Skip to main content
sharethis
 
ระหว่างวันที่ 30 – 31 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดโครงการติดตามการให้การช่วยเหลือข้าราชการตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ และเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ จากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่โรงแรมเดอะรีเจนซี่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีพล.ต.ต.วุฒิ พัวเวส ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) ในฐานะประธานอนุกรรมการสวัสดิการสงเคราะห์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เดินทางมาเป็นประธานติดตามความคืบหน้าการให้การช่วยเหลือดังกล่าว โดยมีสมาชิกในครอบครัว ทายาทรวมทั้งข้าราชการตำรวจที่บากเจ็บเข้าร่วมประชุมกว่า 180 คน
 
ในฐานะที่ข้าราชการตำรวจ เป็นส่วนหนึ่งของผู้สูญเสียได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกับชาวบ้านในพื้นที่ ผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว จึงต้องได้รับการช่วยเหลือเยียวยาด้วย ในโอกาสนี้ ประชาไทมีโอกาสสัมภาษณ์ พล.ต.ต.วุฒิ พัวเวส กับภารกิจในเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาในฝ่ายตำรวจในครั้งนี้ด้วย สนามการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหัดชายแดนภาคใต้ ที่พวกเขาถือเหมือนเป็นสนามรบนั้น ข้าราชการที่ได้รับผลกระทบจากการรบครั้งนี้จะได้รับการเยียวยาอย่างไรให้สมกับที่เพิ่งผ่านสนามรบ อ่านบทสัมภาษณ์ พล.ต.ต.วุฒิ พัวเวส ได้ดังนี้
 
0 0 0
 
“การมาคราวนี้ มาเพื่อติดตามดูผลการช่วยเหลือข้าราชการตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา รวมทั้งดูความเป็นอยู่ของทายาทตำรวจที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ดังกล่าว
 
เราเชิญทายาทมา 163 คน เอาตำรวจที่บาดเจ็บหนักที่สามารถมราได้ กับตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่รวมมาร่วมประชุม รวมทั้งหมด 184 คน
 
ประการแรก เพื่อให้ความรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่เป็นสิทธิประโยชน์ของเขา สิทธิประโยชน์จากองค์การทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นเรื่องที่ตำรวจทั้งหลายยังไม่รู้เลย
 
ตำรวจทำไมมีสิทธิเป็นทหารผ่านศึกได้ ก็เพราะเป็นระเบียบขององค์การทหารผ่านศึกว่าด้วยการป้องกันอธิปไตยของชาติ ถ้าทำอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องของการป้องกันอธิปไตยของชาติ โดยเฉพาะเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอสงขลา ถ้าถูกกระทำโดยฝ่ายตรงข้าม ก็ควรจะได้บัตรทหารผ่านศึกชั้น 1 หรือถ้าบาดเจ็บสาหัส พิการ ก็ควรจะได้บัตรทหารผ่านศึกเช่นกัน
 
สิทธิของการเป็นทหารผ่านศึกชั้น 1 มีตั้งแต่สิทธิของตัวเอง สิทธิในการที่ตัวเองยังบาดเจ็บอยู่ จะได้เงินรายเดือนตลอดชีวิต เวลาเกษียณแล้วยังได้อีก สิทธิในการรักษาพยาบาล
 
สิทธิที่สำคัญคือ การส่งค่าเล่าเรียนให้บุตร 4 – 5 คนไปจนถึงระดับปริญญาตรี แล้วก็ได้ค่าอาหารด้วย โดยเบิกจากรัฐบาลหรือจากส่วนราชการได้เท่าใด ส่วนที่เหลือก็เบิกจากองค์การทหารผ่านศึก
 
นอกจากนี้ มีตัวแทนจากมูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์มาให้ความรู้ในเรื่องจากช่วยเหลือจากมูลนิธิสายใจไทยฯด้วย มีหลายรายจากที่ฟังแล้ว ปรากฏว่ายังไม่รับการช่วยเหลือ โดยมูลนิธิสายใจไทยช่วยรายเดือนประมาณ 1,900 บาทต่อเดือน ส่วนองค์การทหารผ่านศึกให้ 2,500 บาทต่อเดือนต่อราย
 
นอกจากนั้นก็มีการช่วยเหลือจากกระทรงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข โดยผ่านศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในภาพรวมของการเยียวยา
 
โดยกระทรวงศึกษาธิการมาช่วยในเรื่องทายาท ด้านทุนการศึกา กระทรวงพัมนาสังคมและความมั่นของมนุษย์ดูเรื่องการประกอบอาชีพใหม่ กระทรวงแรงงานก็ดูเรื่องการฝึกฝน จะให้รู้ว่าเขามีอะไรที่ช่วยเราได้
 
ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะได้ตั้งแต่เรื่องสิทธิกำลังผล คือ การแต่งตั้ง การปูนบำเหน็จความดีความชอบ การได้รับการตอบแทนเป็นตัวเงิน แล้วสิ่งที่ผู้บังคับบัญชาจะได้รับทราบ คือปัญหาของเขามีอะไร ขาดตกบกพร่องอะไร เราจะได้ช่วยติดตามให้ เพื่อให้ทายาทมีความสุข และตำรวจที่บาดเจ็บมีความสุขมากยิ่งขึ้น จะทำให้ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ครอบครัวตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ มีขวัญกำลังใจในการทำงาน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อรักษาอธิปไตยของชาติไว้
 
ที่ผ่านมามีปัญหาอุปสรรคมีอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เวลาเกิดเหตุขึ้นมา ครอบครัวหหรือตำรวจเองไม่รู้ เลยไม่ได้ตามสิทธิหรือไม่ได้ใช้สิทธิในการช่วยเหลือเยียวยา ในขณะเดียวกันอีกส่วนหนึ่งคือ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้บังคับบัญชาตำรวจ ไม่ได้ไปสนใจหรือไม่ได้ดูให้รอบคอบ ไม่ครบถ้วน ว่า เขาควรจะมีสิทธิอะไร ครบหรือไม่
 
ในการจัดสัมมนาครั้งนี้ เราจัดทำคู่มือ ที่ได้จากส่วนราชการต่างๆ องค์กรต่างๆ ให้เขาไป รวมทั้งการติดต่อ สิทธิมีอะไรบ้าง และติดต่ออย่างไร
 
ผมเป็นประธานอนุกรรมการสวัสดิการสงเคราะห์ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อเดือน เมษายน 2552 ก่อนหน้านั้น ผมมีกองทุนหนึ่งชื่อว่า กองทุนด้วยรักและห่วงใย ซึ่งผมเป็นประธานกองทุน ทำมาตั้งแต่ปี 2549 ทำ 2 อย่าง คือ ให้ทุนการศึกษาแก่บุตรตำรวจที่เสียชีวิตทุกปี ให้มาแล้ว 2 ปี แล้วก็เยี่ยมตำรวจที่บาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่
 
โดยตั้งแต่ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา เราตรวจสอบมีคนเจ็บ 300 – 400 คน เราก็ส่งเงินตามกำลังความสามารถ เช่น อย่างน้อยก็ 2,000 บาท เจ็บมากก็ 5,000 บาท เจ็บมากขึ้นก็ 10,000 บาท เยี่ยมเป็นรายปี หยุดเจ็บแล้วกลับไปอยู่บ้านก็ยังเยี่ยมได้อยู่ ไปปลอบขวัญเขา เป็นของขวัญปีใหม่
 
เรื่องขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ตอนนี้ ถ้าดูจากคนเจ็บคนป่วยที่รักษาตัวอยู่แถวนี้ ที่มาร่วมงานด้วย เขาก็บอกพร้อมที่จะกลับไปอีก อย่างวันนี้ดาบตำรวจเลิศชาย ที่เข้าจับกุมคนร้ายที่เมืองปัตตานี เมื่อ 2 วันก่อนหน้านี้ แล้วถูกคนร้ายยิงสวนมาบาดเจ็บ ผมเข้าไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เอาเงินกองทุนไปช่วย 10,000 บาท เขาเขียนมาบอกว่า ผมสู้ครับ หายแล้วจะกลับไปทำงานต่ออีก
 
การข่วยเหลือเยียวยา ไม่ใช่เฉพาะเพื่อนตำรวจเท่านั้น แต่ทุกภาคส่วน พี่น้องประชาชนเป็นห่วงเป็นใย แล้วก็ดูแลเรื่องนี้อยู่ ผมคิดว่าก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ขวัญกำลังใจดีขึ้น ส่วนยอดเงินที่มาช่วยเหลือมาจากหลายทาง ยังไม่ได้รวบรวมไว้ จึงยังตอบไม่ได้ว่าทั้งหมดเท่าใด
 
อย่างไรก็ตาม อนุกรรมการสวัสดิการสงเคราะห์ ไม่ได้ดูเฉพาะตำรวจที่ภาคใต้เท่านั้น แต่ดูทั้งประเทศ แต่เมื่อผมเป็นแล้ว โครงการนี้จึงต้องจัดให้มีขึ้น ซึ่งผลการดำเนินการตรงนี้ ทำให้เราพบว่า ปัญหาของทายาท ตำรวจที่บาดเจ็บมีอะไรต้องแก้ไขอีก
 
ในส่วนของตำรวจภูธรภาค 9 และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คงต้องไปดูว่ามีปัญหาตรงไหน ก็ต้องลงไปดูแล ตรงไหนที่เขายังได้ไม่ครบถ้วนก็ต้องตามให้ ช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เขา
 
นอกจากตำรวจแล้ว กรณีประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เราก็ดูแลทั้งที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือตำรวจ หรือไม่มีส่วนร่วม แต่ต้องมารับเคราะห์ร้ายก็เพราะเรา ก็ต้องช่วยทั้งหมด
 
 
ส่วนกรณีทายาทที่เข้ามาช่วยทำงานแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหนนั้น ตรงนี้เป็นเรื่องที่คนทั้งหลายเหล่านี้ยังไม่ได้รวมกลุ่ม วัตถุประสงค์ของผมคือต้องการให้มีการรวมกลุ่มกัน เพื่อที่จะแสดงพลัง ในการทำอะไรก็ได้ตามขีดความสามารถของเขา เบื้องต้นให้ช่วยตัวเองก่อน เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐ แบ่งเบาภาระของสังคม ให้มีปฏิสัมพันธ์ให้มากขึ้น เช่น มีชมรมแม่หม้ายของจังหวัดยะลาก็เข้มแข็ง สามารถช่วยเหลือตัวเอง การช่วยเหลือตัวเองให้เขาอยู่ในสังคมได้ ครอบครัวมีความสุขได้ ผมว่าเป็นจุดหนึ่งของการแบ่งเบาภาระของเขา
 
การมาพบครั้งนี้ พยายามที่สร้าง พยายามที่จะให้เขามีความคิดเห็นในเรื่องนี้ จัดให้คนที่ทำสำเร็จมาเป็นแบบอย่าง
 
ในส่วนของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบช.ศปก.จชต.) ได้รับสิทธิพิเศษด้วย ก็คือ ได้รับการบรรจุอยู่ในกำลังผล ซึ่งจะทำให้เขาได้รับอายุราชการทวีคูณ แล้วก็ในส่วนกรณีที่เกิดปัญหา เขาได้รับสิทธิจากองค์การทหารผ่านศึก ตำรวจที่อื่นไปยิงต่อสู้กับคนร้าย จะไม่ได้รับในเรื่องของทหารผ่านศึก
 
ตรงนี้มีพระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ.2510 ครอบคลุมถึงข้าราชการทหาร ตำรวจ อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.)ที่ขึ้นอยู่ในบัญชี ที่ขึ้นอยู่กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) หรือศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วก็มีหน้าที่ในการปกป้องอธิปไตยของชาติ
 
เพราะฉะนั้น สิ่งฝากไปยังพี่น้องตำรวจว่า ประการแรก เรามีหน้าที่ต้องรักาความสงบเรียบร้อย มีหน้าที่ต้องรักษาอธิปไตยของชาติ ต้องทำงานด้วยความเสียสละ ขณะเดียวกัน ความเสียสละของเรา มันก็ส่งผลให้บ้านเมืองมีความสงบสุขมากยิ่งขึ้น แล้วก็พี่น้องจากทุกภาคส่วนมีความเป็นห่วงเป็นใย ขอเป็นกำลังใจให้ต่อสู้ต่อไป
 
 

 
เปิดร่างหลักเกณฑ์ช่วยเหลือ "เหยื่อไฟใต้" จากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ     
 
โดยทีมข่าวอิศรา โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม 2009
 
 
          รัฐเคาะเกณฑ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยไฟใต้เข้าคณะรัฐมนตรี นำร่องเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ กำหนดวงเงินช่วยเหลือ 2-4 แสนบาทสำหรับผู้เสียชีวิต ตีกรอบเฉพาะเหตุร้ายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอของสงขลา โดยผู้มีสิทธิขอรับความช่วยเหลือจะต้องเป็นครอบครัวที่ถูกต้องตามกฎหมาย
 
          เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2552 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กยต. ซึ่งมี นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยภายหลังการประชุม นายสาทิตย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างหลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอันเกิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยขอบข่ายของ “การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ” ที่มีผลกระทบต่อประชาชนมี 3 กรณีคือ
 
          1.เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ได้อยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่
 
          2.มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
 
          3.เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่
 
          ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจะหมายถึง "ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง" คือ เสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส ขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ และ "ผู้ได้รับผลกระทบโดยอ้อม" คือ ครอบครัวที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือเป็นผู้ที่อยู่ภายใต้การอุปการะของผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง
 
          ส่วนผู้มีสิทธิขอรับความช่วยเหลือ คือ "ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง" และ "ผู้ได้รับผลกระทบโดยอ้อม" โดยเหตุแห่งการได้รับผลกระทบจะต้องเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา (เฉพาะ อ.จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) เท่านั้น
 
          นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ ที่ประชุมพิจารณาเฉพาะกรณีเสียชีวิตตามขอบข่ายของการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐเป็นตัวตั้งขึ้นมาก่อน กล่าวคือ
 
          1.กรณีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ได้อยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือ 2 แสนบาท
 
          2.กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งนอกเหนืออำนาจหน้าที่ ผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือ 2 แสนบาท หากอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ ผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือ 3 แสนบาท
 
          3.กรณีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ ผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือ 4 แสนบาท
 
          ส่วนกรณีความเสียหายอื่นๆ เช่น ทุพพลภาพ บาดเจ็บสาหัส และไม่สาหัส ที่ประชุมได้มอบให้ฝ่ายเลขานุการของ กยต.ไปพิจารณาคิดคำนวณอัตราการให้ความช่วยเหลือในแต่ละกรณี และหลังจากนี้จะนำร่างหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net