Skip to main content
sharethis

พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย ผู้นำพม่ารุดเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ประสบภัยพิบัติไซโคลน หลังผ่านมาแล้ว 2 อาทิตย์ อาเซียนเริ่มทำงานถกเรื่องพม่าที่สิงคโปร์ เตรียมส่ง "สุรินทร์" พิสูจน์ความเสียหาย ด้านท่าทีพม่ายังคิดรับแต่ของ ส่วนเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ "เนียน วิน" เผยจะพิจารณาอนุญาตเป็นกรณีไป เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติออกแถลงการณ์จี้อาเซียนใส่ใจผู้ประสบภัย เร่งให้ความช่วยเหลือ ด้านจีนไว้อาลัยเหยื่อแผ่นดินไหว 3 วันทั่วประเทศ

พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย ผู้นำพม่ารุดเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ประสบภัยพิบัติไซโคลน หลังผ่านมาแล้ว 2 อาทิตย์ อาเซียนเริ่มทำงานถกเรื่องพม่าที่สิงคโปร์ เตรียมส่ง "สุรินทร์" พิสูจน์ความเสียหาย ด้านท่าทีพม่ายังคิดรับแต่ของ ส่วนเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ "เนียน วิน" เผยจะพิจารณาอนุญาตเป็นกรณีไป เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติออกแถลงการณ์จี้อาเซียนใส่ใจผู้ประสบภัย เร่งให้ความช่วยเหลือ ด้านจีนไว้อาลัยเหยื่อแผ่นดินไหว 3 วันทั่วประเทศ

 


พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย (คนกลาง) พร้อมนายพลผู้ติดตามขณะออกเยี่ยมประชาชนชาวพม่าผู้ประสบภัยพายุไซโคลนนาร์กิส เมื่อ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา นับเป็นการเยี่ยมประชาชนครั้งแรกหลังพายุไซโคลนพัดถล่มเมื่อ 2 พ.ค. (ที่มาของภาพ AFP/Irawaddy)

 

 

อาเซียนถกเรื่องพม่าที่สิงคโปร์

สำหรับความคืบหน้าในเหตุการณ์ไซโคลนนาร์กีสพัดถล่มพื้นที่ปากแม่น้ำอิรวดีของพม่า เมื่อวันที่ 2-3 พฤษภาคม ที่ผ่านมานั้น สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ได้จัดการประชุมฉุกเฉินขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อวานนี้ (19 พ.ค.) โดย นายจอร์จ โหยว รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าอาเซียนจะเป็นแกนนำส่งผ่านความช่วยเหลือจากนานาชาติเข้าไปยังพม่า และว่าพม่าได้ย้ำว่ายินดีรับสิ่งของช่วยเหลือ แต่สำหรับทีมเจ้าหน้าที่นอกกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น นายเนียน วิน รัฐมนตรีต่างประเทศของพม่ากล่าวว่า พม่าจะพิจารณากรณีๆ ไป

 

โหยวเปิดเผยว่า พม่าจะเปิดรับทีมแพทย์จากชาติสมาชิกอาเซียน ความเสียหายที่เกิดจากนาร์กีสคิดเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย นายฮัสซัน วีราจูดา กล่าวภายหลังการประชุมว่า ชาติอาเซียนจะส่งทีมแพทย์ 30 คนไปยังพม่าโดยเร็ว ทั้งนี้ อาเซียนบอกว่าพม่าควรเปิดรับเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์นานาชาติเข้าไปยังพื้นที่ภัยพิบัติเพิ่มขึ้นแต่นานาชาติก็ไม่ควรนำเรื่องความช่วยเหลือมาเป็นประเด็นการเมือง

 

เลขาธิการสหประชาชาตินายบัน กีมูน เสนอให้อาเซียนกับยูเอ็นประสานงานกันในการส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปให้แก่ชาวพม่า 2.5 ล้านคนซึ่งกำลังอดอยาก โดยเขามีกำหนดจะเดินทางถึงพม่าในคืนวันพุธนี้ เพื่อไปดูความเสียหายในเขตอิรวดี และคาดว่าจะได้เข้าพบหารือกับผู้นำสูงสุดของพม่า นายพลตาน ฉ่วย ด้วย ทั้งนี้ ยูเอ็นเสนอให้จัดประชุมประเทศผู้บริจาคขึ้นในกรุงเทพฯ วันที่ 24 พฤษภาคม ปีนี้

 

 

เตรียมส่ง "สุรินทร์" เลขาฯ อาเซียน เข้าพม่าประเมินความเสียหาย

ด้านนายนพดล ปัทมะ รมว.การต่างประเทศ ซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วย เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นพ้องกับการจัดตั้งกลไกของอาเซียนที่จะเป็นแกนนำเข้าไปช่วยเหลือพม่า โดยจะทำงานร่วมกับองค์การระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารโลก และองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งที่ประชุมมีมติส่งนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน เดินทางไปพม่าโดยเร็วที่สุดเพื่อพบปะกับผู้นำ และประเมินความเสียหายเพื่อรายงานกลับมายังอาเซียน

 

นอกจากนี้ที่ประชุมยังตกลงจะประชุมร่วมกันอีกครั้ง เพื่อระดมการบริจาคสิ่งของและเงินช่วยเหลือพม่าในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ ที่กรุงย่างกุ้ง จากเดิมประเทศไทยแสดงความพร้อมให้จัดการประชุมดังกล่าวในไทย แต่พม่าต้องการให้ประชุมที่พม่าซึ่งไทยไม่ขัดข้อง คาดว่านายบัน กีมูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ อาจจะเดินทางมาร่วมประชุมด้วย

 

"พม่ายอมรับทุกอย่างที่ตกลงกัน ไม่ว่าเรื่องการประชุม เรื่องการช่วยเหลือ มีเพียงประเด็นเดียวที่เขาขอ คือไม่อยากให้ทุกเรื่องของการช่วยเหลือเป็นเรื่องทางการเมืองสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น จากการประเมินเบื้องต้นของคณะทำงานที่ลงพื้นที่ก่อนหน้านี้ พม่าต้องการเงินช่วยเหลือ 11,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงต้องสร้างบ้านพักกว่า 100,000 หลังคาเรือน เมล็ดพันธุ์ข้าวที่จะใช้เพาะปลูกหลายแสนไร่ และยังต้องการเรือท้องแบนสำหรับไว้ลำเลียงสิ่งของในพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขัง อย่างไรก็ตาม พม่ายอมให้ประเทศสมาชิกอาเซียนส่งทีมแพทย์เข้าไปในพม่าได้ประเทศละ 30 คนด้วย" นายนพดลกล่าว

 

 

ถูกกดดันหนัก "ท่านผู้นำพม่า" โผล่พื้นที่ประสบภัย

ในวันจันทร์ โทรทัศน์ MRTV ของรัฐบาลพม่าได้แพร่ภาพพลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย ประธานสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ หรือ SPDC ขณะออกเยี่ยมเยียนพื้นที่ประสบภัยพิบัติ นักการทูตในย่างกุ้งผู้หนึ่งให้ความเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่ตาน ฉ่วย จะถูกกดดันจนต้องปรากฏตัวต่อสาธารณะ ซึ่งพวกทหารในกองทัพคงเห็นถึงความจำเป็นที่ผู้นำจะต้องแสดงตัว เนื่องจากความเสียหายนับว่าใหญ่หลวงมาก

 

ขณะเดียวกัน ผู้ประสานงานด้านมนุษยธรรมของยูเอ็น นายจอห์น โฮล์ม ได้ลงพื้นที่ในบริเวณปากแม่น้ำดังกล่าวในวันจันทร์ หลังจากบินถึงพม่าเมื่อคืนวันอาทิตย์ และคาดว่าเขาจะพบกับนายกรัฐมนตรี นายเต็ง เส่ง ในวันอังคาร

 

 

แพทย์พระราชทานจากไทยเข้าพื้นที่แล้ว

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการผู้อำนวยการสำนักบริหารการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ถึงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะแพทย์พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร 30 คน ที่เดินทางเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพายุไซโคลนนาร์กีสถล่มตามคำร้องขอของรัฐบาลพม่าว่าทางทีมแพทย์ได้เดินทางออกจากที่พักกรุงย่างกุ้ง ไปยังเมืองโมเมี้ยที่อยู่ห่างไป 300 กม.แล้ว โดยใช้เวลาประมาณ 11 ชม. จากเดิมที่คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง

 

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ทีมแพทย์ที่เข้าไปช่วยเหลือในเมืองนี้ได้เข้าพักที่วัดของชาวพุทธในพม่า ซึ่งสภาพค่อนข้างดี มีน้ำประปาใช้ มีห้องอาบน้ำที่สะอาดและปลอดภัย อาหารการกินสะดวก โดยมื้อเช้าทุกคนไม่ได้หุงข้าวกินเอง แต่ได้ซื้อขนมปังรับประทาน และในช่วงสายของวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ทุกคนได้ออกปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งรายละเอียดคงจะมีการรายงานเข้ามาอีกครั้ง ถึงสภาพของผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยในศูนย์พักพิงชั่วคราว และ รพ.ในโมเมี้ย ส่วนที่เมืองลาโปทา ทีมแพทย์จะเดินทางเข้าไปในวันที่ 20 พ.ค.

 

"คณะแพทย์พระราชทานทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใสดี และทุกคนได้โทรศัพท์คุยกับครอบครัวเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นครอบครัวที่อยู่เมืองไทยคงไม่ต้องเป็นห่วง เพราะคณะแพทย์ทุกคนสบายดี ที่พักก็ใช้ได้ อาหารการกินก็ไม่อดอยากคณะแพทย์ทุกคนมีขวัญและกำลังใจที่ดีที่จะปฏิบัติงานช่วยเหลือชาวพม่า" นพ.สุรเชษฐ์กล่าว

 

 

เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติจี้อาเซียนดูแลผู้ประสบภัย

นอกจากนี้ เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ประเทศไทย) ได้ออกแถลงการณ์ต่ออาเซียน กรณีความต้องการช่วยเหลือฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพแก่ประชาชนพม่าผู้ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนนาร์กีส เรียกร้องให้อาเซียนและประเทศสมาชิกต้องแสดงความรับผิดชอบต่อความสูญเสียจากพายุนาร์กีสรวมถึงความเสียหายที่เพิ่มขึ้นจากการกระทำของรัฐบาลทหารพม่าที่ขาดความสามารถในการปกป้องและช่วยเหลือผู้ประสบเหตุพายุไซโคลนนาร์กีสร์ถล่ม

 

พร้อมเรียกร้องให้อาเซียนและประเทศสมาชิกดำเนินการผลักดันการเจรจาอย่างเร่งด่วนเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ปกป้อง คุ้มครอง พลเมืองอาเซียน โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากพายุไซโคลนนาร์กีส กดดันรัฐบาลทหารพม่าให้เปิดรับความช่วยเหลือให้สามารถเข้าถึงผู้ประสบเหตุและครอบครัว รวมทั้งให้เพิกถอนการกระทำใดๆ อันเป็นการสกัดกั้นความช่วยเหลือมิให้เข้าถึงได้ โดยเฉพาะความช่วนเหลือกับประชาชนในพื้นที่ที่มีความต้องการอย่างทันที

 

นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีมาตรการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ในสถานการณ์ที่รัฐบาลทหารพม่าล้มเหลวในการส่งความช่วยเหลือแก่ผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลน เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตมากกว่าที่เป็นอยู่ (รายละเอียดโปรดดูล้อมกรอบ)

 

 

จีนไว้อาลัยทั่วประเทศเพื่อผู้เสียชีวิตแผ่นดินไหว 3 วัน

ขณะที่เมื่อวันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเริ่มการไว้อาลัยเป็นเวลา 3 วันแก่ผู้เสียชีวิตเหตุแผ่นดินไหวมณฑลเสฉวน ที่ขณะนี้มียอดผู้เสียชีวิตกว่า 30,000 คน ขณะที่กระทรวงการขนส่งของจีนรายงานว่าในช่วง2-3 วันที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ถูกโคลนถล่มลงมาฝังกว่า 200 คน แต่ไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องนี้ และไม่ชัดเจนว่าคนเหล่านั้นได้รับการช่วยเหลืออย่างปลอดภัยหรือไม่

 

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้จัดให้มีการไว้อาลัยทั่วประเทศเมื่อเวลา 14.28 น.ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นเวลาที่เกิดแผ่นดินไหวเมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อน โดยประชาชนพากันยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 3 นาที มีการเปิดไซเรนเตือนภัยทางอากาศ ส่วนรถยนต์ รถไฟ และเรือ ต่างร่วมกันกดแตรแสดงถึงการร่ำไห้ กิจการบันเทิงทุกชนิดหยุดชั่วครู่ การวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกถูกระงับชั่วคราว ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินมีการลดธงลงครึ่งเสา

 

ที่อำเภอเป่ย์ฉวน ซึ่งเป็นเมืองที่เสียหายหนักที่สุดในมณฑลเสฉวน เหล่าทหารและเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้นำกิ่งไม้และเศษกระดาษจากซากปรักหักพังมาทำเป็นพวงหรีด ตลาดหุ้นที่เมืองเซี่ยงไฮ้และเสิ่นเจิ้น และตลาดซื้อขายล่วงหน้าในเมืองเซี่ยงไฮ้ เจิ้งโจว และต้าเหลียน พากันหยุดทำการเป็นเวลา 3 นาที

 

 

ฝนตกหนักน้ำล้นตลิ่ง หวั่นท่วมซ้ำที่อยู่อาศัย

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า นับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวเมื่อสัปดาห์ก่อน ตามลาดเขาต่างๆ ได้เกิดหินถล่มลงมาอย่างต่อเนื่อง แม่น้ำที่ถูกดินโคลนปิดกั้นมีระดับน้ำสูงขึ้นเพราะฝนตกหนัก ทำให้เกรงกันว่าปริมาณน้ำอาจทะลักล้นตลิ่งจนพังเข้าท่วมเขตที่อยู่อาศัย

 

ตัวเลขอย่างเป็นทางการของจำนวนผู้เสียชีวิตในเหตุแผ่นดินไหวระดับ 7.9 ยังคงอยู่ที่เกือบ 32,500 คน บาดเจ็บ 220,000 คน และคาดว่ายังคงมีผู้ถูกฝังใต้ซากปรักหักพังราว 9,500 คน ซึ่งเชื่อว่าส่วนใหญ่เสียชีวิตหมดแล้ว ทั้งนี้ สถิติจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า ผู้เคราะห์ร้ายอาจรอดชีวิตแม้ถูกฝังนานเกือบ 2 สัปดาห์

 

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังเข้าไม่ถึงทุกหมู่บ้านในเขตแผ่นดินไหว จนถึงคืนวันอาทิตย์ยังคงเหลืออีก 77 หมู่บ้านที่ยังคงถูกตัดขาด รัฐบาลจีนคาดว่ายอดผู้เสียชีวิตในท้ายที่สุดอาจสูงเกิน 50,000 คน

 

นายซีกว๋อหัว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ แถลงที่กรุงปักกิ่งในวันจันทร์ว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่า 67,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 307,200 ล้านบาท โดยจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพีของจีนลดลงจากปี 2550 ราว 0.27% และ 6.38% สำหรับมณฑลเสฉวน นอกจากนี้ แผ่นดินไหวเมื่อ 12 พฤษภาคม ยังสร้างความเสียหายแก่โรงงานและเหมืองในมณฑลกานซูและมหานครฉงชิ่งด้วย

 

 

แถลงการณ์เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ประเทศไทย) ต่ออาเซียน

กรณีความต้องการช่วยเหลือฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพแก่ประชาชนพม่า

ผู้ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนนาร์กีส

 

เราประชาชนอาเซียน ทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม และเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ เรามีความวิตกต่อความล้มเหลวของรัฐบาลทหารพม่าในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุกรณีที่พายุไซโคลน นาร์กีสได้พัดถล่มประเทศพม่าเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตกว่าแสนคน และผู้ไร้ที่อยู่นับล้าน หากรัฐบาลทหารพม่ามีการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีจะสามารถสกัดกั้นความเสียหายมิให้ลุกลามได้ แต่มิได้มีการดำเนินการทันท่วงที เราไม่สามารถยอมรับพฤติกรรมของรัฐบาลทหารพม่าที่จงใจก่ออาชญากรรมต่อต้านมนุษยชาติได้

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยที่ส่งถึงผู้รอดชีวิตบางส่วน ซึ่งยังคงมีผู้คนอีกจำนวนมากที่กำลังเผชิญภาวะขาดน้ำ อาหาร การติดเชื้อจากการบาดเจ็บ และการแพร่ระบาดของเชื้อโรค อันนำมาซึ่งภัยพิบัติที่ร้ายแรงเพราะไม่มีการช่วยเหลือทางการแพทย์ที่ทันท่วงที

องค์การอนามัยโลกได้แจ้งเตือนว่าหากการช่วยเหลือยังไม่คืบหน้า ในเวลาไม่ช้าแหล่งน้ำจะกลายเป็นที่แพร่กระจายเชื้อโรค ซึ่งสามารถคร่าชีวิตผู้คนอย่างมหาศาล และเราไม่สามารถยอมรับเหตุการณ์เช่นว่าได้

ชุมชนระหว่างประเทศได้เสนอความช่วยเหลือแก่ประชาชนพม่าโดยทันทีหลังที่พายุไซโคลนเกิดขึ้น แต่รัฐบาลทหารของประเทศพม่ากลับปฏิเสธความช่วยเหลือจากองค์กรบรรเทาสาธารณภัยจากนานาชาติ โดยการปฏิเสธที่จะให้วีซาแก่เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ ขณะที่รัฐบาลทหารพม่าอ้างถึงความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ได้ด้วยตนเอง จนกระทั่งปัจจุบันยังไม่มีความใส่ใจในการให้ความช่วยเหลือประชาชนของตนและการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพของรัฐบาลพม่าแก่ประชาชนที่กำลังต้องการการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

รัฐบาลทหารพม่าได้อ้างว่าตนเองสามารถรับมือสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพกลับไม่เห็นการออกมาช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมจนกระทั่งปัจจุบัน แม้แต่การออกมาวางระบบการช่วยเหลือเพื่อสามารถเข้าถึงประชาชนและครอบครัวผู้ประสบภัย

อาเซียนต้องรับผิดชอบต่อการปกป้องคุ้มครองคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในภูมิภาคตามกฎบัตรของอาเซียน (กฎบัตรอาเซียน ข้อที่หนึ่ง วัตถุประสงค์และหลักการ วัตถุประสงค์ข้อเก้า) เนื่องจากพม่าถือเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน ทว่าอาเซียนกลับล้มเหลวในการช่วยเหลือพลเมืองอาเซียนที่ตกอยู่ในภาวะยากลำบากจากภัยธรรมชาตินี้

อาเซียนและประเทศสมาชิกต้องแสดงความรับผิดชอบต่อความสูญเสียจากพายุนาร์กีสรวมถึงความเสียหายที่เพิ่มขึ้นจากการกระทำของรัฐบาลทหารพม่าที่ขาดความสามารถในการปกป้องและช่วยเหลือผู้ประสบเหตุพายุไซโคลนนาร์กีสร์ถล่มในครั้งนี้

เราขอเรียกร้องให้อาเซียนและประเทศสมาชิก

- ดำเนินการผลักดันการเจรจาอย่างเร่งด่วนเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ปกป้อง คุ้มครอง พลเมืองอาเซียน โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากพายุไซโคลนนาร์กีสร์กว่าล้านชีวิต

- กดดันรัฐบาลทหารพม่าให้เปิดรับความช่วยเหลือให้สามารถเข้าถึงผู้ประสบเหตุและครอบครัว รวมทั้งให้เพิกถอนการกระทำใดๆ อันเป็นการสกัดกั้นความช่วยเหลือมิให้เข้าถึงได้ โดยเฉพาะความช่วนเหลือกับประชาชนในพื้นที่ที่มีความต้องการอย่างทันที

- อาเซียนต้องปฏิบัติการที่จำเป็นเพื่อจะให้มีการตอบรับที่ทันท่วงทีจากรัฐบาลพม่า ซึ่งอาจจะรวมถึงการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลทหารพม่า และพิจารณาถึงการที่จะเพิกถอนสมาชิกภาพของรัฐบาลทหารพม่าในอาเซียน

- กระทำการใดๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ในสถานการณ์ที่รัฐบาลทหารพม่าล้มเหลวในการส่งความช่วยเหลือแก่ผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลน เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตมากกว่าที่เป็นอยู่

เราเรียกร้องให้เลขาธิการอาเซียนดำเนินการต่อข้อเสนอดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ณ ประเทศสิงคโปร์

 

ปรานม สมวงศ์, อดิศร เกิดมงคล, โก โก ออง

ตัวแทน เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ

 

ที่มาของข่าวบางส่วน: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net