"ฐิตินันท์" มองแอฟริกาเหนือ-ไทย ชี้การเปลี่ยนแปลงเกิดเมื่อปชช. "มีเอี่ยว"

มองแอฟริกาเหนือเทียบเมืองไทย ชี้ยิ่งอำนาจนิยมฝังราก ยิ่งถูกกดดันมาก ระบุการเปลี่ยนแปลงในหลายที่ เกิดจากประชาชนรู้สึก \มีเอี่ยว\" กับระบบ มองเลือกตั้งไทย แนะเอาผลลัพธ์เลือกตั้งเป็นตัวตั้ง ยอมรับวิถีปรองดอง (24 มิ.ย.54) ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปาฐกถาเรื่อง \"อยู่ยง ยืดหยุ่น ยับเยิน: มองแอฟริกาเหนือ มองไทย\" ในการแสดงปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2554 ในวาระครบรอบ 79 ปี การอภิวัฒน์ไทย 24 มิถุนายน 2475 ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ นั้น ถ้าเข้าใจในระดับลึกจะเห็นว่ามีอะไรที่ประยุกต์ใช้ สะท้อนเหตุการณ์บ้านเราไม่น้อย ฐิตินันท์ กล่าวว่า สาเหตุที่การประท้วงในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงนี้ ทั้งที่ประเทศเหล่านี้ปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยม ระบอบเผด็จการมานานตั้งแต่สมัยล่าอาณานิคม เป็นเพราะระบอบไหนที่เป็นอำนาจนิยมฝังรากลึก ก็ยิ่งจะได้รับความกดดันให้มีการปรับเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ทั้งนี้ ฐิตินันท์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ประเทศอื่นๆ ที่ยังไม่มีปัญหาในช่วงนี้ เป็นเพราะมีการปรับตัวเพื่อซื้อใจประชาชน เช่น โมร็อกโก ที่เร็วๆ นี้ สถาบันกษัตริย์ยอมปฏิรูป ทำให้ลำดับความแรงของความขัดแย้งลดลง สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดการเรียกร้องในประเทศเหล่านี้ ฐิตินันท์ ระบุว่าประกอบด้วยความก้าวหน้า โลกาภิวัตน์ กฎระเบียบมาตรฐานใหม่ๆ ระหว่างประเทศที่เน้นให้น้ำหนักกับการกำหนดประเทศด้วยประชาชน ปัญหาปากท้อง ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยสูง นอกจากนี้ยังมีความคาดหวังของคนโดยรวมที่ต้องการมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมสูงขึ้น ทั้งนี้ ฐิตินันท์ระบุว่าเมื่อความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การโฆษณาชวนเชื่อก็จะยากขึ้น พร้อมเล่าว่า เมื่อยังเด็ก ความรับรู้การรับสื่อยังมีจำกัด คลื่นวิทยุทีวีก็เป็นของทหาร เมื่อเข้าเรียนก็รับการศึกษาจากทางการ หล่อหลอมความคิดได้ง่าย สมัยนี้ มีความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสารสนเทศข้อมูลข่าวสาร มีโซเชียลมีเดีย โทรศัพท์มือถือที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ทำให้ความต้องการการเปลี่ยนแปลงมีการกระตุ้นแรงขึ้น ยกตัวอย่างสถานีโทรทัศน์อัลจาซีราห์ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากกับการเปลี่ยนแปลง เพราะรายงานสถานการณ์ทันทีและเผยแพร่ได้หลายทาง ไม่ว่า จานดาวเทียม อินเทอร์เน็ต การหล่อหลอมความคิดจึงทำได้ยาก เพราะประชาชนตื่นตัวมากขึ้น เชื่ออะไรแบบเดิมๆ ยากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอย่าง \"รุ่นของประชากร\" (demographics) ที่คนหนุ่มสาวเพิ่มจำนวนขึ้น มีความต้องการที่มากขึ้น และสิ่งที่สำคัญคือการที่เราไม่มีสงครามเย็นแล้ว เมื่อก่อนใครประท้วงเราบอกว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จับได้ทันที ซ้ำอภิมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ยังร่วมต่อต้านด้วย แต่เมื่อเราไม่มีสงครามเย็น จะไปจับคนที่ประท้วง วิจารณ์ หรือไม่เห็นด้วย ก็ต้องหาเหตุผล อีกลักษณะที่เป็นตัวกระตุ้นคือ ความรู้สึกของการ \"มีเอี่ยว\" ในระบบ กรณีของไทย ในอดีต มีวงจรการเลือกตั้ง-ซื้อเสียง-รัฐประหาร แต่คนไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองมีผลประโยชน์ร่วมกับระบอบเลย ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือก็เช่นกัน เมื่อคนที่มีเอี่ยวกับระบบแล้วก็ไม่ต้องการเสียสิทธินั้น คนที่ยังไม่มีก็ต้องการ ให้แบ่งปันจัดสรร รวมถึงยังมีสาเหตุจากการเป็นสังคมพวกพ้องด้วย ซึ่งหากไม่มีการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรให้เป็นธรรมขึ้นก็จะมีปัญหาเพราะผู้ที่มีการศึกษาก็ต้องการความก้าวหน้า หากความก้าวหน้าในหน้าที่การงานนั้นใช้ความสัมพันธ์มาก ใช้ความสามารถน้อย ไม่สามารถระบายคนที่จะขึ้นมาได้ ก็จะเกิดแรงกดดัน การเผชิญหน้า และความขัดแย้ง ต่อมา ฐิตินันท์กล่าวถึงประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างอินโดนีเซียว่า เมื่อสิบกว่าปีก่อน ดูเหมือนอินโดนีเซียจะลงเหว เพราะประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ ส่วนไทยกำลังจะพุ่งขึ้นโดยมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ปรากฏว่าขณะนี้ อินโดนีเซียกลายเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตย มีประชากรอันดับสามของโลก และยังเป็นสมาชิก G20 ขณะที่ไทยถูกหลายฝ่ายห่วงว่าจะลงเหว ซึ่งฐิตินันท์มองว่า ที่ผ่านมา ในช่วงปี 2542-2544 กลุ่มประชาสังคมอินโดนีเซีย ทั้งเอ็นจีโอ นักวิชาการ และนักธุรกิจ มีความเป็นปึกแผ่น และมีความเป็นเสรีนิยมสูง โดยมีจุดยืนชัดเจนในการต่อต้านทหาร มีประชามติว่าอินโดนีเซียต้องเป็นประชาธิปไตย ขณะที่ประชาสังคมของไทยไม่เป็นปึกแผ่นและไม่เป็นเสรีประชาธิปไตย เรามีกลุ่มประชาสังคม อาจารย์ นักวิชาการ ทั้งที่เป็นประชาธิปไตยและที่เรียกร้องรัฐประหาร นอกจากนี้ เขายังยกตัวอย่างกรณีของพม่า ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามปรับตัวของผู้นำ เพื่อให้ประชาชนได้มีทางระบายความต้องการของตัวเอง แม้ว่าผลสุดท้ายจะเป็นไปตามที่พม่าวางไว้ก็ตาม โดยชี้ว่า พม่าพยายามสร้างภาพลักษณ์ของประชาธิปไตย โดยร่างรัฐธรรมนูญ ส่งทหารลงเลือกตั้ง มีชนกลุ่มน้อยเข้าร่วม ทั้งที่พม่าเองพร้อมจะปราบปรามอย่างหนักกับผู้ต่อต้าน ไม่ว่าพระ นักศึกษา แต่พม่ารู้ว่าระยะยาว ต้องตอบสนองกระแสความเปลี่ยนแปลงให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะมีแรงกดดันอย่างหนักในอนาคต โดยสรุป ฐิตินันท์ มองว่า ในละแวกเพื่อนบ้านของไทยนั้น การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เป็นเรื่องการ \"มีเอี่ยว\" โดยประชาชนอาจไม่รู้ว่าประชาธิปไตยคืออะไรก็ได้ แต่พวกเขาต้องการมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตรวมของประเทศ และในกรณีของไทยก็เป็นเช่นนี้ ฐิตินันท์ ระบุว่า กรณีประเทศไทย ตลอด 79 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรามีเผด็จการทหารหลายรอบ ซึ่งมีข้อดี 2 ข้อ คือ หนึ่ง ทำให้ไทยไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ เพราะต่อสู้ได้เข้มแข็ง สอง มีเสถียรภาพพอที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะเขามองว่า รัฐประหารจะเป็นเรื่องยากขึ้น ต้นทุนสูงเกินกว่าที่คนส่วนใหญ่จะยอมรับ แม้ว่าจะทำรัฐประหารได้ แต่หลังจากนั้นจะมีแรงโต้กลับ โดยจะมีปฏิกิริยาจากนักลงทุนต่างชาติ ที่จะวิจารณ์และตัดความช่วยเหลือ สำหรับสถาบันกษัตริย์ไทยนั้น ในช่วง 79 ปี ฟื้นขึ้นสูงสุดตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ และจุดสูงสุดที่เป็นสัญลักษณ์คือช่วงพฤษภาทมิฬ ที่สยบความแตกแยก ฆ่าฟัน แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีประสบการณ์ต่างๆ ที่ทำให้เห็นว่ามีความกดดันเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนไม่น้อย ระบอบปกครองไทยมาจากสงครามเย็น เรามีเครื่องจักรจากสงครามเย็น กองทัพ สถาบัน ระบบราชการ ซึ่งลักลั่นกับปัจจุบันที่ลักษณะประชากรเปลี่ยน กระแสเสรีประชาธิปไตย โลกาภิวัตน์กำลังมา ฐิตินันท์ ชี้ให้เห็นว่า ในทศวรรษ 1970 มีความพยายามท้าทายกับระบอบการปกครอง แต่ไปได้ไม่ไกล ต่อมาในทศวรรษ 1980 ปรองดองกันได้ แต่ก็มีทหารกุมอำนาจบางส่วน ขณะที่ช่วง 1990 หลังพฤษภาทมิฬมีการปรองดองอย่างลึกซึ้ง และเมื่อไทยรักไทยขึ้นมา ก็เกิดความแตกแยก ร้าวลึก ฐิตินันท์ ระบุว่า เมื่อพูดถึงทักษิณก็มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบเอามากๆ โดยมีทั้งประเด็นเรื่องซุกหุ้นตั้งแต่ปี 44 ฆ่าตัดตอนยาเสพติด 2

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท