Skip to main content
sharethis

จากกรณีแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชาเรื่องการขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า รัฐบาลละเมิดมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญจนเป็นเหตุให้ขณะนี้ รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช พยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตัดมาตรา 190 ว่าด้วยการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศออกไปนั้น


 


นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร และสมาชิกกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่า มาตรา 190 ว่าด้วยการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศไม่ใช่ตัวปัญหา หากรัฐบาลพยายามทำตามสิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดสามารถทำได้ตามกำหนดเวลาโดยไม่ยากเย็นและมีความถูกต้องชอบธรรม และที่ผ่านมารัฐบาลก็เคยดำเนินการไปแล้ว 3 กรณีคือ ขอลงนามผูกพันกฎบัตรอาเซียน, กรอบเจรจาเอฟทีเออาเซียน-สหภาพยุโรป และขอลงนามผูกพันเอฟทีเอ อาเซียน-ญี่ปุ่น


 


"กรอบการเจรจา ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร ในกรณีนี้ สามารถเสนอกว้างๆ เพียงแค่ 1.ประเทศไทยยืนยันการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบเป็นมรดกโลกร่วมกันกับประเทศกัมพูชา และ 2.การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกร่วมกันต้องไม่กระทบการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา คำถามคือ ทำไมรัฐบาลไม่ทำ ซึ่งหากทำก็จะสร้างความตื่นตัวในการเรียนรู้เรื่องนี้ให้กับสังคม จนเกิดเป็นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการจัดการปัญหา และยังเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับรัฐบาลด้วย ซึ่งเป็นวิธีที่อารยะประเทศถือปฏิบัติกัน โดยไม่เสียเวลาแต่อย่างใด" (ภาพจำลองเหตุการณ์หากรัฐบาลดำเนินการตาม มาตรา 190 ดูล้อมกรอบด้านล่าง)


 


อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง รัฐบาลไม่ยอมดำเนินตามมาตรา 190 ไม่เคยขอกรอบเจรจาต่อรัฐสภา ไม่เอาแถลงการณ์ร่วมผ่านสภา จนในที่ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเข้ามาตรา 190


 


"แต่นายกฯ มากล่าวว่าเป็นเพราะ มาตรา 190 ต้องแก้ทำให้บ้านเมืองวุ่นวายต้องแก้รัฐธรรมนูญ ฉะนั้นจริงๆ เป็นปัญหาที่การดำเนินการของรัฐบาล หรือปัญหาที่ มาตรา 190 กันแน่"


 


ทั้งนี้ นายบัณฑูรกล่าวว่า 5 เงื่อนไขตามมาตรา 190 นั้น 3 เงื่อนไขแรก (หนังสือ สัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตาม หนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา) มีปรากฏอยู่แล้วตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2517 ต่อเนื่องมาถึงปี 2540 อีก 2 เงื่อนไขท้าย (มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ) ต้องการการกำหนดอย่างชัดเจนในกฎหมายลูก แต่รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศไม่ยอมออกกฎหมายลูก แม้ว่าทางกลุ่มจะพยายามไปเสนอร่างกฎหมายการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศให้แล้วถึงกระทรวงฯ ก็ตาม จึงกลายเป็นจุดหนึ่งที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน


 


กรณีมีข่าวว่ากระทรวงการต่างประเทศบอกว่า เพราะมาตรา 190 และคำตัดสินของศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้กระทรวงการต่างประเทศไม่สามารถทำงานได้เลย แม้กระทั่งการลงนามเรื่องอาเซียน 4-5 ฉบับ นายบัณฑูร กล่าวว่า ความตกลง 4-5 ฉบับ เราไม่เคยเห็นและรัฐบาลก็ไม่เคยเปิดเผย ดังนั้นต้องดูว่า เข้าข่ายเงื่อนไข 5 ประการข้างต้นหรือไม่ สมมติว่า 4-5 ฉบับนั้นเข้าเงื่อนไขก็ต้องผ่านกระบวนการของสภา ซึ่ง ณ ขณะนี้เหมือนกับว่า กรอบการเจรจาดำเนินไปก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้สมมติว่าเข้าเงื่อนไขหนึ่งเงื่อนไขใด การลงนามก็ยังสามารถทำได้ โดยอนุสัญญากรุงเวียนนา ปี 1969 ซึ่งว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ ก็ให้สามารถดำเนินการได้ โดยให้ตัวแทนประเทศไปลงนามได้ โดยมีเงื่อนไขว่า การลงนามจะมีผลผูกพัน ต่อเมื่อมีการให้สัตยาบัน นั่นคือ ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์ ประเทศไทยก็ไปลงนาม แต่ยังไม่มีผลผูกพันจนกว่าจะมีการให้สัตยาบัน คือต้องดำเนินการอนุมัติผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาไทยก่อน ซึ่งประเทศต่างๆ ก็มีบทบัญญัติแบบนี้


 



นายจักรชัย โฉมทองดี นักวิจัยจากโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา จุฬาฯ และสมาชิกกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่าเป็นที่ยอมรับกับทั่วไปแล้วว่า มาตรา 190 ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเอฟทีเอ หรือเรื่องเขาพระวิหารเท่านั้น แต่มันครอบคลุมหลายเรื่องทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม การลงทุน การลดโลกร้อน ดังนั้นการที่เอฟทีเอ ว็อทช์ออกมาพูดครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อเรื่องเอฟทีเอเท่านั้น


 


"มาตรา 190 เกิดขึ้นจาก 4 หลักการสำคัญคือ หลักการความโปร่งใส ความสามารถในการตรวจสอบ การมีส่วนร่วมของประชาชน การเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ว่าจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไรหลักการทั้ง 4 นี้ควรคงอยู่ เพราะมันเกิดจากปัญหาของรัฐธรรมนูญก่อนหน้า และวิธีการปฏิบัติของฝ่ายบริหารซึ่งไปเจรจาและก่อให้เกิดผลกระทบ เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นก้าวใหม่และเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศด้วยซ้ำ"


 


เรายังยืนยันว่า อำนาจในการไปเจรจาการจัดทำพันธกรณี เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร รัฐบาลมีอำนาจเต็มที่ในการดำเนินการ แต่ต้องมีข้อยกเว้น ตามที่ปรากฎในวรรคสองของมาตรา 190 การมีข้อยกเว้นเช่นนี้ เมื่อเทียบเคียงกับนานาอารยะประเทศแล้วไม่ใช่เรื่องแปลก การเจรจาเรื่องที่จะมีผลกระทบโดยเฉพาะ เรื่องอาณาเขตดินแดนจำเป็นที่จะต้องผ่านสภา ซึ่งอย่างที่บอกว่า เรื่องอาณาเขตเป็นเรื่องที่มานานแล้วก่อนมาตรา 190 ว่า จำเป็นที่จะต้องผ่านสภา เพราะฉะนั้น ตามมาตรา 190 อำนาจก็ยังเป็นของฝ่ายบริหารเพียงแต่ว่ามีข้อยกเว้นในเรื่องที่สำคัญ


 


แต่ปรากฏว่าขณะนี้ มีนักวิชาการบางส่วนและรัฐบาลพยายามชี้เป้าว่า มาตรา 190 มีปัญหาโดยโยนหลักการเหล่านี้ทิ้งไป โดยอ้างว่ารัฐบาลทำงานไม่ได้ อ้างว่าศาลจะเข้ามาแทรกแซงการบริหาร ทั้งๆ ที่ นี่คือหลักปฏิบัติของอารยประเทศ แต่ขณะนี้ รัฐบาลพยายามเอาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มาเล่นการเมืองในประเทศ


 


ทั้งนี้ เอฟทีเอ ว็อทช์ ยืนยันว่า มาตรา 190 ไม่ได้เป็นตัวปัญหา และขอเรียกร้องให้นักวิชาการร่วมเสนอทางออกจากปัญหาเดิมๆ ที่เกิดจากการปฏิบัติของรัฐบาลและหน่วยราชการที่พยายามกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ให้รัฐสภาร่วมพิจารณา ไม่ใช่เสนอทางออกให้ตัดมาตรา 190 ออก


 


การดำเนินการตามกฎหมายของรัฐบาลเมื่อเราแยกการกระทำของรัฐเป็นอำนาจบริหารกับอำนาจปกครอง และอ้างว่าศาลปกครองไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวอำนาจบริหารนั้น เราพบว่า กฎหมายที่เรามีอาจจะยังเปิดช่องโหว่เสียด้วยซ้ำ กล่าวคือ เมื่อรัฐบาลดำเนินการที่เรียกว่าเป็นอำนาจบริหาร (Act of State) แล้วขัดต่อกฎหมายภายใน แต่ก็ยังไปลงนามสร้างพันธกรณีระหว่างประเทศแล้ว มันจะผูกพันตามอนุสัญญากรุงเวียนนา นั่นคือ รัฐบาลต้องทำตามพันธกรณีนั้น แม้กระบวนการภายในประเทศจะมีปัญหา


 


ที่ผ่านมา เราเคยไปยื่นกรณี ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ว่ากระบวนการภายในประเทศของรัฐบาลมีปัญหา แต่รัฐบาลก็ยังเดินหน้าต่อไป ศาลปกครองก็ไม่รับเพราะบอกว่าไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาล ดังนั้นจะเห็นว่า มันมีช่องว่างอยู่ว่า แม้แต่ถ้ารัฐบาลทำผิดขั้นตอน ขัดมติ ครม.เอง ก็แล้วแต่ แต่ก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่มีกลไกในรัฐไทยสามารถชะลอได้ แม้ว่านี่เป็นการกระทำผิด และเมื่อไปสร้างพันธกรณีแล้ว ก็ไปอยู่ภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งแก้ไขไม่ได้


 


นายจักรชัย กล่าวว่า นี่เป็นช่องโหว่อย่างมาก ผมอยากเห็นนักวิชาการรัฐบาลออกมาชี้แจงว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ข้อเสนอของเราคือ ในกฎหมายลูกจะต้องระบุให้ประชาชนสามารถยื่นศาลปกครองให้พิจารณาได้ ถ้าพบว่ารัฐบาลทำผิด นั่นคือ ถ้าผิดกฎหมายภายในก็ต้องระงับด้วยกฎหมายภายในได้ ก่อนการไปลงนาม


 


"เราไม่ได้คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยืนยันหลักการว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วม โดยเห็นด้วยกับกระบวนการที่จะมี ส.ส.ร.3 (สภาร่างรัฐธรรมนูญ) และเกิดการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ต้องไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ ทั้งนี้ บทบาทของมาตรา 190 ต้องคงอยู่ และเรียกร้องให้มีการพิจารณา พ.ร.บ. โดยด่วนที่สุด เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว" นายจักรชัยกล่าว


 


ส่วนกรณีที่มีผู้วิจารณ์ว่า การตัดสินของศาลครั้งนี้จะทำให้กลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับทุกกรณี ส่งผลให้หนังสือสัญญาทุกฉบับต้องผ่านรัฐสภานั้น นายบัณฑูร กล่าวว่า ตามมาตรา 190 วรรคสอง เงื่อนไข 1-3 ตรงไปตรงมาไม่ต้องตีความอะไรมาก ดังนั้น ไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะต้องเข้าสภา ขณะที่เงื่อนไข 4-5 ยังถกเถียงกันได้ ว่าอะไรที่เข้าข่ายหรือไม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้เพราะต้องไปกำหนดรายละเอียดในกฎหมายประกอบซึ่งพูดจริงๆ แล้วรัฐบาลสามารถใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้ด้วยซ้ำ แต่รัฐบาลกลับไม่ดำเนินการ


 


