10 ปีล้อมปราบเสื้อแดง: บทเรียน(?) จากแกนนำ - นักสันติวิธี - คอป.- ส.ว.

การสนทนากับบุคคลต่างๆ เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเริ่มต้นอีกครั้งหลังจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของ นปช.หรือคนเสื้อแดงผ่านไปแล้ว 10 ปี เป็นการขอให้พวกเขาย้อนมองเหตุการณ์ว่าอะไรคือบทเรียนที่สำคัญ รวมถึงเล่าถึงบทบาทของตนเองและมุมมองของตนเองที่เปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนแปลงไปจากวันนั้น

  • วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ 1 ใน ส.ว.ที่เข้าไปเสนอการเจรจากลางม็อบ นปช.เมื่อ 18 พ.ค.2553
  • สมชาย หอมลออ เอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชน เป็น 1 ใน คอป.
  • โคทม อารียา นักสันติวิธี ผู้มีบทบาทสำคัญในการเจรจาต่างๆ รวมถึงสร้างพื้นที่ ‘เขตอภัยทาน
  • จตุพร พรหมพันธ์ุ แกนนำ นปช.ผู้แข็งกร้าว
  • เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช.ฝ่ายสันติวิธี

แน่นอนว่า บทสนทนาเหล่านี้ยังมีช่องว่างในทางเนื้อหาอยู่มาก เพราะยังขาดการสนทนากับบุคคลที่เกี่ยวข้องอีกมากมายหลายส่วนนัก แต่อย่างน้อยก็เป็นการเริ่มต้นบทสนทนาว่าด้วยการถอดบทเรียน และทำให้ความสูญเสียนี้ไม่ถูกลืมไปกับกาลเวลา

10 ปี ล้อมปราบเสื้อแดง: ความจริงจากกระดาษ(ที่เผยแพร่และไม่ได้เผยแพร่)

บทเรียนจากผู้คน

เ ข ต อ ภั ย ท า น 

เรื่องเขตอภัยทาน รัฐบาลต่อว่าผมหลังจากเกิดเหตุหลายครั้ง เขาว่าเขาวางแผนทุกอย่างไว้เรียบร้อยแล้ว เตรียมพาคนไปที่สนามกีฬาแล้วลำเลียงกลับบ้าน พอไปทำเขตอภัยทานตรงนั้นแล้วเกิดการยิงคนตาย 6 คน ทำให้นายกฯ ตกเป็นจำเลย ฝ่ายรัฐบาลปักหมุดไว้แล้วว่าเราไปขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต ฝ่ายสถานที่(วัด) ตอนหลังก็บอกไปไงมาไง อาตมาไม่รู้เรื่องด้วย ฝ่าย นปช.บอกว่านี่ไงถ้าไม่ไปหลงกลฝ่ายสันติวิธีเราก็จะไม่มีการสูญเสีย

โคทม อารียา เป็นนักวิชาการด้านสันติวิธีที่มีชื่อเสียงมายาวนาน ในปี 2553 สังกัดอยู่กับศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เขาย้อนเล่าถึงสภาพ ‘โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง’ หลังเกิดโศกนาฏกรรมไม่คาดฝันในวัดปทุมฯ ที่เขาประสานไว้เป็นพื้นที่เขตอภัยทาน และท้ายที่สุดเขาตัดสินใจจะไม่โต้แย้งใดๆ ไม่ว่ากับฝ่ายใดในเวลานั้น

ก่อนจะลงรายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขตอภัยทานในปี 2553 เราอาจต้องย้อนบทบาทของเขาไปไกลกว่านั้น การอยู่หว่างเขาควายสำหรับนักสันติวิธีมีมาตั้งแต่ยุค 6 ตุลาคม 2519 แล้ว หลังเขาเรียนจบวิศวกรรมไฟฟ้าจากฝรั่งเศสและมาเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ พักใหญ่ เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา สถานการณ์ความรุนแรงก็เข้าสู่โหมดสงครามมากขึ้นเรื่อยๆ  โคทมและเพื่อนพ้องทำกลุ่มประสานงานศาสนาและสังคมเก็บข้อมูลความรุนแรงที่เกิดจากทั้งสองฝั่งเพื่อนำเสนอข้อมูลต่อสังคมไทยและสังคมโลกโดยหวังให้มีการหาทางออกโดยสันติ แม้ในสภาพสู้รบ แนวคิดนี้จะถูกหาว่า ‘เพ้อเจ้อ’ รัฐบาลกล่าวหาว่ากลุ่มนี้เป็นภัยสังคม ขณะที่เพื่อนซึ่งเข้าป่าจับอาวุธก็กล่าวหาว่าแนวทางของเขาขัดขวางการปฏิวัติ แต่ในที่สุด สถานการณ์ก็คลี่คลายด้วยหลายปัจจัยนำมาสู่นโยบายปรองดอง 66/2523

กล่าวสำหรับปี 2553 โคทมให้ข้อมูลว่า มีเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครกลุ่มหนึ่งจำนวนไม่เกิน 20 คนที่ทำงานด้านการรับฟังและการสื่อสารอย่างสันติเข้าร่วมสังเกตการชุมนุม นับเป็นกลุ่มที่เล็กมากเทียบกับผู้ชุมนุมจำนวนมหาศาลและปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบที่เกิดขึ้น จึงไม่แปลกที่ตัวอย่างการทำงานที่เขาหยิบยกมาเล่าจะเกี่ยวกับกับสถานการณ์ก่อนเกิดความรุนแรงและหลังความรุนแรงเป็นหลัก เช่น กิจกรรมการบิณฑบาตอาวุธจากทุกฝ่ายตั้งแต่ช่วงแรกของการชุมมุน การช่วยเจรจาระหว่างมวลชนกับเจ้าหน้าที่ที่เผชิญหน้ากันในบางจุด หรือเป็น ‘เพื่อนรับฟัง’ ที่เข้าให้กำลังใจและรับฟังเรื่องราวของผู้ได้รับบาดเจ็บหรือได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมซึ่งไม่ใช่เพียงความสาหัสทางร่างกายแต่มีผลทางจิตใจอย่างหนักหน่วงด้วย

ตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของการประท้วง ก่อนความรุนแรงจะเกิดขึ้น โคทมเป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทในการ ‘ตะล่อม’ ให้การเจรจาของคู่ขัดแย้งเกิดขึ้น

“ผมคุยจนกระทั่งในที่สุดยอมจะคุยกัน ทีนี้หลังจากที่เราเตรียมทุกอย่างมาอย่างดีก็กำลังจะลงรายละเอียดว่าน่าจะพูดคุยกันอย่างไร แล้วไม่รู้ใครเสนอ ก็พูดเลยว่าไปพระปกเกล้า นัดสื่อเลย เขาไม่เอาอย่างที่เราเสนอ ได้แต่อ้างว่าเพื่อความโปร่งใสต้องคุยกันต่อหน้าสื่อ ออกโทรทัศน์ สำหรับผมการเจรจาไม่ใช้วิธีแบบนั้นถ้าจะคุยเพื่อหวังผล แต่นี่หวังในการสื่อสารกับกลุ่มของตัวเองซึ่งมันหาทางตกลงอะไรกันได้ยาก นี่เป็นทฤษฎีทั่วไปอยู่แล้ว กลายเป็นการดีเบตเพื่อสื่อสารกับท่านผู้ชมทางบ้าน เราก็ฟาวล์ไปทั้งที่พยายามอย่างมากเพื่อให้ได้คุยกันจริงๆ เพราะเราคุยได้ทั้งสองฝ่ายในระดับหนึ่ง นี่เป็นความพยายามทางด้านสันติวิธีที่ก็น่าเสียดายเหมือนกัน”

พอรัฐบาลเริ่มใช้ยุทธวิธีปิดล้อม ปิดทางลำเลียงเสบียงต่างๆ โคทมยังมีส่วนในการนำหน่วยงานต่างชาติเข้าไปดูการชุมนุม

“เราก็พยายามให้พวกกาชาดสากลอะไรต่างๆ เข้าไปในพื้นที่ รัฐบาลก็เหล่ว่าเดี๋ยวจะไปเข้าข้างและให้การช่วยเหลือ เพราะรัฐบาลมีกลวิธีก็คือปิดล้อม กะว่าจะไม่มีเสบียงอะไรประมาณนั้น แต่อันที่จริงปิดล้อมไม่สำเร็จหรอก  ยังไงก็มีทางเข้าไป เรื่องนี้เราก็ไม่เห็นด้วยเพราะไม่ใช่วิธีที่เหมาะสม”

โคทมระบุว่าตามทฤษฎีแล้วในสถานการณ์แบบนั้น จำเป็นที่จะต้องมี sanctuary หรือว่าพื้นที่ปลอดภัยและเมื่อพิจารณาดูแล้วดูเหมือนที่ที่เหมาะที่สุดคือ วัดปทุมวนารามฯ และเขารับเป็นตัวกลางประสานเจ้าอาวาสตามที่ทีมงานสันติวิธีมอบหมาย

“ผมไม่ได้อยู่บริเวณนั้นหรอกผมอยู่ที่ไหนสักแห่งหนึ่งก็ได้รับโทรศัพท์มาจากลูกน้องให้ผมโทรกลับไปคุยกับเจ้าอาวาสขออนุญาตให้เป็นพื้นที่อภัยทาน ผมโทรไป เจ้าอาวาสก็ยินดีตกลงกันอย่างดี ตอนนั้นท่านคงคิดว่าไม่ตายอยู่แล้ว ตอบชัดเจนว่าวัดเป็นเขตอภัยทานอยู่แล้วโยม ถ้าอย่างนั้นขออนุญาตนะครับ เอาป้ายไปติดไว้ที่วัดว่าเป็นเขตอภัยทาน ซึ่งตัวผมไม่ได้เข้าไปถึงที่เพื่อติดป้ายอะไร เพียงแต่รับติดต่อเจ้าอาวาส”

การตกลงนี้เป็นการตกลงระหว่างนักสันติวิธีกับเจ้าของพื้นที่ และไม่ได้เป็นการตกลงกับรัฐบาลแต่อย่างใด

“ใช่ เราไม่ได้ตกลงกับรัฐบาล รัฐบาลต่อว่าผมหลังจากนั้นหลายครั้งมากแล้วโกรธผมเลยนะ โดยเฉพาะคุณอภิสิทธิ์ เขาว่าวางแผนทุกอย่างไว้เรียบร้อยแล้วเพื่อเตรียมพาคนไปที่สนามกีฬาแล้วลำเลียงกลับบ้าน พอไปทำเขตอภัยทานตรงนั้นแล้วเกิดการยิงคนตาย 6 คน ทำให้นายกฯ ตกเป็นจำเลยของเหตุการณ์ แกบอกว่าเนี่ย ทำเสียเรื่อง 1.ตอนปิดล้อมก็ไม่ให้ความร่วมมือ 2.สร้างเขตอภัยทานทำให้คนมาต่อว่ารัฐบาล ผมคิดว่าทั้งสองฝ่ายติดใจเรื่องอยู่มาก”

“คิดดูคน 4-5 พันคนเข้าไปอยู่ในนั้น ในยามพลบค่ำหรือในยามดึกถ้าให้เดินออกไปสนามกีฬาเราจะเผชิญหน้ากันมากกว่านี้ไหม อย่าลืมว่าคนยังเชื่ออยู่นะว่าผู้ชุมนุมบางคนมีอาวุธ แล้วเกิดเหตุที่หน้าวัดก็เพราะเหตุนี้ไง ทหารขึ้นไปอยู่ข้างบนแล้วคุณหมอพรทิพย์บอกว่าวิถีกระสุนแนวราบ หมอพรทิพย์ก็พูดของท่านไปเรื่อย เอาเถอะจริงเท็จอย่างไรก็ต้องไปพิสูจน์”

