Skip to main content
sharethis

เนื่องในสัปดาห์ยุติโทษประหารชีวิตสากล "ศิโรตม์" ชี้โทษประหารเป็นบทลงโทษที่มีอคติทางการเมืองและชนชั้น ในขณะที่งานวิจัยระบุ ความชอบธรรมในการใช้โทษประหารถูกปลูกฝังในสังคมไทยย้อนไปตั้งแต่ "ไตรภูมิกถา"

เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 55 เวลา 13.30 น. ณ สมาคมฝรั่งเศส เนื่องในสัปดาห์เพื่อการยุติโทษประหารชีวิต แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้จัดเสวนาในหัวข้อ "ความรุนแรงในสังคมไทย: กรณีศึกษาโทษประหารชีวิต" โดยมีวิทยากรจากแวดวงสื่อ วิชาการ และสถาบันตำรวจ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนต่อประเด็นดังกล่าว โดยศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ มองว่า โทษประหารชีวิต นอกจากจะขัดกับหลักการเสรีนิยมประชาธิปไตยแล้ว ยังเป็นการลงโทษที่มักมีคติทางการเมืองและชนชั้นแฝงอยู่ด้วยเสมอๆ ในขณะที่งานวิจัยของ พ.ต.ท. หญิงธัญญรัตน์ ทิวถนอม ชี้ให้เห็นว่า ความชอบธรรมของโทษประหารชีวิต ถูกสร้างขึ้นในสังคมไทยตั้งแต่สมัยโบราณ 

 
 

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างความรุนแรงและโทษประหารชีวิต โดยเฉพาะในทางวิชาการและข้อถกเถียงว่าโทษดังกล่าวควรจะมีหรือไม่  โดยฝ่ายที่เห็นด้วย มักมองว่า มาตรการนี้เป็นวิธีการที่สร้างความปลอดภัยและสันติภาพในสังคม แต่ในฝั่งที่ไม่เห็นด้วย มองว่า โทษประหารชีวิตมีลักษณะที่โหดร้าย ขัดกับหลักการพื้นฐานของศาสนา ซึ่งเป็นการมองเชิงศีลธรรม  นอกจากนี้ ยังมีการเสนอด้วยว่า โทษประหารชีวิตมีลักษณะที่แตกต่างไปจากโทษแบบอื่น เนื่องจากหากตัดสินไปแล้ว พบว่าผิด หรือเกินกว่าเหตุ ไม่สามารถย้อนคืนได้ ชีวิตของคนที่ถูกประหารไม่กลับมา
 
จึงจะเห็นว่า โทษนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้อย่างระมัดระวังมากๆ นอกจากนี้ ยังมีการเสนอจากนักกฎหมายอเมริกันว่า โทษประหารชีวิต เมื่อใช้ไปแล้ว มันทำลายระบบกฎหมายทั้งหมดเอง เพราะมันมีลักษณะของการเลือกปฏิบัติและแฝงไปด้วยอคติทางสังคมในกระบวนการยุติธรรม เหมือนเป็นการตีตราว่า ความผิดแบบไหนหรือคนแบบไหนควรจะถูกประหาร จึงจะเห็นว่าโทษประหารชีวิตไม่สามารถนำมาซึ่งความยุติธรรมได้ ถึงแม้ว่าจะตัดสินถูกคนแล้วก็ตาม 
 
ข้อถกเถียงอีกข้อหนึ่ง ซึ่งมักเป็นข้อเสนอในสังคมไทย คือการมองว่า โทษประหารชีวิตมีความรุนแรงเกินไป และไม่สามารถแก้ปัญหาอาชญากรรมได้ ในทางกลับกัน ฝ่ายที่เห็นด้วย จะเห็นว่า โทษประหารเป็นวิธีที่แก้ปัญหาอาชญากรรมให้เด็ดขาด ซึ่งศิโรตม์มองว่า เป็นการมองที่ขาดความซับซ้อน และไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริง 
 
นอกจากนี้ โทษประหารชีวิต ยังมีลักษณะที่เลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน เพราะหากใช้เหตุผลว่า ต้องประหารชีวิตเพราะเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโทษแก่ผู้อื่นในภายภาคหน้า ถ้าเช่นนั้น ก็จำเป็นต้องประหารชีวิตผู้ที่ทำความผิดโทษอื่นๆ ด้วย ขับรถชนผู้อื่น หรือยาเสพติด เป็นต้น ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าลักษณะของโทษประหารชีวิตไม่มีความยุติธรรมอย่างแท้จริง 
 
ศิโรตม์ยังตั้งคำถามด้วยว่า หากโทษประหารชีวิต ถูกใช้กับอาชญากรที่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตแล้ว ผู้นำประเทศที่บริหารประเทศและทำให้ประชาชนเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมของรัฐ ควรจะต้องถูกลงโทษด้วยหรือไม่ หากใช้ตรรกะเดียวกัน แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีการเอาผู้นำประเทศมาลงโทษ ฉะนั้นจึงจะเห็นว่า โทษประหารชีวิตมีลักษณะของการเลือกปฏิบัติอยู่มาก 
 
นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ยังมองว่า การประหารชีวิต ยังวางอยู่บนสาเหตุหลักอยู่อีกสองอย่าง คือ วางอยู่บนความกลัว และความต้องการล้างแค้น แต่การประชาทันฑ์ผู้อื่น และการล้างแค้น เป็นการบริการจัดการสังคมและความคิดที่ล้าหลัง และไม่ได้การันตีว่าชีวิตของคนในสังคมจะปลอดภัยขึ้น 
 
"เพราะฉะนั้นกฎหมายกับความรุนแรง มันเชื่อมโยงกันด้วยโทษประหารชีวิต คือการประหารชีวิตเป็นการใช้ความรุนแรงโดยชอบธรรม มีกฎหมายบอกว่าการกระทำนี้มันชอบธรรม ทั้งๆ ที่โดยในตัวมันเองแล้ว ก็ไม่ต่างกับการฆ่าแบบอื่น มันก็คือการฆ่าแบบหนึ่ง" ศิโรตม์กล่าว "การประหารชีวิตที่ถูกต้องด้วยกฎหมาย คือการฆ่าที่ถูกต้องโดยกฎหมาย" และตั้งคำถามว่า รัฐใช้เหตุผลอันใดในการฆ่า และเหตุใดประชาชนถึงให้การยอมรับกับการฆ่าดังกล่าว 
 
หากมองผ่านมุมมองของประชาธิปไตยเสรีนิยม สิทธิในการดำรงชีวิต ยังนับเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่ ศิโรตม์ชี้ว่า หากเราเชื่อว่ารัฐมีสิทธิในการประหารชีวิตพลเมือง และพรากเอาชีวิตคนไป    เท่ากับว่า เรายืนยันว่า การดำรงชีวิตเป็นสิ่งที่รัฐเลือกที่จะให้ เป็นการเลือกปฏิบัติ และเชื่อว่า มนุษย์มีสิทธิไม่เท่าเทียมกัน ไม่มีสิทธิทางการเมือง ซึ่งเป็นชุดเหตุผลที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนที่เท่าเทียมกันตามสังคมประชาธิปไตย 
 
โทษประหารชีวิต ยังมักจะถูกใช้ในสถานการณ์ทางการเมือง ตัวอย่างเช่นสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ช่วงพ.ศ.​2501 - 2507 มีการใช้มาตรา 17 ซึ่งให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีในการออกคำสั่งประหารชีวิต และมีผลทำให้นักคิด นักเขียน นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยถูกสังหารเป็นจำนวนมาก ยังรวมถึงผู้ต้องหาสามคนในกรณีสวรรคตของร. 8 ก็ยังเป็นที่ตั้งคำถามกันจนถึงทุกวันนี้ว่า พวกเขามีความผิดจริงหรือไม่ 
 

พ.ต.ท. หญิงธัญญรัตน์ ทิวถนอม

 
อาจารย์ด้านการบริการในหน่วยงานตำรวจ และผู้เขียนงานวิจัยเรื่อง "กระแสโลกาภิวัฒน์และการลงโทษประหารชีวิตในรัฐไทย" มองย้อนไปยังทฤษฎีการมองรัฐทั้งในยุโรปและเอเชียที่เชื่อว่า รัฐมีอำนาจในการกำกับดูแลสังคม จึงมีสิทธิที่จะลงโทษในสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อย่างไรก็ตาม การประหารชีวิตนั้นก็ไม่ถูกต้องยุติธรรม เพราะมันเป็นการพรากชีวิตและสิทธิเบื้องต้นของพลเมืองไป 
 
นอกจากนี้ ความเชื่อตั้งแต่สมัยโบราณที่ว่า หากทำไม่ดีแล้ว ธรรมชาติจะลงโทษ หรือความเชื่อเรื่องพระราชาลงโทษประชาชน ที่ผูกโยงกับ "ไตรภูมิพระร่วง" ซึ่งเป็นวรรณคดีพุทธศาสนาในสมัยโบราณ ยังสะท้อนให้เห็นในพระอัยการกบฎศึก ตัวบทกฎหมายในสมัยโบราณ ที่มีการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงต่อประชาชน ทำให้เป็นสิ่งที่สร้างความชอบธรรมให้รัฐ และปลูกฝังทางความเชื่อของประชาชนด้วยว่า โทษประหารชีวิตเป็นสิ่งที่จำเป็น 
 
"แม้แต่เรื่องบาปบุญคุณโทษ เราถูกปลูกฝังมาว่า คนดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ซึ่งกฎหมายความเชื่อโบราณที่กล่าวมา ก็บอกว่า ถ้าคนทำดีแล้วแล้วจะมีเรื่องได้ยังไง" 
 
งานวิจัยยังชี้ให้เห็นด้วยว่า โทษประหารชีวิตไม่ได้มีผลต่ออาชญากรรม ธัญญรัตน์กล่าวว่า โทษที่มีผลต่ออาชญากรรมมีสามตัวแปร คือ "ความรวดเร็ว ความรุนแรง และความชัดเจน" แต่จริงๆ แล้ว ปัจจัยที่มีผลต่ออาชญากรรม คือ "ความรวดเร็วและความชัดเจน" ในการลงโทษมากกว่า แต่กระบวนการยุติธรรมในการไต่สวนโดยปรกติ มักใช้เวลายาวนานเช่น 4-5 ปี ทำให้เกิดความล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น และขาดปัจจัยเรื่องความรวดเร็วลงไป 
 
ธัญญรัตน์กล่าวด้วยว่า ผู้ที่มักถูกลงโทษประหารชีวิต มักจะเป็นคนจนและไม่มีเงินจ้างทนายมาสู้คดี เมื่อถูกจับ ก็ไม่มีและไม่ทราบแนวทางการพิทักษ์สิทธิตนเองที่ถูกต้องตามกระบวนการไต่สวน 
 
เธอยังกล่าวถึง "กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์" ด้วยว่า แทนที่จะมองว่าอาชญากรรมเป็นเรื่องที่กระทำต่อรัฐ และรัฐมีหน้าที่ลงโทษผู้กระทำผิด ควรจะมองว่า ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น สังคม รัฐ ผู้กระทำผิด และเหยื่อของผู้กระทำผิด ควรมาร่วมกันคิดว่า เหตุใดสังคมจึงผลิตคนที่เป็นอาชญากรออกมา มีปัญหาทางโครงสร้างใดที่เอื้อให้เกิดปัญหาดังกล่าว และมีมาตรการเยียวยาและร่วมกันหาทางออกจากทุกฝ่าย เพื่อป้องกันปัญหาต่อไปในอนาคต 
 

ดร. วิทย์ สิทธิเวคิน

 
มองว่า สื่อในปัจจุบันมีอิทธิพลต่อสังคมค่อนข้างเยอะ เป็นผู้ที่สามารถฟอร์มความคิดของสังคมได้ ประชาชนจึงจำเป็นต้องรู้เท่าทันสื่อ โดยสื่อเองก็จำเป็นต้องรายงานโดยให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริง และลดอคติหรือค่านิยมออกไป 
 
เขายังกล่าวถึงการควบคุมกำกับสื่อด้วยว่า สื่อจำเป็นต้องกำกับกันเองโดยเฉพาะในเรื่องของความรุนแรง และการนำเสนอข่าวในเชิงการประชาทันฑ์จากสังคม โดยเฉพาะก่อนที่กสทช. จะทำการเปิดประมูลทีวีดิจิตอลเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ เขาระบุว่า ประชาชนได้มีส่วนร่วมในสื่อและประเด็นสาธารณะมากยิ่งขึ้น ผ่านโซเชียลมีเดียทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นเรื่องดีในการดูแลกำกับสื่อและผลักดันประเด็นทางสังคม 
 

พ.ต.ท. เอนก อะนันทวรรณ

อาจารย์สอนวิชาสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน กล่าวว่า ถึงแม้มักจะมีข่าวบ่อยๆ ว่าตำรวจมักเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องพื้นฐานและธรรมชาติ และถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงมีการเรียนการสอนวิชาดังกล่าวในสถาบันการศึกษาของตำรวจโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ ก็มีข้อจำกัดบ้างว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถปฏิบัติได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ประชาชนก็จำเป็นต้องตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพของตนเองด้วย  
 
ต่อคำถามที่ว่า การนำตัวผู้ต้องหาไปแถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชน ถือว่าขัดกับกระบวนการตามกฎหมายหรือไม่ เขาระบุว่า ตามหลักปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องไม่สามารถทำได้เพราะเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหา เพราะการจับกุมตามกฎหมาย ต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนตามระเบียบ แต่สื่อมวลชนมักทำกันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งเป็นการสร้างค่าธรรมเนียมผิดๆ ให้แก่สังคมและผู้ต้องหาเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net