Skip to main content
sharethis

ครบรอบ 92 ปี 24 มิ.ย. 2475 ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ หวังขบวนการประชาธิปไตยมีเอกภาพสู่ 'สันติธรรมประชาธิปไตยสมบูรณ์'

23 มิ.ย. 2567 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้แสดงความเห็นต่อสื่อมวลชน เนื่องในโอกาสครบรอบ 92 ปี อภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่า ในปีนี้เช่นเดียวกับทุกปี ทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงานทางวิชาการเพื่อเป็นการรำลึกถึง ความเสียสละ ความกล้าหาญ การเสี่ยงชีวิตเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจาก “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็น “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” หรือ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” โดยงานเสวนาทางวิชาการปีนี้ จัดงานที่ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 24 มิ.ย. 2567 เวลา 13.30-17.00 น.  

เราชาวไทยต้องการแสวงหาความคิดและแนวทางในการสร้างความเป็นเอกภาพให้กับ “ขบวนการประชาธิปไตย” เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าสู่การปกครองที่มีความเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ภารกิจเฉพาะหน้า คือ การประคับประคองให้ระบอบประชาธิปไตย ณ. เวลานี้ รอดพ้นจากการรัฐประหารให้ได้เสียก่อน และไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารขึ้นมาอีกในประเทศไทย นั่นก็คือ รัฐบาลต้องบริหารประเทศด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่กระทำการลุแก่อำนาจหรือดำเนินการใดๆที่ผิดหลักการผิดกฎหมายอันชอบธรรม ประการต่อมา ต้องสามัคคีพลังทั้งหมดของ “ขบวนการประชาธิปไตย” ในการผลักดันให้เกิด “รัฐธรรมนูญ” ฉบับของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน บนหลักการประชาธิปไตย และ สร้างสรรค์ ค่านิยมประชาธิปไตย และ ค่านิยมสันติธรรม ให้หยั่งรากลึกไปยังทุกพื้นที่ของประเทศ ทุกครอบครัวของสังคมไทย  

หลังจากวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช หมดวาระลงและจัดให้มีระบบการเลือกตั้งกันเองเพื่อให้ได้สมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่แล้ว จากผลการเลือกตั้งเบื้องต้น คาดว่าองค์ประกอบของวุฒิสภาเปลี่ยนแปลงไปและผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่วุฒิสมาชิกชุดใหม่จะประกอบไปด้วยบุคคลที่มีจุดยืนประชาธิปไตย มีความเป็นอิสระ เป็นกลาง และดำเนินการต่างๆเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณชนมากกว่าทำตามใบสั่งของผู้มีอำนาจ คาดว่าน่าจะมีเสียงมากพอที่จะร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเปิดทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชนได้

ความขัดแย้งทางการเมืองหลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 ยังคงดำรงอยู่ต่อเนื่องระหว่าง ขั้วรัฐประหารและขั้วความคิดอนุรักษ์อำนาจนิยมขวาจัด กับ ขั้วฝ่ายประชาธิปไตย เสรีนิยมและความคิดก้าวหน้า หลังการจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้วหลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2566 ทำให้ความขัดแย้งเปลี่ยนรูปไปมีความซับซ้อนมากขึ้นและพัฒนาการของประชาธิปไตยเปลี่ยนแปลงไป  ทั้งสองขั้วต้องการดึงมวลชนมาเป็นฐานการสนับสนุน มีการใช้การสื่อสารแบบเลือกข้างทำลายฝ่ายตรงกันข้ามอย่างต่อเนื่อง แม้นความรุนแรงจะลดระดับลงเมื่อเทียบกับช่วงความขัดแย้งเหลืองแดงและช่วง กปปส.

