Skip to main content
sharethis

สภาการหนังสือพิมพ์-สมาคมนักข่าวจัดประชุมระดมสมอง มีการเสนอให้หมุนเวียนนักข่าวรายงานการชุมนุม เพราะเกรงนักข่าวฟังการปราศรัยทุกวันจนซึมเข้าหัว จะได้รับอันตรายและตกเป็นเครื่องมือโดยไม่รู้ตัว

 วันนี้ (27 เม.ย.53) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดการประชุมระดมความเห็นเรื่อง “บทบาทหนังสือพิมพ์ในภาวะวิกฤตประเทศ” โดยเชิญที่ปรึกษาและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับหลักๆ เข้าร่วมพร้อมทั้งมีผู้แทนสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสมาคมนัก ข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เข้าร่วมด้วย

นายพรชัย ปุณณวัฒนาพร เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีข้อเสนอที่หลากหลายทั้งข้อเสนอต่อองค์กรวิชาชีพ และข้อเสนอต่อหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ อาทิ การตอกย้ำให้หนังสือพิมพ์ยืนยันในหลักการของเสรีภาพสื่อและการไหลเวียนของข่าวสารโดยเสรี โดยต้องไม่ปล่อยให้ข่าวลือเข้ามาปิดกั้นครอบงำ ขณะเดียวกัน องค์กรวิชาชีพสื่อต้องแสดงออกถึงความห่วงใยต่อการปิดกั้นข่าวสารของรัฐบาล แต่มีข้อยกเว้นกรณีที่สื่อนั้นยุยงให้เกิดคนเกลียดชังกันและนำไปสู่ความรุนแรง รวมถึงความห่วงใยที่มีต่อการคุกคามนักข่าวในรูปแบบต่างๆ ระหว่างที่มีเหตุวิกฤตทางการเมือง

เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้องค์กรวิชาชีพสื่อเสนอหลักการปฏิบัติต่อสื่อของคู่ขัดแย้งในลักษณะที่ยอมรับร่วมกัน พร้อมทั้งชี้ให้เห็นจุดอ่อนการทำงานของนักข่าวไทยในการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง นอกจากนี้ ยังควรเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพการทำหน้าที่ของสื่อ รวมทั้งควรเรียกร้องให้สมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่อปฏิบัติงานโดยวางตัวเป็นกลาง และทำหน้าที่อย่างมืออาชีพ เพื่อเป็นองค์กรหลักของสังคมประชาธิปไตย และหากเป็นไปได้สื่อควรตรวจสอบตัวเองว่าได้ทำหน้าที่ครบถ้วนแล้วหรือไม่

“บรรณาธิการอาวุโสบางคนบอกว่า สื่อควรเรียกร้องให้คู่ขัดแย้งแก้ไขปัญหากันด้วยการเจรจา เพราะหากไม่เจรจาก็อาจนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ซึ่งทุกคนไม่ปรารถนาให้เกิดขึ้น ดังนั้น องค์กรสื่อและสื่อทั้งหลายต้องย้ำในเรื่องสันติวิธี และที่น่าเป็นห่วงคือ สื่อที่สร้างความเกลียดชัง ปลุกระดมให้คนโกรธและพร้อมที่จะใช้ความรุนแรง ดังนั้นสื่อต้องมีขันติ อดทนอดกลั้นต่อความเห็นที่แตกต่างกัน” นายพรชัยกล่าว

นายพรชัย กล่าวด้วยว่า บรรณาธิการหนังสือพิมพ์อาวุโสหลายคนเสนอว่า หากสื่อยึดมั่นในจริยธรรม ก็ไม่มีปัญหาในการรายงานข่าว แต่หากมีอคติ การทำหน้าที่ก็จะแปลกแยกไป จึงต้องช่วยกันตรวจตราไม่ให้ข้อเขียนหรือข่าวที่เต็มไปด้วยอคติหรือผลประโยชน์ส่วนตัวถูกนำเสนอออกมา ทั้งนี้ การสื่อสารที่ดี ต้องมีอคติน้อยที่สุด มุ่งไปสู่การลดความรุนแรง ไม่กระพือข่าวลือ ควรกลั่นกรองมิให้มีการพาดหัวข่าวที่ใช้คำรุนแรงกล่าวหากัน ที่สำคัญคือ สื่อควรยึดความเป็นมืออาชีพให้เหนียวแน่น

“แม้การค้นหาความจริงในปัจจุบันทำได้ยาก แต่จำเป็นต้องทำ เพื่อช่วยลดความขัดแย้งลง ซึ่งต้องทำด้วยความไม่มีอคติ โดยต้องเปิดพื้นที่ให้กลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึง และไม่เน้นเฉพาะคู่ขัดแย้งอย่างเท่าเทียมกัน องค์กรวิชาชีพสื่อสามารถเสริมเรื่องข้อเท็จจริงได้โดยการนำข้อเท็จจริงจาก นักข่าวมานำเสนอ อาจส่งเสริมเรื่องนี้ให้มากขึ้น และควรร่วมกับองค์กรด้านวิชาการติติงสมาชิกที่ไม่ทำหน้าที่ตามหลักวิชาชีพ อย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ยังข้อเสนอให้เร่งรัดเรื่องการปฏิรูปสื่อทั้งในด้านกฎหมายและสร้างกลไกการ ตรวจสอบกันเองให้เข้มแข็งขึ้น” เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวในที่สุด

นายพรชัย กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังมอบหมายให้ 4 องค์กรวิชาชีพ ได้แก่ สภาการหนังสือพิมพ์ฯ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จะหารือร่วมกันต่อไปในการกำหนดท่าที ทิศทางและการแสดงบทบาทของสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ และสื่ออื่นๆ ท่ามกลางภาวะวิกฤตความขัดแย้งทางความคิดเห็นของผู้คนในสังคม เพื่อให้สังคมได้กลับคืนสู่ความปกติสุขดังเดิม

 

เสนอหมุนเวียนนักข่าวทำข่าวผู้ชุมนุม เกรงฟังข้อมูลทุกวันจนเกิดหลงเชื่อ

เดลินิวส์ออนไลน์รายงานว่า การประชุมดังกล่าวมีนายปราโมทย์ ฝ่ายอุประ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นประธาน และมีผู้แทนจากสื่อมวลชนหนังสือพิมพ์ทุกฉบับมาร่วมประชุมหารือ โดยส่วนใหญ่แสดงความเป็นห่วงถึงบทบาทการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ที่ต้องการให้นำเสนอข่าวอย่างเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รวมทั้งความเป็นห่วงนักข่าวภาคสนามที่ทำข่าวการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่อาจจะได้รับอันตรายและตกเป็นเครื่องมือหลงเชื่อโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากนั่งฟังทำข่าวทุกวันจนซึมเข้าหัวทุกวัน จึงเสนอให้มีการหมุนเวียนนักข่าวที่เข้าไปทำข่าวการชุมนุม 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ที่ประชุมยังแสดงความเป็นห่วงในเรื่องต่างๆ อาทิ สันติภาพที่ไม่ใช้ความรุนแรง สื่อต้องมีเสรีภาพในการนำเสนอควบคู่ไปกับความรับผิดชอบและจริยธรรม สื่อต้องมีความยุติธรรม นำเสนอความจริงที่เกิดขึ้น ไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และสื่อต้องมีนิติรัฐ โดยเห็นว่าต้องใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสในการปฏิรูปสื่อเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และไม่ให้สื่อมวลชนตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือเป็นผู้รับใช้โดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ยังเห็นว่าสื่อควรจะช่วยกัน สิ่งไหนไม่ถูกต้องก็ช่วยกันแก้ไข เชื่อว่าเมื่อสื่อชี้นำไปรัฐบาลจะฟังข้อเสนอของสื่อ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net