อัพเดตสถานการณ์ชุมพร ‘โรงไฟฟ้าบี้–อุตสาหกรรมหนักจี้–เขื่อนจ้อง’

ท่ามกลางแรงผลักดันให้ปักษ์ใต้กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรม ภายใต้ “แผนพัฒนาภาคใต้” วันนี้จังหวัดชุมพรจึงตกอยู่ในสถานการณ์ ‘โรงไฟฟ้าบี้–อุตสาหกรรมหนักจี้–เขื่อนจ้อง’ ตลอดวันที่ 25–27 มกราคม 2555 บรรดารถยนต์ รถตู้ปรับอากาศ รถกระบะ ต่างนำผู้คนพุ่งไต่ถนนขึ้นลงเนินเขาสูง สองข้างทางคละคลุ้งไปด้วยฝุ่นดิน จับต้นกาแฟ ต้นหมาก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ ที่รายเรียงเป็นสีทึมเทา เพื่อร่วมเวทีสมัชชาเครือข่ายจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงานอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 1 ที่บ้านคลองเรือ ตำบลปากทรง อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร นายวน วงษ์ศรีนาค ชาวบ้านคลองเรือ ตำบลปากทรง อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร เล่าว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านใช้ไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งสามารถใช้ไฟฟ้า ดูโทรทัศน์ เสียบตู้เย็น ต่อมามีโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชน ชาวบ้านจึงช่วยกันคนละไม้ละมือเพื่อก่อสร้างเพื่อความมั่นคงในการใช้กระแสไฟฟ้าขนาด 100 กิโลวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนบ้านคลองเรือ สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชน เป็นโครงการที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และมหาวิทยาลัยชีวิตเมืองนครศรีธรรมราช ดำเนินการตามความต้องการของชาวบ้านคลองเรือ ในโครงการการจัดการความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ (ระยะที่ 2) ภายใต้กรอบ “การศึกษาเพื่อการพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือก และโรงไฟฟ้าชุมชน” มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้สนับสนุน ทว่า หากมองตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2553–2573 (PDP 2010) ของกระทรวงพลังงาน ในจังหวัดชุมพร มีโครงการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยอย่างน้อย 2 โครงการ ที่เคยเป็นข่าวครึกโครม เนื่องเพราะเจ้าหน้าที่มวลชนสัมพันธ์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ถูกชาวบ้านอำเภอปะทิวไล่ออกจากจังหวัดชุมพร เมื่อปลายปี 2551 และถูกไล่อีกครั้งที่อำเภอละแม จังหวัดชุมพร เมื่อปลายปี 2553 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีเป้าหมายจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ้านบางจาก บริเวณอ่าวยายไอ๋ หมูที่ 5–6 ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนาดกำลังการผลิต 700–1,000 เมกะวัตต์ 4 เครื่อง รวมกำลังการผลิต 4,000 เมกะวัตต์ รวมตัวป้องกันพื้นที่ การตื่นตัวเฝ้าระวังของชุมชนพื้นที่เป้าหมายสร้างโรงไฟฟ้า นายสุพนัด ดวงกมล ประธานเครือข่ายปะทิวรักษ์ถิ่น เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่ชาวบ้านไล่เจ้าหน้าที่ฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยออกจากพื้นที่ เมื่อปี 2551 ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยคนใดเข้ามาพื้นที่อีกเลย แต่ชาวปะทิวยังคงเฝ้าระวังและสังเกตคนแปลกหน้าที่เข้ามาในพื้นที่ นายสุพนัด ดวงกมล ประธานเครือข่ายปะทิวรักษ์ถิ่น ขณะนี้นายสุพนัด ดวงกมล กับชาวบ้านกำลังผลักดันให้ตำบลชุมโคจัดทำผังตำบล โดยอาศัยช่องทางสภาองค์กรชุมชนตำบลชุมโค ขับเคลื่อนประสานงานกับเทศบาลตำบลชุมโค โดยเชิญนางสาวภารณี สวัสดิรักษ์ ประธานเครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคมมาให้ความรู้ด้านผังเมือง “นอกจากนี้เรายังมีกิจกรรมด้านงานอนุรักษ์ เช่น โครงการอนุรักษ์หอยมือเสือ เก็บข้อมูลที่ชาวบ้านเคยเห็นพะยูนมากินหญ้าทะเลบริเวณชายฝั่งอำเภอปะทิว รวมถึงการบุกเบิกสถานที่รกร้างบริเวณชายทะเลแหลมแท่นให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ” นายสุพนัด บอกถึงแนวทางที่กำลังดำเนินการ ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีแผนจะตั้งที่ตำบลชุมโค และบ้านปากน้ำละแม ตำบลปากน้ำ อำเภอละแม กำลังการผลิตแห่งละ 1,000 เมกะวัตต์ ที่ผ่านมาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 2 แห่ง ถูกต่อต้านอย่างหนัก จนต้องเลื่อนการดำเนินโครงการออกไปอีก 3 ปี ถึงกระนั้น ข้อมูลจากนายวิเวก อมตเวทย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายรักษ์ละแม ยังคงระบุว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร นายวิเวก อมตเวทย์ ตั้งข้อสังเกตว่า อำเภอละแมน่าจะเป็นพื้นที่หลอก เพราะพื้นที่ที่ระบุว่าจะตั้งโรงไฟฟ้า อยู่ที่อำเภอละแม ใกล้กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตชุมพร นายวิเวก อมตเวทย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายรักษ์ละแม “ถ้าพูดกันจริงๆ แล้ว ปากน้ำละแมค่อนข้างกว้าง อาจรวมไปถึงริมฝั่งทะเลอำเภอหลังสวนติดกับอำเภอละแม ไปจนถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานีก็ได้ เพราะปลายปี 2553 ยังมีการสำรวจขุดเจาะดิน ที่ตำบลคันธุลี อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับปากน้ำละแมด้วย” เป็นข้อสังเกตของนายวิเวก อมตเวทย์ ดูเหมือนการเคลื่อนไหวก่อสร้างโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะสอดรับกับการเคลื่อนไหวของกรมชลประทาน เนื่องเพราะที่อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร กรมชลประทานก็พยายามผลักดันโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำท่าแซะ หรืออีกนัยหนึ่งคือเขื่อนท่าแซะ ที่ถูกชาวบ้านต่อต้านมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับการต่อต้านอ่างเก็บน้ำรับร่อ ในอำเภอเดียวกัน จนคณะรัฐมนตรีมีมติให้ยกเลิกอ่างเก็บน้ำรับร่อ และให้ชะลออ่างเก็บน้ำท่าแซะ รถจักรยานยนต์วิบากแล่นไปตามถนนที่คดเคี้ยว ก่อนขึ้นหุบเนินควนอันขรุขระเป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร มายังโรงจักรรีดยางที่บ้านหลังหนึ่ง “มาจากไหน มาทำอะไร ใครส่งมา” พี่ปุ้ม หรือ นางวัชรี จันทร์ช่วง ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ จังหวัดชุมพร พี่ปุ้ม ยิงคำถามหนักๆ และตรงๆ ทันทีที่ผู้มาเยือนย่างกรายเข้ามาในอาณาเขตบ้านตัดผม ตำบลสองพี่น้อง จังหวัดชุมพร และใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมงเพื่อซักถามจนแน่ใจว่าไม่ใช่ฝ่ายตรงข้ามที่มาล้วงข้อมูล ด้วยเพราะที่ผ่านมามีคนของหน่วยงานของราชการ เข้ามาสืบเสาะข้อมูลจากชาวบ้าน ขณะที่กรมชลประทานก็จัดเวทีในตัวจังหวัดชุมพรชี้นำให้สร้างเขื่อนท่าแซะ ชาวบ้านจึงต้องเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา เมื่อการพัฒนาไฟ (ฟ้า) ไปคู่กับน้ำ แล้วโรงงานอุตสาหกรรมจะไปไหนเสีย “อ่างเก็บน้ำรับร่อ และอ่างเก็บน้ำท่าแซะ ทั้ง 2 โครงการผ่านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเมื่อปี 2536–2538 ชาวบ้านจึงหวาดผวา เพราะรัฐบาลจะฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาอีกเมื่อไหร่ก็ได้ ขณะเดียวกันในเวทีจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำคลองท่าตะเภาและภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชุมพร หลายภาคส่วนเสนอให้สร้างอ่างเก็บน้ำท่าแซะอยู่เป็นระยะ ตอนนี้มีการสร้างประตูระบายน้ำคุริงกว่า 7 ร้อยไร่ ดำเนินการไปแล้ว 80 %” ข้อมูลจากนายวิโรจน์ ชูกลาง ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเคลื่อนไหวก่อสร้างอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน สอดรับกับการเคลื่อนไหวก่อสร้างโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ด้วยเพราะทั้งเขื่อนและโรงไฟฟ้า ล้วนแล้วแต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของอุตสาหกรรมหนัก อย่างอุตสาหกรรมเหล็ก โดยเฉพาะน้ำจากอ่างเก็บน้ำ ที่ต้องนำไปใช้ทั้งในโรงงานอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าในปริมาณมหาศาล จึงไม่แปลกที่นางสาวภารนี สวัสดิรักษ์ พบว่าร่างผังเมืองรวมจังหวัดชุมพร พ.ศ. ... มาตราส่วน 1: 250,000 ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเตรียมประกาศพระราชกฤษฎีกาประกาศใช้ ระบุในเอกสารแนบท้ายของร่างผังเมืองรวมฉบับนี้ชนิดชัดเจนยิ่ง “...พื้นที่สีเขียว (พื้นที่เกษตรกรรมในจังหวัดชุมพร) สามารถพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงไฟฟ้าได้” ลำดับที่ 49 โรงงานกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม โรงงานจำพวกที่ 3 สามารถสร้างในที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม พื้นที่อนุรักษ์และเกษตรกรรม ลำดับที่ 59 โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการถลุงเหล็ก ผลิตเหล็ก หรือเหล็กกล้าในขั้นต้น โรงงานจำพวกที่ 3 สามารถสร้างในที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม พื้นที่อนุรักษ์และเกษตรกรรม ลำดับที่ 88 โรงงานผลิต ส่ง หรือจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า โรงงานจำพวกที่ 3 สามารถสร้างในที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม พื้นที่อนุรักษ์และเกษตรกรรม ลำดับที่ 89 โรงงานผลิตก๊าซ ซึ่งมิใช่ก๊าซธรรมชาติ ส่ง หรือจำหน่ายก๊าซ โรงงานจำพวกที่ 3 สามารถสร้างในที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม พื้นที่อนุรักษ์และเกษตรกรรม เหล่านี้คือสภาพที่ดำรงอยู่ ณ จังหวัดชุมพรในยามนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท