จากระเบียบ 'ทรงผม' สู่ระบบ 'โซตัส' : กฎเถื่อนที่ผูกมัด 'นักเรียน' ยัน 'นักศึกษา' (ตอนจบ)

ปัญหาระเบียบ “ทรงผม” ของ “นักเรียน” ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ได้อภิปรายแล้วในรายงานสองตอนแรก ถึงการออกระเบียบของโรงเรียนและการบังคับใช้ ที่ไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติและระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ขัดหรือแย้งกฎหมายระดับประเทศจนดูเหมือนเป็น “กฎเถื่อน” ที่ดำรงอยู่ได้ด้วยประเพณีอำนาจนิยม ผูกมัดผู้คนฝึกฝนให้อยู่ในกรอบตั้งแต่วัยเด็ก ทั้งที่กรอบนั้นมิใช่กรอบแห่งความถูกต้องแท้จริง แต่เป็นกรอบของผู้อาวุโสกว่าที่สืบทอดต่อกันมา จนละเลยการเคารพกฎหมายบ้านเมือง โดยในที่นี้ยังไม่กล่าวถึงคุณค่าสากลอย่างหลักสิทธิมนุษยชน อันประกอบด้วยสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งตรงข้ามกับแนวคิดอำนาจนิยมอย่างเด่นชัด

จากนักเรียนผู้ถูกผูกมัดด้วยระเบียบทรงผมที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายและสิทธิมนุษยชน เมื่อก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัย ในฐานะ “นิสิต นักศึกษา” กลับถูกผูกมัดด้วยกรอบใหม่ที่ประเพณีอำนาจนิยมขีดเส้นให้อยู่ในนั้นอย่างแนบเนียน ปลูกฝังให้ได้รับการยอมรับกรอบนี้เอง ซึ่งไม่มีระเบียบกฎหมายใดๆ บัญญัติไว้ด้วยซ้ำ ดำรงอยู่ได้ด้วยอำนาจของผู้อาวุโส ที่เปลี่ยนจาก “ครู” ในโรงเรียน มาเป็น “รุ่นพี่” ในมหาวิทยาลัย ที่คุณวุฒิและวัยวุฒิน้อยกว่าครูลงไปอีก มากระทำต่อเนื่องกับนิสิต นักศึกษาผู้เข้าเรียนใหม่ ในฐานะ “รุ่นน้อง” กรอบนี้เรียกกันว่า ระบบ “โซตัส” 

SOTUS โซตัส ย่อมาจากภาษาอังกฤษ 5 คำ Seniority ให้เคารพผู้อาวุโส Order ให้ปฏิบัติตามคำสั่ง Tradition ให้ปฏิบัติตามประเพณี Unity ให้สามัคคีเป็นหนึ่งเดียว Spirit ให้กล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง โดยความหมายเหมือนจะเป็นสิ่งที่ดี แต่กลับเป็นสิ่งที่สามารถตั้งคำถามต่อไปได้อย่างมากทั้งในคำนิยาม รวมถึงปฏิบัติการปลูกฝังระบบโซตัสในกิจกรรม “รับน้อง” ด้วยการกระทำที่เรียกว่า “ประชุมเชียร์” ซึ่งรุ่นพี่จะสั่งให้รุ่นน้องต้องรวมตัวกันไปเข้ารับฟัง “พี่ว้าก” ตะโกนต่อว่า ดุด่ารุ่นน้อง ด้วยสถานการณ์ที่สร้างขึ้นมาเอง เพื่อให้รุ่นน้องทำกิจกรรมตามคำสั่งต่างๆ ด้วยความตึงเครียด กดดัน กิจกรรมเช่นนี้มักจะจัดขึ้นหลังเลิกเรียนในบางวันเป็นระยะเวลาต่อเนื่องร่วมเดือน ก่อนจบสิ้นด้วยพิธีปิด ที่ยอมรับรุ่นน้องเข้าเป็นพวก 

คำถามที่เกิดจากระบบโซตัส ไม่ว่าจะเป็นการเคารพผู้อาวุโส (Seniority) ปฏิบัติตามคำสั่ง (Order) และประเพณี (Tradition) นั้น ทำให้ความถูกต้องชอบธรรม เหตุผลที่สมเหตุสมผล ไม่อาจปรากฏขึ้นในระบบเช่นนี้ได้ จากปฏิบัติการประชุมเชียร์ที่เน้นใช้อำนาจของพี่ว้ากในฐานะผู้อาวุโส ในการเข้าไปสั่งการ กดดัน ข่มขืนใจให้รุ่นน้องกระทำสิ่งต่างๆ ตามคำสั่ง ตามประเพณีที่สืบทอดมา ด้วยการใช้วาจาอันรุนแรง ส่งผลให้รุ่นน้องจำนวนไม่น้อยต้องโศกเศร้าเสียใจ โกรธแค้น หนักเข้าก็ล้มป่วยด้วยอาการแตกต่างกันไป ซึ่งมีนัยสำคัญต่อการทำให้นิสิต นักศึกษาชั้นปีที่ 1 เกิดภาวะซึมเศร้า ดังที่ “อธิชาติ โรจนะหัสดิน” อาจารย์สาขาจิตวิทยาคลินิก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยกับสื่อมวลชนตามรายงานข่าวเว็บไซต์ไทยโพสต์เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2562 ตอนหนึ่งว่า “ทุกวันนี้นักศึกษาทั่วประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาเดียวกัน นั่นก็คือความเครียดสะสมที่เกิดขึ้นภายในรั้วมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ต้องปรับตัวในหลายเรื่อง ทำให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มีความเครียดและภาวะซึมเศร้าสูงกว่านักศึกษาอีก 3 ชั้นปี อย่างมีนัยสำคัญ” พร้อมยกตัวอย่างปัญหามีหลากหลาย อาทิ “ความเหงาเพราะไม่มีเพื่อน ความกลัวเพราะไม่คุ้นชินพื้นที่ ตลอดจนกิจกรรมระหว่างรุ่นพี่-รุ่นน้อง ระบบโซตัส และปัญหาเรื่องเงินทอง” 

เราจะเห็นได้ว่า ระบบโซตัสคือหนึ่งในปัญหาที่กำลังทำร้ายรุ่นน้องทั้งเป็นโดยรุ่นพี่อาจไม่รู้ตัว ขณะที่ความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว (Unity) มิได้เกิดขึ้นจริงบนพื้นฐานความแตกต่างของมนุษย์ กลับกลายเป็นการก่อให้เกิดความแตกแยก ระหว่างผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านระบบโซตัส เช่น เมื่อผู้สนับสนุนพยายามกดดันให้ผู้คัดค้านเข้ามาร่วมการประชุมเชียร์มากขึ้นตามคำสั่งของพี่ว้าก แต่ผู้คัดค้านไม่ยินยอม ก็อาจตีความเป็นการไม่ให้ความร่วมมือ นำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง หรือกรณีที่พบผู้สนับสนุนและคัดค้านโซตัส มักทะเลาะโต้เถียงกันบนสื่อโซเชียลมีเดียอย่างรุนแรงราวกับคนละขั้วทางการเมืองอยู่เสมอ

ส่วนความกล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง (Spirit) ไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้จริง หากมีผู้คัดค้านพยายามส่งเสียงท่ามกลางสภาพแวดล้อมระบบโซตัส เพื่อบอกว่าระบบนี้ไม่ถูกต้องอย่างไร ก็อาจถือเป็นการแหกกรอบประเพณีที่ขีดเส้นไว้แล้ว คงไม่ได้รับการยอมรับจากพี่ว้ากและผู้สนับสนุนโซตัส หรืออาจถูกลงโทษใดๆ ก็เป็นได้

ภาพจากมิวสิควิดีโอเพลง 'โซตัส' ของ RAP AGAINST DICTATORSHIP' หรือ RAD

การประชุมเชียร์ภายใต้ระบบโซตัส นอกจากจะขัดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแล้ว อาจจะขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก ที่ระบุว่า 

“ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” 

เพราะรุ่นพี่หรือพี่ว้าก สั่งการเชิงบังคับให้รุ่นน้องต้องเข้าร่วมประชุมเชียร์ ซึ่งอาจเข้าข่ายข่มขืนใจให้จำยอมต้องเข้าประชุมเชียร์ เพราะกลัวว่าจะกระทบต่อชีวิต ชื่อเสียง ความเป็นอยู่ในมหาวิทยาลัยของตน กลัวไม่เป็นที่ยอมรับ หากไม่ได้รับคำว่า “รุ่น” ร่วมกับเพื่อนๆ และจากรุ่นพี่ 

หากถามว่า เมื่อระบบโซตัสและการประชุมเชียร์มีปัญหาทั้งขัดต่อกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว เหตุใดจึงมีผู้สนับสนุนอยู่ บางคนกล้าอวดด้วยความภาคภูมิใจว่าตนเองเคยเป็นพี่ว้ากมาก่อนด้วยซ้ำ กล่าวคือ ไม่ว่าจะผู้สนับสนุนหรือผู้คัดค้านโซตัส ต่างเป็นเหยื่อด้วยกันทั้งสิ้นในกรอบประเพณีอำนาจนิยมนี้ ซึ่งกระบวนการปลูกฝังที่ต้องเข้ารับฟังรุ่นพี่เพียงด้านเดียวร่วมเดือน แม้จะทุกข์ทรมาน แต่ปิดท้ายด้วยพิธีปิดซาบซึ้งที่รุ่นพี่บอกถึงการทำไปทุกอย่างด้วยความ “หวังดี” มีลักษณะสอดคล้องกับการ “ล้างสมอง” หรือ “ปรับทัศนคติ” ที่ Robert Jay Lifton อธิบายหลักสำคัญไว้ตอนหนึ่งว่า 

“Milieu (แปลว่า Person’s social Environment) Control นี้หมายถึง การควบคุมสภาพแวดล้อมและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน โดยใช้ทั้งแรงกดดันทางสังคม และใช้ ‘ภาษากลุ่ม’ เพื่อให้สมาชิกของกลุ่มความเชื่อสามารถ ‘เห็น’ กันเองได้ และยังใช้เพื่อปรับทัศนคติของผู้คนทั่วไปให้โน้มเอียงมาทางกลุ่มด้วย” พร้อมยกตัวอย่างถึงขั้นตอนการล้างสมอง เช่น ต้องเริ่มจากการทำลายตัวตนก่อน หลังจากนั้นก็ให้สำนึกความผิดบาปของตน ฯลฯ ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการ ‘เกิดใหม่’ (www.thematter.co

เมื่อวิเคราะห์แล้ว ทำให้เราเห็นภาพชัดเจนจากระบบโซตัส ที่ใช้แรงกดดันทางสังคมต่อรุ่นน้อง โดยมีคำว่าโซตัสและรุ่น เป็นภาษากลุ่มที่ปลูกฝังให้เห็นว่าเป็นรุ่นพี่ รุ่นน้อง หรือรุ่นเดียวกัน ภาควิชาเดียวกัน คณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยเดียวกัน ทำลายตัวตนของรุ่นน้องแต่ละคนที่มาต่างกัน ดุด่าต่อว่าด้วยการว้ากน้อง เหมือนกับการสอนสั่งให้สำนึกผิดบาป จนในที่สุดคือการเกิดใหม่ นับแต่พิธีปิดเป็นต้นไป ที่ถือว่าเรากลายเป็นพวกเดียวกัน และยินดีสืบทอดระบบนี้ต่อไปด้วยความเชื่อว่าเป็นสิ่งดีงาม 

ผู้สนับสนุนโซตัส จึงเป็นเหยื่อจากการถูกปรับทัศนคติให้เชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองกระทำอยู่ รักษาอยู่เป็นสิ่งดีงาม ทั้งที่ตรงกันข้าม กลับทำให้ผู้อื่นเป็นทุกข์ เดือดเนื้อร้อนใจจนโศกเศร้า โกรธแค้น ล้มป่วย ส่วนผู้คัดค้านโซตัส ก็เป็นเหยื่อจากการถูกกระแสและการกระทำของระบบนี้ทำร้ายได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์จากการรักษาระบบนี้คือ “เผด็จการอำนาจนิยม” ที่ขีดเส้นกรอบครอบงำความคิด ผูกมัดจิตใจเยาวชนไทยให้หลงไปกับกฎเถื่อน ไม่อาจเข้าถึงคุณค่าของความถูกต้องชอบธรรม สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้  

สุดท้าย ในขณะที่สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ นักเรียน นิสิต นักศึกษา กำลังตื่นตัวทางการเมือง ออกมาชุมนุมจัดกิจกรรมต่อต้านรัฐบาล สนับสนุนประชาธิปไตย มีโพสต์เฟซบุ๊กตอนหนึ่งของ “ทัดชนม์ กลิ่นชำนิ” อดีตประธานสภาผู้แทนนิสิต ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน ปี 2557 โพสต์เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2563 ฝากไว้ตอนหนึ่งว่า 

“รุ่นพวกน้องที่กำลังตื่นตัวนี่แหละเริ่มที่ตนเองได้ทันที คือ “ยกเลิก SOTUS” ซะครับ เพราะมันคือรากฐานหนึ่งที่นำมาสู่ระบบการเมืองแย่ๆ ที่น้องกำลังสู้กันอยู่นี่ล่ะครับ ถ้าน้องสู้วันนี้กันแทบตาย แต่กลับไปยืนว้ากปี 1 กันต่อ สิ่งที่สู้วันนี้จะสูญเปล่ามากครับ แม้ท้ายสุดจะชนะจริงๆ มันก็เปลี่ยนได้แค่รัฐบาล แต่มันเปลี่ยนสังคมตามที่น้องคาดหวังไม่ได้ครับ”  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท