Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ผนึกกำลังสร้างเครือข่ายรณรงค์ยุติโทษประหารชีวิต จัดกิจกรรมสัปดาห์ภาพยนตร์สิทธิมนุษยชน “เทศกาลหนังมีชีวิต”

ละครเวทีจากกลุ่มละครใบไม้ไหว เพื่อรณรงค์ให้มีการยุติโทษประหารชีวิต ในวันแรกของสัปดาห์ภาพยนตร์สิทธิมนุษยชน "เทศกาลหนังมีชีวิต" เมื่อ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่สมาคมฝรั่งเศส ถ.สาธรใต้ จัดโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และสถาบันเกอเธ่ จัดกิจกรรมสัปดาห์ภาพยนตร์สิทธิมนุษยชน “เทศกาลหนังมีชีวิต” ระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม 2555 ณ สมาคมฝรั่งเศส ถ.สาทรใต้ กรุงเทพ โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตอังกฤษ เพื่อนำเสนอมุมมองอีกด้านหนึ่งเกี่ยวกับความรุนแรงหลากหลายรูปแบบในสังคม ความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในกระบวนการยุติธรรม และความเชื่อมโยงระหว่างชะตากรรมของนักโทษประหารกับสังคมส่วนใหญ่

กว่า 140 ประเทศทั่วโลกต่างตระหนักว่าโทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อันได้แก่ สิทธิในการมีชีวิตตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน จึงได้ทำการยกเลิกโทษประหารชีวิตไม่ว่าในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติ

สำหรับประเทศไทยนั้นยังคงมีการบังคับใช้มาตรการนี้ แม้ว่าจะมีการกำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตให้เป็นจำคุกตลอดชีวิตแทนในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 2 (2552-2556​) ซึ่งได้รับการรับรองจากรัฐสภาเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2552  อีกทั้งการประหารชีวิตยังถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่ออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญานี้ โดยการภาคยานุวัติ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2550 และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นไป

“เราไม่ได้อ่อนข้อ หรือยกโทษให้กับผู้กระทำความผิด ผู้กระทำความผิดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม (ที่เป็นธรรม) แต่เราเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบและวิธีการ การลงโทษ ผู้กระทำความผิด ให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและหลักสิทธิมนุษยชน”

“โทษประหารชีวิตเป็นการลงโทษที่โหดร้าย และไม่ได้ส่งผลให้อาชญกรรมลดลง อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมยังคงมีความเสี่ยงในการตัดสินที่ผิดพลาดส่งผลให้ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากถูกจองจำ นอกจากนั้นโทษประหารชีวิตยังถูกนำมาใช้กับคนยากจน กลุ่มคนที่ด้อยโอกาส ชนกลุ่มน้อยและผู้ที่ไม่มีอำนาจต่อรองในสังคมกว่าร้อยละ 80” นางสาวปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยกล่าว

วันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันยกเลิกโทษประหารชีวิตสากล (World Day against the Death Penalty) ได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจและทัศนคติอันถูกต้องต่อประเด็นการยกเลิกโทษประหารชีวิต  แอมเนสตี้ อินเตอร์แนชั่นแนลและสมาชิกทั่วโลกในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรนานาชาติต่อต้านโทษประหารชีวิต ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ในวันยุติโทษประหารชีวิตสากล 

ซึ่งในวันยกเลิกโทษประหารชีวิตสากลปี 2555 นี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และสถาบันเกอเธ่  ร่วมกันจัดกิจกรรมสัปดาห์ภาพยนตร์สิทธิมนุษยชน “เทศกาลหนังมีชีวิต” ระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม 2555 ณ สมาคมฝรั่งเศส   ถ.สาทรใต้ กรุงเทพ โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตอังกฤษ

นอกเหนือจากการนำเสนอมุมมองอีกด้านหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ความรุนแรงในสังคม และโทษประหารชีวิตผ่านภาพยนตร์แล้ว ภายในงานยังมีการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ นี้ ผ่านนิทรรศการโปสเตอร์จากนักออกแบบนานาชาติ และเวทีเสวนาวิชาการ

“เราตั้งใจนำเสนอมุมมองอีกด้านหนึ่งเกี่ยวกับความรุนแรงหลากหลายรูปแบบในสังคม ความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในกระบวนการยุติธรรม และความเชื่อมโยงระหว่างชะตากรรมของนักโทษประหารกับสังคมส่วนใหญ่ เราต้องการสร้างความเข้าใจว่าการลงโทษที่โหดร้ายทารุณนั้นไม่สามารถลดอัตราอาชญากรรมได้ ไม่ได้ช่วยสร้างสังคมที่ปลอดภัย และมั่นคง และที่สำคัญมาตรการไร้ประโยชน์นี้ยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอีกด้วย” นางสาวปริญญากล่าว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต่อต้านโทษประหารในทุกกรณี โดยถือเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตรอด และถือเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และดูหมิ่นศักดิ์ศรีมากสุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net