ปฏิบัติการสงครามเพื่อสลายการชุมนุมและการล้อมปราบคนเสื้อแดง

โศกนาฏกรรมทางการเมืองจากเหตุการณ์ล้อมปราบและสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 และวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2553 ได้ก่อให้เกิดข้อกังขาและคำถามต่อรัฐบาล ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และกองทัพบก โดยเฉพาะเป้าหมาย ยุทธวิธีและการปฏิบัติการทางการทหารที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งที่เป็นประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ

การสลายการชุมนุมวันที่ 10 เมษายน เกิดขึ้นเมื่อนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะประกาศ “ขอพื้นที่คืน” ในบริเวณแยกราชประสงค์ และให้ผู้ชุมนุมกลับไปชุมนุมที่บริเวณถนนราชดำเนินดังเดิม แต่ปรากฏว่า รัฐบาลกลับสั่งการให้เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนินโดยไม่มีการเตือนให้ผู้ชุมนุมทราบล่วงหน้า ในขณะที่ไม่มีปฏิบัติการใด ๆ ในบริเวณแยกราชประสงค์
 
ความรุนแรงเกิดขึ้นในช่วงเช้า เมื่อฝ่ายทหารได้เคลื่อนกำลังออกจากบริเวณกองทัพภาคที่ 1 รอ. เพื่อตั้งแถวยันกับกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง ในขณะเดียวกัน นายพายัพ ปั้นเกตุ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ได้นำมวลชนส่วนหนึ่งมายืนเผชิญหหน้ากับฝ่ายทหาร มีการปะทะกัน โดยทหารใช้โล่ กระบอง และแก๊สน้ำตา เหตุการณ์ดำเนินไปถึงช่วงบ่าย จนในที่สุดทั้งสองฝ่ายได้ถอยร่นกลับสู่ฐานที่ตั้งของฝ่ายตนเอง และนำคนบาดเจ็บของทั้งสองฝ่ายไปรับการรักษาพยาบาล
 
แม้ว่า ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำเนินการสลายการชุมนุมจะกลับสู่ฐานที่ตั้งแล้วก็ตาม แต่ตลอดช่วงบ่ายจนถึงเย็น ฝ่ายทหารยังคงใช้เฮลิคอปเตอร์เพื่อทิ้งแก๊สน้ำตาและโปรยใบปลิวลงมายังผู้ชุมนุม นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนกองกำลังทหารและอาวุธสงครามจำนวนมากเข้ามาเสริมกำลัง แต่ถูกกลุ่มคนเสื้อแดงสกัดและบุกเข้ายึดยานยนต์และอาวุธสงครามดังกล่าวได้บริเวณเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า
 
เหตุการณ์ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อรัฐบาลพยายามสลายการชุมนุมด้วยกำลังทหารและอาวุธสงครามอีกครั้งในช่วงเย็นของวันนั้น โดยเริ่มขึ้นบริเวณสี่แยกคอกวัวและถนนดินสอหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา การปะทะกันเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 18.00 น. เมื่อฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐเคลื่อนกำลัง พร้อมยานยนต์หุ้มเกาะมายังถนนประชาธิปไตยและตั้งฐานกำลังอยู่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา กับเคลื่อนพลมาตั้งแนวปะทะอยู่บริเวณถนนตะนาว เพื่อเคลื่อนกำลังยึดพื้นที่บริเวณสี่แยกคอกวัวอีกเส้นทางหนึ่ง
 
การดำเนินการสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นนี้ ไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากลในการสลายการชุมนุม เมื่อการปะทะเริ่มต้นขึ้น การใช้กำลังและอุปกรณ์ช่วยในการสลายการชุมนุม มิได้ปฏิบัติจากเบาไปหาหนัก แต่ข้ามขั้นตอน เมื่อฝ่ายกองทหารที่ทำหน้าที่สลายการชุมนุมเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง นอกจากการดันระหว่างกันด้วยโล่และกระบองแล้ว การใช้ปืนพร้อมกระสุนยางก็เกิดขึ้นตามมาในบริเวณสี่แยกคอกวัว ส่วนบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาก็มีการเคลื่อนยานยนต์หุ้มเกาะเข้ามายึดพื้นที่
 
บริเวณสี่แยกคอกวัว หลังจากการใช้กระสุนยาง ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐได้มีการยิงกระสุนจริงสลับบ้างในระยะแรก จนทำให้ฝ่ายผู้ชุมนุมที่เข้าปะทะกับฝ่ายทหารได้รับบาดเจ็บ สถานการณ์ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เมื่อมีการใช้ปืนเอ็ม 79 จำนวน 2 ลูกโดยกองกำลังไม่ทราบฝ่ายที่สวมชุดดำ ยิงเข้าใส่กลุ่มทหารที่ปฏิบัติการอยู่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา จนทำให้นายทหารระดับผู้บังคับบัญชาได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
 
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ฝ่ายทหารใช้อาวุธสงครามประเภท ปืนเอ็ม 16 ยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ในขณะเดียวกันกลุ่มคนชุดดำ ที่ต่อมาเข้าใจกันว่ามาช่วยผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง ก็ปะทะและผลักดันให้ฝ่ายทหารต้องล่าถอยออกจากพื้นที่บริเวณสี่แยกคอกวัวและหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา
 
การสลายการชุมวันที่ 19 พฤษภาคม     นับตั้งแต่มีการยิงปืนเอ็ม 79 ใส่กลุ่มผู้ชุมนาคนเสื้อหลากสีบริเวณแยกศาลาแดงเมื่อวันที่ 22 เมษายน จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คนและได้รับบาดเจ็บกว่า 70 คน การตรึงกำลังและเฝ้าระวังสถานการณ์ รวมทั้งการสร้างสถานการณ์เพื่อก่อให้เกิดความรุนแรงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
 
สถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อ ศอฉ. ประกาศปฏิบัติการ “กระชับวงล้อม” ในวันที่ 14 พฤษภาคม โดยตัดน้ำ-ไฟฟ้าและสัญญาณมือถือในบริเวณที่ชุมนา ขณะเดียวกันก็เคลื่อนกำลังทหารเข้าตรึงพื้นที่รอบๆ แยกราชประสงค์ ซึ่ครอบคลุมพื้นที่ราชปรารภ ซอยรางน้ำ ศาลาแดง แยกสาธร และซอยบ่อนไก่ ตลอดระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการกระชับวงล้อมนี้ ได้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการโดนสุ่มยิงจากที่สูง ณ บริเวณราชปรารภและแยกสาธร มีการปะทะกันระหว่างกองทหารที่รักษาการในพื้นที่กับกลุ่มคนเสื้อแดงบริเวณรอบๆ สวนลุมพินี แยกสาธร บ่อนไก่ ซอยงามดูพลี และย่านราชปรารภอยู่อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งนำไปสู่การล้อมปราบ ในวันที่ 19 พฤษภาคม โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม ผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ของรัฐ  นักข่าว-ช่างภาพชาวไทยและต่างประเทศ และอาสาสมัครกู้ชีพ
 
การล้อมปราบผู้ชุมนุมเสื้อแดงเริ่มต้นในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 19 พฤษภาคม โดยกองกำลังทหารเคลื่อนพลออกจากหน่วยทหารและฐานที่มั่นในพื้นที่รอบๆ สถานที่ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง และเข้ายึดพื้นที่ ณ บริเวณศาลาแดงถึงแยกสารสินและพื้นที่โดยรอบของสวนลุมพินี มีการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นระยะๆ ส่งผลให้ผู้ชุมนุม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการ์ด ถูกยิงเสียชีวิตโดยหน่วยล่าสังหาร (sniper) เป็นหลัก
 
ในเวลาประมาณ 13.30 น. แกนนำ นปช. นำโดยณัฐวุฒิ ไสยเกื้อประกาศยุติการชุมนุมเพื่อยุติการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บของผู้ชุมนุม แล้วเข้ามอบตัวกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมแกนนำคนอื่นๆ ส่วนผู้ชุมนุมที่ยังคงอยู่ในพื้นที่ชุมนุม บางส่วนก็ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ บางส่วนได้อพยพมาอยู่ในบริเวณวัดปทุมวนาราม ด้วยเชื่อว่าพวกตนจะปลอดภัยเมื่ออยู่ใน “เขตอภัยทาน” แต่ปรากฏว่ามีการยิงอาวุธหนักเข้าสู่พื้นที่บริเวณวัดปทุมอย่างรุนแรง จนผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพเสียชีวิตถึง 6 คน
ในขณะเดียวกัน เริ่มมีการเผาอาคารสถานที่ของรัฐและเอกชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง เมื่อเจ้าหน้าที่สามารถเข้ายึดและควบคุมพื้นที่ในบริเวณแยกราชประสงค์และพื้นที่ต่อเนื่องในช่วงเย็น พร้อมๆ กับการควบคุมเพลิงที่ไหม้อาคารสถานที่ต่างๆ ส่วนผู้ชุมนุมที่หลบภัยอยู่ในวัดปทุมวนารามก็ทยอยกลับภูมิลำเนาของตนเองในวันรุ่งขึ้น
แน่นอนว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการสลายและล้อมปราบการชุมนุมทั้ง 2 ครั้ง นำมาซึ่งความสูญเสียให้แก่ทุกฝ่าย
แต่คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ การใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามเพื่อสลายการชุมนุมทั้งสองครั้งนี้ มีความชอบธรรมและเหมาะสมเพียงใด 
 
1) ยุทธวิธีในการสลายและล้อมปราบการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยหลักการแล้ว การใช้กำลังทหารเข้าสลายและล้อมปราบการชุมนุมทางการเมืองในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยไม่ควรเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อแนวทางการเจรจาเพื่อยุติปัญหาโดยสันติยังเป็นไปได้ แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์กลับปิดประตูการเจรจาอย่างรีบเร่ง เมื่อ สว.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สามารถเป็นตัวกลางชักชวนให้แกนนำ นปช. หันกลับสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้งเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม (แก้ไขเพิ่มเติม) แต่สิ่งเหล่านี้กลับถูกละเลยและเพิกเฉยจากสังคมทุกภาคส่วน
 
การใช้อาวุธสงครามในการสลายการชุมนุมนั้นเป็นสิ่งที่ชอบธรรมหรือไม่ เพราะว่าโดยหลักสากลของการสลายการชุมนุม 7 ขั้นตอนนั้น ไม่ปรากฎว่ามีขั้นตอนใดที่เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถใช้อาวุธสงคราม เช่น ปืนM 16 ยานยนต์หุ้มเกราะ เป็นต้น เพื่อสลายการชุมนุม ดังนั้น คำถามที่ทางรัฐบาลและ ศอฉ. ต้องตอบต่อสังคมก็คือ ทำไมสิ่งเหล่านี้ยังเกิดขึ้นในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยรัฐบาลที่อ้างว่าตนมาจากการเลือกตั้ง บทเรียนจากเหตุการณ์ต่างๆ นับตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงกรณีกรือเซะและตากใบ ไม่ได้ทำให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถทบทวนความผิดพลาดในวิธีการสลายการชุมนุมเลยหรือ?
 
แท้ที่จริงยุทธวิธีในการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงคือ ปฏิบัติการทางทหารในภาวะสงครามนั่นเอง เพียงแต่พื้นที่แห่งสงครามครั้งนี้เกิดขึ้นในเมืองหลวง นอกจากนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่สงครามกลางเมืองที่ทั้งสองฝ่ายประกาศสงครามระหว่างกัน แม้ว่าฝ่ายรัฐบาลและ ศอฉ. มักประกาศว่าผู้ชุมนุมมีกองกำลังติดอาวุธ แต่ก็ไม่สามารถแสดงหลักฐานยืนยันได้ว่า ผู้ก่อการร้ายที่รัฐบาลชอบกล่าวถึงนี้คือใคร มีจำนวนเท่าไร หรือพวกเขามีเพียง 5-6 คนตามที่ปรากฏในคลิปเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายนหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสลายการชุมนุมวันที่ 19 พฤษภาคม หากพวกเขามีจำนวนมาก ทำไมรัฐบาลไม่สามารถแสดงหลักฐานการดำรงอยู่ของพวกเขาให้ปรากฏ จริงอยู่ว่าผู้ชุมนุมเสื้อแดงบางคนมีอาวุธ แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อย คำถามในจุดนี้คือ หากพวกเขามีเพียงไม่กี่คน การใช้กำลังทหารกว่า 50,000 นายพร้อมอาวุธขนาดหนักจำนวนมากเพื่อจัดการกับการชุมนุมในวันที่ 19 พฤษภาคม มีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร?
 
ยิ่งกว่านั้น ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการจัดกำลังพล การควบคุมพื้นที่ในเชิงกายภาพ การซุ่มยิงฝ่ายตรงข้ามในที่สูง บนรางรถไฟฟ้าและทางเดินลอยฟ้าล้วนเป็นวิถีคิดทางการทหารทั้งสิ้น โดยมีตัวแบบการล้อมปราบนักศึกษาของรัฐบาลจีนที่จตุรัสเทียน อัน เหมิน เป็นต้นแบบ ลักษณะการดำเนินการเช่นนี้ไม่ใช่วิถีทางในการสลายการชุมนุมตามหลักสากล อีกทั้ง การสลายการชุมนุมจะต้องคำนึงถึงหลักการรักษาชีวิต และสิทธิของความเป็นมนุษย์ที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างอารยะ ฉะนั้น การใช้อำนาจและกำลังที่เกินกว่าเหตุในปฏิบัติการทางทหารของรัฐบาลอภิสิทธิ์ในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน และ19 พฤษภาคม จึงนำไปสู่การละเมิดสิทธิชีวิตของพลเมืองจำนวนมากกว่าการปราบปรามประชาชนครั้งใด ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไทย
 
2) การกล่าวหาผู้ชุมนุมว่าเป็นผู้ร้ายและจำเลยของสังคม กล่าวคือ ผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงถูกกระทำให้เป็นจำเลยทางสังคมใน 3 ประเด็น คือ 1. ผู้ก่อการร้าย 2. กลุ่มคนที่ได้รับการสนับสนุนจากพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรและถูกจัดตั้งมาจากเครือข่ายของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรและอดีต สส. พรรคไทยรักไทยกับ สส. พรรคเพื่อไทย 3. กลุ่มคนที่พยายามล้มล้างสถาบันเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่รัฐไทยใหม่
 
     2.1) การกล่าวหาว่า กลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้ายหรือมีผู้ก่อการร้ายแฝงตัวปะปนกับผู้ชุมนุม เริ่มต้นขึ้นหลังเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน ที่มีกลุ่มคนชุดดำแฝงตัวเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มผู้ชุมนุมปะทะกับกองกำลังเจ้าที่ของรัฐ และใช้อาวุธสงครามยิงตอบโต้กับกองทหาร ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าการสลายการชุมนุม ไม่ปรากฎว่ามีการใช้คำดังกล่าวเรียกผู้ชุมนุม
 
นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ ยืนยันให้ใช้คำว่า ‘ผู้ก่อการร้าย’ เพื่อเรียกกลุ่มคนชุดดำและกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง หลังวันที่ 10 เมษายนเป็นต้นมา เขามักจะกล่าวอ้างว่า มีผู้ก่อการร้ายแฝงตัวปะปนอยู่กับผู้ชุมนุมและเรียกร้องให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมด้วยจิตใจบริสุทธิ์เดินทางออกจากพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ รวทั้งยังเรียก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรและแกนนำ นปช. บางคน เช่น ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เป็นต้น ว่าเป็นผู้นำของผู้ก่อการร้าย
 
ข้อกล่าวหาเรื่องผู้ก่อการร้ายยังได้รับการขานรับอย่างแข็งขันจากพ.อ. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. สื่อมวลชนทั้งของรัฐและสื่อเสรี กลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐบาล เช่น สส.พรรคประชาธิปัตย์ สว. และนักวิชาการ เป็นต้น
ในขณะที่รัฐบาลและ ศอฉ. ช่วยกันตอกย้ำว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงเท่ากับ “การก่อการร้าย” ที่เต็มไปด้วยผู้ก่อการร้าย จนอาจทำให้สังคมเข้าใจว่าผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เป็นผู้ก่อการร้าย แต่รัฐบาลต้องตอบสังคมให้ได้ว่า ประชาชนที่ถูกทหารยิงจนเสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งหมดเป็นผู้ก่อการร้ายหรือไม่ พวกเขามีอาวุธร้ายแรงต่อสู้กับทหารหรือไม่ เพราะจากหลักฐานการชันสูตรศพ ไม่พบคราบเขม่าปืนในมือของผู้เสียชีวิต 
 
     2.2) การกล่าวหาว่า กลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงเป็นกลุ่มคนที่ได้รับการสนับสนุนจาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรและถูกจัดตั้งมาจากเครือข่ายของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรและอดีต สส. พรรคไทยรักไทยกับ สส. พรรคเพื่อไทย
 
สาระสำคัญของข้อกล่าวหานี้ก็คือ การทำให้พวกเขาเป็นเพียงเบี้ยทางการเมืองที่มี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรและแกนนำ นปช. หลอกใช้ เพราะว่าพวกเขาโง่-จน-เจ็บ วาทกรรมทางการเมืองที่ถูกตอกย้ำโดยชนชั้นกลาง-คนในเมือง ทำให้คนเสื้อแดงกลายเป็นพลเมืองที่ด้อยค่า ที่รังแต่ฉุดรั้งความเจริญของประเทศ การตายของพวกเขาด้วยฝีมือของรัฐจึงไม่ใช่สิ่งที่น่าเศร้าสลดแต่ประการใด สังคมไม่ควรต้องเสียเวลาขุดค้นหาความจริงที่เกิดขึ้น
 
ในขณะที่ข้อเท็จจริงจำนวนมากเกี่ยวกับคนเสื้อแดงกลับถูกปฏิเสธจากผู้คนที่ต่อต้านเขา จริงอยู่ผู้ชุมนมบางส่วนอาจจะชื่นชอบต่อ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งนั่นก็เป็นสิทธิของพวกเขา กระนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าคนเสื้อแดงจะเห็นชอบในทิศทางเดียวกัน ในทางตรงข้าม พวกเขามีความหลากหลายและมีเป้าประสงค์ในการเข้าร่วมที่แตกต่างกัน บางคนมาเพื่อเรียกร้องปัญหาปากท้องของพวกเขา ความไม่เป็นธรรมในสังคม นโยบายของรัฐที่มุ่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและละเลยชนบท บางคนมาเพราะไม่พอใจความอยุติธรรมทางการเมืองด้วยระบบสองมาตรฐานของรัฐบาล ตุลาการภิวัตน์ และบรรดากลุ่มการเมืองที่มีฐานอยู่ในเมือง
 
การที่ประชาชนคนเสื้อแดงไม่สามารถใช้ภาษาสวยหรูอธิบายความคับข้องใจและความปรารถนาของพวกเขาให้ชนชั้นกลาง-คนในเมืองรู้สึกประทับใจได้ ไม่ได้หมายความว่าพวกเขามองไม่เห็นปัญหาข้างต้น หรือขาดสำนึกในสิทธิทางการเมืองของตนเอง ตลอดจนความอยุติธรรมทางการเมืองที่ปรากฏในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา
 
การหยิบยกประเด็นเรื่องชนชั้นในนาม ‘ไพร่’ และ ‘อำมาตย์’ ของแกนนำ นปช.จึงเป็นถ้อยคำที่สามารถสื่อกับผู้คนในสังคมและบรรดากลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุด เพราะอำมาตย์คือ ตัวแทนของความอยุติธรรมที่พวกเขาเผชิญหน้าอยู่ในชีวิตจริง คือสิ่งที่ทำให้สิทธิทางการเมืองของพวกเขาถูกเหยียบย่ำ ดังนั้น การเรียกร้องประชาธิปไตยของพวกเขาจึงเป็นการแสดงออกทางการเมืองเพื่อแสดงให้เห็นว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน
 
ประการสำคัญ ไม่ว่าเหตุผลและการเข้าร่วมของบรรดากลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงจะเป็นเช่นใดก็ตาม ทุกคนควรเคารพในความคิดและจุดยืนทางการเมืองของพวกเขา เพราะหนึ่งเสียงของพวกเขาคือ หนึ่งสิทธิที่เท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ในสังคมนี้  
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท