Skip to main content
sharethis

“ครูหยุย - ครูแดง – หมอตุลย์ - แทนคุณ” นำทีม ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกรัฐสภา ให้ยับยั้งการใช้เอกสิทธิ์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายจตุพร พรหมพันธ์ โดยไม่มีเงื่อนไข เพราะทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย โทษถึงประหารชีวิต

23 พฤกษภาคม 2553

เรียน สมาชิกรัฐสภา
เรื่อง การใช้เอกสิทธิ์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายจตุพร พรหมพันธ์

จากกรณีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ซึ่งได้กระทำการอันเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 11 (1) ตามหมายจับที่ ฉฉ 8-24/2553 ลงวันที่ 8 เมษายน 2553 โดยมีผู้ต้องหาทั้งหมด 17 ราย

ปรากฏว่าในหมายจับดังกล่าวกลับไม่มีชื่อของนายจตุพร พรหมพันธ์ แกนนำ นปช. คนสำคัญ โดยเหตุที่นายจตุพรดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคเพื่อไทย มีสถานะเป็นสมาชิกรัฐสภา และได้ใช้เอกสิทธิ์คุ้มครองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา131 ด้วยเหตุว่ามีการประกาศจัดให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน พ.ศ.2554 ทำให้ไม่สามารถออกหมายจับและควบคุมตัวนายจตุพรได้นั้น ในการนี้ พวกเราซึ่งประกอบด้วยอดีตสมาชิกรัฐสภา พลเมืองผู้ที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการในวุฒิสภา นักกิจกรรมทางสังคม กลุ่มองค์กรเยาวชนที่ปรารถนาความเป็นธรรมในสังคม ได้เล็งเห็นว่าการใช้เอกสิทธิ์พิเศษดังกล่าวของนายจตุพร พรหมพันธ์ เป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เนื่องจากว่าเป็นการกระทำความผิดขั้นร้ายแรงตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อีกทั้งยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 135/1 และ135/2ซึ่งเป็นความผิดฐานก่อการร้าย มีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต อีกทั้งการกระทำความผิดของนายจตุพร พรหมพันธ์ นั้นยังได้ปรากฏชัดเจนต่อสาธารณะชนในประเทศและในระดับนานาชาติว่า เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศไทย ทั้งในด้านความปลอดภัย ชีวิตของประชาชน ทรัพย์สินของประชาชน ทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติ คุกคามความสงบสุขของบ้านเมืองจนทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะของการเกิดสงครามกลางเมือง เกิดการบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นมูลค่ามหาศาล เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของประเทศในระดับนานาชาติ อีกทั้งยังปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกในสังคมขั้นรุนแรง อันเป็นชนวนเหตุความรุนแรงในสังคมในระยะยาว พวกเราจึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. เราขอเรียกร้องให้ที่ประชุมรัฐสภาได้มีการหารือเพื่อลงมติยับยั้งการใช้เอกสิทธิ์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายจตุพร พรหมพันธ์ โดยไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากเป็นการกระทำความผิดที่สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อบ้านเมืองที่ปรากฏความผิดอย่างเด่นชัด เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานของสถาบันนิติบัญญัติที่ไม่สมควรมีสมาชิกที่จะสร้างความมัวหมอง และทำให้เกิดบรรทัดฐาน ค่านิยมที่ไม่ดีในการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง

2. เราขอเรียกร้องนายจตุพร พรหมพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะสมาชิกรัฐสภา ให้พึงสำนึกว่า การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น คือการดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรติจากการเลือกตั้งของประชาชนและได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ มีอำนาจในการพิจารณากฎหมายของประเทศ ได้รับสิทธิพิเศษ ผลตอบแทนจากภาษีของประชาชนอย่างมากมาย ดังนั้นการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีสถานะเป็นสมาชิกรัฐสภาจึงควรมีความหมายถึงการมีความรับผิดชอบที่สูงกว่าประชาชนทั่วไป

ทั้งนี้ พวกเรามีความเห็นร่วมกันว่าในอนาคตควรจะมีการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยกเลิกการมีสิทธิพิเศษที่ไม่เหมาะสม ซึ่งส่งผลกระทบต่อกระบวนการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ส่งเสริมการใช้อำนาจโดยมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำให้เกิดบรรทัดฐานการเลือกปฏิบัติและการคาดหวังผลประโยชน์ทางการเมืองในทางที่มิชอบ อันจะนำความมัวหมองมาสู่สถาบันนิติบัญญัติของชาติ

ผู้ร่วมลงนาม
 

1. นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะอดีตสมาชิกรัฐสภา
2. นางเตือนใจ กุญชร ณ อยุธยา ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะอดีตสมาชิกรัฐสภา
3. นายวรภัทร วีรพัฒนคุปต์ อดีตเลขานุการคณะทำงานส่งเสริมประชาชนในการศึกษาการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา
4. นายแสงธรรม ชุนชฎาธาร เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมภาคประชาชนมีส่วนร่วมป้องกันการทุจริตและตรวจสอบการดำเนินการของรัฐ ในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา
5. น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อนุกรรมาธิการส่งเสริมภาคประชาชนมีส่วนร่วมป้องกันการทุจริตและตรวจสอบการดำเนินการของรัฐ ในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา
6. นายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีตอนุกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชนและผู้สูงอายุ วุฒิสภา
7. นาย จิรายุ เเสงเล็ก ผู้ประสานกลุ่ม social action leader for thailand (salt)
8. นางจิรา ปานมณี
9. เครือข่ายเยาวชนฮักถิ่นลำปาง
10. เครือข่ายเยาวชนฮักถิ่นอุตรดิตถ์
11. กลุ่มเทียนส่องทาง
12. กลุ่มน้ำตาเทียน
13. กลุ่มกล้าธรรมม์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net