Skip to main content
sharethis

11 มิ.ย. 54 - ประเพณีการรับน้อง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) เป็นประเพณีที่ทำสืบต่อกันมาเกือบ 30 ปี โดยทางมหาวิทยาลัยได้จัดให้มีกิจกรรมประชุมเชียร์ร้องเพลงมหาวิทยาลัยขึ้นทุกปีต่อเนื่องกัน เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกการรักในสถาบันการศึกษา และการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างพี่กับน้องและสอดแทรกวัฒนธรรมความเป็นอีสานเข้าไปด้วย ทั้งนี้ในการดำเนินกิจกรรมการประชุมเชียร์ทางมหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้คณะกรรมการประชุมเชียร์เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมดังกล่าว ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการประชุมเชียร์ได้ฝึกรุ่นพี่ที่จะมาทำหน้าที่เป็น Staff ในการฝึกน้องร้องเพลง ทำสันทนาการ และพี่ปกครอง เพื่อทำหน้าที่ของตน และสร้างวัฒนธรรมการให้รุ่นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในความสัมพันธ์กันเชิงอำนาจสืบเนื่องกันมาทุกปี โดยพี่ปกครองนั้นจะทำหน้าที่เป็นผู้ที่คอยกำกับเรื่องวินัยของนิสิตใหม่ รวมถึงของพี่ Staff เอง ตลอดระยะเวลาที่มีการจัดกิจกรรมการประชุมเชียร์ที่ผ่านมานั้น พี่ปกครองจะมีบทบาทมากในการว๊ากตะโกนด่าน้อง และสร้างภาวะกดดันให้เกิดกับสภาวะจิตใจของนิสิตใหม่ เป็นการนำระบบเผด็จการอำนาจนิยมมาใช้ในมหาวิทยาลัย และถูกวางเป็นแบบปฏิบัติกันเรื่อยมา มีการส่งต่อวัฒนธรรมการใช้อำนาจเผด็จการนิยมกันเป็นรุ่นต่อรุ่น จนกลายเป็นแบบแผนปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน จนเกิดการตั้งคำถามจากกลุ่มของนิสิตในมหาลัยมหาสารคามว่า การดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างค่านิยมคลั่งสถาบันการศึกษา ความกลมเกลียวสามัคคีและความสัมพันธ์ระหว่างพี่กับน้อง โดยการใช้ระบบการว้ากตะโกนด่า และอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ โดยทีมงาน Staff จริงหรือ? มันเป็นการไปละเมิดสิทธิของนิสิตใหม่รึเปล่า และการพิสูจน์รุ่นโดยการบังคับให้น้องๆเผชิญกับภาวะกดดันจากรุ่นพี่ทั้งมาจากคณะต่างๆ ที่มารอรับน้อง ทีมงาน Staff เองที่คอยว้ากตะโกนด่าน้อง และการดำเนินกิจกรรมเป็นเวลานานกว่า 5 ชั่วโมง ทั้งโดนพี่ปกครองสั่งทำโทษ โดยวิธีการเดียวกับระบบทหาร บางคนถึงกับร้องไห้ออกมาโดยภาวะกดดัน ทั้งความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า และความหิว จนน้องบางคนเกิดอาการเป็นลมจนต้องหามส่งโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก แล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางมหาวิทยาลัยจะรับผิดชอบอย่างไร หรือพี่ๆ ทีมงาน Staff เองจะร่วมรับผิดชอบกับเหตุการณ์นี้เช่นไร จึงทำให้เกิดกระแสการเรียกร้องให้มีการให้มีการปฏิรูปการประชุมเชียร์ของมหาลัยมหาสารคามมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปจากเดิม โดยอ้างว่าเป็นประเพณีปฏิบัติที่ทำสืบต่อกันมากว่า 40 ปี เมื่อไม่มีการแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนวิธีการประชุมเชียร์ให้มันมีรูปแบบที่ดีขึ้น จึงมีนิสิตในมหาวิทยาลัยมหาสารคามบางส่วน ทั้งรุ่นน้อง และรุ่นพี่ที่มีแนวความคิดอยากเห็นการรับน้องแบบสร้างสรรค์ ได้รวมกลุ่มกันประชุมและได้รณรงค์ให้ยกเลิกระบบการประชุมเชียร์แบบเผด็จการอำนาจนิยม การว๊ากหรือตะโกนด่า เป็นการรับน้องแบบสร้างสรรค์ พาน้องทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ต่อสังคม และสร้างวัฒนธรรมระหว่างพี่กับน้องที่ไม่เป็นการไปละเมิดสิทธิมนุษยชนของกันและกัน แต่ไม่ได้มีการเรียกร้องให้ยกเลิกประเพณีการรับน้อง หรือการประชุมเชียร์ของมหาวิทยาลัย แต่กลับไม่ได้รับการนำเรื่องดังกล่าวไปพิจารณา และปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการ จึงทำให้เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ทางนิสิตกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการประชุมเชียร์โดยระบบเผด็จการอำนาจนิยม ได้รวมกลุ่มกันรณรงค์เรียกร้องให้ยกเลิกระบบเผด็จการStaff และได้ขึ้นเวทีเพื่อประกาศเจตนารมณ์แต่กลับถูกทางทีม Staff ล๊อกจับกุมตัว และห้ามถ่ายภาพ โดยอ้างว่านิสิตกลุ่มดังกล่าว มาสร้างความวุ่นวายและแทรกแทรงประเพณีประชุมเชียร์ โดย Staff บนเวทีประกาศว่า ให้ถ่ายรูปนิสิตกลุ่มดังกล่าวไว้ และจะเอาออกจากระบบมหาวิทยาลัย จึงเกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ว่า Staff มีหน้าที่ไล่คนที่เห็นต่างออกจริงหรือ มีขอบเขตอำนาจมากมายเพียงใด เมื่อมีการเผยแพร่คลิปวีดีโอออกสู่สื่อสาธารณะ ก็เกิดกระแสตามมามากมาย ทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เกิดเป็นประเด็นถกเถียงกันในสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งในมหาลัยและนอกมหาลัย เป็นกระแสสังคมที่น่าจับตามองถึงความเหมาะสม และการใช้อำนาจของ Staff และเป้าหมายของกลุ่มที่ไปเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนวิธีการประชุมเชียร์ นางสาวเพ็ญศรี ชิตบุตร นิสิตชั้นปีที่ 4 หนึ่งในนิสิตที่ร่วมคัดค้านระบบการใช้อำนาจเผด็จการนิยมของ Staff เปิดเผยว่า “กลุ่มเราไม่ได้เรียกร้องให้มีการยกเลิกกิจกรรมการประชุมเชียร์ของมหาวิทยาลัย แต่เพียงเราต้องการให้ยกเลิกการใช้อำนาจเผด็จการของรุ่นพี่ ที่ไปตะโกนด่าและสั่งทำโทษน้องเท่านั้นเอง เพราะมันเป็นการละเมิดสิทธิของน้อง นางสาวเพ็ญศรีกล่าวด้วยว่า อีกอย่างประเพณีที่ทำแล้วเป็นการสร้างวัฒนธรรมอันดีสร้างความประทับใจให้น้อง เราไม่ไปเรียกร้องให้ยกเลิก เรามีอารยะพอ ไม่ได้คัดค้านเสียทุกอย่าง เพียงแต่เราอยากให้รับน้องแบบที่สร้างสรรค์ และทำประโยชน์ให้แก่สังคมบ้าง อีกอย่าง เราทนไม่ได้ที่เห็นน้องเป็นลม และถูกหามส่งโรงพยาบาลมากมาย เรารู้สึกเป็นกังวลต่อตัวของน้อง เราไม่ได้ต้องการที่จะทำลายชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย เราแค่ต้องการแสดงสิทธิเสรีภาพของเราเพียงเท่านั้นเอง และต้องการให้สังคมรับรู้และเข้าใจ” มหาวิทยาลัยคงต้องทบทวนรูปแบบการจัดกิจกรรมการร้องเพลงประชุมเชียร์ โดยตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของคนอื่นบ้าง ระบบเผด็จการอำนาจนิยมนี้เป็นรูปแบบของการปกครองทหาร แต่ในสังคมของปัญญาชน การใช้ระบบแบบนี้มากดขี่ข่มเหงกัน มันสมควรหรือไม่ เป็นคำถามที่ต้องวอนขอให้ผู้เกี่ยวข้องลองไปตระหนักและพิจารณาดู ไม่มีใครที่ชอบการบังคับ และลงโทษ มหาวิทยาลัยเป็นที่บ่มเพราะวิชาการ ผลิตคนให้รับใช้สังคม เป็นพื้นที่ที่สามารถให้ทุกคนได้แสดงสิทธิเสรีภาพ หากยังมีกระบวนการเหล่านี้อยู่ มันก็ไม่ต่างอะไรจากระบบการปกครองของพวกทหารที่เน้นให้ปกครองกันแบบเผด็จการ 000 แถลงการณ์ร่วม กรณีรับน้อง มมส. ฉบับที่ 2 สืบเนื่องจากกิจกรรมการประชุมเชียร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2554 มีเนื้อหา รูปแบบที่มีลักษณะเผด็จการ ซึ่งมีผู้ถ่ายคลิปดังกล่าวไว้ได้ เป็นการใช้วาจาที่ส่อไปถึง ลักษณะอำนาจนิยม ของคณะกรรมการประชุมเชียร์ โดยได้มีผู้ถ่ายคลิปนำคลิปดังกล่าวไปเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ เช่น รายการ wake up Thailand มติชนออนไลน์ และมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาของนักวิชาการ คณาจารย์ นักกิกรรม นิสิตนักศึกษาโดยผ่าน social media ซึ่งส่งผลให้นักข่าวจาก สำนักข่าว astv ได้โทรสอบถาม ผศ. ดร.