Skip to main content
sharethis

ณัฐพล ใจจริง อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทาอภิปรายการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์จาก สมบูรณาญาสิทธิ์สู่ระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ภายใต้โครงเรื่องนิทานแจ๊คกับยักษ์ และเทพปกรณัมว่าด้วยกล่องแพนโดร่า

กลุ่มนิติราษฏร์ (นิติศาสตร์เพื่อราษฏร) จัดอภิปรายเรื่อง “สถาบันกษัตริย์ – รัฐธรรมนูญ – ประชาธิปไตย” ในวันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม 2553 เวลา 13.00 – ๑16.00 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ห้อง แอลที 1 และ แอลที 2

วิทยากรผู้เข้าร่วมอภิปรายประกอบด้วย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ณัฐพล ใจจริง และวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ดำเนินการอภิปรายโดย ธีระ สุธีวรางกูร

ผู้อ่านสามารถติดตามการรายงานโดยละเอียด ซึ่งประชาไทจะทยอยนำเสนออย่างต่อเนื่อง

วันนี้ผมจะมาพูดในหัวข้อที่ทางคณะผู้จัดได้นำเสนอ แต่สิ่งที่ผมจะนำเสนออาจจะเป็นเรื่องนิทานแล้วก็เทพปกรณัม

หัวข้อที่ผมจะพูดในวันนี้คือเรื่อง แจ๊คกับยักษ์ แล้วก็กล่องแพนโดร่าในรัฐธรรมนูญของไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชถึงระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญในช่วง 2475 จนถึง 2490

อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย สวัสดีครับพลเมือง นิสิตนักศึกษาทุกท่าน ผู้แสวงหาความรู้และมีความตื่นตัวในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยทุกท่าน การอภิปรายในวันนี้ของพวกเราก็คือการยืนยันและเชิดชูระบอบประชาธิปไตยที่กำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ 2475 วันนี้เป็นโอกาสดีและเหมาะสมด้วยกาละเทศะที่พวกเรามาประชุมกันในวันนี้คือวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันที่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และในสถานที่ก็คือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นผลผลิตโดยตรงจากการปฏิวัติ 2475

การอภิปรายวันนี้ของผมจะวางอยู่บนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และกฎหมาย 6 ฉบับก็คือ ฉบับ 27 มิถุนายน 2475, 10 ธันวาคม 2475, รัฐธรรมนูญฉบับ 2489, รัฐธรรมนูญฉบับ 2490, รัฐธรรมนูญฉบับ 2492, รัฐธรรมนูญฉบับ 2475 แก้ไข 2495  

สิ่งที่ผมอภิปรายวันนี้จะมี 2 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญภายหลังการปฏิวัติ 2475 ส่วนที่ 2 ก็คือการอภิปรายถึงระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญไปสู่ระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหลัง 2490 และรัฐธรรมนูญ 2492

เนื้อหาและช่วงเวลาที่จะอภิปรายของผมคือ เป็นการกล่าวถึงประวัติศาสตร์ องค์กร และระบอบการปกครองของไทยที่อยู่ระหว่าง 2475 จนถึง 2490 เป็นเวลาประมาณ 15 ปีของการเมืองไทย ในเวลาดังกล่าวสามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงแรก 2475 จนถึง 2478 เป็นเวลากว่า 3 ปีที่อยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ส่วนที่ 2 จะเป็นช่วง 2479 จนถึง 2490 เป็นเวลาประมาณ 11 ปีที่อยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

 

Episode 1

แจ๊คจับยักษ์ใส่กล่อง: จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

เรื่องราวที่ผมจะอภิปรายจะดำเนินไปบนเทพปกรณัมของกรีก ก็คือเรื่องของกล่องแพนโดร่า และนิทานที่พวกเรารู้จักดีก็คือ แจ๊คผู้ฆ่ายักษ์ หรือว่า Jack and the Beast จากหนังสือ English Fairly Tale ซึ่งเป็นเทพนิยายที่เล่าขานกันในอังกฤษในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 พวกเราคงทราบดีว่าเทพปกรณัมของกรีกเรื่องกล่องแพนโดร่านั้น ก็คือการพูดถึงเรื่องกำเนิดของมนุษย์ ปัญหาก็คือ เมื่อบรรดาเทพของกรีก ตามตำนานแต่งโดยกวีที่ชื่อ เฮซิออด (Hesiod) บอกว่าเมื่อสร้างมนุษย์โลกขึ้นมาแล้ว ก็มีมนุษย์ผู้ชายอยู่เต็มไปหมดเลย ต่อมาก็มีเทพคนหนึ่งชื่อ  Prometheus ได้ขโมยไฟจากสรวงสวรรค์ลงมาให้มนุษย์ ทำให้มนุษย์มีความกล้าหาญและมีความไม่ยอมรับเทพเจ้า ซูส (Zeus) ก็เลยโมโหสร้างเทพีขึ้นมาคนหนึ่งชื่อ แพนโดร่า ก่อนจะส่งเทพีแพนโดร่ามาจุติบนโลกก็สั่งให้ถือกล่องมาด้วยกล่องหนึ่ง แล้วก็สั่งว่าอย่าเปิดกล่องๆ นี้  แต่ปรากฏว่าพอเทพีแพนโดร่าลงมากำเนิดบนพื้นมนุษย์ ก็ได้อยู่อาศัยกับมนุษย์ผู้ชายแล้วก็แตกลูกแตกหลานเป็นมนษย์เต็มไปหมดเลย

วันหนึ่งด้วยความอยากรู้อยากเห็น เทพีแพนโดร่าอยากรู้มากว่ากล่องที่มหาเทพซูสฝากให้มาแล้วห้ามเปิดมันคืออะไร นางแพนโดร่าก็เดินไปเปิด ทันทีที่สลักของกล่องแพนโดร่าเปิดออก ความชั่วร้ายทั้งมวลที่อยู่ในกล่องก็พุ่งพวยออกมาสู่โลกมนุษย์ นางแพนโดร่าตกใจแล้วก็รีบปิดกล่อง สิ่งเดียวที่ขังเอาไว้ในกล่องของแพนโดร่าก็คือ ความหวังของมนุษยชาติเท่านั้น นอกนั้นสิ่งที่ออกมาเป็นความชั่วร้ายทั้งหมด

อีกเรื่องหนึ่งที่จะเปรียบเปรยก็คือ เรื่องแจ๊คผู้ฆ่ายักษ์ เรื่องก็คือกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีครอบครัวหนึ่งอาศัยอยู่ มีแม่และลูก ค่อนข้างยากจน แม่ก็ให้ลูกจูงวัวไปขายที่ตลาด ระหว่างลูกชายจูงวัวไปขายที่ตลาดก็พบชายแก่ถือเมล็ดถั่วมากำหนึ่ง แล้วก็ขอแลกกับวัว แจ๊คก็ยอมแลกกับวัวแล้วก็เอาถั่วกลับบ้านไป ปรากฏว่าแม่โมโห บอกว่าให้เอาวัวไปขายไปเอาตังค์มา ปรากฏว่าแจ๊คเอาวัวไปแลกถั่วบ้าๆ บอๆ แม่ก็เลยเขวี้ยงถั่วออกไปนอกหน้าต่าง วันรุ่งขึ้นแจ๊คมาดูปรากฏว่าถั่วมันงอกสูงไปจนถึงท้องฟ้า แจ็คก็สงสัยก็ไต่ขึ้นไป ไต่ขึ้นไปบนสวรรค์ พอขึ้นถึงสวรรค์ก็พบปราสาทที่วิจิตรอลังการ แจ๊คก็เข้าไปแล้วก็พบว่าในนั้นมียักษ์อยู่ แจ๊คก็ไปหลบอยู่ ปรากฏว่าท้ายที่สุดแล้วแจ๊คจะเห็นถึงความหรูหราของยักษ์ แล้วก็พบว่ายักษ์นั้นพอกินอาหารเสร็จก็มีการนำของดีๆ มาให้ยักษ์ดู เช่น ไก่ออกเป็นทอง แจ๊คก็อยากได้เอากลับลงมา ปรากฏว่าแจ็คก็เตรียมขโมยเอาของเหล่านั้นกลับมา นางยักษ์ที่อยู่บนสวรรค์บอกว่าของพวกนี้มันเป็นของที่อยู่บนโลกมนุษย์มาก่อน แต่ว่ายักษ์ขโมยไป แจ๊คก็เอาของพวกนี้ไต่กลับลงมา ยักษ์พอรู้ก็เลยไต่ตามลงมาด้วย พอแจ็คถึงพื้นก็รีบเอาขวานฟันต้นถั่วให้โค่นลงมา ยักษ์ก็ตกลงมาตาย นี่ก็คือส่วนแรกที่เป็นส่วนนำ

ส่วนที่หนึ่งที่ผมจะพูดหลังจากได้นำเรื่องในการเปรียบเปรยในเชิงเทพปกรณัมก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญหลังการปฏิวัติ 2475 ในภาคที่ 1 หรือ Episode 1 ก็คือ แจ๊คจับยักษ์ใส่กล่อง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญในรัชสมัยพระปกเกล้า 2475 จนถึง 2478 อย่างที่กล่าวแล้วคือ กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว การปฏิวัติ 2475 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นับเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ไทยที่ปรากฏประโยคที่ไพเราะเพราะพริ้งที่สุดในความเห็นของผม ก็คือประโยคที่ว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย

แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 27 มิถุนายน จะพยายามแก้ปัญหาความคลางแคลงใจของผู้ปกครองในระบอบเก่าด้วยการบัญญัติในมาตราที่ 4 ว่า ผู้เป็นกษัตริย์ของประเทศก็คือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า การสืบมรดกให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 5 ถ้ากษัตริย์มีความจำเป็นชั่วคราวที่ทำหน้าที่ไม่ได้ ให้คณะราษฎรเป็นผู้ใช้อำนาจนั้นแทน มาตราที่ 6 กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องตามคดีอาชญาตามโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรที่จะวินิจฉัย และมาตราที่ 7 การกระทำใดๆ ของกษัตริย์จะต้องคณะกรรมการราษฎรผู้ใดผู้หนึ่งลงนาม มิฉะนั้นจะเป็นโมฆะ ดังนั้นสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่สุด ก็คือคณะราษฎรประกาศก้องว่า นับจากนี้ไปอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนแล้ว ดังนั้นการกระทำของกษัตริย์จะกระทำโดยพละการไม่ได้ หากกษัตริย์ทำหน้าที่ไม่ได้คณะรัฐบาลจะเป็นผู้ใช้สิทธิของกษัตริย์นั้นแทน และหากกษัตริย์กระทำความผิดย่อมต้องถูกวินิจฉัย

ดังนั้นการปฏิวัติ 2475 และรัฐธรรมนูญฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ก็คือแจ็คหรือคณะราษฎรได้ทำการจำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง สิ่งเหล่านั้นก็คือการจับยักษ์ใส่กล่อง ก็คือเพื่อจำกัดอำนาจของกษัตริย์ แม้ว่าพระปกเกล้าจะทรงวางพระทัยว่ายังทรงเป็นกษัตริย์อยู่เช่นเดิม แต่อำนาจได้ถูกจำกัดไปเสมือนกับยักษ์ไม่มีตะบอง นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทรงไม่ยอมรับและตัดสินใจทำให้รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่สุดนั้นเป็นสิ่งที่ชั่วคราว จากนั้นเหล่ายักษ์ก็ได้เริ่มต้นต่อต้านการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ปกครองโดยแจ๊ค เป็นของแจ๊ค และเพื่อแจ๊ค

ในหัวข้อต่อไปผมจะพูดถึงความล้มเหลวของการปรับตัวอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัชสมัยพระปกเกล้า นับตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 ที่มุ่งสถาปนารัฐประชาชาติขึ้น หรือรัฐที่หมายถึงประชาชนที่มีความเท่าเทียมกันประกอบกันขึ้นมาเป็นรัฐ การสร้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น ตลอดจนสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทยด้วยการทำให้กษัตริย์มีอำนาจจำกัด หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ราชาธิปไตยแบบจำกัดอำนาจ หรือ Limited Monarchy เพื่อไม่ให้พระองค์ใช้อำนาจทางการเมืองได้ตามเดิมอีก ดังนั้นการปฏิวัติ 2475 คือการถ่ายโอนอำนาจในการปกครองที่เคยอยู่กับกษัตริย์กลับคืนสู่เจ้าของเดิมคือประชาชน ด้วยการบัญญัติในมาตราที่ 1 ว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย แต่ความพยายามในการจำกัดอำนาจกษัตริย์และการสร้างความเสมอภาคของพลเมืองโดยคณะแจ๊คหรือคณะราษฎร กลับถูกต่อต้านอย่างหนักจากปรปักษ์ของการปฏิวัติอย่างรุนแรง เพื่อทำให้พวกเขาจัดความสัมพันธ์ทางการเมืองไทยใหม่ แม้ว่าความพยายามของพวกเขาช่วงแรกจะไม่ประสบความสำเร็จ เช่น การต่อต้านเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ การรัฐประหารเงียบด้วยการออกพระราชกฤษฎีกางดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราและปิดสภาผู้แทนในปี 2476 การลอบสังหารคณะราษฎรในปี 2476 และการพ่ายแพ้ของกบฎบวรเดช 2476 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปี 2476 จึงเป็นปีที่พระปกเกล้าทรงพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่องในการกอบกู้สถานการณ์ทางการเมืองหลังการปฏิวัติที่จะเกิดประโยชน์กับพระองค์ ดังนั้นพระองค์จึงอาจจะประเมินถึงสถานการณ์ที่เป็นสัญญาณที่ไม่เป็นคุณ จึงทรงเดินทางออกนอกประเทศ จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรก็ได้เห็นชอบในการแต่งตั้งให้สมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้านริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นพระองค์แรกและเป็นผู้สำเร็จราชการของกษัตริย์พระองค์แรกภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยสภาผู้แทนกำหนดให้พระองค์ปฏิบัติหน้าที่วันที่ 12 มกราคม 2477 ก็คือวันที่พระปกเกล้าเดินทางออกนอกประเทศ

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หมายถึงผู้บริหารประเทศ ผู้บริหารแผ่นดินในพระปรมาภิไธยหรือพระนามาภิไธยของพระมหากษัตริย์ เนื่องจากพระมหากษัตริย์ขณะนั้นจะไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ หรือทรงประชวร หรือไม่สามารถบริหารราชการได้ หรือไม่อยู่ในประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ก็ได้อนุญาตให้ตั้งขึ้นได้ ความว่า “ในมาตรา 10 ในเมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารราชภารกิจไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ถ้าหากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งหรือไม่สามารถทรงแต่งตั้งได้ไซร้ ท่านให้สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันตั้งขึ้น และในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรยังมิได้ตั้งผู้ใด ท่านให้คณะรัฐมนตรีกระทำหน้าที่นั้นไปชั่วคราว”

หัวข้อต่อไปก็คือ สถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติ เมื่อสภาผู้แทนได้แต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าพระบรมวงศ์เธอกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ขึ้นทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระปกเกล้าแล้ว เนื่องจากพระปกเกล้าทรงเสด็จออกนอกประเทศหลังความพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่อง ด้วยทรงอ้างเหตุผลว่าพระองค์ทรงต้องการรักษาอาการประชวร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และรัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติจะมีความราบรื่น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าระหว่างที่พระปกเกล้าจะไม่อยู่ในประเทศก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทรงยินยอมร่วมมือหรือเห็นชอบกับรัฐบาลรัฐประชาชาติที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ตกค้างจากระบบเก่า เพื่อสร้างความเป็นสมัยใหม่และสร้างความเสมอภาคให้กับพลเมืองของรัฐประชาชาติ เช่นการที่คณะราษฎรพยายามผลักดันการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ การไม่ลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติหลายฉบับที่ลิดรอนอำนาจ ความเป็นเจ้าชีวิต และพระราชทรัพย์ไปจากพระองค์ เช่น รัฐบาลต้องการผลักดันการแก้ไขกฎหมายประมวลอาญาและวิธีพิจารณาความอาญาที่เคยกำหนดโทษประหารชีวิตด้วยการฟันคอเป็นการยิงเสียให้ตายนั้น พระองค์ไม่เห็นชอบกับการแก้ไขดังกล่าวของรัฐบาล แต่ทรงต้องการเป็นผู้วินิจฉัยเหนือคำพิพากษาของศาลในการปลิดชีวิตนักโทษ เพื่อรักษาสถานะของการเป็นเจ้าชีวิตเอาไว้ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทรงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการเปลี่ยนแปลงคนของกษัตริย์ไปเป็นคนในรัฐนั่นเอง ตลอดจนคณะราษฎรได้พยายามผลักดันการเก็บภาษีมรดกแต่ก็ได้รับการต่อต้านจากพระองค์มากเช่นเดียวกัน

เมื่อความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์ในระบอบเก่ากับรัฐบาลระบอบใหม่หรือรัฐประชาชาติดำเนินต่อไป พระองค์ได้ยื่นข้อเรียกร้องมากขึ้นตามลำดับ และท้ายสุดแล้วพระองค์ก็โจมตีว่าคณะราษฎรนั้นเป็นเผด็จการในการรวบอำนาจไว้เพื่อแต่งตั้งสมาชิกประเภท 2 แต่ข้อเท็จจริงแล้วสิ่งนี้ได้รับการเปิดเผยอีกครั้งในการแถลงของรัฐบาลจอมพล ป.ต่อรัฐสภา บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือ ฉบับ 10 ธันวาคมร่างขึ้นในอิทธิพลของพระมหากษัตริย์และพระยามโนปกรณ์ พวกเราคณะราษฎรนั้น นานๆ พระยามโนปกรณ์ก็เรียกประชุมถามความเห็น หรือเรียกประชุมแจ้งพระประสงค์ของพระปกเกล้าให้ฟังเป็นบางคราว ในที่ประชุมนั้นถ้าเราไม่ยอมทำตามก็ถูกขู่เข็ญอย่างเต็มที่ และเราก็ต้องยอม นอกจากนี้จอมพล ป.ยังแถลงกับสภาผู้แทนว่า ความต้องการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่งตั้งด้วยอำนาจพระมหากษัตริย์มาถึง 10 ปีนั้น ไม่ได้มาจากคณะราษฎรแต่มาจากความต้องการของพระปกเกล้า ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคมที่เรามาพูดกันในวันนี้นั้น คณะนักกฎหมายที่ร่างทั้งหมดเป็นนักกฎหมายรอยัลลิสต์ มีนายปรีดี พนมยงค์ คนเดียวที่เป็นตัวแทนของคณะราษฎร ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้ที่สิ่งที่จอมพล ป.บอกกับสภาผู้แทนในวันนั้นเป็นความจริง

ดังนั้น ขบวนการต่อต้านการปฏิวัติที่พระปกเกล้าทรงให้การสนับสนุน รวมทั้งข้อเรียกร้องของกษัตริย์ข้างต้นเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ เหมือนที่พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีได้เคยแถลงต่อสภาผู้แทนว่า ข้อเรียกร้องต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ยื่นต่อรัฐบาลและสภานั้นเป็นการขัดต่อระบอบรัฐธรรมนูญ สุดท้ายแล้วพระปกเกล้าก็ทรงสละราชย์ในปี 2477 ย่อมหมายถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศราฯ ที่ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการได้สิ้นสุดลงเช่นกัน แม้ว่าพระยาหพลฯ ได้ทาบทามให้ทรงดำรงตำแหน่งต่อก็ตาม แต่ก็ทรงปฏิเสธด้วยเหตุผลก็คือชรา ดังนั้นความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองจากระบอบเก่ากับรัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติก็ได้จบสิ้นลง รัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นองค์กรผู้ถืออำนาจอธิปไตยแทนประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยให้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศต่อไปด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ ก็หมายความว่าความขัดแย้งอันนั้นสภาผู้แทนเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องของพระปกเกล้า

 

Episode2:

ยักษ์ในกล่องของแจ๊ค

บทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล 2478 จนถึง 2489 คณะผู้สำเร็จราชการในสมัยรัชกาลที่ 8 กับการวางแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญกับรัฐบาล

เมื่อพระปกเกล้าสละราชย์แล้ว รัฐบาลและสภาผู้แทนได้พิจารณาทูลเชิญพระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ เนื่องจากพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลนั้นยังทรงพระเยาว์ ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ สภาผู้แทนจึงแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนขึ้น ประกอบด้วย พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าออศคาร์นุทิศกรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ เป็นประธานผู้สำเร็จราชการ คนที่สองก็คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา คนที่สามก็คือ เจ้าพระยายมราช

หลังจากที่สภาผู้แทนมีมติแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จขึ้นแล้ว คณะผู้สำเร็จได้เข้าปฏิญาณต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2477 ว่า “ข้าพเจ้าได้รับมติการแต่งตั้งจากสภาผู้แทนครั้งนี้ รู้สึกเป็นเกียรติยศอย่างสูงและสำคัญมาก ข้าพเจ้าจะได้ตั้งใจเพียรพยายามที่จะปฏิบัติหน้าที่ในหน้าที่นี้จนสุดกำลังและสติปัญญาที่พึงจะกระทำได้ให้ถูกต้องตามระบอบรัฐธรรมนูญจงทุกประการ เพื่อความเจริญมั่นคงแก่ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญสืบไป”

ในช่วงเวลาดังกล่าว บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านคณะผู้สำเร็จราชการของรัฐบาลดำเนินไปด้วยดี เมื่อรัฐบาลออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ในปี 2477 โดยคณะผู้สำเร็จยอมลงพระนามประกาศใช้กฎหมายนี้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่สถาบันพระมหากษัตริย์ยอมให้รัฐบาลของรัฐประชาชาติเข้ามาจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ได้ แต่การที่คณะผู้สำเร็จตัดสินใจให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้นั้น พระองค์เจ้าออศคาร์นุทิศซึ่งทรงเป็นประธานคณะผู้สำเร็จได้รับการกดดันมากจากพระราชวงศ์ชั้นสูง จึงทำให้พระองค์นั้นปลงพระชนม์ตัวเอง เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2478 พระยาพหลฯ ขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้แถลงเรื่องนี้ต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า พระองค์ปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการด้วยความเรียบร้อย แต่พระองค์ลำบากใจในการปฏิบัติงานในฐานะเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของพระปกเกล้า ได้ทรงถูกเจ้านายบางพระองค์กล่าวเสียดสีและการปฏิบัติงานของพระองค์ในฐานะผู้สำเร็จราชการ จึงได้ทรงปลงพระชนม์เอง

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลนั้นยอมอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่มีพระราชวงศ์และกลุ่มรอยัลลิสต์จำนวนหนึ่งปฏิเสธการยอมรับระบอบใหม่ และกดดันการปฏิบัติหน้าที่ของประธานผู้สำเร็จราชการจนพระองค์ต้องปลงพระชนม์ตัวเอง จากพวกฝ่ายเจ้านายและฝ่ายที่ต่อต้านระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้เราต้องสูญเสียประธานคณะผู้สำเร็จราชการที่ยอมอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญต่อไป

