Skip to main content
sharethis

"ชาตรี ประกิตนนทการ" อ่านการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ผ่านแผนที่ ภาพถ่าย และงานสถาปัตยกรรม เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ที่เคยถูกครอบครองและใช้ประโยชน์โดยกษัตริย์ มาสู่การทำให้เมืองได้กลายเป็นพื้นที่ของราษฎรหลัง 2475 โดยคณะราษฎร

 

ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

9 ก.ค. 2565 เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา เวลา 09.30 – 16.00 น. คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดงานเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “90 ปี ประชาธิปไตยไทย : รัฐ สัญญะ ศิลปสถาน สำนึกราษฎรและท้องถิ่น” ขึ้นที่ห้อง PSB 1101 คณะรัฐศาสตร์ มช.  เพื่อทบทวนพัฒนาการของสังคมไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ประชาธิปไตย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ภายในงานมีชาตรี ประกิตนนทการ ศาตราจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในวิทยากรได้ร่วมนำเสนอในหัวข้อ “คณะราษฎรศึกษา แผนที่และสิ่งของ” เพื่ออ่านความเปลี่ยนแปลงของสังคมผ่านเมืองและสิ่งของในยุคคณะราษฎร

 

ทำไมต้องอ่านคณะราษฎรจากแผนที่

ชาตรีเสนอว่า ในการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มักจะมีมีข้อถกเถียงสำคัญจากฝั่งประวัติศาสตร์กระแสหลักว่า 2475 เป็นการชิงสุกก่อนหาบ เป็นเรื่องของคนร้อยกว่าคนที่อยากจะแย่งชิงอำนาจของกษัตริย์ สุดท้ายทะเลาะกันเองและก็หายไปอย่างรวดเร็ว ชาตรีกล่าวว่า ปัญหาคือหลักฐานของประวัติศาสตร์กระแสหลักที่กล่าวอ้างว่า 2475 เป็นการชิงสุกก่อนหาบมักอ้างอิงหลักฐานลายลักษณ์ อย่างเอกสารราชการซึ่งจำกัดอยู่แค่หลักฐานชั้นต้น และถูกนำมาตีความครอบคลุมตัวคณะราษฎรมาอย่างยาวนาน

หลังรัฐประหาร 2557 เป็นช่วงเวลาที่ชาตรีมองว่า มีการพยายามค้นเอกสารใหม่ๆ และหาเสียงอื่นๆ ที่ไม่ใช่เสียงจากส่วนกลาง เพื่อมาพิสูจน์ว่า 2475 มีความเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่อยู่ในเอกสารราชการหรือประวัติศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งหนึ่งในหลักฐานใหม่ที่ถูกหยิบยกมาคือ “แผนที่”

การอ่านแผนที่ในแง่หนึ่งเท่ากับเป็นการอ่านความหมายของเมืองและผังเมืองในยุคคณะราษฎร โดยแผนที่ที่ชาตรียกมาเปรียบเทียบกันคือ แผนที่ 2475 และ แผนที่ 2490 ที่สะท้อนการเกิดขึ้นของพื้นที่สาธารณะผ่านการระบุรายละเอียดในแผนที่ที่แตกต่างกัน

ซ้าย แผนที่ 2475 ขวา แผนที่ 2490

ด้านซ้ายเป็นแผนที่ที่ตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2475 แต่ตัวเนื้อเมืองที่ถูกสำรวจมาจากเมืองช่วงปลายรัชกาลที่ 6 - รัชกาลที่ 7 สิ่งที่ปรากฏในแผนที่ปี 2475 จึงเป็นกายภาพของกรุงเทพฯ ในช่วงสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ขณะที่แผนที่ชุดที่ 2 ด้านขวา ตีพิมพ์ออกมาปลายทศวรรษ 2490 และทำการสำรวจเมืองในช่วงต้นทศวรรษ 2490 เท่ากับว่าเป็นการสำรวจเมืองภายหลังจากที่คณะราษฎรถูกรัฐประหารไปเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2490 แผนที่ชุดนี้จึงเก็บเอาสภาพของเมืองในช่วงที่คณะราษฎรได้สร้างโครงการสาธารณะต่างๆ ในเมืองไว้ทั้งหมด

การดูเปรียบเทียบสองแผนที่จะทำให้เห็นความแตกต่างของเมือง ด้านซ้ายคือเมืองก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ส่วนด้านขวาเป็นเมืองหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในแผนที่ชุดที่ 2 เท่ากับเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นในยุคของคณะราษฎร แผนที่ช่วยทำให้มองเห็นหลักฐานจำนวนมากที่หลักฐานลายลักษณ์อักษรไม่ได้บรรจุไว้ เช่น อาคารราชการ หรืออาคารเอกชนเล็กๆ ที่เอกสารไม่ได้พูดถึง เหมือนกับสิ่งปลูกสร้างสำคัญอย่างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่อาคารเหล่านี้ถูกบรรจุไว้ในแผนที่ชุดหลัง 2475 เพื่อเติมเต็มสิ่งที่คณะราษฎรทำ และหลักฐานเอกสารไม่ได้กล่าวถึง

 

แผนที่ ภาพถ่าย สถาปัตยกรรม กับการเปลี่ยนพื้นที่ของผู้ดีหลัง 2475

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

ซ้าย 2475 ขวา 2490

มหาวิทยาลัย

ซ้าย 2475 – ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองพื้นที่ในแผนที่ด้านซ้ายเป็นที่ตั้งของโรงทหาร คลังแสง กรมทหารบกที่ 2 รักษาพระองค์ โดยหลักล้วนเป็นพื้นที่ของเจ้านายอย่างรัชกาลที่ 6 แต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง กายภาพของพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองตามแผนที่ด้านขวา

พิพิธภัณฑ์

ขวา 2490 – พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครที่มีการระบุไว้ในทั้งสองแผนที่ แม้โดยตัวพื้นที่จะคล้ายกันในเรื่องตำแหน่งที่ตั้ง แต่เมื่อมองลึกลงไปในการระบุรายละเอียด (specification) จะพบว่า แผนที่ด้านซ้าย 2475 เขียนว่า “พิพิธภัณฑสถาน” เพราะในช่วงเวลานั้นความคิดว่าด้วยชาติก่อน 2475 ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากนัก

“เพราะว่าไอเดียว่าด้วยเรื่องชาติจริงๆ ก่อน 2457 ไม่ได้เป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากนัก แม้ชาติรัชกาลที่ 6 จะโปรโมทขึ้นมา แต่ชาติความหมายคือตัวกษัตริย์ ชาติคือกษัตริย์ แต่ว่าพอหลัง 2475 มีการเปลี่ยนชาติมาสู่นิยามใหม่ ชาติเป็นอะไรที่อยู่แยกจากตัวสถาบันกษัตริย์ และมีความหมายใกล้เคียงกับตัวประชาชนมากขึ้น คณะราษฎรเป็นกลุ่มที่โปรโมทนี้ใหม่ขึ้นมา 

 ฉะนั้นในแผนที่ชุดหลัง 2475 เราจะเห็นว่ามีการระบุสถานที่ราชการหลายแหล่งด้วยการต่อคำว่า “ชาติ” ลงไปด้านหลังชื่อสถานที่ราชการ เช่น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ชาตรี กล่าว

 

สวนสราญรมย์

ซ้าย 2475 ขวา 2490

สวนสราญรมย์

ซ้าย 2475 – การอ่านทางกายภาพจะเห็นความเปลี่ยนแปลงน้อย พบเพียงอาคารบางหลังที่เปลี่ยนไป แต่เมื่ออ่านลึกลงไปในการระบุรายละเอียดพื้นที่จะพบว่า มีข้อความหลายอย่างที่แผนที่ 2490 ไม่ได้ระบุลงไป เช่นรายละเอียดของประตูวังที่ถูกงดเว้นการใส่ลงไปในแผนที่

“การเรียก “พระราชอุทยานสราญรมย์” ด้วยคำว่า “วังสราญรมย์” ถ้อยคำเหล่านี้สะท้อนความคิดที่อยู่ในหัวคนทำแผนที่ 2 ช่วงนี้ที่แตกต่างกัน” ชาตรี กล่าว

