Skip to main content
sharethis

ไทยโพสต์ฉบับพิเศษขึ้นปีที่ 14 สัมภาษณ์ 4 นักวิชาการ ว่าด้วยปมใหญ่สังคมไทย ‘แก้รัฐธรรมนูญ’ บทบันทึกประวัติศาสตร์ถึงรากฐานวิธีคิด การวิเคราะห์ปัญหา และเป้าหมายปลายทางของสังคมที่ควรเป็นในแบบของแต่ละคน- สมคิด เลิศไพฑูรย์, วรเจตน์ ภาคีรัตน์, อมร จันทรสมบูรณ์ และแก้วสรร อติโพธิ

 0000

 


 
2.
‘มันเลยไปแล้ว’
วรเจตน์ ภาคีรัตน์
 
"มันเลยไปแล้ว เราสร้างปมขึ้นมา ขมวดกันจนยุ่งเหยิงขนาดนี้ ผมเห็นว่าเลยมาแล้ว
ผมก็นั่งดูแล้วครับตอนนี้ ผมไม่คิดว่าจะเปลี่ยนอะไรกันได้
หลังจากที่เห็นการวินิจฉัยขององค์กรต่างๆ มาในช่วง 2 ปี...
เราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์
ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะหักเลี้ยวออกไปทางไหนอย่างไร"
 
“ข้อจำกัดของการอภิปรายรัฐธรรมนูญของเรา ก็คือข้อจำกัดในเรื่องหมวดพระมหากษัตริย์
เราจะเห็นว่าตอนที่มีการเปลี่ยนบทบัญญัติเรื่องนี้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2534 เรื่องของการสืบราชสันตติวงศ์
ที่แต่เดิมเป็นเรื่องความเห็นชอบของรัฐสภา ให้กลายมาเป็นรัฐสภารับทราบ
โดยที่มีการตั้งรัชทายาทเอาไว้ ประเด็นเรื่องอำนาจในการเสนอชื่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ประเด็นเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์
เรื่องเหล่านี้ที่ถูกเพิ่มเข้ามาในตอนหลัง รวมทั้งประเด็นเรื่ององคมนตรี
ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหารของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ปี 2490
ซึ่งคราวนั้นคณะอภิรัฐมนตรีได้ถือกำเนิดขึ้นในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2490
คณะอภิรัฐมนตรีนี่เองที่ได้กลายเป็นคณะองคมนตรีในรัฐธรรมนูญปี 2492"
 
 
นักกฎหมายมหาชนผู้เป็นหัวหอกคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ตอนลงประชามติ วันนี้เขายังยืนยันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เพียงต้องแก้แค่ 6 ประเด็น แต่ต้องทำใหม่ทั้งฉบับ
 
อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ วรเจตน์เห็นว่าคงเป็นไปได้ยาก และความแตกแยกในสังคมก็เลยจุดที่จะแก้ไขกฎหมายเพื่อกลับไปสร้างสมานฉันท์แล้ว สิ่งที่เขาเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะพูดต่อไปทั้งหมด จึงเป็นความเห็นทางวิชาการล้วนๆ เป็นการให้ความรู้แก่สาธารณะ ว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ควรเป็นอย่างไร
 
 
แก้ทุกหมวด
ล้างคราบเผด็จการ
 
"ผมเห็นว่าควรจะต้องทำกันใหม่ด้วยซ้ำ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างไรก็สลัดคราบไคลของ คมช.ไม่หมด ถึงแม้ว่าจะถูกเอาไปฟอกตัวโดยการออกเสียงประชามติ แต่ก็ไม่พ้นไปจากความทรงจำที่เรามีต่อ 19 ก.ย. คือมันเป็นผลต่อเนื่องกันมา ซึ่งในทางประชาธิปไตยไม่ควรเป็นแบบนี้ และที่สำคัญอย่างที่ผมเคยพูดไปแล้วว่า การออกเสียงประชามติที่เราทำกันนั้นไม่ใช่เป็นการออกเสียงประชามติโดยแท้จริง เพราะประชาชนไม่มีทางเลือก การออกเสียงประชามติที่แท้จริงต้องมีทางเลือก ซึ่งคราวนั้นไม่มี เพราะคนไม่รู้ว่าพอไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วจะไปเจอกับอะไร มันก็บีบให้คนต้องรับ เพราะฉะนั้น ความชอบธรรมที่ควรจะได้จากการออกเสียงประชามติจึงไม่เกิด ผมแปลกใจมากตอนนี้ เวลาที่มีการแก้รัฐธรรมนูญมีการพูดกันว่ามันผ่านการออกเสียงประชามติมาแล้ว ถ้าจะแก้ก็ต้องไปถามประชาชนก่อน โดยไม่ได้ดูบริบทของการทำประชามติ มันจะต้องทำใหม่ทั้งฉบับในความเห็นของผม ก็คือต้องปฏิเสธท่าทีนี้ หรือก็คือแก้ทั้งหมด เหมือนกับเราทำรัฐธรรมนูญถาวรช่วงปี 2475 ไปเป็นรัฐธรรมนูญถาวรปี 2489 ต้องทำแบบนั้น"
 
ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ 2540 แต่ทำใหม่เลย
"สำหรับผม สำหรับหลายคน หลายเรื่องในรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นเรื่องที่ต้องสานต่อ ต้องดำเนินการต่อ แต่ผมเคยพูดมาตั้งแต่หลายปีก่อนว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ก็มีปัญหาหลายเรื่อง ผมจึงคิดว่าไม่น่าจะเป็นตัวต้นแบบเสียทีเดียว มันควรจะย้อนกลับไปให้ไกลไปกว่านั้น ต้องกลับไปดูตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐธรรมนูญหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจะมีเนื้อหาบางอย่าง ซึ่งหลายเรื่องสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยมากเลยทีเดียว ในช่วงรัฐธรรมนูญ 15 ปีแรก อาจจะต้องเอาตรงนั้นกลับมา ความสัมพันธ์ในอำนาจระดับสูงสุด เรื่องของพระมหากษัตริย์ เรื่องขององคมนตรี ต้องมาพูดและไม่ควรจะพูด โดยจำกัดตัวเองอย่างประวัติศาสตร์ในยุคหลัง แต่ควรจะย้อนกลับไปตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มันควรจะเป็นแบบนั้น"
 
ไม่ใช่เอาแค่ 2540
"ไม่ใช่ แต่แน่นอนหลายเรื่องใน 2540 เป็นเรื่องที่ดี ระบบเลือกตั้งที่ก้าวหน้าไปกว่าเดิม คงต้องเอามาปรับต่อ แต่ผมเข้าใจได้ว่าในแง่ของการเคลื่อนไหว เขาก็ต้องเอา 2540 เป็นตัวตั้ง มันเป็นรูปธรรมที่สุด เห็นชัดที่สุด มันทำให้คนมีจุดเกาะเกี่ยวร่วมกัน ชูตัว 2540 เป็นตัวตั้ง ซึ่งในทางการเคลื่อนไหวคงไปว่าอะไรไม่ได้ แต่ในแง่วิชาการ เวลาพูดเราไม่ควรจะผูกอยู่กับการเคลื่อนไหวของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ควรจะพูดจากหลักจริงๆ ว่าควรเป็นอย่างไร หรือไม่ควรจำกัดไว้แค่ปี 2540 เพราะอย่างประเด็นองค์กรอิสระผมก็ไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่ไหนแต่ไร"
 
ถ้าแก้ทั้งฉบับหรือทำใหม่ นอกจาก 6 ประเด็นควรมีอะไรบ้าง
"ถ้าพูดกันโดยที่ไม่ต้องมีข้อจำกัดอะไรมากมาย ผมคิดว่าต้องเริ่มตั้งแต่มาตราที่ 1 มาเลยทีเดียว หมายความว่าในแง่ของการพูดถึงรัฐธรรมนูญทุกวันนี้มีข้อจำกัด ข้อจำกัดของการอภิปรายรัฐธรรมนูญของเรา ก็คือข้อจำกัดในเรื่องหมวดพระมหากษัตริย์ เราจะเห็นว่าตอนที่มีการเปลี่ยนบทบัญญัติเรื่องนี้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2534 เรื่องของการสืบราชสันตติวงศ์ ที่แต่เดิมเป็นเรื่องความเห็นชอบของรัฐสภา ให้กลายมาเป็นรัฐสภารับทราบโดยที่มีการตั้งรัชทายาทเอาไว้ ประเด็นเรื่องอำนาจในการเสนอชื่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประเด็นเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ เรื่องเหล่านี้ที่ถูกเพิ่มเข้ามาในตอนหลัง รวมทั้งประเด็นเรื่ององคมนตรี ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหารของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ปี 2490 ซึ่งคราวนั้นคณะอภิรัฐมนตรีได้ถือกำเนิดขึ้นในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2490 คณะอภิรัฐมนตรีนี่เองที่ได้กลายเป็นคณะองคมนตรีในรัฐธรรมนูญปี 2492"
 
"ผมคิดว่าหมวดนี้ทุกประเด็นต้องพูด การพูดถึงหมวดนี้เป็นการพูดในแง่ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับบริบทของสังคมไทย แต่ต้องพูด หมายถึงต้องมีการพูดกันว่าตำแหน่งแห่งที่ของตัวองค์กรซึ่งแวดล้อมพระมหากษัตริย์ พระราชอำนาจในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ เรื่องพวกนี้ควรจะเป็นอย่างไร ประเด็นเกี่ยวกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ นี่เป็นประเด็นที่ต้องพูดกัน เพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้
 
วันนี้ในทางข้อเท็จจริงไม่มีใครปฏิเสธว่าในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีนี้ การเคลื่อนไหวทางการเมืองมันนำไปสู่การตั้งคำถาม แม้อาจจะไม่ได้ตั้งคำถามถึงตัวสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง แต่สถาบันซึ่งอยู่ล้อมพระมหากษัตริย์ องคมนตรี ถูกระทบกระเทือนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มันถึงเวลาที่เราต้องพูดถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาและก็อย่างจริงจัง และในที่นี้ผมหมายรวมไปถึงเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย ในบริบทแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎมณเฑียรบาลเรื่องสืบราชสันตติวงศ์ เรื่องผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สังคมไทยควรที่จะเรียนรู้เรื่องพวกนี้ และควรที่จะพูดถึงได้อย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา ภายใต้บรรยากาศของความปรารถนาดีที่มีต่อประเทศชาติเหมือนกัน ไม่ควรที่จะถูกปิดปาก ไม่ควรจะบอกว่าเรื่องพวกนี้อย่าพูด เพราะแม้แต่ตอนทำรัฐธรรมนูญผมจำได้ รัฐธรรมนูญ 2550 หมวดที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์มี สสร.บางท่านต้องการอภิปรายและก็ถูกตัดไม่ให้อภิปราย ก็เลยไม่มีการพูด ก็รับมาต่อเนื่องกันไป เรื่องอันนี้ควรจะเป็นเรื่องที่ต้องพูดกัน"
 
เรื่องพวกนี้เติมเข้ามาในช่วงปี 2534 และไม่ได้บอกประชาชนเลยใช่ไหม
"ความเป็นมาเป็นไป ถ้าไปดูรัฐธรรมนูญที่ใกล้ชิดกับเจตจำนงของประชาชน ผมคิดว่าคือ 2 ฉบับแรก บางคนอาจจะบอกว่าพระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวเป็นเรื่องของคณะราษฎรเท่านั้น แต่อย่างน้อยที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับถัดมา มันคือความพยายามประนีประนอมกันของ 2 ฝ่าย และก็ใช้กันมาประมาณ 14-15 ปี ผมคิดว่าในหมวดพวกนี้ที่เป็นผลจากการประนีประนอมกันแล้วเราน่าจะย้อนกลับไปดู และรับเอามาใช้ให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย อันไหนที่อยู่ในระดับที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยต้องตัดออกไป และถ้าเราย้อนกลับไปดูในทางประวัติศาสตร์ คือปี 2490 เป็นต้นมา มันไม่ใช่การเขียนรัฐธรรมนูญที่คำนึงถึงหลักประชาธิปไตยเท่าที่ควรจะเป็นแล้ว การเขียนรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2490 มามันไม่ได้เป็นเรื่องของการประนีประนอมแล้ว แต่เป็นเรื่องของการชนะกันในทางการเมือง และรวมทั้งแก้ในยุคหลัง 2517, 2534 พวกนี้"
 
"รัฐธรรมนูญ 2540 นี่รับมาจาก 2534 เลย แต่ตอนเปลี่ยนสำคัญก็คือปี 2534 ไม่มีฐานประชาชน เพราะฉะนั้นถ้าเราพูดตรงนี้ เรื่องการมีองคมนตรีไม่ใช่ว่าเรามีองคมนตรีมาตลอดหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองนะ รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรกไม่ปรากฏเรื่ององคมนตรี อย่างน้อยที่สุดมันมีร่องรอยตรงนี้มา และย้อนกลับไปว่าตอนนั้นมีปัญหาอะไรไหม การมีหรือไม่มี และก็พูดกัน สมมติว่าจะให้มี บทบาทหน้าที่ควรจะเป็นอย่างไร องคมนตรีควรจะอยู่ในฐานะแบบไหนที่จะไม่กระทบกระเทือนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อันนี้ต้องพูด ถึงผมไม่พูดวันนี้ในทางข้อเท็จจริงก็มีการพูดกันอยู่ ในทางเคลื่อนไหวทางการเมืองมีการพูดกันอยู่ แน่นอนอาจจะไปสัมพันธ์กับบริบทการเคลื่อนไหวของคุณทักษิณอยู่ด้วย แต่ผมไม่อยากให้เราลดทอนประเด็นในทางหลักการไปอยู่แค่เรื่องทักษิณ-ไม่ทักษิณ วันนี้ผมคิดว่ามันต้องก้าวให้พ้นจากทักษิณ เพราะมีคนบอกอยู่เสมอว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทักษิณได้ประโยชน์ แต่ปัญหาคือถ้าเราคิดอย่างนี้ เราจะไม่มีทางทำรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจากหลักการที่ถูกต้องได้ เพราะเรามองแต่เรื่องที่มันอยู่ต่อหน้าเราอย่างเดียว ไม่ได้มองไปไกลกว่านั้น"
 
อาจารย์ลองลำดับหน่อยว่าหมวดพระมหากษัตริย์มีการเพิ่มอะไรมาบ้างตั้งแต่ปี 2490
"แรกสุดตอนที่เราทำรัฐธรรมนูญปี 2475 คือตอนที่เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร ก็มีการทำพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ผมเองเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้-ตอนนั้นไม่มีคำว่ารัฐธรรมนูญนะ เขาใช้คำว่าธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเติมคำว่าชั่วคราวลงไป เพื่อจะทำให้เอามาคุยกันใหม่ หลังจากนั้นก็ใช้อยู่ช่วงหนึ่ง และมีการยกร่างขึ้นมาใหม่กลายเป็นรัฐธรรมนูญถาวร เรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 และรัฐธรรมนูญ 2475 ก็ใช้มา 14-15 ปี ผ่านช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มา กระทั่งมีรัฐธรรมนูญปี 2489 หลังจากยุติสงครามโลกปี 2488 ก็มีการพูดกันว่ามันใช้มานานแล้ว บัดนี้ประชาชนเริ่มที่จะมีความรู้มากขึ้น ควรจะมีการปฏิรูปใหม่เพื่อแก้ปัญหาบางประการที่เกิดขึ้น ก็เลยทำรัฐธรรมนูญ 2489 ขึ้นมา ก็มีหลักการใหม่ๆ เช่น มีพฤฒิสภาขึ้นมาคู่กับสภาผู้แทนราษฎร แต่ให้สภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งโดยตรง คือ ส.ส.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง พฤฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม เรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มี 2 สภา และให้ทั้ง 2 สภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็ก้าวหน้ามากๆ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศเมื่อเดือน พ.ค. แต่พอถึงเดือน มิ.ย.2489 ในหลวงรัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคต การเมืองก็เข้าสู่การต่อสู้กันอย่างรุนแรง และส่งผลให้เกิดรัฐประหารปี 2490"
 
"ปี 2490 นี่เป็นจุดตัด มันเกิดเป็นรัฐธรรมนูญปฏิวัติขึ้นมา ก็คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.2490 ในรัฐธรรมนูญปี 2490 ได้รื้อฟื้นสถาบันอันหนึ่งขึ้นมาเรียกว่าอภิรัฐมนตรี ซึ่งอภิรัฐมนตรีนี่แหละ 2 ปีต่อมาก็กลายเป็นคณะองคมนตรีในปี 2492 เราอาจจะกล่าวได้ว่าองคมนตรีในรูปลักษณ์ปัจจุบันกำเนิดขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 2492 และนับเรื่อยมา ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับองคมนตรี ก็คืออำนาจบางประการเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งถ้าไล่แล้วมีรายละเอียดเยอะ จำนวนองคมนตรีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยมาในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ เริ่มจากไม่กี่คน ปัจจุบัน 19 คน ในอดีตเรื่ององคมนตรีก็ไม่ได้ถูกมองมากนัก อาจจะเป็นเพราะองคมนตรีในอดีตได้ปฏิบัติตัวอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญดีพอสมควร ในทางความเป็นจริงก็เป็นเรื่องของแต่ละคน แต่อย่างน้อยที่สุดในกรอบที่ออกมาข้างนอกก็ไม่ได้ส่งผลให้เกิดปัญหามากนัก จนกระทั่งมาถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งเราก็เห็นว่าก็คงมีปัญหาระดับหนึ่ง ในส่วนองคมนตรีแรกเริ่มเดิมที ผมจำได้ว่าเคยมีคนอภิปรายตอนรัฐธรรมนูญปี 2492 แต่จำไม่ได้ว่าใคร มีการอภิปรายกันด้วยซ้ำไป ตอนที่จะตั้งองคมนตรี มีท่านหนึ่งบอกว่าจะไปขุดเอาสถาบันองคมนตรีขึ้นมาทำไม เพราะองคมนตรีเดิมทีมีอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะถ้ามีองคมนตรีแล้วต่อไปในอนาคตจะทำให้มีกษัตริย์หลายองค์ อันนี้มีการพูดกันในตอนนั้น ก็มีคนอธิบายในเรื่องนี้เอาไว้"
 
"ส่วนประเด็นเรื่องกฎมณเฑียรบาลก็เหมือนกัน ก็มีการเปลี่ยนแปลงมาเรื่อย แรกเริ่มเดิมทีก็มีฐานะเป็นกฎหมายธรรมดา ต่อมาก็มีฐานะเทียบเท่ารัฐธรรมนูญ การแก้ไขเพิ่มเติมก็ทำแบบเดียวกับรัฐธรรมนูญ ต่อมาในรัฐธรรมนูญปี 2534 เปลี่ยนหลักการไปอีก บอกว่าการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันติวงศ์ ให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ อันนี้ก็คือไม่ผ่านสภา การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เรื่องพวกนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงไป ในช่วงที่ผ่านมาเราไม่ค่อยมีปัญหาแบบนี้ และเราก็ไม่เคยพูดกันในเรื่องของหลักการ ว่าอำนาจในเรื่องพวกนี้จะกลับมาเชื่อมโยงกับอำนาจของรัฐสภาอย่างไร สภาต้องให้ความเห็นชอบไหม การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะถือเป็นประมุขของรัฐ หรือเรื่องของการขึ้นครองราชย์ เพราะในหลวงรัชกาลที่ 8 และ 9 ก็ขึ้นครองราชย์โดยผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ประเด็นพวกนี้เป็นประเด็นซึ่งเราไม่อยากพูดกัน แต่ผมคิดว่าควรจะต้องพูดกันสักทีหนึ่ง"
 
วรเจตน์บอกว่า ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้แปลว่าต้องเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง แต่ขอให้มีการพูดกัน
 
"คือขอให้มีการดีเบต ขอให้มีการพูด มันควรจะต้องมีการพูดกัน ไม่ใช่อยู่ในความเงียบงันอย่างนี้ ถ้าไม่พูดกันอย่างไปตรงมา มันก็มีการพูดกันที่อื่นที่ไม่ได้เป็นที่เปิดเผยใช่ไหม"
 
"ในความเห็นของผมเวลาที่เราพูดเรื่องนี้ คือเรื่องทุกเรื่องต้องย้อนกลับไปหาหลักประชาธิปไตยให้หมด และอธิบายจากหลักการตรงนี้ว่าสอดคล้องต้องกันไหม ซึ่งแน่นอนเวลาพูดถึงเรื่องแบบนี้ก็จะมีการเถียงกันอีกว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทย แต่ว่าเอาหละจะเป็นแบบไทยหรือแบบใคร มันต้องมีการอธิบายกันถึงเหตุผล จะมีหรือไม่มี ถึงเหตุผล ถึงความรับผิดชอบในตัวระบอบ บ้านเราพูดไปพูดมาเราก็บอกว่าเรื่องนี้มีสัญญาณพิเศษ มีสัญญาณอะไรที่พิเศษกว่า แต่ปัญหาคือในเชิงการปกครอง เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องซึ่งไม่ควรจะมี ทุกอย่างควรจะเข้ารูปเข้ารอยเป็นไปตามระบอบ"
 
ในความเห็นส่วนตัว วรเจตน์เห็นว่าองคมนตรีไม่ควรกำหนดในรัฐธรรมนูญ แต่เป็นบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย
 
"เป็นเรื่องที่เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือรัฐธรรมนูญรับรองให้มี ให้เป็นเรื่องส่วนพระองค์ไป และไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย"
 
"ในความเห็นผม องคมนตรีไม่ควรจะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในหลวงท่านตั้งของท่าน แต่ไม่ใช่เป็นองค์กรที่ต้องถูกตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ เพราะตามหลักวิชาดูคำอธิบายต่างๆ พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ ทรงมีที่ปรึกษาอยู่แล้วก็คือคณะรัฐมนตรี พระองค์มีพระราชอำนาจที่จะได้ให้คำปรึกษา ในการที่จะทรงตักเตือนให้คำแนะนำต่างๆ กับตัวคณะรัฐมนตรี เราพูดถึงคณะรัฐมนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และฝ่ายค้านในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในทางระบอบ ส่วนว่ากิจการอะไรที่เป็นส่วนพระองค์จะต้องมีที่ปรึกษา ก็เป็นเรื่องส่วนพระองค์ไป แต่ในเชิงองค์กรก็ว่ากันไปในตัวคณะรัฐมนตรี หลักมันควรจะเป็นแบบนี้"
 
"มีคนถามว่าแล้วหน้าที่องคมนตรีทำอยู่ในรัฐธรรมนูญ พวกนี้ควรจะเป็นของใคร ผมคิดว่าถ้าตอบตามระบอบก็คือกลับไปที่รัฐสภานั่นแหละ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในทางระบอบก็ต้องกลับไปสู่รัฐสภา ทั้งในแง่ของการเสนอชื่อและการให้ความเห็นชอบ เพราะผู้สำเร็จราชการใช้อำนาจในฐานะที่เป็นประมุขของรัฐ เพียงแต่ว่าตอนนี้หลักการอันนี้ถูกเปลี่ยนไป คือให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบเท่านั้น ตอนที่เปลี่ยนหลักการนี้ไม่เคยมีการพูดกันอย่างตรงไปตรงมา"
 เปลี่ยนปี 2534?
 
"อันที่จริงเรื่องผู้สำเร็จราชการนี่เริ่มเปลี่ยนตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2492 แต่ตอน รสช.นี่เปลี่ยนเรื่องการขึ้นครองราชย์ และการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนที่สำคัญนะอันนี้เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญถาวรปี 2534 และคนก็ไม่รู้ จะต้องพูดกันให้ชัดเจนเสียที และก็พูดในบริบทของหลักการพื้นฐานในการปกครองแบบประชาธิปไตย"
 
 
โครงสร้างระบบ
 
วรเจตน์เห็นว่าจากภาพรวมของรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นนี้แทบไม่ได้แตะอะไรเลย
 
"มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรในเชิงโครงสร้างรัฐธรรมนูญ จะไม่แก้ปัญหา โอเคมันอาจจะแก้ปัญหาในบางเรื่องกับฝ่ายการเมืองกับรัฐบาล แต่ในเชิงหลักการของการปกครองมันไม่ได้เปลี่ยนอะไร ไม่ได้แก้อะไรเยอะ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าผมไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกรรมการสมานฉันท์ เพียงแต่ผมเห็นว่ามันน้อยไปที่จะทำให้เราได้รัฐธรรมนูญซึ่งมั่นคงถาวรสถิตสถาพรไป และก็เป็นหลักพื้นฐานในเชิงการปกครอง แต่ผมมีความเห็นของผมอยู่ด้วยว่าเรื่องหลายอย่างที่เขียนลงในรัฐธรรมนูญ ต้องเอาออกจากรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ รัฐธรรมนูญไม่ควรจะมีข้อความที่ยาวขนาดนี้ ควรจะเอาแต่หลักๆ และเรื่องในรายละเอียดก็ไปต่อสู้กันโดยวิธีทางในทางรัฐสภา"
 
โครงหลักของรัฐธรรมนูญที่คิดว่าจะต้องทำใหม่คืออะไรบ้าง
"เราคงต้องตั้งคำถามว่าเราจะอยู่ในระบบรัฐสภาไหม ซึ่งผมเข้าใจว่าเราก็คงจะอยู่ในระบบนี้แหละ ความสำคัญก็คงเป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง เรื่องของสภาผู้แทนราษฎรกับเรื่องของคณะรัฐมนตรี หมายความว่านายกรัฐมนตรีก็ควรจะมาจากสภาผู้แทนราษฎร เว้นแต่จะมีใครคิดว่าให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่หลักที่ใช้กันทั่วไปและเป็นโมเดลที่เป็นสากลพอสมควร ก็คือระบบนี้ที่เชื่อมโยงกัน มันดุลและคานอำนาจกัน ฉะนั้น โครงสร้างหลักก็มี 2 องค์กร คณะรัฐมนตรีกับสภาผู้แทนราษฎรที่ยังคงอยู่ ประเด็นที่ต้องพูดกันต่อคือว่า แล้วในส่วนที่เป็นรัฐสภาควรจะมีวุฒิสภาไหม อันนี้คือประเด็นหลัก แต่ถ้ามี ผมคิดว่าวุฒิสภาไม่ควรมาในลักษณะนี้ คือสรรหามาครึ่งหนึ่งและเลือกตั้งจากจังหวัดละคน มันผิดในเชิงของระบบ และในแง่ของความสอดคล้องในหลักการประชาธิปไตย ถ้าไม่มีก็ไม่มีเลย ถ้ามีก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง จะโดยอ้อมโดยอะไรก็ตาม และน่าจะมีอำนาจน้อยกว่าสภาผู้แทนราษฎร หลักควรจะเป็นแบบนั้น อาจจะทำให้ทำกิจกรรมบางอย่างบางเรื่องเชื่อมโยงกับสภาผู้แทนราษฎร แต่สภาหลักก็ควรจะเป็นสภาผู้แทนราษฎรกับฝ่ายบริหาร คือคณะรัฐมนตรี นั่นก็คือโครง"
 
"ส่วนเรื่องระบบเลือกตั้งคงไม่มีปัญหา คุยกันได้ว่าจะเป็นระบบสัดส่วนผสมกับระบบเสียงข้างมาก อย่างที่เขาเถียงกันอยู่ ย้อนกลับไปใช้ปี 2540 ผมเห็นว่าเรายังมีหนทางทำได้ดีกว่าของปี 2540 อีก ในแง่ของความยุติธรรมในการออกเสียงลงคะแนน แต่ถ้ายังไปถึงขั้นนั้นไม่ได้ ประนีประนอมกันก็ยังพอเป็นไปได้ แต่ต้องอธิบายได้ ไม่ใช่ระบบที่อธิบายไม่ได้แบบรัฐธรรมนูญ 2550 และจริงๆ ระบบเลือกตั้งถ้าว่ากันถึงที่สุดแล้ว อาจจะไม่ต้องเขียนในรัฐธรรมนูญก็ยังได้ หมายถึงรัฐธรรมนูญเขียนหลักในเรื่องของการเลือกตั้ง วางหลักเอาไว้ว่าคุณต้องเลือกตั้งโดยเสรี โดยตรง โดยลับ โดยเสมอภาค ส่วนตัวระบบการเลือกตั้งจะเป็นระบบแบบไหน อาจจะอยู่ในพระราชบัญญัติยังได้เลย เพียงแต่ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ การต่อสู้กันเรื่องระบบเลือกตั้งก็ไม่ต้องต่อสู้แก้รัฐธรรมนูญ แต่ไปต่อสู้กันโดยหนทางของรัฐสภา เรื่องในทางการเมืองที่จะสู้กัน เพราะคนที่ได้รับเสียงข้างมากมา ก็ควรจะมีโอกาสที่เขาจะปรับตัวระบบเลือกตั้งในกรอบรัฐธรรมนูญกำหนด เท่าที่คุณจะเลือกตั้งโดยลับ โดยตรง โดยเสรี โดยเสมอภาค"
 
"อีกอันหนึ่งที่เป็นโครงใหญ่ที่จะต้องพูดกันก็คือเรื่ององค์กรอิสระว่าคืออะไร อำนาจเขาควรจะเป็นอย่างไร อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดวินิจฉัยได้แบบศาลทั้งๆ ที่เป็นฝ่ายบริหาร มันควรจะมีไหม ซึ่งผมคิดว่าไม่ควรจะมี และต้องเอาให้ชัดด้วยว่าองค์กรอิสระแบบนี้เขาใช้อำนาจที่มีลักษณะเป็นอำนาจอธิปไตยหรือเปล่า หรือเป็นอำนาจทางบริหารที่มีลักษณะเป็นอำนาจในทางปกครอง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็ควรจะเป็นองค์กรตามพระราชบัญญัติ ไม่ใช่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เพราะเขาไม่ได้ใช้อำนาจที่เป็นอำนาจของปวงชนโดยตรง แต่เป็นอำนาจบังคับใช้กฎหมาย หลายองค์กรก็ต้องออกจากรัฐธรรมนูญไป กลายเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญประกันให้มีเฉยๆ แต่เป็นเรื่องต้องกำหนดในพระราชบัญญัติ ซึ่งแน่นอนว่าการ reform แบบนี้อาจจะต้องมาเป็นแพ็กเกจ คือทำตัวรัฐธรรมนูญด้วยและทำพระราชบัญญัติไปด้วย มันควรจะเป็นแบบนั้น ถ้าเป็นระบบแบบนี้องค์กรเหล่านี้จะเป็นองค์กรในทางปกครองที่เป็นอิสระ และเข้าสู่ระบบการตรวจสอบอำนาจว่า ถ้าเขากระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย เขาก็ถูกควบคุมได้ในทางตุลาการ"
 
"พอมาถึงองค์กรตุลาการหรือศาลก็คงจะต้องมีการพูดกัน ว่าศาลเราระบบควรจะเป็นอย่างไร ศาลรัฐธรรมนูญยังจะมีต่อไปหรือไม่ อำนาจหน้าที่ควรจะเป็นแค่ไหน อย่างไร ถ้ามี อำนาจหน้าที่ต้องชัดเจน ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญต้องเขียนให้ชัด เรื่องของคุณสมบัติต่างๆ ต้องคิดว่าจะให้เป็นเรื่องของศาล หรือบางเรื่องให้สภาเขาวินิจฉัยเอง เรื่องไหนที่เป็นเรื่องในทางการเมืองอาจจะปล่อยให้ทางฝ่ายการเมืองเขาวินิจฉัยเองได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องในทางตุลาการ ฉะนั้น ระบบศาลจะต้องคิด และต้องคิดเลยไปอีกว่าการเข้าสู่ตำแหน่งบริหารของศาลในระบบต่างๆ ควรจะมีกฎเกณฑ์กติกาอย่างไร คนที่จะเข้าสู่ตำแหน่งในทางบริหารในระดับสูงของศาล บรรดาประธานศาล ควรจะมีจุดเกาะเกี่ยวกับประชาชนมากน้อยแค่ไหน คณะกรรมการตุลาการ คณะกรรมการ กศป.กำหนดแล้วพอไหม"
 
"ประเด็นสำคัญที่สุดที่จะต้องพูดกันเกี่ยวกับศาล ก็คือความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยขององค์กรตุลาการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่เคยพูดกันเลย เราพูดแต่ว่าตุลาการต้องเป็นอิสระ แน่นอน เราต้องประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ แต่ในทุกระดับของการได้มาของผู้พิพากษาตุลาการ มันต้องอธิบายและย้อนกลับไปหาประชาชนได้ด้วย ซึ่งผมไม่ได้หมายความว่าให้ผู้พิพากษามาจากการเลือกตั้ง แต่ผมหมายถึงในแง่ของการคัดเลือกผู้พิพากษาขึ้นสู่ตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น มันควรจะต้องมีจุดที่เชื่อมโยงกับประชาชนได้ ต้องกลับไปผ่านสภาหรืออะไรก็ไปว่ากัน เพื่อให้เราเห็นกระบวนการทำงานของศาลมากขึ้น เวลาที่ตัดสินมาก็จะยอมรับได้อย่างเต็มที่ องค์กรผู้พิพากษาในที่สุดแล้วมีจุดเกาะเกี่ยวเชื่อมโยง แต่ต้องทำโดยไม่ให้เขาสูญเสียความเป็นอิสระ แต่แน่นอนเราก็ไม่ต้องให้มีการอ้างความอิสระนั้นมาทำลายระบบการตรวจสอบ แม้แต่ในทางตัวบุคคล อิสระกับเรื่องการถูกตรวจสอบเป็นคนละเรื่องกัน"
 
"คือวันนี้ในหมู่ชนชั้นนำของบ้านเราสับสน 2 เรื่องนี้ คือคิดว่าอิสระก็คือใครตรวจสอบไม่ได้ เพราะถ้าเกิดถูกตรวจสอบได้จะไม่อิสระ ผลก็คือองค์กรที่เราคาดหวังว่าจะอิสระนั้นก็ถูกครอบงำและก็ไม่ถูกตรวจสอบ อันนี้คือจุดอ่อน เพราะฉะนั้น ศาลก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบอันนี้เหมือนกัน ก็ต้องทำตรงนั้นใหม่ในชั้นของรัฐธรรมนูญ ต้องคิดกันใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ แน่นอนก็มีคนบอกว่าเสนอแบบนี้มาแล้วมันจะได้หรือ ผมก็บอกว่าได้หรือไม่ได้ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายวิชาการ หรือของผม ผมเพียงแต่นำเสนอว่าในความเห็นผมเห็นอย่างนี้ ถ้าเหตุปัจจัยมันพร้อมก็ไปทางนี้ ถ้าเหตุปัจจัยไม่ให้มันก็ไม่ไป และถามว่าที่เสนอแบบนี้ได้ดูบริบทของประเทศไทยไหม ผมก็ดู บนพื้นฐานบริบทของประเทศไทย ที่คนไทยก็เป็นมนุษย์มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รู้จักคิด ปกครองตัวเองได้ บนพื้นฐานแบบนี้นะ ซึ่งแน่นอนถ้าใครคิดว่าคนไทยยังโง่อยู่ ปกครองตัวเองไม่เป็น เขาก็ต้องคิดจากอีกฐานหนึ่ง มันก็จะปะทะกันในทางความคิดที่เป็นรากฐานอยู่แล้ว"
 
"ในส่วนโครงสร้างอำนาจอื่น ผมเห็นว่ารัฐสภาควรจะมีการตั้งผู้ตรวจการทหาร มีอำนาจตรวจสอบกองทัพ ในแง่ของการใช้จ่ายเงินต่างๆ และเป็นองค์กรที่รับเรื่องราวร้องทุกข์จากทหารด้วย"
 
"นอกจากนี้ ผมเห็นว่าการถอดถอนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบางตำแหน่งที่สำคัญออกจากตำแหน่ง น่าจะให้อำนาจนี้กลับไปสู่ประชาชนโดยตรง แต่ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ให้ดี ไม่ให้ใช้กันพร่ำเพรื่อ จนกลายเป็นเครื่องมือป่วนกันทางการเมือง"
 
 
ระบบเลือกตั้ง
 
"ผมเห็นว่าระบบเลือกตั้งแบบ 2540 ดีกว่า 2550 แต่ระบบเลือกตั้งแบบ 2540 ก็ยังให้ความสำคัญกับระบบสัดส่วนน้อยไป ถ้าเรา reform ตัวพรรคการเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตยในพรรค แล้วน้ำหนักหรือคะแนนที่ให้กับระบบสัดส่วนควรจะมากขึ้น และเราอาจจะแยกระหว่างระบบสัดส่วนกับระบบเสียงข้างมากโดยเด็ดขาด เพราะมีในบางประเทศที่เขาเอาคะแนนเสียงที่ให้กับระบบสัดส่วนเป็นตัวคำนวณที่นั่งของพรรคการเมืองในสภา ซึ่งจะสอดคล้องกับหลักความยุติธรรม"
 
อันนี้คือระบบของเยอรมัน
"คือถ้าพรรคไหนชนะการเลือกตั้งในเขตแล้ว คนคนนั้นได้เป็น ส.ส.แน่ๆ แต่ให้เอาไปหักกับเก้าอี้ที่ได้จากระบบสัดส่วน สมมติมี ส.ส.ในสภา 500 คน อาจจะแบ่งเป็นระบบสัดส่วน 250 แบบแบ่งเขต 250 เวลาคนไปเลือกก็เลือกได้ใน 2 ระบบ คือลงให้กับ ส.ส.ในเขต และก็ลงให้กับบัญชีรายชื่อที่ตัวเองเลือก พอจะคำนวณหาเก้าอี้ในสภาทั้งหมด ก็เอาคะแนนที่ลงให้กับพรรคการเมืองมาดูว่าพรรคนี้ จาก 500 เขาจะได้เก้าอี้กี่ที่นั่ง โดยเอาเฉพาะคะแนนลงให้พรรคมาคำนวณก่อน ก็จะได้เป็นตัวเลขใหญ่ขึ้นมา แล้วก็ไปดูว่ามีผู้ชนะการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งกี่เขต คนที่ชนะการเลือกตั้งในเขต เขาจะได้เก้าอี้อยู่แล้วแน่นอน ก็เอาตัวนี้มาลบกับจำนวนรวมทั้งหมด เช่น พรรค A เอาคะแนนที่ลงให้พรรคทั้งประเทศมารวมกันจะได้เก้าอี้ประมาณ 200 เก้าอี้ ไปดูจาก 250 เขต เขาชนะการเลือกตั้งแล้ว 120 เขต ก็เอา 120 มาหักจาก 200 เพราะฉะนั้น 120 คนได้เป็น ส.ส.แน่ๆ ส่วนอีก 80 ก็ไปให้กับบัญชีรายชื่อ มันก็จะสอดคล้องกับคะแนนที่คนเลือกพรรคนั้น มันจะไม่ผันแปรมาก อันนี้เป็นระบบที่เราอาจปรับต่อไปได้อีก"
 "มีคนบอกว่าระบบนี้ซับซ้อน ผมบอกว่ามันอาจจะซับซ้อนสำหรับประชาชน แต่ประชาชนรู้ว่าตัวเองมี 2 คะแนนอยู่แล้ว ส่วนที่เหลือมันเป็นระบบการคำนวณ มันไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไรมากมาย แต่จะสอดคล้องกับความยุติธรรมของน้ำหนักคะแนน"
 
ถ้าเทียบแล้วระบบ 2540 ดีกว่า 2550 ใช่ไหม
"แน่นอน แต่มันอาจจะปรับให้ดีไปกว่านั้นได้อีก คือถ้ายังไม่พร้อมก็เอา 2540"
 
เขตเล็กดีกว่าเขตใหญ่
"ผมเคยกังวลนะ ตอนแรกๆ ว่าเขตเล็กอาจจะมีปัญหา แต่เขตเล็กมีข้อดี ที่มันไม่ใหญ่มากและก็ชัดว่าคนในทุกๆ เขตมี ส.ส.คนเดียวเท่ากัน มันไม่เหมือน 2550 ที่คนในแต่ละเขตมี ส.ส.ไม่เท่ากัน เขตใหญ่ก็มี ส.ส.ได้มาก และอาจจะต่างพรรคการเมืองกันด้วย ดังนั้นในแง่นี้เขตละคนจะดีกว่า"
 
บางคนเขากลัวว่าจะผูกขาด ซื้อเสียงได้ง่ายกว่า
"การขจัดเรื่องการซื้อเสียงไม่สามารถที่จะใช้กลไกทางกฎหมายไปทำลายมันได้ มันเป็นเรื่องอื่น เราจะผิดฝาผิดตัวมากเลย ถ้าคิดว่าออกแบบระบบเลือกตั้งมาทำลายเรื่องของการซื้อเสียง มันทำไม่ได้ การซื้อเสียงมันไม่สนใจระบบเลือกตั้งว่าคุณจะเลือกเขตละกี่คน มันซื้ออยู่แล้วถ้ามันจะซื้อ เพราะฉะนั้น เราเลิกคิดตรงนี้ไปก่อนว่าการกำหนดระบบเลือกตั้งจะไม่แก้ปัญหาการซื้อเสียง มันคนละประเด็นกัน เรื่องการซื้อเสียงมันไปพันกับวัฒนธรรมในทางการเมือง ต้องไปแก้ตรงนั้น ต้องค่อยๆ ทำและใช้เวลา มันไม่ได้ทำได้คราวเดียว มีคนเขาบอกว่าอย่างนี้ประเทศก็ถูกเขมือบไปหมด แต่บางทีเป็นการคิดล่วงหน้ามากเกินไป กลัวกันเกินไป ผมคิดว่าคงไม่มีใครกล้าพูดว่าคนที่ไปเลือกตั้งถูกซื้อเสียงหมด คงไม่มีใครยืนยันข้อเท็จจริงอันนี้ แต่อาจจะบอกได้ว่าการซื้อเสียงมีอยู่ในสังคมของเรา คนที่รับเงินแล้วไปเลือกคนที่ให้เงินก็คงมี คนที่รับเงินแล้วไม่เลือกก็คงมี คนที่ไม่รับเงินก็คงมี ส.ส. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งที่ไม่ใช้เงินโดยผิดกฎหมายก็คงมี คือมันไม่สามารถเอาเป็นเกณฑ์ได้ ผมจึงบอกว่ามันขึ้นอยู่กับว่าเรายอมรับตรงนี้ไหม"
 
"ผมคิดในทางกลับกันว่าสังคมของเราจะต้องส่งเสริมเรื่องของการยอมรับการเลือกตั้ง คือเราทำผิดทิศ ที่เรากำลังทำกันอยู่ทั้งหมดก็คือใช้กลไกเรื่องของการซื้อเสียง ใช้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ทำลายจิตสำนึกของเราในเรื่องของการเคารพการเลือกตั้ง มันเป็นการทำลายประชาธิปไตยถึงฐานราก คนก็ไม่เชื่อถือ ทุกคราวคุณก็ออกข่าวว่าซื้อเสียงตรงนั้นซื้อเสียงตรงนี้ ผมไม่ได้บอกว่าออกข่าวไม่ได้นะ แต่ในด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าคนที่เขาผ่านการเลือกตั้งมาโดยถูกต้องสุจริตก็มีอยู่ การต่อสู้กันในทางนโยบายพรรคการเมือง นำเสนอนโยบายให้คนเลือก มันก็มีอยู่ นี่คือด้านที่ต้องเน้น เพื่อจะปลูกฝังสำนึกในเรื่องการเคารพ และยอมรับหลักการประชาธิปไตย แต่ที่เราทำกันอยู่ทุกวันนี้คือการทำลายตัวหลักการประชาธิปไตยถึงฐานรากเลย แน่นอนการเลือกตั้งไม่ใช่ทั้งหมด แต่ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีประชาธิปไตย คือคุณพูดว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทั้งหมดของประชาธิปไตย ผมไม่เถียงหรอก แต่คุณบอกได้ไหมว่าคุณมีประชาธิปไตยโดยที่ไม่มีการเลือกตั้ง มันไม่มีทาง เพราะฉะนั้นความคิดที่เสนอ 70:30 ผมจึงรับไม่ได้ เพราะมันทำลายประชาธิปไตยถึงฐานราก เป็นไปไม่ได้"
 
การเลือกตั้งระบบปาร์ตี้ลิสต์แบบแบ่งโซนหรือแบบทั้งประเทศดีกว่า
"มันได้ทั้ง 2 แบบแล้วแต่คุณจะใช้ฐานจากอะไร แต่ไม่ใช่แบบ 2550 เพราะโซนในแบบ 2550 มันเป็นโซนซึ่งไม่อธิบายเหตุผล แบ่งประเทศออกเป็น 8 กลุ่มจังหวัด และให้มี ส.ส.กลุ่มจังหวัดละ 10 คน เอาประเทศไทยทั้งประเทศมาตัดแบ่งออกเป็น 8 ส่วน แต่ละส่วนก็มี ส.ส.10 คน หลักในรัฐธรรมนูญมีอยู่อย่างเดียว ก็คือการแบ่งต้องให้ได้คนในปริมาณที่ใกล้เคียงกันทั้ง 8 กลุ่ม และจังหวัดต้องติดกัน จะเอาเชียงใหม่ไปรวมกับนราธิวาสไม่ได้ อันนี้โอเค เพียงแต่แนวคิดแบบนี้ 8 กลุ่มจังหวัดนี้มันไม่สัมพันธ์กับความเป็นมาในทางวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ ผลประโยชน์ในทางการเมือง เศรษฐกิจต่างๆ เลย คุณเอาจังหวัดภาคกลางไปรวมกับจังหวัดในภาคใต้ตอนบน มันไม่ตอบคำถามอะไรเลย ถ้าจะใช้ระบบแบบ 2550 แบ่งเป็นกลุ่มจังหวัด ใช้ 2540 แบบประเทศไปเลยดีกว่า เพราะแบบประเทศคนทุกคนเลือกพรรคนี้เหมือนกัน ถ้าคนทั้งประเทศเห็นคนที่เป็น ส.ส.เหมือนกันหมดไม่ว่าคุณจะอยู่จุดไหนของประเทศ พรรคทำนโยบายและพรรคหาเสียงกับนโยบายอันเดียวกันทั้งประเทศ หรือถ้าจะปฏิรูประบบเลือกตั้งคุณสามารถทำให้ประเทศแบ่งเป็นโซนได้ แต่โซนนั้นดูแล้วมันมีความสัมพันธ์กัน ในทางความคิดความอ่าน ความเป็นมา ประวัติศาสตร์ เช่น โซนภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้ 4 โซนใหญ่ๆ และแต่ละบัญชีจะมี ส.ส.ไม่เท่ากัน ผันแปรตามจำนวนประชาชน เช่น list ของอีสานจะต้องใหญ่หน่อย list ของภาคใต้น้อยหน่อยเพราะประชากรน้อย ถ้าแบ่งโซนอย่างนี้โอเคผมรับได้"
 
เขาก็จะแย้งว่าแต่ละภาคได้ ส.ส.ไม่เท่ากัน
"ไม่เท่ากันโดยสภาพอยู่แล้ว เพราะคนอีสานเยอะกว่าคนใต้ ที่สุดจะเหมือนกันเพราะคะแนนที่ลงมันลงเท่ากัน เพียงแต่ขึ้นอยู่กับตัวของ list ใครอยู่ในนั้นบ้าง แต่ผลสุดท้ายไม่ต่างกัน มันต่างกันในแง่ที่ว่าเราจะเอาประเทศเป็นเขตให้คนเลือกบัญชีเดียว หรือเราจะเอาตัวภาค แบ่งตามความเชื่อมโยง มาทำเป็น list บางคนบอกว่าทำอย่างนี้จะทำให้เราขยับเข้าใกล้ความเป็นสหพันธรัฐหรือเปล่า อันนี้ก็แล้วแต่มุมมอง"
 
ต่างประเทศก็แบ่งโซนแบบนี้ใช่ไหม
"มี แต่เขาไม่ได้กำหนดแบบที่เรากำหนด ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน 10 คนแบบเรา การแบ่งโซน คุณต้องบอกได้ว่าคุณจะเอาอะไรเป็นเครื่องบอกโซน แบ่งแบบ 2550 มันไม่ตอบคำถามว่าแบ่งทำไม แบ่งแบบนี้กับเอาทั้งประเทศมีค่าเท่ากัน เพราะว่าโซนในการแบ่งของคุณไม่ตอบคำถาม แต่ถ้าแบ่งโซนโดยบอกว่ามีความเป็นกลุ่มก้อนมีภูมิหลัง เวลาพรรคพรรคการเมืองทำนโยบายเขาก็จะทำโดยพิจารณาตรงนี้ ในโซนนี้"
 
เช่นภาคใต้แข่งนโยบายเรื่องราคายางพารา
"ใช่ แต่แบบที่เป็นอยู่มันไม่ทำให้เกิดการแข่งกันในทางนโยบาย กลับไปใช้ระบบประเทศเป็นเขตก็ดีอยู่แล้ว เพียงแต่เอาระบบประเทศเป็นเขต เขากลัวการเคลมคะแนนเสียง ได้มา 19 ล้านเสียง เคลมได้ เห็นชัดว่าคนทั้งประเทศเลือก การร่างรัฐธรรมนูญบนความกลัวก็ออกมาแบบนี้แหละ"
 
 
มาตรา 190
 
มาตรา 190 เหมือนคณะกรรมการสมานฉันท์ก็ไม่ได้แตะอะไรเลย
"เขาขอให้มีการปรับเรื่องประเภทสัญญา ซึ่งก็โอเค คือ 190 ถ้าจะบัญญัติคุณต้องทำให้ชัดว่าอะไรเป็นหลัก อะไรเป็นข้อยกเว้น ข้อยกเว้นมันไม่ควรกว้างเป็นทะเล คุณเอาให้ชัดว่าอำนาจในการทำสนธิสัญญาอยู่กับใคร ต้องเขียนจากหลักตรงนี้ก่อน มันอยู่ที่ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ พอบอกแล้วว่าอยู่กับใครเป็นหลัก มันมีเรื่องอะไรบ้างที่เป็นเรื่องสำคัญ และต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ถ้าไม่เริ่มจากตรงนี้ก็เขียนกันไปเรื่อย และก็กลายเป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการตีความยุ่งยากกันไปอีก"
 
บางคนแย้งว่าแค่ออกกฎหมายลูกก็พอ
"ไม่ใช่แต่เรื่องการออกกฎหมายลูกหรอกครับ แต่เป็นประเด็นว่าตัวถ้อยคำ คือผมอาจจะเห็นต่างจากพวก FTA WATCH ว่าถ้อยคำมีปัญหา ถ้อยคำแบบนี้ทำให้ฝ่ายบริหาร ถ้าผมเป็นรัฐมนตรี ผมจะสับสนมากเลยว่าสัญญาแบบไหนที่ผมต้องเอาเข้าสภา สัญญาแบบไหนไม่ต้อง คือเราต้องเห็นใจคนที่เขาทำงานด้วย คุณต้องเขียนให้ชัด ที่กำหนดในกฎหมายลูกมันเป็นการกำหนดกระบวนการขั้นตอนในการรับฟังความคิดเห็นต่างๆ แต่ตัวประเภทของสัญญามันเขียนในรัฐธรรมนูญ และถ้อยคำที่ใช้กว้างจะตาย แล้วก็ขึ้นอยู่กับจะตีความ ผมทำไปแล้ว ก็ฝ่ายกฎหมาย กรมสนธิสัญญาเขาบอกว่าไม่เข้า แต่ไปตีความว่ามันเข้า แล้วผมจะไปรู้ได้อย่างไรว่ามันเข้าหรือไม่เข้า มันก็เป็นความเห็นที่แตกต่างกันใช่ไหมครับในแง่ของการวินิจฉัยข้อกฎหมาย ถ้าอย่างนั้นศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว ศาลอุทธรณ์กลับเพราะเห็นต่างข้อกฎหมาย มันต้องติดคุกหรือ มันกลับกันไม่ได้หรือ ลักษณะแบบเดียวกันเลย รัฐบาลเห็นแบบนี้ ผมเป็นรัฐมนตรีผมเห็นแบบนี้ ผมเห็นโดยบริสุทธิ์ใจแบบนี้ คุณเห็นอย่างนั้น ผมก็เคารพของคุณ แต่ไม่ใช่เรื่องที่ผมจะต้องเข้าคุก"
 
อาจารย์เห็นว่าเป็นที่ตัวเนื้อรัฐธรรมนูญ
"สำหรับผม 190 คือตัวเนื้อรัฐธรรมนูญ ประเภทของสัญญา คุณจะเอาอะไร ผมเข้าใจพวกที่เคลื่อนไหว เขาก็กลัวว่าถ้ารัฐบาลมีอำนาจเยอะ เดี๋ยวไปตกลงทำความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาผูกมัดประเทศไทย กระทบตรงนั้นตรงนี้ แต่นี่เป็นปัญหาพื้นฐานเรื่องประชาธิปไตยอยู่เหมือนกัน ก็ผมหาเสียงเอาไว้ ผมมีนโยบายอันหนึ่ง มันตัดสินกันในระดับหนึ่งแล้วในตอนที่เลือกตั้ง และผมจะบังคับตามนโยบายผม บางเรื่อง แน่นอนมันมีคนได้คนเสีย คนที่เสียก็ถูกเยียวยาไปตามระบบของเขา แต่ว่าถ้าทำอย่างนี้หลักมันเพี้ยนไป และมันถูกเอาไปตีความเล่นการเมืองกัน คนทำงานก็จะทำงานลำบาก ลองไปถามคนที่เขาอยู่กระทรวงการต่างประเทศสิ"
 
กษิตยังกระดิกไม่ได้เลย
"ถามคุณกษิตก็ได้ คุณกษิตจะตอบได้ดีมากเลย พอเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศจะรู้แล้วว่ามันอย่างไร ทำไมท่าทีคุณกษิตถึงเปลี่ยนไปล่ะ เพราะว่าได้มาทำงานเองแล้ว คนไม่ได้ทำงานพูดอย่างไรก็พูดได้นี่ ว่าทำไมไม่ทำอย่างนั้นไม่ทำอย่างนี้ คือผมพยายามมองให้มันเหมือนกัน อย่าไปทาสีเขา เพราะวันหนึ่งคุณอาจจะต้องเข้าไปทำงานเองก็ได้"
 
พรรคประชาธิปัตย์ก็อยากแก้ 190
"พอเป็นรัฐบาลเขาเห็นว่ามีปัญหาอย่างไร แต่คนที่ไม่อยากให้แก้คือคนที่เขาต่อสู้เคลื่อนไหวเรื่องนี้มา พวกเอ็นจีโอ พวก FTA WATCH เขาบอกต้องเอาเข้าสภา อันที่จริงเอาเข้าสภาในยามที่ฝ่ายบริหารเขามีเสียงในสภา มันไม่มีปัญหาหรอก มันอาจจะทำให้ช้าไปหน่อย ถ้าเขาคุมเสียงในสภาได้มันก็ผ่าน แต่โอเคมันอาจจะเป็นประเด็นสาธารณะขึ้นมา แต่มันผ่านการชั่งน้ำหนักตอนรัฐธรรมนูญมาแล้วว่าเรื่องแบบนี้เป็นอำนาจในทางบริหาร ซึ่งเขาก็มีความชอบธรรมในเชิงการปกครอง เพราะเขามาจากสภา แต่ว่าระดับความสำคัญไม่ถึงขั้นไปขอความเห็นชอบจากผู้แทนปวงชน ต้องดูประเภทของสัญญาและต้องเขียนให้ชัดพอสมควร"
 
ถ้าเป็นเรื่องใหญ่อย่าง FTA ทุกคนคงไม่ขัดข้องว่าต้องเอาเข้าสภา แต่ตอนนี้งงไปหมดว่าอะไรต้องเข้าสภาบ้าง
"ถูกต้อง ต้องทำให้มันชัดในระดับหนึ่ง ชัดเจน 100% เป็นไปไม่ได้ อาจจะต้องมีส่วนที่ต้องตีความบ้าง แต่ไม่ใช่แบบนี้ที่เปิดตีความกว้างมาก ตามหลักวิชาเรื่องการใช้การตีความกฎหมาย มีความเห็นของนักนิติศาสตร์สำคัญๆ บางท่านมองว่า การที่กฎหมายหรือผู้ร่างกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญก็ตาม บัญญัติถ้อยคำที่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจงเอาไว้ มันเท่ากับเปิดเป็นช่องว่างให้องค์กรที่ใช้กฎหมายมีอำนาจตีความและตีความได้มากด้วย และเขาอุดช่องว่างเอง ซึ่งจะขาดความน่าเชื่อถือ ทำให้คนที่ทำงานเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นในทางรัฐธรรมนูญเรื่องสำคัญอย่างนี้จะต้องชัด และไม่ว่าอย่างไรการตีความต่างกันต้องไม่เป็นความผิดทางอาญา แต่ในบ้านเราเป็นอย่างนี้ เพราะมันขยายต่อเนื่อง ผมถึงบอกว่าเพื่อไม่ให้ลดทอนตรงนี้ และให้คนที่ทำงานเขามั่นใจในการทำงาน ต้องเอาให้ชัด"
 
 
คนผิด หรือ รธน.ผิด
 
มาตรา 237 วรเจตน์ยืนยันตลอดมาว่าไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว
 
"หลักของผมง่ายๆ คนที่ไม่ได้ทำความผิดไม่ควรถูกลงโทษ คือเรื่องยุบพรรคก็คงเข้าใจตรงกันแล้วมั้งว่าไม่แก้ปัญหาอะไร มันฝืนกับหลักสากล เพราะฉะนั้นก็กลับสู่หลักปกติ ถ้าคุณกระทำความผิด คุณรู้เรื่องเกี่ยวกับการกระทำความผิด คุณต้องโดน คนที่ไม่เกี่ยวก็ไม่โดน ถ้าอย่างนั้นก็โอเค"
 
กลไกนี้พิการไปแล้วด้วย เพราะทุกวันนี้เราก็เห็นเนวิน บรรหาร เล่นการเมืองอยู่
"ใช่ ก็เลยทำให้ระบบเพี้ยนไปหมด แต่ปัญหาสำคัญมันไปสร้างอำนาจมหาศาลให้กับศาลรัฐธรรมนูญ ให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตัวกฎหมายแบบนี้ไม่ได้มองในทางกฎหมายเท่านั้น แต่มองในทางการเมือง มันทำให้ให้ชะตากรรมของรัฐบาลแขวนอยู่บนเส้นด้าย เพราะถ้ามีการร้องเรียนแล้วพรรคนั้นไปตั้งรัฐบาล ตัวกรรมการบริหารพรรคเป็นนายกฯ ถูกยุบพรรคก็คือถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง ทำให้พรรคแตกกระจัดกระจาย มันถึงเกิดการประท้วงอยู่ว่าคนที่ย้ายพรรคไม่เคารพเจตจำนงคนในพื้นที่ที่เลือกมา คือผลในทางการเมืองมีอยู่ต่อไปเวลาที่คุณยุบพรรค ในระหว่างที่เลือกตั้งมาแล้ว และ ส.ส.แตกไป เขาบอกว่าตอนเลือกเพราะคุณอยู่พรรคนี้ถึงเลือกคุณ มันก็มีปัญหา และอย่าคิดว่าอันนี้เป็นปัญหาเฉพาะประเทศไทยนะ ส.ส.เปลี่ยนพรรคขณะอยู่ในสมัยสภา ในอังกฤษก็มี ส.ส.ออกจากพรรคไปเข้าอีกพรรค คนประท้วงนะ ในเขตเลือกตั้ง ว่าตอนที่เขาเลือกเพราะคุณอยู่พรรคนี้"
 
"ตัวระบบอย่างนี้มันอธิบายไม่ได้หลายอย่าง และมันทำลายพัฒนาการทางการเมือง มันทำให้กติกาในทางการเมืองที่จะสู้กัน ถูกแทรกโดยอำนาจอย่างอื่น ถ้ามีการกระทำความผิดก็ว่ากันไปตามตัวคนแต่เอาให้จริงจัง เราไม่ค่อยลงโทษจริงจังตรงนี้"
 
บางคนเขาอธิบายว่าการที่รัฐธรรมนูญไปกำหนดอะไรเยอะแยะ มันไม่ได้เป็นความผิดรัฐธรรมนูญแต่เป็นที่ตัวคนเอาไปใช้
 
"ก็เป็นปัญหาเริ่มโทษกัน ผมเห็นคำพูดแบบนี้เยอะว่าอยู่ที่คนไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ และพูดเป็นสโลแกนไปแล้ว รัฐธรรมนูญไม่ได้ผิดอะไร ทำไมจะไม่ผิด กติกาที่ไปวางเอาไว้โดยไม่อยู่บนหลักการที่ถูกต้อง มันเป็นปัญหาอยู่แล้วในตัวของมัน คือขึ้นชื่อว่าคนมีปัญหาหมด ในทุกๆ หน่วย คนมีปัญหาทั้งนั้น ไม่ใช่แต่นักการเมือง ตอนนี้เวลาพูดว่านักการเมือง ผมจะพูดในความหมายที่กว้าง เพราะทุกวันนี้เราพูดถึงนักการเมืองในความหมายที่แคบ หลายคนพูดถึงนักการเมืองในระบบที่ผ่านการเลือกตั้ง ผมอยากให้เราจินตนาการในมิติที่กว้างขึ้นไปหน่อย ก็คือนักการเมืองซึ่งไม่ได้เล่นการเมืองในเชิงระบบ คือคนที่วิ่งล็อบนี้ คนที่อยู่ในองค์กรอิสระพวกนั้น พวกนี้ คุณก็มีผลประโยชน์ของคุณ คุณมีอำนาจของคุณ แต่บอกว่าคุณไม่ใช่นักการเมือง คนพวกนี้ไม่ใช่นักการเมืองหรือ คนพวกนี้ก็ต้องนับเป็นนักการเมืองด้วย จึงจะพูดถึงเชิงผลประโยชน์ เชิงการเมืองได้ถูกต้อง ไม่ใช่ว่านักการเมืองมีแต่กลุ่มนี้ เพราะเขาอยู่ในเวทีที่เห็นภาพชัด สื่อก็คุ้ย แต่อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นนักการเมืองในความหมายที่กว้าง คุณอาจจะนั่งเป็นผู้ทรงคุณธรรมอยู่ในที่ต่างๆ แต่คุณเล่นการเมืองตลอดเวลา ถ้าบอกว่าไม่มีการเมืองผมก็ไม่เชื่อ แล้วทำไม ผบ.ตร.ตั้งไม่ได้ นี่คือสภาพที่ปรากฏชัด"
 
"เมื่อเห็นตรงนี้ทำไมเราไม่คิดจากฐานของตัวระบบ เพราะคนมีปัญหาหมด หลายคนที่พูดว่ารัฐธรรมนูญไม่มีปัญหา ก็เป็นคนร่างก็พูดอย่างนี้ ปํญหาคือกติกาที่คุณร่างมา มันไม่ได้รับการยอมรับในทางหลักพื้นฐานตั้งแต่ต้น คือแน่นอน ไม่มีหรอกกติกาที่ทุกคนจะรับกันเอกฉันท์ มันมีแต่หลักหรือคุณค่าพื้นฐานที่ตกลงกันและรับกันอาจจะเห็นต่างกันบ้าง แต่ 2550 มีปัญหาตั้งแต่ตอนเริ่มต้น คือคุณเริ่มต้นวางหมากเรื่องประชามติก็ผิดมาแล้ว อีกอย่างคือกลไกรัฐธรรมนูญมันหยุมหยิมมาก รายละเอียดมาก มีคนบอกว่านักการเมืองไม่เคยเจอพิษของรัฐธรรมนูญที่กำหนดเอาไว้แบบนี้ก็เลยดิ้น ผมบอกไม่ใช่ ถ้ากำหนดกติกาแบบนี้กับองค์กรอื่นที่ไม่เป็นนักการเมืองมันก็ให้ผลแบบเดียวกัน กับราชการระดับสูง กับองค์กรอิสระ และก็ให้อีกฝ่ายเป็นคนตีความบ้าง ลองพลิกกลับข้างกัน มันก็เป็นปัญหาเหมือนกัน มันจึงเป็นปัญหาที่กติกา คนเป็นปัญหาอยู่ทุกสมัย ถ้าใครบอกว่าเป็นปัญหาที่คนผมไม่เถียง แต่ของเราไม่ใช่เฉพาะแค่คนเป็นปัญหา ตัวระบบตัวกติกาเป็นปัญหาด้วย มันเลยเป็นอย่างนี้"
 
บางคนอ้างว่าศาลฎีกาก็มีอยู่ก่อนแล้ว ศาลปกครองก็มีอยู่ก่อนแล้ว กฎหมายทรัพย์สินนักการเมืองก็มีอยู่ก่อนแล้ว
"มันต้องดูบริบทสภาพการเมืองและการต่อสู้กันทางการเมืองด้วย กฎหมายฉบับหนึ่งเขียนเหมือนกัน วางอยู่ต่างระบอบกันมันจะไม่เหมือนกัน สภาพในทางการเมืองที่แตกต่างกันมันส่งผลต่อการวินิจฉัย แน่นอนการสร้างความคิดเรื่องตุลาการภิวัตน์ขึ้นมาในบ้านเมืองเรา และเข้าใจกันคลาดเคลื่อนไป ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา มันกัดเซาะตัวระบบไปทุกที คนจำนวนมากยังอาจจะไม่รู้สึกรู้สาอะไร แต่คนจำนวนหนึ่งเขาก็เห็น อย่างที่ผมเคยบอกเมื่อ 2-3 ปีก่อนว่ามันผิดทาง วันนี้ประเด็นการสู้เรื่องบทบาทของศาล ในความเห็นผมผู้พิพากษาส่วนใหญ่เขาโอเคนะ เพียงแต่ในเชิงบทบาทที่เขาจะมีต่อคดีสำคัญๆ อาจไม่มากเท่าไหร่ แต่ในเชิงระบบมันเป็นปัญหา การสร้างความคิดแบบนี้ขึ้นมามันชักพาให้ผิดไปจากแบบที่ควรจะเป็น และก็พยายามดิ้นอธิบาย คนที่สนับสนุนเรื่องตุลาการภิวัตน์พยายามเขียนบทความสร้างความชอบธรรม ว่าเป็นการตีความแบบก้าวหน้า และก็ไปยกตัวอย่างประเทศนั้นประเทศนี้มา แต่ลืมดูว่าบ้านเรามันไม่ใช่ตีความในเรื่องการส่งเสริมสิทธิ แต่เป็นการตีความที่มีผลได้เสียในทางการเมืองโดยตรงของกลุ่มผลประโยชน์ในทางการเมือง มันจึงเทียบไม่ได้ ก็ไม่เข้าใจกัน ก็มาบอกว่าเกาหลียังมีการตีความเรื่องสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร กำหนดให้คนเข้าถึงได้ ตีความก้าวหน้าแบบนี้ผมไม่มีปัญหาเลย ผมซาบซึ้งยินดีสนับสนุนเลย ถ้าตีความก้าวหน้าและมีเหตุมีผล แบบที่เขาทำกันในที่ต่างๆ ถามว่าของเรามันเป็นแบบนั้นหรือ ในบริบทของการตีความ ถามว่าคนเสนอตุลาการภิวัตน์คุณเสนอกันมาในบริบทไหน"
 
นั่นแหละที่บางคนบอกว่ารัฐธรรมนูญไม่เกี่ยว เป็นเรื่องของตุลาการภิวัตน์
"มันสัมพันธ์กัน ผมถามว่าคุณเขียนอายุเกษียณผู้พิพากษา 70 ในรัฐธรรมนูญทำไม ทำไมคุณไม่ปล่อยให้เป็นอำนาจของผู้แทนปวงชนที่มาจากการเลือกตั้ง คุณตัดสินเรื่องนี้ได้อย่างไร แล้วเวลารับรัฐธรรมนูญก็รับกันทั้งฉบับ มีใครพูดกันประเด็นนี้หรือตอนรับรัฐธรรมนูญ แล้วคุณก็มาตีขลุมว่ารับรัฐธรรมนูญคือเห็นด้วย มันไม่แฟร์ในแง่นี้ มันไม่ใช่เรื่องทุกเรื่องที่คุณจะเห็นด้วย ถ้าอย่างนั้นผมอยากจะเขียนอะไร ผมก็เขียนลงไปแล้วก็ซ่อนๆ ลงไปในประชามติ ต้องหัดยอมรับกันบ้างว่าเขียนอะไรลงไป เรื่องนิรโทษกรรมก็ฟ้องอยู่โจ่งแจ้ง 309 ในรัฐธรรมนูญ"
 
มีข้อแย้งว่าอำนาจศาลเหมือนเดิมแต่แนวคิดตุลาการภิวัตน์เข้ามา
"ตุลาการภิวัตน์ที่พยายามพูดถึงกัน มันใช้ในความหมายซึ่งหมายถึงตัวบทบาทที่แผ่ขยายออกไปของตุลาการ ไม่เฉพาะในทางคดี คุณจะปฏิเสธว่าทางความเป็นจริงคุณหมายถึงเฉพาะในทางคดีก็ไม่เป็นไร แต่คนทั่วๆ ไปที่เขาดู sense อันนี้เขาคิดถึงอะไรล่ะ ผู้พิพากษาไปนั่งเป็นกรรมการสรรหาตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้"
 
"บทบาทตรงนี้ที่แผ่ออกไปมันไม่ได้มีเฉพาะในรัฐธรรมนูญนะ ผมจะบอกให้ วันนี้ไปดูพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน เรื่องคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม ก็เอาประธานศาลปกครองสูงสุดมานั่งเป็นประธานกรรมการสรรหา แผ่ลงไปถึงตัวพระราชบัญญัติแล้วตอนนี้"
ศาลปกครองเกี่ยวกันตรงไหนกับข้าราชการพลเรือน
"ก็ไม่ได้เกี่ยว แต่เขาเอาประธานศาลปกครองสูงสุดมานั่งเป็นประธานคณะกรรมการสรรหาคนที่จะเป็นกรรมการพิทักษ์คุณธรรม มาพิจารณาเรื่องวินัยข้าราชการ เรากำลังใช้ตำแหน่งพวกนี้ออกไปนั่งอยู่ในที่ต่างๆ หลายๆ แห่ง ถามว่าจุดเริ่มต้นมาจากไหน ก็มาจากรัฐธรรมนูญที่เขียนกันขึ้นมานั่นแหละ ก็เพราะคิดว่าไม่เหลืออะไรแล้ว เหลือแต่ผู้พิพากษาตุลาการ ก็เลยต้องเอาออกมา ศาลจำนวนหนึ่ง ผู้พิพากษาตุลาการจำนวนหนึ่ง ท่านไม่ได้สบายใจเลยที่ออกมาแบบนี้ ตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญศาลก็บอกว่าไม่ได้อยากมา แต่ดึงออกมา ถามว่าการดึงออกมาแบบนี้มันเกิดขึ้นภายในบรรยากาศอะไร เราปฏิเสธบรรยากาศลักษณะแบบนี้ได้ไหม เพราะองค์กรตุลาการเดิมทีก็ไม่ได้เป็นองค์กรที่อยู่ในความสนใจหรอก ก็ตัดสินไป คดีแพ่งคดีอาญา มีปัญหาอะไรก็เป็นเรื่องข้างในองค์กรเขา มันก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรในทางการเมือง แต่พอออกมาเป็นแบบนี้มันกลายเป็นเรื่องของผลประโยชน์แล้ว ในทางตำแหน่งคุณปฏิเสธไม่ได้นะว่าคุณเป็นตำแหน่งนี้คุณไปนั่งตรงนั้นตรงนี้ ซึ่งผมไม่ได้จะว่าผู้พิพากษานะ แต่คนร่างก็ไปดึงออกมาให้เขามาทำเรื่องพวกนี้ แล้วคุณจะบอกว่าไม่เกี่ยวหรือ คุณเขียนในรัฐธรรมนูญ"
 
ประเด็นไม่ให้ ส.ส.เป็นเลขาหรือที่ปรึกษารัฐมนตรี มาตรา 265 และห้ามแทรกแซงการปฏิบัติราชการตามมาตรา 266 วรเจตน์เห็นว่าเป็นประเด็นปลีกย่อย
 
ปัญหาอยู่ที่การตีความหรืออยู่ที่เขียนรัฐธรรมนูญ
"อยู่ที่รัฐธรรมนูญด้วย แต่ก็เป็นปัญหาเรื่องการตีความเหมือนกัน คุณเขียนแบบนี้ในบรรยากาศอีกลักษณะหนึ่งการตีความก็อาจจะเป็นอีกอย่าง ก็เป็นไปได้ แต่พอเขียนแบบนี้คนกลัวกันหมด เพราะมันอาจจะตายน้ำตื้น"
 
อย่างมาตรา 266 ถ้าทำหน้าที่ ส.ส.ไปเดินเรื่องร้องเรียนให้ชาวบ้าน ก็ไม่น่าจะถูกตีความว่าแทรกแซงการปฏิบัติราชการเพื่อผลประโยชน์ตัวเองหรือผู้อื่น
"ถูก จริงๆ มันไม่ใช่ แต่ตอนนี้ในบรรยากาศของการต่อสู้ทางการเมืองที่เอากฎหมายเป็นเครื่องมือห้ำหั่นฟาดฟันกัน ทุกตัวอักษรถูกใช้หมด เราต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน พอถูกใช้หมดมันจึงกลายเป็นเรื่องระดับรัฐธรรมนูญ เพราะคุณเขียนรัฐธรรมนูญวางเรื่องพวกนี้เอาไว้"
 
 
กฎหมายกร่อนแล้ว
 
"ถามว่าเรื่องไหนควรจะต้องแก้ ความจริงมีประเด็นในทางเทคนิคอีกหลายเรื่อง ซึ่งอธิบายความไปก็จะเห็นถึงความไม่รับกันในทางระบบของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่น การโฆษณาว่าประชาชนมีรัฐธรรมนูญ ประกันสิทธิเสรีภาพที่ดี เพราะประชาชนสามารถจะไปฟ้องร้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ในมาตรา 212 ก็เป็นการเขียนที่ผิดพลาดในทางระบบ จริงๆ ทำไม่ได้หรอก เพราะโดยกลไกรัฐธรรมนูญเขียนมาก็ไม่มีที่ใช้ วันนี้คุณไปฟ้องสิ ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำฟ้องบอกไม่เข้าเงื่อนไข คุณเขียนล็อกเอาไว้เอง"
 
"หรือกระบวนการตรวจสอบความชอบรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ที่คุณมีทั้งระบบตรวจสอบก่อนและหลังประกาศใช้กฎหมาย มันก็ซ้ำซ้อนกัน มีประเด็นปัญหาที่ถามกัน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งบังคับให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องตรวจสอบทุกฉบับ ศาลรัฐธรรมนูญตรวจแล้วบอกไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ครั้นเอามาใช้แล้วมีคนเห็นว่าขัด ถามว่าจะฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้อีกไหม เป็นฟ้องซ้ำหรือเปล่า นี่ก็ยุ่งอีก"
 
"พวกนี้เป็นปัญหาในทางเทคนิคที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญปี 2550 แน่นอนรัฐธรรมนูญ 2540 ที่วิพากษ์วิจารณ์กันก็มีบางเรื่องที่แก้ เช่น ข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องวิธีพิจารณา ผมเคยวิจารณ์มานานแล้วว่าให้ศาลทำเองไม่ได้ อันนี้เขาก็เขียนให้สภาเป็นคนทำ ก็ถูกต้องตามหลัก แต่มันมีเรื่องอื่นๆ ที่ทำเข้ามาใหม่ อาจจะด้วยความหวังดีของคนทำรัฐธรรมนูญ แต่พอทำเข้ามาแล้ว โดยเหตุที่ไม่ได้ศึกษากันอย่างรอบคอบ ก็เกิดเป็นปัญหาทางเทคนิคตามมา มันก็ทำให้กฎหมายตอนนี้วุ่นวาย สอนกฎหมายก็สอนยาก มันต้องสอนในแง่ของการชี้ให้เห็นหลักและก็ดูว่ารัฐธรรมนูญของเราเป็นอย่างไร มากกว่าที่จะสอนรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นคุณค่าเป็นพื้นฐานที่ทุกคนยอมรับนับถือ"
 
ที่น่าคิดคือปัญหาทางเทคนิคเหล่านี้เวลาเอาไปทำประชามติ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วย
"ประชามติคราวที่แล้วนับว่าเป็นประชามติอย่างไร นี่ไม่ใช่เพราะผมแพ้นะ ผมเห็นแล้วโดยบรรยากาศมันไม่ชนะ มันแพ้แหงๆ อยู่แล้ว แต่อย่างน้อยก็ได้พยายามชี้ให้เห็นว่าเป็นอย่างไร คนที่บอกว่ารับๆ ไปก่อนแล้วค่อยแก้ วันนี้เป็นอย่างไรกันบ้างล่ะแต่ละคน"
 
ตอนนี้ก็เถียงกันว่าจะทำประชามติหรือจะแก้โดยสภา
"ภายใต้บรรยากาศแบบนี้มันไม่แก้ปัญหาอะไรเลย มันก็เป็นการเล่นการเมืองกันไป มันเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ในระดับพื้นฐานของเรา มันไม่แก้ปัญหาอะไร ผมถึงบอกว่าผมขี้เกียจให้สัมภาษณ์เรื่องนี้"
คือจะแก้ 6 ประเด็น จะทำประชามติหรือไม่ก็ไม่ได้ช่วย
"ไม่ได้ช่วยอะไรอย่างที่ควรจะช่วย ก็จะเสียเงิน ก็ทำไปเหอะ ผมไม่คิดว่ามันจะช่วยอะไร คือประชามติไม่ใช่ทำเป็นเรื่องเล่นๆ มันเป็นเรื่องซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดแล้วของปวงชน เวลาทำมันไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือทำกันเล่นๆ แต่ให้มีความศักดิ์สิทธิ์ ให้มีหลักมีฐาน ให้เขามีทางเลือก ให้เขาได้ตัดสินใจ ทำแล้วก็จะได้ยอมรับกติกานั้น แต่มันจะต้องผ่านเรื่องหลักการมาก่อน อาจจะเถียงกันในเรื่องความเห็นที่แตกต่าง แต่หลักเหมือนกัน เช่น เคารพหลักประชาธิปไตยเหมือนกัน ระบบเลือกตั้งอาจจะเหลื่อมกันนิดหน่อยว่าจะเอาแบบไหน อันนี้อาจจะต่างกันได้ แต่วันนี้ผมไม่คิดว่าเราผ่านในลักษณะแบบนั้น เพราะความคิดพื้นฐานไม่ตรงกัน"
 
"วันนี้นักการเมืองของเราถูกทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับด้วย แน่นอนนักการเมืองก็มีส่วน ผมไม่ได้ปฏิเสธบทบาทตัวนักการเมือง แต่ปัญหาที่ผมเห็นและคิดว่ามันยุ่งยาก คือนักการเมืองด้วยกันเอง ไม่ทำให้ตัวสถาบันนักการเมืองดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน คุณต้องคิดพ้นไปจากพรรคของตัว แต่คิดถึงตัวคุณค่าที่เป็นพื้นฐานในทางประชาธิปไตย พอไปถึงตรงนั้นแล้วคุณต้องทิ้งเรื่องของพรรค คุณต้องมายืนอยู่ในจุดนั้นตรงจุดเดียวกันทุกพรรค ถ้ามีอะไรที่มันเป็นนอกระบบมาคุณต้องปฏิเสธ และคุณก็สู้กันในเชิงระบบ แต่ไม่ใช่คุณฉวยเอาตรงนั้นมาและใช้ในทางการเมืองเป็นประโยชน์ของตัวเอง"
 
มองอีกอย่างการให้ทำประชามติก็ไม่แฟร์ เพราะตอนแรกที่ตั้งกรรมการสมานฉันท์ก็จะให้ร่างเพื่อแก้ไขในสภาไม่กี่ประเด็น
"เรื่องประชามติถ้าพูดกันในทางตัวรัฐธรรมนูญเองก็เป็นปัญหา เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยกลไกของมัน ซึ่งผ่านการออกเสียงประชามติมาแล้วนะ ถ้าจะเอาอันนี้กลับไปยัน เขากำหนดกระบวนการแก้ไขไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ตอนทำประชามติคุณก็เขียนเอาไว้ว่าจะแก้ไขได้ด้วยวิธีการอะไร แล้วทำไมเวลาจะแก้ไข คุณไม่ทำตามวิธีการที่เขียนเอาไว้ซึ่งผ่านประชามติแล้วล่ะ ถ้าพูดแบบนี้ก็พูดได้เหมือนกัน เพียงแต่ประชามติครั้งที่แล้วในทางคุณค่าไม่ได้สูงส่งอะไรมากมาย ผมถึงไม่ค่อยอยากเอาเหตุผลนี้มาแย้ง"
 
"มิหนำซ้ำตอนที่จะรับร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ร่างรัฐธรรมนูญยังบอกอีกว่ารับไปก่อน หลีกเลี่ยงรัฐธรรมนูญ คมช. แล้วพอรับไปแล้วก็ใช้ไปและก็แก้ และก็กำหนดกระบวนการแก้เอาไว้ พอครั้นเขาจะแก้ตามกระบวนการที่คุณกำหนดเอาไว้ คุณบอกห้ามแก้ ถ้าแก้ต้องลงประชามติ มันก็กลับไปกลับมา หาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้เลยบ้านเมือง"
 
ถ้าจะลงประชามติก็ควรร่างใหม่ทั้งฉบับใช่ไหม
"ถ้าลงประชามติก็ทำมาทั้งฉบับเลย และมาเทียบกับ 2550 ให้เขาเลือก คุณจะเอาอันนี้หรือเอาที่ยกร่างขึ้นมาใหม่"
 
บางคนบอกให้เทียบ 2540
"ก็แล้วแต่ แต่ผมคิดว่า 2540 ก็ควรจะปรับ ฉะนั้นก็ทำกันอีกฉบับเลย และวัดกันเลยคุณจะเอาฉบับไหน"
 
"แต่เรื่องแก้รัฐธรรมนูญมันกลายเป็นปัญหาที่ชิงไหวชิงพริบในทางการเมืองกันไปแล้ว แม้แต่ตอนที่พลังประชาชนชนะการเลือกตั้งมาตอนแรกๆ การผลักประเด็นพวกนี้ก็ไม่ได้ทำกันจริงจัง คือเขาพยายามทำแล้วก็มีแรงต้าน เลยไม่ทำต่อ แต่คราวนี้ผมจะบอกว่าถ้ายังยืนอยู่อย่างนี้ สังคมไทยก็จะมาถึงจุดซึ่งหลีกเลี่ยงการปะทะกันลำบาก มันจะชนกันโดยรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่จะต้องชน ผมเคยพูดเอาไว้ตอนที่มีการดีเบตรัฐธรรมนูญ ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 จะนำพาประเทศไปสู่ทางตันถ้ารับ เพราะมันจะเป็นปัญหา คือตัวกติกาแบบนี้จะไม่เป็นที่ยอมรับ และที่สุดมันจะต้องแก้ และมันก็จะมีคนที่ไม่อยากให้แก้ พอรับมาแล้วจะเป็นแบบนี้ ซึ่งตอนนี้มันเป็นอย่างนั้นแล้ว คุณจะกลับได้สติกันไหมล่ะ ซึ่งผมเห็นว่ายังไม่ได้นะ"
 
6 ประเด็นก็ไม่มีประโยชน์ และจะเป็นชนวนรบกัน
"ถูกต้อง ผลที่จะได้ไม่ได้อะไร แต่มันจะทำให้คนรบกัน"
 
"ตอนนี้ก็มีคนบอกว่านักการเมืองทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง และจะไปล่ารายชื่อแก้รัฐธรรมนูญประโยชน์ทับซ้อน ผมถามว่าถ้าอย่างนั้นที่รัฐธรรมนูญเขาให้ ส.ส. สว.แก้รัฐธรรมนูญคือจะทำไม่ได้เลยใช่ไหม แปลว่ารัฐธรรมนูญแก้ไม่ได้หรือ ตีความอย่างนั้นหรือ ส่วนได้เสียนี่ตีความกันเลอะไปหมด ไม่รู้เลยว่าหลักการนี้เมื่อใช้กับฝ่ายนิติบัญญัติไม่เหมือนกับคนที่เป็นฝ่ายบริหารกับฝ่ายตุลาการ คุณไม่เข้าใจ เวลาที่ ส.ส.เขาออกกฎหมาย ถ้าบอกว่าเรื่องที่ตัวเองมีส่วนได้เสียแล้วออกไม่ได้ ส.ส.ก็เป็นประชาชนที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย อย่างออกกฎหมายเรื่องภาษี ก็ได้เสีย แต่อันนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนได้เสีย เพราะนี่เป็นการออกกฎเกณฑ์ที่มีผลทั่วไป วิธีคิดมันอีกอย่างหนึ่ง ตอนนี้มันมั่วกันมาก หยิบเอาทุกเรื่องทุกราวมาเป็นประเด็นและต่อสู้ทางการเมืองได้หมด ไม่ต้องศึกษา ไม่ต้องหาความรู้กัน ใช้ความคิดความรู้สึกของตัวตลอด ผมจึงขำมากที่บอกว่าแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะมีส่วนได้เสีย ฉะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไม่ได้ใช่ไหมเนี่ย แล้ววันหนึ่งสมมติคนที่เคลื่อนไหววันนี้อยากจะแก้ มีมาตราหนึ่งในอนาคต แต่อีกข้างเขาบอกว่าอย่าแก้นะเพราะมีส่วนได้เสีย มันไม่เจ๊งหรือประเทศ ทำกันเป็นเรื่องเด็กเล่นเลยนะ"
 
ในทางวิชาการ เรื่องทางเทคนิคบางเรื่องไม่ควรต้องทำประชามติถามประชาชนใช่ไหม สมมติเช่นการให้ตุลาการเกษียณอายุ 60 หรือ 70
"ใช่ มันเป็นเรื่องยาก ปกติเขาจะถามการตัดสินใจที่กระทบโดยตรง คือประชามติอาจจะเป็นไปได้ว่าบางเรื่องกระทบกับเขาโดยตรง เป็นกรณีที่กระทบสิทธิของเขา เวลาที่เราพูดถึงสิทธิมีส่วนร่วมในการปกครองมันก็กว้าง คือทุกเรื่องมันก็เป็นส่วนร่วมในการปกครองหมด ถามว่าเรื่องไหนทำประชามติได้ไม่ได้ มันก็แทบจะไม่มีข้อจำกัด เว้นแต่ว่าประชามติที่มันเกี่ยวกับเรื่องของตัวคน"
 
"ถ้าเป็นเรื่องเทคนิคสภาพของเรื่องมันทำประชามติไม่ได้ ผู้เชี่ยวชาญต้องเป็นคนบอก แต่ถามหลักการได้ เป็นการตัดสินใจในทางหลักการ เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ถามหลักการทั่วไปได้ เราต้องคิดว่าเวลาทำประชามติ ในประชามติที่เป็นสากลมันต้องมีการรณรงค์ 2 ฝ่าย แล้วประชาชนจะได้เรียนรู้จากการรณรงค์ว่าตัวเองเห็นไปในทิศทางไหน และตัดสินใจ เรื่องเล็กๆ น้อย เรื่องทางเทคนิค ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปถามประชาชน เพราะว่าความชอบธรรมทางการปกครองสามารถผ่านตัวแทนได้ ผู้แทนเขาก็ทำได้ แต่ถามว่ามีการห้ามเอาไว้ไหม ไม่มี ก็เป็นเรื่องดุลยพินิจ"
 
"แต่อย่างที่บอกว่าประชามติครั้งนี้เป็นเรื่องทางการเมือง มันปฏิเสธไม่ได้ มันหมายถึงเรื่องระยะเวลาในการอยู่ในตำแหน่งของรัฐบาล หลายเรื่องพันกันอยู่ แต่คำถามคือถ้าเราพยายามเอาตัวเองออกมาจากความขัดแย้ง แล้วมองว่าตกลงได้อะไร ถามว่ามันจะยุติความขัดแย้งไหม เพราะประเด็นที่ขัดแย้งกันไม่ได้อยู่ที่ตรงนี้ ในสังคมไทยวันนี้มันลึกไปกว่านั้น มันก็ได้แต่เคลื่อนเวลาความขัดแย้งเรื่อยๆ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าจะรอวันที่ไปแตกหักกันเมื่อไหร่ ในเหตุปัจจัยอะไร แต่ว่ามันกำลังเดินไปสู่ทิศทางแบบนั้น ถ้ายังสัมผัสกับสภาพสังคมไทยอยู่บ้างทุกคนก็เห็น"
 
"ผมเคยเสนอ พอเลือกตั้งจบแล้ว ให้เริ่มกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญเสีย จะได้สลัดคราบของ คมช.ไปให้หมด คราบของการรัฐประหารที่เกาะรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ออกไป แต่ในทางปฏิบัติก็ยาก เพราะอย่างที่บอกรัฐประหารไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย มันมีแต่ทำให้ความร้าวฉานลึกลงไปอีกในสังคมไทย เราใช้วิธีที่ผิดในเชิงการแก้ปัญหา แต่ตอนนี้หลายคนก็ยังยืนยันว่าที่ทำมามันถูก ถ้าถูกมันไม่เป็นแบบนี้หรอก เราคงไม่มายืนอยู่ในจุดที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันต่อไปอย่างนี้หรอก มันคงจบไปแล้ว นี่เพราะมันผิด"
 
การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับคงเป็นไปไม่ได้ กฎหมายช่วยอะไรไม่ได้แล้วใช่ไหม
"ผมคิดว่าช่วยไม่ได้ มันเลยไปแล้ว อาจจะมีความรู้สึกว่าเป็นนักกฎหมายทำไมพูดอย่างนี้ แต่เราสร้างปมขึ้นมา ขมวดกันจนยุ่งเหยิงขนาดนี้ ผมเห็นว่าเลยมาแล้ว ผมก็นั่งดูแล้วครับตอนนี้ ผมไม่คิดว่าจะเปลี่ยนอะไรกันได้ หลังจากที่เห็นมาช่วง 2 ปี การวินิจฉัยขององค์กรต่างๆ"
 
ต่อให้แก้รัฐธรรมนูญแบบไหนก็ช่วยไม่ได้
"มันก็จะไปไม่ได้เพราะมันยังแตกกันอยู่แบบนี้ แปลว่าเราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะหักเลี้ยวออกไปทางไหนอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือในสภาพสังคมที่มันมีกำลังกันอยู่แบบนี้ ทั้ง 2 ทาง และภายใต้ความคิดพื้นฐานที่ต่างกันอย่างนี้ อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้เสมอ"
 
กฎหมายแก้ปัญหาประเทศไทยวันนี้ไม่ได้แล้ว?
 "มันถูกใช้จนมันสึกกร่อนไปหมดแล้ว ตอนนี้ก็ดูไป เว้นแต่จะมีปาฏิหาริย์ว่ากลุ่มผลประโยชน์ยอมถอย กลับมาคิดว่าทิศทางของแต่ละสถาบัน แต่ละองค์กรที่ควรจะอยู่ คิดกันได้เอง ก็เป็นไปได้ แต่ผมยังมองไม่เห็นทางเลย เพราะว่าประโยชน์มันเยอะ มันมหาศาล ไม่มีใครยอมใคร".
 
 
 
 
 
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันพุธที่ 21 ตุลาคม 2552 ฉบับพิเศษขึ้นปีที่ 14

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net