ศุภชัย สัมปิโต อธิการบดี มหาวิทยาลัย มหาสารคาม (อ้างอิงจาก astv ออนไลน์10 มิถุนายน 2554 11:58 น. ) ซึ่งมีเนื้อหาที่ทางกลุ่มเห็นแย้งใน 3 ประเด็นคือ การกล่าวว่า “พวกร้อนวิชาน่ะครับ เรียนวิชาพวกสิทธิมนุษยชนมาก็เลยมาเรียกร้อง“ ซึ่งทางกลุ่มเห็นว่าทางกลุ่มไม่ได้ร้อนวิชาดังที่ ท่านอธิการบดีกล่าว เพราะการเรียกร้องของทางกลุ่มได้มีการเรียกร้องอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่ไม่ได้รับการตอบรับหรือให้ความสนใจ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องของ การร้อนวิชาอย่างที่ท่านอธิการบดีกล่าว ประเด็นที่ 2 การที่ท่านอธิการบดีกล่าว ในกรณีภาพเด็กเป็นลม ว่าเป็นเรื่องธรรมดาของกิจกรรมที่มีคนเยอะ ซึ่งทางกลุ่มเห็นว่าเป็นการกล่าวแบบไม่มีเหตุผลเพียงพอของท่านอธิการบดี โดยความจริงแล้ว เมื่อผมได้ถามถึงรุ่นน้องที่เป็นลม เขาได้กล่าวว่า เขารู้สึกเหนื่อย กดดันจากการว๊ากของรุ่นพี่ โดยทางกลุ่มเห็นว่าอาจจะเป็นการบ่ายเบี่ยงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นของท่าน อธิการบดี ประเด็นที่ 3 การสั่งกองกิจกรรมฯประเมินความพอดี ซึ่งทางกลุ่มเห็นว่า ความพอดีของกิจกรรมประชุมเชียร์มีเกณฑ์ใดมาประเมินวัดผล เช่น การสั่งลงโทษน้องด้วยการหมอบ อย่างเช่นในระบบทหาร เป็นการลงโทษที่เกินไปหรือไม่ ซึ่งในฐานะที่น้องใหม่ก็เป็นปัญญาชนคนหนึ่งก็มีความคิด มีเหตุมีผล รู้ว่าทำไมต้องเคารพรุ่นพี่ ทำไมต้องรักและเชิดชูสถาบัน ทำไมต้องสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งจากเหตุผลข้างต้น ทางกลุ่มจึงขอเสนอจุดยืนของทางกลุ่มดังต่อไปนี้ 1. ขอให้อธิการบดี เปลี่ยนทัศนติต่อการเรียกร้องของกลุ่มที่เรียกร้อง เราไม่ใช่ พวกร้อนวิชา ซึ่งคำกล่าวดังกล่าวเป็นคำที่ใช้ประจำกับผู้ที่ไม่เข้าใจการเรียกร้อง ในการใช้สิทธิ เสรีภาพ ตามระบอบประชาธิปไตย 2. ขอให้ท่านอธิการบดีจงภูมิใจกับนิสิตกลุ่มดังกล่าวที่มาเรียกร้องว่า มหาวิทยาลัยได้สั่งสอนให้นักศึกษา ให้นำความรู้ที่ได้เล่าเรียนมา มาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ดังคำขวัญของมหาวิทยาลัย “พหูนํ ปณฺฑิโต ชีเว” ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน 3. การเรียกร้องดังกล่าวเป็นไปตามสิทธิ เสรีภาพ ซึ่งระบุไว้ในรัฐธรรมมนูญ พ.ศ. 2550 อย่างชัดเจน ในมาตรา 45 “บัญญัติหลักทั่วไปในวรรคแรกว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นๆ”และวรรคสองบัญญัติว่าการจำกัดสิทธิต้องออก เป็นกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศิลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงกระทำตามระบอบประชาธิปไตย องค์กรภาคี สนนท.(สหพันธ์นิสิตนัก ศึกษาแห่งประเทศไทย ),สนนอ.(สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน) ,กลุ่มอิสระเถียงนาประชาคม, กลุ่มประชาคมเสรีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม, กลุ่มคนสร้างฝัน, กลุ่มรัฐศาสตร์สัมพันธ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net