Submitted on Wed, 2011-03-23 11:41
“สุวิทย์” เมินรับหนังสือกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ปล่อยคอยเก้อที่ทำเนียบ ก่อนย้ายไปชุมนุมหน้ากระทรวงทรัพย์ฯ จี้เร่งใช้มาตรา 25 รื้อถอนเอกชนรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง ด้าน ทส.รับลูกทำหนังสือด่วน ถึงพ่อเมืองประจวบฯ แล้ว
วานนี้ (22 มี.ค.54) เมื่อเวลาประมาณ 8.00 น.ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 300 คน นำโดย นายวิทูร บัวโรย เดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อนเข้าประชุมคณะ รัฐมนตรี (ครม.) ขอเร่งรัดความคืบหน้าการบังคับใช้มาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ที่ดิน 52 ไร่ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าครองแม่รำพึง ซึ่งกรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 ม.ค.53 และเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 53 ได้มีคำสั่งใช้มาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 โดยไล่รื้อถอนสิ่งก่อสร้างของผู้บุกรุกคือกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กบางสะพาน ในเครือบริษัทสหวิริยาออกจากพื้นที่
อย่างไรก็ตาม นายสุวิทย์ ไม่ได้ออกมาพบกับกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งที่มีการส่งหนังสือเพื่อนัดหมายตั้งแต่ เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ชุมนุมได้มอบหนังสือผ่านนายสุรพล ปัตตานี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และขอให้มีการประสานกับ 7 หน่วยงานที่เกี่ยวของ อาทิ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรน้ำ สำนักความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และตัวแทนกระทรวงทรัพย์ฯ เข้าร่วมการประชุมเพื่อพูดคุยกับชาวบ้านที่กระทรวงทรัพย์ฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมมีนายนายดำรงค์ พิเดช รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน มีการพูดคุยถึงการบังคับใช้มาตรา 25 ให้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิและให้บริษัทออกไปจากพื้นที่ เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง จำนวน 52 แปลง จากกรณีที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ได้ร่วมกันตรวจสอบการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิดังกล่าวแล้วพิสูจน์พบว่าผู้ บุกรุกออกเอกสารสิทธิ์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนกระทั่งกรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์มีคำ สั่งใช้มาตรา 25 ให้ผู้บุกรุกออกจากพื้นที่ ซึ่งทางกรมป่าไม้ก็เห็นชอบใช้คำสั่งนี้เช่นกัน แต่ผู้บุกรุกได้อุทธรณ์คำสั่ง ทำให้ชาวบ้านหวั่นเกรงว่ากระบวนการจะล่าช้า
นายดำรงค์ กล่าวยืนยันว่า ได้เซ็นหนังสือด่วนลงวันที่ 22 มี.ค.54 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อแจ้งผลวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองแล้ว เพื่อยืนยันตามความเห็นของนายอำเภอบางสะพาน ในฐานะเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่ รำพึง ที่ได้มีคำสั่งให้ผู้อุทธรณ์ออกจากป่าสงวน และงดเว้นการกระทำใดๆ ในเขตป่าสงวน โดยในส่วนของนายสุวิทย์ รมว.กระทรวงทรัพย์ฯ ก็ได้ยืนยันแล้วว่า ไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ของผู้บุกรุก ดังนั้นทางกระทรวงทรัพย์ฯ โดยกรมป่าไม้ นายอำเภอ สามารถดำเนินการตามมาตรา 25 ได้เลยทันที อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคดีความที่ทางบริษัทอาจมีการยื่นอุทธรณ์ก็ให้เป็นไปตามกระบวนการ
“ข้าราชการเพียงทำได้ตามกระบวนการที่มี ส่วนการจะไปเย้วๆ ไล่ให้อุตสาหกรรมออกจาพื้นที่คงทำไม่ได้” นายดำรงค์ กล่าว
ส่วนกรณีที่มีเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้เข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญศาล เพื่อต่อสู้คดีกับชาวบ้าน โดยยืนยันว่ามีการเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าโกงกางซึ่งเป็นพื้นที่ป่า อนุรักษ์กว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ทั้งหมดมาก่อนหน้าที่จะมีการเข้าใช้ประโยชน์โดยกลุ่มทุน อุตสาหกรรม ในเรื่องนี้ นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่าการดำเนินการของบุคคลดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนบุคคล ซึ่งทางกรมป่าไม้ได้ทำเรื่องชี้แจงต่อศาลแล้วว่าเป็นคนละส่วนกับส่วนราชการ นอกจากนั้นทางกรมป่าไม้ยังได้ตั้งผู้ชำนาญการและเตรียมข้อมูลหลักฐานโต้แย้ง ไว้แล้ว เพื่อพร้อมนำส่งศาลหากมีการเรียกถามความเห็น
นอกจากนั้นกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงยังเรียกร้องให้มีการจัดการน้ำอย่าง เป็นธรรม เนื่องจากในพื้นที่มีปัญหาการแย่งชิงน้ำระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคเกษตร และยังได้ขอให้มีการเปิดเผยรายชื่อคณะทำงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำใน พื้นที่ ซึ่งตัวแทนจากกรมทรัพยากรน้ำกล่าวให้ข้อมูลว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันตก พร้อมให้ข้อมูลรายชื่อคณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาคลองบางสะพานใหญ่ 37 คน อันประกอบด้วยนายอำเภอ ปลัดอำเภอและกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้ดูแลการจัดการน้ำในพื้นที่ พร้อมระบุว่ารายชื่อดังกล่าวสามารถทำการเปลี่ยนแปลงได้ หากมีการทำเรื่องมายังกรมทรัพยากรน้ำ
ทั้งนี้ การประชุมใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง โดยมีตัวแทนชาวบ้าน 30 คนเข้าร่วมการประชุม ส่วนที่เหลือรวมตัวกันอยู่ที่บริเวณด้านหน้ากระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อรอคำตอบ
ด้านนายวิทูรย์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงกล่าวภายหลังการพูดคุยว่า เนื้อที่ที่ถูกบุกรุกกว่า 798 ไร่ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึก สายพานลำเลียง และถนนส่วนบุคคลเส้นทางท่าเรือ ซึ่งในวันนี้ทางกระทรวงทรัพย์ฯ ได้ลงนามในหนังสือให้ยกเลิกคำอุทธรณ์ทั้งหมดส่งให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อประสานต่อไปยังทางอำเภอ และถือว่ามาตรา 25 ให้มีผลบังคับใช้แล้ว นอกจากนั้นการที่ชาวบ้านมากันในวันนี้ก็เพื่อติดตามการประกาศป่าพรุแม่รำพึง ให้เป็นพื้นที่ชุมน้ำแห่งชาติหรือ แรมซาร์ ไซด์ (Ramsar Sites) เพื่อให้มีมาตรการคุ้มครองดูแลและป้องกันการบุกรุก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำสรุปข้อมูลจากสำนักงานทรัพยากรฯ จังหวัดเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงนามเห็นชอบ
ส่วนนายสุพจน์ ส่งเสียง รองประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านหลายคนโดนคดีจากการฟ้องร้องของบริษัทเอกชนคนละเกือบ 20 คดี ในส่วนตัวเขาโดนมากกว่า 20 และขณะนี้ก็มีคดีคงค้างอยู่อีก 4 คดี ซึ่งในส่วนคดีที่มีการพิจารณาแล้วส่วนใหญ่จะเห็นว่าชาวบ้านต้องแพ้คดีและถูก เรียกค่าเสียหาย แต่ในวันนี้เมื่อพิสูจน์ได้แล้วว่าทางบริษัทมีการบุกรุก และชาวบ้านร่วมกันต่อสู้เพื่อเอาที่ดินคืนมาให้กับส่วนรวมได้หลายร้อยไร่ ในส่วนนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบความสูญเสียที่ผ่านมาให้แก่ชาวบ้าน
นายสุพจน์ กล่าวแสดงความเห็นด้วยว่า เอกสารที่มีการลงนามโดยนายดำรงค์ พิเดช รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการลงนามในวันนี้หลังจากที่ชาวบ้านต้องเดินหน้ามาติดตาม ซึ่งหากไม่มีการมาเรียกร้องชาวบ้านก็คงต้องรอกันต่อไปเรื่อยๆ

มาตรา 25 เมื่อได้กำหนดป่าใดเป็นป่าสงวนแห่งชาติและรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาตินั้นแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ดังต่อไปนี้
(1) สั่งให้ผู้หนึ่งผู้ใดออกจากป่าสงวนแห่งชาติ หรือให้งดเว้นการ กระทำใดๆ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในกรณีที่มีข้อเท็จจริงปรากฏหรือเหตุ อันสมควรสงสัยว่า มีการกระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้
(2) สั่งเป็นหนังสือให้ผู้กระทำผิดต่อพระราชบัญญัตินี้รื้อถอน แก้ไข หรือทำประการอื่นใดแก่สิ่งที่เป็นอันตราย หรือสิ่งที่ทำให้เสื่อมสภาพในเขต ป่าสงวนแห่งชาติภายในเวลาที่กำหนดให้
(3) ยึด ทำลาย รื้อถอน แก้ไขหรือทำประการอื่นเมื่อผู้กระทำผิด ไม่ปฏิบัติตาม (2) ไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิดหรือรู้ตัวผู้กระทำผิดแต่หาตัวไม่พบ
ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าว และ ได้เสียค่าใช้จ่ายเพื่อการนั้น ให้ผู้กระทำผิดชดใช้หรือออกค่าใช้จ่ายนั้นทั้งหมด หรือให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำทรัพย์สินที่ยึดไว้ได้ออกขายทอดตลาดหรือขายโดย วิธีอื่นตามที่เห็นสมควร เพื่อชดใช้ค่าใช้จ่ายนั้น และให้นำความใน มาตรา 1327 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับแก่เงินที่ได้จากการ ขายทรัพย์สินนั้นโดยอนุโลม
(4) ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดที่เห็นสมควร ทั้งนี้เพื่อป้องกัน หรือบรรเทาความเสียหายแก่ป่าสงวนแห่งชาติในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน
|
แถลงการณ์ชาวบ้านอำเภอบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์
22 มี.ค.54
เมื่อรัฐรวมหัวจับมือทุนออกแผนโกงชาติ
กว่า 2,372 วัน ที่ชาวบ้านจากอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลุกขึ้นมาปฏิรูปชาติ ก่อนนายอภิสิทธิ์คิดที่จะปฏิรูปประเทศไทย (ปาหี่) ในปัจจุบันซะอีก จนชาวบ้านบางสะพานถูกหยิบยกให้เป็นกรณีตัวอย่างของการปาหี่ในครั้งนี้ด้วย ซึ่งพวกเราไม่ใช่นักวิชาการ ไม่ใช่นักการเมือง ไม่ใช่ผู้ทรงคุณวุฒิ และไม่ใช่ชนชั้นนำของสังคมไทยตามที่กล่าวกัน แต่พวกเราก็ได้ลุกขึ้นมาต่อกรกับอำนาจทุน อำนาจรัฐ ที่พยายามกุมผลประโยชน์ชาติมาเป็นของตน และสิ่งที่พวกเราทำก็เป็นเพียงเพื่อการปกป้องชีวิตและบ้านของเราโดยไม่ต้อง มีคำนิยามที่สวยหรูใดๆ และถือได้ว่าเป็นการต่อกรกับกระบวนการอาชญากรทางเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมา อย่างยาวนาน โดยที่เราก็ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายทางแม้แต่น้อย
แต่มันก็ทำให้ชาวบ้านอย่างเราๆ ได้ฉลาดขึ้น และเข้าใจเป็นอย่างดีว่า......................................
แท้จริงแล้ว......แผนพัฒนาชาติก็คือ กลไกรัฐที่ออกแบบเชิงเดี่ยวเพื่อโกยผลประโยชน์ของชาติเข้ากระเป๋านายทุนเท่า นั้น แล้วรัฐผู้ซึ่งออกแบบกลไกแผนพัฒนาก็ได้รับการตอบสนองประโยชน์ทั้งทางตรง คือ ผลประโยชน์ทับซ้อน และทางตรงกว่า คือเงินอุดหนุนพรรคจากกลุ่มทุน
มีกลุ่มทุนอุตสาหกรรมเหล็กรายใหญ่ระดับชาติในบางสะพานใช้กลไก กลโกง อ้างแผนพัฒนา อ้างมติคณะรัฐมนตรี อ้างความต้องการชาติ แต่กลับไม่อ้างความอยากมั่งคั่งของตนเอง เข้าทำมาหากินในพื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่สาธารณะพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่วนอุทยาน พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ โดยอ้างสิทธิเหนือมนุษย์คนใดในประเทศว่า “ข้ามีเอกสารสิทธิถูกต้อง”
แต่พวกเราก็ไม่ยอมจำนน กัดไม่ปล่อยจนพิสูจน์แล้วว่า “เอกสารสิทธิของเจ้านั้น มิชอบด้วยกฎหมาย”
การชี้มูลความผิดครั้งแล้วครั้งเล่าจากสำนัก จากกรม จากกระทรวง ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า มาตรา 25 ตามพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 ควรถูกบังคับใช้ แต่ปัญหาการบังคับใช้มาตรา 25 ที่ยังไม่บรรลุ เป็นเพราะผู้บุกรุกและผู้มีอำนาจจัดการมีบุญคุณต่อกัน อันเนื่องมาจากรัฐบาลชุดนี้ก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาธิปัตย์ ได้เงินสนับสนุนพรรคก้อนโตมาจากกลุ่มทุนผู้บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติรายนี้
ดังนั้นปัญหาวุ่นวาย อลหม่าน มากมายในสังคมปัจจุบัน จะคลี่คลาย เบาบางลงได้ต่อเมื่อรัฐที่กุมอำนาจการบริหารการจัดการประเทศจะต้องกล้าหาญใน การจัดการกับผู้กระทำผิด ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ไม่เกรงใจ ไม่เกรงกลัวอำนาจเงิน ไม่สนพวกมึงพวกกู ต้องให้สิทธิการมีส่วนร่วม ให้ความเป็นธรรมต่อทุกคนในชาติอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
“มึงมีบ้าง กูมีบ้างก็ยังดี ยามมึงมี มึงแอบแดกกูแปลกใจ”
คิดจะเป็นรัฐบาลต้องทำ เพื่อประชาชน เพื่อชาติ อย่าขี้ขลาดเกรงกลัวอำนาจทุน