ธงชัย วินิจจะกูล : ความทรงจำ ภาพสะท้อนและความเงียบในหมู่ฝ่ายขวาหลังการสังหารหมู่ 6 ตุลา

คุณว่าสังคมไทยมีคำตอบเกี่ยวกับ "6 ตุลา" ไหม? พลาดไม่ได้ อ่าน ธงชัย วินิจจะกูล นำเสนอผลงานวิชาการเรื่อง "ความทรงจำ ภาพสะท้อนและความเงียบในหมู่ฝ่ายขวาหลังการสังหารหมู่ 6 ตุลา ส่วนหนึ่งในการสัมมนาโครงการเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่อง "สันติวิธี ความรุนแรง และสังคมไทย"

 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.nationmultimedia.com/

 

 

 

ประชาไท - เมื่อวันที่ 20 .. 2550 เวลา 13.30 น. ที่ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ธงชัย วินิจจะกูล ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน นำเสนอผลงานวิชาการเรื่อง "ความทรงจำ ภาพสะท้อนและความเงียบในหมู่ฝ่ายขวาหลังการสังหารหมู่ 6 ตุลา (Memories, Reflections and Silence among the Right-wingers after the October 6 Massacre) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสัมมนาโครงการเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่อง "สันติวิธี ความรุนแรง และสังคมไทย" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยปีนี้จัดในหัวข้อ "ความรุนแรง:"ซ่อน-หา" สังคมไทย"

 

ต่อจากนี้คือบทถอดความการนำเสนอผลงานทางวิชาการของ ธงชัย วินิจจะกูล แบบคำต่อคำ ณ ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

0 0 0

 

ในงานวิจัยชิ้นนี้มีอยู่ 2บริบทที่ซ้อนกัน ตัวงานชิ้นนี้ในแง่หนึ่งได้เขียนขึ้นสำหรับโครงการวิจัยของ อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ แต่ว่าผมเริ่มมาก่อนเพราะว่ามันมีอีกบริบทหนึ่งที่ซ้อนกัน คือบทหนึ่งในหนังสือที่ผมกำลังทำอยู่ เป็นหนังสือเกี่ยวกับ 6 ตุลา มีหลายอย่างที่ผมไม่ใส่ลงไปเพราะว่าจะอยู่ในบทอื่น หรือบางอย่างผมก็อาจจะไม่ท้าวความถึงเลย เพราะคิดว่าไม่จำเป็นสำหรับคนไทย

 

ผมจะพูดถึงความเงียบ "Moment of Silence" ประเด็นก็คือว่า หลัง 6 ตุลามา ยี่สิบปีสามสิบปีมานี้ มันมีความเงียบสารพัดประเภทที่เกี่ยวกับ 6 ตุลา เราจะอธิบายความเงียบสารพัดอย่างเหล่านั้นอย่างไร

 

ในความเข้าใจทั่วๆ ไปของเรา ความเงียบเกิดจากการกด การปราบ การเซ็นเซอร์ เมื่อสิบปีก่อนผมก็เริ่มต้นอย่างนั้น ยิ่งศึกษาไป ยิ่งคิดไป ผมก็พบว่า มีความเงียบอีกหลายประเภท รวมถึงความเงียบที่ดีด้วย หมายถึงว่า ความเงียบไม่ใช่เรื่องร้ายเสมอไป แต่ก็เป็นเรื่องของบทอื่น มาว่าบทนี้ดีกว่า บทนี้จะเป็นบทที่เจ็บของหนังสือเล่มนั้น

 

หลัง 6 ตุลาใหม่ๆ  ในบ่ายวันนั้นเอง มีรายการออกทางช่อง 5 และวิทยุยานเกราะ ถ้าคุณได้ฟังเทปอันนั้นซึ่งมันอยู่ในหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์มาอย่างน้อย 10 ปีแล้ว ผมได้เทปอันนี้มาหลังจาก 6 ตุลาประมาณ 3-4 ปี มีคนส่งมาให้โดยที่ไม่ได้บอกชื่อ ฟังดูแล้วก็ไม่ได้มีเหตุผลใดที่ทำให้เชื่อว่าเป็นเทปปลอม ตัดต่อ หรือบิดเบือน เพียงแต่ว่าคนส่งเขาคงไม่อยากบอก เมื่อมีหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ผมได้มอบเทปนี้ให้โดยผมได้สำเนาไว้ เทปนั้นเป็นเทปชุดเดียวกับชุดที่ช่อง 5 เอามาออกหลังงาน 20 ปี 6 ตุลา รายการเดียวกัน แต่อย่างไรก็แล้วแต่ ในวิดีโอของช่อง 5 ผมไม่เคยเปิดดูจบ แต่ผมเข้าใจว่าไม่มีส่วนที่ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ สัมภาษณ์ พ.ต.ท.สล้าง บุนนาค และ ร.ต.อ.วัชรินทร์ เนียมวาณิชยกุล ซึ่งต่อมา เกษียณอายุราชการในตำแหน่ง พันตำรวจเอก รวมถึงตำรวจที่บุกเข้ามาในธรรมศาสตร์อีกทั้งหมด 5 คน

 

ในการสัมภาษณ์ ผมอยากจะเรียกว่าเป็นการ "ฉลองชัยชนะ" คือถึงแม้จะบอกว่าใครบุกเข้า ใครจะทำอะไรก็แล้วแต่สาระสำคัญก็คือว่า นักศึกษา ยิงมาหนักเหลือเกิน แต่สุดท้ายตำรวจก็สามารถบุกเข้าไปได้ มีตำรวจเจ็บ มีประชาชนเรียกร้องให้ตำรวจจัดการเด็ดขาด เขาจึงตัดสินใจทำ และยังด่ารัฐบาลในช่วงนั้นด้วยว่า มีความลังเล ไม่ยอมสั่งให้มีการลงมือปฏิบัติการ ตำรวจอย่างคุณสล้างและตำรวจในที่นั้นก็พาประชาชนเข้ามา จนมีชาวบ้านถูกยิงแล้วก็บาดเจ็บกันไป เขาไม่ใช้คำว่าชัยชนะ แต่บรรยากาศของรายการนั้นคือ เฉลิมฉลองที่จัดการพวกคอมมิวนิสต์สำเร็จ

 

ในรายการนั้นมีบรรยากาศบางตอนที่น่าเกลียดมาก เช่น มีการเล่าถึงคนที่ถูกรุมประชาฑัณฑ์ พวกเขาเล่าในลักษณะเป็นเรื่องตลก เช่น เขาพูดภาษาไทยไม่ได้ใช่ไหม...? อ๋อเขาเป็นญวน ถึงพูดภาษาไทยไม่ได้...! แล้วก็มีเสียง กิ๊กกั๊ก...กิ๊กกั๊กขึ้นมา อันนี้คือสิ่งที่ผมเรียกว่า เป็นบรรยากาศของการเฉลิมฉลองหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาใหม่ๆ  

 

ประมาณสองเดือนหลังจากนั้น หากเราอ่านหนังสือพิมพ์ทั่วๆ ไป เราจะพบกับบรรยากาศการเฉลิมฉลองชัยชนะ หรืออย่างน้อยก็เป็นบรรยากาศของความพอใจที่ปราบปรามศัตรูสำเร็จ ฝ่ายที่อยู่ในธรรมศาสตร์ที่ถูกปราบปรามจะถูกเรียกว่าเป็นผู้ที่ก่อการจราจล ศัตรู ผู้หลงผิด คอมมิวนิสต์..... คือจะเป็นคำประเภทนี้ทั้งหมด ในบทความนี้ผมจะไม่พูดถึงในส่วนนั้นเท่าไหร่ แต่เป็นตัวนำให้ผมคิดว่า ในเวลาที่ผ่านไป ฝ่ายขวาเหล่านั้นคิดเปลี่ยนไปไหม ประเด็นนี้ ผมได้เขียนไว้สั้นๆ ในงาน 20 ปี 6 ตุลา

 

ต่อมาภายในปีสองปี ฝ่ายขวาก็เริ่มถูกทำให้เงียบ ความเงียบของเขาหมายถึงอะไร การพยายามเข้าใจว่า ความเงียบของเขาหมายถึงอะไร ก็นำไปสู่เอกสารที่ผมเห็นว่าน่าสนใจและสำคัญมากชุดหนึ่งก็คือ..ในการทำคดีที่จะฟ้องร้องผู้ต้องหาในคดี 6 ตุลา ซึ่งจะมีผู้ต้องหา 18+1คน ซึ่งใช้เวลาเกือบ 2 ปีถึงจะได้รับการนิรโทษกรรม ในคดีนั้น ฝ่ายอัยการใช้พยานฝ่ายโจทย์ถึง 82 คน ซึ่งเราก็บ่นกันว่า 82 คนมันเยอะเหลือเกิน จะใช้เวลาพิจารณาคดีกันกี่สิบปี ความจริง 82 คน เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของพยานโจทย์ที่เรียกมาสอบสวนทั้งหมด 224 คน

 

ต้องให้เครดิตคุณธนาพล (อิ๋วสกุล) ก่อนทำนิตยสารฟ้าเดียวกัน ตอนนั้นช่วยผมทำงานวิจัยชิ้นนี้อยู่ เจอเอกสารคำให้การของคนเหล่านี้บวกกับเอกสารอื่นๆ รวมทั้งสิ้นประมาณสามหมื่นหน้าเก็บอยู่ที่หอจดหมายเหตุสำนักงานอัยการสูงสุด ไม่เคยปิดเป็นความลับ ใครๆ ก็เข้าไปขอใช้ได้ แต่ก็ไม่มีใครเข้าไปขอใช้เลย พอเจอเอกสารนี้เข้า สิ่งที่ผมนำมาใช้เป็นเพียงนิดเดียว คือประมาณสองพันกว่าหน้า ที่เหลืออีก 28,000 หน้า ผมไม่ได้เอามาใช้ สองพันกว่าหน้านี้ คือคำให้การของพยานโจทย์ 224 คนที่ให้กับตำรวจ คำให้การที่ให้กับตำรวจระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมปี 19 คือ 2 เดือนหลังเหตุการณ์ มีบรรยากาศฉลองชัยชนะอยู่ แน่นอนว่าเขาไม่ได้ออกมาพูดด้วยความลิงโลดหรือดีอกดีใจ แต่จะเรียกว่าเป็นวาทกรรมก็ได้ เป็นการพูดถึง 6 ตุลา พูดถึงความเลวของนักศึกษา ถูกพวกที่ยิงจากในธรรมศาสตร์ยิงออกมา ตำรวจรับมือไม่ไหวเลย จิปาถะ เพื่อจะบอกว่า นักศึกษาเลวร้ายอย่างไร แต่สุดท้ายก็พังรั้วธรรมศาสตร์เข้าไปสำเร็จ การที่บอกว่ามีคนถูกรุมประชาทัณฑ์เพราะเป็นญวน พูดไทยไม่ได้ มีอยู่เต็มไปหมดในคำให้การของ 200 กว่าคนนั้น

 

แต่คุณไม่ต้องอ่านทั้ง 200 กว่าคนก็ได้ เพราะหลายอันเป็นคำให้การเชิงเทคนิค หมายความว่าเขาสัมภาษณ์ตำรวจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นตำรวจท้องที่ประมาณหลายสิบคน พวกนี้จะให้สัมภาษณ์ในเชิงเทคนิค เขาเริ่มสัมภาษณ์ยามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาเริ่มสัมภาษณ์คนที่เชี่ยวชาญเรื่องอาวุธ ว่า อาวุธที่ยึดได้ในธรรมศาสตร์เป็นอาวุธประเภทไหน ร้ายแรงไหม พวกนี้รวมอยู่ใน 200 กว่าคนหมด ซึ่งในเอกสารฉบับที่ผมเขียนเป็นร่างแรก (first draft) ผมแก้เสร็จแล้ว ผมแยกแยะไว้ให้ว่า มีตำรวจกี่คน มีอาจารย์ธรรมศาสตร์กี่คน เป็นฝ่ายขวากี่คน เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยกี่คน มีคนขายน้ำขายอาหารที่ธรรมศาสตร์กี่คน

 

เหตุที่แยกแยะได้ง่ายๆ  เพราะในคำให้การ เขาบอกไว้หมด เขาระบุไว้เองว่า เขาเป็นใคร เมื่อได้เอกสารนี้มา ในความเห็นของผมเท่าที่ดูจากเอกสาร 2 พันกว่าหน้า ผมเชื่อว่าจะสะท้อนบรรยากาศที่อย่างน้อยที่สุดผมเรียกว่า เป็นบรรยากาศของการเฉลิมฉลองชัยชนะอยู่ ในลักษณะที่เรียกว่า ได้เห็นว่าฝ่ายที่ถูกกระทำคือฝ่ายผิด ฝ่ายที่กระทำ ในที่สุดประสบความสำเร็จในการหยุดพวกนี้ไว้ได้

 

2 ปีถัดมา คดี 6 ตุลาจบลงด้วยการนิรโทษกรรม การนิรโทษกรรมสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในฝ่ายผู้มีอำนาจเอง อย่าลืมว่า รัฐบาลธานินทร์ (กรัยวิเชียร) ถูกรัฐประหารโค่นไปเมื่อปี 2520 ประมาณ 1 ปีหลังเหตุการณ์ ซึ่งคดี 6 ตุลาเพิ่งถูกฟ้องไปประมาณเดือนกว่าเอง หลังจากนั้นบรรยากาศคดี 6 ตุลา ซึ่งต้องเข้าใจว่าไม่ใช่คดี 6 ตุลาโดดๆ  เพราะมีฐานะว่า 6 ตุลาได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหมู่ผู้กุมอำนาจรัฐ ว่าวิธีที่จะใช้จัดการกับ พคท.จะใช้วิธีเดิมไม่ได้แล้ว และเมื่อมองย้อนหลังจากปัจจุบัน ฝ่ายที่เห็นว่าวิธีจัดการคอมมิวนิสต์ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นผู้ชนะ 66/23 หรือชวนผู้เข้าป่ากลับเข้ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย การนิรโทษกรรม 6 ตุลา เราต้องมองในบริบทนี้ที่เป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ในทิศทางการเปลี่ยนแปลงของรัฐในการจัดการปัญหาคอมมิวนิสต์ ถึงตอนนี้เขาตระหนักแล้วว่า นักศึกษาหรือคอมมิวนิสต์เมืองไทยที่เขาเล่นงานอยู่ไม่ใช่ต่างชาติ ไม่ใช่ศัตรู แต่เป็นนักศึกษา เป็นคนที่มีความคิดรุนแรง แต่ไม่ขัดแย้งกันถึงกับที่ต้องลงมาเล่นกันถึงขนาดนั้น

 

ตั้งแต่เกรียงศักดิ์ (พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์) ขึ้นมา บรรยากาศเกี่ยวกับคดี 6 ตุลาเปลี่ยนทันที รู้ได้ ไม่ว่าจากข้างนอกที่เขาเปิดให้คนเข้าฟังคดีได้ หรือจากข้างในเรือนจำ ตั้งแต่ระดับผู้บัญชาการจนถึงจ่า เปลี่ยนท่าทีลงมาทันที พวกเขารู้ว่า การเมืองเปลี่ยนแล้ว จ่าคนหนึ่งบอกพวกเราทันทีว่า เดี๋ยวพวกคุณก็หลุดไปเป็นรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งพวกเขาถูกต้อง (ผู้ฟังหัวเราะ....) ผมถือว่าเป็นการเคลื่อนครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง ฝ่ายขวาที่เคยออกมาเฉลิมฉลองหลัง 6 ตุลาใหม่ๆ ทำไม่ได้อีกแล้ว แต่ช่วงเวลาที่เฉลิมฉลองนั้น ผมเห็นว่ามีความสำคัญอยู่มาก แม้จะเฉลิมฉลองชัยชนะอยู่เพียง 2-3 เดือน หรืออย่างมากสุดก็ไม่เกิน 1 ปี ในช่วงรัฐบาลธานินทร์ ผมเรียกว่าเป็น "ช่วงเวลาที่ให้ความหมาย หรือกำหนดให้คนคิดอย่างหนึ่ง" (Defining Moment) เสียจนผ่านไปถึง 30 ปี ถึงยามจะหลุดก็หลุดไม่ง่าย

 

กลับมาที่ 1-2 ปี หลัง 6 ตุลา เกิดการเปลี่ยน เพราะว่ารัฐเปลี่ยนนโยบาย เกิดความขัดแย้งหนักพอสมควร ความจริงอีกตัวหนึ่งที่ยังไม่อยากใช้เวลาในที่นี้เล่าก็คือ ก่อนที่จะปล่อยตัวคนที่อยู่ในคุกออกมา นายกฯเกรียงศักดิ์ ส่งทูตมาเจรจากับพวกเรา เขาพูดแนะนำโดยไม่บอกข้อมูล เขาบอกแค่ว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่กำลังผ่านสภานี้ ไม่ใช่ว่าคนทุกคนจะเห็นด้วย พอใจ มีคนไม่พอใจอยู่ ฉะนั้น ขอความกรุณาให้พวกคุณอย่าทำตัวอย่างนี้ เขาจะมีข้อขอร้องกัน เช่น อย่าเข้าป่านะ เพราะจะเป็นการพิสูจน์ว่า พวกคุณเป็นคอมมิวนิสต์จริง กลับไปเรียนหนังสือนะ อะไรอย่างนี้

รัฐบาลเกรียงศักดิ์และหลังจากนั้น พยายามที่จะทำให้เหตุการณ์ 6 ตุลา เคลื่อนจากการเป็นชัยชนะของฝ่ายขวา และความพ่ายแพ้ของฝ่ายซ้ายที่มาอวดอ้างหรือแสดงความพอใจได้ กลายเป็นเรื่องของความขัดแย้งรุนแรง กลายเป็นเรื่องของคำพูดของฝ่ายขวาคนหนึ่งที่ผมสัมภาษณ์ในเวลาต่อมา เขาจะเรียกว่าเป็น "ฝันร้าย" เป็นเรื่องของสิ่งที่ต้องการการเยียวยา และการเยียวยาที่เขาคิดว่าน่าจะดีที่สุดก็คือ อย่าพูดถึงมันอีก....!!!

 

เพราะฉะนั้น ทันทีที่ปล่อย ถ้าใครจำได้สมัยนั้น มีการจัดงานรับคนที่ออกจากคุก รัฐบาลจะแทรกแซงทันทีว่า ขอให้หยุด เหตุผลก็ชัดตรงๆ ว่า ถ้าสมานฉันท์แล้ว ก็ขอให้หยุดพูด หยุดชี้นิ้วไปมากล่าวหาว่าใครถูกใครผิด หลายปีต่อจากนั้น การพูดเรื่อง 6 ตุลาต่อสาธารณะ จะถูกบอกโดยคนของรัฐหรือผู้ใหญ่ คนที่ออกมาพูดบ่อยในลักษณะนี้ก็คือ พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ ซึ่งเป็น รมว.มหาดไทย ถ้าผมจำไม่ผิด เป็นทั้งสมัยเกรียงศักดิ์และสมัยเปรม ว่าควรเลิกได้แล้ว ควรหยุดได้แล้ว

 

ในบรรยากาศเช่นนั้น เมื่อบวกกับบรรยากาศป่าแตก ฝ่ายซ้ายที่ออกมา เขาก็จะไม่พูดอยู่แล้ว พวกเขาไม่รู้จะพูดอย่างไร เขาไม่มีเวทีจะพูด ส่วนฝ่ายขวาเริ่มจะสงบเสียงไป ระยะนั้น คือระยะใหญ่ที่ผมเรียกว่า "ความเงียบ" ผมจะไม่อธิบายว่า เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงนโยบาย หรืออีกสารพัดที่เกี่ยวกับเรื่องความเงียบในช่วงนั้นคืออะไร ที่อยู่ในเอกสารซึ่งขอข้ามไป เพราะอาจใช้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจากช่วง พ.ศ.2521-2539 มีเหตุการณ์อย่างน้อยที่สุด 3 เหตุการณ์ ที่ชี้ว่า ความเข้าใจเรื่อง 6 ตุลาของสังคมไทย "เคลื่อน" และความเข้าใจที่เคลื่อนอันนี้มีผลต่อฝ่ายขวาด้วย

 

1) ก็คือ คดี 6 ตุลาที่กล่าวมาแล้ว 2) ก็คือกรณีของพลตรีจำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม หรือกลุ่มรวมพลัง หลังจากที่ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.แล้ว ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป แล้วพลตรีจำลองถูกลูกพรรคของตนเอง คือคุณจงกล ศรีกาญจนา ต้องการจะมาโม้ว่า ตนเองมีคุณูปการมากมายทางการเมืองด้วยการร่วมมือกับพลตรีจำลอง หัวหน้าพรรคของตนเองมาเป็นเวลานาน เขาบอกว่า ในการชุมนุมเรียกร้องที่ลานพระรูปในวันที่ 6 ตุลา เขาก็ได้ไปชุมนุมเรียกร้องให้จัดการกับคอมมิวนิสต์ในคณะรัฐบาล การชุมนุมนั้นได้เกิดขึ้นหลังจากที่การปราบปรามที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ตอนเช้ามืด) สิ้นสุดลงแล้ว เขาชุมนุมที่ลานพระรูป แล้วเดินไปที่ทำเนียบเรียกร้องให้รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จัดการกับคอมมิวนิสต์ 3 คนที่อยู่ในรัฐบาล ได้แก่ ชวน หลีกภัย, สุรินทร์ มาศดิตถ์ และดำรง ลัทธพิพัฒน์

 

คุณจงกล ศรีกาญจนา โม้ว่า เขามีวีรกรรมร่วมกับพลตรีจำลอง พลตรีจำลอง สวมวิกผม ใส่แว่นดำ สวมหมวกหลุบ มาคอยชี้แนะชี้นำว่าจะพูดอะไรบ้าง ผลก็คือพลตรีจำลองต้องแก้ตัวเป็นการใหญ่ว่า เขาไม่เกี่ยวข้อง เขาไม่ได้เข้าใกล้ธรรมศาสตร์เลย จนหนึ่งวันก่อนการเลือกตั้งก็เกิดการชุมนุมใหญ่ของพรรคพลังธรรม การชุมนุมครั้งนั้นก็เกิดจากการที่พลตรีจำลองต้องการจะเคลียร์ตนเอง ผมไม่ทราบว่า สุดท้ายแล้วสังคมไทยปล่อยให้หลุดมือไปได้อย่างไร วันนั้นพลตรีจำลองไม่ได้เคลียร์อะไรเลย สิ่งที่พูดอย่างเดียวก็คือ ไปชุมนุมในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ไม่พอใจนักศึกษาที่แสดงละครหมิ่นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ไม่ได้ชี้แนะ และไม่ได้อยู่ใกล้ธรรมศาสตร์เลย