“คนที่อยู่ในวัดจริงๆ ไม่มีความรุนแรง เพราะฉะนั้นเขตอภัยทานใช้ได้สำหรับผมนะ ผมไม่เคยเสียใจ แต่เสียใจว่าเหตุมันเกิดขึ้นนอกเขตวัด ซึ่งก็พอรู้ว่าคนทำก็ต้องเป็นฝ่ายทหาร พูดกันตรงไปตรงมา ไม่งั้นจะเป็นใคร อาจจะมียิงกันไปยิงกันมาตามกล่าวอ้างหรือเปล่าต้องพิสูจน์ สั่งไปรึเปล่าอาจจะไม่มีใครสั่ง แต่เขาก็บกพร่อง คิดว่ารัฐบาลก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น รัฐบาลคิดว่าได้เตรียมการไว้แล้ว แต่ผมคิดว่าการเตรียมการของรัฐบาลไม่การันตีเลยว่าคนจะปลอดภัย”

“การที่เราโดนต่อว่าก็ไม่ใช่เรื่องที่จะมา defensive มากเกินไป ผมคิดว่าให้คนที่ศึกษาเรื่องนี้ต่อไปเป็นประวัติศาสตร์ ปล่อยเขาไปศึกษาเอง เราไม่จำเป็นต้องออกไปอธิบาย เพราะว่าออกแถลงการณ์ไปอย่างไรมันโดนถล่มอยู่แล้ว เขาปักหมุดลงไปแล้ว ฝ่ายรัฐบาลปัดหมุดไว้แล้วว่าเราไปขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต ฝ่ายสถานที่บอกไปไงมาไงไม่รู้อาตมาไม่รู้เรื่องด้วย ฝ่าย นปช.บอกว่านี่ไงถ้าไม่ไปหลงกลฝ่ายสันติวิธีเราก็จะไม่มีการสูญเสีย แล้วคุณจะให้ผมไปแก้ตัว มันเป็นสมมติฐานที่มาหลังประสบการณ์ ถ้าเป็นอย่างนี้มันจะเป็นอย่างนั้น ถ้าทำแบบอภิสิทธิ์ทุกคนปลอดภัย ถ้าทำแบบ นปช.เราทุกคนปลอดภัย ถ้าเกิดอย่างนั้นจะเป็นอย่างนี้ แล้วต้องเถียงอีกสักเท่าไหร่ ใครจะเชื่ออะไรก็เชื่ออยู่แล้ว แล้วผมเอาหลักฐานอะไรไปบอกเขาได้ ผมก็ได้แต่บอกว่ามันเป็นอย่างนี้ๆ ตามการคลี่คลายของสถานการณ์ ผมก็บอกไปบ้างแล้วเพียงแต่ว่ามีคนฟังหรือไม่ฟังก็ไม่รู้”

“ผมได้ประกอบพิธี ขออโหสิกรรมกับญาติ ไม่ใช่ผมคนเดียวนะ ที่มหิดล เพราะว่าผมทำผิดพลาด ถ้าผมทำให้ดี ขออนุญาต เขตอภัยทานก็อาจจะไม่มีคนตาย โดยตรงโดยอ้อมผมไม่รู้ เหมือนพฤษภา 2535 ผมก็ทำพิธีขออโหสิกรรมกับญาติ ผมเกี่ยวไหม ผมเกี่ยวในตอนต้น แต่ผมไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ปะทะเลย คุณจำลอง (ศรีเมือง) เทคโอเวอร์ไปแล้ว”

เมื่อถามว่าเมื่อมองย้อนกลับไปจุดใดที่คิดว่าบกพร่องและอยากแก้ไข โคทมกล่าวว่า

“เราไม่รัดกุมรอบคอบ ตอนที่เรานัดให้เขามาคุยกัน ออกมากลายเป็นทอล์คโชว์ ทีนี้เราไม่สามารถบอกกล่าวกับคนที่ยังเชื่อว่าถ้าผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธหรือป้องกันตัวอะไรเลยมันจะแย่ ต้องมีอะไรบ้าง หรือถ้าเห็นไวไวคนเสื้อดำต้องเชื่อว่าเขามาช่วยปกป้องเรา จริงเท็จไม่รู้ แต่เมื่อเป็นอย่างนี้ทางสันติวิธีไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะมีบทบาทอะไร ไม่มีประจักษ์พยานเพียงพอ สิ่งที่เราทำได้ ไปเยี่ยมคนเจ็บป่วย ไปฟังเขา ให้กำลังใจปลอบประโลมเขา เพราะหลังความรุนแรงแล้วมันมีคนที่มีภาวะ trauma หรือแผลทางใจ เราก็ช่วยเท่าที่พอช่วยได้ ความจริงถ้าเรามีกำลังมากกว่านี้เราก็จะต้องจัดแบ่งกัน คนที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ คนที่ตามไปดูคนที่ถูกใช้ความรุนแรงกระทำ แล้วก็มองโอกาสไปข้างหน้าว่าจะแสวงหาพื้นที่ที่ปัญญาญาณจะได้นำไปสู่ผลลัพธ์อะไรได้บ้างในอนาคต”

“ถ้าจะให้ใช้สันติวิธีได้ผลจริงๆ มันก็ต้องเหมือนกับเป็นกองกำลังสันติวิธี มีคน มีทักษะ มีทรัพยากรต่างๆ เมื่อเทียบสิ่งนี้กับกองกำลังที่ติดอาวุธมันต่างกันเป็นร้อยเป็นพันเท่า สันติวิธีทำได้แค่นี้จะอ้างความสำเร็จในเชิงความคิดบ้างก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไป ก็ไม่ว่ากัน แต่เราต้องไม่อ้างว่านี่คือความสำเร็จของสันติวิธี เราทำก่อนแล้วจึงสามารถป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง เราทำระหว่างความรุนแรงเกิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้มันรุนแรงไปกว่านี้ หรือหลังจากความรุนแรงเกิดขึ้นแล้วก็พยายามจะเยียวยาจิตใจของคนที่ได้รับผลกระทบอะไรต่างๆ คือเราก็ทำทั้ง 3 เรื่องนี่แหละ เท่าที่พอจะทำได้ด้วยกำลังอันน้อยนิด ทรัพยากรที่แทบจะไม่มีอะไรเลย ได้ผลแค่ไหนก็ได้เท่าที่ปัจจัยมันเป็น คุณบอกสันติวิธีทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เราไม่มีศักยภาพที่จะทำกระบวนการนี้อย่างจริงจัง เพราะสังคมก็ยังมองไม่เห็นความสำคัญ ไม่เห็นสำคัญอะไรเลย”

ค น ก ล า ง

ก่อนที่เราจะออกมา (จากที่ชุมนุม) แกนนำบอกว่าทหารเคลื่อนย้ายมาแล้ว แต่เขาก็ยังหวังว่าจะคลี่คลาย แม้แต่ตำรวจเขาก็บอกว่าคืนนั้นกลับบ้านไปนอนหลับเลยเพราะคิดว่าพรุ่งนี้เช้าจบแล้ว แต่ที่ไหนได้ ตี 4 ตี 5 ก็มาดำเนินการ ที่พลิกผันก็เพราะรัฐบาลเขามีธงอยู่แล้ว เพียงแต่เขาไม่คิดว่าเราจะเข้ามาแทรก

ผมคิดว่าพลเรือนถูกทหารใช้ โดยที่ทหารไม่ต้องรับผิดชอบ ถ้าเป็นรัฐบาลทหาร ทหารยืนอยู่ข้างหน้า แต่ถ้าเป็นรัฐบาลพลเรือน พลเรือนยืนอยู่ข้างหน้า ทหารยืนอยู่ข้างหลัง เพียงแต่รัฐบาลพลเรือนยอมให้ใช้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น

วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ เป็น ส.ว.สรรหาสายอาชีพ (กลุ่มอาชีพประมง) มา 2 สมัยตั้งแต่ยุครัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ในเหตุการณ์ล้อมปราบปี 2553 เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มส.ว.ราว 60 คนที่กระตือรือร้นในการหาทางออก ไม่ว่าจะเป็นความพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลใช้สภาเป็นพื้นที่อภิปรายหาทางออก กระทั่งสถาปนากลุ่มส.ว.เป็นคนกลางในการเจรจากับ นปช.หลังจากการเจรจาออกทีวีล้มเหลวมาแล้วครั้งหนึ่ง

“คนเขามาแค่เรียกร้องยุบสภาเลือกตั้ง คืนอำนาจให้ประชาชน เราก็เห็นว่าเสื้อแดงต้องการแค่นี้ มันไม่ใช่ความเลวร้าย โดยมีคำถามเรื่องการตั้งรัฐบาลในค่ายทหารด้วยซึ่งไม่ใช่วิถีประชาธิปไตย ตรงนั้นนำไปสู่การเรียกร้อง”

“จุดบอดของการเปิดเวทีสาธารณะที่ไม่มีทางสำเร็จก็เพราะคนทั้งโลกเฝ้าดูอยู่ว่าใครจะยอมใคร ยอมอะไร ไม่มีเวทีไหนสำเร็จ มันต้องคุยกันในที่ลับ สมมติมีสิบข้อ ตกลงได้สามข้อ เอามาลิสต์ก่อน อีกเจ็ดข้อเก็บไว้ก่อน แต่ไม่ใช่มาบอกว่าข้อนี้ไม่เอา ข้อนี้ไม่เอา คนเชียร์ก็มีทั้งสองฝ่าย มันไม่มีประโยชน์ ควรเป็นสามฝ่ายนั่งคุยกัน มีเรื่องอะไรบ้างที่ตกลงกันได้ วันนี้เจรจาสำเร็จส่วนหนึ่ง สังคมก็เบาความตึงเครียดลง ส่วนที่ยังคุยกันไม่รู้เรื่อง พรุ่งนี้คุยใหม่ อีกสามวันคุยใหม่”

นั่นคือมุมมองการเจรจาของวิชาญ อย่างไรก็ตาม ผ่านเวลามานับ 10 ปี วิชาญวิจารณ์บทบาทของอดีตนายกฯ ในขณะนั้นโดยแสดงความผิดหวังอย่างชัดเจน  

“นากยฯ อภิสิทธิ์ เขาจบจากเมืองนอก ตอนนั้นเราคิดว่าเขาน่าจะ open มากกว่าคนอื่น แต่ปรากฏว่าเขาไม่ฟังอะไรเลย และที่ทำให้เรารู้สึกคือไปตั้งฐานอยู่ในราบ 11 เรียกว่าย้ายบ้านไปอยู่ที่นั่นเป็นเดือน ข้อมูลข่าวสารทั้งหลายจึงไปด้านเดียว มันทำให้คิดแต่ว่าอีกฝ่ายจะล้มล้างรัฐบาล แทนที่เขามีปัญหามาพูดจะเปิดใจฟัง ตอบสนองยังไงก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ไม่ใช่ปิดประตูเลยคิดว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม”

“ตอนนั้นเราพยายามจะทำหลายอย่าง เรียกร้องให้เปิดสภา รัฐบาลก็ไม่ยอมเปิด ตอนนั้น ส.ว.ที่แอคทีฟกับเรื่องนี้มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเรากับกลุ่ม 40 ส.ว. ต้องเข้าใจว่ากลุ่ม 40 ส.ว.พัฒนามาจาก สนช. ตอนแรกผมเป็นหนึ่งในกลุ่ม 40 เพราะฐานของผมมาจากการสรรหาสายอาชีพ เป็นตัวแทนชาวประมง ในกลุ่ม 40 ส่วนใหญ่จะเป็นส.ว.สรรหาเป็นหลัก เราก็ร่วมประชุมกับเขา สักพักหนึ่งคิดว่ามันไม่ใช่ คือคุณมีธงอยู่แล้ว อะไรที่รัฐบาลทำสนับสนุนหมด อะไรเป็นของฝ่ายค้านไม่เอาหมด ในเมื่อคุณเป็นส.ว.คุณต้องอยู่ตรงกลาง จะกลางมากกลางน้อยก็อีกเรื่องหนึ่งแต่อย่างน้อยต้องแสดงความเป็นกลาง ต้องรับฟังทุกฝ่าย เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เกิด conflict แล้วแตกออกเป็น 2 กลุ่ม”

“ทางเราพยายามขอให้เปิดเวที ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดสภาในการรับฟังเสียงสมาชิก แต่ประชาธิปัตย์ไม่เคยเปิดสภา เราใช้สิทธิขอเปิดสภาส.ว.แต่ก็ไม่ได้ข้อยุติเพราะมีกลุ่ม 40 ส.ว.โต้แย้ง ทั้งที่ถ้าเปิดเวทีสภาอย่างน้อยที่สุดมันก็เหมือนการเปิดฝากาต้มน้ำร้อน เหตุผลที่เขาให้คือ เราจะไปเป็นเครื่องมือของอีกฝ่ายหนึ่ง จริงๆ แม้แต่ของ กปปส.เราก็ใช้ความพยายามในการเปิดเวทีสภา รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ในสมัยนั้นเขาก็ยอมเปิดสภาอภิปรายเพื่อหาทางออกร่วมกัน”

บทบาทหนึ่งที่สำคัญของ ส.ว.กลุ่มนี้ และเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่หากทำสำเร็จ อย่างน้อยก็ลดความเสียหายในวันสลายการชุมนุมวันที่ 19 พ.ค.2553 ไปได้ (แม้ตอนนั้นจะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากแล้ว โดยขยับเพิ่มขึ้นสูงถึง 50-60 คนภายในเวลา 5 วันนับตั้งแต่ ศอฉ.ประกาศเขตใช้กระสุนจริงในวันที่ 13 พ.ค.)

“วันที่ 17 พ.ค. เราเห็นว่าแม้คุยรอบแรกแบบถ่ายทอดสดมันล้มไปแล้ว แต่เราคิดว่ามันยังมีโอกาส โดยเราเสนอตัวเป็นคนกลาง เราไปคุยกับนายกฯ นายกฯ ไม่ให้พบ...เราจึงคุยกับประธานวุฒิฯ ประธานคุยกับนายกฯ ว่าโอเคไหม โอเค ตัวแทนเราก็ไปนั่งในตู้คอนเทนเนอร์วันที่ 18 พ.ค.เราเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอันตรายขนาดไหน จนกระทั่งตอนจะออก เขาให้เรานั่งมอเตอร์ไซค์ออกเพราะอยากให้ออกเร็วที่สุด ถ้าพวกเราเป็นอะไรไปเขาจะเดือดร้อนเสียหาย ตอนนั้นยังไม่ 2 ทุ่มดี”

“ผมเจอแกนนำครบในตู้คอนเทนเนอร์ เขาก็คิดว่านี่คือทางออกสำหรับเขา ผมเข้าใจว่าเสื้อแดงเองก็ล้าเต็มที เขาก็ไม่รู้จะไปไหนต่อ พอเรายื่นข้อเสนอเขาก็ตอบรับ เราบอกว่าเราขอเป็นคนกลางในการเจรจา เราเป็นฝ่ายที่สามว่างั้นเถอะ แล้วก็เอาข้อเสนอของอภิสิทธิ์ไปคุยว่าให้เคลื่อนย้ายรถน้ำมันออก ขอให้หยุดยิง ทางฝ่ายเสื้อแดงก็ตอบรับ ก่อนที่เราจะออกเขาบอกว่าทหารเคลื่อนย้ายมาแล้ว คือรู้ตัวแล้ว แต่เขาก็ยังหวังว่าจะคลี่คลาย แม้แต่ตำรวจหลายๆ กลุ่มตอนหลังที่เราเชิญมาให้ข้อมูลตอนตั้งกรรมการฯ เขาก็บอกว่า คืนนั้นกลับบ้านไปนอนหลับเลยเพราะคิดว่าพรุ่งนี้เช้าจบแล้ว แต่ที่ไหนได้ ตี 4 ตี 5 ก็มาดำเนินการ เราเองก็ผิดคาด”

“ที่พลิกผันก็เพราะรัฐบาลเขามีธงอยู่แล้ว ผมมาดูตอนหลัง เขาเตรียมการไว้หมดแล้ว พอเราแทรกเข้าไป เขาก็ไม่รู้จะทำยังไง หลังเอาข้อเสนอไปบอกเขา เขาไม่ตอบรับ เขาบอกว่าเสื้อแดงผิดสัญญา ยังมีการยิงหลัง 6 โมง ผมบอกว่า นายกฯ เข้าใจผิดหรือเปล่า เราเข้าไป 6 โมงกว่า มันเลยเวลาที่บอกให้หยุดยิงแล้ว นายกฯ จะมาอ้างหกโมงไม่ได้ในการไม่ตอบรับ ผมเชื่อว่าเขามีแผนไว้หมดแล้ว เผอิญเราแทรกเข้าไป มันสะท้อนกลับว่าเขาไม่ได้จริงใจในการจะให้เกิดการพูดคุย”

อันที่จริงหลังเหตุการณ์สูญเสียครั้งแรกในวันที่ 10 เมษายน 2553 ส.ว.กลุ่มนี้ก็เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อติดตามตรวจสอบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เผอิญว่าถึงเวลาปิดสภาพอดี ประกอบกับที่กลุ่ม 40 ส.ว.ได้คัดค้าน

“กลุ่มนั้นเขาบอกว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาทางยุทธศาสตร์ เราไม่ควรไปยุ่ง แล้วบังเอิญสภาปิดสมัยประชุม ประธานก็มาคุยกับผมแล้วบอกว่าตั้งกรรมการแล้วกัน  แต่กรรมการอำนาจไม่เหมือน กมธ. เพราะกมธ.เป็นตามกฎหมาย ส่วนกรรมการตั้งตามอัธยาศัย แล้วก็มีการเสนอให้ไปดึง กมธ. 22 คณะของ ส.ว. ให้ส่งตัวแทนคณะละ 1 คนมาเป็นกรรมการ แล้วตั้งคนนอก 3 คน แล้วผมเป็นรองประธาน มีการเชิญหน่วยงานต่างๆ มา พอเป็นกรรมการก็มีอำนาจน้อย สุดท้ายก็ส่งแต่ลูกน้องมา เอาข้อมูลมาตอบบ้างไม่ตอบบ้าง ตอบตรงบ้างไม่ตรงบ้าง แต่ก็พอได้ข้อมูล หลังจากเราทำรายงานเสร็จแล้ว ประธานก็เก็บเข้าลิ้นชัก ไม่ได้เผยแพร่ในเว็บไซต์อะไรทั้งสิ้น มีผมเอามาเผยแพร่ในช่วงหลังเพราะผ่านประธานมา 3 คนแล้ว ผมแจกละ ไม่มีใครห้ามนี่”

วิชาญยืนยันว่าเขาเชื่อในการเจรจาซึ่งเป็นทางออกของปัญหาในทุกระดับความขัดแย้ง ไม่จำเป็นต้องจบด้วยความรุนแรงซึ่งรังแต่จะสร้างความบอบช้ำให้ประเทศชาติ โดยเขายกตัวอย่างประเทศโมแซมบิก ที่เขาได้เป็นกงศุลกิตติมศักดิ์ ประเทศซึ่งผ่านการรบพุ่งมายาวนานนับทศวรรษ แต่สุดท้ายผู้นำสองฝ่ายก็ ‘จับเข่า’ คุยกัน ต่อรองกัน โดยมีเป้าหมายเป็นผลประโยชน์ชาติและทางออกก็เกิดขึ้นได้จริง เพียงแต่ผู้เจรจาควรเป็น ‘ตัวจริง’ ที่มีอำนาจตัดสินใจและรักษาคำมั่นสัญญาต่อกัน

“ผมคิดว่าพลเรือนถูกทหารใช้ โดยที่ทหารไม่ต้องรับผิดชอบ ถ้าเป็นรัฐบาลทหาร ทหารยืนอยู่ข้างหน้า แต่ถ้าเป็นรัฐบาลพลเรือน พลเรือนยืนอยู่ข้างหน้า ทหารยืนอยู่ข้างหลัง เพียงแต่รัฐบาลพลเรือนยอมให้ใช้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วคุณอภิสิทธิ์ก็ดี คุณสุเทพก็ดี ผมมองว่าไม่ใช่ กองทัพทั้งนั้น เขาเพียงผลักคุณมายืนข้างหน้า”

ก ร ร ม ก า ร อิ ส ร ะ

ผมยอมรับว่าผมบกพร่องในเรื่องการ present ที่ไปเน้นเรื่องชายชุดดำ เพราะมันเป็นคำถามที่คาใจของสังคมอยู่ในขณะนั้นว่ามีชายชุดดำจริงไหม ชายชุดดำเป็นใคร แต่เราไม่เคยบอกเลยว่าชายชุดดำเป็น นปช. เราเพียงบอกว่าปะปนอยู่ในหมู่ผู้ชุมนุม ...การที่เรานำเสนอในรายงานโดยไปเน้นเรื่องชายชุดดำมากเกินไป มันเลยเกิด politicize ทั้งๆ ที่เนื้อหาในรายงานของเรามันค่อนข้างรอบด้านอยู่ แม้ไม่มีรายละเอียดแน่นอนเพราะเราไม่มีอำนาจในการตรวจสอบ

เราเริ่มทำ statement taking ช้าไป มันคือการให้ผู้ที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงมาบอกเล่า เป็นเรื่องสำคัญมาก นี่เป็นกระบวนการของการเยียวยาด้วยอย่างหนึ่ง และเป็นกระบวนที่ถึงแม้เขาจะพูดถูก-ไม่ถูก ไม่เป็นไร เพราะเขาเป็นผู้ถูกกระทำ เขาต้องมีสิทธิพูด

สมชาย หอมลออ เป็นคนเดือนตุลาที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมายาวนาน หลากหลายประเด็น และเป็นที่รู้จักในทางสากลเป็นอย่างดี เขาเป็นผู้หนึ่งที่แสดงตนต่อต้าน ‘ระบอบทักษิณ’ ตั้งแต่สมัยที่เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงต่อต้านนโยบายสงครามยาเสพติดซึ่งส่งผลให้เกิด ‘การฆ่าตัดตอน’ จำนวนมาก จนกระทั่งปัจจุบันเขาก็ยอมรับว่าตนเองมีอคติต่อตัวอดีตผู้นำ แต่ไม่ได้เหมารวมไปถึงประชาชนคนเสื้อแดงผู้รักทักษิณ เขายังนับถืออดีตสหายหลายคนที่เคลื่อนไหวกับขบวนการเสื้อแดงด้วยและเชื่อว่าพวกเขาเหล่านั้นต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นจริงๆ แม้ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการร่วมมือกับนายทุนนักการเมือง

