Skip to main content
sharethis

พื้นที่ อบต. หัวไผ่ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี จมน้ำในระดับ 1.5-2 เมตร และจุดที่ระดับนำสูงสุดราว 4 เมตร มาตั้งแต่ ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ รวมเป็นระยะเวลา 1 เดือนเศษแล้ว อบต.ที่นี่ ทำงานฐานข้อมูลภัยพิบัติและเตรียมการจัดการอพยพคนและดูแลผู้ได้รับผลกระทบไว้ก่อนน้ำจะมาถึง พวกเขารู้ว่าโดยภูมิศาสตร์และสถิติแล้วพื้นที่ของพวกเขาน้ำท่วมแน่ๆ จึงเตรียมตัวรับน้ำตั้งแต่ต้นเดือน กันยายนกระทั่งน้ำมาถึงพื้นที่ของเขาในราวกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยชาวบ้านในพื้นที่ มีฉันทามติที่จะทำคันกั้นน้ำจากดินเหนียวเป็นระยะทางยาวกว่า 1,700 เมตร เพื่อสู้กับน้ำ กันพื้นที่ไว้ได้ราวร้อยกว่าไร่ เพื่อรองรับผู้ประสบภัยและเป็นศูนย์บัญชาการ ในการกระจายความช่วยเหลือและเครื่องอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ยังใช้พื้นที่วัดซึ่งตั้งสูงกว่าพื้นที่ทั่วไป อีก 3 แห่ง เป็นจุดรองรับและบริหารจัดการเครื่องอุปโภคบริโภค รองรับประชาชนกว่า 5,000 ชีวิต 1,300 ครัวเรือน อย่างไรก็ตาม คนหัวไผ่ต้องยอมรับว่า น้ำปีนี้มากกว่าปีที่ผ่านๆ มาจริงๆ และพวกเขาพ่ายแพ้ให้กับความแรงของน้ำ ที่มาระลอกหลังสุด วันที่ 13 ต.ค. ทำให้พวกเขาเสียพื้นที่จำนวนหลายร้อยไร่ ให้กับน้ำที่ท่วมขังอยู่ราวๆ 1.20 เมตร เป็นระดับที่ต่ำกว่าน้ำที่ท่วมทุ่งนาและผลผลิตที่กำลังจะเก็บเกี่ยวซึ่งเขาจมพื้นที่หลายพันไร่ใน ต.หัวไผ่ ซึ่งจุดที่สูงสุดของระดับคือ ราว 4 เมตร วันนี้พื้นที่ต.หัวไผ่ ยังเหลือผืนดินให้ประชาชนได้มาร่วมกันใช้ เดินเล่น พูดคุย และทำกิจกรรมเหมือนยามปกติ ราวๆ 4-5 ไร่ พื้นที่เล็กๆ กลับช่วยได้มากในแง่ของสุขภาพทางใจ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่สำหรับการกระจายสิ่งของที่ประชาชนในหัวไผ่ ได้เข้ามารับโดยเสมอหน้ากันในเกือบๆ ทุกวัน ประชาไทลงพื้นที่หัวไผ่ ซึ่งขณะนี้กลายเป็นทะเลน้ำจืดขนาดใหญ่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ระยะทาง 6 กิโลเมตรจากถนนสายเอเชียหากถนนยังใช้การได้ก็คงใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที แต่เมื่อเปลี่ยนมาสู่การโดยสารทางเรือ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทั้งกรมเจ้าท่า และกองทัพ เราใช้เวลาร่วมชั่วโมง เนื่องจากเรือไม่สามารถวิ่งได้เร็วนัก เพราะเกรงกระแสลมและคลื่น เราสอบถามถึงการทำงาน และคำแนะนำในการเตรียมตัวและเตรียมใจสำหรับคนกรุงเทพฯ ซึ่งกำลังต้องเผชิญกับน้ำที่ถูกระบายออกไปจากพื้นที่รับน้ำซึ่งถูกตรึงเอาไว้ในพื้นที่ของพวกเขายาวนานกว่า 1 เดือน ต. หัวไผ่ เตรียมการรับมือกับภาวะน้ำท่วมอย่างไร ปีนี้น้ำมาไวกว่าปกติ พอเรารู้ว่าน้ำน่าจะมาเดือนสิงหาวันที่สิบห้าเราก็เตรียมเรื่องน้ำดื่ม และข้าวสาร เราไปเฝ้าระวังที่ประตูระบายน้ำคลองบางโฉมศรี ไม่ให้พัง และมีการประชุมกันเพื่อปรึกษาหารือ เช่นว่าจะเอาบ้านไว้ไหม เพราะแน่นอนว่า ถ้าน้ำท่วม ที่นาก็ไปแน่ๆ เราประสานงานและช่วยเหลือทาง ต. น้ำตาล ต. อินทร์บุรี เทศบางอินบุรี ท่างาม ชีน้ำร้าย อบต. ในเขต อ. อินทร์บุรีทั้งหมด เพื่อให้เขากรอกทราย ทำพนังกั้นน้ำไม่ให้ผ่านมาหัวไผ่ อีกส่วนหนึ่งเราก็ส่งข่าวเครือข่ายในเขตลพบุรี เช่น มหสร บางขาม เพื่อรวมกำลังกันออกมา เพื่อช่วยป้องกัน แต่พอถึงเวลาจริงๆ หลังจากที่ได้รับข่าวว่าตรงคอสะพานบางโฉมศรีมีปัญหา เราก็ไปดู ก็หวังจะจัดการ แต่ไม่สามารถจัดการได้ ก็ย้อนกลับพื้นที่ ระดมแมคโคร พื้นที่ไหนจะกันไว้ก็บอกมา อบต.ก็จะสนับสนุน แต่ส่วนใหญ่ก็ใช้พลังคนในหมู่บ้านในการป้องกัน ส่วนอบต. ก็เป็นกองหนุนและบริหารในภาพรวม จัดการกับระบบสาธารณูปโภคไว้อย่างไร เรื่องการสาธารณูปโภค เราประชุมกันให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นแกนหลัก การจัดการในหมู่บ้านมีห้าคน ให้ห้าคนกระจายความรับผิดชอบว่าคนหนึ่งดูแลบ้านกี่หลัง อีกส่วนหนึ่งคือให้เบอร์นายก อบต. ไปกันชาวบานให้หมด เพราะเราห่วงการจัดการที่ไม่ทั่วถึง ถ้าประชาชนมีเบอร์โทรศัพท์ของนายกฯ ก็ทำให้เราบริหารได้ง่ายขึ้น อีกทางหนึ่งก็คือมีหอกระจายข่าว แต่น้ำก็มาเร็วกว่าที่คิด รับมืออย่างไร น้ำเข้ามาหัวไผ่ตั้งแต่ 20 สิงหาคม ที่เรารู้ตัว ว่ายังไงก็มาแน่ เราก็ออกไปช่วยเขาที่ ต.บ้านน้ำตาล ช่วยกรอกทราย เรียงกระสอบ แต่ทำได้ไม่นาน ก็หมดโอกาสเพราะน้ำมาถึงบ้านเรา พอมาวันที่ 12-13 ก.ย. คอสะพานบางขุนศรีก็พัง เป็นรูเล็กๆ แต่ทางชลประทานไม่ได้จัดการ ขนาดวันที่จะพังใหญ่ผมรู้เอาบ่ายสองโมง ไปถึงโน่นไม่เกินบ่ายสามโมง ก็คุยกับทางชลประทานว่าใครจะจัดการได้ แมคโครที่มีอยู่ขอใช้ได้ไหม เพราะว่าเป็นแมคโครของชลประทาน เราก็ไปวานให้ อบต. มหศร ขนกระสอบมาเตรียมไว้ พอเราจัดการเสร็จแล้ว เราขอให้เขาสั่งรถแมคโครทำให้หน่อย แต่ไม่มีใครทำ อีกอย่าง การอุดน้ำที่ไปอุดอยู่นั้นก็ไม่ใช่จุดที่จะชะลอนำได้ แต่มีสะพานยาวที่ตรงชัยนาทอีกที่ และ ต.บ้านน้ำตาลอีกที่ อยากบอกหน่วยงานรัฐ ณ วันนี้อยากให้หน่วยงานรัฐต้องพูดความจริงกัน ประตูระบายน้ำตรงไหนอายุนาน และต้องบอกว่าควรจะซ่อมยังไง และไม่ใช่ผิดวัตถุประสงค์ อย่างบางโฉมศรีนั้น มีวัตถุประสงค์ให้ระบายน้ำออกจากคลองเชียงรากสู่เจ้าพระยา ไม่ใช่ระบายน้ำจากเจ้าพระยาสู่เชียงราก ต้องเอาความจริงมานั่งดูกัน ที่ศูนย์บัญชาการตอนนี้ มีการบริหารจัดการอย่างไร ศูนย์บัญชาการขณะนี้รองรับประชาชนอยู่ 93 ครัวเรือน ประมาณ 400 คน การรักษาพื้นที่นี้ได้ ทำให้การจัดการของบริจาคเข้าไปสู่หมู่บ้านได้ สำหรับสิ่งของอุปโภคบริโภคสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ น้ำบริโภคกับข้าวสาร แต่ประชาชนมักจะไม่ค่อยร้องขอ ขณะนี้ ยังรับมือได้อยู่ มีกรณีที่ส่งของหรือดูแลไม่ทั่วถึงหรือไม่ คนตำบลหัวไผ่จะไม่เกรงใจนายก เบอร์ผมจะแปะไว้ที่หน้าอบต. เลย และจะบอกทีมงานไว้ว่าถ้าใครโทรหา ก็ไม่ต้องถามว่าใครเป็นใคร เพราะคนโทรหาผมก็ต้องมีธุระ ชาวบ้านเขาจะกล้าแต่เราก็ไม่ได้จับผิดกัน เช่นสมมติรู้ว่ามีคนไม่ได้ของใช้ นายกก็ต้องชวนผู้ใหญ่บ้านที่รับผิดชอบพื้นที่นั้นๆ ลงไปด้วยกัน ข้อเสนอแนะสำหรับคนกรุงเทพฯในการรับมือกับภาวะน้ำท่วม ก็อยากจะเรียนอย่างนี้ครับว่า สำหรับคนกรุงเทพฯ คงต้องวางระบบกันใหม่ เพราะว่าเป็นชุมชนใหญ่ อย่างหมู่บ้านจัดสรร คงต้องวางระบบกันใหม่ เพื่ออนาคตที่น้ำจะท่วม คงต้องแบ่งช่วงกันดูแล ถ้าอยู่ในเขตเทศบาล เขาจะเรียกว่าประธานชุมชน เทศบาลก็ต้องวางตัวว่า ชุมชนหนึ่งมีกี่ครอบครัว ต้องวางระบบคนดูแลขึ้นมาจะด้วยจิตอาสา หรืองบประมาณชั่วคราวก็ได้ เพราะเทศบาลสามารถว่าจ้างได้อยู่แล้วนะครับ อาจจะกำหนดอัตราส่วนการดูแลหนึ่งต่อสิบหรือหนึ่งต่อยี่สิบ ต้องสร้างลักษณะอย่างนี้ เอาไว้ดูแลคอยกระจายของ เหมือนของผม เรามี 4 จุดในการกระจายของให้ 13 หมู่บ้าน และคนในพื้นที่ซึ่งมีผู้ใหญ่บ้าน 1 คน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2 คน สมาชิก อบต.อีก 2 คนหล่านี้ต้องเปิดโทรศัพท์ตลอด ใครทุกข์ใครร้อน ใครเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ส่งข่าวทันที เราเป็นศูนยกลางก็ต้องรู้ว่าเมื่อส่งข่าวเข้ามาจะบริหารจัดการอย่างไร เรืออยู่ตรงไหน ต้องมาทันที หมายความว่าการบริหารผ่านโทรทัศน์วิทยุโดยรวมจะไม่ค่อยได้ผลหรือ ไม่ได้ผลครับ ผมบอกได้เลย เพราะมันไปไม่ถึง เพราะพอน้ำท่วมจริงๆ ไม่มีใครมาคอยนั่งดูนั่งฟังหรอก ฉะนั้นคนในชุมชนต้องจัดการ สิ่งเหล่านี้ในกรุงเทพฯจะทำอยางไรจึงจะเกิดชุมชนอย่างนี้และแบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดเป็นส่วน อีกอย่างหนึ่งคือต้องประสานกับกรมบรรเทาสาธารณภัย เพราะถ้าเกิดในกรุงเทพฯ ผมเชื่อว่ากรมบรรเทาสาธารณะภัยน่าจะช่วยได้พอสมควรเพราะเป็นกรมหลัก เรื่องเรือเป็นหัวใจหลัก ณ วันนี้เราจะเห็นว่าการอพยพจะร้องขอเรือกันเพื่อจขนคนออกมาเพราะถึงเวลาจริงๆ รถมันใช้ไม่ได้ เรื่องน้ำอาหารต้องเตรียมอย่างไร ต้องเตรียมไว้แต่ต้น พอรู้ว่าน้ำจะเข้า ถามว่า วันนี้กรุงเทพฯเตรียมน้ำไหม อาจจะยังไม่ได้เตรียม อย่างผม พอรู้ว่าน้ำจะเข้า ผมก็เตรียมไว้แล้ว ข้าวสารพร้อมไหม อย่าคิดว่าคนกรุงเทพฯมีข้าวสารพอนะ อีกอย่างหนึ่งถ้าจะดีก็น้ำปลา หุงข้าวร้อนๆ อย่างน้อยก็มีน้ำปลา หรือไม่ก็หุงข้าวแบบโบราณ ทานน้ำข้าว อย่างนี้จะอิ่มกว่า ต้องเตรียมใจอย่างไร อยากฝากพี่น้องประชาชนว่าอยากให้นึกถึงคำว่าศักดิ์ศรี ไม่ว่าน้ำท่วมหรือเกิดอะไรขึ้น ไม่ต้องไปขอใคร เราทำอย่างไรให้ตัวเราสู้ได้ และเราต้องมีใจให้คนอื่นด้วย ไม่ใช่อยู่แบบตัวคนเดียว ไม่เคยสนใจเพื่อนบ้านเลย ต้องเกาะกลุ่มกันไว้ อย่างน้อย 3-5 ครอบครัวต้องเกาะกลุ่มกันไว้บ้านใกล่เรือนเคียง ต้องอย่างนี้ครับ การทำงานของอบต. หัวไผ่ไม่ได้ดำเนินไปอย่างโดดเดี่ยว เพราะมีเครือข่ายองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ให้ความช่วยเหลือกันทั้งในด้านข้อมูล และแรงงาน ในระยะแรกที่น้ำเริ่มเข้าท่วมพื้นที่ ต.หัวไผ่ ประชาไทได้สัมภาษณ์ ผู้ใหญ่โกเมศร์ ทองบุญชู จากเครือข่ายอาสาสมัครช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยพิบัติ นครศรีธรรมราชซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดการภัยพิบัติและพัฒนาระบบอาสาสมัครป้องกันภัยพิบัติมายาวนานหลายปี ได้ขึ้นมาให้ความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. พร้อมด้วยอาสาสมัคร 15 คน ลงและเรือยนต์ 6 ลำ แบ่งภารกิจเป็นสามส่วนคือ สนับสนุนการขนส่ง เช่น รับส่ง ผู้ปวย คนที่ออกไปธุระ สองคือ ขนส่งถุงยังชีพ และส่วนที่สามคือการทำพนังกั้นน้ำให้กับศูนย์บัญชาการ โดยเขาเห็น โมเดลการจัดการกับภัยพิบัติโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่เริ่มตัดสินใจนั้น เป็นโมเดลที่น่าศึกษาและนำไปใช้ในหลายๆ พื้นที่ ทีมอาสาสมัครของผู้ใหญ่ลงไปทำอะไรในพื้นที่บ้าง ภารกิจหลักๆ คือ สองสามเรื่อง ที่ผ่านมามีอาสาสมัคร 15 คน ลงมาตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน เอาเรือมาด้วยพร้อมเครื่องยนต์ 6 ลำ แบ่งภารกิจเป็นสามส่วน คือหนึ่ง เนื่องจากน้ำท่วมหนัก และพื้นที่ที่เราจะต้องประสานงานคือ อบต. และพื้นที่ข้างนอก มีเรือที่รับส่ง ผู้ป่วย คนที่ออกไปธุระ สนับสนุนขนส่งผู้คน มีเรือเร็วด้วย สอง ขนส่งถุงยังชีพ และก็แบ่งเป็นเรื่องถุงเพราะว่าการไปรับถุงยังชีพที่หน่วยงานต่างๆ สนับสนุนมา ส่วนที่สาม เห็นโมเดลของพี่ทวีป เป็นโมเดลหนึ่งที่น่าเรียนรู้ คือการรักษาฐานที่มั่น มีการทำศูนย์บัญชาการ เนื่องจาก 13 หมู่บ้านท่วมหมด เหลือหนึ่งหมู่บ้านที่ยกพนังกั้นขึ้นมา แต่ถ้าเจอน้ำเยอะก็จะรับไม่ไหว เราก็ต้องรักษาให้ได้ ก็เอาเรือไปลากผักตบชวามาปะพนังกันน้ำกั้นลดแรงกระแทกคลื่น ภารกิจหลักๆ มีสามเรื่อง เรื่องเอาผักตบชวามาทำพนังกั้นน้ำเกิดขึ้นมาอย่างไร ผักตบชวา เป็นความคิด ที่เรานึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไร สภาพดินที่เราเห็น เขาใช้ดินตักขึ้นมาไม่มีกระสอบทราย แล้วน้ำเซาะง่าย แต่เมื่อน้ำมาก็เป็นคลื่น ก็ไม่มีอะไรเลยก ต้องเอาผักตบชวา เอามาปะ และสามารถที่จะลดแรกกระแทกได้ อย่างน้อยคลื่นมาปะทะกับผักตบก่อน พวกที่เขาเดินสำรวจ ก็นอนไม่หลับเพราะคลื่นแรงมาก ตื่นเช้าขึ้นมาก็เดินกันเอยะ เส้นทางสองกิโลเศษ เราดูว่าช่วงไหนที่ลมเข้า คลื่นเข้า ก็ยากในการเอาผักตบเข้ามา ต้องเอาเรือสองลำไปช่วยลาก หมู่บ้านที่เหลือไว้เป็นศูนย์ที่ทำการอบต, และมีฐานอพยพ มีอาคารอเนกประสงค์ ตอนนี้ระดับน้ำด้านข้างเลยผมไปไม่กี่เมตร ระดับน้ำสูงประมาณ 1 หนึ่งเมตร ยี่สิบเซ็นติเมตร ถ้าพนังล้มก็จะไม่มีที่อยู่ ต้องพยายามเสริมคันกั้นน้ำไว้ตลอด ไอ้คลื่นนี่มันแปลก เปลี่ยนทิศทาง ต้องคอยสำรวจ ที่นี่มีดินทรายผสมด้วย แต่ถ้าเรามีผักตบมาวาง ตอนนี้คนที่อพยพมาก็เยอะ บางส่วนนอนบ้าน แต่เขามาทำอาหาร เอาเด็กเล็กๆ มาอยู่ที่นี่ คนที่นี่เขาอดทนสูงมาก เพระเขาอยู่ที่บ้านเป็นหลัก น้ำท่วมสองเมตร เขาก็ต่อขึ้นไป จริงๆ คนเขาก็ไม่อยากอยู่ที่ศูนย์อพยพ ถ้าเขามีเพื่อนเขาก็ไปอยู่บ้านเพื่อน ถ้ามีญาติเขาก็ไปอยู่บ้านญาติ เท่าที่มาอยู่ในพื้นที่ ได้เจอกับกรณีฉุกเฉินบ้างหรือไม่ รับมืออย่างไร ไม่มีเหตุฉุกเฉิน ต้องชื่นชมหัวไผ่เพราผู้บริหารที่นี่เข้าใจ เห็นพลังความเข้มแข็งของชุมชน นี่น่าจะเป็นโมเดลใหม่ จุดแข็งอะไรที่เห็นว่าน่าจะเป็นโมเดลได้ ระบบจัดการ ผมเห็นงานช่วยเหลือภัยพิบัติหลายพื้นที่ แต่ระบบการจัดการอย่างถุงยังชีพที่นี่จัดการได้ดีมาก ไม่มีเกะกะเพ่นพ่าน ทั่วถึง ไม่ร้อง ไม่โวยวาย แกนนำชาวบ้านพวกเราก็ไปสนับสนุน และทุกวันที่ลงปฏิบัติการผักตบก็มีคนมาช่วยยี่สิบสามสิบคนเว้นแค่จะมีประชุม สิ่งสำคัญที่สุดที่นี่มีน้ำใจ กระบวนการเรียนรู้ที่ตำบลนี้มีสิ่งน่าจะเป็นโมเดลของการจัดการภัยพิบัติย่อย เป็นการต่อสู้กับภาวะภัยพิบัติโดยท้องถิ่นจริงๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net