Skip to main content
sharethis

การสรรหา ส.ว.โดยประชาชน

การเสนอให้มีการสรรหา ส.ว. แบบตุลาการภิวัตน์ ในรัฐธรรมนูญ 2550  มีจุดอ่อนที่สำคัญ คือการทำลายหลักการที่ผู้แทนปวงชนชาวไทย จะต้องเป็นการเลือกโดยประชาชนโดยตรง  การผูกปมปัญหาที่จะมีตามมาในกระบวนการสรรหา และการผูกโยงให้การเมืองแทรกแซงฝ่ายตุลาการ  สำหรับการให้ได้ ส.ว. ตามที่ กมธ.ยกร่างฯ มุ่งประสงค์ ไม่เป็นสภาผัวสภาเมีย มี ส.ว.จากพื้นที่  มี ส.ว.จากกลุ่มวิชาชีพต่างๆ  โดยไม่ต้องมีจุดอ่อนข้างต้น ใช้วิธีเลือกตั้งโดยตรง  สามารถทำได้โดย

มีจำนวน ส.ว. 200 คน (หรือ 160 คน)

ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ใช้สิทธิ์คนละ 1 เสียง (one man/woman one vote)

แบ่งประเทศไทยเป็น 9 (หรือ 8) เขตเลือกตั้ง จำนวน ส.ว.แต่ละเขตเป็นไปตามสัดส่วนประชากร

แต่ละเขตประกอบด้วยจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกัน ให้มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน

นั่นคือแบ่งการสรรหาเป็น 9 (หรือ 8) เขต ในแต่ละเขตให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งทุกคนเป็นกรรมการสรรหา และให้กรรมการสรรหาแต่ละท่านใช้สิทธิ์ออกเสียงได้ 1 เสียง

 

ทฤษฎีและเหตุผล

โดยหลักการของทฤษฏีเกมส์ (Game Theory) กติกาที่แต่ละคนที่มีสิทธ์ ใช้สิทธิ์ออกเสียงได้ 1 เสียง   สมมุติฐานที่แต่ละคนที่ไปใช้สิทธ์ ไม่ต้องการให้การลงคะแนนของตน เป็นสิ่งสูญเปล่า เหมือนไม่มีสิทธิ์หรือไม่ได้ไปลงคะแนน (การลงคะแนนให้ฝ่ายค้านหรือ กาโนโวท (no vote) ไม่ถือเป็นสิ่งสูญเปล่า เป็นการได้แสดงออกถึงความไม่พอใจในพรรครัฐบาล [protest vote] ) และประมาณการ การกระจายที่น่าจะเป็นของคะแนน สำหรับเขตมีผู้แทน (ส.ว.)ได้ 1 คน ผู้สมัครที่จะได้รับเลือกตั้ง จะต้องได้คะแนนเสียงในระดับเกิน  50% (ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ลงคะแนน) ขึ้นไป

กรณีมีการแข่งกันระหว่างผู้สมัคร 2 คน หรือในระดับ 20%-40% ขึ้นไปกรณีมีผู้สมัครที่มีศักยภาพหลายคน โอกาสที่จะชนะเลือกตั้งของผู้สมัครที่ไม่อิงฐานของพรรคหรือกลุ่มการเมืองนั้นไม่มีเลย สำหรับเขตที่มีผู้แทนได้ 2-3 คนก็เช่นกัน คะแนนของผู้ชนะการเลือกตั้ง อาจจะลดลงมาบ้าง ต่ำลงมาถึงระดับแค่ 10-20% แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้ง ก็คือ ร่างทรงของกลุ่มการเมืองนั่นเอง

การที่เราได้ผู้แทนเป็น ส.ส. และ ส.ว. แบบสภาผัว สภาเมีย จึงเป็นเพียงผลโดยธรรมชาติของการเลือกตั้ง(ส.ส.และ ส.ว.) ที่ทับซ้อนและมีลักษณะใกล้เคียงกัน ผู้สมัคร(ส.ว.) แบบเป็นตัวแทนวิชาชีพ (หนึ่งเดียว)  ที่หวังเพียงได้คะแนนส่วนใหญ่จากผู้อยู่ในวิชาชีพเดียวกันไม่มีโอกาสที่จะฝ่าด่านเข้าไปได้ (ยกเว้นเช่น กรณีวิชาชีพทหารลงเลือกตั้งในเขตที่มีครอบครัวทหารอยู่มากหรือมีค่ายทหารอยู่)

แม้ในเขตเลือกตั้ง (ส.ว.)  ที่มีผู้แทนได้ถึง 5 คน ซึ่งมีโอกาสมากขึ้น ที่จะมีผู้ใหญ่ที่ผู้คนเชื่อมั่นนับถือ คนดีระดับซุปเปอร์ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว. (แทรกอยู่ในกลุ่มร่างทรงของกลุ่มการเมือง) ระดับคะแนนสอบผ่านขั้นต่ำ ก็ยังเป็นระดับ 10% ขึ้นไป  ผู้สมัครตัวแทนวิชาชีพ (หนึ่งเดียว) ไม่มีโอกาสที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทน ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่ไปลงคะแนนให้ผู้สมัครที่ไม่มีโอกาส (หรือมีน้อยมาก) ก็เป็นการลงคะแนนแบบเป็นสิ่งสูญเปล่า

นั่นคือผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง (ส.ว.) ส่วนใหญ่  พบกับสภาวะจุดสมดุลแบบแนส (Nash Equilibrium) ไม่มีทางเลือกพฤติกรรมการลงคะแนนที่แตกต่างไป (จากพฤติกรรมการลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ว.) ที่จะให้ผลดีกว่า (ยกเว้นกรณีลงคะแนนให้ผู้สมัครประเภทซุปเปอร์คนดี และการที่ผู้สมัครซุปเปอร์คนดี มักจะได้เป็น ส.ว. แบบคะแนนท่วมท้นก็เป็นตัวบ่งชี้ว่า ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งพร้อมและมีความอยากอย่างมากที่จะ เคลื่อนออกจากจุดสมดุลของแนสที่ถูกตอกตรึงอยู่)

การกำหนดเขตเลือกตั้งแบบให้มีจำนวน ส.ว.ได้  20+ คน จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งในส่วนผู้สมัครและพฤติกรรมการลงคะแนนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง  หัวใจของระบบนี้ คือ ระดับคะแนนสอบผ่านขั้นต่ำอยู่ที่ระดับ 1% (หรืออาจต่ำกว่า 1%) ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง นายสมหญิง จะลงคะแนนให้อดีตผู้ว่าฯ ผู้นับถือ อดีตกำนันผู้กว้างขวาง  อดีต ส.ว.ผู้คุ้นเคย  อดีตหมอใหญ่ผู้มีพระคุณ หรือ จะลงคะแนนให้ผู้สมัครจากกลุ่มรุ้งสีฟ้า ทนายความใหญ่  อดีตตำรวจใหญ่   ฯลฯ แต่ละคนก็ล้วนมีโอกาสได้รับเลือกตั้ง

กลุ่มวิชาชีพ กลุ่มปัญหาเฉพาะที่สามารถระดมผู้สนับสนุนได้ในระดับถึง 1% ของผู้มาใช้สิทธิ์ ก็จะได้ผู้แทนของกลุ่มเป็น ส.ว. วุฒิสภาที่จะได้ก็จะมีองค์ประกอบใกล้เคียงกับตามที่ กมธ. ยกร่างฯ มุ่งประสงค์  มี  ส.ว. อดีตผู้ว่า ส.ว.อดีต ส.ว.  ส.ว.อดีตหมอใหญ่ ส.ว.อิสระปากกล้า และ  ส.ว.ทนายความ ส.ว.อดีตตำรวจ  ส.ว.เขตทหาร ส.ว.กลุ่มครู  ส.ว.ดาราบันเทิง ส.ว.พิธีกร  ส.ว.คุ้มครองเด็ก ส.ว.สิทธิสตรี ส.ว.แม่พระ  ส.ว.รุ้งสีฟ้า  ส.ว.ชนกลุ่มน้อย ส.ว.สหภาพแรงงาน ส.ว.การเงินการธนาคาร ส.ว.หอมแดง ส.ว.กระเทียม ส.ว.สิ่งแวดล้อม ส.ว.คุ้มครองผู้บริโภค ส.ว.องค์กรพัฒนาเอกชน ส.ว.คนกลางคืน ฯลฯ

เหตุผลอีกประการที่แบ่งเป็น 9 (หรือ 8) เขต เขตละ 20-24 คน แทนที่จะรวมเป็นเขตเดียว 200 คน ก็คือเป็นการทำหน้าที่บทบาท กสช. แบบมาตรการเชิงพันธุกรรม การเลือกตั้ง ส.ว.แบบรวมเป็นเขตเดียว 200 คนทั้งประ เทศ จะเป็นการทำให้สื่อทั้งทีวีและสิ่งพิมพ์ (ส่วนกลาง) และเจ้าของสื่อมีอิทธิพลมากเกินต่อผู้ที่คิดต้องการจะเป็นข่าวก่อนสมัคร ส.ว. การแบ่งเป็น 9 (หรือ 8) เขต จะเป็นกลไกพันธุกรรมเร่ง หรือกระจายให้เกิด "สื่อท้องถิ่น" รองรับการปูทางสมัคร ส.ว. และ การประชาสัมพันธ์ผลงานของผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ว.

ทฤษฎีและการพยายามอธิบายให้มีตรรกะ ฟังดูเป็นเหตุเป็นผลข้างต้น มีไว้เพียงให้เป็นที่สบายใจสำหรับผู้ที่จะไม่แล้วใจถ้าไม่มีทฤษฎีรองรับ แต่ไม่ใช่เป็นทฤษฎีและเหตุผล เพื่อที่จะผลักดันนำเสนอรูปแบบการเลือกตั้งแบบใหม่ มาลองผิดลองถูก ทดลองใช้กับสังคมไทย รูปแบบการเลือกตั้ง ส.ว.ข้างต้นเป็นรูปแบบที่มีการได้ใช้จริงมาแล้ว ถึง 2 หน คือการเลือกตั้ง ส.ว.กรุงเทพมหานครฯ ทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา สิ่งที่นำเสนอ คือสิ่งที่เคยใช้อยู่แล้ว เคยรับรู้มาแล้วว่าได้ผลเป็นอย่างไร

ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวพัน ส.ว. ซึ่งยังต้องกังวลให้มากอยู่ คือ ถึงแม้ในกรณีที่ได้ ส.ว.ในอุดมคติ (ของ กมธ.ยกร่างฯ) ก็ยังมีโอกาสสูงที่ฝ่ายการเมืองที่เป็นรัฐบาลจะมีนวัตกรรมกลไกการแผ่บารมี จนสามารถเบี่ยงเบนความเป็นกลางของ ส.ว. จำนวนหนึ่ง (ที่มากพอ) ได้  หลักประกันป้องกันความเสียหายโดยเฉพาะในการคัดเลือกองค์กรอิสระ คือ ให้รายชื่อผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกต้องผ่านการยอมรับจากผู้นำฝ่ายค้าน เป็นการใช้อำนาจประชาชน (ข้างน้อย) ที่เลือกฝ่ายค้าน มาตรวจสอบป้องกันการแทรกแซงการคัดเลือกองค์กรอิสระโดยฝ่ายรัฐบาล ซึ่งได้เป็นรัฐบาลด้วยอำนาจประชาชน (เสียงข้างมาก)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net