Skip to main content
sharethis

สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการร่วม (Joint Committee) จาก 4 ประเทศแม่น้ำโขงคือกัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม ภายใต้กลไกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission หรือเอ็มอาร์ซี) ที่กำลังจะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ (25 มีนาคม) ที่ประเทศกัมพูชา โดยหัวข้อพิจารณาสำคัญที่เข้าใจว่าจะมีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณา คือข้อเสนอของรัฐบาล สปป.ลาวให้สร้างเขื่อนไซยะบุรีขนาด 1,280 เมกกะวัตต์ในภาคเหนือของลาว เป็นเขื่อนแรกบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง โดยคณะกรรมการร่วม จะต้องให้ความเห็นอันเป็นจุดยืนของแต่ละประเทศ แม้จะไม่มีสิทธิยับยั้งไม่ให้รัฐบาลลาวสร้างก็ตาม

ทั้งนี้ เขื่อนไซยะบุรีได้รับการคัดค้านอย่างเข้มแข็งจากภาคประชาชนของทุกประเทศ รวมทั้งในเวทีภาคประชาชน “พญานาค ปลาแดก คนลุ่มน้ำโขง: กับเขื่อนไซยะบุรี” ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 19 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ที่สกลนคร ซึ่งประชาชนไทยกว่าห้าร้อยคน ร่วมยืนยันคัดค้านเขื่อนไซยะบุรีและเรียกร้องให้ตัวแทนจากกรมทรัพยากรน้ำของ ไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการร่วม และเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยมีจุดยืน โดยต้องใช้กฎหมายไทยในการพิจารณาโครงการเขื่อนไซยะบุรี และยืนยันพร้อมประท้วงใหญ่ หากยังมีการผลักดันให้ก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ตัวแทนกรมทรัพยากรน้ำกลับยังไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนในประเด็นจุดยืน ในกรณีเขื่อนไซยะบุรี ที่ไทยจะเป็นทั้งผู้ลงทุน และผู้ซื้อไฟเกือบทั้งหมดแห่งนี้

จากสถานการณ์การรณรงค์ของภาคประชาชนในช่วงสามปีที่ผ่านมา ในประเด็นเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลัก ที่มีข้อเสนอสร้างทั้งหมด 12 เขื่อน ทั้งนี้ 8 เขื่อนในเขตประเทศลาว 2 เขื่อนระหว่างพรมแดนไทย-ลาวและอีก 2 เขื่อนในประเทศกัมพูชา อันก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวคัดค้านในกลุ่มภาคประชาชน ทั้งในแต่ละประเทศและทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งนี้ มีรายชื่อบุคคลหลายหมื่นรายชื่อ และองค์กรจากหลายสิบประเทศ ส่งผ่านไปยังผู้นำของประเทศแม่น้ำโขง และกรรมาธิการแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย กลับยังไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนใดๆ ที่จะสนับสนุนความห่วงใยของประชาชนในลุ่มน้ำ ทั้งที่ประเทศไทย คือผู้ที่จะซื้อไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด จากเขื่อนแม่น้ำโขงสายประธานทั้ง 12 เขื่อน โดยเฉพาะในกรณีเขื่อนไซยะบุรี บริษัท ช.การช่างของไทยจะเป็นผู้ลงทุนสร้างเขื่อนโดยมีเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ กรุงไทย กรุงเทพ และกสิกรไทย ไทยจึงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบที่อยู่ในระดับเทียบเท่ากับรัฐบาลลาวได้

“ความกังวลหลักของประชาชนในตอนนี้ คือ ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าข้อคิดเห็นต่อเขื่อนไซยะบุรีที่แสดงออกไปแล้วนั้นจะ ได้รับการนำเสนอในระดับนโยบาย สิ่งที่เราเรียกร้อง คือให้มีการศึกษาข้อมูลด้านผลกระทบอย่างชัดเจนและสมบูรณ์ การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของเขื่อนไซยะบุรี ยังมีอีก อย่างน้อย 10 ประเด็นที่ขาดความชัดเจน และหากเกิดผลกระทบจริง ผู้สร้างย่อมต้องเป็นผู้รับผิดชอบ” นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวในที่ประชุมเวทีภาคประชาชน “พญานาค ปลาแดก คนลุ่มน้ำโขง: กับเขื่อนไซยะบุรี”

เช่นเดียวกับนายเหลาไท นิลนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำโขง สกลนคร ที่กล่าวว่า “ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่ในเวทีนี้เป็นบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ของไทยในระยะ 40 ปีที่ผ่านมา ทว่าวันนี้ โครงการเขื่อนแม่น้ำโขงมีความท้าทายและซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะเขื่อนไซยะบุรีที่เป็นของนายทุนไทย ไฟฟ้ารับซื้อโดยประเทศไทย แต่เขื่อนตั้งอยู่ในประเทศลาว ขณะเดียวกัน ผลกระทบที่มหาศาลและชัดเจน จะข้ามพรมแดนกลับมาสู่ชาวไทย การเรียกร้องของเรา เป็นการขับเคลื่อนในนามคนลุ่มน้ำโขงทั้ง 4 ประเทศ โดยเฉพาะประชาชนลาวที่ไม่มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็น ก่อนที่เขื่อนไซยะบุรีจะนำไปสู่การสร้างอีก 11 เขื่อนที่เหลือ”

ทั้งนี้ แม้จะมีการเปิดเวทีให้ข้อมูลในประเทศไทยในกรณีเขื่อนไซยะบุรีทั้งใน อ.เชียงของ จังหวัดเชียงราย, อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และที่อำเภอเมือง จังหวัดนครพนมในช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา นายไชยพร ศิริพรไพบูลย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวกับประชาชนในที่ประชุมที่จังหวัดสกลนครในวันเสาร์ที่ผ่านมาเพียงว่า กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะกองเลขาจะต้องทำความเห็นส่งสำนักเลขาธิการของเอ็มอาร์ซี โดยตนเองรับรู้ว่าความเห็นจากประชาชนทั้งสามเวที คือโครงการเขื่อนไซยะบุรียังเปิดเผยข้อมูล และทำการศึกษาไม่เพียงพอ โดยเฉพาะไม่มีข้อมูลเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเสนออย่างชัดเจน ว่าตนเองพร้อมคณะ ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย จะมีความเห็น หรือมีท่าทีอย่างไรต่อประเด็นการสร้างเขื่อนดังกล่าว

“ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลไทยรับรู้หรือไม่ว่า การตัดสินใจเรื่องเขื่อนไซยะบุรีกำลังเป็นตัวชี้บอกระดับความรับผิดชอบ และสำนึกของไทยต่อประเด็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมข้ามประเทศ และอนาคตของไทยในเรื่องพลังงานในภูมิภาคนี้ การที่ตัวแทนรัฐบาลไทยพยายามไปยึดโยงการตัดสินใจของตัวเองเข้ากับกรอบของ เอ็มอาร์ซี ซึ่งไม่มีเสียงของประชาชนมาตั้งแต่แรก นับเป็นเรื่องน่าอับอาย แทนที่จะยืนยันว่าเขื่อนไซยะบุรีจะกระทบกับไทย และเราต้องสามารถใช้กฏหมายรัฐธรรมนูญ กรอบกฏหมายสิ่งแวดล้อมของไทย และเสียงของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยที่พูดชัดเจนว่าเราไม่ต้องการเขื่อน บนแม่น้ำโขงสายหลักเป็นตัวตัดสิน แต่กลับให้ตัวแทนระดับกรม ซึ่งไม่กล้าแม้แต่จะพูดว่าประชาชนไม่เอาเขื่อน ไปเป็นตัวแทนตัดสินใจในโครงการที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของแม่น้ำโขง และภูมิภาค ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า กลไกเอ็มอาร์ซีนั้นล้มเหลวมาตั้งแต่แรก” นางสาวเปรมฤดี ดาวเรือง ผู้อำนวยการโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติกล่าว

ทั้งนี้ หลังจากการประชุมคณะกรรมการร่วม ภาคประชาชนกำหนดให้มีท่าทีร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งเพื่อพิจารณาตามที่มีข้อเสนอให้มีการรวมตัวกันอีกครั้งหนึ่งที่ธาตุ พนม จังหวัดนครพนม และการไปเยี่ยมเยียนสถานทูตลาว

 

สรุปข้อคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการเขื่อนไซยะบุรี
สรุปโดยโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA)

กุมภาพันธ์ 2554

การจัดเวทีตามกระบวนการ PNPCA ของประเทศไทย โดยคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ซึ่งจัดขึ้น 3 ครั้ง ประกอบด้วย เวที อ.เชียงของ จ.เชียงราย วันที่ 22 มกราคม 2554 , เวที อ.เชียงคาน จ.เลย วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 และเวที จ.นครพนม วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554 (การจัดเวทีที่ อ.เชียงของใช้ชื่อว่าเวทีรับฟังความคิดเห็น แต่ได้ปรับเป็นเวทีให้ข้อมูลในเวทีที่ อ.เชียงคาน และ จ.นครพนม) ในแต่ละเวที มีผู้เข้าร่วมโดยประมาณ 100 คน ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ทั้งสามเวทีรวมกัน 202 ข้อคิดเห็น สรุปได้ 16 ประเด็น (บันทึกและสรุปโดยคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย) ทั้งนี้ มีประเด็นใหญ่ๆ สําคัญ ที่ประชาชนหยิบยกขึ้นมามากที่สุด ดังนี้

  1. ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงทั้ง 12 แห่ง เพราะผลกระทบจะเกิดขึ้นกับชุมชนตลอดริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วหลังการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงในจีน และจะเกิดวิกฤตมากยิ่งขึ้นจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่าง
  2. โครงการเขื่อนไซยะบุรียังขาดการเปิดเผยและเผยแพร่ข้อมูลอย่างกว้าง ขวางอย่างเพียงพอ ประชาชนที่เข้าร่วมเวทีได้เรียกร้องให้รัฐบาล สปป. ลาวเปิดเผยรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ และรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของโครงการ และดําเนินการแปลเป็นภาษาไทย ลาว และกัมพูชา ทั้งนี้ ประชาชนจะทําหนังสือผ่านสถานทูตลาวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล สปป.ลาว เปิดเผยข้อมูลโครงการเขื่อนไซยะบุรีต่อไป
  3. ให้จัดทําประชาพิจารณ์ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลไทย แม้ว่าเขื่อนไซยะบุรีจะอยู่ในเขตประเทศลาว แต่ผลกระทบจะเกิดขึ้นข้ามพรมแดนมาถึงประเทศไทย เพราะฉะนั้น จําเป็นต้องดําเนินการจัดประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวางในทุกจังหวัดที่อยู่ริม แม่น้ำโขงในเขตประเทศไทย โดยมีกระบวนการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน
  4. โครงการเขื่อนไซยะบุรีอาจก่อผลกระทบข้ามพรมแดนและยังขาดมาตรการรองรับ คือ ตั้งแต่อําเภอเชียงคานซึ่งจะเป็นจุดที่ใกล้กับเขื่อนแห่งนี้มากที่สุดลงไป ตลอดลําน้ำโขงที่เป็นพรมแดนไทย-ลาว รวมถึงผลกระทบเข้าไปในลําน้ำสาขาอย่างเช่น แม่น้ำสงคราม ทั้งนี้ ประชาชนได้ตั้งคําถามต่อความเสียหายและความรับผิดชอบจากหน่วยงานเจ้าของ โครงการ เช่น ความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรริมฝั่งโขง การสูญเสียธาตุอาหารที่ไหลมากับตะกอน การสูญเสียพันธุ์ปลา และอาชีพประมงจากการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำอย่างฉับพลันในรอบวัน และผลกระทบจากการทับถมของตะกอนท้ายเขื่อนและเหนือเขื่อน ซึ่งผลกระทบเหล่านี้จะเป็นการซ้าเติมปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วจากการ สร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงในจีน ซึ่งได้สร้างความเสียหายกับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง เช่น ในเขตอําเภอเชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย
  5. โครงการเขื่อนไซยะบุรีจะขัดขวางการอพยพของปลาบึก ที่จะว่ายขึ้นไปวางไข่ที่ อําเภอเชียงของจังหวัดเชียงราย และรวมถึงปลาชนิดอื่นๆ ก็จะไม่สามารถผ่านบันไดปลาโจนได้เช่นกัน ทั้งนี้เพราะการออกแบบบันไดปลาโจนไม่อาจรองรับการอพยพของปลาในแม่น้ำโขง ซึ่งมีขนาดใหญ่และความหลากหลายของชนิดพันธุ์เป็นจํานวนมากได้
  6. ความไม่โปร่งใสของกระบวนการเซ็นต์สัญญาซื้อไฟ เช่น การเซ็นต์สัญญาซื้อไฟเกิดขึ้นก่อนเพื่อสร้างความมั่นใจในการปล่อยกู้ของ ธนาคารให้กับบริษัทผู้ลงทุน หมายความว่า การตัดสินใจก่อสร้างโครงการได้เกิดขึ้นแล้ว โดยไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และไม่มีการพิจารณาเปรียบเทียบผลได้ผลเสียอย่างแท้จริงว่า ไฟฟ้าที่ได้รับนั้นคุ้มค่ากับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนจํานวนนับ สิบล้านคนหรือไม่
  7. การพัฒนาทางเลือกด้านพลังงานของประเทศไทย การที่ไทยเป็นผู้รับซื้อไฟถึง 90 เปอร์เซ็นต์จากเขื่อนสร้างเขื่อนไซยะบุรี แสดงว่าเขื่อนนี้สร้างขึ้นเพื่อขายไฟฟ้าให้กับไทย หากไทยไม่สนับสนุนให้มีการซื้อไฟฟ้า เขื่อนนี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ไทยควรพิจารณาทางเลือกด้านพลังงานอื่นๆ ภายในประเทศ ทดแทนการซื้อไฟจากเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งประสิทธิภาพการในการส่งไฟฟ้าเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงที่น้ำโขงไหลน้อยที่สุดหรือในช่วงฤดูแล้ง แต่เป็นช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ทั้งนี้ ในรายงาน SEA ระบุว่า ไทยจะได้ประโยชน์เพียง 11 เปอร์เซ็นต์จากเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก 12 แห่ง
  8. จากความเห็นและข้อเสนอจากเวทีที่จัดขึ้นทั้ง 3 ครั้ง ทําให้มีน้ำหนักเพียงพอที่ทางเอ็มอาร์ซจะใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนในการขยาย ระยะเวลาของกระบวนการ PNPCA ออกไป เพื่อให้มีเวลาการจัดทําประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวางเพียงพอ ตลอดจนการมีเวทีระดมความเห็นทางวิชาการด้านต่างๆ โดยเจ้าของโครงการจะต้องหาข้อมูลมาตอบคําถามต่างๆ ให้ครบถ้วน เพราะว่า แม้วาเขื่อนไซยะบุรีจะสร้างในเขตประเทศลาว แต่ค่อนข้างชัดเจนว่ามีความเชื่อมโยงถึงผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย จากการสูญเสียพันธุ์ปลา การสูญเสียเศรษฐกิจการดํารงชีพของประชาชนตลอดริมแม่น้ำโขง และผลกระทบต่อการเกิดบั้งไฟพญานาคอันเป็นผลจากปัญหาตะกอน เป็นต้น

ทั้งนี้ ภาคประชาชนไทยจะจัดเวทีเพื่อประกาศจุดยืนต่อโครงการเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักทั้งหมด ในวันที่ 19 มีนาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎ จังหวัดสกลนคร และยื่นข้อเสนอถึงบริษัทผู้ลงทุน ธนาคารผู้ให้เงินกู้ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย และรัฐบาล สปป.ลาวต่อไป

 

เอกสารประกอบ:

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net