สั่งบริษัทมือถือให้สิทธิผู้บริโภคแยกสมัครบริการเสียงและข้อมูล

เผยผู้บริโภคร้องถูกเก็บค่า”เน็ตผ่านมือถือ” กว่าสามแสนบาท รักษาการกสทช. สั่งบริษัทมือถือให้สิทธิผู้บริโภคเลือกสมัครบริการเสียงและข้อมูล ชี้ อย่าเหมารวมบริการ พร้อมเตือนผู้บริโภคปิดการเชื่อมต่อที่เครือข่ายป้องกันปัญหาเน็ตรั่ว นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (ผอ.สบท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2553 สบท.ได้รับเรื่องร้องเรียนการคิดค่าบริการผิดพลาดจากการที่โทรศัพท์มือถือเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง การคิดค่าบริการผิดพลาดจากบริการระหว่างประเทศและการใช้ภายในประเทศ ปัญหาครึ่งหนึ่งเกิดจากการใช้เกินโปรโมชั่นและการเชื่อมต่ออัตโนมัติทั้ง WIFI EDGE และ GPRS อีกส่วนหนึ่งมาจากการถูกเรียกเก็บค่าบริการอินเทอร์เน็ตทั้งที่ไม่ได้สมัครใช้บริการ โดยเฉพาะในกรณีการเชื่อมต่อในต่างประเทศเมื่อผู้บริโภคขอเปิดใช้บริการโรมมิ่งเสียง แล้วบริษัทเปิดบริการโรมมิ่งดาต้าให้ด้วย ทั้งที่ผู้บริโภคไม่ได้ขอเปิดใช้บริการ ทำให้เมื่อเดินทางกลับประเทศไทย ถูกเรียกเก็บค่าบริการในอัตราสูง จำนวนเงินสูงสุดที่ถูกเรียกเก็บจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ คือสามแสนกว่าบาท นอกจากนี้ยังมีกรณีการสมัครใช้บริการในประเทศและโทรศัพท์มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอัตโนมัติให้ตลอด ทำให้ผู้บริโภคถูกเรียกเก็บค่าบริการทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจใช้ นายประวิทย์กล่าวต่อไปว่า จากการร้องเรียนของผู้บริโภครายหนึ่ง ทำให้เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา ที่ประชุม กทช. ปฏิบัติหน้าที่แทน กสทช. มีมติ ให้บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่ถูกร้องเรียนจัดให้มีระบบขอเปิดใช้บริการข้อมูล (DATA) ที่แยกออกจากการให้บริการเสียง (VOICE) เพื่อแก้ปัญหาการถูกเรียกเก็บค่าบริการอินเทอร์เน็ตทั้งที่ไม่ได้สมัครใช้บริการ “ในการเปิดให้บริการข้อมูลแก่ผู้ใช้บริการทั่วไป เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมแล้ว ผู้ใช้บริการควรมีโอกาสได้แจ้งความจำนงกับบริษัทว่าต้องการใช้บริการหรือไม่ หากผู้ใช้บริการไม่แสดงความจำนงเข้ามา แต่เปิดให้บริการเองย่อมเป็นการยัดเยียด อีกทั้งการที่ผู้บริโภคสมัครใช้บริการเสียง จะเหมารวมว่าผู้บริโภคขอใช้บริการข้อมูลไปด้วยคงไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะในกรณีของการสมัครใช้บริการโรมมิ่งควรมีการแยกสมัครระหว่างเสียงและข้อมูลให้ชัดเจน” ผอ.สบท.กล่าว ผอ.สบท. กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม กทช.ปฏิบัติหน้าที่แทน กสทช. ยังได้มีมติให้บริษัทที่ถูกร้องเรียนคืนเงินค่าบริการและยุติการเรียกเก็บค่าบริการ จากผู้บริโภคด้วย เนื่องจากบริษัทไม่แสดงหลักฐานเพื่อยืนยันความถูกต้องของการเรียกเก็บค่าบริการภายใน 60 วัน ตามประกาศ กทช. เรื่อง กระบวนการร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ และประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานสัญญาให้บริการโทรคมนาคม นายประวิทย์กล่าวอีกว่า สำหรับผู้บริโภคที่ใช้โทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ทโฟน ต้องระมัดระวังในการใช้บริการ และควรศึกษาระบบเครื่องโทรศัพท์ให้ดี ตรวจสอบการใช้บริการเป็นระยะ และสามารถป้องกันปัญหาเน็ตรั่วได้โดยปิดการเชื่อมต่อที่เครื่องโทรศัพท์ นอกจากนี้ ควรปิดการเชื่อมต่อที่ระบบเครือข่ายผู้ให้บริการด้วย ซึ่งแต่ละเครือข่ายจะมีเบอร์ตรงในการปิด-เปิดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ทั้งนี้การปิดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแต่ละเครือข่าย เอไอเอส กด *129* กด 1 กด # และกดโทรออก หากต้องการเปิดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตโดยกด *129* กด 2 กด # และกดโทรออก (ฟรีไม่คิดค่าบริการ) ดีแทค เปิดและปิดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตโดยกด *1004 กดโทรออก กด 7(ฟรีไม่คิดค่าบริการ) ทรูมูฟ เปิดและปิดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตโดย *9399 กดโทรออก (คิดค่าบริการครั้งละ 1 บาท)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท