Skip to main content
sharethis

สภาพัฒน์และม.อ. จัดฟังความเห็นการประเมินสิ่งแวดล้อมสำหรับแผนพัฒนาในสงขลาและปัตตานี ผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นอยากให้พัฒนาการเกษตรและการท่องเที่ยว จากต้นทุนในพื้นที่ที่มีอยู่

เมื่อ 17 - 18 ก.ค.2567 ณ โรงแรมซีเอส จ.ปัตตานี สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 5 (เวทีที่ 22 - 23) โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระบวนการ SEA ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 2 เป็นการพัฒนาทางเลือกจากทั้งหมด 6 ขั้นตอน จากการจัดเวทีรับฟังความเห็นไม่น้อยกว่า 8 ครั้ง รวม 40 เวที ในพื้นที่ จ.ปัตตานี และ จ.สงขลา คาดว่ากระบวนการที่เหลือจะใช้เวลาอีกไม่นาน ก็จะจัดทำรายงานการศึกษา SEA และร่างแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ออกมาได้ ตั้งแต่เริ่มกระบวนการแรกหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564

ดร.สินาด ตรีวรรณไชย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาระบบบริหาร ม.อ. และ ดร.ชญาทัต เนียมแสวง ผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ได้นำเสนอผลการกำหนดขอบเขต ผลการศึกษาศักยภาพของพื้นที่ ผลการศึกษาปัญหาและสาเหตุที่แท้จริงของพื้นที่ ผลการวิเคราะห์ช่องว่างการพัฒนาเชิงพื้นที่ เป้าหมายการพัฒนา ประเด็นยุทธศาสตร์ วัตถุประสงค์ และกิจกรรมเชิงยุทธศาสตร์

ทั้งนี้ มีการนำเสนอรวมแผนที่ทรัพยากรและศักยภาพของพื้นที่ จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี จำนวน 32 แผนที่ ซึ่งมาจากการเก็บรวมรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากพื้นที่ พร้อมกับชุดข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจอีกประมาณ 50-60 ชุดข้อมูล

อุสมาน หวังสนิ นักวิจัยประจำสถาบันสันติศึกษา ม.อ. คณะทำงานโครงการฯ กล่าวว่า สำหรับการจัดเวทีรับฟังครั้งที่ 5 ของ จ.สงขลา (เวทีที่ 24 -26) จะจัดขึ้นในวันที่ 23 - 25 กรกฎาคมนี้ ที่ ม.อ.วิทยาเขตหาดใหญ่ จากนั้นจะมีการประชุมรวมกันในวันที่ 30 กรกฎาคมที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

อุสมาน กล่าวว่า ประเด็นหลักของเวทีครั้งนี้ คือการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ที่เก็บมาจากเวทีทั้ง 20 เวทีที่ผ่านมา มาประมวลเพื่อให้เห็นว่าทางเลือกการพัฒนาใน จ.ปัตตานี และ จ.สงขลา มีทางเลือกอะไรบ้าง ซึ่งได้กำหนดเป็น 3 กลุ่มประเด็นยุทธศาสตร์ คือ 1) กลุ่มประเด็นยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ 2) กลุ่มประเด็นยุทธศาสตร์ทางสังคม และ 3) กลุ่มประเด็นยุทธศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งใน 3 กลุ่มนี้มียุทธศาสตร์ย่อยและโครงการพัฒนาซึ่งเกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งแต่ละกลุ่มประเด็นควรจะมีแนวทางการพัฒนาอย่างไร โดยผู้เข้าร่วมได้ระดมความเห็นเพื่อดูรายละเอียดและคัดเลือกว่าทางเลือกไหนที่เหมาะสมกับพื้นที่

อุสมาน กล่าวด้วยว่า การรับฟังครั้งที่ 5 จ.ปัตตานีนี้ มีกลุ่มผู้เข้าร่วมซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย 10 กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มภาคประชาชนในพื้นที่ กลุ่มภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การปกครองส่วนท้องที่ สื่อมวลชน ผู้นำศาสนา ผู้นำจิตวิญญาณ หน่วยงานที่กำกับดูแลแผนพัฒนาในระดับภูมิภาค เช่น สศจ. ศอ.บต. และหน่วยงานความมั่นคง

อุสมาน กล่าวว่า สำหรับข้อสรุปในส่วนของปัตตานีมี 2 เรื่องที่น่าสนใจ คือ ประเด็นที่ 1 ทางเลือกการพัฒนาปัตตานีควรจะเน้นในเรื่องการจัดการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำหรือเกษตรพื้นฐาน การผลิต การแปรรูปและการจำหน่าย ซึ่งจะดูว่าพืชไหนที่เหมาะกับพื้นที่ จ.ปัตตานี พืชที่เป็นอัตลักษณ์ ผลิตภัณฑ์ประมงที่เกี่ยวข้อง ทั้งประมงขนาดเล็ก ประมงขนาดใหญ่ ประมงพื้นบ้าน และการส่งต่อสู่อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล

อุสมาน กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่ 2 คือประเด็นการท่องเที่ยว ซึ่งมีการคุยกันเยอะมาก เพราะการท่องเที่ยวมีความสำคัญมากในพื้นที่ โอกาสของปัตตานีคือมีนักท่องเที่ยวนอกจากในพื้นที่ ในประเทศและจากต่างประเทศ โดยเฉพาะมาเลเซียเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพราะมีทรัพยากรสมบูรณ์ มีอาหารทะเลสด รสชาติอร่อย และมีวัฒนธรรมที่เชื่อมต่อกันระหว่างมาเลเซียกับปัตตานี คือวัฒนธรรมมลายู ซึ่งได้รับการชื่นชมและยอมรับมาจากชาวต่างประเทศ และการใช้ภาษาเดียวกันซึ่งสร้างความอบอุ่นให้กับชาวมาเลเซียที่เข้ามาในพื้นที่ได้

“ปัตตานีเมื่อมีโอกาสแล้ว สิ่งที่พยายามบอกก็คือ ต้นทุนในการท่องเที่ยวตอนนี้เรามีอยู่ เพียงแต่จะสนับสนุนในเรื่องที่พัก เรื่องอาหาร เรื่องตลาด และเรื่องโลจิสติกส์ การคมนาคมขนส่งอย่างไร” อุสมาน กล่าว

อุสมาน กล่าวด้วยว่า กระบวนการหลังนี้คือการนำทางเลือกไปพัฒนาเป็นแผนแม่บทที่ใช้สำหรับพื้นที่นี้ ชาวบ้านเลือกในพื้นที่มีทางเลือกแล้ว ก็เอาทางเลือกนั้นมาทำเป็นแผนแม่บทฯ ซึ่งใช้เวทีรับฟังอีก 2 เวที คือ ครั้งที่ 6 และครั้งที่ 7 ก็น่าจะมีบทสรุปภายในเร็วๆนี้ ประมาณอีก 3 เดือนข้างหน้าหรือไม่เกินสิ้นปีนี้ก็น่าจะมีบทสรุปแล้ว

“แผนแม่บทนี้จะเป็นกรอบการพัฒนาของพื้นที่ จ.ปัตตานี และ จ.สงขลา หน่วยงานไหนที่จะมาทำแผนพัฒนาพื้นที่ต้องคำนึงถึงแผนแม่บทนี้ แล้วก็ออกแบบแผนแต่ละแผนให้สอดคล้องกับแผนแม่บท SEA นี้”

กระบวนการ SEA (การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์) และแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่

การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี ด้วยกระบวนการ SEA ที่ เชื่อมโยงกับการวางแผนแบบบูรณาการ (Integrated Model) ประกอบด้วย 3 กระบวนการสำคัญ ได้แก่

  1. กระบวนการ SEA
  2. กระบวนการมีส่วนร่วม และ
  3. กระบวนการจัดทำแผนแม่บทฯ

โดยกระบวนการ SEA มี 6 ขั้นตอน ได้แก่

1) การกำหนดขอบเขต

2) การพัฒนาทางเลือก

3) การประเมินทางเลือก

4) การกำหนดมาตรการเพื่อความยั่งยืน

5) การจัดทำแผนการติดตามและประเมินผล และ

6) การจัดทำรายงานการศึกษา SEA

ทุกขั้นตอนของ SEA จะนำผลการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียมาวิเคราะห์ร่วมด้วย ซึ่งกำหนดจัดประชุมรับฟังความเห็นไม่น้อยกว่า 8 ครั้ง (40 เวที) โดยผลของ SEA ในขั้นตอนต่าง ๆ จะผนวกเข้ากับขั้นตอนการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งมี 5 ขั้นตอน ได้แก่

1) การสร้างความรับรู้ความเข้าใจและข้อตกลงร่วมกัน

2) การทบทวนข้อมูลพื้นฐานและแผนที่เกี่ยวข้อง

3) การกำหนดเป้าหมายการพัฒนา และแนวทางการพัฒนา

4) การจัดทำแผนการติดตามและประเมินผล และ

5) การจัดทำร่างแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่

ติดตามไลฟ์สดเวที SEA ครั้งที่ที่ https://www.facebook.com/SEASongkhlaPattani 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net