Skip to main content
sharethis
เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.53 คณะอนุกรรมการชายแดนภาคใต้ ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีการประชุมและสรุปผลการประชุม กรณีนายสุไลมาน แนซา เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของเจ้านหน้าที่ทหาร ที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี โดยคณะอนุกรรมการฯ เรียกร้องให้มีผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจพิสูจน์ศพ และบริเวณที่เกิดเหตุให้ละเอียดในทุกพื้นที่ เพื่อสร้างความกระจ่างในกรณีที่เกิดขึ้น และขอให้เจ้าหน้าที่ทหารเคารถสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่วิธีการรุนแรง และหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำแนวทางนี้ไปกำชับเจ้าหน้าที่ให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
 
--------------------------------
 
สรุปผลการประชุมคณะอนุกรรมการชายแดนภาคใต้   ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
 
กรณีนายสุไลมาน แนซา เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหาร
 
ที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี
 
 
 
ตามที่ปรากฏข่าวตามสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับกรณีนายสุไลมาน แนซา ได้เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ประชาชนในพื้นที่มีความสงสัยสาเหตุที่แท้จริงของการเสียชีวิตเป็นอย่างมาก รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมก็กำลังเฝ้ามองการตรวจสอบหรือการแสวงหาข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้ความจริงปรากฏ ประกอบกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีการเสียชีวิตของนายสุไลมานฯ โดยขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ความเป็นธรรม
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการชายแดนภาคใต้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนดังกล่าว โดยคณะอนุกรรมการชายแดนภาคใต้มีอำนาจหน้าที่ที่ต้องดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการใช้กระบวนการตุลาการเพื่อสร้างความเป็นธรรม และประสานงานเพื่ออำนวยความยุติธรรมด้านสิทธิมนุษยชน
 
สำหรับกรณีการเสียชีวิตดังกล่าว คณะอนุกรรมการชายแดนภาคใต้ได้ลงพื้นที่
เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นได้จำนวนหนึ่งแล้ว และในวันนี้ (วันที่ 25 มิถุนายน 2553) คณะอนุกรรมการชายแดนภาคใต้ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว ได้แก่ 1) ผู้แทนกองทัพภาคที่ 4 2) ผู้บัญชาการศูนย์ข่าวกรองจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3) ผู้อำนวยการศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ 4) ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหนองจิก 5) รองอัยการจังหวัดปัตตานี 6) พนักงานปกครองอำเภอปัตตานี 7) แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ 8) แพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพจากโรงพยาบาลหนองจิก
 
หลังจากการรับฟังคำชี้แจง คณะอนุกรรมการชายแดนภาคใต้มีความเห็นสรุปในเบื้องต้นว่า ประเทศไทยได้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายพิเศษต่าง ๆ รวมทั้งมีพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นต้น ตลอดจนการยึดปณิธานตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นหลักในการคุ้มครอง สิทธิมนุษยชน และเป็นกรอบในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งหลังจากคณะอนุกรรมการชายแดนภาคใต้ได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว จะได้สรุปและจัดทำรายงานผลการตรวจสอบเสนอคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณา แล้วแจ้งผลการตรวจสอบไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งในชั้นนี้ คณะอนุกรรมการชายแดนภาคใต้มีข้อสังเกตที่สำคัญ ที่จะช่วยกันให้เกิดความเข้าใจในหมู่ประชาชน และมิให้เกิดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น คือ
 
                       1. เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน สมควรมีผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจพิสูจน์ศพ และบริเวณที่เกิดเหตุให้ละเอียดในทุกพื้นที่ เพื่อสร้างความกระจ่างในกรณี
ที่เกิดขึ้น
 
                       2. เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการที่มาปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สมควรเรียนรู้ข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติในการปฏิบัติหน้าที่ ที่ได้กำหนดขึ้นภายใต้หลักการสิทธิมนุษยชนและการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักสากล ตลอดจนการคำนึงถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิต และอัตลักษณ์ของประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น จึงควรมีการกำชับให้เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่เป็นการละเมิดกฎหมายหรือหลักการสิทธิมนุษยชนในทุกกรณี
 
                       3. กระบวนการซักถามผู้ต้องสงสัยของเจ้าหน้าที่ทั้งในเชิงด้านการข่าว การแสวงหาข้อมูล หรือการปรับทัศนคติ จะต้องกระทำโดยไม่สร้างเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม และไม่ใช้วิธีการที่รุนแรง เช่น การซ้อมทรมาน การซักถามโดยใช้ระยะเวลายาวนาน หรือการกดดันทางจิตใจด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูล เป็นต้น นอกจากนี้ควรมีนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ ร่วมอยู่ด้วยหรือคลุกคลีกับกลุ่มผู้ต้องสงสัยหรือถูกควบคุมตัวด้วย
 
                        4. การดูแลผู้ต้องสงสัยในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ เมื่อมีการเชิญตัวผู้ต้องสงสัยมาซักถามและควบคุมตัว จะต้องมีการดูแลและคุ้มครองความปลอดภัยมิให้เกิดการกระทำอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการกระทำด้วยตนเองหรือถูกกระทำด้วยวิธีการใด ๆ เกิดขึ้นอีก
 
                       จากข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้น คณะอนุกรรมการชายแดนภาคใต้เห็นว่าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรับไปเป็นแนวปฏิบัติ และกำชับให้เจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการอำนวยความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น
 
 
 
คณะอนุกรรมการชายแดนภาคใต้   ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
 
25 มิถุนายน 2553
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net