 

ในกรณีเดียวกัน หนังสือพิมพ์ได้สัมภาษณ์คุณสมัคร สุนทรเวช, พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ และอีกหลายคน ถามว่าเกี่ยวข้องกับ 6 ตุลาอย่างไรบ้าง คนเหล่านี้จะตอบเป็นสูตรเดียวกันว่า พวกเขาไม่ได้อยู่ใกล้ธรรมศาสตร์เลย ผมไม่รู้ว่าสังคมไทยปล่อยให้หลุดไปได้อย่างไร เพราะความเกี่ยวข้องไม่ได้หมายความว่า เขาจะต้องมาอยู่ใกล้ธรรมศาสตร์เท่านั้น พลโทอุทาร (สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) ก็ไม่เคยอยู่ใกล้ธรรมศาสตร์ แล้วเดี๋ยวคุณก็จะเจอว่า กระทิงแดงก็ไม่เคยอยู่ใกล้ธรรมศาสตร์ ไม่มีใครอยู่ใกล้ธรรมศาสตร์สักคน

 

และ 3) ที่ผมถือว่าหลักหมายความเงียบของฝ่ายขวา เป็นผลให้ฝ่ายขวาไม่สามารถพูดได้เป็นระยะเวลาหลายปี ตั้งแต่ปี 2520-21 จนถึง 2539 เป็นอย่างน้อย หรือจนถึงปัจจุบันก็ว่าได้ นั่นก็คือ กรณีการรำลึก 20 ปี 6 ตุลานั่นเอง เป็นหลักหมายที่ทำให้เห็นว่า ความเข้าใจหรือวาทกรรมของสังคมที่มีต่อ 6 ตุลา เคลื่อน......!!!

 

จากปี 2520-21 ประมาณนั้น แล้วเลย 20 ปี 6 ตุลา มาจนถึงปัจจุบัน ความเงียบของพวกเขาหมายความว่าอย่างไร สิ่งที่ทำก็คือไปหาฝ่ายขวาเหล่านี้ที่อยากจะคุยด้วย คนนัดจัดการให้ไปคุยกับแกนนำที่มีบทบาทในที่สาธารณะ (public figure) ที่คนรู้จัก เริ่มต้นโดยการไปหากระทิงแดงที่คนรู้จักอย่างคุณสมศักดิ์ ขวัญมงคล แล้วก็ผิดหวัง เพราะคุณสมศักดิ์ หัวหน้ากระทิงแดง ให้สัมภาษณ์ในหนังสือสารคดีก่อนหน้านั้นไม่นาน คุณสมศักดิ์ไม่ได้พูดอะไรเลยนอกจากที่ได้พูดไปแล้ว และผมก็เลยเดาว่า ถ้าผมไปสัมภาษณ์อย่างพลตรีจำลอง ศรีเมือง ผมก็จะได้คำตอบเท่าเดิม

 

ผมจึงเปลี่ยนวิธี และตรงนี้จึงเป็นโอกาสที่จะขออธิบายวิธีการของผม ผมไม่ใช่นักสังคมศาสตร์ และผมก็ขี้เกียจด้วยนะที่จะไปตามหาฝ่ายขวาให้พบกี่ร้อยกี่พันคน แล้วพยายามทำสถิติ แล้วบอกว่ามีความคิดประเภทที่ 1 กี่คน ประเภทที่ 2 กี่คน ผมทำไม่เป็น และด้วยเงื่อนไขเวลา เงื่อนไขระยะทาง ก็ทำให้ผมทำไม่ได้ ผมขอใช้วิธีอีกแบบหนึ่งก็แล้วกัน

 

ผมคิดว่าวิธีนี้ในทางมนุษยศาสตร์ยอมรับกันได้ แต่อาจมีข้อบกพร่องก็ว่ากันไป วิธีการก็คือ ศึกษาฝ่ายขวาที่ไม่รู้จากกรณีเฉพาะเจาะจงจำนวนหนึ่ง ซึ่งตรงข้ามกับทฤษฎีสังคมศาสตร์ แล้วจากกรณีเฉพาะเจาะจงนั้น เราจะไม่อ้างว่า กรณีนาย ก แทนฝ่ายขวาได้ 10% กรณีนาย ข แทนฝ่ายขวาได้ 37% (ผู้ฟังหัวเราะ)

 

การศึกษาจากกรณีเฉพาะเจาะจง ทำให้เราเกิดคำถาม เกิดคำอธิบายขึ้นมาจำนวนหนึ่ง ยกตัวอย่างว่า คุณอ่านหนังสือนวนิยายเล่มหนึ่ง ถามว่า นวนิยายเล่มนั้นเป็นตัวแทนความคิดของสังคมไหม ไม่รู้จะวัดอย่างไร เรารู้แต่ว่ามันก่อให้เกิดปัญญาก็แล้วกัน เราจึงเริ่มเจาะหาฝ่ายขวาที่ไม่เป็นที่รู้จัก และจากการนี้ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ไปเจอคำให้การในเบื้องต้น จากคำให้การเหล่านั้น เราก็สืบหาผู้คน คัดคนขึ้นมา 50 คน จากคำให้การที่ผมอ่าน แล้วไปตามหา หาไปหามา ส่วนใหญ่ก็หาไม่เจอ เพราะย้ายบ้านบ้าง อะไรบ้าง แต่คนที่หาเจอ เขาช่วยเราต่อไปเจอคนอื่นที่ไม่อยู่ในรายการ 224 คน ยกตัวอย่างเช่น ไม่มีกระทิงแดงเลยแม้แต่คนเดียวอยู่ในกลุ่ม 224 คน ไม่มีเลย กระทิงแดงไม่ได้ถูกให้การกับตำรวจเลย แต่หลังจากนั้น ผมได้คุยกับกระทิงแดงระดับหัวหน้าอีก 5 คน และก็มีสิทธิที่จะได้ไปคุยอีกหลายคน แต่สุดท้ายก็คิดว่าพอสมควรแล้ว และนี่ก็เล่าให้ฟังว่า สืบหาคนและไล่ตาม เวลาที่เหลือผมจะเล่าเป็นตัวอย่างให้ฟังของแต่ละคน โดยจะเล่าเฉพาะประเด็นสำคัญๆ

 

ผมอยากจะเกริ่นไว้ก่อนว่า ผมจะพยายามวิเคราะห์ลงไปขั้นหนึ่ง แต่จะไม่พยายามวิเคราะห์ลงไปถึงคำตอบขั้นสุดท้าย เช่น เขาโกหกหรือไม่ ผมจะพยายามวิเคราะห์ลงไปเพียงเท่าที่ก่อให้เกิดคำถามที่สำคัญต่อไปอีก และเมื่อผมพบว่า มาถึงคำถามที่น่าทึ่งมากๆ จากการคุย ผมก็จะหยุด นั่นหมายความว่าพวกคุณจะต้องต่อกันเอาเอง ผมมีคำตอบในหลายเรื่องที่ผมตั้ง แต่ในหลายๆ  คำถามที่ผมตั้ง ผมไม่มีคำตอบ ผมเองก็อึดอัดพอกัน และมันก็จบไปแค่นั้น

