Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) ร่วมกับ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเครือข่ายทางเลือกอาเซียนเพื่อพม่า จัดการเสวนาเรื่อง “การเลือกตั้งปี
2010 กับความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงในพม่า” เนื่องในวันรำลึกเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1988 หรือเหตุการณ์ “8888” ซึ่งรัฐบาลพม่าได้กวาดล้างนักศึกษาและประชาชนอย่างรุนแรง และหลบหนีออกจากประเทศเป็นจำนวนมาก
ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ไกรศักดิ์ ชุณหวัณ, พวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พรพิมล ตรีโชติ จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ โมะ ลู ซอ เลขาธิการกรรมาธิการฝ่ายต่างประเทศของพรรสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย (NLD) พื้นที่เสรี ถูกจำคุกที่เรือนจำอินเส่งเป็นเวลา 9 ปี หลังจากนั้นออกมานอกประเทศ
โมะ ลู ซอ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของพม่านั้นได้มาโดยไม่ชอบธรรม พร้อมทั้งวิเคราะห์รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่า คงไว้ซึ่งอำนาจสูงสุดของทหาร และสร้างข้อจำกัดต่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง
โมะ ลู ซอกล่าวว่า หนี่งในจุดประสงค์ของรัฐธรรมนูญที่ร่างไว้คือ การที่ทหารยังจะเล่นบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำการเมืองพม่าในอนาคตต่อไป ผลที่ตามมาคือ การระบุว่าทหารมีสิทธิ์ได้ที่นั่งทั้งในสภาสูงและสภาล่าง และมีอำนาจในการแต่งตั้งผู้แทนจากสภานิติบัญญัติจำนวนร้อยละ 25 รวมถึงทหารสามารถเลือกผู้สมัครรับเลือกเป็นประธานาธิบดีระหว่างการเลือกตั้ง 1 คนจากจำนวนผู้สมัคร 3 คน โดยการันตีได้ว่าอย่างน้อยที่สุดจะได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี
สำหรับผู้สมัครับเลือกตั้งก็มีข้อจำกัด โดยรัฐธรรมนูญได้สร้างกฎเกณฑ์และข้อจำกัดต่อผู้ที่มีสิทธิลงสมัครในตำแหน่งประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี ทำให้หลายคนรวมถึงนางออง ซาน ซูจี ไม่สามารถลงรับเลือกตั้งได้ และตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ผู้สมัครต้องเกิดในพม่าโดยพ่อและแม่ต้องเกิดในพม่าเช่นกัน และผู้สมัครไม่สามารถมีคู่สมรสหรือลูกอาศัยในต่างประเทศ
โมะ ลู ซอ กล่าวว่า รัฐธรรมฉบับปัจจุบันได้กำหนดเงื่อนไขในการแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติไว้ว่า ต้องการเสียงมากกว่า 75% ของผู้แทนสภาทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น หากต้องการปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติสำคัญๆ จะต้องมีการรับร่างประชามติทั่วประเทศ หลังจากการแก้ไข 75% จากสภาแล้วเสร็จ และหากไม่ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 1 เสียงจากผู้บัญชาการทหารในสภาก็จะไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
“การลงประชามติรัฐธรรมนูญ รัฐบาลพม่าโกงในหลายวิถีทาง และสำหรับการเลือกตั้ง เขาก็จะโกงอีก” โมะ ลู ซอ กล่าวในช่วงท้ายของการเสวนา
ด้านพรพิมล ตรีโชติ กล่าวว่า กลุ่มชนต่างๆ ในพม่าแบ่งได้หลักๆ 7 กลุ่ม แต่จริงๆ แล้วมีกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมาก ขณะนี้ชะตากรรมของชนกลุ่มน้อยค่อนข้างจะลำบากกว่าสมัยก่อน เพราะว่าพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติหลัง 1988 รัฐบาลพม่าเข้าไปครอบครองพื้นที่ในรัฐต่างๆ โดยใช้ทรัพยากร เช่นเหมืองแร่ ไม้ ในรัฐคะฉิ่น ชะตากรรมของทรัพยากรธรรมชาติของชนกลุ่มน้อยนำผลประโยชน์มาสู่คนกลุ่มน้อยตกไปอยู่ในการควบคุมของรัฐบาลพม่า ถ้าการเลือกตั้งพม่าในปีหน้าสามารถเปิดพื้นที่ให้ชนกลุ่มน้อยเข้าไปดูแลผลประโยชน์ได้บ้าง
พวงทอง ภวัครพันธุ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งในปีหน้า ประชาสังคมไม่ควรจะบอยคอตไม่ว่าจะไม่เป็นประชาธิปไตยคาไหนก็ตาม เพราะนี่เป็นโอกาสที่กระบวนการภาคประชาสังคมได้เข้าไปใช้พ้นที่ในการีเคลื่อนไหวทางการเมือง และหากร่วมการเลือกตั้ง คุณก็จะมีโอกาสในการรณรงค์ ลงไปในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงพื้นที่ชนกลุ่มน้อย ซึ่งนี่เป็นบทบาทที่ไม่ได้มีมากนักในพม่า สิ่งที่พม่าเป็นมากว่ายี่สิบปี นั้น เป็นรัฐตำรวจที่ควรจับตาดูการเคลื่อนไหวของคนในสังคม เพราะว่าไม่ว่าจะเคลื่อนไหวทำอะไรนั้นเป็นไปได้ยากมาก เป็นข้อจำกัดของการจัดตั้งความเคลื่อนไหวของประชาชนขึ้นมา ซึ่งคนที่อยู่ในพม่าจะนึกออก แม้แต่ทำเรื่องการศึกษาก็ถูกจับตาดู โดยผู้นำขององค์กรก็ถูกยึดพาสปอร์ตมาหลายปีแล้ว เอ็นจีโอต่างๆ ทำงานด้านมนุษยธรรมได้เท่านั้น 
การเคลื่อนไหวจะต้องเกิดขึ้นภายใต้กรอบของกฎหมายที่ทหารเป็นคนกำหนดไว้ ดิฉันไมเห็นด้วยกับการยื่นเงื่อนไขว่าถ้าไม่ทำอย่างนี้แล้วจะไม่เข้าร่วมเพราเป็นไปได้มากที่ทหารจะไม่สนใจ ยังไงเขาก็จัดการเลือกตั้งแน่ๆ ซึ่งถ้าคิดว่าการยื่นเงื่อนไขนี้เป็นหนทางเดียวที่จะประนีประนอมได้ และมันก็จะทำให้เสียโอกาสในการเข้าไปมีส่วนในทางการเมือง
ถ้าเกิดการเลือกตั้งในพม่า ถ้าสามารถทำให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านสามารถได้ที่นั่ง 250 ที่นั่งและไม่มีการล้มการเลือกตั้งอย่างปี 1990 นี่จะเป็นโอกาสที่ดีในการเปิดพื้นที่ให้ประชาสังคม และบทบาททหารในการเมืองพม่าจะลดลงอีกฝ่ายทหารพม่าเองก็ต้องยอมให้พรรคการเมืองคือ เอ็นแอลดี เข้าร่วมการเลือกตั้งแต่แน่นอนว่าบทบาทของอองซานซูจีสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้คงยาก และการที่จะกดดันให้รัฐบาลพม่าเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมสามารถจะมีบทบาท อาเซียนและประชาคมต้องมีบทบาทนี้ ในการกดดันรัฐบาลพม่า คือถ้ากลุ่มการเมืองอื่นๆ เข้าร่วมการเลือกตั้ง รัฐบาลก็ต้องเปิดโอกาสให้แม้จะไม่เต็มใจ
สำหรับบทบาทของประชาคมนอกประเทศพม่านั้น พวงทองกล่าวว่าหวังอะไรกับอาเซียนเองก็หวังอะไรไม่ได้มาก และอาเซียนก็ต้องถูกกดดันจากประเทศอื่นๆ เช่นอินโดนีเซีย หรือประเทศกลุ่มอียู หรือสหรัฐอเมริกา รวมถึงไทย ซึ่งมีจุดยืนแบลักปิดลักเปิด กล้าๆ กลัวๆ
“นิมิตรหมายที่ดีคือสหรัฐอเมริกาเริ่มให้ความสำคัญกับปัญหาพม่าอย่างจริงจังเพราะที่ผ่านมาปล่อยให้อาเซียนนั้นขับเคลื่อนประเด็นพม่าเป็นหลัก อาจเพราะกลัวเกาหลีเหนือและจีนที่เริ่มขายอิทธิพลมายังพม่า หลังจากนี้ก็คิดว่าประเทศเหล่านี้จะมีบทบาทในการล็อบบี้ และอาเซียนก็จะมีบทบาทสำคัญในการกดดันรัฐบาลพม่า ซึ่งไม่ใช่การจำกัดอิทธิพลของทหารพม่าออกไปโดยสิ้นเชิง”
ไกรศักดิ์ ชุณหวัณ กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดจากกระแสที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในพม่าเพื่อจะเป็นประเทศสมาชิกที่หน้าตาไม่อัปลักษณ์มากนัก
“ผมเห็นว่า SPDC มีปัญหามาก ก่อนอื่นเลยต้องตอบคำถามเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนเสียก่อน ถ้าเขาไม่สามารถที่จะตอบเราได้ นี้เป็นปัญหาใหญ่ เพราะว่ารัฐธรรมนูญนั้นไม่ให้ควาเป็นธรรมต่อชาวพม่า ประเด็นที่สองคือการที่จะมีการเลือกตั้ง เขาก็มุดไปทำของเขาเองเลย ใครจะด่าอย่างไกรก็ไม่สนใจจะฟังแล้ว แต่เขาอาจจะมีการเลือกตั้งได้”
อย่างไรก็ตาม ไกรศักดิ์กล่าวว่า จะมีปัญหาตามมาอีกเนื่องจากรัฐบาลพม่าขณะนี้เขาพยายามบังคับกลุ่มที่วางปืนหรือหยุดยิงทุกกลุ่มประมาณ 36 กลุ่มให้ยอมรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น
“ผมเข้าใจว่าหลายกลุ่มจะไม่ร่วมมือกับพม่าเพราะไม่ยอมอยู่ภายใต้รัฐบาลพม่า หรือมแดแต่มีการสัญญาที่จะหยุดยิงกันแล้วแต่ว่าจะเสียสละถึงขั้นที่จะไปอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของพม่า และถึงขึ้นที่พม่าจะไปโจมตีนอกฤดูในประวัตการณ์ สามพันกว่าคนหนีมาอยู่ที่ จ.ตาก ซึ่งผมไม่เคยเห็นจำนวนมากขนาดนี้ ส่วนใหญ่จะเห็นหกร้อยเก้าร้อย ก็แสดงว่าภายในนั้นมีปัญหาค่อนข้างมากโดยเฉพาะกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ชายแดนไทยพม่าอีกกลุ่มหนึ่งที่จะต้องทำให้มีบทบาทร่วมมือกับพม่าให้ได้ ก็คือรัฐว้า ซึ่งแบ่งเป็นสองกลุ่มด้วยกันและมีอิทธิพลที่สุดในรัฐฉานปัจจุบันนี้ ทั้งตอนเหนือตอนใต้ติดชายแดนไทย เขตอิสระที่อยู่ภายใต้พรรคว้านั้นจะสมีปัญหามากในการเข้าร่วมการเลือกตั้งเพราะจะเหมือนว่าตัวเองยอมอยู่ภายใต้รัฐบาลพม่า เพราะที่ผ่านมาว้ามองตัวเองเป็นรัฐอิสระมากขึ้นๆ”
สำหรับบทบาทจากโลกข้างนอกนั้น ไกรศักดิ์มองว่า ฝ่ายสากลเริ่มมีการล็อบบี้ของความเปลี่ยนแปลง ฝ่ายหนึ่งก็คือเรื่องสิทธิมนุษยธรรม อีกฝ่ายก็คือผลประโยชน์ของบรรษัท ล็อบบี้ของฝ่ายต่างๆ เหล่านี้จะแปรรูปแบบของเขาออกมาเป็นข้อถกเถียงให้ประชาชนฝ่ายต่างๆ ฟังมากขึ้น
”ถึงแม้จะมีการคว่ำบาตรทั่วโบลก แต่จีน อาเซียนและอินเดียไม่ได้คว่ำบาตร และสิ่งที่มหัศจรรย์ มากที่สุดก็คือว่าประเทศไทยกลายไปเป็นประเทศที่มีผู้ลี้ภัยพม่ามากที่สุด มีสิทธิเสรีภาพในการพูดแสดงความคิดเห็นต่อต้านรัฐบาลพม่ามากที่สุด แต่ในเวลาเดียวกัน ประเทศไทยเป็นประเทศที่ค้าขายกับพม่ามากที่สุด มากกว่าจีนอีก ผมเป็นนายกก็ต้องเกาหัวเหมือนกัน จะเอาอย่างไรดี ประเด็นแรกคือเราเป็นประเทศที่ขาดดุลทางการค้ากับพม่าอย่างมหาศาล แต่เราเป็นฝ่ายที่ซื้อทรัพยากรจากพม่าโดยท่อแก๊สมากที่สุดในโลก ส่วนใหญ่เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับไทยแต่มีประโยชน์มากกับรัฐบาลพม่า”
นายไกรศักดิ์เชื่อว่าหลังการเลือกตั้ง ภาคประชาสังคมอาเซียนต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะจะไม่สามารถอ้างอิงข้อมูลเก่า ต้องมีพลวัตรมากขึ้น ประเด็นสำคัญของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพม่าจะต้องเด่นยิ่งกว่านี้ ต้องมีโปรแกรมชัดเจน ต้องฟังกันและกันมากขึ้น ต้องฟังคนที่ทำงานในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งมีข้อมูลแตกต่างไปจากคนที่อยู่ในรัฐบาล ต้องเห็นกระบวนการการเคลื่อนไหวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
“ผมไม่อยากจะได้ยินเลยว่า ฝ่ายค้านในพม่าที่มีในไทยนั้นไม่ให้โอกาสแก่กันและกัน มีการผูกขาดอำนาจในระดับหนึ่ง อยากจะเห็นการเปิดกว้างมากขึ้น อย่าเอาระบบรวบอำนาจแบบข้าราชการมาปฏิบัติกัน มันจะทำให้พวกเราอ่อนแอลง หวังว่าจะพึ่งอาเซียนหรือ ครับ อาเซียนตอนนี้เปิดกว้างแล้วอย่างน้อยมีกฎบัตร แม้จะมีปมด้อยอีกมาก และที่สุดเลยก็คือระบบที่ให้การลงมติที่ไม่มีการโหวตกันเป็นระบบที่ดำรงอยู่และเป็นระบบที่ทำให้ประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นประเทศที่เข้มแข็งที่สุดในอาเซียน เราจำเป็นต้องทำงานกันแล้วในฐานะที่เราเป็นสมาชิกของอาเซียน และจากกฎบัตรอาเซียนระบุว่าเป็นองค์กรของประชาชน แต่ทำไมยังอนุญาตให้ประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุดที่อิทธิพลมากที่สุด”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net