Skip to main content
sharethis

ชาวมาเลเซียในประเทศไทยชุมนุมหนุนปฏิรูปเลือกตั้ง ไปพร้อมกับการชุมนุมใหญ่ทั่วมาเลเซีย ขณะที่การประท้วงใหญ่วานนี้ที่กัวลาลัมเปอร์ ตำรวจสลายการชุมนุมซ้ำรอบ 3 จับผู้ชุมนุมกว่า 511 คน รวมถึง "ฉัว เทียน ชาง" ส.ส. พรรคฝ่ายค้านที่เคยประท้วงหน้าสถานทูตไทยเรียกร้องให้ปล่อยตัว "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" ด้วย

ชาวมาเลเซียในประเทศไทยจัดชุมนุม "Bersih 3.0 Bangkok"
เมื่อ 28 เม.ย. หน้าสถานทูตมาเลเซีย ประจำประเทศไทย ถ.สาทร

คลิปการชุมนุม Bersih 3.0 Bangkok

เมื่อวานนี้ (28 เม.ย.) ชาวมาเลเซียในประเทศไทย จัดการชุมนุม "Bersih 3.0 Bangkok" (เบอเซะ ทรี-พอย-โอ บางกอก) หน้าสถานทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย ถ.สาทร เรียกร้องให้ทางการมาเลเซียปฏิรูประเบียบการเลือกตั้ง ก่อนที่จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 13 ภายในปี 2556 นี้ ทั้งนี้ผู้ประสานงานชาวมาเลเซียสุภัตรา จายาราช (Subatra Jayaraj) กล่าวว่าการจัดกิจกรรมในวันนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนการชุมนุม "Bersih 3.0" ซึ่งจัดใกล้กับจัตุรัสเมอร์เดก้า กัวลาลัมเปอร์

โดยการชุมนุมในกรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์นี้ ชาวมาเลเซียกว่าร้อยคน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา และชาวมาเลเซียที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ได้รวมตัวกันที่ประตูทางออกสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลุมพินี ก่อนเดินไปตาม ถ.สาทร มุ่งไปยังสถานทูตมาเลเซีย โดยที่หน้าสถานทูต ผู้ชุมนุมได้ตะโกนคำขวัญ "Bersih" และสลับกันกล่าวปราศรัยโดยไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียง และมีการ "นั่งประท้วง" หรือ "Dudok Bantah" ในภาษามลายู เช่นเดียวกับที่จัดในมาเลเซียด้วย นอกจากนี้มีนักสหภาพแรงงานและกิจกรรมชาวไทยเดินทางมาให้กำลังใจและสนับสนุนผู้ชุมนุมชาวมาเลเซียด้วย โดยกิจกรรมสิ้นสุดด้วยการยื่นหนังสือถึงสถานทูตมาเลเซียในเวลาประมาณ 15.00 น.

ทั้งนี้พันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม หรือกลุ่มเบอเซะ (Bersih แปลว่า สะอาด ในภาษามลายู) ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2549 เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการเลือกตั้งในมาเลเซีย เช่น ให้ชำระระเบียบการเลือกตั้ง ให้ปฏิรูประบบลงคะแนนทางไปรษณีย์ เนื่องจากเกรงว่าจะไม่โปร่งใส เรียกร้องให้ใช้หมึกที่ลบไม่ออกในการลงคะแนน ให้มีการหาเสียงเลือกตั้ง 21 วันเป็นอย่างน้อย และอนุญาตให้ทุกพรรคการเมืองเข้าถึงสื่อสารมวลชน และยุติการเมืองสกปรก

โดยการชุมนุม "Bersih" ครั้งแรกเมื่อ 10 พ.ย. 2550 และการชุมนุม "Bersih 2.0" เมื่อ 9 ก.ค. ปี 2554 จบลงด้วยการสลายการชุมนุมโดยตำรวจมาเลเซีย และมีผู้ถูกจับกุมนับพันคน ขณะที่ในการชุมนุม "Bersih 3.0" ที่จัดขึ้นเมื่อ 28 เม.ย. ที่ผ่านมา ผู้จัดการชุมนุมวางแผนจัดการประท้วงในหลายเมืองในของมาเลเซียได้แก่ กัวลาลัมเปอร์, อิโปห์, ยะโฮร์ บารู, มะละกา, ปีนัง, โกตากินาบาลู, เซเรมบัน, กูชิง, มีรี, ซีบู อย่างไรก็ตาม ศาลมาเลเซียมีคำสั่งห้ามผู้ชุมนุมกลุ่มเบอเซะ ใช้พื้นที่จัตุรัสเมอร์เดก้า หรือจัตุรัสเอกราช เพื่อชุมนุม ขณะที่นายอาหมัด ฟูอัด อิสมาอิล นายกเทศมนตรีกัวลาลัมเปอร์แถลงเมื่อค่ำวันที่ 26 เม.ย. ว่า จะปิดจัตุรัสเมอร์เดกาและถนนทุกสายที่มุ่งไปยังจัตุรัสนี้ตั้งแต่เวลา 06.00 น.วันศุกร์จนถึงเวลา 06.00 น.วันอาทิตย์

โดยการชุมนุมที่กัวลาลัมเปอร์ในวันเสาร์ที่ 28 เม.ย. มีผู้ร่วมชุมนุมกว่าสองหมื่นห้าพันคน ขณะที่ผู้จัดการชุมนุม จบลงด้วยการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สและกระบองโดยตำรวจปราบจลาจล มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก และตำรวจมาเลเซียระบุว่ามีการจับกุมผู้ชุมนุมทั้งสิ้น 512 คน

ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า ในจำนวนผู้ถูกจับกุมนี้ ยังรวมถึง นายฉัว เทียน ชาง (Chua Tian Chang) ส.ส. และรองประธานพรรคยุติธรรมแห่งชาติ (Parti Keadilan Rakyat - PKR) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่สำคัญในมาเลเซีย ซึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมปีก่อน นายฉัว เทียน ชาง ได้ไปประท้วงหน้าสถานทูตไทยในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมด้านแรงงาน และบรรณาธิการ Voice of Taksin ด้วย โดยนายฉัว เทียน ชาง ถูกตำรวจจับกุมตั้งแต่บ่ายวันที่ 28 เม.ย. และได้รับการปล่อยตัวเมื่อเวลา 5.00 น. ของวันนี้ (29 เม.ย.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net