 

ในบรรดาฝ่ายขวาที่คุยทั้งหมดในนั้น ไม่มีคนเดียวที่รู้สึกผิด มีบางส่วนในนั้นรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ในบรรดาคนที่รู้สึกผิด คนที่เสียใจและไม่เสียใจ มีคำอธิบาย ทั้งที่เขาใช้เป็นแบบฉบับ และคำอธิบายเฉพาะกรณี คือเฉพาะคนนั้น หมายความว่าอาจจะมีฝ่ายขวาอีกหลายคนที่อาจมีคำอธิบายอย่างนี้ก็อาจเป็นไปได้ แต่ผมยังไม่พบ ผมได้รับการอธิบายจากคนเหล่านี้

 

ผมขอเริ่มจากกลุ่มคนที่ปฏิบัติการหน้าธรรมศาสตร์ในวันนั้น ซึ่งหลายคนเป็นพยานตำรวจอยู่ใน 224 คน ประมาณ 30 คน เป็นกลุ่มฝ่ายขวาที่ผมไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรดี คือถ้าคนที่อยู่ในสมัยนั้นจะนึกออก ว่าจะมีกลุ่มฝ่ายขวาที่ข้ามวันก็เปลี่ยนชื่อก็ได้ ซึ่งไม่รู้ว่าจะเรียกว่ากลุ่มอะไรดี บางกลุ่มมีชื่อติดตลาดหลายวันหน่อย หรือเวลาเป็นเดือน หรือค่อนปี แต่หลายคนในกลุ่มนั้นสามารถจะออกแถลงการณ์ หรือมาตีหัวนักศึกษา ในกลุ่มพันธุ์นี้ ในสมัยก่อนจะมาในนาม วิหคสายฟ้า ค้างคาวไทย พิทักษ์ชาติไทย ฯลฯ มันก็จะไม่ครอบคลุมกลุ่มอื่นๆ  และหลายคนสังกัดเกิน 1 กลุ่ม มันก็ไม่ต่างอะไรจากที่ฝ่ายซ้ายตั้งชื่อเป็นร้อยกลุ่ม แต่หลายกลุ่มก็เป็นคนๆ  เดียวกัน แบ่งกันไปมา ผมเรียกว่ากลุ่มฝ่ายขวาจิปาถะก็แล้วกัน กลุ่มฝ่ายขวาจิปาถะมีบทบาทในเช้าวันนั้นมากที่สุด คนที่ขับรถเมล์ชนรั้วธรรมศาสตร์มาจากกลุ่มนั้น นายเสมอ..... บางคนอาจจะเคยได้ยินว่าเป็นลูกเสือชาวบ้านที่ตาย และฟ้าหญิงทั้งสองได้เสด็จในงาน เพราะเขาเป็นลูกเสือชาวบ้านที่มีบทบาทหลักในกลุ่มจิปาถะนี้ และเป็นกลุ่มแรกที่บุกเข้ามาในธรรมศาสตร์และถูกยิงตาย

 

เมื่อสืบไปจะพบว่า มีคนจำนวนหนึ่งเป็นคนเชื่อมต่อ หรือคนจัดตั้งจำนวนหนึ่ง ไม่ใช่คนๆ เดียว และจะมีคนหนึ่งในนั้น ผมให้ชื่อในบทความนั้นว่า ผ.ผึ้ง เป็นนายทหารเรือ เป็นอาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารในภายหลัง และก็อยู่ กอ.รมน. เขามีหน้าที่ลงมาจัดตั้ง

 

พวกนี้คือกลุ่มที่ไม่รู้สึกผิดอะไรเลย และยังรู้สึกว่าเป็นวีรกรรม เพราะถ้าไม่เกิด 6 ตุลา ไม่หยุดพวกนักศึกษาให้ได้ อีกประมาณไม่กี่อาทิตย์ พวกคอมมิวนิสต์ พวกเวียดนามจะบุกประเทศไทย 6 ตุลา และเหตุการณ์ความวุ่นวายทั้งหลาย เป็นความขัดแย้งระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์สายโซเวียตและสายจีน สายโซเวียต ชนะใน 14 ตุลา และยังหนุนหรือให้นักศึกษาก่อการจิปาถะ สายจีนรู้สึกเพลี่ยงพล้ำ สายจีนจึงได้ก่อให้นักศึกษาได้เกิดความขัดแย้งกับรัฐ กับทหาร รวมทั้งความรุนแรงสารพัดอย่าง เช่น การลอบสังหาร เป็นฝีมือฝ่ายจีนทั้งนั้น คนที่ก่อการโหดเหี้ยมมากที่สุด คือคนที่เอาเก้าอี้ฟาดคนที่ถูกแขวนคอ นาวาเอก ผ.ผึ้ง บอกทันทีว่า เป็นสายจีน ผมคิดและมั่นใจว่า เขารู้ว่าผมไม่เชื่อ แต่เขาต้องการจะพูดอย่างนั้น

 

แน่นอน สิ่งที่เขาพูดก็คือวีรกรรม เขาพูดไม่ได้แล้ว เขาไม่ได้ออกมาพูดพล่ามในสังคมไทย แต่เขายังเชื่อมั่นเด็ดขาดว่านี่เป็นวีรกรรม กลุ่มฝ่ายขวาจิปาถะเหล่านี้ ต่อมาได้รับการสนับสนุนให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนที่สำคัญ กลุ่มนี้ก็คือกลุ่มอภิรักษ์จักรี ทราบไหมครับว่า ทำไมเขาใช้ชื่อนี้ เพราะเมื่อประมาณทศวรรษ 2520 เขาบอก พ.ศ. แต่ผมลืมไปแล้ว ราชเลขาธิการฯ อุปถัมภ์กลุ่มนี้ให้เข้าไปตั้งสำนักงานอยู่ในสำนักงานราชเลขาธิการในวัง ได้อนุญาตให้ใช้ชื่อนี้ได้ ไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้าย ราชเลขาธิการคนถัดมาไม่ชอบกลุ่มนี้ เลยไล่ออกไป แต่ก็ยังใช้ชื่อกลุ่มนี้อยู่ นี่คือกลุ่มที่บอกว่าเป็นวีรกรรม

 

กระทิงแดงบอกว่า เขาไม่ได้ทำ กระทิงแดงบอกว่า เป็นการโยนบาปให้เขา หนังสือทุกเล่ม บทความทุกชิ้นบอกว่า กระทิงแดงทำ เขาบอกว่าเขาไม่ได้ทำ เขาเป็นคนก่อกวนเมื่อค่ำวันที่ 5 ตุลาคมจริง ปาระเบิดเสียงดังเพื่อให้นักศึกษากลัว เขาไม่ปฏิเสธเลย แต่พอตอนเช้าเริ่มเกิดความรุนแรงระหว่างที่บุกเข้ามาจะฆ่ากัน เขาถอย เพราะเขาไม่ได้รับคำสั่งว่าจะเกิดอันนี้ขึ้น เมื่อไม่มีคำสั่งว่าจะเกิดอันนี้ขึ้น วิสัยกลุ่มของเขาถือว่ามีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นเกินกว่าที่เขาจะรับรู้ เขาไม่อยากจะรู้เรื่องด้วย สุตสาย (พลตรีสุตสาย หัสดิน) เคยให้สัมภาษณ์อย่างนี้ก่อนจะตาย ผมไม่ได้สนใจ จนกระทั่งมาพูดคุยกับพวกเขา พูดตรงกัน ซึ่งอาจจะแปลว่า เตี๊ยมกันเอง หรืออาจจะแปลว่าเป็นความจริง เขาบอกว่าไม่ได้ทำ แปลว่าความรุนแรงในเช้าวันนั้นเขาไม่ได้ทำ เขาถอย เพราะไม่อยู่ในคำสั่งที่เขาได้รับ เขาไม่รู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ฝ่ายใครก็ไม่รู้ เขาถอยไปอยู่ในโรงแรมรอแยล (โรงแรมรัตนโกสินทร์) แต่กระทิงแดงบางคนอาจจะอยู่แถวนั้น อันนั้นเขารับประกันไม่ได้ แต่คำสั่งจากพ่อ ก็คือ สุตสาย บอกให้ถอย แล้วทุกคนก็อยู่ที่ธรรมศาสตร์พักหนึ่ง หลังจากนั้นก็กลับไปรวมพลที่บ้านของ สุตสาย

 

นาวาเอก ผ.ผึ้ง หัวเราะตอนที่ผมถามว่า กระทิงแดงทำหรือไม่ เขาหัวเราะในลักษณะที่ว่า พวกกระทิงแดงไม่ได้ทำ พวกเขาต่างหากที่ทำ..... ผมไม่รู้ว่าจะเป็นข้อยืนยันพอไหม แต่ขึ้นอยู่ว่าจะนิยามความรุนแรงกว้างมากแค่ไหน คุณนับค่ำวันนั้นด้วยไหม คุณนับก่อนหน้านั้นด้วยไหม คุณนับอื่นๆ  อีกจิปาถะไหม หรือคุณแค่นับเฉพาะการฆ่ากันที่เกิดเช้าวันนั้นที่นอกธรรมศาสตร์ กระทิงแดงจึงบอกว่า พวกเขาเป็นเพียงแพะรับบาป คนบงการยังไม่ถูกประณามเลย แต่พวกเขาภูมิใจว่า เป็นการทำที่ถูกต้อง ยุติคอมมิวนิสต์ได้ แต่ต้องถูกประณามในสังคมปัจจุบัน คำอันหนึ่งที่กระทิงแดงพูดโดยตลอดซึ่งคุณต้องไปอ่านดูจากสัมภาษณ์ คำพูดของลูกสุตสาย ตีพิมพ์เมื่อปี 2540 กว่าๆ สัมภาษณ์โดย คุณชูวัส ประชาไทนี่แหละ (ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข) ลูกชายสุตสายใช้คำว่า "ปิดทองหลังพระ" คือเขาสร้างความดีไว้ให้ แต่กลับถูกประณาม คนบงการยังไม่ถูกประณาม คุณคิดเอาเองว่า คุณจะเชื่อหรือไม่...?

 

จากคำให้การ มีทหารอีก 2 คน มีทหารอีกหลายคนอยู่ในคำไห้การ 224 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธ มีอยู่ 2 คน เป็นคนที่อยู่ในเหตุการณ์หน้าธรรมศาสตร์ด้วย เป็นทหาร จปร. ทั้งสองคนถูกส่งจาก จปร.ให้มาเป็นสายสืบข่าว และช่วยเป็นตัวประสานงานกลุ่มฝ่ายขวา คนหนึ่งในนั้นที่ได้ไปสัมภาษณ์ และใกล้ชิดสนิทกับกลุ่มแรกคือกลุ่มขวาจิปาถะ มีบทบาทเล่นงานนักศึกษาเหมือนกลุ่มขวาจิปาถะ อันนี้เขาบอกว่า เขาทำในฐานะส่วนตัว เพราะเขาเกลียดคอมมิวนิสต์ เขาไม่ได้ทำในฐานะของทหาร คนๆ  นี้บอกด้วยซ้ำว่า เขาไล่ตีนักศึกษาตอนออกติดโปสเตอร์ เอากาวเทใส่หัวนักศึกษา ในขณะที่ผมถามกระทิงแดง เขาบอกว่าเขาไม่ได้ทำ แล้วพูดด้วยความภูมิใจด้วย พูดไป หัวเราะไป สนุกมาก

 

สายของ จปร.อีกคนหนึ่ง ต่อมาเติบโตในหน้าที่การงาน ได้เป็นนายทหารระดับนายพัน คนนี้น่าสนใจมาก เขาบอกด้วยว่าเขาเป็นผู้ประสานงานฝ่ายขวา แต่เขาบอกเลยว่า เขาไม่เห็นด้วยเลยกับการที่ทางรัฐทำ เพราะเขาเห็นว่านักศึกษาไม่ใช่คอมมิวนิสต์ นักศึกษาเป็นคนที่คิดต่าง เขาไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงของวันนั้น เขายืนดูอยู่ และเขาไม่เห็นด้วย ไม่พอใจ ไม่สบายใจ เขาเดินไปถึงจุดที่เกิดการเผา จุดที่มีการถูกแขวนคอ เขาก็ตะโกนด่าว่า ทำอย่างนี้ได้อย่างไรวะ ผมถามเขาว่าไม่กลัวหรือ เขาบอกว่า ผมไม่กลัว เวลาเราถามถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา และเหตุการณ์จิปาถะเกี่ยวกับผู้พันคนนี้นะ ผมเรียกเขาว่าผู้พัน น.หนู เขาพูดในสิ่งที่ผมเชื่อว่า คนในห้องนี้ฟังแล้วจะสบายใจมาก ความคิดเห็นออกเสรีนิยมคล้ายกับพวกเรามากเลย จนกระทั่งเราไปสัมภาษณ์คู่หูของเขาที่เป็น จปร. ด้วยกันที่บอกว่าไปสังกัดกลุ่มฝ่ายขวา ที่เป็นคนที่เล่าด้วยความเบิกบานใจที่ไปตีคนนั้นคนนี้ เขาบอกว่า เช้าวันนั้นมีนักศึกษาคนหนึ่งที่ออกมาจากธรรมศาสตร์ บุกเข้าเล่นงานเพื่อนของผู้พัน น.หนู ที่ชื่อ จ.จาน อยู่พอดี ผู้พัน น.หนู คว้าปืนยิงเปรี้ยง นักศึกษาคนนั้นตายทันที เราไปสัมภาษณ์ จ.จาน หลังจากสัมภาษณ์ ผู้พัน น.หนู เขาปฏิเสธตลอดว่า เขาไม่เคยมีปืน เขาไม่คิดจะใช้ความรุนแรง คำถามที่เกิดขึ้นในหมู่ผู้สัมภาษณ์คือว่า โอ้โห โกหกหมดเลย คำให้การของ น.หนู เมื่อปี 19 ต่างจากสิ่งที่เขาพูดในปีนี้

 

