Skip to main content
sharethis

รัฐมนตรีช่วยแรงงานพม่าเยือนไทยเพื่อเปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าเพิ่ม 5 พื้นที่ พร้อมหารือผู้บริหาร "พัฒนาซีฟู้ดส์" สนง.ใหญ่ ก่อนแถลงข่าวว่าจะเฝ้าจับตาสถานการณ์ต่อไปและรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ ขณะที่ล่าสุดอุปทูตพม่าเยือนโรงงานที่สงขลา-เยี่ยมบ้านพักคนงานชาวพม่า และเป็นตัวกลางนำข้อเรียกร้องปรับสวัสดิการของแรงงานหารือกับผู้บริหารโรงงานที่สงขลา ก่อนได้ข้อตกลงทั้งสองฝ่าย และเตรียมทำสัญญาจ้างงานฉบับใหม่กับคนงานพม่าต่อไป

นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับนายมิ้นต์ เต่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานพม่า ที่ห้องรับรองกระทรวงแรงงาน เมื่อ 19 เม.ย. เพื่อหารือให้มีการเปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติ 5 แห่งในประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกในการพิสูจน์สัญชาติให้แก่แรงงานจากพม่า (ที่มา: ศูนย์ข่าวสารตลาดแรงงาน จ.ขอนแก่น, กระทรวงแรงงาน)

นายมิ้นต์ เต่ง ระหว่างแถลงข่าวต่อผู้สื่อข่าวสรุปผลการเยือนประเทศไทย เมื่อช่วงเย็นวันที่ 19 เม.ย. ที่ ร.ร.ดุสิตธานี กรุงเทพฯ โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานพม่าเผยว่านอกจากการเจรจากับทางการไทยให้เปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าเพิ่มอีก 5 แห่งแล้ว ยังส่งตัวแทนรัฐบาลไปยังโรงงานพัฒนาซีฟู้ดส์ จ.สงขลา เพื่อสอบถามถึงเหตุประท้วงของแรงงานจากพม่าที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 8 เม.ย. ด้วย โดยนายมิ้นต์ เต่งกล่าวว่า จะเฝ้าจับตาดูสถานการณ์ต่อไปและจะรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างหลังจากนี้ (ที่มา: ประชาไท)

นายมิ้นต์ เต่ง ระหว่างตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ที่แรงงานชาวพม่าและกัมพูชาชุมนุมที่โรงงานพัฒนาซีฟู้ดส์ที่เริ่มเมื่อ 8 เม.ย. โดยนายมิ้นต์ เต่งกล่าวตอนหนึ่งว่า "จะจับตาต่อสถานการณ์นี้ต่อไป และจะดูต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้น"

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (20 เม.ย.) นายเมียว ทิน (Myo Tint) อุปทูตพม่าประจำประเทศไทยและคณะ เดินทางไปที่โรงงานพัฒนาซีฟู้ดส์ อ.เมือง จ.สงขลา เพื่อเยี่ยมและสอบถามสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานชาวพม่า 

ทั้งนี้การเดินทางไปที่ จ.สงขลา ของนักการทูตพม่า เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา พนักงานชาวกัมพูชาและชาวพม่า หลายร้อยคน ที่โรงงานพัฒนาซีฟู้ดส์สงขลา จำกัด ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งประกอบกิจการอาหารทะเลแช่แข็ง และเป็นบริษัทซึ่งส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งให้กับห้างวอลมาร์ทของสหรัฐอเมริกา ได้ชุมนุมภายในโรงงานเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสภาพการจ้างงาน

โดยมีข้อเรียกร้องคือให้โรงงานจ่ายค่าเบี้ยขยัน 600 บาทต่อเดือน และค่าข้าววันละ 20 บาท ตามที่เคยระบุไว้ว่าจะจ่าย และให้ปรับค่าจ้างจากเดิมวันละ 176 บาท เป็น 246 บาท ให้เท่ากับที่มีการประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ จ.สงขลา เมื่อ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา นอกจากนี้พนักงานยังร้องเรียนว่าถูกยึดหนังสือเดินทางด้วย

ล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 16 เม.ย. ผู้จัดการโรงงานแจ้งว่าจะคืนหนังสือเดินทางและบัตรอนุญาตทำงานให้กับพนักงานทุกคน โดยมีการคืนเอกสารดังกล่าวให้กับคนงานทั้งหมดตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 19 เม.ย.

สำหรับวันนี้อุปทูตพม่าได้เป็นตัวกลางรับฟ้งข้อเรียกร้องของแรงงานชาวพม่า และนำไปเจรจากับผู้บริหารของโรงงานพัฒนาซีฟู้ดส์ ประจำ จ.สงขลา โดยผลการเจรจาวันนี้ โรงงานรับจะปรับค่าจ้างจากเดิม 176 บาท เป็น 266 บาท มากกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของ จ.สงขลา ซึ่งอยู่ที่ 246 บาท แต่จะไม่ขอจ่ายค่าข้าววันละ 20 บาท ตามที่พนักงานเรียกร้องเนื่องจากปรับค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปแล้ว

ส่วนค่าขยันที่พนักงานเรียกร้องให้ทางโรงงานจ่ายงวดละ 300 บาทต่อครึ่งเดือน หรือเดือนละ 600 บาท ทางโรงงานได้ขอต่อรองเหลืองวดละ 150 บาทต่อครึ่งเดือน หรือเดือนละ 300 บาท เนื่องจากได้ปรับค่าจ้างแล้ว นอกจากนี้โรงงานยังจะพิจารณาลดค่าน้ำค่าไฟที่หอพักของคนงานที่จากเดิมต้องจ่ายเหมาเดือนละ 300 บาท มาเป็นจ่ายเหมาเดือนละ 150 บาท ทั้งนี้จะมีการทำสัญญาจ้างงานฉบับใหม่ระหว่างนายจ้างกับพนักงานในโรงงานต่อไป

นอกจากการมารับฟังข้อเรียกร้องของแรงงานแล้ว อุปทูตพม่ายังได้เยี่ยมชมสภาพภายในโรงงาน และในช่วงค่ำวันนี้ได้เดินทางไปเยี่ยมที่พักของแรงงานชาวพม่าใน จ.สงขลา ด้วย

ทั้งนี้ การเดินทางไปเยี่ยมแรงงานชาวพม่า ที่โรงงานพัฒนาซีฟู้ดส์ จ.สงขลา เกิดขึ้นในช่วงการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของนายมิ้นต์ เต่ง (Myint Thein) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานของพม่า ระหว่างวันที่ 18-20 เม.ย. นี้ด้วย 

โดยในระหว่างที่มีการแถลงข่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 19 เม.ย. นายมิ้นต์ เต่ง กล่าวว่า ในวันเดียวกับที่มีการแถลงข่าวนี้ เขาได้ไปพบกับผู้บริหารคนหนึ่งของโรงงานพัฒนาซีฟู้ดส์ สำนักงานใหญ่ และมีการพูดคุยกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้นที่โรงงานพัฒนาซีฟู้ดส์ ที่ จ.สงขลา แล้ว โดยฝ่ายผู้บริหารเองก็สอบถามกับทางรัฐมนตรีของพม่าด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่

"เขาไม่รู้ว่าในพื้นที่เกิดอะไรขึ้นแน่ๆ เมื่อฝ่ายเราแจ้งว่าเกิดอะไรขึ้น เขาก็มีความห่วงใยและกังวล และกล่าวว่าเหตุการณ์นี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีก และเขาจะไปดำเนินการโดยเร็ว" นายมิ้นต์ เต่งกล่าว "พวกเราจะเฝ้าจับตาต่อสถานการณ์นี้ จะไม่หยุดเพราะได้ยินคำสัญญาจากเขา เราจะจับตาสถานการณ์นี้ต่อไป และจะดูต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้น"

ทั้งนี้นายมิ้นต์ เต่ง เดินทางเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 18 - 20 เม.ย. เพื่อหารือกับหน่วยงานของไทยได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในเรื่องการเปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานจากพม่าอีก 5 ศูนย์ ได้แก่ในกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรปราการ สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 3 แห่ง ที่เชียงราย ตาก และระนอง โดยตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. นี้ ทางการพม่าได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาพิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าที่ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตที่ศูนย์พิสูจน์สัญชาติใหม่ทั้ง 5 ศูนย์ ศูนย์ละ 8 คน ส่วนฝ่ายไทยจะส่งเจ้าหน้าที่ 20 คนเข้าไปทำงานในแต่ละศูนย์ประกอบด้วย ข้าราชการ 5 คน และพนักงานจ้าง 15 คน

ทั้งนี้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ กำหนดให้พิสูจน์สัญชาติแรงงานทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 14 มิ.ย. 55 และมีรายงานว่าในรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานของพม่าได้ขอฝ่ายไทยขยายระยะเวลาการพิสูจน์สัญชาติออกไป เพราะทางการไทยเพิ่งยอมให้ดำเนินการให้มีศูนย์พิสูจน์สัญชาติใหม่ 5 แห่งในเดือนเมษายนนี้

นอกจากนี้ทางการพม่าจะออกหนังสือเดินทางชนิดใหม่ให้กับบุตรของแรงงานชาวพม่าที่มาทำงานในเมืองไทยด้วย เพื่อให้เด็กเหล่านี้มีเอกสารประจำตัว นอกจากนี้ทางการพม่ายังขอให้ฝ่ายไทย ลดค่าธรรมเนียมการพิสูจน์สัญชาติลงจากเดิม 2,000 บาท เป็น 500 บาท

"พวกผมหวังว่า แรงงานจากพม่าที่ทำงานในประเทศไทยทุกคนแล้วไม่มีเอกสารประจำตัว จะได้มีเอกสารทุกคน จะได้ไม่ถูกข่มเหง" นายมิ้นต์ เต่งกล่าวระหว่างแถลงข่าวกับผู้สื่อข่าว

นอกจากโรงงานพัฒนาซีฟู้ดส์แล้ว ทางรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานของพม่า ยังแจ้งต่อทางการไทยถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่โรงงานวีต้าฟู้ดส์ จ.กาญจนบุรี ที่มีการประท้วงเรียกร้องให้ปรับปรุงสวัสดิการด้วย โดยโรงงานดังกล่าวซึ่งมีคนงานทำงานอยู่ราว 7,000 คน ได้รับการร้องเรียนว่า มีคนงานจำนวนมากที่มาจากพม่าไม่มีเอกสารถูกต้องตามกฎหมายและเข้ามาทำงานโดยผ่านบริษัทนายหน้า โดยพวกเขาต้องจ่ายเงินให้นายหน้าถึง 5,500 บาท สูงกว่าที่รัฐไทยเก็บค่าประกันสุขภาพและตรวจโรคแรงงานจากพม่า ลาว และ กัมพูชา เพียง 3,800 บาทต่อปีเท่านั้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net