Skip to main content
sharethis

สหภาพไทรอัมพ์ฯ ติดตามข้อเรียกร้องที่ทำเนียบ ขอให้รัฐบาลช่วยนำงบกลางมาจ่ายชดเชยให้ลูกจ้างโรงงานบริลเลียนท์ที่ถูกลอยแพมานานเกือบ 1 ปี ด้านตัวแทนรัฐรับประสานหน่วยงานต่างๆ ร่วมพูดคุยกับตัวแทนแรงงานหาทางออกวันที่ 3 มี.ค. 65  

ภาพการตั้งขบวนชุมนุมของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เมื่อ 22 ก.พ. 65 (ที่มา Chana_la)

22 ก.พ. 65 ทีมสังเกตการณ์การชุมนุม หรือ Mobdata รายงานวันนี้ (22 ก.พ.) ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ถนนพิษณุโลก เมื่อเวลา 9.20 น. กลุ่มสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นขบวนการแรงงาน ตั้งขบวนประมาณ 20 คนที่หน้าโรงเรียนราชวินิต มัธยม ทั้งนี้ การชุมนุมดังกล่าว เกิดขึ้นเวลาเดียวกับการชุมนุมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ

เซีย จำปาทอง ประธานสหพันธ์สิ่งทอจังหวัดปทุมธานี และเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมชุมนุม ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เผยว่า วันนี้ทางสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เดินทางมาเพื่อติดตามข้อเรียกร้องที่เคยเรียกร้องมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่มีความคืบหน้า อย่างการขอให้รัฐบาลนำเงินจากงบประมาณกลาง หรืองบประมาณอื่นๆ มาจ่ายชดเชยให้พนักงานโรงงานบริลเลียนท์ฯ จำนวน 1,388 คน ซึ่งถูกนายจ้างต่างชาติลอยแพเกือบ 1 ปี หรือตั้งแต่ 11 มี.ค. 64 เป็นจำนวนเงินกว่า 242 ล้านบาท

“เราคิดว่า การนำงบฯ กลางมาจ่ายให้กับเราก่อน เราคิดว่าสามารถทำได้ พวกเราก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตโรคระบาด และนายจ้างก็ปิดกิจการ และนายจ้างตกงาน” 

“คนที่เป็นลูกจ้างเดือดร้อนอยู่แล้ว เนื่องจากคนที่เคยได้รับค่าจ้างทุกเดือนๆ อยู่มาวันหนึ่ง มีการปิดกิจการกะทันหัน และไม่ได้รับค่าจ้าง จะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน ซื้อของ ซื้อข้าวกินในแต่ละมื้อ ๆ จำเป็น ลูกต้องเรียนหนังสือ บ้านก็ต้องผ่อน บางคนก็ต้องผ่อนบ้าน บางคนต้องผ่อนรถ บางคนไม่ได้ผ่อนบ้าน ก็ต้องจ่ายค่าเช่า เดือดร้อนกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 เรามีค่าใช้จ่ายต้องจ่ายมากขึ้น เช่น ต้องซื้อยา ต้องซื้อที่ตรวจ ต้องซื้อผ้าปิดจมูก ต้องซื้อเจลแอลกอฮอล์ มันมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นกว่าสถานการณ์ปกติ” เซีย กล่าว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บรรยากาศการชุมนุม (ที่มา Chana_La)

นอกจากนี้ ทางสหภาพฯ ต้องการทวงถามถึงความคืบหน้ากับ เสกสกล อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ได้รับเรื่องการตามจับนายจ้างต่างชาติที่ลอยแพลูกจ้างโรงงาน เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างไม่ให้นายทุนกล้าทำแบบนี้อีก

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนรัฐบาลที่มารับหนังสือวันนี้กลับไม่สามารถแจ้งความคืบหน้าว่าตอนนี้รัฐบาลทำงานไปถึงไหนอย่างไร ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ดังนั้น ตัวแทนรัฐบาลจึงนัดตัวแทนสหภาพแรงงาน จำนวน 10 คน ไปประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 2 มี.ค. 65 เวลา 13.00 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กับตัวแทนภาครัฐหลายฝ่าย เช่น สำนักเลขานายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงแรงงาน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกลาง สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกระทรวงการต่างประเทศ

ตัวแทนภาครัฐจะมาชี้แจงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เช่น กระทรวงต่างประเทศจะมาชี้แจงว่า มีการประสานงานติดตามเอาผิดกับนายจ้างต่างชาติที่ลอยแพลูกจ้างโรงงานรึยัง หรือทางสำนักงบประมาณจะมาชี้แจงว่า จะสามารถดึงเงินจากงบประมาณกลาง จำนวน 242 ล้านบาท มาจ่ายให้ลูกจ้างที่ถูกลอยแพก่อนได้หรือไม่ เพราะพวกเขาลำบากมากตอนนี้ หลังจากนั้น รัฐบาลไปตามกับนายจ้างอีกที 

“เคยถามกับกระทรวงแรงงานกับประเด็นนี้แล้ว แต่ว่ายังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนว่ายังไง และพอไปถามสำนักงบประมาณ ก็บอกว่าส่งเรื่องมาที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทราบแล้ว เหมือนกับโยนกันไปโยนกันมา” เซีย กล่าว

ประธานสหพันธ์สิ่งทอ ปทุมธานี เผยหลังจากเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐว่า พอใจผลการเจรจาในระดับหนึ่ง เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะประสานหน่วยงานต่างๆ มาร่วมพูดคุยกับพวกเราโดยตรง ซึ่งผู้ชุมนุมคาดหวังว่าจะได้เห็นความชัดเจนเรื่องการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถ้าผลเจรจาออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจ ทางสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ จะออกมาชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 11 มี.ค. 65 ครบรอบ 1 ปีลูกจ้างโรงงานบริลเลียนท์ถูกลอยแพ 

ก่อนหน้านี้ แกนนำสหภาพแรงงานฯ ถูกดำเนินคดีจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากการชุมนุมเมื่อปีที่แล้ว ประมาณ 6 คน ซึ่งเซีย ทิ้งท้ายว่า พวกเขาทุกคนมีความกังวลอยู่บ้างว่าจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายดำเนินคดีตามมาหลังออกมาเรียกร้องที่ทำเนียบ แต่มันไม่มีทางเลือก เพราะที่ผ่านมา เรารอ บางคนไม่ได้งาน บางคนไปทำงานได้ไม่กี่วันก็ต้องออก เพราะว่าส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิงที่อายุเยอะแล้ว อายุ 50 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้ สำหรับบรรยากาศการทำกิจกรรมวันนี้เป็นไปได้ด้วยดี แม้ว่าจะมีการชุมนุมที่ถนนพิษณุโลกกันหลากหลายกลุ่ม ขณะที่การรักษาความปลอดภัยที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่มีการนำรั้วเหล็กมาปิดกั้นจราจรตั้งแต่แยกพาณิชยการไปจนถึงสะพานชมัยมรุเชฐ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินผ่าน รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน และตำรวจเครื่องแบบสีกากี ร่วมรักษาความปลอดภัยบริเวณแนวรั้วดังกล่าว 

(บน-ล่าง) บรรยากาศการชุมนุมของสหภาพไทรอัมพ์ เมื่อ 22 ก.พ. 65 (ที่มา Chana_La)


ภาพบรรยากาศรักษาความปลอดภัยที่หน้าทำเนียบ เมื่อ 22 ก.พ. 65 (ที่มา iLaw)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net