Skip to main content
sharethis

Tanah Kita Network แจ้งผลการจัดงาน “รัฐสภาพบประชาชน” เรื่องปัญหาที่ดิน จ.นราธิวาส อุ่นใจที่กรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ รับปากต่อประธานรัฐสภาว่าจะไม่ข่มขู่ คุกคาม ดำเนินคดีประชาชนในระหว่างการแก้ไขปัญหา แต่ก็ยังคงกังวลใจต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาที่หน่วยงานรัฐเสนอมา ทั้งเรื่องแนวเขตอุทยานฯ และเรื่องเอกสารสิทธิ

เมื่อ 15 มิ.ย.2567 ที่โรงแรมอิมพีเรียล ต.บางนาค อ.เมือง จ.นราธิวาส ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องสิทธิในที่ดินรอบพื้นที่เตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป (Tanah Kita Network) จำนวน 100 คน ร่วมแลกเปลี่ยนซักถามเจ้าหน้าที่รัฐและคณะทำงานของรัฐสภาในงาน “รัฐสภาพบประชาชน” หรือ “โครงการรัฐสภาเพื่อการพัฒนา จ.นราธิวาสฯ” ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาแนวเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโปทับที่ดินประชาชน และปัญหาประชาชนไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน

ทั้งนี้ รัฐสภาได้จัดเวทีสัมมนาเรื่องนี้เพื่อแก้ปัญหาตามที่ Tanah Kita Network ได้ร้องเรียนไปทางฝ่ายนิติบัญญัติ ในงานมีวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาเป็นประธาน และมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าร่วมงาน

ก่อนหน้านี้ ประธานรัฐสภาฯ ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น จังหวัดนราธิวาส กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมที่ดิน ฯลฯ ไปให้ข้อมูลที่รัฐสภาแล้ว เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งคณะทำงานของรัฐสภาได้นำข้อสรุปมานำเสนอในงานนี้ด้วย

Tanah Kita Network ประกอบด้วย ประชาชนจาก ต.กาลิซา ต.เฉลิม ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ ต.ศรีบรรพต ต.ซากอ และ ต.เชิงคีรี จากอ.ศรีสาคร  ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ และ ต.ลาโล๊ะ จากอ.รือเสาะ ในนราธิวาส ที่ปัญหาเรื่องที่ดินใน 4 ด้าน คือ

1) ปัญหาการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโปทับที่ดินของประชาชน

2) ปัญหาประชาชนไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน

3) ปัญหาการถูกข่มขู่ คุกคาม จับกุมดำเนินคดีจากการทำกินในที่ดินของตนเองที่ไม่มีเอกสารสิทธิ

4) ปัญหาการไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐและถูกจำกัดการพัฒนาเนื่องจากที่ดินถูกนับเป็นที่ดินของรัฐ

ปัญหาแนวเขตอุทยานฯน้ำตกซีโปซ้อนทับที่ดินประชาชน

ในส่วนของปัญหาแนวเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโปซ้อนทับที่ดินของประชาชนนั้น วีระยุทธ วรรณเลิศสกุล ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานฯ ได้ยืนยันในงานสัมมนาว่า ตอนนี้การประกาศเขตอุทยานถูกชะลอไว้ก่อนแล้ว

อย่างไรก็ดี Tanah Kita network ยังคงไม่สบายใจ และได้ลุกขึ้นตั้งคำถามหลายข้อ อาทิ ขณะนี้การเตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโปอยู่ในขั้นตอนใดกันแน่? และการชะลอการประกาศเขตอุทยานฯ นั้นมีหลักฐานหรือไม่ เช่น มีหนังสืออนุมัติให้ชะลอจากคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติหรือไม่? รวมทั้งคำถามสำคัญว่า หากยังไม่ประกาศอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป แล้วทำไมจึงตั้งสำนักงานอุทยานฯ ในพื้นที่ และมีป้ายที่ใช้ชื่อ“อุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป” แล้ว?

ต่อมาตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้แจ้งในงานว่า หลังจาก Tanah Kita Network ได้ส่งเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 (ปัตตานี) และจังหวัดนราธิวาส ได้พยายามแต่งตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งตัวแทนประชาชนเพื่อมาแก้ปัญหา

ทางตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสและคณะทำงานของรัฐสภาได้เสนอให้ Tanah Kita Network ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นคณะทำงานนี้อำเภอละ 2 คน

คณะทำงานมีอำนาจแค่ไหน? คณะกรรมการอุทยานฯจะยอมรับไหม

แต่อย่างไรก็ดี Tanah Kita network ยังคงไม่สบายใจ และตั้งคำถามต่อการแต่งตั้งคณะทำงานนี้ อาทิ คณะทำงานที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะแต่งตั้งมีอำนาจตามกฎหมายแค่ไหน? คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายในการกำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาตินั้น จะยอมรับข้อสรุปจากคณะทำงานนี้ไหม?

กรมอุทยานฯ มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องกำหนดแนวเขตอุทยานไม่ให้ทับที่ดินทำกินของประชาชนอยู่แล้ว ดังนั้น การแต่งตั้งคณะทำงานและการให้ตัวแทนประชาชนเข้าร่วมถือเป็นการผลักภาระให้ประชาชนหรือไม่?

การกำหนดแนวเขตอุทยานใหม่สามารถทำได้โดยเรียบง่ายเพียงแค่กรมอุทยานแห่งชาตินัดหมายชาวบ้านและผู้นำในแต่ละชุมชนเดินแนวเขตร่วมกัน ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะทำงานที่ยุ่งยากและเป็นภาระแก่ประชาชน ได้หรือไม่?

ทั้งนี้ทาง Tanah Kita Network จะไปหารือกันต่อภายในว่า จะยอมรับการตั้งคณะทำงานนี้หรือไม่ และจะทำหนังสือแจ้งไปยังประธานรัฐสภาให้ทราบต่อไป

ปัญหาถูกข่มขู่คุกคาม จับกุมดำเนินคดีในที่ดินของตนเอง

ส่วนปัญหาการถูกข่มขู่ คุกคาม จับกุม ดำเนินคดีจากการทำกินในที่ดินของตนเองที่ไม่มีเอกสารสิทธินั้น ตัวแทน Tanah Kita Network ได้ลุกขึ้นเล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่ถูกเจ้าหน้าที่เข้าข่มขู่ คุกคาม หรือดำเนินคดี แต่ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานฯ ยืนยันว่า ที่ผ่านไม่ได้มีการข่มขู่ คุกคาม แต่เป็นการทำตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่

อย่างไรก็ดี ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้คำยืนยันต่อประธานรัฐสภาว่า จะไม่มีการจับกุม ดำเนินคดีประชาชนในระหว่างที่มีกระบวนการแก้ไขปัญหาในเรื่องแนวเขตอุทยานฯ และเอกสารสิทธิที่ดิน

ปัญหาประชาชนไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินทำกิน มีแนวทางอย่างไร

สำหรับปัญหาประชาชนไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินทำกินนั้น ตัวแทน Tanah Kita Network ได้สอบถามว่า รัฐจะมีแนวทางในการออกเอกสารสิทธิให้ชาวบ้านอย่างไร? และทำไมที่ดินในพื้นที่นี้บางแปลงทางการจึงออกเอกสาร นส. 3 ก ให้ แต่บางแปลงทั้งที่อยู่ในบริเวณเดียวกันกลับไม่ออกให้?

อย่างไรก็ดี ไม่มีตัวแทนจากกรมที่ดินตอบคำถามนี้ แต่มีผู้แทนกรมป่าไม้ที่ตอบว่า เนื่องจากที่ดินบริเวณนี้ไม่ใช่ป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงถือว่า “เป็นป่า 2484” ตามนิยามใน พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ที่ว่า “ที่ดินที่ประชาชนไม่มีเอกสารสิทธิตามกฎหมายที่ดินนั้น เป็นพื้นที่ป่า” และตอนนี้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ก็ยังไม่เคยจัดและไม่มีแนวทางในการจัดที่ดินทำกินในพื้นที่ที่ถูกนิยามว่าเป็น “ป่า 2484”

ทั้งนี้ ทางคณะทำงานของรัฐสภาได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ทางประธานรัฐสภาจะทำหนังสือส่งไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ คทช. กำหนดแนวทางในการจัดที่ดินที่ถูกนิยามว่าเป็น “ป่า 2484” โดยน่าจะเป็นแบบเดียวกับแนวทางการจัดการที่ดินที่เป็นป่าสงวนแห่งขาติ ที่จะอนุญาตให้ประชาชนใช้พื้นที่เป็นการชั่วคราวและประชาชนต้องเสียค่าเช่าที่ดินรายปี

อย่างไรก็ดี เนื่องจากในงานสัมมนาครั้งนี้มีเวลาที่จำกัด ดังนั้น ทางหน่วยงานรัฐและคณะทำงานของรัฐสภาจึงยังไม่ได้ชี้แจงให้ประชาชนผู้เข้าร่วมประชุมได้ทราบถึงข้อดีและข้อเสียของแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบนี้อย่างเพียงพอ และยังไม่ได้มีการอภิปรายกันว่าจะมีแนวอื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่ที่จะทำให้ประชาชนได้รับสิทธิเหนือที่ดินได้อย่างแท้จริง

ถามกรมป่าไม้จะอนุญาตขึ้นทะเบียนตาดีกา ติดไฟฟ้า ประปา ถนน เมื่อไหร่

ส่วนกรณีข้อร้องเรียนจากประชาชน ต.ศรีบรรพต อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส เรื่องที่กรมป่าไม้ไม่อนุญาตให้คณะกรรมการมัสยิดขึ้นทะเบียนศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) จนทำให้ตาดีกาไม่ได้รับเงินอุดหนุนในการจัดการศึกษาให้แก่เด็กๆ จากทางรัฐนั้น ทางตัวแทนประชาชน ต.ศรีบรรพตได้สอบถามว่าทางกรมป่าไม้ว่าจะอนุญาตเมื่อไหร่

รวมทั้งเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น ประปา สายไฟฟ้า ถนน ด้วยที่ทางกรมป่าไม้ก็ไม่อนุญาตให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าดำเนินการ โดยทางตัวแทนกรมป่าไม้ตอบว่า ทางคณะทำงานของรัฐสภาจะทำหนังสือไปถึงคณะรัฐมนตรี เพื่อให้นำมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 กลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งไม่อาจตอบได้ว่าจะต้องใช้เวลานานแค่ไหน

ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 23 มิถุนายน 2563 นั้นเป็นมติคณะรัฐมนตรีที่ว่าด้วยการเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่ได้ทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ไปแล้ว สามารถขออนุญาตการใช้พื้นที่ย้อนหลังได้โดยไม่ต้องรับโทษ

นอกจากนี้ เวทีสัมมนาประธานรัฐสภายังได้พูดคุยถึงประเด็นการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการบุกรุกพื้นที่ป่าทั่วประเทศ โดยคาดว่ามีกว่า 17 ล้านคน ที่จะได้รับประโยชน์

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net