Skip to main content
sharethis

ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา “คดีตากใบ” ในวันที่ 23 ส.ค. 2567 เวลา 09.00 น. เพื่อตัดสินว่าคดีมีมูลและสั่งประทับรับฟ้อง หรือว่าจะพิพากษายกฟ้อง หลังเหตุการณ์ผ่านมาเกือบ 20 ปี

 

26 ก.ค. 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมรายงาน เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.578/2567 ศาลจังหวัดนราธิวาสไต่สวนมูลฟ้อง พยาน 2 ปาก โดยจำเลยทั้ง 9 คนแต่งทนายความมาถามค้านครบทุกคน ทนายความโจทก์แถลงหมดพยาน ศาลยกเลิกนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 26 ก.ค. 2567 และนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในวันที่ 23 ส.ค. 2567 เวลา 09.00 น. เพื่อตัดสินว่าคดีมีมูลและประทับรับฟ้อง หรือว่าจะพิพากษายกฟ้อง

การไต่สวนพยานเป็นนัดต่อเนื่องจากการไต่พยานปากแรกเมื่อวันที่ 24 และ 25 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมาซึ่งศาลมีคำสั่งเลื่อนการไต่พยานอีก 2 ปากมาเดือนนี้

ในคดีตากใบนี้ผู้เสียหาย ได้แก่ ครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้ได้บาดเจ็บ จากเหตุการณ์ตากใบ เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมหน้าสภ.ตากใบเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

ในนัดนี้ วันที่ 19 ก.ค. 2567 เวลา 10.00 น. ศาลได้เริ่มการไต่สวนพยานโดยมีทนายความโจทก์ ทนายความจำเลย โจทก์ ผู้สังเกตการณ์ รวมถึงกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส. นราธิวาส พรรคประชาชาติ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร  และส.ส. รอมฎอน ปันจอร์ พรรคก้าวไกล พร้อมคณะ เข้าร่วมสังเกตการณ์

จำเลยทั้ง 9 คนทราบนัดโดยชอบแล้วแต่ไม่ได้มาร่วมการไต่สวน โดยได้แต่งทนายความเข้ามาในคดีและทนายความของจำเลยทุกคนมาครบในนัดนี้ ในขณะที่จำเลยที่ 8 และ 9 (จำเลยที่ 8 รองผอ.สสส.จชต. หรือกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น และจำเลยที่ 9 ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสในขณะนั้น) มีพนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาสเป็นทนายจำเลยว่าความในคดีนี้

ช่วงเช้าเป็นการไต่สวนพยานโจทก์ปากที่ 2 ลูกสาวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ เสร็จสิ้นการไต่ในเวลา 12.40 น.  ต่อมาช่วงบ่ายเวลา 14.00 น. ศาลไต่สวนพยานโจทก์ปากที่ 3 ผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบ ก่อนจะเสร็จสิ้นการไต่พยานปากสุดท้ายนี้ในเวลา 17.30 น.

ทนายโจทก์แถลงหลังเสร็จสิ้นการไต่สวนว่า “คดีนี้ใกล้ขาดอายุความ โจทก์ทั้งสี่สิบแปดและชาวบ้านได้รับผลกระทบจากมูลคดีนี้ต้องทุกข์ทรมานและรอคอยความยุติธรรมมาเป็นเวลานานเกือบ 20 ปี ประสงค์ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งหรือคำพิพากษาโดยเร็ว”

ในขณะที่ทนายจำเลยแถลงยอมรับว่า “จำเลยแต่ละคนต้องถูกสังคมประณามตลอดมาว่าเป็นผู้กระทำผิด โดยที่ยังไม่ได้มีคำพิพากษาของศาล หากศาลจะพิจารณามีคำสั่งหรือคำพิพากษาโดยเร็วย่อมเป็นประโยชน์ต่อการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของฝ่ายจำเลย”

ศาลบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาว่าคู่ความและผู้ที่มาฟังการพิจารณาคดีให้ทราบเกี่ยวกับระยะเวลาในการทำคำสั่งหรือคำพิพากษาว่า เนื่องจากคดีนี้เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน มีผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้ได้รับผลกระทบหลายฝ่ายเป็นจำนวนมาก พฤติการณ์แห่งคดีเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ปัญหาความรุนแรง และกระบวนการสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประเด็นเปราะบาง ประกอบกับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 182 วรรคสอง การไต่สวนมูลฟ้อง ศาลควรทำคำสั่งหรือคำพิพากษาภายใน 3 วันนับแต่วันไต่สวนพยานเสร็จสิ้น และตามข้อแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการไต่สวนมูลฟ้อง พ.ศ. 2562 ข้อ 6 ที่ให้คำนึงการไต่สวนมูลฟ้องให้เสร็จโดยรวดเร็ว  โดยคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่คู่ความหากคดีมีความล่าช้า

อย่างไรก็ตาม คดีนี้มีระเบียบสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ว่าด้วยการรายงานคดี การตรวจสำนวนคดี และการแจ้งผลการอ่านคำพิพากษาในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 พ.ศ. 2566 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามาตรา 14 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ที่ผู้พิพากษาต้องส่งร่างหรือคำพิพากษาและสำนวนคดี ให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ตรวจก่อน ไม่น้อยกว่า 15 วัน   ศาลได้เสนอแนวทางต่ออธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 แล้วว่าเพื่อความรวดเร็วในการนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาชั้นไต่สวนมูลฟ้อง จะขอรายงานและรับคำปรึกษาจากอธิบดีฯ โดยวิธีทางโทรศัพท์ โดยไม่ต้องส่งสำนวนคดีไปยังอธิบดีฯ และอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาให้คู่ความฟังภายใน 3 วัน แต่ได้รับคำตอบจากทางอธิบดีฯ ว่าให้ส่งทั้งสำนวนไปให้อธิบดีฯ พิจารณาไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่ศาลก็ได้หารือถึงจำนวนวันอีกครั้งจนที่สุดได้ข้อยุติว่าต้องส่งคำสั่งหรือคำพิพากษาและสำนวนคดีให้อธิบดีพิจารณาฯ ไม่น้อยกว่า 20 วัน นับแต่วันที่ศาลผู้รับผิดชอบคดีร่างคำสั่งหรือคำพิพากษาของตนเสร็จแล้ว และส่งสำนวนไปยังอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ก่อนตามระเบียบ ในเรื่องนี้ทนายโจทก์ที่ 1-48 ได้แถลงขอให้งดการส่งสำนวนและคำสั่งของศาลจังหวัดนราธิวาสให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ตรวจเพราะจะทำให้คดีล่าช้า และรองอธิบดีฯ ก็นั่งรับฟังการพิจารณาตลอดทุกนัดแล้ว

นอกจากนี้ ศาลยืนยันว่า ในส่วนการพิจารณาเนื้อหาคดีและการทำคำสั่งหรือคำพิพากษาคดีนั้น ศาลมีอิสระตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 188 วรรคสอง ในการพิจารณาพิพากษาคดี  ซึ่งพิจารณาตามพยานหลักฐานในสำนวน และยึดถือประมวลกฎหมายและประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ด้วยความรวดเร็ว เป็นธรรม ปราศจากอคติทั้งปวง จึงนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในวันที่ 23 ส.ค. 2567 เวลา 09.00 น.

ส.ส. รอมฎอน ปันจอร์ พรรคก้าวไกล ผู้สังเกตการณ์ ได้แถลงหลังเสร็จสิ้นการพิจารณาคดีว่า “ได้ร่วมฟังการพิจารณาคดีมาตั้งแต่ช่วงเช้า เข้าใจกระบวนการพิจารณาในศาลดี และมีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของศาลไทย โดยจะขอเฝ้าติดตามความคืบหน้าคดีต่อไป และแถลงเพิ่มเติมว่า ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย แต่มั่นใจว่ากระบวนการยุติธรรมจะยังสามารถดำเนินต่อไปได้”

ส่วนสำนวนคดีอาญาที่ตำรวจดำเนินการมานานกว่า 19 ปี ไม่มีความคืบหน้า จนกระทั่งญาติผู้เสียชีวิต และได้รับผู้บาดเจ็บ จากเหตุการณ์ตากใบต้องเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญาเองเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2567 นั้น ปรากฏว่าในวันเดียวกันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้มีหนังสือที่ ตช.0011.22/1438 ลงวันที่ 25 เม.ย. 2567 ส่งสำนวนคดีอาญาที่ 13/2567 ของ สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี จำนวน 4 แฟ้ม พร้อมสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพ จำนวน 4 แฟ้ม ไปยังอัยการสูงสุด โดยในหนังสือดังกล่าวได้แจ้งอัยการสูงสุด สรุปได้ว่า พนักงานสอบสวนของ สตช. มีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นผู้ต้องหาทั้ง 8 คน

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2567ตัวแทนญาติผู้เสียชีวิตกรณีตากใบ ได้มีหนังสือขอความเป็นธรรมไปยังอัยการสูงสุดว่า การที่ทาง สตช.ได้มีหนังสือส่งสำนวนคดีอาญาพร้อมความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวมายังอัยการสูงสุดนั้น ถือว่าเป็นการดำเนินคดีที่ล่าช้ามากและไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ใช้เวลานานกว่า 19 ปี จนคดีใกล้จะหมดอายุความในเวลาอีก 6 เดือนเท่านั้น จึงขอให้อัยการสูงสุดแจ้งความคืบหน้าว่าทางพนักงานอัยการได้ดำเนินคดีอาญาดังกล่าวถึงขั้นตอนใดและมีกำหนดจะยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำความผิดหรือไม่ พร้อมทั้งขอให้อัยการสูงสุดเร่งรัดดำเนินคดีก่อนขาดอายุความด้วย

เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2567 ตัวแทนครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ ได้รับหนังสือ อส.0031.3/348 ตอบกลับมาจากสำนักงานคดีอัยการสูงสุด ระบุว่า “อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วได้มีคำสั่งยุติเรื่องขอความเป็นธรรม” โดยไม่มีเหตุผลใด ๆ อธิบายประกอบคำตอบดังกล่าวเลย จึงสร้างความประหลาดใจในคำตอบลักษณะนี้ทั้งกับญาติผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ และชาวบ้านโดยทั่วไปที่ติดตามข่าว ตลอดจนทีมทนายความ  ดังนั้นแม้คดีอาญาจะหมดอายุความในอีก 3 เดือน(25 ต.ค. 2567) แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังคงไม่มีความคืบหน้าว่าทางภาครัฐจะดำเนินการอย่างไรต่อไปกับคดีอาญาดังกล่าวซึ่งเป็นเรื่องอาญาแผ่นดิน เป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐต้องดำเนินคดี โดยปัจจุบันสำนวนคดีอยู่ที่อัยการสูงสุดแล้ว

คดีนี้ โจทก์ทั้ง 48 คน ประกอบด้วย ลำดับที่ 1-34 เป็นผู้ที่เสียชีวิตจากอาวุธปืนทันทีที่หน้าโรงพักตากใบ 2 คน และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน รวม3 คน และที่เสียชีวิตจากการขนย้ายรวม 31 คน  ลำดับที่ 35-48 เป็นผู้ได้รับบาดเจ็บ  ได้ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 9 คน ทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ และฝ่ายปกครอง ประกอบด้วย จำเลยที่ 1 อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น จำเลยที่ 2 อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น จำเลยที่ 3 อดีตผู้บัญชาการพล. ร. 5 ในขณะนั้น จำเลยที่ 4 อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า จำเลยที่ 5 อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 จำเลยที่ 6 อดีตผู้กำกับสภอ. ตากใบในขณะนั้น จำเลยที่ 7 อดีตรองผู้กำกับสภอ.ตากใบในเวลานั้น จำเลยที่ 8 รองผอ.สสส.จชต. หรือกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น และจำเลยที่ 9 ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสในขณะเกิดเหตุ ในข้อหาร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ข้อหา ฆ่าผู้อื่น โดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย ตามมาตรา 288 และ289 (5) ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพฯ ตามมาตรา 309 หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามมาตรา 310

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอเชิญชวนให้สื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจร่วมติดตามการดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญากรณีเหตุการณ์ตากใบต่อไปอย่างใกล้ชิด ให้มั่นใจว่าจะมีการค้นหาความจริงและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพื่อให้ผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับความยุติธรรมและได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม กรณีตากใบส่งผลอย่างมากต่อปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้ที่ยืดเยื้อมาตลอดกว่า20 ปี และการฟ้องคดีอาญาในครั้งนี้จะมีความสำคัญยิ่งต่อทิศทางกระบวนการสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

คดีนี้เป็นการทำงานร่วมกันของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความ

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net