ความขัดแย้งเรื่องอำนาจบัญญัติรัฐธรรมนูญและก่อตั้งองค์กรทางการเมือง (le pouvoir constituant) ระหว่างรัฐสภากับศาลรัฐธรรมนูญจบรอบแรกไปแล้ว โดยประชาชน(ทุกฝ่ายทุกคน)และระบอบรัฐธรรมนูญเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เสียหลักการสำคัญของระบอบไปในทางปฏิบัติ ซึ่งคงต้องใช้เวลาและความยุ่งยากอีกมากกว่าจะกอบกู้ให้คืนความถูกต้องตามหลักวิชาดังเดิมได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อการนั้น ควรต้องเก็บกวาดความสับสนทางวิชาการบางอย่างหลังฝุ่นจางลง
ในแถลงการณ์ของกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างรัฐสภากับศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ ๑๐ มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้อ้างอิงความสัมพันธ์ระหว่างหลัก ๓ ประการว่าในการเมืองการปกครองไทย หลักการสำคัญที่สุดคือ “หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ” และ “หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน” หากมิใช่ “หลักความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภา”
นี่เป็นความสับสนปนเปหลักการต่างระดับ ๓ ระดับเข้าด้วยกัน โดยที่ผู้เขียนแถลงการณ์ยังไม่เข้าใจถึงปมปัญหาแท้จริงที่เป็นเดิมพันความขัดแย้งเลย
ระดับ ๑): หลักความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภา หรือ the Supremacy of Parliament นั้นเป็นหลักการของประเทศที่ปกครองในระบบรัฐสภา แสดงความสืบเนื่องจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่เดิม และกำกับความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจ ๓ ฝ่ายคือนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ
สืบเนื่องจากประเทศที่ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่เก่าก่อน เช่น สหราชอาณาจักร และ ไทย เป็นต้น เมื่อเปลี่ยนระบอบ อำนาจอธิปไตย (sovereignty) ได้ถูกถ่ายทอดส่งผ่านพระราชทานจากกษัตริย์ผู้ทรงเป็นเจ้าของอำนาจนั้นแต่เดิมมาให้แหล่งรองรับเดียวที่ชอบธรรมและเป็นไปได้ คือที่ประชุมของผู้แทนราษฎร อันได้แก่รัฐสภาหรือ Parliament ซึ่งสำแดงอำนาจนั้นออกด้วยการบัญญัติกฎหมายของแผ่นดิน เพื่อให้ฝ่ายบริหารนำกฎหมายนั้นไปบริหารดำเนินการในบ้านเมือง และให้ฝ่ายตุลาการนำกฎหมายนั้นไปตีความตัดสินอรรถคดีข้อพิพาทในแผ่นดิน
ระดับ ๒): หลักความสัมพันธ์ในระบอบเสรีประชาธิปไตย อันเป็นการประกบประกอบเข้าด้วยกันของหลักปรัชญาการเมือง ๒ หลัก ได้แก่ หลักเสรีินิยม (หรือที่เรียกว่า หลักนิติรัฐ, หลักรัฐธรรมนูญนิยม, หลักสิทธิเสรีภาพของบุคคล เป็นต้น) กับ หลักประชาธิปไตย (อำนาจอธิปไตยของประชาชนและความ เสมอภาคทางการเมือง)
หัวใจของหลักเสรีนิยมคือรัฐบาลหรือการปกครองที่มีอำนาจจำกัด ส่วนหัวใจของหลักประชาธิปไตยคือการกระจายอำนาจไปให้ประชาชนใช้ไม่ว่าผ่านตัวแทนหรือใช้เองโดยตรง
หลักการที่กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์หยิบยกขึ้นมา ได้แก่ “หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ” และ “หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน” พูดให้ถึงที่สุดก็คือหลักเสรีนิยมนั่นเอง อันเป็นสิ่งที่พลังฝ่ายต่อต้านทักษิณ ตั้งแต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถึงคปค. อ้างอิงให้ความสำคัญตลอดมา ในทางกลับกันฝ่ายทักษิณและ นปช.ที่ต่อต้านรัฐประหารก็จะเน้นความสำคัญของหลักประชาธิปไตย
ปัญหาก็คือ ความตาบอดหนึ่งข้างของทั้งสองฝ่ายที่มักจะละเลย ประเมินต่ำ หรือไม่เน้นหลักการอีกด้านหนึ่ง ในขณะฝ่ายทักษิณมักละเลยหลักเสรีนิยมจนถูกวิจารณ์ว่าสร้างระบอบประชาธิปไตยไม่เสรีหรือประชาธิปไตยอำนาจนิยมขึ้นมา ฝ่ายต่อต้านทักษิณกลับมองข้ามละเลยหลักประชาธิปไตย ไม่คำนึงถึงความเสมอภาคทางการเมือง (ดูเบาชาวบ้านรากหญ้าผู้ลงคะแนนเสียงว่าโง่บ้าง ถูกซื้อบ้าง ถูกหลอกบ้าง ฯลฯ) และปฏิเสธอำนาจอธิปไตยของประชาชน (ด้วยการรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจอธิปไตยไปให้คนดีส่วนน้อยจัดการ เช่น ตุลาการ, ทหาร เป็นต้น)
การตอกย้ำอ้างอิงหลักทั้งสองของสยามประชาภิวัฒน์จึงปนเปปัญหาต่างระดับเข้าด้วยกัน (ระดับความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจ ๓ ฝ่ายในระบอบรัฐสภา กับระดับปรัชญาระหว่างเสรีนิยมกับประชาธิปไตย) และยิ่งตอกย้ำอาการตาบอดข้างเดียว มองไม่เห็นความสำคัญของหลักประชาธิปไตย เห็นแต่ความสำคัญของหลักเสรีนิยม แม้กระทั่งในความขัดแย้งรอบล่าสุดนี้
ระดับ ๓): แม้กระนั้นแล้วก็ตาม ความสับสนไขว้เขวดังกล่าวของสยามประชาภิวัฒน์ก็ยังต่ำระดับไปและเอื้อมความคิดไปไม่ถึงปมปัญหาของความขัดแย้งนี้เลย นั่นคือปมเรื่องอำนาจบัญญัติรัฐธรรมนูญ หรือสถาปนาองค์กรทางการเมือง อันเป็นอำนาจเบื้องแรกทั้งหมด ดังที่ อาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้เคย อธิบายไว้ในหนังสือกฎหมายมหาชนเล่ม ๒ ของเขาเกี่ยวกับการที่นักทฤษฎีกฎหมายมหาชนฝรั่งเศส Sieyes เสนอข้อคิดใหม่ไว้ว่า
“การแบ่งแยกระหว่างอำนาจสูงสุดในการก่อตั้งองค์กรทางการเมือง (pouvoir constituant) และอำนาจขององค์กรที่ได้รับมาจากการก่อตั้ง (pouvoir constitue) โดยอำนาจแรกเป็นอำนาจที่เป็นของชาติ (nation) ซึ่งอาจมอบให้ผู้แทนไปสร้างรัฐธรรมนูญเพื่อก่อตั้งองค์กรทางการเมืองขึ้นเพื่อปกครองประเทศ ดังนั้น อำนาจนี้จึงสูงสุดไม่มีข้อจำกัด หรือข้อผูกมัดโดยกฎเกณฑ์ใดๆ ที่มีอยู่เลย ต่างจากอำนาจที่สองซึ่งถือว่าเป็นอำนาจขององค์กรที่รัฐธรรมนูญตั้งขึ้น ซึ่งเป็นอำนาจที่ถูกจำกัด และกำหนดขอบเขตโดยรัฐธรรมนูญซึ่งตั้งองค์กรนั้นๆ ขึ้น“
เดิมพันแท้จริงของความขัดแย้งเรื่องนี้เป็น อำนาจสูงสุดในการก่อตั้งองค์กรทางการเมืองและบัญญัติรัฐธรรมนูญต่างหาก ซึ่งตามหลักกฎหมายมหาชนเป็นอำนาจเริ่มแรกรากฐานก่อนมีรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป และในระบอบรัฐธรรมนูญปกติ ก็ฝากฝังไว้กับรัฐสภา อันเป็นตัวแทนราษฎรนั่นเอง แต่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็อ้างเหตุผลต่าง ๆ ที่ผิดหลักกฎหมายมหาชน ผิดหลักรัฐธรรมนูญ และผิดแม้แต่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบันเอง มาชุบมือเปิบไปอย่างพลการที่สุด ด้วยการสั่งให้ระงับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ ๓ ไว้ก่อน
ความไม่เข้าใจไขว้เขวของกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ จนอ้างหลักการต่างระดับอย่างสับสนปนเปนี้น่าแปลกใจยิ่ง เพราะในบรรดาผู้ที่เข้าใจเรื่องนี้ดีที่สุดในทางหลักทฤษฎีและปฏิบัติการ นอกจากอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณแล้ว ก็คือผู้ใกล้ชิดกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ได้แก่ สว. คำนูณ สิทธิสมาน ปัญญาชนยุทธศาสตร์ของพันธมิตรฯผู้หยั่งซึ้ง เห็นชัดแต่แรกเริ่มเมื่อปี ๒๕๔๘ - ๔๙ ว่านี่คืออำนาจสำคัญที่สุดที่พันธมิตรฯ “ขอถวายคืนพระราชอำนาจฯ” (พระราชอำนาจในการบัญญัติรัฐธรรมนูญและก่อตั้งองค์กรทางการเมืองใหม่ หรือ le pouvoir constituant นี่เอง) โดยอ้างมาตรา ๗ ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธโดยชี้ว่าเป็นการปกครองแบบมั่ว
%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%
แถลงการณ์กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ “ตามที่ได้เกิดปัญหาความขัดแย้งในการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรในกรณีของร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. .... จนนำมาสู่ความขัดแย้งภายนอกรัฐสภาของกลุ่มพลังต่างๆ ดังที่ทราบกันแล้ว ต่อมาได้เกิดความขัดแย้งในประเด็นการลงมติในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในวาระ 3 ซึ่งสืบเนื่องมาจากมีผู้ร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญโดยอาศัยมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งไปถึงเลขาธิการรัฐสภาให้ยุติการลงมติในวาระสามไว้ก่อน ความขัดแย้งในประเด็นข้อกฎหมายทั้งหลายที่ฝ่ายต่างๆ ออกมาให้เหตุผลสนับสนุนหรือคัดค้านการกระทำของ ศาลรัฐธรรมนูญนั้น |
ที่มา:Kasian Tejapira
ที่มาแถลงการณ์: ผู้จัดการออนไลน์