แต่เราจะอธิบายกรณีนี้อย่างไร เขาโกหกในปี 19 เพราะไม่ได้ทำอย่างนั้น แต่เขาต้องการมีวีรกรรม สร้างวีรกรรม หรือเขาโกหกเมื่อปี 39 เขาทำไว้เยอะ แต่คราวนี้เขาไม่ต้องการจะรู้อีกแล้ว และไม่ต้องการให้คนรู้อีกแล้วว่าเขามีส่วนร่วมในเวรกรรมนั้น หรือถ้าโกหกคนละครึ่ง คำถามที่เกิดขึ้นในหมู่พวกเราก็คือว่า คนอย่างเขา ซึ่งเติบโตขึ้นจนจบปริญญาโท เป็นไปได้ไหมว่า เขาเฝ้าบอกตนเองอยู่ ทุกวี่ทุกวัน ทุกวี่ทุกวัน ทุกวี่ทุกวัน ว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อ 6 ตุลา ว่าตัวเขาเกี่ยวข้องกับ 6 ตุลาอย่างไร ว่าตัวเขาไม่ได้เกี่ยวกับ 6 ตุลานะๆ ๆ ๆ ๆ .......... ว่าตัวเขาไม่เกี่ยวกับ 6 ตุลาเลย.....! ถ้าชีวิตปัจจุบันเขาจะอยู่ได้ เขาจะต้องมีโปรไฟล์แบบนั้น ไม่ว่าจะในแง่บอกต่อคนอื่น หรือกับการบอกต่อตนเองก็เถอะ ไม่ใช่ คนอย่างนี้ไม่เคยมีโลกนี้ พูดง่ายๆ  ว่าโกหก ไม่ใช่ต่อคนอื่นหรอก แต่เป็นการโกหกต่อตนเอง เพื่อตัวเองจะได้มีชีวิตอยู่อย่างปกติสุขอยู่ในปัจจุบัน

 

เมื่อคุณเจอคนแบบนี้ คุณอยากกลับไปถามใหม่ว่า คุณยิงหรือฆ่าคนหรือเปล่าในเช้าวันที่ 6 ตุลา....? หรือคุณคิดว่า เราควรจะปล่อยให้เขาอยู่ในกรอบความทรงจำอย่างที่พวกเขาสร้างขึ้นมา เพราะว่าเขาต้องการมีชีวิตอย่างปกติ...! สมมติไม่ว่าเขาทำจริงหรือเปล่า แต่มีเหตุการณ์อีกข้างมันผิด คนๆ นี้ไม่เคยบอกเป็นวีรกรรม เขาบอกว่า มันแย่ มันไม่ถูก

 

วันนั้นทั้งวันผมคิดว่าจะกลับไปไหม อาทิตย์ถัดมาคิดว่าจะกลับไปไหม ผมก็ตัดสินใจร่วมกับผู้ช่วยอีก 2 คนว่า ไม่กลับ เพราะว่าถ้าผมถามแล้ว ปรากฏว่าเขาโกหกตัวเอง แล้วเราไปคั้นว่าเขาฆ่า ไม่รู้ว่าเราจะได้อะไรขึ้นมา แต่นี่ไง ... นี่เป็นคำถามของผม นี่เป็นคำถามของพวกเรา แต่ถ้าคุณยอมปล่อยให้คนๆ หนึ่งที่ก่ออาชญากรรมพ้นไปได้ แปลว่าคุณยอมให้สังคมปล่อยผ่านไปใช่ไหม......????

 

คุณจะเอาอะไรกับสังคมไทยล่ะ...? สังคมไทยได้สร้างความทรงจำรูปแบบหนึ่งขึ้นมา เพื่อตัวเองจะได้มีชีวิตอยู่อย่างปกติเหมือนกันแหละ ...! แปลว่าถ้าคุณยอมคนหนึ่งคน คุณจะยอมสังคมไทยไหม...? หรือคิดกลับกัน ถ้าคุณไม่ยอมให้สังคมไทยลืมเรื่อง 6 ตุลา ทำไมคุณยอมให้กับผู้พัน น.หนู หรืออีกหลายคนด้วย หรือคุณมีคำอธิบายอะไรที่บอกว่ายอมได้ในแง่ปัจเจกชน แต่ยอมไม่ได้ในแง่สังคม กรุณาให้คำอธิบายหน่อยสิ ...?

 

อาจารย์ในธรรมศาสตร์ที่ให้การกับตำรวจ ปฏิเสธที่จะพูดกับผม อาจารย์ธรรมศาสตร์เพียง 2 คนเท่านั้นแหละ ผมอยากรู้จริงๆ ว่า เมื่อปี 2519 เขาให้การกับตำรวจว่าอย่างไร "นายป๋วย (อึ๊งภากรณ์) เคยกล่าวว่า เทิดภูมิ (ใจดี) เป็นลูกเสน่ห์ (จามริก) และเสน่ห์เป็นลูกผม เพราะฉะนั้น เทิดภูมิต้องเป็นหลานผม"  อาจารย์ธรรมศาสตร์ให้การว่า อาจารย์ป๋วย พูด อาจารย์ธรรมศาสตร์ให้การว่า มีการให้ข้อมูล หรือคนพูดนำให้ อ.เสน่ห์ อยู่เบื้องหลังเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ อาจารย์ธรรมศาสตร์ให้การอีกจิปาถะ ให้ชื่อของ อ.ชาญวิทย์ (เกษตรศิริ) อ.รังสรรค์ (ธนะพรพันธุ์) อ.ทักษ์ (เฉลิมติรณ) อ.ลิขิต (ธีรเวคิน) ด้วย ว่าพวกนี้เป็นฝ่ายซ้ายธรรมศาสตร์หมดเลย เขาเข้าใจ อ.ลิขิต ผิดถึงขนาดนี้นี่แย่เลย ...(ผู้ฟังหัวเราะ...)

 

ผมเลยไม่มีโอกาสถามเขาว่า หลังจากเวลาผ่านไปแล้วนี่ เขาคิดว่าสิ่งที่เขาให้การในครั้งนั้นนี่ มันเกินเลย เพราะว่ามันอยู่ในบรรยากาศของการเฉลิมฉลองชัยชนะ ถึงวันนี้เปลี่ยนไปไหม หรือทำไมให้การถึงขนาดนั้นได้ เขาเก็บเอกสารเป็นร้อยหน้าเพื่อปรักปรำฝ่ายซ้ายในธรรมศาสตร์ พวกอาจารย์นี่ล่ะ ทั้งที่ไม่มีอาจารย์สักคนในธรรมศาสตร์เป็นผู้ต้องหา

 

คนสุดท้ายนี่ เอาเข้าจริงเราสัมภาษณ์เป็นคนแรกๆ เลย ทันทีที่ได้เอกสาร เราหาก่อนเลย คนนี้เป็นคนที่ให้การคนหนึ่ง ผมขออนุญาตเรียกว่า นายพล ณ.เณร เป็นคนที่ให้การใน 224 คนด้วย และเป็นคนที่มีบทบาทมากในเหตุการณ์ 6 ตุลา ตายไปแล้ว (ปัจจุบัน) มีที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ด้วย โทรไปหา เขาจำได้ทันที ผมขอบอกเรื่องการติดต่อนะครับ ผมแจ้งทันทีว่า คนสัมภาษณ์เป็นใคร แล้วเขาจะรู้จักหรือไม่ก็ถือเป็นส่วนของวิธีวิทยา (methodology ) ยกตัวอย่างเช่น ผมเชื่อว่า พวกคุณที่อยู่ในที่นี้ไปสัมภาษณ์อาจารย์ที่อยู่ในธรรมศาสตร์ เขาอาจยอมพูด แต่พอบอกว่ามีผม เขาก็ไม่ยอมพูด ในทำนองเดียวกัน เขาบอกว่าเขาจำได้ เขาทักว่าสอนหนังสืออยู่เมืองนอกเป็นอย่างไร เขายินดีที่จะคุย ไม่มีอิดเอื้อนอะไรเลย ทันทีที่เราเข้าไปในบ้าน ผมกับ ธนาพล (อิ๋วสกุล) ถูกด่าโดยภรรยาของเขา "มาก่อเรื่อง สร้างความเดือดร้อน จะมารื้อฟื้นอีกทำไม" นายพล ณ เณร นิ่งเงียบ พาเราไปนั่งโต๊ะ เขาไม่ให้บันทึกเทป ไม่ให้จดด้วยซ้ำไป ตลอดเวลา 2 ชั่วโมงกว่า เขาตอบเพียงแค่ 2 อย่างเท่านั้น เช่น เมื่อไหร่ที่ผมถามถึงตัวเขา และประวัติพื้นเพเดิมว่ามาจากไหนถึงมามีบทบาทในเหตุการณ์ 6 ตุลา เขาจะเล่าว่า ครอบครัวของเขาตั้งแต่รุ่นปู่นี้จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7 จนถึงรุ่นเขา ซึ่งก็คือรัชกาลปัจจุบัน คุณถามไปเถอะว่า ประวัติครอบครัวเป็นอย่างไร คุณถามไปเถอะว่า ประวัติการรับราชการทหารเป็นอย่างไร เขาจะเล่าร่ายยาวมาตั้งแต่รัชกาลที่ 7 มาที่ปู่ของเขาจนถึงเขาในรัชกาลปัจจุบัน

 

คุณถามเกี่ยวกับ 6 ตุลา ถามเกี่ยวกับสังคมไทย ถามเกี่ยวกับอะไรก็ได้ เขาจะมีอีกคำตอบหนึ่ง เขาตอบว่า สถาบันพระมหากษัตริย์มีคุณูปการ มีความจำเป็น เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในสังคมไทยอย่างไร รายละเอียดคำต่อคำอาจแตกต่างไปบ้าง แต่เนื้อหาสาระสำคัญหนีไม่พ้น 2 อย่างนี้เท่านั้นแหละ แต่ละคำตอบยาวประมาณ 10 นาที ฉะนั้น คุณคงพอเข้าใจได้ว่า ผมกับธนาพลไปนั่งอยู่ที่นั้นเป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง คิดดูว่ามันน่าอึดอัดแค่ไหน อยากถามอะไรกี่ครั้ง เขาก็ตอบมาแค่นี้แหละ ครั้งละประมาณ 10 นาที

 

เอาเข้าจริงแล้ว บทความนี้ ผมอาจเขียนไม่สำเร็จ ถ้าผมขบไม่แตกว่า เขาทำอย่างนี้ทำไม ผมคิดอยู่เป็นปี จนกระทั่งเมื่อ 5-6 เดือนก่อน บทความนี้จึงเสร็จ ซึ่งเป็นข่าวดีสำหรับอาจารย์ชัยวัฒน์ (สถาอานันท์ ) นายพล ณ.เณร รู้จักผม ผมบอกเขาว่า ผมจะทำหนังสือ นายพล ณ.เณร น่าจะคาดได้ว่า หนังสือผมจะเขียนว่าอะไร ไม่ว่าผมจะเขียนอะไรก็แล้วแต่ ผมอยู่ในความคาดหวัง นายพล ณ.เณร จึงให้คำตอบแก่ผมบนบรรทัดฐานการคาดการณ์ของเขาว่า หนังสือผมจะเขียนอะไร

 

คุณพอจะนึกออกรึยังว่า ทำไมเขาจึงตอบแค่เรื่อง 2 เรื่องนี้ ว่าทำไมครอบครัวของเขาได้รับพระมหากรุณาธิคุณมาขนาดไหน กับเรื่องบทบาทความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย ในบริบทของคนที่ไปสัมภาษณ์ชื่อนี้ หน้าตาอย่างนี้ และกำลังจะเขียนหนังสือ นึกออกไหมครับ ผมไม่บอกคุณนะ

 

แต่ผมจะทิ้งท้ายว่า หลังจากที่ผมรู้สึกโกรธมาหลายปี ผมได้รู้สึกแวบขึ้นมา เรื่องของเรื่องก็คือ ผมได้เสนองานชิ้นนี้ที่ เมดิสัน อเมริกา ให้เพื่อนของผมฟัง โดยแกนของเรื่องตั้งคำถามว่า ผมจะเชื่อใครดีระหว่างคนที่ผมพูดคุยมาทั้งหมด มีเพื่อนผมอยู่สองคนที่เขาไม่ได้ทำเรื่องประเทศไทยเลย ทั้งคู่ทำเรื่องฟิลิปปินส์ เขาเดินมาหาผมตอนผมพูดเสร็จ และบอกผมว่า That General speak truth… ! ( ผู้ฟังหัวเราะ ) ทั้งสองคนนั้นบอกเลยว่า นายพล ณ.เณร เป็นคนพูดความจริง คิดดูนะฮะว่า ความจริงคืออะไร คนประเภทนี้ เขาคาดว่าผมจะเขียนเรื่องอะไร และเขาเป็นนักเลงพอไม่เหมือนกับคนอื่น

 

กระทิงแดงให้คำตอบที่เต็มไปด้วยแบบแผน คุณต้องเข้าใจสถานการณ์สิ..! อย่าเอาปัจจุบันไปตัดสินสิ..! นี่เป็นการตอบแบบนักประวัติศาสตร์ กระทิงแดงเป็นนักประวัติศาสตร์ …! (ผู้ฟังหัวเราะ) หรือคำตอบที่เป็นแบบแผนว่าพวกเราเป็นแค่พวกเบี้ย จะมาเอาอะไรกับพวกเรา...! มีการอธิบายโดยอีกหลายๆ คน ที่เป็นลักษณะเรื่องการสมรู้ร่วมคิด ซึ่งพยายามอธิบายว่าพวกเขาไม่ผิด…!

 

คนอย่างนายพล ณ.เณร ผมคิดว่าเขาไม่ต้องการจะกล่าวคำขอโทษ เขาคิดว่าเขารู้ว่าผมจะเขียนอะไร ไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็แล้วแต่ เขาไม่ได้ต้องการโต้เถียงว่า สิ่งที่ผมคิดอยู่นั้น มันถูกหรือผิด ผมคิดว่า เขากำลังบอกผมว่า

 

"สิ่งที่คุณเข้าใจอยู่นั้นมันถูกต้องแล้ว แต่ก็ยังผิดอยู่ดี...!

เพราะคุณไม่เข้าใจว่าทำไมสังคมไทยต้องเป็นอย่างนี้

 ความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างนี้..ๆๆๆ  

สิ่งที่คุณคิดอยู่อาจจะถูก…! แต่ก็ยังผิดอยู่ดี...!!!

เพราะคุณไม่เคยเข้าใจสถาบันพระมหากษัตริย์

และคุณไม่เคยเข้าใจด้วยว่า

คนไทยที่เคยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสถาบันพระมหากษัตริย์ มาหลายชั่วโคตร

เหมือนอย่างนายพล ณ.เณร

ยังมีอีกเป็นล้านคนในประเทศไทย ..."

 

 

 

 
ดาวน์โหลดบทความฉบับเต็ม

 

 

..............................

งานที่เกี่ยวข้อง

ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม: มายาการความรุนแรงทางการศึกษา

เกษม เพ็ญภินันท์ : สิทธิที่ก่อให้เกิดความรุนแรงหรือเหตุผลของรัฐต่อความชอบธรรมทางการเมือง

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ : เพศสภาพของความรุนแรง (ซ่อน - หา)

บทสะท้อน "ความรุนแรง" จากวรรณกรรมของขบวนการท้องถิ่นด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

พวงทอง ภวัครพันธุ์: "ปฏิบัติการสงคราม" ของการรณรงค์ปัญหายาเสพติดในประเทศไทย

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท