Skip to main content
sharethis

กสม. ชี้กรณีทหารเกณฑ์วัย 18 ปี ถูกธำรงวินัยจนเสียชีวิต ละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด - คกก.ป้องกันการทรมานฯ เอาผิดตามกฎหมาย - แนะมหาดไทย ตรวจสอบการกำหนดลักษณะต้องห้ามบุคคลสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นโดยต้องไม่จำกัดสิทธิผู้เคยรับโทษจำคุก

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แจ้งข่าวว่าเมื่อวัน 29 ส.ค. 2567 กสม. โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายภาณุวัฒน์  ทองสุข ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 29/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

1. กสม. ชี้กรณีทหารเกณฑ์วัย 18 ปี ถูกธำรงวินัยจนเสียชีวิต ละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกาย เตรียมส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด - คกก.ป้องกันการทรมานฯ เอาผิดตามกฎหมาย

นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวกรณีพลทหารวรปรัชญ์  พัดมาสกุล หรือน้องเน อายุ 18 ปี พลทหารผลัดที่ 1/67 สังกัดกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ค่ายนวมินทราชินี จังหวัดชลบุรี) บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการธำรงวินัย (ถูกลงโทษ) ระหว่างการฝึก เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2567 ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งผลการชันสูตรพบว่า อวัยวะภายในบอบช้ำ กระดูกสันหลังหัก ซี่โครงหัก และปอดฉีกรั่ว

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2567 กองทัพบก ชี้แจงว่ากองทัพภาคที่ 1 ได้ดำเนินการทางวินัยต่อผู้บังคับบัญชาที่ขาดการกำกับดูแล จำนวน 3 ราย ตั้งแต่ระดับผู้บังคับหมวดจนถึงผู้บังคับกองพัน และพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นกำลังพลนายสิบและทหารกองประจำการ จำนวน 13 ราย ข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายแล้ว นั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามข่าวกรณีดังกล่าว ประกอบกับได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกธำรงวินัย จนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตขณะเข้ารับการฝึกมาอย่างต่อเนื่อง มีความเห็นว่า กรณีพลทหารวรปรัชญ์ อาการป่วยและการเสียชีวิตน่าจะเกิดจากถูกธำรงวินัย (ถูกลงโทษ) ระหว่างการฝึกทหารใหม่ในเดือน มิ.ย. 2567 ซึ่งมีข้อมูลยืนยันว่า พลทหารวรปรัชญ์ ถูกเตะ ต่อย กระทืบ ให้เข้าเวรยาม 24 ชั่วโมงต่อเนื่อง และถูกบังคับให้ดื่มปัสสาวะตนเอง จนสภาพร่างกายทนไม่ไหวและมีอาการป่วย แต่หน่วยงานไม่ส่งตัวไปรักษา ต่อมาเมื่ออาการป่วยรุนแรงจึงส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลค่าย และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ตามลำดับ จนกระทั่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา

กสม. เห็นว่าการธำรงวินัยและวิธีลงโทษของครูฝึก ครูผู้ช่วย รวมถึงกำลังพลที่เกี่ยวข้องที่กระทำต่อเนื้อตัวร่างกายของพลทหารวรปรัชญ์ ถือเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ข้อ 7 ที่ให้การคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่จะไม่ถูกทรมานหรือประติบัติหรือลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือต่ำช้า โดยที่การลงโทษโดยการให้ดื่มปัสสาวะ การเตะ ต่อย หรือรุมกระทืบ เป็นการกระทำในลักษณะการลดทอนคุณค่าหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง อันถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งหากผู้บังคับบัญชาทราบแต่ไม่ดำเนินการเพื่อระงับการกระทำความผิดดังกล่าวย่อมต้องรับผิดกับผู้ใต้บังคับบัญชาตามกฎหมายนี้ด้วย

“กสม. เห็นว่า กรณีดังกล่าวซึ่งมีการกระทำทรมานจนเป็นเหตุให้พลทหารได้รับอันตรายจนถึงแก่ชีวิตนั้น การดำเนินการทางวินัยและการดำเนินคดีอาญาข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น อาจไม่เพียงพอและครบถ้วนตามพฤติการณ์แห่งการกระทำ ดังนั้น กสม. จะส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เพิ่มเติม เพื่อเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และป้องกันมิให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ครอบครัวผู้ตาย ซึ่งจะต้องมีการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายทั้งด้านร่างกายและจิตใจต่อไป” นายวสันต์กล่าว

2. กสม. แนะมหาดไทย ตรวจสอบการกำหนดลักษณะต้องห้ามบุคคลสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น โดยต้องไม่จำกัดสิทธิผู้เคยรับโทษจำคุก

นายภาณุวัฒน์  ทองสุข ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่ง ระบุว่า องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแพ้วมีประกาศสรรหาบุคคลเข้าทำงานเป็นพนักงานจ้างทั่วไป ต่อมาหน่วยงานตรวจพบว่าผู้ร้องเคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกจึงได้แนะนำให้ผู้ร้องลาออก และแจ้งว่าจะพิจารณาจ้างกลับมาทำงานในตำแหน่งพนักงานจ้างเหมาบริการแทน กสม. เห็นว่าประเด็นดังกล่าวอาจกระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองไว้ จึงมีมติให้จัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า เสรีภาพในการประกอบอาชีพของประชาชน ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ซึ่ง กสม. เคยมีรายงานผลการพิจารณาที่ 43/2555 เมื่อปี 2555 กรณีการกำหนดลักษณะต้องห้ามของบุคคลในการเข้ารับราชการให้คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้คณะกรรมการสรรหายกเว้นให้บุคคลที่เคยต้องโทษจำคุกเข้ารับการสรรหาได้เป็นรายกรณี ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรมเช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือน ข้าราชการรัฐสภา และข้าราชการกรุงเทพมหานคร

จากการศึกษาและตรวจสอบพบว่า เมื่อปี 2564 คณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล มีประกาศเรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเบื้องต้นสำหรับพนักงานส่วนตำบล พ.ศ. 2564 โดยกำหนดให้คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลสามารถใช้ดุลพินิจพิจารณาให้ผู้ขาดคุณสมบัติเพราะเคยต้องโทษจำคุกเข้ารับการสรรหาเป็นพนักงานส่วนตำบลได้เป็นรายกรณี

การที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแพ้วประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาและเลือกสรรเป็นพนักงานจ้างเมื่อเดือน ก.ค. 2566 โดยกำหนดลักษณะต้องห้ามว่าต้องไม่เคยต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามประกาศคณะกรรมการพนักงานจ้างส่วนตำบลจังหวัดสมุทรสาคร เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับพนักงานจ้าง ลงวันที่ 23 ก.ค. 2547 โดยไม่ได้กำหนดให้คณะกรรมการสรรหาใช้ดุลพินิจยกเว้นให้แก่ผู้สมัครที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ประกอบกับประกาศดังกล่าวมีข้อความบางส่วนขาดหายไป จึงกระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพของผู้สมัครที่เคยต้องโทษจำคุกเกินสมควร ส่งผลให้ไม่สามารถประกอบอาชีพในตำแหน่งพนักงานจ้างได้ ไม่เปิดโอกาสให้ผู้พ้นโทษทำประโยชน์แก่สังคม จึงก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพันธกรณีระหว่างประเทศที่ได้รับรองไว้

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อมอบหมายให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นสั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศตรวจสอบการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของพนักงานจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลให้ครบถ้วน และเป็นไปตามมาตรฐานกลางตามประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเบื้องต้นสำหรับพนักงานส่วนตำบล พ.ศ. 2564 และให้นำความเห็นและข้อเสนอแนะของ กสม. กรณีปัญหาพนักงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงานของรัฐไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปฏิบัติงานมาประกอบการพิจารณาดำเนินการด้านสิทธิประโยชน์ของพนักงานจ้างเหมาบริการ ในระหว่างการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และสำนักงบประมาณต่อไป

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net