

ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนที่รับผิดชอบด้านการศึกษา และผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการติดตามเด็กให้เข้ารับการศึกษา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดควรผลักดันการจัดตั้งเครือข่ายอาสาสมัครการศึกษาประจำหมู่บ้านเพื่อติดตาม ดูแล และให้ความช่วยเหลือครอบครัวหรือเด็กในพื้นที่ด้านการศึกษา

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ และกระทรวงแรงงาน ร่วมส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาเชิงรุกให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มประชากรวัยแรงงานในสถานประกอบการ และผู้เรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ตลอดจนสนับสนุนจัดการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เพื่อเป็นทางเลือกให้กลุ่มบุคคลต่าง ๆ ที่ไม่สามารถเข้าเรียนในระบบโรงเรียนปกติให้กลับเข้ารับการศึกษา

ขณะเดียวกันสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้เร่งดำเนินการพัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิตเพื่อนำสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในทุกระดับการศึกษา เนื่องจากเป็นระบบที่เอื้อให้ประชาชนสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ตลอดตามความสะดวกและความจำเป็นของชีวิต

ที่มา: ข่าวสด, 30/5/2567

รมว.แรงงาน หารืออิสราเอล เพิ่มจ้างแรงงานไทย

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงฯ หารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท แห่งรัฐอิสราเอล ณ กรุงเทลอาวีฟ รัฐอิสราเอล โดยฝ่ายไทยได้เสนอ 3 ประเด็น คือ 1.เพิ่มโควตาจ้างแรงงานภาคเกษตร จากปีละ 6,000 คน เป็น 20,000 คน 2.ขอแรงงานไทยที่ทำงานครบ 5 ปี 3 เดือน กลับมาทำงานอิสราเอลได้อีก 3.เพิ่มการจัดส่งแรงงานภาคก่อสร้างแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีทุกประเด็น พร้อมแจ้งว่าอิสราเอลมีความต้องการจ้างแรงงานภาคก่อสร้างถึง 25,000 อัตรา

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 29/5/2567

ออมสิน ให้กู้ 150,000 บาท แรงงานกลับจากอิสราเอล ผ่อน 20 ปี ปีแรกจ่ายแค่ดอก

ธนาคารออมสิน ปล่อย “สินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย” จากอิสราเอล ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามและเหตุการณ์ความไม่สงบ กู้ได้ไม่เกินรายละ 150,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 20 ปี

คุณสมบัติผู้กู้

เป็นผู้ไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามและเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล มีอาชีพเดิมค้าขาย หรือ อาชีพอิสระ หรือ อาชีพอื่น นอกภาคการเกษตร และไม่ใช่เกษตรกร

เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เมื่อรวมอายุผู้กู้กับระยะเวลาที่ชำระเงินกู้ต้องไม่เกิน 60 ปี

ณ วันยื่นขอสินเชื่อ อาศัยอยู่ในประเทศไทย และมีถิ่นที่อยู่อาศัยแน่นอน สามารถติดต่อได้

วัตถุประสงค์การกู้

เพื่อชำระหนี้ที่กู้ยืมสำหรับการไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล และ หรือลงทุนประกอบอาชีพที่ไม่ใช่เกษตรกร

จำนวนเงินให้กู้

ให้กู้ตามความจำเป็นและความสามารถในการชำระหนี้ไม่เกินรายละ 150,000 บาท โดยไม่นับรวมกับวงเงินสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นของธนาคาร

ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้

ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นงวดรายเดือน โดย 12 งวดแรกไม่ต้องชำระเงินต้น จ่ายแต่ดอกเบี้ย

ระยะเวลาชำระคืนสูงสุดไม่เกิน 20 ปี เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด

อัตราดอกเบี้ย

อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอก ร้อยละ 3.00 ต่อปี  (Effective Rate) ลูกค้ารับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1.00 ต่อปี รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย ร้อยละ 2.00 ต่อปี

อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เท่ากับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามสัญญา บวกร้อยละ 3.00 ต่อปี ของเงินต้นที่ถึงกำหนดชำระ

ระยะเวลาดำเนินการ

ยื่นขอสินเชื่อและจัดทำนิติกรรมสัญญาให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2567 หรือจนกว่าจะครบวงเงินโครงการ

เอกสารประกอบการขอกู้

สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และ/หรือ สำเนาหนังสือเดินทาง (Passport)

หลักฐานการจ้างงานไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล

กรณีกู้เพื่อชำระหนี้ ใช้เอกสารแสดงการเป็นหนี้เพื่อเดินทางไปทำงานต่างประเทศ (อิสราเอล)

เอกสารแสดงการประกอบอาชีพเดิม (ถ้ามี) เช่น ภาพถ่าย ใบจดทะเบียนการค้า เอกสารการจ้างงาน เป็นต้น

ที่มา: ธนาคารออมสิน, 28/5/2567

เปิดอาชีพติดท็อปของแรงงานข้ามชาติ 3.3 ล้านคน ในประเทศไทย

สํานักบริหารแรงงานต่างด้าว ของกรมการจัดหางาน ภายใต้กระทรวงแรงงาน ได้จัดทําสถิติจํานวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทํางานคงเหลือทั่วราชอาณาจักรขึ้น รายละเอียดประเภทแรงงานต่างด้าว จำนวนแรงงานต่างด้าว และประเภทอาชีพที่ได้รับอนุญาตทํางานมากที่สุด มีดังนี้

ประเภทแรงงานต่างด้าว

คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทํางานในประเทศไทย ตามพระราชกําหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกําหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว (ฉบับ 2) พ.ศ. 2561 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1. คนต่างด้าวตลอดชีพ ได้แก่ คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทํางานตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 322 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515

2. คนต่างด้าวมาตรา 59 (ประเภททั่วไป) ได้แก่ คนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โดยมิใช่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยว หรือผู้เดินทางผ่าน และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กําหนดในกฎกระทรวง

3. คนต่างด้าวมาตรา 59 (ประเภทนําเข้าตาม MOU) ได้แก่ คนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่เข้ามาทํางานตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลประเทศคู่ภาคี

4. คนต่างด้าวมาตรา 62 (ประเภทส่งเสริมการลงทุน) ได้แก่ คนต่างด้าวที่เข้ามาทํางานในราชอาณาจักร ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน (พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520) หรือกฎหมายอื่น ได้แก่ พระราชบัญญัตินิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 เช่น นักลงทุน ช่างฝีมือ ผู้ชํานาญการ

5. คนต่างด้าวมาตรา 63/1 (ประเภทชนกลุ่มน้อย) ได้แก่ คนต่างด้าวที่ไม่ได้รับสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ และกระทรวงมหาดไทยได้ออกเอกสารเพื่อรอพิสูจน์สถานะยื่นขอใบอนุญาตทํางาน

6. คนต่างด้าวมาตรา 64 ได้แก่ คนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาทํางานบริเวณชายแดนในลักษณะไป-กลับ หรือตามฤดูกาลในพื้นที่ความตกลงว่าด้วยการสัญจรข้ามแดนระหว่างราชอาณาจักรไทยกับประเทศที่ติดกับราชอาณาจักรไทย

7.คนต่างด้าวมาตรา 63/2 ได้แก่ แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร และอนุญาตให้ทํางานเป็นการชั่วคราวตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้แก่ กลุ่มคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 และกลุ่มคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566

ณ เดือนเมษายน 2567 คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทํางานทั่วราชอาณาจักร มีจํานวนทั้งสิ้น 3,326,034 คน จําแนกตามลักษณะการเข้าเมืองสรุปรายละเอียดได้ ดังนี้

มาตรา 59 จํานวนรวม 723,413 คน แบ่งเป็น

ตลอดชีพ* จํานวน 5 คน

ประเภททั่วไป จํานวน 125,017 คนนําเข้าตาม MOU จํานวน 598,391 คน

มาตรา 62 ส่งเสริมการลงทุนและกฎหมายอื่น ๆ จํานวน 54,097 คน

มาตรา 63/1 ชนกลุ่มน้อย จํานวน 90,450 คน

มาตรา 63/2 มติ ครม. 7 กุมภาพันธ์ 2566 จํานวน 1,608,135 คน

มติ ครม. 3 ตุลาคม 2556 จํานวน 813,869 คน

มาตรา 64 คนต่างด้าวที่เข้ามาทํางาน ไป-กลับหรือตามฤดูกาล จํานวน 36,070 คน

ประเภทอาชีพที่ได้รับอนุญาตทํางานมากที่สุด 3 อันดับแรก ในแต่ละประเภทแรงงาน

มาตรา 59 ประเภททั่วไป

ผู้จัดการบริษัท, เจ้าหน้าที่บริหารของหน่วยงานเอกชน จํานวน 66,961 ตำแหน่ง

ผู้ประกอบวิชาชีพด้านการสอนจํานวน 35,616 ตำแหน่ง

ผู้ประกอบวิชาชีพด้านอื่น ๆ จํานวน 11,236 ตําแหน่ง

มาตรา 59 ประเภทนําเข้าตาม MOU

กิจการก่อสร้าง 121,939 ตำแหน่ง

กิจการต่อเนื่องการเกษตร 85,189 ตำแหน่ง

จําหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 65,662 ตำแหน่ง

มาตรา 62 ประเภทส่งเสริมการลงทุน

ผู้จัดการบริษัท, เจ้าหน้าที่บริหารของหน่วยงานเอกชนจํานวน 26,843 ตำแหน่ง

ผู้ปฏิบัติงานเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์จํานวน 11,038 ตำแหน่ง

ผู้ประกอบวิชาชีพด้านฟิสิกส์-คณิตศาสตร์ จํานวน 6,041 ตำแหน่ง

มาตรา 63/1 ประเภทชนกลุ่มน้อย

แรงงานเหมืองแร่ ก่อสร้าง การผลิตและการขนส่งจํานวน 63,952 ตำแหน่ง

ผู้ปฏิบัติงานในเหมืองแร่และงานก่อสร้างจํานวน 7,422 ตำแหน่ง

ผู้ให้บริการส่วนบุคคลและการบริการด้านความปลอดภัยจํานวน 5,905 ตําแหน่ง

มาตรา 63/2 ตามมติ ครม. 7 กุมภาพันธ์ 2566

กิจการก่อสร้างจํานวน 302,150 ตำแหน่ง

เกษตรและปศุสัตว์จํานวน 193,568 ตําแหน่ง

การให้บริการต่าง ๆ จํานวน 163,616 ตำแหน่ง

มาตรา 63/2 ตามมติ ครม. 3 ตุลาคม 2566

กิจการก่อสร้าง จํานวน 265,777 ตําแหน่ง

การให้บริการต่าง ๆ จํานวน 91,924 ตําแหน่ง

เกษตรและปศุสัตว์ จํานวน 76,240 ตําแหน่ง

มาตรา 64 ตามคนต่างด้าวที่เข้ามาทํางานไป-กลับหรือตามฤดูกาล

เกษตรและปศุสัตว์จํานวน 16,279 ตําแหน่ง

การให้บริการต่าง ๆ จํานวน 5,341 ตำแหน่ง

กิจการก่อสร้างจํานวน 3,716 ตําาแหน่ง.

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 27/5/2567 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net