นอกจากนี้ ในแผนที่ 2475 สวนสราญรมย์มีการระบุทางเดินที่แสดงให้เห็นสวนดอกไม้ ขณะที่ในแผนที่ 2490 สราญรมย์กลายเป็นลานเรียบ และในช่วงก่อน 2475 การจัดงานในสวนสราญรมย์จะมีการแบ่งแยกระหว่างพื้นที่ของเจ้านายชั้นสูงและชาวบ้านอย่างชัดเจน

“สวนสราญรมย์ถูกสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 แต่เราอย่าเอาไอเดียของสวนสาธารณะปัจจุบันไปจับ เพราะมันไม่ใช่สวนสาธารณะในความหมายของพื้นที่สาธารณะ มันคือสวนสำหรับอีลีท (Elite) ผู้ดี รองรับเฉพาะเจ้านายชั้นสูง และแขกบ้านแขกเมือง รัชกาลที่ 6 มาจัดงานใหญ่ที่สวนสราญรมย์ เป็นงานรื่นเริงฤดูหนาว เป็นงานประจำปีช่วงปลายปี

การวางผังของการจัดงานฤดูหนาวที่สวนสราญรมย์ของรัชกาลที่ 6 มีการจัดโซน 2 แบบ โซนแรกเรียกว่า “ร้านชั้นสูง” เป็นโซนที่กษัตริย์ เจ้านาย เชื้อพระวงศ์ และผู้ดีมาออกร้าน จะถูกกำหนดอยู่ในรั้วของสวนสราญรมย์ ส่วนอีกโซนที่เป็นของชาวบ้านจะเรียกว่า “สำเพ็ง” (ไม่ใช่ชื่อย่าน แต่สำเพ็งในความหมายว่าอะไรที่บ้านๆ มั่วซั่ว)” ชาตรี กล่าว

 

ด้วยความที่สราญรมย์เป็นสวนผู้ดีในสมัยรัชกาลที่ 5 ถูกออกเหมือนกับสวนผู้ดีในอังกฤษ โดยได้นายเฮนรี่ อาลาบาสเตอร์ นักพฤกษศาสตร์เอาดอกไม้มาจัดสวนให้มีทางเดินเรียงกันแบบผู้ดี เพราะไม่ได้รองรับผู้คนจำนวนมาก แต่หลัง 2475 สวนสราญรมย์กลายเป็นพื้นที่จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ

 

“แต่พอหลัง 2475 สวนสราญรมย์ถูกทำให้เป็นสถานที่จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญที่รองรับผู้คนจำนวนมาก มีการออกร้านที่มากขึ้น กิจกรรมได้เปลี่ยนจากกิจกรรมของผู้ดีมาสู่ระดับชาวบ้าน ฉะนั้นพื้นที่แบบเป็นสวนสวยๆ ทางเดินเล็กๆ มีหย่อมของกล้วยไม้ ดอกไม้ สวยงามอย่างด้านซ้าย (ก่อน 2475) จึงถูกเปลี่ยนเป็นลานเรียบ เพื่อรองรับการรวมตัวของผู้คนที่มากขึ้น

 

สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนตอบรับหรือเข้าร่วมกับกิจกรรมสาธารณะของรัฐบาลคณะราษฎรมาก หลักฐานเอกสารอาจจะไม่ได้พูดถึง การมองจากแผนที่จะช่วยทำให้เห็นภาพของมวลชนหรือผู้คนในระดับสเกลที่ใหญ่ขึ้น” ชาตรี กล่าว

 

การจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญในพื้นที่อื่น นอกจากสวนสราญรมย์

การจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญยังเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นนอกจากสวนสราญรมย์ ถือเป็นการปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ในระบอบใหม่ โดยเปลี่ยนจากพื้นที่ของผู้ดีไปสู่พื้นที่สาธารณะ (public space) อย่างสมบูรณ์หรือใกล้เคียง public space มากขึ้นหลัง 2475 ดูได้จากแผนที่หรือภาพถ่ายที่หลงเหลืออยู่

 

สถาปัตยกรรม

 

ซ้าย “ทวีปัญญาสโมสร” ขวา “สโมสรคณะราษฎร”

งานสถาปัตยกรรมทั้งสองภาพเป็นอาคารที่อยู่ในสวนสราญรมย์ ด้านซ้ายเป็นตึกเรือนกระจกแบบตะวันตกกึ่งๆ คลาสสิก ถูกสร้างขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และถูกใช้เป็นที่ทำการของ “ทวีปัญญาสโมสร” ซึ่งรัชกาลที่ 6 สมัยยังเป็นมกุฎราชกุมารสั่งให้ตั้งขึ้น เพื่อใช้เป็นคลับไฮโซของผู้ดีสยามในพระนครยุคนั้น เป็นพื้นที่รวมตัวทำกิจกรรมทางปัญญา อ่านหนังสือ แลกเปลี่ยนความรู้ และเล่นกีฬาไฮโซ อาทิ ไพ่ฝรั่ง บิลเลียด เทนนิส คริกเก็ต ฯลฯ เหล่านี้เป็นกิจกรรมที่จัดอยู่ในสวนสราญรมย์ก่อน 2475

“ที่ผมยกสราญรมย์ขึ้นมา เพราะมีการพูดถึงกันเยอะในทางประวัติศาสตร์กระแสหลักว่า การทำพื้นที่สาธารณะ ให้ประชาชนเข้าใช้ไม่ใช่เรื่องใหม่ กษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ทำแบบนี้เยอะ หนึ่งในตัวอย่างที่มักจะพูดกันก็คือสราญรมย์ แต่ผมอยากจะชี้ว่ามันไม่ใช่พื้นที่สาธรณะในความหมายแบบนั้น มันเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะที่มีเจ้าของ เพียงแต่เจ้าของอนุญาตให้ public เข้ามาใช้ได้ในบางโอกาส ด้วยเงื่อนไขบางเงื่อนไข ฉะนั้นความหมายของพื้นที่จึงแตกต่างกันมาก” ชาตรี กล่าว  

 

ด้านขวาเป็นอาคารที่สร้างขึ้นหลัง 2475 เรียกว่า “สโมสรคณะราษฎร” ตั้งอยู่ภายในบริเวณของสวนสราญรมย์ จะเห็นได้ว่ามีการต่อสู้กันในทางความหมายระหว่างทวีปัญญาสโมสรของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และสโมสรคณะราษฎรของคณะราษฎรหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยที่สโมสรคณะราษฎรก็ทำกิจกรรมทางความรู้และการศึกษาเช่นเดียวกับทวีปัญญาสโมสร แต่มีลักษณะเป็น public space มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

“รูปร่างหน้าตาของสถาปัตยกรรมก็มีบทสนทนาซึ่งกันและกัน ต่อสู้แข่งขันกัน ในด้านหนึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใช้สถาปัตยกรรมตะวันตกแบบคลาสสิก ขณะที่คณะราษฎรใช้สถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นที่เรียบง่าย แสดงถึงความเป็นสมัยใหม่ ตัวงานสถาปัตยกรรมชิ้นนี้จึงสามารถเอามาอ่านและวิเคราะห์การต่อสู้ทั้งก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้” ชาตรี กล่าว  

 

 

ราชดำเนิน

หลักฐานภาพถ่ายเกี่ยวกับราชดำเนินส่วนใหญ่จะเป็นภาพรัฐพิธีมีขบวนจอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือ ปรีดี พนมยงค์ เดินอยู่ ซึ่งเข้าล็อคชิงสุกก่อนหาบของคำอธิบายในเอการกระแสหลักที่บอกว่าเป็นการเดินขบวนฟาสซิสต์หรือรัฐบังคับประชาชนมาร่วมงาน แต่ถ้ามอง 2475 จากแผนที่จะพบว่าราชดำเนินเป็นพื้นที่ที่เอกชนมาเปิดร้านจำนวนมาก ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับเอกชนคนรากหญ้าที่ไม่ใช่เครือข่ายของผู้ดีก่อน 2475 ได้มีโอกาสลืมตาอ้าปากจริงๆ

ร้านขายเครื่องแต่งกายแบบรัฐนิยมในถนนราชดำเนิน

ตึกหนึ่งในราชดำเนินมีโฆษณาสมัยนั้นเรียกว่า “ห้องอากาศเย็น” หรือห้องแอร์ เป็นที่ตั้งของร้านตัดผม และมี “ห้องอากาศเย็น 1.77” ซึ่งเป็นชื่อแบรนด์โปสเตอร์โปสการ์ดยุคก่อนที่มีไปจนถึงเครื่องสำอางยี่ห้อ 1.77 ที่มาของชื่อแบรนด์ 1.77 มาจากเจ้าของซึ่งเป็นผู้หญิงเคยประกวดนางสาวสยามได้ที่ 1 ใน พ.ศ. 2477 เห็นได้ว่าการประกวดนางสาวสยามก็เป็นงานที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีชื่อเสียงและเอามาต่อยอดทำแบรนด์สินค้าของตนเองได้ แม้จะเป็นห้องเล็กๆ ในตึกถนนราชดำเนิน

 

โปสเตอร์รณรงค์ทางวัฒนธรรม

“หลัง 2475 มีการรณรงค์ทางวัฒนธรรมที่ต้องการจะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตราษฎรในระบอบเก่าให้เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบบใหม่ ผ่านอะไรที่เห็นได้ชัดอย่างการแต่งกายที่ทันสมัย เช่น ต้องใส่หมวก เลิกกินหมาก ใส่รองเท้า ผู้หญิงใส่กระโปรงสุ่ม ผู้ชายใส่สูท ฯลฯ          

มีข้อถกเถียงว่าหลักฐานเหล่านี้มีการใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์มาบ้างแล้ว แต่ในอดีตก่อนที่จะเกิดกระแสคณะราษฎรบูมหลัง พ.ศ. 2557 หลักฐานเหล่านี้มักจะถูกอ่านในฐานะหลักฐานอีกแบบหนึ่งที่บอกว่า จอมพล ป. และคณะราษฎรเป็นฟาสซิสต์ โดยบอกว่าการบังคับใส่หมวก นุ่งกระโปรง เลิกกินหมาก เป็นเผด็จการ           

หลังจากการบูมของกระแสคณะราษฎรหลักฐานเหล่านี้ถูกอ่านใหม่ ในฐานะการปรับราษฎรในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยผ่านแฟชั่นต่างๆ เพื่อให้เกิดจุดตัดที่ชัดเจนระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่” ชาตรี กล่าว

 

ที่เผาศพ

ลานวัดสระเกศ ก่อน 2475

เมื่อมองเข้าไปในแผนที่สิ่งหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในเมืองคือ “การทำศพ” พื้นที่เมืองก่อน 2475 หรือเมืองสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะมีที่ทำศพของราษฎรกระจายตัวอยู่นอกเมือง

“เพราะว่าพื้นที่หรือเมืองในสังคมไทยเป็นลำดับชั้นสูงต่ำ ขอบเขตที่เป็นเมืองกรุงเทพจะห้ามเผาศพโดยเด็ดขาด ยกเว้นกษัตริย์กับเจ้าฟ้า ฉะนั้นคนที่เป็นราษฎรถ้าตายในเมืองต้องรีบขนศพออกนอกเมืองทันที ในประตูเดียวทางทิศตะวันออกเรียกว่า “ประตูผี” แถววัดสระเกศ เราจะเห็นการออกแบบเมืองในระบอบเก่าที่มีการแยกสูงต่ำตามชนชั้น 

ภาพขวาคือภาพของวัดสระเกศที่พอออกนอกเมืองมาก็โยนศพเข้าวัดไปเลย และการเผาศพของคนในอดีตมีเรื่องสูงต่ำรวมอยู่ด้วย หมายหมายความว่าประชาชนธรรมดาต้องเผาด้วยเชิงตะกอน เอาฟืนมาขัดกันและเอาศพวาง ใครมีฟืนแค่ไหนก็เผาแค่นั้น ส่วนที่เหลือก็ทิ้งไว้ เดี๋ยวแร้งมาจัดการต่อ เป็นลักษณะอย่างนี้เรื่อยมา” ชาตรี กล่าว

 

ชาตรีอธิบายเพิ่มเติมในเรื่องการทำศพของราษฎรว่าแท้จริงแล้วเตาเผาสมัยใหม่ที่คล้ายกับเมรุในปัจจุบันเป็นสิ่งที่มีอยู่ตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 5 แล้ว แต่ไม่ถูกนำมาใช้กับราษฎร เนื่องจากเจ้าในสมบูรณาญาสิทธิราชย์รับไม่ได้ที่จะให้มีการใช้พื้นที่เดียวกันเผาศพคนต่างชนชั้น

“มีที่ปรึกษาชาวตะวันตกพยายามเสนอให้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์เอาเตาเผาสมัยใหม่มาใช้ ปรากฎไม่เอา หลักฐานสำคัญที่ยืนยันตรงนี้คือสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีคนสำคัญในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์บอกว่าทำไม่ได้หรอกแบบนั้น การเผาศพของคนไทยเขาไม่นิยมเผาศพในที่เดียวกันในคนที่ต่างชั้นวรรณะกัน คนที่มีวรรณะสูงจะรังเกียจการเผาร่วมกับคนชั้นต่ำกว่า ดังนั้น ไอเดียของการสร้างเมรุที่เผาคนละ 1 – 2 ชั่วโมง แล้วเผาศพใหม่ รับไม่ได้ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะเท่ากับว่าคนหลายชนชั้นใช้พื้นที่เดียวกัน” ชาตรี กล่าว

 

หากจินตนาการตามเมืองก่อน 2475 จะมีกลิ่นเหม็นของศพอบอวลไปหมด “จากบัญชีเท่าที่ผมอ่านมาในช่วงก่อน 2475 มีศพที่รอการเผาแบบเชิงตะกอนอยู่ถึงประมาณ 7,000 กว่าศพ กระจายอยู่ในพื้นที่ 30 กว่าแหล่งทั่วกรุงเทพ” ซึ่งการเผาศพจะต้องเผาในช่วงดึก เนื่องจากเป็นการเผาศพแบบเปิดที่ส่งกลิ่นเหม็น กลิ่นของเมืองเมืองพระนครก่อน 2475 จึงเหม็น ภาพของเมืองเหล่านี้แตกต่างจากประวัติศาสตร์กระแสหลักมักบอกว่ารัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ปรับเมืองไปสู่ความเจริญแบบยุโรป ซึ่งเป็นจริงในแง่การสร้างถนน แต่ก็เป็นถนนสายหลักที่เจ้านายใช้

 

ภาพฌาปนสถานที่ปรีดีเสนอให้สร้าง

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กลิ่นศพของเมืองหายไป เนื่องจากคณะราษฎรมีความคิดที่จะสร้างฌาปนสถานแบบที่เป็นเมรุสมัยใหม่จากกลุ่มของปรีดี พนมยงค์ ออกแบบคล้ายกับตึกโมเดิร์นของตะวันตก โดยวางแผนให้เป็นการสร้างฌาปนสถานนอกวัดที่ตั้งอยู่โดยไม่เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา เพื่อให้เป็นฌาปนสถานสาธารณะของราษฎร มุ่งเน้นให้เป็นเรื่องของการเผาศพโดยตรงที่คำนึงถึงเรื่องกลิ่น สุขภาวะ ความสะอาด ความทันสมัย แม้สุดท้ายไอเดียนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่หลังจากนั้น 4 – 5 ปี ประเทศไทยก็มีเมรุเผาศพแหล่งแรก สร้างขึ้นที่วัดไตรมิตรใน พ.ศ. 2483 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ปัจจุบันคนไทยมีเมรุเผาศพที่มาจากวิธีคิดของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

 

ชาตรีพยายามเชื่อมโยงให้เห็นผลพ่วงจากการเปลี่ยนแปลง 2475 ที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่เมืองที่เคยถูกครอบครองและใช้ประโยชน์โดยกษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูง มาสู่การทำให้เมืองได้กลายเป็นพื้นที่ของราษฎรผ่านสิ่งต่างๆ ที่คณะราษฎรได้ทำไว้ แม้จะไม่ถูกพูดถึงในหลักฐานลายลักษณ์อักษรหรือประวัติศาสตร์กระแสหลัก แต่แผนที่ ภาพถ่าย และงานสถาปัตยกรรม ก็ทำให้ความเปลี่ยนแปลงที่กระจายตัวเป็นวงกว้างโดยคุณูปการของคณะราษฎร

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net