Skip to main content
sharethis

เมื่อเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา (21-22 ก.ค.67) พิพิธภัณฑ์สามัญชน ร่วมกับ Thumb Rights และ DAYBREAKER NETWORK ร่วมกันจัดนิทรรศการ “The Letter : คนในส่งออก คนนอกส่งเข้า” นำจดหมายที่ผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองและญาติสนิทมิตรสหายและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่อาจไม่รู้จักกันเขียนถึงกันมาจัดแสดง และในงานยังมีทั้งทนายความสายเยี่ยมที่คอยเข้าไปเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำเพื่อรับส่งข่าวกับคนข้างนอกและเพื่อนของผู้ต้องขังมาเล่าเรื่องราวการเขียนจดหมายหากันด้วย

จดหมายที่ส่งถึงผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ยังอยู่ในเรือนจำขณะนี้

เมื่อ 21 ก.ค.2567 ที่ผ่านมา Kinjai Contemporary มีนิทรรศการ “The Letter : คนในส่งออก คนนอกส่งเข้า” ที่ร่วมกันจัดโดยพิพิธภัณฑ์สามัญชน ร่วมกับ Thumb Rights และ DAYBREAKER NETWORK  โดยนำจดหมายที่ผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองและญาติสนิทมิตรสหายและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่อาจไม่รู้จักกันเขียนถึงกันมาจัดแสดง และในงานยังมีทั้งทนายความสายเยี่ยมที่คอยเข้าไปเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำเพื่อรับส่งข่าวกับคนข้างนอกและเพื่อนของผู้ต้องขังมาเล่าเรื่องราวการเขียนจดหมายหากันด้วย

ทนายปูเล ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เล่าว่าได้เป็น “ทนายสายเยี่ยม” เพราะต้องไปเยี่ยมผู้ต้องขังคดีการเมืองในเรือนจำที่ต้องเข้าไปเพราะการแสดงออกของพวกเขา ซึ่งเธอเองที่อยู่ข้างนอกก็รู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้รับความยุติธรรมแล้วสำหรับคนในนั้นก็น่าจะรู้สึกแย่กว่าอีก การมีทนายสายเยี่ยมขึ้นมาส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นกำลังใจ อัพเดตความคืบหน้าทางคดีและความเคลื่อนไหวข้างนอกให้พวกเขาทราบด้วย

ปูเลบอกว่าเธอเริ่มเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังคดีการเมืองมาตั้งแต่ช่วงปี 2565 ทั้งคดีของกลุ่ม 4 ขุนพลทะลุแก๊ซ เก็ท โมกหลวงริมน้ำ อัญชัน ปรีเลิศ และอีกหลายคน ซึ่งก็มีทั้งกลุ่มที่เป็นนักกิจกรรมอยู่แล้วกลุ่มนี้ก็จะค่อนข้างรับมือกับสิ่งที่เจอได้ดีกว่าเพราะรู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่กับคนธรรมดาที่ต้องเข้าไปแบบวารุณี(คดีโพสต์เฟซบุ๊ก) ก็จะมีความกังวลเรื่องงาน เรื่องที่บ้านที่จะได้รับผลกระทบจากการขาดงานหรือจะมีคนดูแลหรือไม่ กลุ่มหลังนี้สำหรับเธอเองการจะเข้าไปพบก็ต้องเตรียมตัวเตรียมข้อมูลจากคนในครอบครัวของพวกเขาไว้ และเตรียมใจที่จะต้องไปเจอผู้ต้องขังนั่งร้องไห้พร้อมรับอารมณ์ของพวกเขาด้วย

ทนายปูเลยังเล่าด้วยว่า ขั้นตอนการเข้าเยี่ยมในเรือนจำสำหรับคนทั่วไปที่จะเข้าไปเยี่ยม จะต้องให้ผู้ต้องขังใส่ชื่อคนข้างนอกที่จะเข้าเยี่ยมแจ้งยืนยันกับเรือนจำจำกัดอยู่ที่ 10 รายชื่อแล้วญาติก็ต้องยื่นบัตรประชาชนเข้าไป แล้วก็มีเวลาในการเยี่ยมจำกัดโดยฝั่งชายจะได้ 20 นาที ฝั่งหญิงได้ 15 นาที แล้วกฎเกณฑ์ของฝั่งหญิงฝั่งชายไปจนถึงโรงพยาบาลเรือนจำก็มีกฎเกณฑ์ต่างกันแม้ว่าจะอยู่ในรั้วเดียวกัน

ทนายปูเล

ส่วนทนายความแม้เรือนจำจะไม่จำกัดเวลาพบลูกความเนื่องจากการได้รับคำปรึกษาทางคดีเป็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของจำเลย แต่เพราะจำนวนห้องเยี่ยมมีจำกัดก็ต้องจัดสรรเวลาแบ่งกับทนายความคนอื่นที่จะมาพบลูกความของตัวเองหรือบางครั้งถ้าผู้ต้องขังไปออกศาลมาก็จะถูกกักตัวทำให้มาห้องเยี่ยมไม่ได้ต้องไปใช้ห้องที่ติดโทรศัพท์ไว้ให้คุยกันแทนบางแดนก็มีจอให้คุยเห็นหน้ากันบางแดนก็ไม่มีต้องฟังจากเสียงอย่างเดียว ก็ทำให้การเตรียมตัวต่อสู้คดีของจำเลยทำได้ไม่เต็มที่เหมือนอยู่ข้างนอก

ทนายบอกเล่าถึงความรู้สึกของคนในเรือนจำว่าพวกเขารู้สึกว่าชีวิตในเรือนจำวนซ้ำไปมาไม่ค่อยมีอะไรให้ทำ และในกรณีที่เป็นเรือนจำคลองเปรม(คดีนักโทษเด็ดขาด) ก็จะมีกิจกรรมน้อยลงไปอีกจากที่เรือนจำฝั่งพิเศษกรุงเทพที่ไม่ค่อยมีอะไรให้ทำอยู่แล้ว อย่างเช่น แม็กกี้ ผู้ต้องขังคดีม.112 จากการโพสต์เฟซบุ๊กที่ถูกตัดสินโทษมา 50 ปี แล้วศาลลดให้เหลือ 25 ปี ก็ทำให้เป็นเรื่องต้องมาคิดแล้วว่าจะใช้ชีวิตในเรือนจำต่อไปอย่างไร

แม้กระทั่งการส่งหนังสือเข้าในเรือนจำก็ยังเป็นเรื่องยาก ทนายความบอกว่าข้อจำกัดการส่งหนังสือให้ผู้ต้องขังอ่าน ผู้ต้องขัง 1 คน มีโควตาแค่เดือนละ 1 เล่มถ้ามีคนส่งให้แล้วหนึ่งเล่ม คนอื่นก็ส่งเข้าไปไม่ได้ อย่างล่าสุดจะส่งหนังสือเกี่ยวกับโหราศาสตร์ให้กับอัญชันที่กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ก็ส่งให้ไม่ได้ ทางเรือนจำก็แจ้งมาว่าหนังสือในห้องสมุดเต็มแล้ว หรือ กรณีของเก็ท โสภณ ก็เคยต้องเก็บหนังสือนิยายเล่มบางๆ ไว้อ่านไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นเรือนจำคลองเปรมก็จะส่งหนังสือเข้าไปไม่ได้เลย ส่วนถ้าเป็นของทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์ก็ให้ 3 เล่ม กฎเกณฑ์ต่างกันโดยสิ้นเชิงแม้ว่าทั้งเรือนจำหญิง เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เรือนจำคลองเปรม และโรงพยาบาลราชทัณฑ์จะอยู่ในรั้วเดียวกัน

รายชื่อผู้ต้องขังและเป็นซองสำหรับให้ผู้ชมนิทรรศการฝากจดหมายถึงผู้ต้องขัง

ปูเลบอกว่า จดหมายจากคนข้างนอกถือเป็นกำลังใจสำหรับผู้ต้องขังมาก ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องขังที่เป็นนักกิจกรรมหรือ คนธรรมดาการได้รู้ว่าคนข้างนอกยังพูดถึงพวกเขาอยู่จึงมีผลทางจิตใจของพวกเขามาก แต่ด้วยข้อจำกัดการส่งจดหมายเข้าออกเรือนจำทำให้ทนายความมีอีกหน้าที่คือ การรับฝากอ่านจดหมายทั้งจากคนนอกและคนในด้วย

ทนายความบอกด้วยว่าการจะส่งจดหมายเข้าออกเรือนจำก็ยังเจอกับกฎระเบียบของทางเรือนจำและแต่ละเรือนจำก็ยังแตกต่างแม้ว่าจะมีเกณฑ์ของราชทัณฑ์ออกมา และกรณีของผู้ต้องขังคดีการเมือง ในกรณีส่งเข้าไปหาผู้ต้องขังบางครั้งมีการส่งไปแล้วเป็นสัปดาห์แต่พอได้เข้าไปเยี่ยมก็ได้ทราบว่าเจ้าตัวยังไม่ได้รับ หรือบางครั้งผู้ต้องขังส่งจดหมายออกไม่ได้เพราะเนื้อหาในจดหมายอย่างการเขียนเลข 112 ในช่วงที่บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม เพิ่งเสียชีวิต

“ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลยถ้าข้อความที่เขียนไปถึงมือเขา มันเป็นกำลังใจให้เขามาก เขารู้สึกว่ามันเหมือนแสงเทียนในจุดที่มืดมิดที่สุด” ปูเลบอกว่าจดหมายที่ส่งเข้าไปสำหรับผู้ต้องขังแล้วมีค่ามากบางคนเก็บติดตัวไว้ตลอดแม้กระทั่งตอนนอน และช่วงเวลาที่ทางเรือนจำแจกจดหมายก็เป็นช่วงเวลาการรอที่ตื่นเต้นสำหรับพวกเขาแล้ว บางคนก็เอาไปอวดเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกันทำให้พวกเขามีความสุขมีกำลังใจที่จะสู้ต่อ

ส่วนความรู้สึกของตัวเธอเองที่มาเป็นทนายสายเยี่ยมก็เจอเรื่องที่ทำให้รู้สึกจิตตกบ้าง แต่ในขณะเดียวกันคนในเรือนจำก็เป็นเหมือนกำลังใจให้กับเธอด้วย เพราะเมื่อพวกเขาอยู่ในเรือนจำบางคนก็ยังสู้โดยใช้ร่างกายตัวเองทั้งการอดอาหารหรืออดนอนบ้าง มันก็ทำให้รู้สึกมีความหวังว่าขนาดพวกเขาที่ถูกคุมขังเจอความลำบากก็ยังสู้เลย พวกเขาใช้สิ่งสุดท้ายของเขาในการทำให้คนข้างนอกเห็นความสำคัญทั้งการนิรโทษกรรมหรือเรื่องสิทธิประกันตัว และพวกเขายังมีความหวังในการออกมาใช้ชีวิตตามปกติได้

อั๋น อมรินทร์ (ซ้าย) และ จิณห์วรา ช่วยโชติ (กลาง)

จิณห์วรา ช่วยโชติ เจ้าหน้าที่รณรงค์จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เล่าว่าเริ่มแคมเปญปล่อยเพื่อนเรา มาตั้งแต่ป 2564 เพื่อรวมจดหมายนำส่งให้กับเพื่อนในเรือนจำทั้งการออกไปตั้งโต๊ะให้คนทั่วไปเขียนจดหมายถึงมีทั้งการไปที่เรือนจำเลย บ้างก็ฝากทนายความไป แคมเปญนี้ก็เป็นการใช้เครื่องมือการเขียนเพื่อให้คนในเรือนจำไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง และแอมเนสตี้ฯ เองก็ใช้การเขียนจดหมายแบบนี้มาตั้งแต่สมัยก่อนแล้วอย่างในกรณีส่งจดหมายถึงผู้ต้องขังทางการเมืองในโปแลนด์เพราะการเขียนจดหมายเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย แต่การเขียนเพียงคนเดียวก็ไม่เพียงพอ ถ้าหากมีคนเขียนจดหมายมากพอก็เป็นได้ทั้งการกดดันผู้มีอำนาจและเป็นกำลังใจแก่ผู้ต้องขังในเวลาเดียวกันก็เป็นการใช้จำนวนและในสมัยก่อนก็สามารถทำได้ถึงหลักแสนเลย

จิณห์วรา เล่าถึงในฐานะที่เธอได้เข้าเยี่ยมอัญชันเพราะได้เป็น 1 ใน 10 รายชื่อที่สามารถเข้าเยี่ยมได้ และได้เคยพูดคุยกับทางเรือนจำทำให้ทราบกฎเกณฑ์ของทางเรือนจำว่ามีข้อความแบบไหนบ้างที่ห้ามเขียนลงไปในจดหมาย และจดหมายที่ส่งเข้าไปก็ห้ามนำออกมาตอนได้รับการปล่อยตัวด้วย แม้ว่าสำหรับผู้ต้องขังแล้วจดหมายเหล่านี้จะมีความสำคัญกับพวกเขาก็ตาม

เธอเล่าถึงกรณีของอัญชันว่า มีจดหมายจากเอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมที่เขียนเรื่องนิรโทษกรรมเข้าไป อัญชันก็ไม่ได้รับต่างเจ้าหน้าที่ใช้วิธีเรียกอัญชันไปอ่านให้ฟังแทน หรือกรณีมีจดหมายเข้าไปแล้วไม่ถึงอัญชันก็มีหรือถูกเอาไปตรวจอยู่หลายวันกว่าจะส่งให้ก็มี จากที่เคยคุยกับทางเรือนจำว่ามีคำใดบ้างที่ใช้ไม่ได้ซึ่งทางเรือนจำก็มีกำหนดอยู่บ้าง แต่ก็ยังขึ้นกับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตรวจด้วย หรือบางทีจดหมายยาวไปก็ถูกตัดด้วยเหมือนกัน อัญชันถึงกับเคยบอกกับเธอว่าขอให้ทางแอมเนสตี้ฯ ช่วยเก็บจดหมายไว้ให้เพราะไม่อยากให้ทางเรือนจำเอาไปทิ้งแล้วจะมาเอาตอนที่ได้ออกมาแล้ว

จิณห์วรา บอกว่า เรื่องการสื่อสารระหว่างคนในเรือนจำกับคนข้างนอกถือเป็นสิทธิขั้นต่ำที่ผู้ต้องขังจะต้องได้รับ แต่ก็มีกรณีอย่างที่เรือนจำเชียงรายที่เป็นสถานที่คุมขัง มงคล ถิระโคตร หรือบัสบาสผู้ต้องขังคดีม.112 ทางเรือนจำก็มีข้อกำหนดของตัวเองไม่เหมือนกับเรือนจำที่อื่นคือยังต้องอาศัยทนายความเข้าไปเยี่ยมเอาเอง หรือบางทีเนื้อหาในจดหมายไม่ได้เป็นเรื่องการเมืองแต่เป็นเนื้อหาคดีของผู้ต้องขังก็อาจจะถกเจ้าหน้าที่ที่ตรวจตีความว่าเป็นเป็นเรื่องการเมืองได้

“เพราะได้รับจดหมายนี่แหละจึงได้รับรู้ข่าวสาร จดหมายจึงเป็นสิ่งจำเป็น ความสำคัญอันดับแรกของผู้ต้องขังคือญาติและจดหมาย จดหมายเป็นสื่อชนิดหนึ่งที่ใช้ติดต่อสื่อสารและรับรู้เรื่องราวซึ่งกันและกันสำหรับผู้ต้องขัง เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นจดหมายเข้าหรือออกจึงสำคัญมากสำหรับผู้ต้องขัง คนอยู่ในนี้ตั้งตารอจดหมายจากญาติและคนรักกันทั้งนั้น มันเป็นกำลังใจอย่างหนึ่ง อยู่ในนี้มันได้รับความเครียดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่พึงมี” จิณห์วราอ่านจดหมายของอัญชันที่ฝากออกมาถึงคนข้างนอกเพื่อเป็นการสรุปความสำคัญของจดหมาย

อั๋น อมรินทร์ เพื่อนเรียนของ ขนุน-สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ นักศึกษาปริญญาโท รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 เล่าถึงการรวบรวมจดหมายจากเพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกันส่งให้กับขนุน เขากับขนุนรู้จักกันครั้งแรกก็ตอนที่ลงเรียนวิชาของอนุสรณ์ อุณโณเหมือนกัน

อั๋นบอกว่าที่ผ่านมาก็ไม่เคยทำมาก่อน จนขนุนเข้าเรือนจำจึงได้ช่วยรวบรวมจดหมายจากเพื่อนที่เรียนปริญญาโทด้วยกันส่งให้ ส่วนเรื่องที่คุยกันก็เป็นเรื่องของขนุนเป็นหลักแต่ก็รู้สึกว่าเมื่อขนุนอยู่ในฐานะผู้ต้องขังก็ทำได้เห็นชีวิต ผู้ต้องขังคนอื่นๆ ไปด้วย โดยช่วงแรกๆ เนื้อหาจดหมายก็เป็นการให้กำลังใจและเป็นการปลอบว่าเดี๋ยวก็คงได้ปล่อยตัวเพราะเพื่อนๆ ก็ไม่มีใครคิดว่าขนุนจะโดนพอรู้ว่าไม่ได้ประกันตัวก็ตกใจกันมาก แต่อตอนหลังก็เริ่มไม่พูดถึงเรื่องจะได้ประกันมั้ยเพราะเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าขนุนจะได้ประกัน เรื่องที่เขียนเข้าไปก็ชวนกันให้คิดถึงเรื่องอื่นแทน ส่วนจดหมายที่ออกมาขนุนก็มีฝากจดหมายถึงคนนั้นคนนี้บ้าง บางทีก็เป็นกลอนหรือเพลงออกมา

อั๋นเล่าถึงสถานการณ์ครอบครัวของขนุนด้วยว่าตอนนี้พ่อแม่ของขนุนก็ต้องเวียนไปเยี่ยมทุกวันชีวิตครอบครัวขนุนก็เปลี่ยนไปเยอะ แม่ก็ต้องก็ต้องเกษียณออกจากงานมาก่อนทั้งที่ค่าใช้จ่ายในการอยู่ในเรือนจำก็แพง ทำให้เขาคิดว่าจริงๆ แล้วคนข้างในก็ทุกข์คนข้างนอกก็ทุกข์ไม่สามารถบอกได้เลยว่าคนข้างในกับคนข้างนอกใครเป็นทุกข์กว่ากัน

อั๋นกล่าวว่าถึงข้อสังเกตที่เขาเห็นจากจดหมายของขนุนและของคนอื่นๆ ว่า มักจะมีคำที่สื่อให้เห็นถึง ความฝัน ความหวัง ความกลัวกังวล กำลังใจ

เขาอธิบายว่าเวลาพูดเรื่องความฝันและความหวังของพวกเขามันสะท้อนถึงอุดมการณ์ของพวกเขาและภาพสังคมที่พวกเขาปรารถนาและเชื่อว่าโลกที่ดีมันเป็นไปได้และเมื่อพูดถึงความฝันในมุมทางการเมืองก็คือความอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ส่วนความหวังก็คือก็หนทางและวิธีการที่จะไปถึงฝันด้วยเหมือนกันอย่างการหวังว่าจะได้ประกันตัวก็เป็นหนทางที่จะออกไปทำตามฝัน

จดหมายที่ลูกสาวของอานนท์ นำภาส่งถึงอานนท์ในเรือนจำ

อั๋นกล่าวถึงในส่วนเรื่องความกลัวของขนุนยังเห็นบ้าง ส่วนมุมของอานนท์ก็เห็นความกังวลเวลาที่เขียนถึงเรื่องลูกทั้งสองคนอยู่ที่แสดงให้เห็นถึงความกลัวที่จะต้องกลายเป็นคนแปลกหน้าสำหรับลูกๆ แต่ในเรื่องอื่นๆ อานนท์ค่อนข้างหนักแน่นพอสมควร  ส่วนเรื่องกำลังใจเขาเปรียบเทียบว่าเป็นอาหารที่หล่อเลี้ยงความฝันกับความหวังทั้งของคนข้างในและคนข้างนอก เขาเคยเห็นจดหมายที่คนข้างนอกเขียนถึงอานนท์เหมือนกันว่าการได้เจออานนท์ที่ศาลเป็นเหมือนกำลังใจสำหรับเขาเช่นกัน

อั๋นกล่าวถึงข้อสังเกตของเขาต่ออำนาจรัฐที่กระทำกับผู้ต้องขังซึ่งเขาก็เห็นว่าในมุมทางกฎหมายก็จะมีการตีความกฎหมายแต่ก็มีการเลือกที่จะใช้กฎหมายกับใครด้วยเป็นเรื่องที่มากกว่าตัวบทกฎหมายเขียนไว้ และนอกจากอำนาจรัฐจะให้คุมขังคนไว้แล้วอำนาจรัฐยังทำอะไรกับคนที่ถูกขังอยู่ด้วย ซึ่งเขาสังเกตเห็นจากจดหมายของอานนท์ก็คือการที่พวกเขาถูกขังอยู่มันคือการต่อสู้ของผู้ต้องขังด้วยเพื่อยืนยันสิ่งที่เชื่อและความฝันของพวกเขาว่าถูกต้องด้วย และรัฐก็พยายามทำให้สิ่งที่พวกเขาฝันเป็นจริงไม่ได้ เมื่อมองแบบนี้แล้วการเมืองข้างหน้าก็คือการสู้และอย่าให้รัฐทำสำเร็จในการจะบอกว่าอะไรที่ฝันไม่ได้

อั๋นกล่าวว่า คำถามที่ตามมาก็คือว่า ถ้าจะเคลื่อนไหวต่อทำยังไง สำหรับผู้ต้องขังบางคนก็อาจจะใช้ร่างกายของตนเองอย่างการอดอาหารหรืออดนอนก็เป็นการต่อสู้แบบหนึ่ง ส่วนขนุนเองก็เคยเขียนออกมาว่าสำหรับเขาและผู้ต้องขังอาวุธที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือปากกาที่ใช้เขียนเรื่องราวต่างๆ ออกมาจากเรือนจำ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net