Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้วิเคราะห์วิดีโอและภาพยืนยันว่าตำรวจบังกลาเทศใช้อาวุธที่รุนแรงถึงชีวิตและอาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำต่อผู้ชุมนุมประท้วงอย่างมิชอบด้วยกฎหมาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

26 ก.ค. 2567 ทีมสื่อแอมเนสตี้ อินเตอเนชั่นแนล ประเทศไทยแจ้งต่อผู้สื่อข่าวว่า จากรายงานข่าวของสื่อเกี่ยวกับเหตุความรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาชุมนุมประท้วงเกี่ยวกับโควตาสำหรับตำแหน่งงานภาครัฐในประเทศบังกลาเทศ ทำให้มีผู้ถูกจับกุม 2,500 คน ผู้เสียชีวิตเกือบ 200 คน และมีผู้บาดเจ็บหลายพันคน นับตั้งแต่การชุมนุมประท้วงเกิดเหตุรุนแรงเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา และมีรายงานอื่นๆ ระบุว่า 61,000 คนถูกตั้งข้อหาใช้ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ทางการบังกลาเทศยังคงใช้กำลังอย่างมิชอบด้วยกฎหมายกับผู้ชุมนุมที่เป็นนักศึกษา ในช่วง 6 วันที่มีการปิดกั้นการสื่อสาร โดยตัดทั้งสัญญาณอินเทอร์เน็ตและจำกัดการใช้โทรศัพท์ระหว่างการชุมนุมประท้วงทั่วประเทศต่อระบบโควตาสำหรับตำแหน่งงานภาครัฐ พร้อมกับเผยแพร่ส่วนที่สองของการวิเคราะห์หลักฐาน

การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศได้กลับคืนมาเป็นบางส่วนในวันที่ 23 กรกฎาคม หลังจากถูกตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตทั้งหมดเป็นเวลา 6 วัน ท่ามกลางช่วงเวลาที่ผันผวนจากการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วง การใช้กำลังทหาร การประกาศเคอร์ฟิว และการออกคำสั่งยิงผู้ที่ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ข้อมูลที่เผยแพร่ออกนอกประเทศได้อย่างจำกัดเป็นอุปสรรคต่อการติดตามประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในบังกลาเทศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลตอบสนองต่อสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงผ่านการยืนยันและวิเคราะห์หลักฐานที่เป็นวิดีโอและภาพถ่ายที่มีอยู่ โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและ Crisis Evidence Lab ได้ยืนยันวิดีโอของ 3 เหตุการณ์เกี่ยวกับการใช้อาวุธที่รุนแรงถึงชีวิตและอาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำอย่างมิชอบด้วยกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายขณะควบคุมการชุมนุมประท้วง

เดโปรเซ มูเชน ผู้อำนวยการอาวุโส แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า การยืนยันและการวิเคราะห์อย่างต่อเนื่องโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเกี่ยวกับหลักฐานที่เป็นวิดีโอและภาพถ่ายที่ออกมาจากบังกลาเทศทำให้เห็นภาพที่น่าเศร้า รายงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงของรัฐบาลบังกลาเทศและกองพันโจมตีเร็ว (Rapid Action Battalion หรือ RAB) ซึ่งถูกส่งไปควบคุมการชุมนุมประท้วง ไม่ได้ให้ความมั่นใจว่าจะมีคุ้มครองสิทธิของผู้ชุมนุมประท้วงเมื่อไม่มีการตรวจสอบระหว่างประเทศอย่างจริงจัง ในขณะที่ยังคงมีการจำกัดอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารบางส่วน

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐบาลบังกลาเทศและหน่วยงานต่างๆ เคารพสิทธิในการชุมนุมประท้วง ยุติการปราบปรามอย่างรุนแรง และยกเลิกการปิดกั้นการสื่อสารทั้งหมดทันที”

การใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำโดยมิชอบ และไม่มีการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม วิดีโอที่ปรากฏบนโซเชียลมีเดียของผู้ชุมนุมประท้วง ซึ่งต่อมาระบุได้ว่าคือ ชีค อาชาบูล ยามิน นักศึกษาจาก Military Institute of Science and Technology ซึ่งมีรายงานว่าได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตระหว่างการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการชุมนุมประท้วงใกล้สถานีขนส่งในซาวาร์ ใกล้เมืองหลวงธากา

วิดีโอแรกแสดงให้เห็นรถลำเลียงพลหุ้มเกราะ (Armoured Personnel Carrier หรือ APC) กำลังวิ่งไปตามทางหลวงธากา-อริชา โดยมีร่างไร้สติของยามินอยู่ด้านบน วิดีโอชุดที่สองแสดงให้เห็นเจ้าหน้าที่พยายามยกร่างของยามินโดยจับที่แขนในขณะที่เจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งจับที่ขาและดึงร่างของเขาลงจากรถอย่างรุนแรง ส่งผลให้ศีรษะของยามินกระแทกพื้นขณะที่ร่างของเขาตกลงมา วิดีโอสุดท้ายเริ่มต้นด้วยเจ้าหน้าที่สองคนในชุดปราบจลาจลเต็มรูปแบบก้าวออกจาก APC และดูเหมือนกำลังมองลงไปที่ร่างของยามินบนพื้นตรงหน้า ในที่สุดเจ้าหน้าที่ก็ดึงยามินขึ้นจากพื้นแล้วลากร่างของเขาข้ามแนวกั้นกลางถนน ทิ้งเขาไว้ที่อีกด้านหนึ่งข้างเจ้าหน้าที่อีกกลุ่มหนึ่ง ในที่สุด APC ก็วิ่งออกไปโดยทิ้งร่างของยามินไว้บนถนน รายงานข่าวอ้างว่ายามินเสียชีวิตในวันนั้นจากอาการบาดเจ็บ

ในทั้งสามวิดีโอที่ได้รับการยืนยันโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ปรากฏเจ้าหน้าที่ 12 นาย แต่ไม่มีคนใดพยายามให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์กับยามิน ข้อ 5(c) ของหลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย (UN Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials - BPUFF) เป็นกฎบัตรสากลที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังของตำรวจ กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องให้ความช่วยเหลือและความช่วยเหลือทางการแพทย์กับผู้ได้รับบาดเจ็บหรือได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด

เดอร์ริก พาวเดอร์ นักนิติพยาธิวิทยาอิสระซึ่งตรวจสอบหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายของบาดแผลที่หน้าอกของยามินได้กล่าวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่าสาเหตุของการเสียชีวิตของเขาอาจสันนิษฐานได้อย่างสมเหตุสมผลว่าเกิดจากการบาดเจ็บจากกระสุนลูกปรายที่หน้าอกด้านหน้าซ้ายซึ่งมองเห็นได้บนร่างกายของเขา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพิจารณาว่าการใช้กระสุนลูกปรายนั้นไม่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการบังคับใช้กฎหมาย และไม่ควรใช้ในการควบคุมการชุมนุมประท้วง

การใช้แก๊สน้ำตาที่เป็นอันตราย

ในวิดีโออื่นที่โพสต์เมื่อวันที่18 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่คนหนึ่งยิงแก๊สน้ำตาผ่านประตูที่ปิดอยู่ที่มหาวิทยาลัย BRAC ในธากา ซึ่งเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นนักศึกษา วิดีโอที่ถ่ายจากภายในมหาวิทยาลัยแสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นนักศึกษารวมตัวกันอยู่ที่อีกด้านหนึ่งของลานปิดขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจบังกลาเทศยิงใส่ฝูงชนผ่านประตูมหาวิทยาลัย

ในวิดีโอเหล่านี้ ซึ่งยืนยันโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจถือเป็นการใช้กำลังที่มิชอบด้วยกฎหมายและเกินกว่าเหตุอย่างชัดเจน การบังคับใช้กฎหมายจะต้องไม่ยิงแก๊สน้ำตาเข้าไปในพื้นที่ปิดโดยไม่มีหนทางที่ชัดเจนในการหลบหนีจากผลของสารเคมีระคายเคือง รายงานข่าวท้องถิ่นอ้างว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 30 คนจากการใช้แก๊สน้ำตาในวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย BRAC

การใช้อาวุธปืนที่รุนแรงถึงชีวิต

คลิปวิดีโอที่เผยแพร่บนโซเชียลมีเดียตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม เผยให้เห็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งยิงปืนไรเฟิลจู่โจมรูปแบบ AK ในระหว่างการชุมนุมประท้วง วิดีโอความยาว 7 วินาทีที่ยืนยันโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้บันทึกจากหน้าธนาคารแห่งหนึ่งบนถนน DIT ในย่านรามปุระของเมืองธากา แสดงให้เห็นเจ้าหน้าที่หลายคนซึ่งเป็นตำรวจบังกลาเทศและกองกำลังป้องกันชายแดนบังกลาเทศยืนอยู่ข้าง APC เจ้าหน้าที่คนหนึ่งหันปืนไรเฟิลจู่โจมไทป์ 56-1 ของจีนไปยังเป้าหมายนอกจอและยิงออกไป 2 นัด

อาวุธปืนไม่ใช่เครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับการควบคุมการชุมนุมประท้วง โดยต้องใช้เมื่อมีความจำเป็นในการเผชิญกับภัยคุกคามที่ถึงชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัสเท่านั้น

ในอีกวิดีโอหนึ่งซึ่งบันทึกในย่านรามปุระเช่นกันเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมหรือก่อนหน้านั้น มีผู้เห็นตำรวจในชุดปราบจลาจลเต็มรูปแบบเคลื่อนที่ไปตามถนนข้าง APC โดยมีปืนลูกซองขนาด 12 เกจและเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 37/38 มม. เจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนยิงปืนลูกซองหลายนัดใส่เป้าหมายนอกจอ

“ทางการต้องยกเลิกคำสั่งยิงผู้ที่ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวโดยทันที นำสัญญาณอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศกลับคืนมา และยุติการใช้กองทัพและกองกำลังกึ่งทหารในการควบคุมการชุมนุมประท้วง ต้องประกันว่าคำสั่งยิงผู้ที่ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวและการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตจะไม่ถูกนำมาใช้ในอนาคต มาตรการปราบปรามเหล่านี้เป็นความพยายามโดยเจตนาที่จะปราบปรามทั้งการชุมนุมประท้วงเหล่านี้และความเห็นต่างๆ ในอนาคต”

“ต้องมีการสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งหมดที่กระทำโดยกองกำลังความมั่นคงอย่างเป็นอิสระและเป็นกลาง รวมถึงการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมจำนวนมาก และจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อนำผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมารับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหยื่อของการใช้กำลังโดยมิชอบด้วยกฎหมายของตำรวจ รวมถึงผู้ได้รับบาดเจ็บและสมาชิกในครอบครัวของผู้เสียชีวิต จะต้องได้รับการเยียวยาจากรัฐด้วย” เดโปรเซ มูเชนกล่าว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net