ไม่มีสหภาพแรงงาน ไม่มีประชาธิปไตย: มอง ‘สหภาพแรงงาน’ ผ่านสายตาคนเดือนตุลา

ทวีป กาญจนวงศ์ และ ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา อดีตคนเดือนตุลาที่มีส่วนร่วมในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและขบวนการแรงงาน กล่าวตรงกันว่าต้องมีการรวมตัวกันของคนส่วนใหญ่เป็นขบวนการแรงงานเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและคุณภาพชีวิตที่ดี

  • แม้จะมีกระแสการตื่นตัวทางการเมืองในช่วงตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นมา แต่เรื่องแรงงานดูเหมือนจะไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก 
  • ประเทศไทยมีสมาชิกสหภาพแรงงานเพียง 1.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน้อยมากถ้าเทียบกับประเทศชั้นนำอื่นๆ รวมทั้งมีความพยายามที่จะแบ่งแยกแรงงานออกเป็นหลาย ๆ ส่วน และยังไม่ให้สัตยาบัน ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ทำให้การรวมตัวทำได้ยาก 
  • การร่วมมือกันต่อสู้ของ 3 ประสาน ชาวนา แรงงาน นักศึกษา ทำให้การต่อสู้เดือนตุลาทรงพลังและประสบความสำเร็จ

'รวมตัว' เท่านั้น ไม่มีทางเลือกอื่น

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 65 เครือข่าย we fair และแนวร่วมรัฐสวัสดิการ จัดเวทีขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการ 2565 WELFARE STATE 2022 ณ หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระด้านแรงงานและอดีตคนเดือนตุลา กล่าวถึงดัชนี 3 ตัวที่มีการจัดอันดับ คือ ด้านสหภาพแรงงาน ประชาธิปไตย คุณภาพชีวิตว่าทั้ง 3 ตัวนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน ถ้าอยากได้ประชาธิปไตยและคุณภาพชีวิตที่ดีก็ต้องรวมตัวกันเรียกร้องเป็นสหภาพแรงงานเพื่อสร้างอำนาจต่อรองผลประโยชน์ของคน 99% เอง

ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงาน ประชาธิปไตยและคุณภาพชีวิต

ซึ่งถ้าหากดูจากจากดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยและคุณภาพชีวิตที่มีการจัดอันดับตามที่ ศักดินา นำเสนอแล้ว ส่วนใหญ่ประเทศที่มีอันดับเหล่านี้สูงก็จะมีอันดับดัชนีอีกตัวสูงตามขึ้นมาด้วย ก็คือดัชนีในด้านสหภาพแรงงาน เช่น สวีเดน ฟินแลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์

“ไม่มีประเทศไหนที่เป็นประชาธิปไตยสูง โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่รวมตัวกันไม่ได้ มันไม่มีทางเลือกอื่น คือถ้าเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากเห็นรัฐสวัสดิการ อยากเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย อยากเห็นความเสมอภาคเท่าเทียมกัน มันไม่มีทางลัดอื่น ไม่มีช่องทางอื่นนอกจากการที่จะทำให้ประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ นั่นหมายถึงคนทำงานรวมตัวกันแล้วมีอำนาจต่อรอง เราถึงจะเปลี่ยนแปลงวงจรนี้ได้” ศักดินากล่าว

นอกจากนั้นศักดินายังยกคำพูดของ เอเวลิน ฮูเบอร์ นักรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา มาอธิบายเสริมด้วย “ปราศจากคนทำงานทั้งหลายไม่มีทางที่เราจะได้มาซึ่งประชาธิปไตย ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นทั่วทุกหนแห่งในโลกหาได้มาจากการประทานของนายทุนชนชั้นนำ ทว่ามาจากการต่อสู้ของคนงานที่ผ่านการจัดตั้งทั้งสิ้น”

หากมองกลับมาดูเปรียบเทียบกับสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยจากกระแสการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่และการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นมา มีข้อเรียกร้องต่าง ๆ ผู้ประท้วงมากมายผุดขึ้นมา เช่น 3 ข้อเรียกร้องของคณะราษฎร 63 ได้แก่  ประยุทธ์ลาออก แก้รัฐธรรมนูญ 60 ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การเรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดีและสวัสดิการที่ดีจากรัฐบาล  แต่ก็ยังไม่เห็นกระแสการเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องแรงงานมากนัก 

และจากข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเดือนเมษายน 65 ที่ศักดินารวบรวมมา ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานประมาณ 1.5% เท่านั้น ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศที่มีสหภาพแรงงานเข้มแข็งอย่าง ไอซ์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ ที่มีสัดส่วนจำนวนสมาชิกสหภาพสูงถึง 6-90 % แล้วยังถือว่าเราห่างไกลมาก โดยไทยมีผู้ที่เป็นสมาชิกสหภาพของรัฐวิสาหกิจ 151,992 คน จากทั้งหมดประมาณ 2.6 แสนคน และฝั่งเอกชน 466,269 คน จากทั้งหมดประมาณ 11 ล้านคนเท่านั้น

ข้อมูลสัดส่วนจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานจาก OECD

สำหรับสาเหตุที่คนงานในไทยรวมตัวกันต่อรองนายจ้างได้ยาก ศักดินาได้แสดงความเห็นในประเด็นนี้กับสื่อออนไลน์ way magazine ว่าเป็นเพราะ "ความพยายามจะแบ่งแยก" เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เกิดการรวมตัวของแรงงานคนทำงานโดยรัฐไทย ที่เรามักได้ยินคำว่าแรงงานนอกระบบแรงงานในระบบแรงงานแพลตฟอร์ม แรงงานข้ามชาติ ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ การแบ่งแยกประเภทเหล่านี้ล้วนมีจุดประสงค์เพื่อสกัดกั้นการรวมตัวของแรงงาน 

“รัฐจะแยกคนเป็นส่วน ๆ สลายความรู้สึกของการเป็นพวกเดียวกันของคนทำงาน สลายสำนึกทางชนชั้นของคนงานเพื่อป้องกันการรวมตัวกัน ด้วยการใช้กฎหมายแยกคนออกเป็นส่วนๆ กระจัดกระจาย”

อีกประเด็นที่ศักดินามองว่าเป็นอุปสรรคสำหรับการรวมตัวกันของแรงงานก็คือการที่ประเทศไทยยังไม่ลงนามสัตยาบันในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการรับรองสิทธิ์ในการรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานและต่อรองกับนายจ้าง ทั้ง ๆ ที่เราเป็นหนึ่งใน 45 ประเทศที่เป็นผู้ก่อตั้งแท้ ๆ นอกจากนี้แล้วทาง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ก็ยังเคยสนับสนุนให้รัฐไทยลงนามเรื่องนี้ เพื่อยกระดับสิทธิพื้นฐานของแรงงานผลประโยชน์ทางการค้าด้วย

โดยนอกเหนือจากข้อมูลของศักดินาแล้ว ถ้าดูจาก รายงานการจัดอันดับ “ดัชนีประชาธิปไตย” ล่าสุดปี 2021 โดย Economist Intelligence Unit (EIU) จะเห็นได้ว่าประเทศที่มีคะแนนความเป็นประชาธิปไตยสูง ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่มีสหภาพแรงงานเข้มแข็ง-มีสัดส่วนสมาชิกสหภาพสูงทั้งนั้น  และส่วนใหญ่ก็เป็นเป็นประเทศถูกจัดว่ามีคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่ดี ประชาชนมีความสุขมากที่สุดด้วย เช่น ไอซ์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ ลักเซมเบิร์ก แคนาดา ไอร์แลนด์ ที่ล้วนแต่มีอันดับในทั้ง 3 ดัชนีอยู่ในระดับแนวหน้าทั้งหมด รวมทั้งก็มีประเทศที่อันดับ ลดหลั่นกันมาแต่ยังอยู่ในแนวโน้มเดียวกันอยู่ เช่น เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน ออสเตรีย เบลเยียม นิวซีแลนด์

ภาพจากเว็บไซต์ visual capitalist

อันดับประเทศที่ประชาชนมีความสุขที่สุดในโลก โดย World Population Review

อันดับประเทศที่น่าอยู่ที่สุดโดย CS Global Partners

'สหภาพแรงงาน' กับการเมืองคือเรื่องเดียวกัน

“ผมก็อยากเห็นภาพแบบนั้นแหละองค์กรประชาธิปไตย นักศึกษา ประชาชน องค์กรแรงงานทั้งหลายควรจะจับมือกันเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของตนเองและประชาชนด้วย”

ทวีป กาญจนวงศ์ อดีตประธานสหภาพแรงงานของการท่าเรือในช่วงเดือนตุลา เปรียบเทียบขบวนการต่อสู้ในตอนนั้นกับปัจจุบันว่า ในปัจจุบันมีลักษณะการต่อสู้ที่ต่างคนต่างสู้ในแต่ละส่วนของตัวเอง ไม่มีการร่วมไม้ร่วมมือกันต่อสู้เหมือนยุคนั้นทำให้พลังของการต่อสู้ลดลง แต่เขาก็ยังหวังว่าขบวนการประชาธิปไตยและกระบวนการแรงงานจะกลับมาผนึกกำลังกันเพื่อเรียกร้องสิทธิ ผลประโยชน์และประชาธิปไตยร่วมกันเหมือนครั้งอดีตที่ผ่านมา

  

ทวีป กาญจนวงศ์

หากดูจากสภาพการณ์และปัจจัยต่างๆ ของไทยในปัจจุบันแล้วการที่เราจะมีการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งยังน่าจะเป็นไปอย่างยากลำบากและใช้เวลาอีกนาน แต่ก็ไม่ใช่ว่าในประเทศไทยไม่เคยเกิดการวมตัวต่อสู้ของขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งมาก่อน โดยถ้าย้อนไปในช่วงการต่อสู้ยุคเดือนตุลา 16-19 นอกจากบทบาทการต่อสู้ของนักศึกษาแล้วอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขบวนการประชาธิปไตยตอนนั้นเข้มแข็งก็คือขบวนการแรงงาน ที่ผนึกกำลังกับนักศึกษาและชาวนาเป็น 3 ประสานเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ความเสมอภาคและคุณภาพชีวิตที่ดี

หลักฐานของเรื่องนี้ก็คือสถิติการนัดหยุดงานของแรงงานทั้งประเทศที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วง 2516-2519 ซึ่งสัมพันธ์กับกระแสการต่อสู้ทางการเมืองในภาพใหญ่ โดยก่อนปี 2516 สถิติการนัดหยุดงานอยู่ที่หลักไม่กี่สิบครั้งต่อปีเท่านั้น แต่ตั้งแต่ปี 2516-19 ตัวเลขกลับพุ่งขึ้นเป็นหลักหลายร้อยครั้งต่อปี และมีแรงงานเข้ามาเกี่ยวข้องหลายหมื่นจนถึงหลักแสนคน โดยตัวอย่างการประท้วงที่สำคัญในช่วงเวลานั้นก็เช่นการนัดหยุดงานของแรงงานโรงงานทอผ้า 600 โรงงานทั่วประเทศเพื่อเรียกร้องให้เพิ่มค่าแรงจาก 16 บาทต่อวันเป็น 20 บาทในช่วงเดือนมิถุนายน 2517 ซึ่งสุดท้ายรัฐบาลก็ยอมทำตามข้อเรียกร้องนี้ 

โดยสามารถดูสถิติการนัดหยุดงานประท้วงได้จากตารางข้างล่าง 

สถิติจำนวนการนัดหยุดงาน - จำนวนลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง - จำนวนวันทำงานที่ถูกนับ จากกระทรวงแรงงาน

โดยทวีปเล่าถึงการต่อสู้ของขบวนการแรงงาน ณ ตอนนั้นว่าเขาเริ่มทำงานที่การท่าเรือ และเคยเป็นประธานสหภาพแรงงานการท่าเรือ เริ่มมาสนใจประเด็นเหล่านี้ตอนเริ่มทำงานในท่าเรือเพราะมีสหภาพแรงงานตั้งแล้วตอนนั้น ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 ที่อนุญาตให้แต่ละองค์กรตั้งสหภาพภายในได้ โดยคนในสหภาพก็มีการตื่นตัวเรื่องผลประโยชน์ สิทธิต่าง ๆ มีการประท้วงกันเรื่อยมา เพราะสหภาพต่าง ๆในตอนนั้นก็ไม่ชอบเผด็จการ องค์กรสหภาพแรงงานเป็นองค์กรประชาธิปไตย รวมทั้งในแต่ละองค์กรของรัฐก็มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเกี่ยวกับประชาธิปไตย อย่างเช่น ไพศาล ธวัชชัยนันท์ ผู้นำแรงงานที่มีบทบาทสูงสุดในช่วงนั้น จากการไฟฟ้านครหลวง

ช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา ทวีปบอกว่ามีโอกาสมาร่วมชุมนุม ฟังแกนนำนักศึกษาปราศรัย เช่น ธีรยุทธ บุญมี เสกสรรค์ ประเสริฐกุลเพื่อไล่เผด็จการจอมพลถนอม และเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งก็มีโอกาสร่วมประชุมกันกับนักศึกษาเพื่อวางแผนการเคลื่อนไหว ในฐานะตัวแทนกรรมกรด้วย

3 ประสาน ชาวนา-แรงงาน-นักศึกษา

หลังจากนั้นสหภาพแรงงานขององค์กรต่างๆ ก็มีการทำงานร่วมกับนักศึกษา แรงงาน ชาวนา ในการเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตลอดมา เป็นแนวร่วม 3 ประสาน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่เขามองว่าทำให้การประท้วงช่วงเดือนตุลาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก 

โดยอดีตประธานสหภาพการท่าเรือได้ยกตัวอย่างของการร่วมกันต่อสู้ที่ได้รับชัยชนะ คือ กรณีการชุมนุมประท้วงคัดค้านการยกเลิกการขายข้าวสารราคาถูกที่ลานพระบรมรูปทรงม้าปี 2519 เขากับสหภาพของท่าเรือก็ไปเข้าร่วมประท้วงกับนักศึกษาและชาวนาด้วย เพราะองค์กรกลางของสหภาพแรงงานนำโดยคุณไพศาล ธวัชชัยอนันต์ไปเข้าร่วมประท้วง (ซึ่งขบวนการแรงงานในตอนนั้นใช้วิธีการนัดหยุดงานทั่วไป  หรือ General strike พร้อมกันทั้งประเทศเพื่อประท้วงกดดันภาครัฐ) ซึ่งก็ส่งผลให้รัฐบาลของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชก็ต้องยอมที่จะทำตามข้อเรียกร้องในที่สุด

ทวีปเสริมต่อว่าสมัยนั้นเราไม่ได้เรียกร้องแค่เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ใช้แรงงานเพียงอย่างเดียว แต่เรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนคนทั่วไปด้วย รวมทั้งเขาก็มีโอกาสได้ขึ้นปราศรัยในการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในหลาย ๆ โอกาสด้วย 

ซึ่งเรื่องการร่วมกันต่อสู้เป็น 3 ประสานก็ตรงกับที่ ศักดินาได้พูดถึงการต่อสู้ของขบวนการแรงงานในช่วงนั้นในการสัมภาษณ์กับช่องพูด ถึงงานวิจัยที่ตนเองทำและได้ไปพูดคุยกับแกนนำนักศึกษาและแรงงานในช่วงนั้น ว่ามีการติดต่อกันระหว่างกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มแรงงาน แรงงาน ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาแล้ว นักศึกษาหลายคนก็ลงไปคลุกคลีในโรงงานกับแรงงาน 

และหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาก็มีการทำงานประสานกันเป็น 3 ประสานระหว่าง นักศึกษา แรงงาน ชาวนา ที่เวลากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเคลื่อนไหวต่อสู้เรื่องอะไรที่เหลืออีก 2 กลุ่มก็จะสนับสนุนเป็นแรงเสริมเสมอ เช่นการต่อสู้ของแรงงานหญิงโรงงานฮาร่าที่ยึดโรงงานแล้วเอามาทำการผลิตเอง นักศึกษาก็ไปสนับสนุน ไปเล่นดนตรีสร้างความบันเทิงในระหว่างนั้น

ภาพนักศึกษาเข้าไปร่วมสนับสนุนการต่อสู้ของแรงงานหญิงโรงงานฮาร่า 

จาก Film Archive Thailand (หอภาพยนตร์)

โดยศักดินาอธิบายต่อว่า ณ ตอนนั้นขบวนการภาคประชาชนต่าง ๆ นั้นมีจุดร่วมกันคืออยากเห็นสังคมที่มีความเสมอภาคเป็นธรรมมากขึ้น หลังจากอยู่ภายใต้เผด็จการทหารมานาน ซึ่งก็เป็นอิทธิพลจากอุดมการณ์สังคมนิยมที่เริ่มเข้ามาในประเทศไทย โดยก็มีความเข้มข้นของอุดมการณ์แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม 

ประกอบกับข้อมูลจากโครงการบันทึก 6 ตุลา ที่พูดถึงสถานการณ์ในช่วงก่อนหน้านั้นว่าภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่แรงงานถูกขูดรีดเป็นอย่างมาก เพื่อที่จะมุ่งสร้างบรรยากาศการลงทุนให้นักลงทุนต่างชาติ จึงทำให้เกิดการกดค่าแรงให้ต่ำ รวมทั้งมีการออกกฎอัยการศึกห้ามแรงงานนัดหยุดงาน แรงงานจึงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบาก ไม่มีหลักประกันในการใช้ชีวิต ซึ่งก็เป็นปัญหาที่สั่งสมมาเรื่อย ๆ จนมาระเบิดเอาในช่วงเหตุการณ์เดือนตุลาในที่สุด ซึ่งศักดินามองว่าในช่วงนั้นคือยุคทองของขบวนการแรงงานในไทย และมองว่า 3 ประสานนี้เป็นพลังที่สำคัญที่ทำให้ผู้มีอำนาจ และขบวนการฝ่ายขวาหวาดกลัวจนต้องใช้ความรุนแรงมาปราบในที่สุด 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท