Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์ "สุนัย จุลพงศธร" ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเพิ่งนำคณะกรรมาธิการฯ ไปเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (สปป.เกาหลี) หรือเกาหลีเหนือ ระหว่างวันที่ 28 กันยายน ถึง 1 ตุลาคมที่ผ่านมา (ข่าวก่อนหน้านี้) ทั้งนี้ไม่บ่อยนักที่จะมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างสองประเทศ โดยไทยและเกาหลีเหนือสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันมาตั้งแต่ปี 2518 ทางฝ่ายเกาหลีเหนือได้ยกระดับสำนักงานผู้แทนการค้าในกรุงเทพฯ ที่ตั้งในปี 2522 เป็นสถานเอกอัครราชทูต ขณะที่ไทยใช้สถานเอกอัครราชทูตที่ปักกิ่ง ดูแลความสัมพันธ์กับเปียงยาง

ประตูโปตงมุน ประตูเมืองโบราณตั้งอยู่ด้านทางทิศตะวันตกของเมือง ด้านหลังประตูคือย่านมันซูแด (ที่มา: เฟซบุคของสุนัย จุลพงศธร)

หอคอยจูเช สัญลักษณ์ของลัทธิจูเช ซึ่งเน้นการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ สร้างในโอกาสที่คิม อิล ซุง ผู้ก่อตั้งประเทศอายุครบ 70 ปี ในปี 2525 ที่ฐานของหอคอยมีรูปปั้นกรรมกร ชาวนา และปัญญาชน ซึ่งพรรคแรงงานเกาหลีถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ (ที่มา: เฟซบุคของสุนัย จุลพงศธร)

เยี่ยมชมฟาร์มแทดองกัง (ที่มา: เฟซบุคของสุนัย จุลพงศธร)

เข้าพบคิม ยอง อิล เลขาธิการสมัชชาประชาชน ที่ทำการพรรคแรงงานเกาหลี (ที่มา: เฟซบุคของสุนัย จุลพงศธร)

เมื่อถามเรื่องความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ทำให้เห็นบรรยากาศการเตรียมพร้อมทางทหารระหว่างที่ไปเยือนหรือไม่ สุนัยตอบว่า "เกาหลีเหนือและใต้มีประวัติศาสตร์ที่ขัดแย้งมานาน ใครดูหนังเกาหลีก็รู้ ปัจจุบันเขาก็ยังอยู่ในภาวะการณ์เช่นนั้น หลังสงครามโลกยังดำรงเป็นสองประเทศอยู่ และในอดีตเดี๋ยวก็เป็นเมืองขึ้นจีน เดี๋ยวก็เป็นเมืองขึ้นญี่ปุ่น นอกจากนี้ลักษณะภูมิประเทศอยู่ในสามมหาอำนาจใหญ่คือจีน รัสเซีย ญี่ปุ่น ทำให้เขามีระบบการป้องกันตัวเองที่เรียกว่า "ลัทธิจูเช" คือพึ่งตนเองทั้งการทหาร เศรษฐกิจ และการเมือง เขาบอกว่าเกาหลีใต้มีทหารอเมริกันอยู่ ทำให้เขาอยู่ภาวะที่ต้องเตรียมพร้อม เห็นภาวะการเตรียมพร้อมไหม เข้าใจว่าเขาเตรียมพร้อมเป็นปกติอยู่แล้ว"

ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ ซึ่งเคยไปเยือนเปียงยางเมื่อ 10 ปีก่อน และเคยเห็นหลายประเทศในภูมิภาคอินโดจีนได้แก่ ลาว กัมพูชา และเวียดนามเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านหลังสิ้นสุดสงครามเย็น กล่าวด้วยว่าในการมาเยือนเปียงยางรอบล่าสุดนี้ "ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในอิริยาบถของสิ่งก่อสร้าง และชีวิตของประชาชนในเปียงยาง แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงถ้าผมพูดในสายตาตะวันตก ยังไม่มากนักในชีวิตธุรกิจ เพราะเท่าที่ดูชีวิตธุรกิจ ภาคเอกชนยังไม่มากนัก ความสับสนของผู้คนในการเดินทาง ท่านจะเห็นว่ามหานครทั่วไปตื่นเช้าขึ้นมามีการเดินทาง แต่ประเทศเขาไม่มี แต่มีความเปลี่ยนแปลงคือเรื่องอาคารสถานที่ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น เมืองจำลอง ซึ่งผมให้ความสำคัญ ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดของเมืองจำลอง แต่นั่นเป็นสัญลักษณ์ว่าเขาเตรียมเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยว เขารวมสถานที่สำคัญๆ มาอยู่ด้วยกัน เพื่อให้คนมาท่องเที่ยวมาดูได้ในเวลาอันสั้น อย่างที่ทำที่พัทยาบ้านเรา แม้กระทั่งสวนสนุก"

"เห็นความพยายามในการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงในเชิงวัตถุ ในเชิงชีวิตยังไม่มากนัก อาจจะเพราะยังเป็นรัฐสวัสดิการร้อยเปอร์เซ็นต์ มีการวางแผนเรื่องที่พักอาศัยให้ใกล้กับที่ทำงาน ซึ่งต่างจากกรุงเทพฯ ลอนดอน เรายากที่จะหาบ้านอยู่ใกล้ที่ทำงาน ที่นั่นเขารวมศูนย์การวางแผนจากส่วนกลางทำให้การจัดการโดยรัฐง่ายขึ้น ทำให้ไม่เห็นความสับสนของการเดินทางของชีวิตคนเปียงยางในยามเช้า"

ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สุนัยกล่าวว่า ที่เกาหลีเหนือเริ่มมีตลาด แต่ตลาดส่วนใหญ่ที่เห็นยังเป็นตลาดโดยรัฐ เขากล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ ระบบการผลิตไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะกระทบกับโครงสร้างทางการเมือง ทั้งนี้รัสเซีย กับจีน เป็นผู้นำโลกคอมมิวนิสต์และเป็นประเทศแรกๆ ที่ปฏิรูปทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามรัสเซียหรือสหภาพโซเวียตในขณะนั้นเกิดความผิดพลาดในการเข้าสู่กลไกตลาด ก็ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย ขณะที่จีนเปลี่ยนแปลงอย่างระมัดระวัง โดยระบบพรรคเดียวยังอยู่ แต่เศรษฐกิจเปลี่ยนแล้ว เริ่มจากทุนโดยรัฐ แล้วค่อยๆ ขยายให้ทุนเอกชน ทั้งนี้จีนมีความใกล้ชิดกับเกาหลีเหนือ และเกาหลีเหนืออาจมองเห็นจีนเป็นต้นแบบหนึ่งในการปรับเปลี่ยน

ขณะที่สภาพปัจจุบันของเกาหลีเหนือเองยังไม่เข้าสู่ระบบกลไกตลาดเต็มที่ "จะเห็นได้ในเกาหลีเหนืออยู่ว่าการซื้อขายสินค้า ราคาข้าว ราคาอาหารไม่ใช่กลไกตลาด ดังนั้นเงินเดือนของพนักงานที่ได้รับกับรัฐ จึงบอกไม่ได้ว่าได้น้อยหรือได้มาก เพราะเงินเดือนสัมพันธ์กับการซื้อขายราคาถูก ราคาข้าว ราคาอาหารไม่แพงสำหรับคนเกาหลี ที่อยู่ในระบบรัฐสวัสดิการ"

"ผมเห็นความระมัดระวังของการปรับเปลี่ยนเพื่อไม่ให้กระทบการเมือง ถ้ามองอย่างหลักรัฐศาสตร์จริงๆ ทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เราก็อยู่ในโครงสร้างการเมืองที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย พอจะเป็นทุนเสรี ก็เกิดความขัดแย้ง เกิดรัฐประหาร นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง" สุนัยกล่าว

สุนัยเชื่อว่าเกาหลีเหนือเองก็ต้องการเปลี่ยน แต่การเปลี่ยนลักษณะโครงสร้างทางเศรษฐกิจของเขาจากรูปแบบหนึ่งสู่อีกรูปแบบหนึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะมีตัวอย่างที่พังแล้วอย่างเช่น รัสเซีย ส่วนตัวอย่างที่สำเร็จก็มีคือจีน นอกจากนี้เกาหลีเหนือยังมีสิ่งที่ท้าทาย ที่จีนและรัสเซีย ไม่มีก็คือยังมีเรื่องที่เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ดำรงการเผชิญหน้าทางทหารกันอยู่ จึงต้องมองการเปลี่ยนแปลงอย่างเข้าใจ จึงจะรู้เนื้อแท้ว่าเขาต้องการเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลง

สุนัยกล่าวถึงสิ่งที่ได้จากการไปเยือนเกาหลีเหนือว่า "ได้เรียนรู้ความเป็นจริงว่า งานการต่างประเทศของรัฐบาลยังไม่ดีเท่าไหร่" โดยเขายกตัวอย่างว่าก่อนการไปเยือนกรุงเปียงยาง มีการเชิญผู้ใหญ่ในกระทรวงการต่างประเทศมาให้ข้อมูลและมีข้อมูลผิด เช่น เรื่องห้ามนำโทรศัพท์เข้าไป โดยทางการเกาหลีเหนือจะให้เก็บไว้ในล็อกเกอร์สนามบิน ปรากฏว่าเมื่อไปถึงจริงๆ ก็นำเข้าไปได้ เพียงแต่ใช้ไม่ได้ ทั้งนี้เกาหลีเหนืออยู่ระหว่างการจัดระบบการสื่อสาร  และมีบริษัทสื่อสารบางแห่งก็เข้าไปแล้วคือบริษัทล็อกซ์เลย์ แต่ขณะนี้ยังจัดระบบโรมมิ่งไปต่างประเทศไม่ได้ เรื่องกล้องถ่ายรูปก็สามารถนำเข้าไปได้ เรื่องระบบเงินก็ได้รับข้อมูลว่าควรใช้เงินยูโร ปรากฏว่าสามารถใช้เงินสกุลดอลลาร์ได้ ในขณะที่เราเข้าใจว่า สปป.เกาหลีไม่ถูกกับสหรัฐอเมริกาแต่ปรากฏว่าสามารถใช้เงินดอลลาร์ได้

อีกเรื่องที่เป็นเรื่องโอกาสทางเศรษฐกิจ สุนัยกล่าวว่า "ประเทศไทยต้องดูตลาดของประเทศแบบนี้ ผมไปเอเชียกลาง ไปคาซัคสถานแล้ว ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดใหม่ที่ไทยต้องมุ่งเน้นไป แต่น่าเสียดายพอประเทศไหนที่ปัญหา ขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกา เราก็รู้สึกเหมือนจะอ่อนแรงไปเอง ซึ่งอยากจะเรียนว่าในประเทศที่ตลาดเปิดแล้ว มีการแข่งขันเยอะมาก ทุนที่แข่งขันได้มีแต่ทุนขนาดใหญ่ แต่อย่าลืมว่าประเทศไทยมีทุนขนาดกลางและทุนขนาดเล็กอีกซึ่งมีความเข้มแข็งไม่น้อย เรามีโรงสีเต็มเมืองไทย เชื่อไหมครับอย่างประเทศเพื่อนบ้าน เราไม่มีกระบวนการผลักดันให้ลงทุนต่างประเทศ อย่างกัมพูชาติดกันแค่นี้ยังขาดแคลนโรงสี ขาดโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเยอะแยะ"

"ผมคิดว่าประเทศ สปป.เกาหลี เป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะผลักทุนขนาดกลางและทุนขนาดเล็กของไทยเข้าไปมีบทบาท ไปลงทุนและแลกเปลี่ยนประโยชน์ร่วมกัน อย่างช่วงก่อนหน้านี้ มีบริษัททุนของไทยเข้าไปลงทุนเบียร์ลาวกับเขา วันนี้เบียร์ลาวก็ประสบความสำเร็จแล้ว ที่สำคัญก็คือลาว เวียดนาม กัมพูชาเปิดประเทศใหม่ๆ ช่วงแรกทุนขนาดใหญ่จากตะวันตกจะไม่เข้าเหมือนกัน เขามีปัญหาเรื่องระบบการจัดการ ที่จะต้องเป็นระบบทั้งระบบภาษี ระบบบัญชี ซึ่งทุนขนาดเล็กของไทยน่าจะสู้ได้ น่าจะเป็นกองหน้าบุกไปยึดหัวหาดก่อน แต่เราก็ไม่ได้ทำ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net