การเมืองบนท้องถนน การเมืองปลุกระดมมวลชนอย่างบ้าคลั่ง ได้เคลื่อนย้ายมาสู่การต่อสู้กันในกลไกรัฐสภามากขึ้น แต่ “นิติสงคราม” ยังดำรงอยู่และมีการใช้ “องค์กรอิสระ” และ “ตุลาการ” จัดการขั้วอำนาจตรงข้ามของฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยอนุรักษ์นิยมขวาจัดต่อไป  

การแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยวิถีทางประชาธิปไตยและระบอบการปกครองโดยกฎหมาย ยึดหลักนิติธรรมจะนำประเทศไทยไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วใน 10-15 ปีข้างหน้าและเกิดความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยแบบผู้แทน (Representative Democracy) จำเป็นต้องมีระบบสถาบันพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ประชาชนเลือกผู้แทนผ่านระบบพรรคการเมืองเพื่อเข้าทำหน้าที่บริหารประเทศผ่านนโยบายสาธารณะต่างๆที่พรรคการเมืองให้สัญญาประชาคมเอาไว้ ผู้ได้รับเลือกตั้งจะทำหน้าที่นิติบัญญัติ บริหาร และในบางประเทศจะมีกระบวนการเลือกตั้งผู้ทำหน้าที่ทางด้านตุลาการ สิทธิในการจัดตั้งหรือเข้าร่วมพรรคการเมืองได้รับการรับรองไว้ในระดับสากล คือ มาตรา 20 ของคำประกาศสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) “บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะชุมนุมและสมาคมโดยสันติ” ในกติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights, ICCPR) รับรองสิทธินี้ไว้เช่นกันในมาตรา 22 “บุคคลย่อมมีสิทธิในเสรีภาพในการสมาคมกับผู้อื่น รวมถึงสิทธิในการจัดตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเขาเอง การจำกัดสิทธินี้จะกระทำมิได้ นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติหรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุขหรือศีลธรรมของประชาชน หรือ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น”

ปัจจัยชี้ขาด พลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้เคลื่อนย้ายจากผู้นำกองทัพ (การรัฐประหาร) มาที่ อำนาจตุลาการและองค์กรอิสระ เสียงและอำนาจประชาชนยังคงเป็นเพียงส่วนประกอบให้ดูเหมือนว่า ประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ปีที่ 92 ของประชาธิปไตยไทย ภารกิจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย คือ ทำอย่างไรให้ “เสียงของประชาชน” มีความหมาย ทำอย่างไรให้ “ประชาชนส่วนใหญ่” เป็นผู้กำหนดทิศทางของประเทศอย่างแท้จริง ไม่ใช่ผู้กำหนดทิศทางประเทศเป็นกลุ่มผู้มีอำนาจกลุ่มเล็กๆ ไม่กี่คนที่ไปทำ “ดีลต่างๆ” โดยประชาชนเจ้าของประเทศไม่ได้มีความหมายอะไร  
 
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองและภาคชนบทไทย พัฒนาการทางประชาธิปไตยไทยได้พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งภายหลังการใช้รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 มาได้ระยะหนึ่ง ประชาชนยากจนในชนบทที่เคยอยู่ภายใต้ระบอบอุปถัมภ์และมักถูกซื้อด้วยเงินเวลาเลือกตั้งได้เปลี่ยนไปแล้ว การเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทยที่นำเสนอนโยบายให้คนชนบท ทำให้การเมืองไทยเป็นเรื่องการแข่งขันทางนโยบายมากขึ้น และสิ่งนี้ได้ดำเนินต่อเนื่องมายังการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2554 ปี พ.ศ. 2562 และ ปี พ.ศ. 2566 พรรคการเมืองต่างๆต่างแข่งขันกันในทางนโยบายเพื่อให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง นโยบายที่นำเสนอมีทั้งที่ออกแนวนโยบายประชานิยมและเป็นนโยบายสาธารณะทั่วไป นโยบายกองทุนหมู่บ้านมีส่วนในการพัฒนาประชาธิปไตยในระดับหมู่บ้านโดยเฉพาะชุมชนที่เปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมในการบริหารกองทุน

การเลือกตั้งไม่เพียงพอที่จะบอกได้ว่าประชาธิปไตยมีความมั่นคงแล้ว  ในกรณีของไทยมีการเลือกตั้งแล้วรัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนยังไม่มีอำนาจอย่างชัดเจน และถูกให้ออกจากตำแหน่งโดยอำนาจขององค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งองค์กรอิสระเหล่านี้มักมาจากแต่งตั้งของอำนาจคณะรัฐประหาร ในรอบ 18 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการรัฐประหารถึงสองครั้ง และ ยังมีกลุ่มการเมืองที่พยายามโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลายครั้งจากความผิดผลาดในการบริหารประเทศ การทุจริตคอร์รัปชันหรือกล่าวหาว่านโยบายของรัฐบาลสร้างความเสียหายต่อประเทศ ประเทศไทยไม่ได้สร้างวัฒนธรรมหรือธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองให้ Democracy is the only game in town อันเป็นกรณีที่สังคมและประชาชนทั้งหมดเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะต้องเกิดขึ้นในบริบทหรือในวิถีของประชาธิปไตย ซึ่ง รวมถึงกลุ่มการเมืองในการแก้ไขปัญหาต่างๆของประเทศต้องยึดถือวิถีทางประชาธิปไตยและระบอบการปกครองโดยกฎหมายที่ยึดหลักนิติรัฐนิติธรรมเท่านั้น พัฒนาการทางการเมืองที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่มั่นคงนั้น จะต้องไม่มีพฤติกรรมของกลุ่มบุคคล กลุ่มการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มผลประโยชน์ในกองทัพพยายามจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยหรือหลักนิติธรรม (Rule of Law)

ประชานิยมของหลายพรรคการเมืองที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้เกิดความเป็นสถาบันของประชาธิปไตย และผลของนโยบายประชานิยมไม่ชัดเจนว่าทำให้เสรีประชาธิปไตยเข้มแข็งหรือไม่ในประเทศไทย แต่ “ประชานิยม” ได้สร้างสภาวะทางการเมืองที่เสียงของประชาชนฐานรากส่วนใหญ่มีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดนโยบาย อีกด้านหนึ่ง นโยบายประชานิยมได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าละเมิดต่อกรอบวินัยการเงินการคลังและอาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจได้ โดยข้อกล่าวหาเหล่านี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริง แต่ข้อกล่าวหาเหล่านี้ได้ถูกใช้ในกระบวนการหยุดยั้งพัฒนาการประชาธิปไตยไทยด้วยเป็นข้ออ้างในการรัฐประหารยึดอำนาจในปี พ.ศ. 2557

เมื่อคณะรัฐประหารได้เข้ามาปกครองประเทศและมีการยกเลิกนโยบายรับจำนำข้าวที่ถูกกล่าวหาว่า เป็น หนึ่งในนโยบายประชานิยม รัฐบาลของคณะรัฐประหารเองก็มีการใช้มาตรการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรในรูปแบบต่างๆรวมทั้งการประกันรายได้เกษตรกรซึ่งก็มีลักษณะเป็นประชานิยมเช่นเดียวกัน มีมาตรการหรือนโยบายหลายอย่าง เช่น สวัสดิการประชารัฐ บัตรสวัสดิการคนจน ที่ก็เข้าข่ายนโนบายประชานิยมเช่นเดียวกัน หลายนโยบายก็เป็นประโยชน์กับประชาชน ไม่ว่าจะดำเนินการโดยรัฐบาลไหนก็ตาม

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า เวลาเราต้องการทำให้เกิดประชาธิปไตยที่มั่นคง (Democratic Consolidation) นั้น เราไม่ได้ต้องการเพียงรัฐบาลจากการเลือกตั้งเท่านั้น เราต้องการรัฐธรรมนูญกติกาสูงสุดที่เป็นประชาธิปไตย ระบบการเลือกตั้งที่เปิดเผย เป็นกลางและเที่ยงธรรม เราต้องการระบบราชการและระบบการเมืองที่มีธรรมภิบาล มีประสิทธิภาพ รวมทั้ง ความมีระเบียบและเสถียรภาพอีกด้วย

รัฐประหารเมื่อ 10 ปีที่แล้วได้นำประเทศไทยกลับไปสู่ระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหารอีกครั้งหนึ่ง แต่มีลักษณะที่ผ่อนคลายกว่า เผด็จการทหารในยุค พ.ศ. 2500-2516 เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและไม่เกื้อหนุนต่อระบอบอำนาจนิยมที่ใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดรุนแรง รัฐบาล คสช ใช้อำนาจปกครองยาวนานเกือบ 5 ปี จึงยอมให้มีการเลือกตั้งได้ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาคล้ายรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบ

ต่อมา คณะกรรมการเลือกตั้งได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 โดยใช้ระบบการเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” (Mixed-Member Appointment System – MMA) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ระบบเลือกตั้งแบบนี้ในประเทศไทย การเลือกตั้งในครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศว่า ไม่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม มีความล่าช้าและความคลาดเคลื่อนในการประกาศผลคะแนนเกือบทุกเขตเลือกตั้ง การคำนวณ ส.ส. ในระบบจัดสรรปันส่วนผสมของแต่ละพรรคและการนับคะแนนเสียงผลการเลือกตั้งก็ไม่มีมาตรฐาน มีข้อสงสัยเรื่องความโปร่งใส ความเป็นกลางและประสิทธิภาพในการทำงานของคณะกรรมการเลือกตั้งในการจัดการเลือกตั้งก็ถูกตั้งคำถามอย่างมาก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลประยุทธ์ ก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นจากเสียงของสมาชิกวุฒิสภา 250 เสียง และ คะแนนเสียงจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จาก พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และ พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่ง

รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 และ การเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562 นั้นเป็นไปเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร คสช และ สร้างความชอบธรรมให้การสืบทอดอำนาจของระบอบคณาธิปไตย มากกว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยที่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง อำนาจของระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบนี้ถูกท้าทายด้วยกระแสประชาธิปไตยที่แพร่ขยายด้วยพลังของสื่อสังคมออนไลน์และกระแสโลกาภิวัตน์ที่สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเป็นค่านิยมสากลของทั่วโลก ต่อมาได้มีการยุบพรรคอนาคตใหม่โดยศาลรัฐธรรมนูญ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลการตัดสินที่ไม่เป็นธรรม นำมาสู่การชุมนุมประท้วงโดยมีการจัดกิจกรรมเฟลชม็อบอย่างต่อเนื่อง การเคลื่อนไหวแบบแฟลชม็อบของนิสิตนักศึกษากว่า 50 สถาบันการศึกษาในประเทศไทย เป็นไปในลักษณะการรวมตัวแบบรวดเร็วและสลายตัวเร็ว การส่องแสงแฟลช (Flash) ผ่านมือถือเสมือนเป็นการแสดงออกถึงความมีตัวตนและการแสดงความไม่พอใจต่อการสืบทอดอำนาจของ คสช ผ่านการเลือกตั้ง การใช้อำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพ มีการเรียกร้องประชาธิปไตยและตั้งคำถามต่อระบบความยุติธรรมและระบบนิติรัฐนิติธรรมในประเทศไทย มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์หรือโชเชียลมีเดียอย่างมีประสิทธิภาพในการรณรงค์ประชาธิปไตย มีการสร้างคำเพื่อติด “แฮชแท็ก” (hashtag) ต่างๆ เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองและเอกลักษณ์ของแต่ละสถาบันด้วย ปรากฎการณ์ของแฟลชม็อบบ่งชี้ว่า เยาวชนคนหนุ่มสาวได้กลับมาตื่นตัวและต้องการการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นอย่างชัดเจนเช่นเดียวกับพลังของนิสิตนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 – 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

รศ.ดร.อนุสรณ์  กล่าวว่า การชุมนุมประท้วงแฟลชม็อบของนักศึกษาข้างต้นจึงสะท้อนความคับข้องใจต่อสภาวะความอยุติธรรมในสังคม สะท้อนถึงความวิตกกังวลต่ออนาคตของตัวเองและสังคมไทยโดยรวม การเรียกร้องทวงคืนประชาธิปไตยที่แท้จริงกลับคืนมา และ ความไม่พอใจต่อการถูกทำลายเสียงของพวกตน รวมทั้งพื้นที่ทางการเมืองของพวกตนจากการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและตั้งคำถามและการยุบพรรคอนาคตใหม่ที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ต่อมา ในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แสดงจุดยืนต้องการให้มีการจัดตั้งรัฐบาลจากพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยด้วยคะแนนเสียงรวมมากกว่า 70% แต่ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลขั้วประชาธิปไตยได้ด้วยเสียงของวุฒิสมาชิกเป็นอุปสรรค จึงได้มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้วแทน เสถียรภาพของรัฐบาลผสมข้ามขั้วยังคงอยู่ภายใต้อำนาจขององค์กรอิสระที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ค.ส.ช. และ บทบาทการเคลื่อนไหวล่าสุดของวุฒิสมาชิกชุดแต่งตั้ง ส.ว. รักษาการกลุ่มหนึ่งได้เคลื่อนไหวยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ขณะที่จะมีการพิจารณายุบ พรรคก้าวไกล ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน การรัฐประหารโดยตุลาการหรือองค์กรอิสระ หรือ การรัฐประหารโดยกองทัพ ล้วนทำให้พัฒนาการประชาธิปไตยต้องสะดุดลง สร้างความเสี่ยง ความไม่แน่นอนต่อระบบการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ

หากเกิดรัฐประหารโดยเฉพาะการรัฐประหารโดยกองทัพขึ้นอีกในอนาคต ย่อมเกิดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงมาก อาจเปิดโอกาสนำไปสู่การแทรกแซงทางการเมืองของมหาอำนาจได้ ภูมิภาคนี้และประเทศไทยเป็นพื้นที่ช่วงชิงอำนาจนำ (Hegemony) ของมหาอำนาจอย่างจีน สหรัฐอเมริกา และ อียู อยู่แล้ว การสร้างความมั่นคงให้กับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นมีความสำคัญอย่างมากต่ออนาคตของรัฐชาติ และ ลดความเสี่ยงของการเข้าแทรกแซงของมหาอำนาจ หากเกิดการรัฐประหารโดยองค์กรอิสระหรือตุลาการ อาจต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นมาใหม่ หรือ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนอกวิถีทางประชาธิปไตยที่เปิดช่องเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ  

ความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปี พ.ศ. 2549 ได้นำมาสู่จุดเริ่มต้นของการยุบพรรคการเมืองโดยคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ การดำเนินการยุบพรรคการเมืองได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า เป็นการยุบพรรคการเมืองเพื่อจำกัดคู่แข่งทางการเมืองของผู้มีอำนาจรัฐหรือไม่ และ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของหลักประชาธิปไตยป้องกันตนเอง (Militant Democracy) ไม่ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์เป้าหมายที่ต้องมุ่งไปที่การรักษาสิทธิ เสรีภาพ และ หลักการประชาธิปไตยต่างๆ ไม่ใช่เพื่อปิดกั้นหรือทำลายเสรีภาพในการรวมกลุ่มหรือสมาคม และ หลักเกณฑ์ว่า การดำเนินการของพรรคการเมืองมีลักษณะใช้ความรุนแรงเพื่อโค่นล้มระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญภายใต้การแต่งตั้งของคณะรัฐประหารได้ยุบพรรคการเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางจำนวนมาก เริ่มจาก การยุบพรรคไทยรักไทย (2550) พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย (2551) พรรคไทยรักษาชาติ (2562) พรรคอนาคตใหม่ (2563) พรรคการเมืองเหล่านี้ล้วนเป็นคู่แข่งทางการเมืองของผู้มีอำนาจรัฐ และ ผู้มีอำนาจรัฐมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มของตน การยุบพรรคการเมืองตามมาด้วยความตึงเครียดทางการเมือง และ ค่อยๆสะสมสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลา กฎหมายยุบพรรคการเมืองและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของไทยถูกวิจารณ์ในแง่ความชอบธรรมเนื่องจากเป็นผลพวงของรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 และ ปี พ.ศ. 2557 หลายกรณีเป็นการกระทำของบุคลากรบางคนของพรรคการเมือง ไม่ใช่การกระทำขององค์กร บทลงโทษจึงควรมุ่งไปที่ตัวบุคคลมากกว่าการล้มล้างหรือยุบสถาบันพรรคการเมือง

สถาบันพรรคการเมืองเป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย กับ องค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐ ทั้งทางด้านนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับให้ความสำคัญต่อพรรคการเมืองโดยกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องสังกัดพรรคการเมืองตลอดจนการกำหนดกติกาหลายประการเพื่อให้พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบันทางการเมือง พรรคการเมืองจึงเป็นองค์กร กลไกและองค์ประกอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือเถลิงอำนาจของกลุ่มอำนาจนิยม และ อาจใช้อำนาจนั้นล้มล้างระบอบประชาธิปไตยได้เช่นเดียวกัน หากพรรคการการเมืองใช้สิทธิเสรีภาพของตนเองเพื่อล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ย่อมมีความชอบธรรมในการดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อยุบพรรคการเมืองนั้น อันเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยป้องกันตนเอง (Militant Democracy) มาตรการยุบพรรคการเมืองจึงถูกระบุไว้ใน รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ปี พ.ศ. 2550 และ ปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยเองมีกฎหมายควบคุมพรรคการเมืองและยุบพรรคการเมืองค่อนข้างเข้มงวดเนื่องจากผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีทัศนคติไม่ไว้วางใจนักการเมือง มาตรการเข้มงวดเกินพอดีเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นมาตรการรุนแรงเกินกว่าเหตุ อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสถาบันพรรคการเมืองและระบอบประชาธิปไตยได้ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 ได้ขยายเหตุแห่งการยุบพรรคกว้างขวางมากกว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา นอกจากนี้ หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2566) มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไปแล้วถึงสองพรรคการเมืองคือ พรรคอนาคตใหม่ และ พรรคไทยรักษาชาติ จนเกิดตั้งคำถามในสังคมโดยเฉพาะในแวดวงวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ว่า ตกลง การยุบพรรคการเมืองตามหลักคิดประชาธิปไตยป้องกันตนเอง (Militant Democracy) ของไทยทำลายหรือปกป้องประชาธิปไตยกันแน่ มาตรการยุบพรรคการเมืองนั้นเชื่อมโยงกับประสบการณ์สมัยสงครามครั้งที่สอง ในช่วงการมีการขยายบทบาทของพรรคการเมืองแนวฟาสซิสต์อำนาจนิยม และ ได้ทำลายระบอบประชาธิปไตยลง ฉะนั้นจึงมีพัฒนากลไกให้ระบอบประชาธิปไตยปกป้องตัวเองด้วยการให้อำนาจในการยุบพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยได้ แต่ไม่มีพรรคการเมืองใดประเทศไทยที่มีลักษณะเป็นพรรคการเมืองตามแนวฟาสซิสต์แบบเยอรมันและอิตาลีในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวขยายความต่อว่า กรณีของไทย มาตรการยุบพรรคนี้เป็นมาตรการที่ผลรุนแรงต่อพัฒนาการประชาธิปไตยและการพัฒนาสู่ความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง เป็นมาตรการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและมักถูกตั้งคำถามในความชอบธรรมและผลกระทบที่มีต่อระบอบประชาธิปไตย และ มักเกิดขึ้นในประเทศด้อยพัฒนาทางด้านประชาธิปไตยหรือเป็นระบอบอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง  

การเซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบันในระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างเป็นระบบด้วยเครือข่ายปรปักษ์ประชาธิปไตย เครือข่ายอนุรักษ์นิยมเผด็จการขวาจัดเหล่านี้มักอ้างสถาบันหลักของชาติในทำลายศัตรูของตัวเองและสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในหมู่คนไทย สร้างความแตกแยก แบ่งแยกขบวนการประชาธิปไตยเพื่อง่ายต่อการกำกับควบคุมปกครองไม่ให้พลังของขบวนการประชาธิปไตยเข้มแข็งจนท้าทายอำนาจ ท้าทายระบอบอภิสิทธิ์ ท้าทายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สิทธิพิเศษทางสังคมต่างๆ การแบ่งแยกขบวนการประชาธิปไตยก็เพื่อต้องการดำรงรักษาระบอบที่สร้างความเหลื่อมล้ำนี้ให้ดำรงอยู่ต่อไป การผนึกกำลังและการสร้างเอกภาพของขบวนการประชาธิปไตยเป็นความจำเป็นพื้นฐานในการทำให้ “สันติธรรมประชาธิปไตยสมบูรณ์” เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงในประเทศไทย เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาคเป็นธรรม การบรรลุเป้าหมายดังกล่าว จะทำให้สังคมไทยมีสันติธรรม มีเสถียรภาพ อันเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองในอนาคต ประชาธิปไตยสมบูรณ์นี้หมายถึง ประชาธิปไตยทางการเมือง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยในวิถีชีวิตวัฒนธรรม  

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การพิจารณายุบพรรคก้าวไกลก็ดี การพิจารณายุบพรรคภูมิใจไทยก็ดี ล้วนไม่เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย การพิจารณาความผิดควรเป็นเรื่องความรับผิดชอบของบุคคล หรือคณะบุคคล ไม่ใช่เรื่องของสถาบันพรรคการเมือง ยิ่งหากคำตัดสินทั้งสองคดีนี้ออกมาแบบไม่มีมาตรฐานด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำลายความเชื่อมั่นต่อระบบการปกครองและระบบความยุติธรรมของประเทศนี้เพิ่มขึ้นไปอีก

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า การแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เท่ากับ ล้มล้างการปกครองนั้น จะ ส่งผลกระทบอย่างซับซ้อน สร้างความไม่แน่นอน และความเสี่ยงต่อระบบการเมือง ระบบนิติบัญญัติ ระบบยุติธรรม ระบอบประชาธิปไตย ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน เศรษฐกิจและการลงทุน ของประเทศไทยได้ เป็นการปิดประตูแห่งโอกาสของการปฏิรูประบบสถาบันทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขลง  

อาจเกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของสถาบันหลักของประเทศเพิ่มขึ้น และ อาจจะมีการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 มาทำลายล้างกันทางการเมืองมากขึ้นอีก แทนที่จะเกิดการแก้ไขด้วยการพิจารณาของผู้แทนราษฎรในรัฐสภาด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความรอบคอบอย่างพินิจพิเคราะห์เพื่อยังประโยชน์ต่อราษฎรของประเทศ และ ทำให้เกิดเสถียรภาพต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างยั่งยืน    

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า การเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆของเครือข่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยอำนาจนิยมอนุรักษ์นิยมขวาจัดผ่านการทำ “นิติสงคราม” และ อาศัย “องค์กรอิสระ” ได้สั่นคลอนเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย เครือข่ายเหล่านี้คาดหวังจะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง  

การกระทำเหล่านี้ได้สร้างความไม่แน่นอนและความเสี่ยงทางการเมือง จนกระทั่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างมีนัยยสำคัญ นักลงทุนต่างชาติได้ทยอยถอนการลงทุนจากประเทศไทยพร้อมกับทุนข้ามชาติของไทย ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจนั้นพอไปได้ ไม่ได้ย่ำแย่ แต่ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองและความไม่แน่นอนทางการเมืองนั้นซ้ำเติมความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนในตลาดการเงินอย่างรุนแรง ดูได้จากการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องของดัชนีตลาดหุ้นหลุดระดับ 1,200 และนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ นักลงทุนโครงการลงทุนระยะยาวก็หันไปลงทุนในอินโดนีเซีย มาเลเซียและเวียดนาม มากกว่า   

จากนี้ไปคงต้องติดตามดูว่า ผลของการพิจารณาตัดสินยุบพรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย และ การตัดสินคดีของนายกรัฐมนตรีจะเป็นอย่างไร     
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net