Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

อันเนื่องมาจากนวัตกรรมจิ๋มเอื้ออาทร ทำเอาวงการกะเทยตื่นตัวลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นของตัวเองให้เป็นที่ประจักษ์ชัด…สมกับที่เขาว่า สถานการณ์สร้างฮีโร่ เมื่อทุกอย่างสงบราบคาบ ผู้นำก็ไม่เกิด 

วันที่ 21 เมษายน 2554 ตอนเช้าหมาดๆ วันนี้เอง เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยร่วม กับพันธมิตรจัดแถลงข่าวและเสวนาเรื่อง “กะเทยไม่ป่วย” โดยสาวๆ ทั้งห้า-หกนางจากเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยขึ้นพูดบนเวทีในเสวนาช่วงเช้า

กะเทยทุกวันนี้ต้องเผชิญกับความยากลำบากหลายแง่มุม และยิ่งลำบากกว่าเดิม เมื่อเสียงของ "ผู้หญิงข้ามเพศ"นางหนึ่งลุกขึ้นมาออกว่า ความเป็นตัวหนูนั้นคือความป่วยไข้ เอื้ออาทรหนูที หนูเป็นโรคเพศสลับ จนกระทั่งเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย ต้องลุกขึ้นมาบอกกล่าวกับสังคมว่า เราไม่ได้เป็นโรค เราไม่ได้ป่วย

เพราะ “มนุษย์มีสิทธิในการกำหนดเจตจำนงในวิถีชีวิตทางเพศของตนเอง การเลือกดำเนินชีวิตทางเพศของตนเองถือเป็นสิทธิที่ได้มาโดยกำเนิด ไม่สามารถโอนถ่ายและพรากไปได้”  สิทธิเหล่านี้ถูกรับรองและระบุไว้ชัดเจนในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรม (เจษฎา แต้สมบัติ , ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย2554)

การเปลี่ยนร่างกายให้สอดคล้องตามความต้องการของตนเองนั้นเป็นสิทธิ ที่เลือกกระทำได้

สิทธิในการเลือกเพศของตนเอง และไม่ถูกกีดกันอันเนื่องจากความเป็นเพศ ย่อมเป็นจริงสำหรับ LGBTQ หรือเกย์ กะเทย ทอม ดี้ และอื่นๆ ทุกคน

“ถามเราด้วย ก่อนที่จะบอกว่าเราป่วย”  เป็นเสียงจากน้องดอย กะเทยสวยจากเชียงใหม่

ไม่ต้องมารักษาเรา เพราะการรักษาของคุณๆ มันสับสนเหลือเกิน

วันก่อนก็อยากรักษาเราให้หายจากการเป็นกะเทย วันนี้ก็อยากรักษาเราให้เป็นกะเทยสมใจ !!!

การพยายามเข้ามาช่วยเหลือโดยการรักษาของสถาบันทั้งหลาย ดูเหมือนว่าจะมีคนรุมให้คำอธิบาย รุมตัดสินใจ กำหนดบริการต่างๆ สำหรับเหล่ากะเทย การตัดสินใจต่างๆ พึ่งพิงนักเทคนิค นักกฎหมาย และอื่นๆ โดยคนที่จะได้รับการปรึกษาเป็นคนสุดท้ายนั้นคือตัวกะเทยเอง  

กะเทยเสนอว่าในใบ สด. 43 เราต้องการคำว่า “ผู้ที่มีจิตใจไม่ตรงกับเพศสภาพ”  แทนคำว่า “วิกลจริต” ในช่องเหตุผลที่จะไม่ถูกเกณฑ์ทหาร  หลังจากประสานงาน ติดต่อ ประท้วงกดดันกันมาเป็นสี่ห้าปี สุดท้าย ที่ประชุมนั้นก็ตกลงใจว่าจะใช้คำนี้ตามที่ฝ่ายกะเทยเสนอไป เมื่อได้ผลการพิจารณาแล้ว ตัวแทนที่ประชุมได้มาปรึกษากับคุณนัยนา สุภาพึ่ง อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนซึ่งติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด  พี่นัยนาของเราจึงต้องบอกกลับไปว่า “ท่านคะ จริงๆ เรื่องนี้ง่ายนิดเดียว เวลาท่านจะตกลงใจอะไร ท่านก็เชิญพวกกะเทยเข้าไปฟังด้วยซิคะ”

การกดบังคับ ตีกรอบ กำหนดการลงโทษ หรือช่วยเหลือโดยปราศจาการการถามความเห็นที่กะเทยเจออยู่ทุกวันนี้ คล้ายคลึงกับที่กลุ่มคนอีกมากมายต้องประสบ

- วัยรุ่นหญิงที่อยู่ร่วมกับเชื้อ (น้องๆ เหล่านี้เกิดมาพร้อมกับเอชไอวี ปัจจุบันน้องกลุ่มนี้โตเป็นวัยรุ่นแล้ว) ถูกมองว่าไม่มีวิจารณญาณในการมีเพศสัมพันธ์ดีพอ และควรทำหมันเสีย เพราะจะไม่เกิดปัญหาต่อไป

- วัยรุ่นทั่วไปก็ถูกมองว่าไม่มีวิจารณญาณเกี่ยวกับเรื่องเพศ ผู้ใหญ่ต้องไปคุมเข้มอยู่หน้าโรงแรม ห้ามออกนอกเคหสถานในเวลากลางคืน แต่ไม่ต้องการให้เข้าถึงคอนด้อม ยาคุมกำเนิด ชุดตรวจครรภ์ ฯลฯ ที่เป็นเครื่องมือช่วยให้ปลอดภัย

- คนพิการเรียกร้องกับ กทม.ว่า ไม่ต้องการให้สร้างอะไรพิเศษสำหรับคนพิการ  ขอเพียงอย่างเดียว คือให้คนพิการเข้าร่วมด้วยในการตัดสินใจสร้างแต่ละสิ่ง เพราะที่แล้วๆ มาจัดทำมาให้แล้วแต่ใช้ไม่ได้ เพราะปราศจากความเข้าใจ

- ผู้หญิงจำเป็นต้องทำแท้ง กลับต้องได้รับการพิจารณาจากหมอว่าสมควรหรือไม่ ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนบางคนยังไม่สามารถทำแท้งได้ เพราะหมอรู้สึกตะขิดตะขวงใจ

- ข้อมูลเรื่องฮอร์โมนสำหรับกะเทย ส่วนใหญ่ได้รับจากเพื่อนฝูง เพราะหมอๆ ทั้งหลายลังเลที่จะให้ข้อมูลว่าผู้ชายที่อยากมีร่างกายแบบผู้หญิงจะใช้ฮอร์โมนช่วยอย่างถูกต้องได้อย่างไร

- ข้อมูลเตรียมการท้องอย่างปลอดภัยของผู้ติดเชื้อไม่ได้มีเผยแพร่ทั่วไป เพราะหมอลังเลใจที่จะสนับสนุนผู้หญิงติดเชื้อให้ท้องอีกครั้ง

ไม่ว่าเราจะเป็น LGBT เป็นผู้ติดเชื้อ เป็นคนพิการ หรือเป็นวัยรุ่น ต่างก็ถูกพรากเอาการตัดสินใจในชีวิตไปจากตัวเรา

สำหรับตัวคุณเอง เคยคิดหรือไม่ว่าได้ตัดสินใจในสิ่งที่สำคัญในชีวิตจริงๆ ล่ะหรือ ??

ตัวอย่างเหล่านี้  เป็นที่ระคายหูเมื่อได้ฟัง เพราะผู้คนในสังคมต่างถูกทำให้เชื่อว่า สังคมอยู่ได้เพราะมีบรรทัดฐานเดียวกัน ถ้าใครแหกกฎนี้ ก็สมควรแล้วที่จะถูกลงโทษ โดยเฉพาะถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องเพศ

กะเทยยังแอบรู้ทันสังคมแบบ “นิยมชาย – รักต่างเพศ” (patriarchy – heterosexual) ว่าพยายามกดดันอย่างหนักเพื่อให้พวกเธอเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็น “ผู้ชาย” กะเทยบางคนเล่าให้ฟังว่าตั้งแต่สมัยเด็กๆ เคยถูกเพื่อนเอาทรายใส่ในกางเกงเพื่อกลั่นแกล้ง ถูกบอกว่าจะต้องไปเรียนลูกเสือ เมื่อต้องการไปเรียนเนตรนารี กลับไปบ้านก็ถูกพ่อแม่ด่าว่า บางคนถูกทำร้ายเพื่อให้หายเป็นกะเทย เดินผ่านมอเตอร์ไซค์ยังถูกเรียกว่าอีตุ๊ด จะทำประกันก็ยังถูกบอกว่าถ้าแปลงเพศแล้วถือว่าพิการ จะเสียชีวิตเร็ว การลงโทษต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่เป็นเรื่องตลก  และไม่ได้เป็นปรากฎการณ์เฉพาะที่เกิดขึ้นกับกลุ่มที่ผิดประหลาดไป

แต่มันเป็นการหล่อหลอมสำหรับทุกๆ คนในสังคม

คนที่ไม่อยู่ในกรอบของสังคมควรถูกลงโทษ

เด็กผู้หญิงที่เปิดนมเต้นวันสงกรานต์ ปี 54 จึงถูกลงโทษเป็นการจับ-ปรับ เพื่อให้เข้าใจว่าสิ่งที่ผู้หญิงควรทำนั้นคืออะไร นั้นจึงเป็นเรื่องการหล่อหลอม ลงโทษ ให้รางวัลของสังคม

และหญิงรักหญิงที่ลุกขึ้นมาเขียนว่าการเปิดนมเป็นสิทธิทางเพศของผู้หญิง เป็นสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงจะถูกท้าว่าให้เปิดทั้งบนทั้งล่างไปเลย แล้วจะเห็นผล...รับประกันความไม่ปลอดภัย

ดังนั้น หญิงรักหญิงอย่างฉันจึงไม่ลังเลใจเลยที่จะเป็นหนึ่งในผู้ร่วมขบวนการ กะเทยไม่ป่วย

สังคมเราไม่ได้อยู่ …และอาจจะไม่เคยอยู่ภายใต้กรอบมาตรฐานเดียว

“มาตรฐานเดียว” ทางจริยธรรม ศีลธรรม นั้นเป็นเพียงภาพลวงตา

เราต้องการความเข้าใจ และการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน และอนุญาตให้ทุกๆ คนได้เป็นตัวเอง อย่างที่ไม่ต้องถูกอธิบาย กำหนด ลงโทษ กีดกัน เพราะเหตุแห่งความแตกต่างใดๆ ก็ตาม 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net