สำหรับการชุมนุมของคนเสื้อแดง เขาอธิบายเท้าความถึงรากเหง้าของปัญหาในสังคมไทยที่ถมและทับคนชั้นล่าง คนรากหญ้ามายาวนาน ไม่ว่าจะเรื่องความเหลื่อมล้ำ ระบบอุปถัมภ์ กระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน แม้แต่ปัญหาประชาธิปไตยไทยที่ไม่เคยได้เติบโตเข้มแข็งเพราะมีการทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญบ่อยครั้ง ยิ่งไม่ต้องพูดถึงหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งไม่อาจตั้งมั่น ไม่มีการปลูกฝังสร้างความเข้าใจ กระทั่งไม่ได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชน

“เรื่องนี้คงต้องย้อนไปตั้งแต่การยุบพรรคของอดีตนายกฯ ทักษิณ การกระทำหลายอย่างของผู้มีอำนาจในตอนนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเลือกตั้งแล้วแพ้ พรรคของอดีตนายกฯ ทักษิณได้คะแนนมากกว่าก็ยึดอำนาจโดยทหาร ผู้ที่สนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณหรือคนที่ต้องการปกป้องส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยก็มีความรู้สึกไม่พอใจ เกิดการชุมนุมขึ้นเริ่มจากการชุมนุมคัดค้านรัฐประหาร 2549 พอมีรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เขาก็มองว่าจัดตั้งรัฐบาลได้เนื่องจากมีอำนาจนอกระบบเข้ามาจัดการ ความไม่พอใจเฉพาะหน้านี้มันก็สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำ การเลือกปฏิบัติ สองมาตรฐาน ไม่มีประชาธิปไตยที่เป็นธรรม”

“ผมคิดว่าผมไม่ได้มี bias กับการชุมนุมของ นปช. ถึงแม้ว่าผมอาจไม่เห็นด้วยที่นักการเมืองออกจากสภามาลงถนน ผมคิดว่านักการเมืองออกจากสภา ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ลงมาสู่ถนน มันเกินกรอบของบทบาทที่ควรจะเป็น” เขาตอบคำถามว่ามี bias กับกลุ่ม นปก.หรือไม่

ต้องยอมรับว่า หลายปีก่อนสมชายถูกวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างหนักเนื่องจากเขามีบทบาทโดดเด่นอยู่ในคณะกรรมการอิสระค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตั้งขึ้นไม่กี่วันหลังการสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 90 ราย

“จริงๆ มันไม่ถูกแต่แรกแล้ว เพราะรัฐบาลเป็นคนตั้ง แต่อาจารณ์คณิต (ณ นคร) ก็บอกว่าก่อนที่อาจารย์จะรับตำแหน่งนี้ อาจารย์ได้ไปคุยกับผู้นำของ นปช.แล้วว่าถ้าอาจารย์จะมาเป็นอันนี้โอเคไหมเพื่อจะสร้างความปรองดองกัน อาจารย์บอกว่าผู้นำเหล่านี้เห็นชอบ อาจารย์จึงคิดว่าคงทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ ผมก็เหมือนกัน ผมคิดว่าเมื่ออาจารย์คณิตพูดแบบนี้ เราสามารถทำงานได้อย่างเป็นกลาง” สมชายเริ่มต้นสรุปบทเรียนด้วยการอธิบายการตัดสินใจก้าวแรก

“เราทำงาน ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้แทรกแซงเลย เพียงแต่เราไม่มีอำนาจในทางกฎหมายใดๆ นอกจากการขอความร่วมมือ ช่วงแรกเราได้รับความร่วมมือพอสมควรจากฝ่ายราชการ แต่ช่วงหลังเข้าใจว่าข้าราชการโดยเฉพาะฝ่ายทหารเขาเกรงว่าเขาจะมีปัญหาในทางคดี การมาให้ข้อเท็จจริงและถ้อยคำของฝ่ายทหารจึงให้เป็นแพทเทิร์นเดียวกันหมด คือมีการเตรียมกันมา อันนี้ก็เข้าใจได้อยู่ เพราะเราไม่มีอำนาจไปอภัยโทษหรือนิรโทษกรรมเขา การที่เขามาให้ข้อเท็จจริงตรงไปตรงมาอาจโดนคดีซึ่งมีอายุความ 20 ปี นปช.ก็ให้ความร่วมมือพอสมควรช่วงแรก แต่ช่วงหลังก็ไม่ให้ความร่วมมือ ส่วนหนึ่งก็เหตุผลเดียวกัน เราไม่มีอำนาจในการที่จะไปยกเว้นโทษหรืออภัยโทษ”

“เวลาที่เราทำงานมันสั้นมาก เขา (ทหาร) ไม่ส่งเอกสาร แผนปฏิบัติการก็ไม่ได้ เราได้จากสื่อเป็นส่วนใหญ่แล้วก็เพียงคร่าวๆ เท่านั้น ข้อมูลข้อเท็จจริงหลายอย่างเราต้องหาเองหมด เช่น วิถีกระสุน วิถีกระสุนที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานรายงานเป็นวิถีกระสุนที่ยิงมาจากด้านผู้ชุมนุมทั้งนั้น เขาไม่ทำรายงานวิถีกระสุนที่ยิงจากเจ้าหน้าที่เลย”

เมื่อถามถึงการทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านมารวมถึงบทบาทของเขาในฐานะหนึ่งใน คอป. เขาให้ความเห็นที่น่าสนใจหลายประการ รวมถึงการอธิบายข้อวิพากษ์อันหนักหน่วงสืบเนื่องจากการแถลงข่าวรายงานของคอป.เมื่อปี 2555 ด้วย ตอนนั้นหลายส่วนเห็นว่า คอป.แถลงมุ่งเน้นเรื่องชายชุดดำจนอาจสร้างความชอบธรรมให้กับปฏิบัติการรุนแรงของรัฐ

“มันต้องดูรายงานทั้งหมด ผมก็ยอมรับว่าผมบกพร่องในเรื่องการ present ที่ไปเน้นเรื่องชายชุดดำเพราะมันเป็นคำถามที่คาใจของสังคมอยู่ในขณะนั้นว่ามีชายชุดดำจริงไหม ชายชุดดำเป็นใคร ในช่วงเวลา present สั้นๆ ผมไปเน้นในจุดนี้ โดยเข้าใจว่าเรื่องทหารยิงคนนั้นคนนี้มันเห็นอยู่แล้ว มันไม่ต้องสืบ การตายในวัดปทุมวนาราม 6 ศพ ถ้าไปอ่านรายงานจะเห็นเลยว่าเป็นฝีมือทหารจาก BTS เพราะเรามีวิถีกระสุน มีอะไรต่างๆ แต่เราไม่เคยบอกเลยว่าชายชุดดำเป็น นปช. เราเพียงบอกว่าปะปนอยู่ในหมู่ผู้ชุมนุม แล้วมีการสนับสนุนบางส่วนจากการ์ดบางกลุ่มของผู้ชุมนุม อันนี้ก็ต้องยอมรับว่า ผู้นำ นปช.บนเวทีบางคนขึ้นไปพูดให้ใช้ความรุนแรงอะไรต่างๆ พูดในลักษณะเช่นนั้น แล้วตอนหลังมาปฏิเสธว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่ นปช.ได้ยังไง บางคนตอนนี้ก็ไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ”

“ส่วนตัวผมก็ทบทวนตัวเองอยู่ตลอดเวลา อย่างผมก็ไม่ถูกที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง เป็นการชุมนุมโดยไม่สงบ เจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะใช้กำลังได้ แต่ว่าไม่ได้สื่อสารหรืออธิบายไปโดยละเอียดว่าอย่างไร เช่น ความจำเป็น โดยได้สัดส่วน มันมีเรื่องกฎของการใช้กำลังอยู่ จึงเป็นจุดหนึ่งเหมือนกันที่ไม่รู้ว่ามีบทบาทไหมให้บางคนสามารถเอาไปอ้างในการใช้กำลังต่อฝ่ายผู้ชุมนุม”

“รัฐใช้อาวุธได้ตามความจำเป็นและตามสมควร แต่จะต้องมีเป้าหมายในการยับยั้งผู้ที่ทำลายชีวิตเท่านั้น นั่นคือหลักของการป้องกัน การใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ทำให้ผู้ชุมนุมที่ไม่มีอาวุธเสียชีวิตมากมายไม่ถูกต้องแน่ และรายงานของเราสรุปตั้งแต่พื้นฐานเลยว่าไม่ควรเอาทหารเข้ามาควบคุมการชุมนุม อันที่สอง ผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่มาควบคุมการชุมนุมไม่ควรมีอาวุธ เพราะการมีอาวุธมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะใช้อาวุธต่อผู้ชุมนุม และยังเป็นการยั่วยุความโกรธของผู้ชุมนุมด้วย”

สิ่งที่เขาเสียดายว่า คอป.ทำไม่ทัน ทำไม่สำเร็จ ก็คือ statement taking อันหมายถึงการบันทึกถ้อยคำ ปากคำของผู้สูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข้อเท็จจริงหรืออารมณ์ความรู้สึก

“อีกเรื่องคือ เราเริ่มทำ statement taking ช้าไป ไม่ทันได้เผยแพร่ มันคือการให้ผู้ที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงมาบอกเล่า เป็นเรื่องสำคัญมาก นี่เป็นกระบวนการของการเยียวยาด้วยอย่างหนึ่ง และเป็นกระบวนที่ถึงแม้เขาจะพูดถูก ไม่ถูก ไม่เป็นไร เพราะเขาเป็นผู้ถูกกระทำเขาต้องมีสิทธิพูด นอกจากนี้อาจจะมีอะไรสานต่อไปอีก เช่น การเปิดเผยข้อเท็จจริงที่ยังมีการตรวจสอบไม่หมด หรือเรื่องที่มาจากปากคำของผู้ที่เกี่ยวข้องเอง ที่เราเรียกว่า public hearing”

สมชายสรุปอุปสรรคในฐานะกรรมการอิสระอีกครั้งว่า นอกจากคณะกรรมการจะต้องเป็นกลางแล้ว ยังควรต้องมีอำนาจในการออกหมายเรียกบุคคล มีอำนาจในการต่อรองกับบุคคลเพื่อให้เขาเต็มใจให้ข้อมูลได้ เช่น หากเขาให้ข้อเท็จจริงถูกต้อง ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นผู้ละเมิด เขาอาจจะไม่ต้องถูกดำเนินคดี แต่ถ้าหากถูกดำเนินคดีเขาก็จะไม่ต้องรับโทษ หรือถ้าเขารับโทษก็รับแบบมีเงื่อนไขบางอย่าง เช่น การขอโทษ ชดเชยเยียวยาให้กับคนที่เขาไปละเมิด เป็นต้น อีกประการที่สำคัญ คือ ต้องมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง หรือการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบัน อย่างการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง จัดโครงสร้างของทหาร ทหารจะต้องไม่มายุ่งเกี่ยวกับกิจการทางการเมือง และไม่ต้องมายุ่งเกี่ยวกับการชุมนุมใดๆ ทั้งสิ้น ไปจนกระทั่งปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจทางสังคม

แ ก น นำ

ถ้ายอมยุติจะมีชุดใหม่เข้ามานำเลย และชุดใหม่จะไม่เข้าใจบริบทอย่างที่เราเข้าใจ ไม่สามารถควบคุมหรือจัดการอย่างที่เราทำ จะกลายเป็นฝูงชนที่ไม่มีความสามารถ ซึ่งมวลชนมีความคับแค้นอยู่แล้วจะนำพาสู่การบาดเจ็บล้มตายมากกว่านี้ นั่นคือคำตอบว่าทำไมไม่ยุติในวันเวลาอย่างนั้น เพราะรู้ว่ายุติไม่ได้ ยุติแล้วจะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สูญเสียมากกว่าเดิม

แกนนำ นปช.ที่สำคัญมีหลายคน หลายเฉด หลายบุคลิก แกนนำระดับรองบางคนก็เปลี่ยนข้างไปแล้วเรียบร้อยหลังผ่านเวลามา 10 ปี ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใด

วีระ มุสิกพงศ์ เป็นแกนนำที่ตัดสินใจ ‘ลงรถไฟ’ เงียบๆ ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานช่วงท้ายการชุมนุมว่าจะไปต่อหรือไม่ แต่เนื่องจากเขามีปัญหาสุขภาพอย่างมากจึงตามหาร่องรอยเหตุผลในการตัดสินใจจากข้อมูลในหนังสือ ‘สุภาพบุรุษไพร่’ ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2554 แทน

เช่นกันกับณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำดาวเด่นอายุน้อยกว่าใครที่แม้เห็นด้วยกับวีระแต่ตัดสินใจไม่ลงรถไฟแล้วไปต่อจนกระทั่งประกาศสลายการชุมนุมในวันที่ 19 พ.ค. ณัฐวุฒิถูกพิพากษาจำคุกจากคดี ‘บุกบ้านป๋าเปรม’ ตลอดครึ่งปีหลังนี้ แม้ปัจจุบันจะออกจากเรือนจำแล้วก็ยังอยู่ในเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวใดๆ

การสนทนาจึงเกิดขึ้นกับ 2 แกนนำหลักคือ เหวง โตจิราการ ผู้มีประวัติต่อสู้มาตั้งแต่ยุคตุลา 2516 เคยขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ต่อต้านการคอร์รัปชันของรัฐบาลทักษิณจนมีการประกาศขอมาตรา 7 จึงแยกทาง ก่อนจะร่วมต้านรัฐประหาร 2549 ยาวมาจนกระทั่งเป็นแกนนำหลักคนหนึ่งของ นปช. และมีบทบาทสูงในการสร้างขบวนสันติวิธีในม็อบ ปัจจุบันสุขภาพร่างกายของหมอเหวงไม่ค่อยดีนักหลังออกจากเรือนจำรอบหลังสุด และยังมีคดีติดตัวที่ต้องขึ้นศาลอีก 3 คดี อีกคนหนึ่งคือ จตุพร พรหมพันธุ์ ผู้มีประวัติต่อสู้มาตั้งแต่ยุคพฤษภา 2535 เป็นแกนนำที่ท่าทีดุดัน ตรงไปตรงมาและปัจจุบันก็ยังคงพูดตรงจนกระทั่งได้รับแรงต่อต้านจากคนเสื้อแดงส่วนหนึ่ง เขาเข้าออกคุกหลายรอบและยังคงมีคดีติดตัวอีกหลายคดีที่ยังไม่จบเช่นกัน

วันที่ 10 เมษายน 2553 นับเป็นจุดเปลี่ยนของสถานการณ์ทั้งหมด ปฏิบัติการ ‘ขอคืนพื้นที่’ ที่นำอาวุธหนักปิดล้อมคนเสื้อแดงที่ราชดำเนินจบลงด้วยความตายของประชาชน 20 คน ทหาร 5 คน และการปรากฏตัวของ ‘ชายชุดดำ’ ในตำนานที่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าคือใคร

-ช า ย ชุ ด ดำ  -

ณัฐวุฒิเล่าไว้ในหนังสือสุภาพบุรุษไพร่ว่า “ไม่รู้จริงๆ ว่าคนชุดดำมาจากไหน แล้วทำไมไม่ปรากฏตัวอีกครั้ง ถ้าจะบอกว่าเขามาช่วยแล้วเป็นผลบวกกับเสื้อแดงก็ไม่ได้ เพราะเราไม่ได้เตรียมการไว้ เราไม่ได้คาดหวังจะให้มีการปะทะ เราไม่ได้คาดว่ารัฐบาลถึงกับจะเอาสไนเปอร์ออกมาด้วย ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 10 เมษายน เราไม่ปรารถนา แล้วผมไปที่นั่นเพื่อหยุดมัน ถ้าผมคิดว่าคนชุดดำมาช่วยแล้วเราจะได้ประโยชน์ ผมก็อาจจะต้องเดินหน้าต่อ บางคนบอกว่าชุดดำที่ยิงกันนั้นอยู่ในกลุ่มทหาร กระแสข่าวต่างๆ เยอะแยะ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องค้นหาความจริงรอบด้านมาวางต่อหน้าคนทั้งประเทศให้ได้”

“ในสถานการณ์ความวุ่นวายหลังเวทีผ่านฟ้า มีผู้ชายคนหนึ่งเอาโทรศัพท์มาให้ แต่ไม่รู้เป็นใคร เพราะคนเยอะแยะเต็มไปหมด ทั้งคนเจ็บ คนตาย ญาติเข้ามาร้องไห้ บรรยากาศโกลาหล ปลายสายบอกว่า น้อง นี่พี่นะ พี่มาช่วยแล้ว ไม่ต้องกลัวนะ ถ้ามันปฏิวัติ พวกพี่พร้อมแล้ว พวกพี่จะออกมาอีก เขาพูดประมาณนี้ ก็นึกว่าเป็นทหาร เขาบอกว่าถ้าปฏิวัติ พวกพี่พร้อมแล้ว พวกพี่จะออกมา...ก็คุณเป็นใครล่ะ คุณไปรู้ว่าเขาจะปฏิวัติแล้วคุณเตรียมพร้อม ถึงคิดว่าต้องเป็นทหาร แต่ไม่รู้ว่าตัวตนเป็นใคร ไม่เคยเจอกัน” ณัฐวุฒิเล่าไว้ในหนังสือ

แต่สำหรับเหวง เขาเห็นว่าเรื่องชายชุดดำนั้นเป็นการใส่ร้ายป้ายสีคนเสื้อแดงคล้ายกับดาวสยามในเหตุการณ์ 6 ตุลา และเขายังเชื่อว่าในวันนั้นรัฐมีความตั้งใจในการปราบอยู่แล้วเนื่องจากทหารโกรธแค้นมากเพราะเสียหน้าจากกรณีที่คนเสื้อแดงบุกยึดสถานีไทยคมคืนจากทหารได้ หลังทหารปิดสถานีไม่ให้มีการถ่ายทอดทีวีดาวเทียมช่องเสื้อแดง

“มันปรากฏภาพชายชุดดำมาในวันที่ 12 หรือ 13 เมษาแล้วนะ เหตุเกิดประมาณ 2 ทุ่มครึ่งวันที่ 10 แทนที่จะออกทันที แล้วเอามาออกช่อง 11 ช่อง 9 ช่อง 5 ช่อง 7 ออกซ้ำแล้วซ้ำอีกๆๆ ภาพมีตรา อัลจาซีร่า ผมเลยถามหาจากอัลจาซีร่า เขาบอกเขาไม่ได้บันทึกภาพเอง ซื้อมาจากฟรีแลนซ์ จบเลยซื้อมาจากฟรีแลนซ์แปลว่าไม่รู้ใครถ่าย แล้วปืนที่ยิงจากเสาที่กำบังเป็นปืนอาร์ก้า คุณไปเอารอยกระสุนอาร์ก้ามาสักรอยนึงสิ ไปเอาปลอกกระสุนอาร์ก้ามาสักปลอกนึงสิ ไปเอาคนที่บาดเจ็บด้วยกระสุนอาร์ก้ามาสักคนสิ สำหรับผมไม่มีครับชายชุดดำ”  เหวงกล่าว

ขณะที่จตุพร พรหมพันธุ์ มองว่าเรื่องชายชุดดำเป็นการเบี่ยงเบนให้สังคมสงสัยในสันติวิธีของคนเสื้อแดง อีกทั้งความตายที่เกิดขึ้นยังส่งผลให้การชุมนุมต้องเดินหน้าต่ออย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิต

“คนเสื้อแดงถูกทำลายในเรื่องสันติวิธี แม้ว่าในขบวนการก็สงสัย เรื่องชายชุดดำ เราเองก็พยายามจะรื้อค้นว่าสำนักข่าวเพียงแค่แห่งเดียวคือ อัลจาซีร่า ไปได้ภาพมาได้อย่างไร DSI เคยมาเล่าให้ฟังว่าเขาเรียกอัลจาซีร่ามาสอบสวน เขาก็บอกเขาไม่ได้ถ่ายเองแต่มีคนส่งภาพมาให้ หลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างมันผิดสังเกตหมด เช่นว่าภาพผู้คนมันเหมือนถูกซ้อนภาพไปหมด และที่สำคัญคือบริเวณนั้นไม่มีใครตายหรือบาดเจ็บที่ปรากฏภาพชายชุดดำ ภาพอันนี้มันได้ถูกสร้าง ถูกปฏิบัติการ IO มากมาย เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราคาดไม่ถึง เมื่อความตายมันเกิดขึ้นแล้ว เราก็คิดว่าถ้ามีคนตายรัฐบาลต้องอยู่ไม่ได้ ตอนนั้นก็เซไปพักนึง แต่พอมีภาพชายชุดดำเป็นใครที่ไหนมาไม่รู้ก็ทำให้พลิก” จตุพรกล่าว

“เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่า แม้ว่าเรียกร้องหีบบัตรเลือกตั้ง แต่มันมีหีบศพอยู่ตรงหน้า มันยังไงก็ต้องเดินไปข้างหน้า ถ้ายุบสภาฯ ทุกอย่างก็จบ ทุกอย่างก็ต้องดำเนินคดีทั้งสองฝ่ายทั้งฝ่ายเราและฝ่ายเขา แต่ว่าฝ่ายผู้มีอำนาจไม่ได้เลือกหนทางนี้” จตุพรกล่าว

หลายคนรวมถึงกรรมการคอป.เชื่อว่า ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับใครก็ตามที่แฝงตัวอยู่ในม็อบและมีการใช้อาวุธตอบโต้กับเจ้าหน้าที่เป็นใครไปไม่ได้นอกจาก เสธ.แดง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ซึ่งมักให้สัมภาษณ์โฉ่งฉ่างตามสไตล์บู๊ไม่เกรงใจใคร ณัฐวุฒิกลับมองว่า เสธ.แดงนั้นอยู่ในตำแหน่ง ‘ขวัญกำลังใจ’ ของมวลชน ไม่ได้มีบทบาทเข้าร่วมปรึกษาหารืออะไรกับแกนนำ เป็นอิสระมากถึงมากที่สุด และหากกล่าวให้ตรงไปตรงมาดูเหมือนณัฐวุฒิจะคิดว่าเสธ.แดงนั้นหนักไปทาง ‘ราคาคุย’

“แกก็เดินไปตรวจด่าน ไปนั่งกินข้าวตามด่านต่างๆ ฝึกแถว เอาไม้พลองตีโล่บ้างอะไรบ้าง คนก็มีความรู้สึกว่าแกเป็นแม่ทัพ ต้องเข้าใจว่าการ์ดเขาชอบอะไรในทางโลดโผนเข้มข้น พอเห็น เสธ.แดง ซึ่งมีสถานภาพพลตรีออกมาเดินอย่างนั้น คนจำนวนหนึ่งก็มีความรู้สึกว่าแกเป็นฮีโร่คนหนึ่ง อันนี้เป็นข้อเท็จจริง แต่ว่าแกก็อยู่ของแกอย่างนั้นนะ ไม่ได้เข้ามาร่วมคิดอ่าน ปรึกษาหารือหรือตกลงปฏิบัติการใดๆ กับแกนนำ

“พี่แดงแกทำจริงหรือไม่ทำก็ไม่รู้ แต่แกพูดเยอะ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าอันไหนจริง อันไหนเป็นลีลาสีสัน อันไหนเป็นลูกขู่ ลูกบลัฟ ลูกอำของแก ผมบอกตรงๆ ผมก็มองไม่ออก เพราะฉะนั้น เวลาแกมาอธิบายอะไรก็เป็นเรื่องที่ฟังแล้วต้องพิจารณา ไตร่ตรอง ผมเคยคุยเมื่อปี 52 ตอนแกไปเยี่ยมที่ค่าย ตชด. แล้วก็คุยก่อนชุมนุมใหญ่เพราะพบกันโดยบังเอิญ แต่ว่าหลังจากนั้นก็ห่างกัน เจอกันก็ทักทาย แต่ไม่เคยนัดพบกินข้าวกินอะไรกัน ส่วนกองกำลังติดอาวุธ ถ้ามันมีจริง รัฐก็จัดการกับกองกำลังนั้นสิ ถ้ารัฐจัดการพวกสะพายปืนอาก้า ปืนเอ็ม 16 ผมจะว่าอะไร แต่แล้วมันมีไหม คุณมาลงบัญชีกับประชาชนมือเปล่าๆ ไม่ได้” ณัฐวุฒิกล่าว

ต่างจากหมอเหวง ดูเหมือนหมอเหวงจะโกรธเสธ.แดงที่มีท่าทีสนับสนุนความรุนแรงจนกระทั่งประกาศตัดออกจากขบวนการ

“ขบวนมันใหญ่มาก ผมมีโอกาสคลุกคลีกับประชาชนจำนวนหนึ่ง area หนึ่ง แต่ผมใช้วิธีการสังเกตจากผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เพราะผู้สื่อข่าวต่างประเทศมาเยอะมากทุกวัน คุยกับผมบ่อย พวกนี้เขาหาข่าวเก่ง friendly คุยกับทุกคน ไม่มีนักข่าวสักคนมาบอกผมว่าตรงไหนมีอาวุธมีปืน มี M16 มี M79 ข้อต่อมา สปายสายลับในขบวนก็เยอะแยะไปหมด ก็ยังไม่เคยปรากฏว่ามีพวกเขาจับอาวุธได้แม้สักคนเดียว ผมพูดจากประจักษ์หลักฐานพวกนี้ดีกว่า objectively speaking ผมไม่เชื่อว่ามี แล้วก็คนมาเยอะขนาดนี้ แม้แต่การชกต่อย กินเหล้าเมายา ไม่มีนะ มีก็น้อยมาก ขโมยของห้างก็ไม่มีแม้คนที่ร่วมจะยากจน

“มีแต่ เสธ.แดงทำท่า ผมขออนุญาตนะ เขาเป็นฝ่ายประชาธิปไตย เขาต่อต้านรัฐประหาร ผมรักและยอมรับเขา แต่ด้านที่เขาประกาศเรื่องความรุนแรงผมไม่เอาเลย เขาเคยพูดกับผม “เฮ้ยหมอ ไปสั่งสอนไอ้เด็ก 3 คนนั้นหน่อยสิ เรื่องทฤษฎีแก้ว 3 ประการน่ะ” มันคนละเรื่อง แล้วยิ่งไปฝึกทหารที่สนามหลวง ผมว่าบ้า นี่มันฝึกกระบี่ กระบอง ตรงนี้ทำให้ฝ่ายนู้นเขายัดเยียดว่าเราเป็นฝ่ายรุนแรง ผมไม่เห็นด้วยกับแนวทาง เขาไม่รู้เรื่องจริงๆ ผมเคยเข้าป่าจับอาวุธต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ผมรู้แก้ว 3 ประการที่เหมาเจ๋อตงเขียนเอาไว้มันต้องมีพรรคปฏิวัติ จึงจะมีกองกำลังติดอาวุธ แล้วจึงจะมีแนวร่วม เสธ.แดงไม่รู้เรื่องแล้วไปประกาศ ผมบอกให้วีระประกาศตัดเลย ประกาศครั้งแรกวีระก็พูดแบบไพเราะคือภาษาดอกไม้ ตอนหลังบอกไม่ได้ ต้องพูดแบบตัดเยื่อตัดใย” หมอเหวงว่า

-ล ง จ า ก ห ลั ง เ สื อ-

เมื่อเริ่มมีคนเสียชีวิตวันที่ 10 เมษาและไม่ใช่จำนวนน้อยๆ สถานการณ์ก็ยิ่งตึงเครียดมากขึ้น การเจรจายิ่งเป็นไปได้ยากขึ้นเพราะนอกจากมีข้อเรียกร้องให้ยุบสภา ยังต้องมีข้อเรียกร้องให้ผู้สั่งการเข้าสู่การดำเนินคดีอย่างยุติธรรมด้วย การเจรจาอย่างไม่เป็นทางการดำเนินไป วีระยื่นข้อสรุปที่ได้จากการเจรจาต่อรองกับรัฐบาล (ผ่านกอรปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกฯ) เข้าที่ประชุมตู้คอนเทนเนอร์หลังเวทีราชประสงค์ แต่แกนนำนปช.เสียงแตก ทำให้วีระต้องลดบทบาทลงรถไฟไปเงียบๆ เพื่อแสดงการรับผิดชอบ

วีระเล่าเรื่องนี้ไว้ในหนังสือสุภาพบุรุษไพร่ว่า

“ผมเป็นประธานไปเจรจาตามมติหลายรอบ ต่อรองกันไปมาก็ลงมาได้ถึงขนาดว่ารัฐบาลยินดีจะยุบสภาเลือกตั้งใหม่วันที่ 1 พฤศจิกายน ผมถือว่าพอสมควรแล้ว แต่เมื่อเอาเข้าที่ประชุม นปช. หลายๆ คนกลับบอกว่าต้องมีอย่างงั้นอย่างงี้เพิ่มอีกเป็นเงื่อนไขปลีกย่อย เอาเรื่องเล็กกลบประเด็นใหญ่ ผมก็คิดว่าแบบนี้ผมทำงานด้วยไม่ได้แล้วนะ ผมเป็นประธานไม่ได้ เพราะคู่เจรจาก็เคยถามว่า ถ้าพรรคพวกไม่เอาจะทำยังไง ผมบอกว่าผมก็จะลาออก จะได้พ้นจากตำแหน่งประธานและผู้เจรจา...ผมบอกแบบนี้กับที่ประชุม นปช. ด้วย แล้วก็ขอลดบทบาท ลาออกจากประธานมาเป็นสมาชิกเสื้อแดงธรรมดา แต่ผมบอกชัดเจนว่าไม่แถลงข่าวเพราะมันจะกลายเป็นความแตกแยก หลังจากนั้นผมประสานงานขอเปลี่ยนตัวผู้เจรจาใหม่ แล้วก็เอาณัฐวุฒิเป็นผู้เจรจาแทน ทางคู่เจรจาบอกว่าให้ผมนั่งช่วยเจรจาต่ออีกสัก 2-3 ครั้ง ในห้วงเวลาทั้งหมดประมาณ 15 วัน ก่อนวันที่ 19 พฤษภา จากนั้นมันก็เกิดวิกฤต

“ตัวเต้นมันเห็นด้วยกับผม แต่ว่ามันไม่สามารถจะทิ้งพวกแบบผมได้ ความจริงผมก็ไม่ได้คิดทิ้งพวก ผมเพียงแต่ต้องการยื่นเงื่อนไขที่หนักและหวังว่าจะได้รับการตอบสนองจากพรรคพวก เพราะเราออกมาอยู่ข้างนอกเรารู้หมดแล้วว่าอีกฝ่ายเตรียมเอาปืนยิง เราก็ไม่ต้องการให้ตายเพิ่ม เราคิดว่าหยุดแค่นั้นเถอะแล้วไปเลือกตั้ง แต่แกนนำบางคนเขาก็โยกเยกๆ กัน ผมเลยต้องยื่นเงื่อนไข หวังว่าจะจบวันนั้น เมื่อยังไม่จบ เต้นเป็นคนประสานจนเกือบจะมีการเจรจาในวันที่ 19 พฤษภาคมโดยมี ส.ว.เป็นตัวกลาง แต่พอประธาน ส.ว. บอกกับนายกฯ ปรากฏว่านายกตอบกลับว่าสายไปแล้ว ผมก็คิดว่าอะไรวะ ชีวิตประชาชน สายได้ยังไง”

ส่วนหมอเหวง เล่าเรื่องราวในตอนนั้นว่า “ตอนนั้นก็เริ่มมีความคิดของแกนนำส่วนหนึ่งว่าน่าจะหยุดดีกว่า แต่มันมีคำถามว่าเราจะรับผิดชอบต่อวีรชนที่สละชีพไปอย่างไร จึงเป็นโจทย์ที่ยาก ทีนี้ก็เลยมีคนเสนอทางออกว่า ต้องให้อภิสิทธิ์ สุเทพ มารับโทษตามกฎหมาย มารับทราบข้อกล่าวหา นี่จึงเป็นประเด็นใหม่ขยับออกจากยุบสภาไปถึงว่าสุเทพอภิสิทธิ์ต้องรับโทษทางกฎหมาย เหตุการณ์มันก็เลยยืดยาวไป แต่มันเป็นสิ่งที่เราต้องทำเพราะมีคนตายเกิดขึ้นจากการต่อสู้แล้วเราจะทิ้งเขาไปไม่ได้ เราเลยต้องยุบเวทีที่ผ่านฟ้าแล้วมารวมที่เดียวเพราะว่าผ่านฟ้ากับราชประสงค์ไกลกันมาก ดูแลกันลำบาก จึงยุบมารวมที่ราชประสงค์” หมอเหวงเล่า

ขณะที่จตุพรให้เหตุผลถึงการไม่ยุติการชุมนุมขณะที่วีระขอออกจากตำแหน่งประธานในราววันที่ 12-13 พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับความรุนแรงระลอง 2 ซึ่งเริ่มต้นจากเสธ.แดงโดนยิงในวันที่ 13 พ.ค. ไว้ว่า

“เรามีความเชื่อว่าถ้าเราถอย เพื่อต้องการไปเลือกตั้ง แล้วประชาชนที่ตายล่ะ และสอง เราเชื่อว่าอย่างไรประชาชนคงไม่กลับ เพราะเขาสู้กันจนถึงขนาดนั้นและคนตาย เราก็อธิบายว่า เรา (แกนนำดั้งเดิม) ต้องอยู่ส่งประชาชนนะ ถ้ายอมยุติจะมีชุดใหม่เข้ามานำเลย และชุดใหม่จะไม่เข้าใจบริบทอย่างที่เราเข้าใจ ไม่สามารถควบคุมหรือจัดการอย่างที่เราทำ จะกลายเป็นฝูงชนที่ไม่มีความสามารถ ซึ่งมวลชนมีความคับแค้นอยู่แล้วจะนำพาสู่การบาดเจ็บล้มตายมากกว่านี้ นั่นคือคำตอบว่าทำไมไม่ยุติในวันเวลาอย่างนั้น เพราะรู้ว่ายุติไม่ได้ ยุติแล้วจะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สูญเสียมากกว่าเดิม การเดินต่อไปก็เพื่อให้ความสูญเสียมันน้อยลง แล้วจึงเจรจากับทางวุฒิสภาว่ามายุติความตายเพราะความตายมันมากเหลือเกิน แต่วุฒิฯ ยังไม่ทันกลับเลย สั่งเคลื่อนทุกทิศทาง รับมือกับรถหุ้มเกราะหรือปืนใหญ่ ปืนกลเล็ก มันรับกันไม่ไหว ฝั่งหนึ่งมีแค่ตัวตะไล บ้องไฟ มันเป็นสงครามที่ไม่คู่ควร เราไม่ได้คิดเรื่องการต่อสู้อย่างนี้ ถ้าคิดเรื่องการต่อสู้อย่างนี้ก็คงไม่โง่ลงถนน ก็ไปอยู่ตามซอกตึกกัน

“ผมก็เข้าใจบริบทของพี่วีระนะ ในการต่อสู้เราก็ต้องเคารพซึ่งกันและกัน แต่อย่างที่บอก เราเป็นคนที่ผ่านพฤษภา 35 ตามลำพังในสมรภูมิสุดท้าย เรามองเห็นสภาพว่าอะไรจะเกิดขึ้น ฉะนั้นการตัดสินใจในการชุมนุม ไม่มีการร้องขอกัน เป็นเสรีภาพ พี่วีระแกมองว่าโดนแทรกอำนาจ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะว่าในขบวนการทั้งหมด พอไปถึงระยะหนึ่งมันไม่รู้ใครเป็นใครแล้ว มันไม่รู้ว่าใครที่เขวี้ยงใส่รังแตน แล้วแตนก็มาต่อย คนอื่นที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ พอสถานการณ์มันใหญ่และชุลมุน มันก็เหนื่อยกันทั้งหมด เรื่องราวมันก็ลดระดับความสำคัญลงมาจนสุดท้ายคือ จะไม่ให้คนตายได้ยังไง การต่อสู้ก็ดำเนินไป แต่เป้าหมายคือต้องการรักษาชีวิตคนไว้

“มันเหนื่อยมันล้ากับความตาย มันไม่ไหวแล้ว วันหนึ่งนอนไม่กี่ชั่วโมง แต่ว่าต้องยืนเพื่อที่จะให้มันไปในจุดที่ที่ดีที่สุดซึ่งมันก็ไม่มี จนกระทั่งถึงจุดสุดท้ายว่ากองกำลังก็จะมาถึงเวทีแล้ว ก็ลุกขึ้นเวที เราต้องประกาศยุติเพราะเช็คอาการข้างหน้ามีคนพร้อมยอมตายแล้ว มันเจ็บนะ ขึ้นไปก็ไม่รู้จะพูดอะไร เพราะรู้คนจะไม่ยอม เหลือก้อนหน้าเวทีประมาณ 500 คน พวกนี้ไม่สนใจหรอก เขาร้องไห้ สะเทือนใจ เราต้องเล่าให้ฟังว่าสถานการณ์ความตายมันมาก แล้วก็ตายตามลำดับ เกินกว่าที่เราจะรับไหว เพราะความตายไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวเรา ถ้าความตายเกิดกับเราก็จบ แต่นี่เป็นความตายที่เกิดขึ้นกับคนอื่นคือประชาชน เราจึงไม่สามารถที่จะรับได้  แล้วก็บอกว่าการต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด วันนี้ก็เพียงแค่ยุติความตายกันให้ได้ แล้วก็ขอบคุณพี่น้อง

“มันเห็นแววตาที่หมดหวังของคนพวกนั้น เขาสู้มาถึงจุดหนึ่ง เขายอมตายได้ แววตาอันนั้นเป็นแววตาที่เราจำ มันสะเทือนใจ เราก็น้ำตาซึมเพราะมันรู้ว่าสู้ไม่ได้แล้ว แต่ว่าเขาอยากจะปิดฉากร่วมกัน โดยส่วนใหญ่ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิง

“ในตอนหลังคนก็บอกว่าเสื้อแดงมันสมควรตายเพราะเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง ไฟมันไหม้หลังความตายเกิด นั่นคือโลกแห่งความเป็นจริง เพราะฉะนั้นในบางเรื่องเราไม่สามารถสู้ได้ เพราะว่าเราถูกกำหนดให้เป็นฝ่ายแพ้ แม้ว่าสมควรจะชนะ” จตุพรกล่าว

ต่อคำถามเรื่อการใช้ความรุนแรงจากฝั่งผู้ชุมนุมมีบ้างหรือไม่ ไม่ว่าจะโดยสัดส่วนแค่ไหน หรือจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามนั้น จตุพรอธิบายว่า “เราต้องเข้าใจก่อนว่ามนุษย์โรคแทรกซ้อนมันเยอะ แม้ว่าเราส่วนกลางจะยืนยันชัดเจนว่าห้ามเด็ดขาด เพราะคิดว่าอย่างไรก็แล้วแต่สันติวิธีจะชนะ ส่วนการปฏิบัติการตอบโต้ก็ไม่มีข้อยืนยันว่าใครไปทำที่ไหนอย่างไร เพราะเวลานับศพคนตายเกือบทั้งหมดก็ยังเป็นคนเสื้อแดง..ที่พูดนี้เพราะมีบทเรียน ตอนแรกมักจะสวยงามเสมอ คนเยอะแน่นมืดฟ้ามัวดิน แต่พอไปเดินสักระยะหนึ่ง ฝ่ายหนึ่งสู้เหตุผลไม่ได้เขาก็ใช้ความรุนแรง ฉะนั้นตลอดเวลาที่ชุมนุม มันเห็นความหวังอยู่ตลอดเวลา ใกล้แล้วๆ ในแต่ละวัน พวกที่อยู่หลังเวทีก็ภาวนาว่าวันนี้ขออย่าให้มีใครตายเลย

“ถามว่าเราจะยึดอาวุธทหารแล้วจะนำมาใช้ ประชาชนอยู่เต็มถนน ถ้าเอามาใช้ท้ายที่สุดเราเรียกความตายให้กับประชาชน เราจึงคืนผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 2 เหตุการณ์ เพราะ 1.ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในการใช้อาวุธ 2.อาวุธเพียงเท่านี้ไม่สามารถป้องกันคนจำนวนเป็นแสนแสนได้ และถ้ามีการยึดอาวุธเพื่อกระทำการก่อการร้ายก็จะสร้างความชอบทำในการล้อมปราบมากยิ่งขึ้น 

“(หากใช้วิธีชุมนุมยืดเยื้อ) พอไปถึงระยะหนึ่ง เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งตั้งหลักได้ก็จะทำลายสันติวิธี ขนาดว่าเสื้อแดงคือขบวนการที่จัดตั้งอย่างดีที่สุด มีระบบบริหารอย่างชัดเจน ดูแลอย่างครบถ้วนในแต่ละหน่วย เตรียมทัพเป็นปี แต่ก็พออีกฝ่ายหนึ่งอำมหิตกว่า คุมกลไกการสื่อสารได้หมด ก็สู้เขาไม่ได้ แต่ในยุคนั้นมันไม่ได้มีมือถือแบบปัจจุบัน ครั้งนี้เจอ Live สด เจออะไรผมว่าจะเอาไม่อยู่ มันไม่ง่ายเหมือนเดิม” จตุพร กล่าว

-สั น ติ วิ ธี-  

หมอเหวงเป็นแกนนำคนหนึ่งที่เกี่ยวพันกับการจัดขบวนสันติวิธีตั้งแต่สมัยเป็น นปก.หลัง 2549 เขาเล่าว่า สมัยที่ นปก.เริ่มปราศรัยที่สนามหลวงทุกเย็น  กลุ่มองค์กรสตรีเพื่อประชาธิปไตยที่ก่อตั้งและเคลื่อนไหวมาก่อนหน้าเป็นหน่วยคอยดูแลความสงบเรียบร้อยของการชุมนุม โดยแทรกซึมเข้าไปในหมู่ประชาชน หากพบใครดื่มเหล้าเมาโวยวาย หรือแสดงกิริยาอาการนอกลู่นอกทางก็จะเข้าไปคุยด้วยเพื่อให้สงบลง กลุ่มนี้ยังมีบทบาทนำขบวนเคลื่อนพลไปหน้าบ้านพล.อ.เปรมเมื่อปี 2551 ด้วย

หมอเหวงเล่าว่า “อาสาสมัครไม่มากประมาณ 200-300 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ปริมาณไม่มากแต่คุณภาพนี่สำคัญนะ สำคัญที่สุดต้องให้เขามีความเยือกเย็นในจิตใจ ไม่ว่ามีสถานการณ์ใดต้องไม่โกรธก่อน เรามีการอบรมโดยใช้ตำราของนักสันติวิธียีน ชาร์ป ที่เขียนว่าจะต่อต้านรัฐประหาร แล้วเอาหลักการทั่วไปของศาสนามาด้วยในการยับยั้งโทสะจริต มี workshop ขนาดเล็กสำหรับแกนนำ ส่วนอาสาสมัครเราประกาศรับสมัครที่โรงแรมรัตนโกสินทร์

“พอชุมนุมปี 52 คนหลั่งไหลมาเหมือนน้ำท่วมใหญ่เลย พอเรามาจัดเวทีที่สะพานชมัยมรุเชฐ ทางนู้นก็เริ่มตอบโต้กลับอย่างฉลาด เช่น เขาจัดตั้งม็อบของเขาไปปิดถนนที่นู่นที่นี่ แล้วบอกว่าเป็นคนเสื้อแดงปิด ทั้งๆ ที่ไม่ใช่คนเสื้อแดง แล้วก็มีรถแก๊ส ไม่ใช่ของคนเสื้อแดง เพราะมันไปตั้งต้นที่ซอยรางน้ำก่อน แล้วเคลื่อนมาที่แฟลตดินแดง ถ้าเป็นของคนเสื้อแดงรับรองไม่พ้นหูผมแน่ ไม่มี”

“อย่างไรก็ตาม การให้น้ำหนักของแกนนำ ต้องเรียนด้วยความเคารพ เขาไม่ให้น้ำหนักเท่าที่ควร แทนที่จะต้องคุยเรื่องนี้เป็นหลัก เขาชูเรื่องการปราศรัยที่ดุเดือดเป็นหลัก เขาไม่เสียเวลากับการอธิบายเรื่องสันติวิธี ดังนั้น คุณจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าบนเวทีไม่มีเวลาไม่มีพื้นที่ของสันติวิธี สื่อเขาก็ให้น้ำหนักกับความแหลมคมหรือความดุเดือดของการต่อสู้บนเวทีนี้เป็นหลักมากกว่าด้วย” หมอเหวงเล่า