นายบัณฑูร กล่าวว่า ดูเหมือนรัฐบาลจะตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรถึงจะเจรจาโดยไม่ต้องเอาเข้ารัฐสภา ทั้งที่เขากลับเห็นว่า แม้การเอาเข้าสภาก่อนการเจรจา จะเพิ่มขั้นตอนและใช้เวลาเพิ่มขึ้น แต่ยังสามารถบริหารจัดการได้ โดยช่วยให้ประชาชนรู้ข้อมูล มีการกลั่นกรองอย่างรอบคอบ รัฐบาลก็มีอำนาจในการต่อรองได้มากขึ้นเพราะอ้างมติสภาได้ และยังป้องกันปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนจากการทำความตกลงแล้วมีการแลกเปลี่ยนกันใต้โต๊ะ เพราะฉะนั้น เมื่อมีผลดีอย่างนี้แล้ว ทำไมจึงจะไม่เข้าสภา


 


กรณีหากมีการเจรจาที่เป็นความลับสุดยอดหรือที่มีความละเอียดอ่อนมากๆ นายจักรชัย กล่าวว่า ตามมาตรา 190 ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะขั้นตอนที่จะต้องเปิดเผย พูดถึงเฉพาะก่อนการเจรจาและเมื่อการเจรจาจบแล้ว ระหว่างการเจรจาไม่ได้เข้าไปแตะต้องอะไร ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาเรื่องความละเอียดอ่อน


 


นายบัณฑูร กล่าวเสริมว่า กรอบเจรจาที่พูดถึงไม่ได้ต้องการให้เปิดเผยรายละเอียดทุกอย่าง แต่เป็นเพียงกรอบยุทธศาสตร์ ซึ่งไม่ได้ลงรายละเอียดถึงความลับ หรือจุดได้เปรียบเสียเปรียบในการเจรจา


 


 


บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กล่าวถึงการจำลองเหตุการณ์ว่า ในกรณีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา สามารถปฎิบัติได้จริง ตามรัฐธรรมนูญ 190


 


ฉากที่ 1


รัฐธรรมนูญ ม. 190 วรรคสาม กำหนดว่า


 


"ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย"


 


 



ภาพจากเอกสาร Back to the Future:


The Temple Of Preah Vihear (Episode III) โดย FTA Watch


 


 


โดยในหน้า 17 ของหนังสือปกขาว กระทรวงต่างประเทศเขียนว่า ในช่วงปี พ.. 2548-2549 กัมพูชามีความพยายามยื่นขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกต่อยูเนสโก และสิ่งที่ประเทศไทยกังวล คือ กัมพูชาได้ทำแผนที่กำหนดแขตแดนต่างๆ ไว้ เป็นเอกสารที่เรียกว่า Nomination File หรือเอกสารประกอบคำร้องยื่นขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดก โดยแผนที่ที่กำหนดไว้นั้น กระทรวงต่างประเทศระบุว่า "เป็นเส้นเขตแดนระหว่างประเทศซึ่งล้ำเข้ามาในดินแดนไทย" เพราะฉะนั้นถ้าดูตามเหตุการณ์แบบนี้ ก็หมายความว่ามีประเด็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตดินแดน ซึ่งเป็นไปตาม รธน ว่า อยู่ในความหมายของหนังสือสัญญาที่ต้องเสนอผ่านกระบวนการสภา ตั้งแต่ก่อนเจรจาและเมื่อเจรจาเสร็จแล้ว


 


ฉากที่ 2


หากกระทรวงการต่างประเทศเห็นปัญหาว่า การยื่นขึ้นทะเบียนมรดกโลกจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย ตั้งแต่ต้นและเดินตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ 2550 คณะรัฐมนตรีก็ต้องให้ข้อมูลและจัดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก


 


จากนั้น รัฐบาลเสนอ "กรอบการเจรจา" ต่อ "รัฐสภา" เพื่อขอความเห็นชอบก่อนการดำเนินการเจรจา โดยตัวอย่าง "กรอบการเจรจา" อาทิ ประเทศไทยยืนยันการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบเป็นมรดกโลกร่วมกันกับประเทศกัมพูชา รวมทั้งระบุให้ชัดว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกร่วมกันต้องไม่กระทบการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา


 


หากดำเนินการตามนี้ ประชาชน นักวิชาการ ก็จะตื่นตัวต่อเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลก เกิดการเรียนรู้ปัญหาและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และจะมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการเจรจาได้อย่างกว้างขวางรอบคอบขึ้น


 


โดยถ้าย้อนอดีตได้ มีนาคม 2551 รัฐสภาอนุมัติ "กรอบเจรจา" ให้รัฐบาลเปิดการเจรจาได้ เมื่อรัฐบาลไปเปิดการเจรจา ก็จะมีรัฐสภาและประชาชนหนุนเสริม ซึ่งจะเพิ่มอำนาจการต่อรองได้ว่าประชาชนและรัฐสภาให้การรับรองแล้ว


 


ฉากที่ 3


รัฐธรรมนูญ ม. 190 วรรคสอง


 


"หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศ อย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว"


 


จากนั้น เดือนพฤษภาคม รัฐมนตรีต่างประเทศไทยเจรจาจัดทำ "ร่างแถลงการณ์ร่วม" กับ รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่ประเทศฝรั่งเศส โดยสาระสำคัญในแถลงการณ์ร่วม คือ การขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกันระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา และรัฐบาลเสนอ "ร่างแถลงการณ์ร่วม" ให้รัฐสภาพิจารณา


 


ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า การประชุมรัฐสภาสมัยสามัญ เปิด 21 ม.ค. - ปิด 16 พ.ค. 2551 ดังนั้น รัฐบาลมีเวลานำร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ให้รัฐสภาพิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือไม่ได้ทันก่อนปิดสภา รวมทั้งจากจำนวนเสียงที่กุมสภาอยู่ รัฐบาลก็สามารถกำหนดเป็นวาระพิจารณาเร่งด่วนได้อยู่แล้ว สมมติว่า พ.ค. 2551 รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ "ร่างแถลงการณ์ร่วม" ภายใต้สาระสำคัญว่าเป็นมรดกโลกร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชา มิ.ย. 2551 รัฐบาลมอบอำนาจให้ รมว.ต่างประเทศลงนามใน "แถลงการณ์ร่วม"


 


ฉากที่ 4


ต่อมา พอกรกฎาคม 2551 คณะกรรมการมรดกโลก ประชุมสมัยที่ 32 ณ ประเทศแคนาดา ก็มีมติเห็นชอบการขึ้นทะเบียน "ปราสาทพระวิหารและบริเวณโดยรอบ" เป็นมรดกโลกร่วมกันของประเทศกัมพูชาและประเทศไทย


 


แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง คือ ฉากที่ 5 ส่วน ฉากที่ 1-3 นั้นไม่เกิด นั่นคือ


 


ฉากที่ 5


รมว.ต่างประเทศ และนายกรัฐมนตรีได้เจรจาเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารกับกัมพูชาหลายครั้ง เช่น รมว.ต่างประเทศไทย-กัมพูชา (21 ก.พ.51 ที่สิงคโปร์) , นายกรัฐมนตรีไทย-กัมพูชา (3-4 มี.ค. 51 ที่พนมเปญ, 30 มี.ค. 51 ที่เวียงจันทน์), รมว.ต่างประเทศไทย-รองนายกฯ กัมพูชา (14 พ.ค.51 ที่เกาะกง, 22-23 พ.ค. 51 ที่ปารีส) โดยไม่ได้มีการขอกรอบเจรจาก่อน ไม่ได้มีการเอาร่างแถลงการณ์ร่วมมาผ่านสภาฯ


 


ฉะนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว, ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าทำผิดม.190, รมว.ต่างประเทศประกาศลาออก สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นว่า ผู้นำรัฐบาลกล่าวโทษว่าเป็นความผิดของรัฐธรรมนูญ ต้องแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 อย่างเร่งด่วน เพราะทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย


 


ดังนั้น เมื่อลองลำดับย้อนความว่า มาตรา 190 เป็นเรื่องที่ปฎิบัติได้ และทำได้ภายใต้เวลาสมัยประชุมสภา โดยไม่มีปัญหาอะไรเลย เพราะฉะนั้น มันเป็นปัญหาที่การดำเนินการของรัฐบาลหรือมาตรา 190 กันแน่


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net