ต่อมา สภาได้มีการเลือกตั้งซ่อมคณะตัวแทนที่ว่างไป ก็คือได้ เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) แทนพระองค์เจ้าออศคาร์ ต่อมาสภามีมติให้แต่งตั้งพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาเป็นประธานผู้สำเร็จ พระองค์เจ้าอาทิตย์เป็นพระราชวงศ์ชั้นสูงที่ให้การสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และมีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลและสภาผู้แทนเริ่มเกิดแบบแผนขึ้น ต่อมาเมื่อเกิดปัญหาเรื่องการขายที่ดินของพระคลังข้างที่ปี 2480 ทำให้คณะผู้สำเร็จราชการต้องลาออก แต่สภาผู้แทนได้เลือกคณะผู้สำเร็จชุดเดิมกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีก จากเหตุปัญหาการขายที่ดังกล่าว ทำให้พระยาหลฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบเช่นเดียวกัน แต่สภาผู้แทนก็เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของรัฐบาลและผู้สำเร็จราชการก็เห็นด้วยกับสภาผู้แทน จึงแต่งตั้งพระยบาพหลฯ กลับเข้าเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

จากเหตุการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎรในช่วงเวลานี้เป็นตัวอย่างที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ที่จะเห็นได้ว่าสถาบันกษัตริย์และรัฐบาลยอมรับความสัมพันธ์ระหว่างกันที่วางอยู่บน และให้ความสำคัญกับสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นตัวแทนประชาชนอย่างมาก ซึ่งเป็นตัวอย่างที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

ในช่วงปลายทศวรรษ 2470 จนถึงปลายทศวรรษ 2480 ราวกว่า 11 ปีภายใต้รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นช่วงที่รัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติเดินหน้าสร้างความก้าวหน้าเป็นสมัยใหม่ ความเสมอภาค และรัฐบาลได้ผลักดันกฎหมายที่สร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมอย่างสำคัญ เช่น การออก พรบ.การใช้ประมวลรัษฎากร เพื่อการยกเลิกเงินรัชชูปการ ภาษีสมพัดสร และอากรค่านา การสร้างความเป็นสมัยใหม่ในทางวัฒนธรรม การประกาศรัฐนิยม การเปลี่ยนชื่อประเทศโดยประธานผู้สำเร็จราชการให้การสนับสนุนการเดินหน้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ เห็นได้จากการที่พระองค์ยอมรับทรงแต่งกายเป็นสากล

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 คืบคลานเข้าสู่ประเทศไทย ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2484 สภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแต่เพียงผู้เดียว อย่างไรก็ตามภายหลังที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกและไทยยอมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายอักษะ เมื่อสถานการณ์สงครามในยุโรปเริ่มแปรเปลี่ยนไป ฝ่ายอักษะเริ่มตกเป็นฝ่ายรับจากฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ได้เริ่มก่อตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น เมื่อจอมพล ป.ลาออกจากตำแหน่งแล้ว นายปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการได้เชิญประธานสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้นก็คือ พระยามานวราชเสวี ปรึกษาถึงสถานการณ์และสนับสนุนให้นายควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป โดยผู้สำเร็จราชการขณะนั้นก็คือนายปรีดีได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้จอมพล ป.เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน

ในช่วงปลายที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังจะจะจบสิ้นลง นายปรีดีและสมาชิกคณะราษฎรในฐานะผู้สำเร็จราชการพยายามปรองดองกับพระราชวงศ์ชั้นสูงและพวกรอยัลลิสต์ ด้วยการผลักดันให้การอภัยโทษและคืนฐานันดรศักดิ์ให้แก่นักโทษทางการเมืองที่เป็นเจ้านายชั้นสูง เช่น นายรังสิต ประยูรศักดิ์ รังสิต ณ อยุธยา กลับคืนเป็นกรมขุนชัยนาทนเรนทร และพวกรอยัลลิสต์ที่เคยต่อต้านการปฏิวัติเมื่อปี 2475 ในหลายกรณี โดยนายปรีดีหวังว่าจะเกิดความร่วมมือกันในการทำงานเพื่อชาติและลบล้างความขัดแย้งเมื่อครั้งเก่า แต่ความหวังของนายปรีดีนี้ ได้รับการตอบรับน้อยมากจากผู้มีอำนาจเก่าและเหล่าผู้สนับสนุน แล้วอะไรล่ะคือรางวัลที่พระราชวงศ์ชั้นสูงและพวกรอยัลลิสต์มอบให้นายปรีดีผู้ที่ปลดปล่อยพวกเขา

ไม่นานหลังจากสงครามสิ้นสุดลง พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ทรงแต่งตั้งนายปรีดีเป็นรัฐบุรุษอาวุโส มีหน้าที่ให้คำปรึกษากิจการราชการแผ่นดิน และทรงได้ลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ที่สะท้อนให้เห็นถึงทรงยืนยันแบบธรรมเนียมที่กำเนิดขึ้นในการที่ทรงยินยอมเป็นกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญที่ก่อตัวขึ้นหลังการปฏิวัติต่อไป ดังนั้นในรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ได้ มีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับกษัตริย์ในการสืบราชสมบัติเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลปี 2467 และการให้ความสำคัญกับรัฐสภาทั้งพฤฒิสภาและ สส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างเต็มที่

หลังสิ้นสุดรัชกาลด้วยโศกนาฏกรรมที่น่าฉงนและเริ่มต้นรัชกาลใหม่ สิ่งที่นายปรีดีรับรางวัลจากกลุ่มนักโทษกบฎต่อประชาธิปไตยที่นายปรีดีเคยปลดปล่อยคนเหล่านั้นก็คือ การถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรที่เกี่ยวข้องกับสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ในเวลาต่อมา

หัวข้อต่อไป ย้อนเวลากลับอดีต การรัฐประหาร 2490 กับการเปิดกล่องแพนโดร่า เมื่อยักษ์ออกจากกล่อง เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ผู้ยอมรับแบบธรรมเนียมความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองที่คณะผู้สำเร็จราชการเป็นตัวแทนของพระองค์ได้ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระองค์ได้ทรงสวรรคตลงเมื่อ 9 มิถุนายน 2489 โดยรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ได้บัญญัติให้สมาชิกพฤฒิสภาซึ่งมีอายุสูงสุด 3 คนเป็นคณะผู้สำเร็จราชการชั่วคราว ประกอบด้วย พระสุธรรมวินิจฉัย พระยานลราชสุวัจน์ และนายสงวน จูฑะเตมีย์ คณะผู้สำเร็จราชการดังกล่าวเป็นคณะผู้สำเร็จเพียงประมาณสัปดาห์กว่าเท่านั้น คือ 9 ถึง 16 มิถุนายน 2489 คณะดังกล่าวก็ได้พ้นอำนาจไปเนื่องฝ่ายราชสำนักและกลุ่มรอยัลลิสต์ต้องการเข้าควบคุมทิศทางสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านผู้สำเร็จราชการต่อไป

อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลได้ปล่อยอดีตกบฎต่อต้านประชาธิปไตยให้มีอิสระ ดังนั้นไม่แต่เพียงในพื้นที่ทางการเมืองไทยหลังสงครามที่มากด้วยปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่มาจากสถานการณ์สงครามเท่านั้นที่ทำให้รัฐบาลต้องเผชิญปัญหา แต่พื้นที่ทางการเมืองไทยขณะนั้นก็พลุกพล่านไปด้วยอดีตกบฎที่ชิงชังประชาธิปไตย ความเคลื่อนไหวของพวกเขามีส่วนในการสร้างความปั่นป่วนทางการเมืองหลังสงครามให้ทวีความยุ่งยากมากขึ้นไปอีก แต่ขณะนั้นกรมขุนชัยนาทนเรนทรอดีตแกนนำในการต่อต้านระบอบประชาธิปไตยได้ทรงพ้นโทษจากนักโทษเด็ดขาดฐานกบฎ อีกทั้งมีความใกล้ชิดกับราชสกุลมหิดล ทรงได้เป็นแกนนำและมีอิทธิพลเหนือกลุ่มรอยัลลิสต์ในขณะนั้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี อดีตพระราชินีของพระปกเกล้าทรงเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่อีกพระองค์หนึ่งที่เสด็จกลับจากอังกฤษมาไทย รายงานจากสถานทูตสหรัฐรายงานว่า ทรงมีความต้องการสนับสนุนราชสกุลจักรพงษ์ สถานการณ์ดังกล่าวจึงนำไปสู่การช่วงชิงการนำภายในการเมืองของราชสำนัก ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ว่างลงอย่างฉับพลัน ยิ่งมีส่วนเร่งการต่อสู้ทางการเมืองในราชสำนักให้แหลมคมมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญ 2489 บัญญัติให้ผู้อาวุโสจากพฤฒิสภาเข้าดำรงตำแหน่งคณะผู้สำเร็จ ทำให้กลุ่มการเมืองในราชสำนักไม่พอใจ และเร่งให้เกิดการตั้งคณะผู้สำเร็จราชการชุดใหม่แทนคณะชั่วคราวที่มาจากพฤฒิสภา ทำให้การต่อสู้ของกลุ่มการเมืองในราชสำนักนั้น ดูเหมือนว่าเขาไม่สนใจความเป็นไปของชาติหลังสงคราม มากไปกว่าการจัดการเรื่องผลประโยชน์ของพวกเขาให้เสร็จสิ้น ด้วยการผลักดันฝ่ายตนเข้าคุมคณะผู้สำเร็จ

จากรายงานทางการทูต ได้รายงานการต่อสู้ในราชสำนักขณะนั้นว่าแบ่งออกเป็น 2 ปีก ปีกที่ 1 คือสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงมีความต้องการเป็นผู้สำเร็จราชการเพื่อทบทวนสิทธิที่ควรจะเป็น ในขณะที่อีกปีกหนึ่งมีแรงผลักดันให้กรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นตัวแทนในการปกป้องสิทธิที่มีอยู่ให้สืบเนื่องต่อไป สุดท้ายแล้วการประลองกำลังภายในราชสำนักก็จบสิ้นลง ด้วยราชสำนักเสนอกรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นประธานคณะผู้สำเร็จ เป็นตัวแทนแต่เพียงพระนามเดียว ส่วนรัฐบาลขณะนั้นได้เสนอพระยามานวราชเสวีเป็นผู้สำเร็จ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวคณะผู้สำเร็จขณะนั้นรัฐบาลยังคงมีตัวแทนดูแลความเป็นไปของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้วางอยู่บนอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนได้

ไม่นานจากนั้น รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนคดีสวรรคตขึ้น การสอบสวนมีความก้าวหน้ามากขึ้นจนอาจระบุผู้ต้องสงสัยได้ หลังจากคดีมีความคืบหน้าจากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ของรัฐและพระราชวงศ์ชั้นสูงที่มีพระองค์เจ้าธานีนิวัต พระองค์เจ้าจุมภฏบริพัตร และพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลเป็นกรรมการ ไม่นานจากนั้นก็เกิดการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 การรัฐประหารดังกล่าวได้สำเร็จลงด้วยความช่วยเหลือของกรมขุนชัยนาทนเรนทรที่รับรองการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และทรงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ด้วยพระองค์เองโดยปราศจากการลงนามของพระยามานวราชเสวี ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการที่เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาล

การกระทำของกรมขุนชัยนาทนเรนทรที่เป็นผู้สำเร็จราชการเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ได้ถือว่าเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างรุนแรงที่สุดด้วยการสนับสนุนให้เกิดการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 บทบาทดังกล่าวของผู้สำเร็จราชการที่เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นในการสนับสนุนรัฐประหาร จึงเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาทางการเมืองจำนวนมากที่ตามมา กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านผู้สำเร็จราชการหรือกรมขุนชัยนาทนเรนทรนั้น ได้ทำลายรากฐานความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐบาลภายใต้ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญที่ก่อรูปขึ้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลลงเสีย อันนำไปสู่ระบอบการปกครองอันแปลกประหลาดที่มีระบอบชื่อแจ๊ค แต่ไม่ใช่การปกครองของแจ๊ค โดยแจ๊ค และเพื่อแจ๊คอีกต่อไป กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ กล่องแพนโดร่าถูกเปิดออกแล้ว

ส่วนที่สอง จากระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหลังรัฐประหาร 2490 และการสถาปนารัฐธรรมนูญ 2492

 

Episode 3:

เมื่อยักษ์จับแจ๊คใส่กล่อง

หลังการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ทรงลงพระนามยอมรับการอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ในเช้าวันรุ่งขึ้นก็คือ 9 พฤศจิกายน 2490 รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ที่กรมขุนชัยนาทผู้สำเร็จพระองค์เดียวที่ลงนามยอมรับ ได้มีการแต่งตั้งอภิรัฐมนตรีขึ้น ประกอบด้วยพระองค์เอง พระองค์เจ้าธานี พระองค์เจ้าอลงกต พระยามานวราชเสวี และ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส เป็นคณะผู้สำเร็จราชการ เราอาจวิเคราะห์ได้ว่านี่เป็นความพยายามของพวกเขาที่ประสบความสำเร็จในการสนับสนุนรัฐประหาร 2490 พวกเขาได้เข้ามาทำหน้าที่สถาปนิกทางการเมือง ด้วยการจัดความสัมพันธ์ทางการเมืองใหม่ที่เอื้อประโยชน์ให้กับพวกเขา เช่น รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 พวกเขาได้ประดิษฐ์ระบอบการเมืองที่พวกเขาต้องการขึ้น และเรียกประดิษฐกรรมทางการเมืองนี้ว่า ระบอบประชาธิปไตยมีพระมหาษัตริย์เป็นประมุข

กล่าวอีกอย่างก็คือ เหตุการณ์รัฐประหาร 2490 ก็คือการ hijack อำนาจของแจ๊ค หรือการจี้อำนาจของแจ๊คไป หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ แจ๊คถูกจับใส่กล่องเสียแล้ว เมื่อพวกเขายึดอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ใช่เป็นระบอบของแจ๊ค เพื่อแจ๊ค และโดยแจ๊ค หรือการจำกัดสิทธิของประชาชนจนสำเร็จ พวกเขาได้สร้างคำปฏิญาณในการปกป้องรัฐธรรมนูญ 2492 นี้จนสุดชีวิตว่า

“มาตราที่ 22 ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามความในมาตรา 19 หรือมาตรา 20 ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภา ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้ ข้าพเจ้า ชื่อผู้ปฏิญาณ ขอปฏิญาณว่าจะซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระบรมนามาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนุญแห่งราขอาณาจักรไทยทุกประการ”

อาจวิเคราะห์ได้ว่า ยิ่งรัฐบาลสูญเสียการเหนี่ยวรั้งให้สถาบันกษัตริย์ยึดโยงกับแนวคิดอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนมากเท่าไร ก็อาจจะเกิดการเป็นปรปักษ์ต่อกันมากเท่านั้น ดังจะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับสถาบันพระมหากษัตริย์หลังรัฐประหาร 2490 เกิดปัญหาอย่างมาก ปัญหาการสวรรคตอย่างฉับพลันของรัชกาลที่ 8 สร้างความวิตกให้กับราชสำนักเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์เดินหน้าการสืบสวนหาสาเหตุอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นความคิดของพระราชวงศ์ชั้นสูงและกลุ่มรอยัลลิสต์มีความต้องการยุติการเดินหน้าของรัฐบาลที่จะไขปัญหาปริศนา และพวกเขาได้เข้าร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างความมั่นคงในการสืบราชสมบัติให้มากขึ้น จากเดิมที่บทบัญญัติในหมวดพระมหากษัตริย์มีอยู่เพียงไม่กี่มาตรา แต่หลังจากการสวรรคตและการรัฐประหาร 2490 แล้ว กลับมีผลโดยตรงต่อการเพิ่มมาตราในหมวดพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการสืบราชสมบัติให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นประเด็นใหญ่ที่ถูกบัญญัติขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาอย่างไม่เคยมีมาก่อน

 

ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ที่ถูกร่างโดยกลุ่มรอยัลลิสต์จะมีบทบัญญัติการเสนอพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ที่ต้องเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล การแต่งตั้งผู้สำเร็จได้มีการบัญญัติให้รัฐสภาให้ความเห็นก่อน เช่น การบัญญัติให้หลายกิจกรรมให้สภาเห็นชอบ แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะมีความศรัทธานะครับ แต่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่พวกเขาควบคุมรัฐสภาได้ต่างหากเล่า เพราะขณะนั้นสภาบนหรือพฤฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ ในขณะนั้นมีกรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นผู้สำเร็จ ส่วนสภาผู้แทนมีพรรคประชาธิปัตย์คุมเสียงข้างมาก พูดง่ายๆ ก็คือสภาบนก็แต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์โดยผ่านคณะผู้สำเร็จ ส่วนสภาล่างก็มีพรรคประฃาธิปัตย์คุมเสียงข้างมาก เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ถูกประกาศใช้ กรมขุนชัยนาทได้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นเราอาจจะวิเคราะห์ได้ว่าสถาบันกษัตริย์ขณะนั้นมีความมั่นใจมั่นการสนับสนุนจากสภาที่มีเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งที่จะสร้างความมั่นคงให้กับการเปลี่ยนผ่าน และการเข้าสู่ระบอบที่อ้างชื่อแจ๊ค แต่ไม่ใช่เป็นการปกครองของแจ๊ค โดยแจ๊ค และเพื่อแจ๊คอีกต่อไป ไม่น่าประหลาดใจแต่ประการใดที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ได้มีบทบัญญัติให้คณะผู้สำเร็จต้องปฏิญาณต่อหน้ารัฐสภารอยัลลิสต์ว่าจะปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ชั่วฟ้าดินสลาย

การเข้าเคลียร์พื้นที่ทางการเมืองและการเข้าแทรกแซงทางการเมืองสมัยรัฐบาลจอมพล ป.ของกรมขุนชัยนาท เพื่อปูทางทางการเมืองที่ราบลื่นให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ได้สร้างปัญหาความสัมพันธ์

ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลจนนำไปสู่การรัฐประหาร 2492 ดังเห็นได้จาก Bangkok Post ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม 2493* ได้รายงานข่าวว่าผู้สำเร็จราชการขณะนั้นได้เสด็จเข้ามานั่งเป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรี ประหนึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานการประชุมเสนาบดีในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช การก้าวก่ายดังกล่าวของผู้สำเร็จราชการสร้างความไม่พอใจให้กับจอมพล ป.นายกรัฐมนตรีขณะนั้นเป็นอย่างมาก จนทำไปสู่การรัฐประหารในปลายปี 2494 เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ลง การรัฐประหารดังกล่าวได้เกิดขึ้นก่อนพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันทรงเสด็จนิวัติพระนครเพียงไม่กี่วัน เหตุผลของการรัฐประหารดังล่าวคือการลดอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ออกไปจากการเมือง หลังจากนั้นจอมพล ป.ได้นำรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 มาใช้ใหม่ในช่วงสั้นๆ โดยรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธํนวาคม 2475 ได้จำกัดพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์มากไปกว่าฉบับที่ถูกล้มไป ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่การรัฐประหาร 2494 ได้สร้างความไม่พอใจมาก เนื่องจากเป็นการยุติระบอบการเมืองที่พวกเขาได้พยายามสถาปนาขึ้น

*หมายเหตุ : 

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2563 ประชาไทได้รับการแจ้ง โดย เกศประภา บูรณกานนท์ จาก Bangkok Post Information Centre ว่า การอ้างอิงหนังสือพิมพ์หน้า 1 วันที่ 18 ธ.ค. 2493 ตามที่ปรากฎในย่อหน้าทสุดท้ายนั้นไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีข้อความใดของข่าวที่อ้างอิงเป็นไปตามการกล่าวอ้างนั้น

เกศประภา ยังแนบหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวมาด้วย

ทั้งนี้ประเด็นการอ้างอิงของณัฐพลนี้ ทำให้นักวิชาการกลุ่มหนึ่งหยิบมาวิพากษ์วิจารณ์หนังสือ 'ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี: การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500' และงานวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ซึ่งวันที่ 19 ธ.ค.2563 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันที่ตีพิมพ์หนังสือฉบับดังกล่าว โดยที่ก่อนที่จะตีพิมพ์หนังสือเล่มดังกล่าวนั้น กองบรรณาธิการฟ้าเดียวกันได้มีการตรวจสอบข้อผิดพลาดในจุดที่ไชยันต์ ไชยพร กล่าวอ้าง (เรื่องผู้สำเร็จราชการนั่งเป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรีจากวิทยานิพนธ์หน้า 105) และได้แก้ไขให้ถูกต้องแล้ว (ดูหนังสือขุนศึกฯ หน้า 103) ในคำนำของสำนักพิมพ์เองก็ได้ชี้แจงแล้วว่าหนังสือเล่มนี้ “ณัฐพลเรียบเรียงพัฒนาให้สมบูรณ์ขึ้นจากวิทยานิพนธ์เล่มดังกล่าว” (ดูหน้า [11]) อีกทั้งในคำนำผู้เขียนเอง ณัฐพลก็ได้ชี้แจงว่า “ผู้เขียนได้ปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ ให้มีความถูกต้องตามข้อท้วงติงของหลายท่าน” (ดูหน้า [31]) 

อีกทั้ง สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ยังยกเอกสารทูตสหรัฐฯ ที่รายงานเรื่องความร้าวฉานระหว่างวุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยผู้สำเร็จราชการ (กรมขุนชัยนาทฯ) หลายคนเป็นผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นฝ่ายค้านได้ยับยั้งร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนฯ เสนอกว่า 4 ฉบับ รวมถึงร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านา 2492 ที่รัฐบาล จอมพล ป. พยายามผลักดัน จอมพล ป.จึงโต้กลับด้วยการขอเข้าประชุมคณะองค์มนตรีด้วย ระหว่างนั้นหนังสือพิมพ์ที่รัฐบาลควบคุมก็ตีข่าวเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้การแต่งตั้งองค์มนตรีและวุฒิสภาต้องได้รับการลงนามรับรองทั้งโดยนากฯ และประธานองค์มนตรี

เพิ่มเติมเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2563 WAY MAGAZINE เผยแพร่บทสัมภาษณ์ ไชยันต์ ไชยพร เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2563 แย้งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ด้วยว่า เขาจะไปพูดถึงหนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี เสียมากกว่า แต่ประเด็นของผมมันอยู่ในหนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) ซึ่งเขียนโดย ณัฐพล ใจจริง ตีพิมพ์เมื่อปี 2556 ในหนังสือมีข้อความที่หน้า 124 กล่าวถึงประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในขณะนั้น คือ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ได้เข้าไปประทับนั่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ที่มีนายกรัฐมนตรีคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วเข้าไปประทับนั่งเหมือนกับกษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือหนังสือเขาเขียนไว้ว่า เข้าไปทำแบบนี้บ่อยๆ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net