“การประกาศยุติการชุมนุมใดๆ ก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างปี 52 แกนนำยุติเอง มวลชนเขาโกรธจริงๆ เวลาเขาโมโห เขาขว้าง ขว้างของใกล้ๆ ตัวอย่างน้ำขวดขึ้นมา เราก็ต้องหลบ แล้วกว่าจะอธิบายใช้เวลานาน ตอนปี 35 ตอนที่พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลรับปากว่าจะแก้รัฐธรรมนูญแล้วก็ต้องยุติการชุมนุม กว่าแกนนำจะปราศรัยให้มวลชนสงบได้ต้องปราศรัยตั้งแต่กลางดึกถึง 8 โมงเช้า ปี 52 มวลชนก็ไม่ยอม เริ่มปราศรัย 6 โมงกว่าจะยอมกันได้ 10 โมง”

“พอมาปี 53 หน่วยสันติวิธีแบบจริงจังไม่มีเลย มีแต่ร่องรอยเก่าๆ เช่นองค์กรสตรีเพื่อประชาธิปไตย แกนทั้งหมดที่ทำเรื่องสันติวิธียังอยู่ ส่วนแกนที่สมทบองค์ประกอบที่สมทบมาทีหลังมันก็จางหายไป ปี 53 เราก็อาศัยประกาศหาอาสาสมัครบนเวที มันก็มีมาบ้าง

“พอเข้ามาอยู่ในองค์กรของ นปช.แล้ว น้ำหนักของการทำงานทั้งหมดจะเป็นการให้การศึกษาทางการเมืองแล้ว ให้ประชาชนเข้าใจระบอบประชาธิปไตย ให้ประชาชนเข้าใจระบอบการต่อสู้ ให้ประชาชนเข้าใจความสำคัญของตัวเอง เพราะฉะนั้นโรงเรียนการเมืองเสื้อแดงจึงเริ่มต้น มีความคึกคักระหว่างปี 52-53 วางน้ำหนักไปเรื่องนั้น”

จากการชุมนุมปี 2552 ในเวลาไม่ถึง 1 ปีเต็มดีก็มีการประกาศชุมนุมใหญ่อีกครั้ง ระหว่างนั้นเหวงระบุว่า องค์กรนำก็ปรับปรุงองค์กรและสร้างฐานความคิดทางการเมืองให้หนักแน่น หลอมรวมอุดมการณ์การต่อสู้

“ก็คือมาพูดคุยกันในเรื่องนโยบาย ระเบียบวินัย แล้วก็ข้อสังเกตบางประการที่ควรไม่ควรทำ เรื่องนี้สำคัญ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะได้ผล เพราะองค์กรเราไม่ใช่องค์กรทหารที่สั่งซ้ายหันขวาหันได้ ไม่ใช่พรรคการเมืองแบบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่มีวินัยด้วยจิตสำนึก อันนี้มันเป็นเรื่องเสรีชน ทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ ไม่มีอะไรลงโทษ มันจึงได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง เมื่อเทียบกับองค์กรจัดตั้งที่สำคัญแล้วน่าจะได้ผลไม่ถึง 10%  ไม่อย่างนั้นคงไม่เกิดปรากฏการณ์แบบแรมโบ้ขึ้น”

เหวงเล่าให้ฟังว่ากระนั้นก็ตาม กิจกรรมในปี 2553 ก็พยายามทำบนแนวทางสันติวิธี เช่น การเทเลือด มีการเอารูปปั้นคานธีไปตั้งไว้บนเวทีเพื่อเตือนสติแกนนำ หรือแม้แต่ช่วงที่มีทหารปิดล้อมตามจุดต่างๆ แล้ว เขายังคงนำกลุ่มอาสาสมัครสันติวิธีไปเจรจาขอให้ทหารกลับเข้ากรมกอง

“เขาส่งทหารมาจุกตามโรงเรียนและวัดต่างๆ เป็นกองพันเลยนะ วัดโสมนัสวิหาร วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร วัดตรีทศเทพ วัดชนะสงคราม โรงเรียนวชิราวุธ สนามม้านางเลิ้ง ผม ครูประทีป หมอสันต์ พาประชาชนจำนวนหนึ่งประมาณ 300-400 คน ไปที่วัดโสมฯ วัดมกุฎฯ ไปสองมือเปล่า ไปกราบให้ทหารขนอาวุธกลับกรมกอง เขาก็ยอม เราปรบมือให้ทหาร ส่งดอกไม้แล้วเข้าแถว พอตอนวันที่ 10 เมษา เราทราบข่าวว่าเขาเอากำลังเต็มพิกัดมา เราก็เลยส่งคนไปขอร้องให้เขากลับกรมกอง เพราะคิดแบบเก่าว่าเขาจะกลับ ที่ไหนได้ ทีนี้เขาไม่กลับแล้ว” หมอเหวงเล่า

-ค ว า ม ทุ ก ข์ ข อ ง ผู้ ร อ ด-

เมื่อถามว่า หากมองย้อนกลับไป หากมีสิ่งใดที่ตัดสินใจใหม่ได้จะเปลี่ยนการตัดสินใจไหม สำหรับแกนนำอย่างจตุพร เขาตอบว่า

“เวลานั้นมันก็เป็นสถานการณ์นั้นๆ เราพูดเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ฟังตอนนั้นดีที่สุด แต่เวลาผ่านมาอาจฟังไม่ได้เลยก็ได้ เพราะสถานการณ์มันเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกัน การตัดสินใจ ณ ขณะนั้นก็ถูกในสถานการณ์นั้นๆ บางทีมันก็ไม่มีทางเลือกเลย ทางเลือกมันน้อยลงตามลำดับ ตอนแรกจากกว้างก็จะแคบลงเรื่อยๆ การชุมนุม ยิ่งนานวันยิ่งแคบลงเรื่อยๆ ฉะนั้นเรื่องในขณะนั้นก็เหมาะสมในขณะนั้น ถ้าตัดสินภายใต้สถานการณ์นั้นอย่างไรก็อย่างนั้น แม้ว่าเวลาผ่านมาแล้วเห็นว่ามันน่าจะเป็นอย่างนี้ก็ตาม

“คุณรู้ไหมมวลชนจะล้ำหน้ากว่าแกนนำเสมอ หน้าที่ของแกนนำก็คือ การปรับจูน ผมเองเวลาที่ต้องการจะสื่อความอะไร ผมจะไม่เกรงใจ ต้องพูดเพื่อให้มวลชนชินกับความเป็นผมเหมือนกัน มิฉะนั้นถ้าล้ำหน้าเกิน ขบวนการที่ล้ำหน้าเกินจะยิ่งเดินยากลำบาก ต้องวางหลักเอาไว้ ทุกการต่อสู้ของทุกฝ่ายไม่แตกต่างกัน มวลชนก้าวหน้ากว่าแกนนำเสมอ ถ้าม็อบไม่มีแกนนำมันจะไปเร็วมาก พรวดเดียว แกนนำต้องคอยดึงคอยจับ คอยพูดคอยนำเสนอว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เรากำลังทำอะไร พอมีแกนนำมวลชนอาจจะบอกเป็นอุปสรรคก็ได้นะ แต่ว่ามันทำให้การสูญเสียหรือว่าอะไรต่างๆ ถูกจัดระบบความคิดกัน

“บาดแผลสำหรับเราหรือ ก็คือการเป็นผู้นำนี่แหละ ตอนยุคเรา เราก็บอกว่าผู้นำ 14 ตุลามันรอดตายแต่มีคนตาย ต่อมาพฤษภา 35 เราก็รอดตายแต่มีคนตาย มาปี 53 เรารอดตายแต่มีคนตาย คนที่มีชีวิตอยู่มันแบกความทุกข์นะ เพราะว่าเราต้องไปงานศพเขา เราเห็นแววตาคนเป็นลูก เป็นพ่อ เป็นแม่ เพราะฉะนั้น 2 เหตุการณ์มันมากสำหรับมนุษย์คนนึงที่ต้องแบกความตายร่วม 200 ชีวิตกับคนบาดเจ็บแล้วอยู่ในสภาพที่ทุกข์ยาว แล้วเราช่วยอะไรคนเขาไม่ได้ด้วย โดยเฉพาะคนที่มาสูญสิ้นอิสรภาพ มันเป็นเรื่องที่คนบางคนอาจเห็นว่าเสร็จเหตุการณ์ก็จบแล้ว แต่เรามันไม่จบ เรายังอยู่ในสนาม ที่ยังอยู่กับสิ่งเหล่านี้อยู่แม้จนถึงปัจจุบัน จนมีคำถามว่าทำไมยังมี นปช. ก็เพราะเรื่องมันยังไม่จบ เรื่องราวมันมากจนเกินไป เราก็เพียงแค่รักษาศาลาประคับประคองว่าวันหนึ่งเมื่อทุกอย่างเป็นที่ยุติกันแล้ว ต่างคนก็จะแยกย้ายไปทางที่ตัวเองปรารถนา อย่าไปคาดหวังว่าจะต้องแข็งแรงแบบปี 53 มันคนละเรื่องกัน คนละเวลา”

“ถ้าเราต่อสู้หนึ่งแมตช์แล้วยุติเลยก็อาจจะมีคนสรรเสริญว่าเป็นแมตช์แห่งความทรงจำ แต่ความจริงเรายังมีภารกิจต่างๆ อีกมาก เราต้องสู้ต่ออีกหลายแมตช์ แพ้บ้าง ชนะบ้าง ทีนี้สังคมไทยจะไม่จำเวลาดีๆ เขามาจำตอนที่เขาเริ่มไม่พอใจ เราเริ่มพูดไม่เข้าหูเขา ทั้งที่ก่อนหน้านี้เราก็เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว พอสภาพมันเปลี่ยนแล้วเราไม่ปรับตัว คนเขาก็เข้าใจว่าเราเปลี่ยน ความจริงเขาน่ะเปลี่ยน แต่เรายังยืนอยู่ที่เดิม เราทำตามความเชื่อแล้วคนไม่เข้าใจ ลูกเราเห็นเราในชุดนักโทษมาตลอดชีวิตของเขา 4 ครั้งตามช่วงเวลาที่มันห่างกัน ฉะนั้น คนที่เพิ่งเจอกันก็อาจไม่เข้าใจ แล้วในสถานการณ์ที่หลากหลาย ความรับผิดชอบในแต่ละสถานการณ์มันแตกต่างกัน เรารับรู้ตั้งแต่ต้นจนจบในทุกกระบวนการ เราถึงได้เตือนนักศึกษา การที่เราอยู่คัดท้าย รัฐก็ไม่ชอบ นักศึกษาก็ไม่ชอบ เล่นบทคนสามัคคีเกลียดมันยาก (หัวเราะ) แต่เรามันเลยความเป็นตัวเองไปแล้ว ไม่รู้ว่าจะได้ยินเสียงปรบมือไปเพื่ออะไร เราหวังดีต่อเขา เรารู้ว่าเขากำลังจะเจออะไร เราควรมีเสียงต่าง ซึ่งใครก็ไม่ค่อยจะกล้าพูดนะ อย่าว่าแต่ทะลุเพดานเลย คนเสื้อแดงขึ้นบันไดสามขั้นก็ถูกยิงร่วงกันเป็นร้อยแล้ว บาดเจ็บอีกสองพัน ทั้งที่ไม่มีเรื่องเหล่านั้นเลย”

จตุพรเล่าถึงคำเตือนอันแสลงหูของเขาที่มีต่อขบวนนักศึกษาในปัจจุบัน ซึ่งช่วงเวลาที่สัมภาษณ์นั้นเป็นเพียงการเริ่มต้นขยับเพดานในเดือนกันยายน เป็นคำเตือนของพ่อที่ลูกสาวของเขาก็เข้าร่วมขบวนประท้วงกับนักศึกษาด้วยเช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท