Skip to main content
sharethis

ปีนี้เป็นวาระครบ 10 ปีเหตุการณ์ล้อมปราบการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ราชดำเนินและราชประสงค์ ในขณะที่คดีความของผู้เสียชีวิตไม่คืบหน้า ‘ความจริง’ ก็ดูยังไม่คลี่คลายหลายเรื่อง แต่ส่วนที่รุดหน้าที่สุดคือความพยายามบังคับปรองดอง นับตั้งแต่หลังเหตุการณ์ใหม่ๆ จนกระทั่งปัจจุบัน

รายงานชิ้นนี้ขอทวนความจำเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมในปี 2553 โดยแบ่งเป็นตอนที่ 1 ‘ความจริงจากกระดาษ’ อันหมายถึงการทบทวนรายงานหลักฉบับต่างๆ ว่าด้วยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในการล้อมปราบปี 2553 รวมถึงบทวิพากษ์รายงาน คอป.อันเป็นฉบับ ‘แห่งชาติ’  ส่วนตอนที่ 2  ‘บทเรียนจากผู้คน’ เป็นการสรุปบทสนทนากับบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเพื่อขอให้พวกเขาทบทวนบทบาทของตนเองในสถานการณ์นั้น เช่น

  • วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ หนึ่งใน ส.ว.ที่เข้าไปเจรจากลางม็อบ นปช.ก่อนสลายการชุมนุมไม่กี่ชั่วโมง
  • สมชาย หอมลออ เอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชน เป็นหนึ่งใน คอป.
  • โคทม อารียา นักสันติวิธี ผู้มีบทบาทสำคัญในการเจรจาต่างๆ รวมถึงสร้างพื้นที่ ‘เขตอภัยทาน’
  • จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.ผู้แข็งกร้าวในเวลานั้น
  • เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช.ฝ่ายสันติวิธี อดีตฝ่ายซ้ายที่เพื่อนร่วมทางเลี้ยวขวาจำนวนมาก

ความจริงจากกระดาษ

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาหลังความเสียหาย สังคมไทยได้รายงานเกี่ยวกับการค้นหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์อย่างน้อย 4 ฉบับจาก 4 หน่วยงาน ได้แก่

 

 

รายงาน

รายงานฉบับสมบูรณ์ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)

ความจริงเพื่อความยุติธรรม: เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53

รายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นชป. ระหว่างวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓

รายงานผลการดำเนินงานคณะกรรมการเพื่อติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา : ประเด็นการติดตามเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง ๑๒ มีนานคม ถึง ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓
 

 

 

หน่วยงาน

คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)

ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณีเม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.)

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

คณะกรรมการของวุฒิสภา (ส.ว.)

เผยแพร่

17 กันยายน 2555

19 สิงหาคม 2555

8 สิงหาคม 2556

ไม่ได้เผยแพร่

หนา

276 หน้า

933 หน้า

88 หน้า

255 หน้า(ไม่รวมภาคผนวก)

ทำงาน

2 ปี

2 ปี

ไม่ทราบแน่ชัด

1 ปี 4 เดือน

งบ

65 ล้าน

1.2 ล้าน

ไม่ทราบ

ไม่ทราบ

การเมืองของ ‘ข้อเท็จจริง’

หลังเหตุการณ์จบสิ้นลง ตัวเลขผู้เสียชีวิตถูกสรุปรวม คนต่างจังหวัดที่นอนข้างถนนนาน 2 เดือนพากันกลับบ้านอย่างเศร้าสร้อยเสียขวัญ คนชั้นกลางกรุงเทพฯ รวมพลังออกมาทำความสะอาดราชประสงค์กันคึกคัก มีการตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องนี้กันอย่างกระตือรือร้นจากหลายแหล่ง ชุดที่เป็นที่จับตา คาดหวัง และวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้น คอป.

หลังเหตุการณ์ 20 วัน คณะรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เห็นชอบให้มีการตั้ง คอป.ขึ้นโดยมี คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุดเป็นประธาน และให้ประธานเลือกกรรมการเอง 8 คน รวมทั้งตั้งอนุกรรมการเพิ่มเติมอีกหลายชุด

คู่ปรับสำคัญของ คอป.ก็คือ ศปช. ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งโดยนักวิชาการและอาสาสมัคร ตั้งใจเก็บข้อมูลของผู้สูญเสียฝ่ายประชาชนเป็นหลัก เมื่อครั้ง คอป.ออกรายงานมานั้น ตัวแทนจาก ศปช.ได้วิพาษ์รายงานของคอป.ไว้ในหลายประเด็นและหลายวาระโอกาส ชิ้นที่ชัดเจนที่สุดคืองานของพวงทอง ภวัครพันธุ์ ในรายงาน ใบอนุญาตให้ลอยนวลพ้นผิด: องค์กรอิสระในกรณีการสลายการชุมนุมปี 2553 (License to Impunity: Independent Organizations in the 2010 Crackdown)

รายงาน (คอป.) กล่าวโทษหนักเกินไปต่อผู้ประท้วง และเบาเกินไปสำหรับผู้ที่ใช้กำลังเข่นฆ่าเป็นส่วนใหญ่

นี่คือบทสรุปข้อวิพากษ์ที่น่าจะกระชับชัดเจนที่สุด จากบทความของ Duncan McCargo และ Naruemon Thabchumpon ในบทความชื่อ Wreck/Conciliation? The Politics of Truth Commission in Thailand ตีพิมพ์ใน Journal of East Asian Studies (2014) 

ในบทความของดันแดนฯ ได้นำเสนอสิ่งที่ผู้อ่านไทยอาจมองข้ามไปในหลายจุด เช่น

  • อคติต่อทักษิณ ชินวัตร ของประธานคณะกรรมการชุดนี้ (คณิต ณ นคร) โดยศึกษาผ่านหนังสือเล่มเล็กซึ่งเป็นสารของประธานที่เผยแพร่พร้อมรายงาน คอป. สารดังกล่าวมีข้อเสนอแนะให้ทักษิณหยุดเล่นการเมืองและอื่นๆ ดันแคนเห็นว่า คณิตได้ชี้ให้เห็นในหนังสือเล่มนั้นว่า เขาเริ่มต้นข้อตกลงกับสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่จะไม่เอ่ยชื่อผู้กระทำผิด ซึ่งนั่นแปลว่าเรื่องการเปิดเผยชื่อถูกตัดออกตั้งแต่เริ่มต้นการทำงานของ คอป.โดยนักการเมืองที่ตั้ง คอป.ขึ้นมาเอง นอกจากนี้คณิตยังเปรียบเทียบการขึ้นมาของทักษิณกับการขึ้นมาของฮิตเลอร์ ซึ่งการเปรียบเทียบเช่นนี้ดันแคนเห็นว่า สร้างปัญหาอย่างยิ่ง และมันยังทำให้การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ผู้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงในปี 2553 กลายเป็นผู้ร้าย
     
  • ในรายงานของ คอป. เน้นเรื่องการวิเคราะห์ ‘ราก’ ของปัญหาค่อนข้างมาก โดยเห็นว่า รากปัญหาเชื่อมโยงถึงคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญในคดีซุกหุ้นของทักษิณ ดันแคนเห็นว่า ความหมกมุ่นที่ คอป.มีต่อทักษิณดูเหมือนจะกลายป็นจุดศูนย์กลางของคำถามที่ล้อมรอบด้วยความตายในปี 2010 และโดยเปรียบเทียบ รายงานของ คอป.ก็โฟกัสเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับเหตุผลที่ว่า ทำไมกองทัพจึงไม่เคยอยู่ใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือนโดยแท้จริงเลย ซึ่งนั่นก็เป็นรากปัญหาที่สำคัญอันหนึ่งที่ก่อให้เกิดความรุนแรงทางการเมือง
     
  • ในรายงานทีมค้นหาข้อเท็จจริงใช้ภาพและการสัมภาษณ์แบบไม่เปิดเผยตัวตนเพื่อสนับสนุนข้อโต้แย้งของพวกเขาว่า ‘ชายชุดดำ’ ที่แยกคอกวัวและถนนดินสอเกี่ยวข้องกับ เสธ.แดง และแกนนำนปช.คนอื่นๆ ต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของพันเอก ร่มเกล้า ธุวธรรม และทหารอื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส เพราะกระตุ้นให้เกิดการตอบโต้อย่างก้าวร้าวจากทหาร อย่างไรก็ตาม ดันแคนเพิ่มเติมว่า แกนนำนปช. ปฏิเสธเรื่องนี้และตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงไม่มีชายชุดดำถูกจับได้ ในขณะที่ข้อมูล คอป.มาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐและนักข่าวต่างประเทศเท่านั้น ส่วนนักวิชาการบางส่วนก็แย้งว่า วาทกรรมของชายชุดดำสะท้อนให้เห็นถึงความคิด "ใบอนุญาตให้ฆ่า" ที่รัฐนำมาใช้
     
  • ดันแคนระบุว่า ในขณะที่ ศปช.เน้นย้ำว่ารัฐไทยไม่ยึดหลักการพื้นฐานของสหประชาชาติเกี่ยวกับการใช้กำลังเมื่อรัฐใช้ทหารและอาวุธร้ายแรงเพื่อควบคุมการประท้วง ในทางตรงกันข้าม คอป.กลับแสดงถึงการรับรู้ถึงสิทธิของรัฐในการใช้กำลัง แต่วิพากษ์วิจารณ์ถึงการใช้กำลังของทหารที่ไม่ได้สัดส่วนและมากเกินไป
     
  • อย่างไรก็ดี คอป.ก็ได้ระบุด้วยเหมือนกันว่า  ศอฉ.จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อการใช้กำลังเกินความจำเป็นในการสลายกาชุมนุมของพลเรือนผู้ประท้วง  แต่ดันแคนก็ขยายความต่อว่า ‘ความรับผิดชอบ’ ที่ว่านั้นไม่ได้ถูกให้รายละเอียดหรือให้ความสำคัญนักในรายงานหรือข้อเสนอแนะของ คอป. 
     
  • คำจำกัดความของ "การประท้วงอย่างสันติ" ก็เป็นประเด็นสำคัญ ขณะที่ ศปช.โต้แย้งโดยอ้างถึงสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ มาตรฐานที่การประท้วงโดยสันติสามารถกำหนดได้กว้างมาก และข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ประท้วงส่วนน้อยได้หันมาใช้ความรุนแรงในจุดวิกฤตบางจุด ไม่ได้ทำให้การเคลื่อนไหวอย่างสันติของเสื้อแดงโดยรวมเป็นโมฆะและไม่ได้ให้ความชอบธรรมในการปราบของรัฐ  ดันแคนเห็นว่า ในรายงานของ คอป. ดูเหมือนจะยอมรับความคิดของคานธีอย่างเคร่งครัดว่าการประท้วงโดยสันติ คือ การปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบโดยสิ้นเชิง ซึ่งนั่นเป็นมาตรฐานระดับสูง
     
  • ดันแคนสรุปไว้ค่อนข้างหนักหน่วงในตอนท้ายว่า คอป. ไม่มีความพร้อมใดๆ ที่จะ “ค้นหาความจริง” และอันที่จริงก็ไม่ใช่องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับ “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” อย่างแท้จริงด้วย เขาระบุว่า องค์กรอย่าง คอป.นั้นถูกทำให้เป็นการเมืองใน 2 ระดับ อย่างแรก คือช่วยพรรคประชาธิปัตย์ในการเบี่ยงเบนความสนใจไปจากความผิดของรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรง อย่างที่สอง คือการสร้างความชอบธรรมโดยตรงให้ความพยายามของพรรคเพื่อไทยในการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม และเพราะล้มเหลวที่จะเผชิญหน้าต่อสู้เรื่องการลอยนวลพ้นผิด คอป.จึงถือได้ว่าช่วยเตรียมฐานของการรัฐประหารในปี 2557 ข้อจำกัดและอคติของ คอป.ช่วยผลิตซ้ำวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดและปูทางสำหรับการแทรกแซงของทหารในครั้งอื่นๆ ซึ่งอาจนำไปสู่ความรุนแรงในอนาคต ทั้งๆ ที่คอป.มีโอกาสที่จะเรียกร้องให้กองทัพไทยชี้แจง แต่กลับล้มเหลวที่จะใช้โอกาสนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ

รายงานของ ‘คนกลาง’ ที่ไม่เคยถูกเปิดเผย

นปช.รับข้อเสนอกลุ่มส.ว.เป็นตัวกลางเจรจา เตรียมประสานฝ่ายรัฐบาล ผู้ชุมนุมโห่ร้องไม่เห็นด้วย
เมื่อเวลา 20.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ราชประสงค์ คณะส.ว.นำโดยพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา แถลงผลการหารือร่วมกับแกนนำนปช.มีมติตรงกันว่า แกนนำนปช.พร้อมที่จะให้มีการหยุดยิงและเรียกร้องให้กลุ่มคนเสื้อแดงที่ชุมนุมทุกพื้นที่เข้าสู่กระบวนการเจรจาหยุดการใช้ความรุนแรงตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป จากนั้นจะเตรียมเจรจากับทางรัฐบาลเพื่อยุติการใช้ความรุนแรงในวันพรุ่งนี้ (19พ.ค.) ทั้งนี้ พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า จะต้องหาความเห็นร่วมกันเพื่อหาทางยุติความขัดแย้งระหว่างคนเสื้อแดงและรัฐบาลให้ได้

ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. กล่าวว่า ทางกลุ่มเล็งเห็นความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น การตัดสินใจครั้งนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นผู้ชนะ แต่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องยุติความรุนแรง ที่ผ่านมาต้องมีบุคคลรับผิดชอบต่อกระบวนการยุติธรรม ย้ำว่าการเจรจาครั้งนี้จะไม่มีการนิรโทษกรรม เรื่องคดีความต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนข้อเท็จจริงพร้อมรับผิดหากเป็นไปตามพยานหลักฐาน? เช่นเดียวกับรัฐบาลก็ต้องรับผิดตามกระบวนการตามกฎหมายทั้งในและต่างประเทศด้วย

อย่างไรก็ตามมีกลุ่มผุ้ชุมนุมบางส่วนโห่ร้องแสดงความไม่พอใจกับคำกล่าวของพล.อ.เลิศรัตน์ ซึ่งกล่าวบางตอนว่า มีการใช้อาวุธกันโดยไม่เจตนา อีกทั้งทีมงานของคนเสื้อแดงที่อยู่หลังเวทีบางคนก็เดินเข้ามาตะโกนต่อว่า ระหว่างการแถลงข่าว พร้อมทั้งเรียกร้องให้ถอนคำพูด และขอให้ยกเลิกการเจรจา? แต่ในที่สุด นายณัฐวุฒิ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช.ก็ได้ขึ้นเวทีชี้แจงเหตุผลในการเจรจากับรัฐบาล วอนประชาชนทั้งหมดเข้าใจว่าการเจรจาครั้งนี้คือการเจรจาเพื่อให้หยุดยิง ไม่ใช่การเจรจาเพื่อขอยอมแพ้แต่อย่างใด

เวลาสองทุ่มครึ่งของคืนวันที่ 18 พ.ค.2553 คือ จุดเสร็จสิ้นกระบวนการ ‘หาทางลง’ โดยได้ข้อตกลงที่จะมีการเจรจาอีกครั้ง แต่ให้หลังไม่กี่ชั่วโมง เช้ามืดวันที่ 19 พ.ค.ปฏิบัติการทางทหารเพื่อสลายการชุมนุมแบบเบ็ดเสร็จก็เกิดขึ้น

คณะส.ว.ชุดนี้เป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญ 2550  ซึ่งกำหนดให้ครึ่งหนึ่งมาจากเลือกตั้ง ครึ่งหนึ่งมาจากการสรรหา ในบรรดาส.ว.ทั้งหมด 150 คน กลุ่มที่ต้องการทำหน้าที่เป็นตัวกลางหาพื้นที่เจรจาระหว่างรัฐบาล-ผู้ประท้วงมีอยู่ราว 60 คน และภายหลังจากการสลายการชุมนุม ในวันที่ 24 พ.ค.2553 พวกเขาได้หารือกับประธานวุฒิสภาเพื่อตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เพิ่งเกิดขึ้น แม้คณะกรรมการจะไม่มีอำนาจตามกฎหมายก็ตาม

คณะกรรมการดังกล่าวมีนายจิตติพจน์ วิรยะโรจน์ เป็นประธาน นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ เป็นรองประธาน นอกจากนั้นมีตัวแทนของกมธ.ต่างๆ ในวุฒิสภาชุดละ 1 คนเข้าร่วม พร้อมด้วยคนนอกอีก 3 คน หนึ่งในนั้น คือ โคทม อารียา รวมแล้วมี 29 คน คณะกรรมการนี้ประชุมร่วมกันโดยเชิญหน่วยงานต่างๆ ฝ่ายต่างๆ มาให้ข้อมูลรวม 64 ครั้ง ภายในเวลาปีเศษที่ทำงาน จนสามารถสรุปผลรายงานออกมาได้ในปลายปี 2554 แต่รายงานฉบับนี้ถูกเก็บเข้าลิ้นชัก ไม่ได้รับการเผยแพร่สาธารณะ กระทั่งนายวิชาญ รองคณะกรรมการได้พูดถึงรายงานฉบับนี้อีกครั้งในอีกหลายปีถัดมา

แม้คณะกรรมการชุดนี้จะประสบปัญหาเช่นดียวกับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงอื่นๆ ในเรื่องการไม่ได้ข้อมูลจากหน่วยงานรัฐ ด้วยข้ออ้าง 1.ความลับของทางราชการ และ 2. ใช้แทคติกส่งผู้แทนระดับรองซึ่งไม่ทราบข้อมูลมาประชุม กระนั้น เนื้อหาของรายงานที่ไม่เคยถูกเผยแพร่นี้ก็ยังน่าสนใจยิ่ง โดยเฉพาะ ‘ความล้มเหลว’ ของรัฐสภาไทย  โดยเฉพาะส่วนของ ส.ว.ซึ่งมี 2 ฝ่ายใหญ่ๆ คือ

1.กลุ่มที่ต้องการให้รัฐบาลใช้เวทีรัฐสภาแก้ปัญหาและพยายามเข้าไปรับฟังข้อเรียกร้องกับกลุ่มผู้ประท้วงเป็นระยะๆ เราจะเรียกกลุ่มนี้ว่า ‘ส.ว.คนกลาง’

2.กลุ่มที่เห็นแย้งกับกลุ่มแรกโดยตลอด คือ กลุ่ม ’40 ส.ว.’ นำโดย ไพบูลย์ นิติตะวัน, คำนูณ สิทธิสมาน, ประสาร มฤคพิทักษ์, สมชาย แสวงการ, บุญเฑียร บุญตัน, รสนา โตสิตระกูล, สุรจิต ชิรเวทย์ เป็นต้น

ข้อมูลไทม์ไลน์จากรายงานดังกล่าวมีส่วนที่น่าสนใจหลายประเด็น เช่น

  • หากไล่ดูไทม์ไลน์การเจรจาหรือการหาทางลงระหว่าง นปช.-รัฐบาล พบว่า การเจรจาเกิดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 28-29 มี.ค. แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ โดยนปช.เรียกร้องให้ยุบสภาภายใน 15 วัน แต่รัฐบาลขอเป็น 9 เดือน (ปลายปี 2553) อีกเกือบ 1 เดือนต่อมา วันที่ 24 เม.ย.วีระ มุสิกพงษ์ แกนนำ นปช.ระบุกับบรรดาทูตที่ไปเยี่ยมม็อบว่ายินดีจะเจรจากับรัฐบาลอีกครั้ง โดยขอให้รัฐบาลยุบสภาใน 30 วัน และขอให้มีคณะกรรมการที่เป็นกลางสอบสวนเหตุการณ์ 10 เมษา จากนั้นอีก 2 วัน คือ 26 เม.ย.ศอฉ.ก็เผยแพร่ ‘ผังล้มเจ้า’ ให้แก่สื่อมวลชน
     
  • ส.ว. 2 กลุ่มมีจุดขัดแย้งที่หนัก คือ วันที่ 8 เม.ย. 2553 ก่อนจะเกิดเหตุนองเลือด 10 เมษาที่เป็นปฐมบทแห่งความตายจำนวนมากเพียง 2 วัน ตัวแทนกลุ่ม ส.ว.คนกลางหารือด่วนกับประธานวุฒิสภาให้เรียกประชุมวุฒิสภาเป็นกรณีพิเศษ (หลังจากส.ว.กลุ่มนี้เคยยื่นเรื่องให้รัฐบาลเปิดการอภิปรายโดยไม่ลงมติเพื่อหาทางแก้ปัญหามาแล้ว 2 รอบ แต่ไม่ได้รับการตอบรับ) ประธานวุฒิเตรียมให้นัดประชุมเพื่อลงมติเปิดประชุมส.ว.ในวันรุ่งขึ้น  บ่ายวันนั้นเอง มี SMS จากส.ว.ที่อยู่ในกลุ่ม 40 ส.ว.คนหนึ่งส่งถึงสมาชิกว่า กลุ่มส.ว.คนกลางว่ากำลัง “กดดันประธานวุฒิสภาต้องเปิดสภาวันศุกร์นี้ เพื่อโจมตีรัฐบาลให้ยุบสภา หนทางแก้ไขคือไม่เข้าร่วมประชุมเพื่อไม่ต้องครบองค์ 75 คน ก็จะเปิดประชุมไม่ได้...” และเป็นจริงดังนั้น วันรุ่งขึ้นมีผู้เข้าประชุมเพียง 55 คน จึงไม่สามารถเปิดประชุมได้
     
  • 19 เม.ย.หลังเกิดความสูญเสีย 10 เมษาที่มีผู้เสียชีวิต 25 คน (ประชาชน 20 ทหาร 5) แล้ว ส.ว.คนกลางทำหนังสือเรียกร้องนายกฯ เปิดประชุมสภาเพื่ออภิปรายหาทางออกโดยไม่ลงมติอีกหน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ วันต่อมาวุฒิสภาเปิดการประชุมของส.ว.ได้สำเร็จมีการอภิปรายปัญหาต่างๆ และเน้นย้ำทางออกเดียวว่า ต้องเจรจา แต่ไม่มีคนของรัฐบาลเข้าร่วมฟังตามคำเชิญ ส.ว.จึงทำบันทึกการประชุมสรุปข้อเสนอแนะส่งให้รัฐบาล
     
  • 3 พ.ค. ส.ว.เปิดประชุมแบบพิเศษเพื่อพิจารณาขอเสนอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาเพื่อให้ครม.แถลงข้อเท็จจริงและปัญหา ขณะที่กลุ่ม 40 ส.ว.เรียกร้องให้นายกฯ ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดกับกลุ่มผู้ชุมนุม ตัดน้ำตัดไฟ ปิดทางเข้าออกที่ชุมนุม และเน้นย้ำว่านายกฯ ไม่จำเป็นต้องลาออกหรือยุบสภาหรือแก้รัฐธรรมนูญ ในวันเดียวกันช่วงดึก นายกฯ ได้แถลงผ่านทีวีพูลเสนอแผนปรองดอง 5 ข้อ พร้อมระบุว่าหากทุกฝ่ายยอมรับจะยุบสภาในวันที่ 14 พ.ย.2553 หรือราว 6 เดือนข้างหน้า
  1. ปกป้องเทิดทูนสถาบัน ไม่ให้ถูกดึงสู่ความขัดแย้งทางการเมือง
  2. เชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม ปฏิรูปอย่างรอบด้าน
  3. ปฏิรูปสื่อให้มีเสรีภาพและไม่สร้างความขัดแย้งเกลียดชัง
  4. ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง
  5. ปฏิรูปการเมืองแก้ไขกติกาไม่เป็นธรรม เช่น แก้รัฐธรรมนูญ
  • 2 วันต่อมาในวันที่ 5 พ.ย.นปช.ตอบรับแผนปรองดอง ไม่ต้องการนิรโทษกรรมแต่ต้องการให้สอบสวนดำเนินคดีเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างเป็นธรรม ขณะเดียวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) แถลงคัดค้านแผนปรองดองเพราะเป็นการทำลายกระบวนการปฏิรูปประเทศ ขณะที่แกนนำเสื้อหลากสี-กลุ่มใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น เห็นด้วยกับแผนปรองดองแต่ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา
     
  • สัปดาห์ถัดมา ในวันที่ 11 พ.ค. สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงในฐานะ ผอ.ศอฉ.เข้ารับทราบข้อกล่าวโทษร้องทุกข์ที่ DSI ตามที่พรรคเพื่อไทยและญาติผู้เสียชีวิตได้ยื่นคำร้องต่ออธิบดี DSI ให้ดำเนินคดีสุเทพในฐานะผู้ออกคำสั่ง ต่อมานปช.แถลงมติที่ประชุม ไม่ยอมรับว่าการที่สุเทพไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ DSI ว่าเป็นการมอบตัวเพราะไม่ได้ไปในฐานะผู้ต้องหา นปช.จึงจะชุมนุมต่อจนกว่าสุเทพจะมอบตัวในฐานะผู้ต้องหา เนื่องจากประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากในวันที่ 10 เมษาฯ ด้านนายกฯ เห็นว่า นปช.ไม่จริงใจเพราะหากรับแผนปรองดองก็ต้องไม่มีข้อแม้
     
  • 13 พ.ค.นายกฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง และระงับสาธารณูปโภค ปิดทางเข้าออกราชประสงค์ ในช่วงค่ำมีการลอบยิง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง ระหว่างให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศอยู่ในที่ชุมนุม

***วันที่ 13 พ.ค. ถือเป็นจุดตัดที่สำคัญ เพราะวันต่อมามีการประกาศเขตใช้กระสุนจริง ปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบได้เพิ่มยอดผู้เสียชีวิตจากเดิม 25 คนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 10 เมษา ไต่ระดับไปจนถึงกว่า 90 คนในระหว่างวันที่ 14-19 พ.ค.หรือภายในเวลา 5 วัน

  • 14 พ.ค.ศาลแพ่งยกคำร้องที่แกนนำ นปช. ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ขอให้มีคำสั่งไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าสลายการชุมนุมโดยใช้อาวุธสงคราม และห้ามไม่ให้มีการปิดกั้นหรือขัดขวางไม่ให้รถขนอาหารและน้ำไปในบริเวณพื้นที่ราชประสงค์
     
  • 15 พ.ค. กลุ่มส.ว.คนกลางแถลงขอให้รัฐบาลหยุดใช้อาวุธสงครามในการดำเนินการกับผู้ชุมนุมทันที ขณะที่แกนนำ นปช.มีมติเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดยิงและถอนทหารทันที โดยแกนนำพร้อมเดินหน้าเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการเจรจาเพื่อหาทางออกโดยสันติวิธี พร้อมเรียกร้องให้ตัวแทนจากองค์การสหประชาชาติมาเป็นคนกลางการเจรจา
     
  • 17 พ.ค. ศอฉ.ออกประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ชุมนุมโดยด่วน โดยเจ้าหน้าที่จะอำนวยความสะดวกให้เดินทางกลับบ้าน ด้านแกนนำ นปช.แถลงย้ำข้อเรียกร้องให้ถอนทหาร เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเท่าเทียมกับกลุ่ม นปช. แกนนำพร้อมเปิดการเจรจาเพื่อหาข้อยุติโดยยังจะไม่มีการยื่นเงื่อนไขใดๆ โดยทันที ด้านวุฒิสภา 64 คนจากกลุ่มส.ว.คนกลางเห็นควรส่งผู้แทนไปกรมทหารราบที่ 11 ซึ่งเป็นที่พักและที่ทำการรัฐบาลเพื่อเสนอให้ส.ว.เป็นผู้ประสานการเจรจาของสองฝ่าย
     
  • 18 พ.ค. นปช.ตอบรับการเป็นคนกลางของ ส.ว. ด้านประธานส.ว.โทรศัพท์ประสานแจ้งนายกฯ ทราบและนายกฯ ไม่ขัดข้อง พร้อมฝาก 3 ข้อคำถาม 1.เคลื่อนรถน้ำมันออกจากบ่อนไก่ได้หรือไม่ 2.ขอให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเด็กและผู้ต้องการกลับบ้านได้หรือไม่ 3.การให้หยุดสองฝ่ายแปลว่าอะไร ต่อมาเวลา 18.30 น. ตัวแทน ส.ว.5 คนได้เข้าพื้นที่ชุมนุมไปเจรจากับแกนนำ นปช. ในตู้คอนเทนเนอร์หลังเวทีซึ่งได้ข้อสรุปนำมาแถลงต่อมวลชนว่า พร้อมเข้าสู่กระบวนการเจรจา และหยุดใช้ความรุนแรงตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไปทั้งสองฝ่าย
     
  • 19 พ.ค.รัฐบาลยังคงปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ต่อไปตั้งแต่เช้า จนแกนนำยุติการสลายการชุมนุมในช่วงบ่าย อย่างไรก็ตาม ในรายงานคณะกรรมการชุดนี้เห็นว่า การเข้าไปประสานงานของ ส.ว.ได้รับการตอบรับด้วยดี การปฏิบัติการวันที่ 19 พ.ค.ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกหลายศพ ข้ออ้างของนายกรัฐมนตรีที่ว่า หลัง 19.00 น.ทางผู้ประท้วงยังมีการยิงอีกจึงยุติการเจรจาคณะกรรมการเห็นว่าเหตุใดจึงต้องกำหนดเงื่อนเวลาในการยุติการยิง หากไม่มีการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวและรอฟังผลการเจรจาระหว่างส.ว.กับแกนนำ นปช.อีกเพียง 2-3 ชม.แล้วยอมยุติการกระชับพื้นที่ในรุ่งเช้า 19 พ.ค.ให้เวลาแกนนำ นปช.ส่งผู้ชุมนุมกลับภูมิลำเนา ความสูญเสียคงไม่เกิดขึ้น หรือแม้มีการกำหนดเงื่อนไขเวลาไว้ก็ตาม หากยกเว้นแล้วนำสู่ผลดีต่อประเทศและประชาชน นายกฯ ก็ยังควรพิจารณา นอกจากนี้ หลัง 20.00 น. ตัวแทนส.ว.กับ นปช.บรรลุข้อตกลงและมีการแถลงผ่านสื่อมวลชนกว้างขวางแล้ว กว่าจะถึงเช้ายังมีเวลาพิจารณาสั่งยุติปฏิบัติการอีกหลายชั่วโมง จึงยังเป็น “คำถามว่า” เกิดอะไรขึ้น นายกฯ ทราบผลการเจรจานั้นหรือไม่ หรือนายกฯ ไม่สามารถทัดทานเปลี่ยนแปลงปฏิบัติการที่เตรียมไว้ล่วงหน้าได้
     
  • 24 พ.ค.ประธานวุฒิแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง

ในรายงานยังมีข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องที่ถูกเชิญมาให้ข้อมูลหลายส่วนที่น่าสนใจ อาทิ

  • ผู้แทนกองสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ระบุว่า สไนเปอร์นั้น สตช.เคยจัดซื้อไว้ใช้ในภารกิจปราบปรามผู้ก่อการร้ายและช่วยเหลือตัวประกัน 2 กระบอกคือ (ยี่ห้อเรมิตัน M24 ขนาด 7.62 และยี่ห้อเอช เค  M24 ขนาด 7.62) ปืนแต่ละกระบอกจะมีพลประจำปืนที่ได้รับการฝึกเป็นผู้ใช้เท่านั้น บุคคลอื่นไม่สามารถใช้ได้ หน่วยงานอื่นที่มีสไนเปอร์คือ ทหาร แต่ไม่ทราบรายละเอียด ส่วนเอกชนยืนยันว่าไม่สามารถหาซื้อได้  จากการเก็บหัวกระสุนของปืนสไนเปอร์ได้ในที่เกิดเหตุพบว่าเป็นยี่ห้อ ลาปัว ซึ่งไม่เคยมีการสั่งซื้อใน สตช.
     
  • งบในการสลายการชุมนุมในครั้งนั้นมาจาก งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่นั้น ในกรณีทั่วไปจะอยู่ที่วันละ 180-240 บาทตามลำดับชั้นยศ แต่กรณีการควบคุมการชุมนุม มี.ค.-พ.ค.2553 มีการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่วันละ 400 บาท ซึ่งเหตุที่สูงนั้นเป็นเพราะใช้มาตรฐานการอนุมัติในปี 2551 ในการควบคุมการชุมนุมกรณีปิดสนามบินสุวรรณภูมิ อย่างไรก็ตาม เอกสารคำของบประมาณทั้งหมดที่หน่วยปฏิบัติงานส่งมายังสำนักงบประมาณนั้นตีตราว่า “เอกสารลับ” จึงเข้าไม่ถึงข้อมูลรายละเอียด กระนั้น คณะกรรมการก็มีความเห็นว่า การเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงควรพิจารณาอย่างยุติธรรม เพราะภาคใต้มีความเสี่ยงมากกว่าแต่เบิกได้ 180 บาท ขณะที่ทหารพรานที่ปฏิบัติหน้าที่ตามชายแดนได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 45 บาท
     
  • ประเด็นการดำเนินคดี ตัวแทนตำรวจนครบาลชี้แจงในช่วงเวลานั้นว่า ได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีอาญาให้ DSI ที่มีคำสั่งนายกฯ ให้ดูแลกรณีต่างๆ จากการชุมนุมรวมแล้ว 209 คดี ประกอบด้วย การก่อเหตุร้าย 119 คดี การกระทำที่เป็นการขู่บังคับให้รัฐบาลกระทำหรือไม่กระทำการใดๆ 6 คดี การทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ 66 คดี การกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทหาร 18 คดี ส่วนการดำเนินการกระชับพื้นที่และขอคืนพื้นที่เป็นยุทธการของฝ่ายทหารทั้งสิ้น
     
  • ในช่วงเวลาดังกล่าว DSI ในยุคธาริต เพ็งดิษฐ์ แม้จะนั่งอยู่ใน ศอฉ.ด้วยแต่ก็ออกมาให้ข้อมูลเมื่อเดือนมกราคม 2554 ว่า มีคดีการเสียชีวิตประมาณ 13 คดีเกิดจาการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือวิสามัญฆาตกรรม นอกจากนี้ในเวลานั้น DSI ยังมีความเห็นขัดแย้งกับตำรวจนครบาลด้วยในกรณีนักข่าวญี่ปุ่น โดยตำรวจนครบาลระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต แต่ DSI เห็นแย้งจึงต้องให้อัยการฝ่ายคดีพิเศษสั่งคดี ส่วนคดีในวัดปทุมฯ DSI ยังยอมรับด้วยว่าการสอบสวนกำลังพลว่าหน่วยใดอยู่จุดใดทำได้ยากเนื่องจากกองกำลังทหารที่มาปฏิบัติการเป็นกองกำลังผสม เบื้องต้นสำหรับผู้เสียชีวิต 89 ราย ได้แบ่งเป็น 12 รายรวมพ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม เสียชีวิตจากชายชุดดำไม่ทราบฝ่าย, 13 รายเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่, ที่เหลือยังอยู่ระหว่างสอบสวน
     
  • ข้อสังเกตจากคณะกรรมการ มีดังนี้
    1. การชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นการชุมนุมที่อาจขัดต่อกฎหมายบางประการ
    "...ในระยะแรกของการชุมนุมแม้ว่าแกนนำจะประกาศว่า การชุมนุมจะยึดหลักประชาธิปไตยและสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรงและไม่สร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมือง แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมเพิ่มมากขึ้น การควบคุมดูแลให้การชุมนุมไม่ละเมิดกฎหมายเป็นเรื่องทำได้ยาก เห็นได้จากความรุนแรงที่เกิดระหว่างการชุมนุม การมีผู้นำอาวุธสงครามมาใช้ก่อเหตุความรุนแรง การละเมิดสิทธิพื้นฐานของผู้ไม่เกี่ยวข้อง เช่น การปิดถนน การยึดพื้นที่สาธารณะ ...อย่างไรก็ตาม นั่นก็มิได้หมายความว่า รัฐจะมีอำนาจจัดการควบคุมการชุมนุมโดยสามารถละเมิดกฎหมายหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญได้ กรณีที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ การนำป้ายประกาศ "เขตการใช้กระสุนจริง" ไปติดไว้บริเวณถนนราชปรารภถือได้ว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนสากลอย่างรุนแรง ยังไม่รวมกรณีอื่นๆ เช่น การปิดสื่อต่างๆ"
    2.ไม่ใช้กระบวนการรัฐสภาในการแก้ปัญหา
    ".... ทั้งรัฐบาล ฝ่ายผู้ชุมนุม และนักการเมืองบางคนบางฝ่ายไม่สนใจที่จะใช้กระบวนการรัฐสภาในการแก้ปัญหา เห็นได้จากการที่ฝ่ายบริหารบ่ายเบี่ยงและประวิงเวลาในการเข้าร่วมประชุมวุฒิสภา เพื่อชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันในสภา ในขณะที่ผู้ชุมนุมและประชาชนก็ขาดความเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา เนื่องจากสถาบันและกระบวนการรัฐสภาอ่อนแอ ไม่สามารถทำหน้าที่แก้ไขความขัดแย้งต่างๆ ที่ผ่านมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
    3. หลักเกณฑ์วิธีการในการจัดการดูแล-ควบคุม และสลายการชุมนุมไม่มีมาตรฐานและประสิทธิภาพเพียงพอ
    "....นอกจากกฎหมาย หลักเกณฑ์ วิธีการในการควบคุมดูแลการชุมนุมแล้ว กระบวนการ ขั้นตอน วิธีการ อุปกรณ์ ตลอดจนผู้ปฏิบัติงาน ล้วนแต่ไม่มีความพร้อมทั้งสิ้น เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ดูแลควบคุมและสลายการชุมนุม ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิการชุมนุมตามระบอบประชาธิปไตย สิทธิพลเมือง ขาดความรู้ความเข้าใจในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขาดความชำนาญและประสบการณ์เนื่องจากไม่ได้รับการฝึกฝน รวมทั้งขาดอุปกรณ์เครื่องมือที่เหมาะสม...ในอนาคตรูปแบบของการชุมนุมสาธารณะจะมีการพัฒนาที่ซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสาร...หากรัฐบาลไม่เตรียมความพร้อมในการรับมือการชุมนุมสาธารณะที่มีมาตรฐานและเป็นไปตามหลักสากลแล้ว อาจเป็นไปได้ที่ความสูญเสียในลักษณะเดียวกันนี้จะเกิดขึ้นอีก และน่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น
    4.ความจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่ปรากฏอย่างขัดเจน
    “การจะสร้างความปรองดองได้เบื้องต้นทุกฝ่ายต้องร่วมมือในการทำความจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกมิติให้ปรากฏอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย แต่ขณะนี้ความจริงต่างๆ ยังไม่ปรากฏชัดเจน เนื่องจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ยอมให้ความร่วมมือในกระบวนการค้นหาความจริงของฝ่ายต่างๆ ไม่ยอมเปิดเผยความจริง หรือเปิดก็เพียงบางส่วน ... เงื่อนไขที่เป็นกุญแจสำคัญในอันที่จะนำไปสู่การค้นหาความจริงได้ คณะกรรมการฯ หรือผู้ทำหน้าที่สอบสวนหาความจริงต้องมีความเป็นอิสระ และเป็นกลางอย่างแท้จริง ผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ทุกฝ่ายต้องยอมเปิดเผยความจริงทั้งหมด อย่างปราศจากอคติ เมื่อความจริงปรากฏชัดเจน ผู้สั่งการ ผู้กระทำผิดต้องยินยอมที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ยอมรับการลงโทษ และแสดงความขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างจริงใจ ในขณะที่ผู้เสียหายต้องได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรม ทั่วถึง เท่าเทียม จนนำมาสู่การยอมรับความจริงของทุกฝ่ายในสังคม และให้อภัยกันอย่างจริงใจ..."

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net