Skip to main content
sharethis

ในการแข่งขันฟุตบอลครั้งนี้ FIFA อนุญาตให้นำตั๋วจำนวน 40,000 ใบไว้เป็นโควตาเฉพาะสำหรับคนงานก่อสร้างสนาม ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะความเอื้ออาทรของ FIFA แต่หากเป็นเพราะวัฒนธรรมสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งของแอฟริกาใต้ และการต่อสู้มาตลอดระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก

  

เช่นเดียวกับหลายๆ ที่ในโลก แรงงานในแอฟริกาใต้ยังคงเผชิญกับปัญหาความยากจน ทั้งๆ ที่ประธานาธิบดี Jacob Zuma เคยได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะแก้ปัญหาความยากจนในแอฟริกาให้ได้ภายใน 15 ปี นับจากการสิ้นสุดของการแบ่งแยกสีผิว โดยชาวแอฟริกาใต้ 43% มีรายได้ไม่ถึงวันละ 2 ดอลลาร์
ในช่วงการก่อสร้างสนามเพื่อเตรียมความพร้อมการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2010 สหพันธ์แรงงานสากลในกิจการก่อสร้างและคนงานไม้ (Building and Wood Workers' International : BWI) และสหภาพแรงงานในภาคก่อสร้างของแอฟริกาใต้ ได้จัดให้มีการรณรงค์ส่งเสริมการทำงานที่ดี และการต่อสู้เพื่อสิทธิที่มีต่อการทำงาน ต่อรองเรื่องสิทธิในเรื่องของค่าตอบแทน การลดอุบัติเหตุในการทำงาน สุขภาพของคนงาน รวมถึงการปรับปรุงสภาพในการทำงาน พัฒนาทักษะการทำงาน --  แต่ FIFA ไม่เคยร่วมกิจกรรมกับการรณรงค์นี้
การเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกของแอฟริกาใต้ ถือว่ามาถูกที่ถูกเวลาสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อประเทศกำลังประสบกับปัญหาอัตราการว่างงานถึง 46% ในขณะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตต่ำ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง

 
 
 
สนามการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 (ที่มาภาพ: propertyinvesting.net)
 
 
สนาม Ellis Park เมือง Johannesburg
ความจุ 60,000 ที่นั่ง ใช้งบประมาณในการปรับปรุง 229 ล้าน Rand (ประมาณ 19 ล้านยูโร) แรงงานในไซต์นี้ได้ค่าแรง 16 Rand (ประมาณ 1.40 ยูโร) ต่อชั่วโมง ทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน ในอดีตก่อนปรับปรุงสนามเคยเกิดโศกนาฏกรรมที่สนามแข่งขันแห่งนี้เมื่อปี 2001 ในการแข่งขันฟุตบอลภายในประเทศระหว่างทีม Kaizer Chiefs และ Orlando Pirates เนื่องจากการเบียดเสียดของแฟนบอลที่เข้ามาเกินความจุของสนาม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 43 คน
 
สนาม Soccer City เมือง Johannesburg
สนามแห่งนี้เป็นสนามหลักของการแข่งขันครั้งนี้ ใช้ในนัดเปิดและนัดชิงชนะเลิศ มูลค่าการก่อสร้าง 1.6 พันล้าน Rand (ประมาณ 140 ล้านยูโร) จุคนดูได้ถึง 97,000 คน บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างสนามแห่งนี้คือ GLTA ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Aveng Group ในโครงการร่วมทุนกับบริษัทสัญชาติดัทซ์อย่าง BAM ที่มีหุ้นอยู่ 25% โดยคนงานก่อสร้างสนามแห่งนี้ได้รับหมวกนิรภัย แว่นตาและรองเท้า ซึ่งให้ครั้งเดียวใช้ตลอดการก่อสร้างทั้งปี
 
คนงานมากกว่า 20% ของคนงานที่ไซต์ก่อสร้างนี้ เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานเหมืองแร่แห่งชาติ (National Union of Miners : NUM) แต่ทั้งนี้พบว่านายจ้างยังใช้แรงงานจ้างเหมาสัญญาชั่วคราว 1,500 คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน
 
สนาม Royal Bafokeng เมือง Rustenburg
เป็นโครงการปรับปรุงสนามมูลค่า 147 ล้าน Rand (ประมาณ 13 ล้านยูโร) อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ แถบเหมืองแร่แพลทตินัม จุคนดูได้ 45,000 คน ใช้ในการแข่งขันรอบแบ่งกลุ่ม
 
สนาม Peter Mokaba เมือง Polokwane
โครงการมูลค่า 870 ล้าน Rand (ประมาณ 75 ล้านยูโร) มีความจุ 45,000 คน ในเดือนพฤษภาคม ปี 2008 แรงงานได้ทำการหยุดงานประท้วงเพื่อขอเพิ่มค่าแรงอีก 8%
 
สนาม Mbombela เมือง Nelspruit (Mbombela)
รับเหมาปรับปรุงโดยบริษัทรับเหมา Basil Read ของแอฟริกาใต้ และ Bouygues ของฝรั่งเศส ด้วยมูลค่า 920 ล้าน Rand (ประมาณ 80 ล้านยูโร) ความจุของสนาม 46,000 คน ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2007 และเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2008 คนงานได้ทำการประท้วงกดดันเพื่อขอค่าแรงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การประท้วงของคนงานในไซต์แห่งนี้ยังเป็นแคมเปญรณรงค์โดย BWI ไปทั่วโลกอีกด้วย
 
สนาม Nelson Mandela Stadium เมือง Port Elizabeth
สนามความจุ 50,000 รับเหมาก่อสร้างโดยบริษัทแอฟริกาใต้ Grinaker และบริษัทดัทซ์ Interbeton มูลค่าการก่อสร้าง 1.2 พันล้าน Rand (ประมาณ 105 ล้านยูโร) ในเดือนเมษายน ปี 2008 คนงาน 1,200 คน ประท้วงเพื่อขอโบนัส
 
สนาม Loftus Versveld เมือง Pretoria (Tshwane)
มีความจุ 45,000 ที่นั่ง มูลค่าการปรับปรุง 98 ล้านRand (ประมาณ 8 ล้านยูโร)
 
สนาม Moses Mabhida เมือง Durban (Ethekwini)
ความจุ 70,000 ที่นั่ง รับเหมาก่อสร้างโดยบริษัท WBHO, Group 5 และ Pandev ด้วยมูลค่า 1.9 พันล้าน Rand (ประมาณ 165 ล้านยูโร)
 
สนาม Free State เมือง Bloemfontein (Mangaung)
สนามความจุ 45,000 ที่นั่ง มูลค่าการปรับปรุง 245 ล้านRand (ประมาณ 20 ล้านยูโร) แห่งนี้ คนงานเคยประท้วงถึง 5 ครั้ง ในเดือนธันวาคม ปี 2007 หนึ่งครั้ง ในเดือนมกราคม ปี 2008 สามครั้ง และอีกหนึ่งครั้งในเดือนมีนาคม ปี 2008 แรงงานส่วนใหญ่ถูกว่าจ้างด้วยสัญญาระยะสั้นโดยบริษัทเหมาค่าแรง ได้ค่าแรงต่ำ 8 Rand (ประมาณ 0.70 ยูโร) ต่อการทำงานหนึ่งชั่วโมง
 
สนาม Green Point เมือง Cape Town
ใช้ในการแข่งขันรอบแบ่งกลุ่มและรอบรองชนะเลิศ สามารจุคนดูได้ 70, 000 คน มูลค่าการก่อสร้าง 3.7 พันล้าน Rand (ประมาณ 310 ร้อยล้านยูโร) มีผู้รับเหมาคือ บริษัท Murray & Roberts และบริษัท WBHO โดยในไซต์ก่อสร้างที่นี่มีคนงานเสียชีวิต 3 คน
 
 
 
การปรับปรุงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานรวมถึงการสร้างสนามฟุตบอลแห่งใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกได้กระตุ้นภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างขึ้นมา ในปี 2006 ภาคก่อสร้างของประเทศมีอัตราการเจริญเติบโตถึง 13.3% ซึ่งเป็นอัตราการเจริญเติบโตมากที่สุดของทุกภาคอุตสาหกรรม
ในการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพครั้งนี้มีแรงงานอย่างน้อย 3 คนเสียชีวิตจากการทำงาน พวกเขาได้รับค่าแรงเพียงเดือนละ 2,500 Rand (ประมาณ 313 ดอลลาร์สหรัฐ) คนงานกว่า 70% ได้สัญญาทำงานระยะสั้นถูกหักหัวคิวผ่านนายหน้าและบริษัทจ้างเหมาช่วง ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน
ขณะที่บรรษัทก่อสร้างมีอัตรากำไรที่เพิ่มขึ้นถึง 218% ในปี 2007และเมื่อเทียบรายได้ของ CEO ของบริษัทรับเหมาก่อสร้างสนามกับคนงานก่อสร้าง พบว่าคนงานทั่วไปจะต้องทำงานถึง 139 ปี ส่วนแรงงานที่มีฝีมือจะต้องทำงานถึง 56 ปีถึงจะได้เท่ากับรายได้ของ CEO บริษัทรับเหมาก่อสร้างที่นั่งทำงาน 1 ปี
 

ค่าใช้จ่ายของคนงานในแอฟริกาใต้นั้น ประมาณการได้ดังนี้
·         ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย 800 Rand ต่อเดือน
·         เฉลี่ยค่าอาหารในแต่ละวัน
o    ไก่ 1 ก.ก. ราคา 26.99 Rand
o    กล้วย 1 ก.ก. ราคา 9.29 Rand
o    ข้าว 1 ก.ก. ราคา 5.80 Rand
o    น้ำมันดอกทานตะวัน 1 ลิตร ราคา 14.99 Rand
o    กระดาษชำระ 4 ม้วน ราคา 22.99 Rand
 
การประท้วงของแรงงานในแอฟริกาใต้มีข่าวควบคู่กันมาอย่างต่อเนื่องในการเตรียมตัวเพื่อเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก โดยขบวนการแรงงานได้อาศัยการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในครั้งนี้เป็นจังหวะสำคัญในการเกาะกระแสให้คนสนใจประเด็นแรงงานในแอฟริกาใต้ควบคู่กันไปด้วย
ในปี 2007 คนงานในแอฟริกาใต้หยุดงานประท้วง ด้วยสาเหตุที่ว่าการทำงานหนักทำให้แรงงานชายหมดเรี่ยวแรงในการมีเซ็กส์กับภรรยาที่บ้าน โดยในปีนั้นลูกจ้างภาครัฐในแอฟริกาใต้ได้เริ่มเจรจากับรัฐบาลเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงเป็นครั้งแรกนับจากปี 2004
8 ก.ค. 2009 คนงานก่อสร้างสนามฟุตบอลกว่า 70,000 คนประท้วงหยุดงานเพื่อขอค่าจ้างเพิ่ม โดยคนงานเรียกร้องขอขึ้นค่าจ้าง 13% จากค่าจ้างเฉลี่ยเดือนละ 2,500 Rand นอกจากนี้คนงานยังได้เรียกร้องสิทธิต่างๆ เช่น การลาหยุด และการจ่ายค้าจ้างในวันที่ต้องหยุดงานเพราะสภาพอากาศไม่ดี
ในปีเดียวกันนี้แรงงานภาครัฐกว่า 150,000 คน หยุดงานประท้วง มีการเดินขบวนรณรงค์ในกรุง Johannesburg, Cape Town และเมืองใหญ่อีกหลายแห่ง โดยได้แรงงานภาครัฐเหล่านี้ได้เรียกร้องเพิ่มค่าแรงขึ้น 15% หลังจากอัตราเงินเฟ้อทะยานขึ้นสูงเป็น 13.7% เมื่อปี 2008 ขณะที่ราคาน้ำมันและอาหารก็พุ่งสูงขึ้นมาก แม้ว่าในปี 2009 อัตราเงินเฟ้อจะลดลงเหลือ 8.0% แล้วก็ตาม ม็อบแรงงานเสื้อแดงซึ่งเป็นชุดของสหภาพแรงงานคนทำงานภาครัฐ (SAMWU) ได้เดินขบวนไปตามท้องถนน ก่อนจะยื่นหนังสือเรียกร้องต่อนายกเทศมนตรี ขณะที่มีการตัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าไปในเมืองเพื่อเป็นการประท้วง
ทั้งนี้สำหรับการหยุดงานประท้วงของแรงงานที่สร้างสนามฟุตบอลโลกก็มีถึง 26 ครั้ง ในไซต์ก่อสร้างต่างๆ
ล่าสุดระหว่างการแข่งขัน (14 มิ.ย. 53) ตำรวจได้ใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมของบรรดาเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกว่า 500 คนที่ประท้วงที่สนาม Moses Mabhida ที่เมือง Durban หลังจากเกมส์การแข่งขันระหว่างเยอรมันกับออสเตรเลีย
ทั้งนี้กลุ่มพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ออกมาประท้วงนั้น ได้เปิดเผยว่าพวกเขามารวมตัวกันที่สนามเพื่อแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับค่าแรงที่พวกเขาได้รับเงินไม่ตรงตามข้อตกลงที่ตกลงกันไว้ที่ 1,500 Rand ต่อวัน แต่พวกเขาได้รับเงินเพียง 190 Rand เท่านั้น ผู้ประท้วงหลายคนได้โบกซองจดหมายสีน้ำตาลซองเล็กที่ใส่ค่าแรงของพวกเขาไปมา ขณะที่คนอื่นๆ บอกว่าพวกเขาถูกทิ้งอยู่ที่สนาม หลังจบแมตช์และต้องเดินกลับบ้านเป็นเวลานานถึง 4 ชั่วโมง โดยบอกว่าไม่มีการจัดหาพาหนะรับส่งไว้ให้พวกเขาด้วย
ตำรวจถูกเรียกมาสลายการชุมนุม มีการเตรียมหามาตรการป้องกันการประท้วงระหว่างการแข่งขันในแมตซ์ต่อๆ ไป หลายฝ่ายออกมาตำหนิการประท้วงครั้งนี้เพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของนักกีฬาและแฟนบอลจากต่างประเทศ
และนี่คืออีกหนึ่งชะตากรรมของคนเบื้องหลังฟุตบอลโลกหนนี้!
 แหล่งข้อมูล:
Police clash with workers in first unrest (Mail & Guardian, 2010-06-14)
International Labour Conference (ILC) - FIFA drives an Unfair Globalization by violating Workers’ Rights (bwint.org, เข้าดูเมื่อ 14 มิ.ย. 2010)
Decent work – Fair Play for All Teams About the Decent Work project in the run up to the FIFA World Cup in South Africa 2010 (bwint.org, เข้าดูเมื่อ 14 มิ.ย. 2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/2010_FIFA_World_Cup (เข้าดูเมื่อ 14-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Soccer_City(เข้าดูเมื่อ 14-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Mbombela_Stadium (เข้าดูเมื่อ 14-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Ellis_Park_Stadium (เข้าดูเมื่อ 14-6-2010)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net