กองทัพพม่าเดินหน้าทำโครงการขนาดใหญ่มากขึ้น ไม่ฟังเสียง ปชช. แม้ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

หลังรัฐประหารพม่าเป็นต้นมา การปกครองพม่าตอนนี้เป็นระบบรวมศูนย์ เศรษฐกิจทรุดหนัก ทำให้กองทัพเตรียมเดินหน้าโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่หลายโครงการ อาทิ เขื่อนในสาละวิน เพื่อดึงนักลงทุนต่างชาติ โดยไม่ฟังเสียงประชาชน แม้ว่าจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ด้าน รมช.พลังงาน รัฐบาล NUG ชี้พม่าอาจเป็นประเทศแรกที่คนต้องอพยพเพราะวิกฤตสภาพอากาศ

(ที่มา วิชัย จันทรวาโร)

26 ก.ย. 64 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานวันนี้ (26 ก.ย.) เวลา 9.30-11.30 น. องค์กรเสมสิกขาลัย กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง และคณะทำงานติดตามความรับผิดชอบการลงทุนข้ามพรมแดน (ETOs Watch Coalition) ร่วมกันจัดเวทีอภิปรายในหัวข้อ "เมียนมากับกระบวนการพัฒนาแบบย้อนกลับ : แนวโน้มโครงการพัฒนาขนาดใหญ่หลังรัฐประหารที่อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานสัปดาห์สิ่งแวดล้อมแม่โขง-อาเซียน ประจำปี 2564 (Mekong-ASEAN Environmental Week 2021 - MAEW2021) ขึ้น เพื่อวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่เกิดจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน สังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต หลังการรัฐประหาร

วรวรรณ ศุกระฤกษ์ จากคณะทำงานติดตามความรับผิดชอบของการลงทุนข้ามพรมแดน (ETOs Watch Coalition) กล่าวเปิดด้วยสถานการณ์การรัฐประหาร และภาพรวมของปฏิกิริยาจากนักลงทุน และสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในเมียนมาว่า ตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาถูกประณามจากทั่วโลก นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ในเมียนมาไม่เห็นด้วย ส่งผลให้การลงทุนในเมียนมาเริ่มชะลอตัวลง เกิดความไม่แน่นอนทั้งในเมียนมา และทั่วโลก ประชาชนลุกขึ้นประท้วงอย่างแพร่หลาย มีการใช้ขบวนการอารยะขัดขืนเพื่อต่อต้านการคุมอำนาจโดยทหาร ฝ่ายต่อต้านเคลื่อนไหวและต่อต้านอย่างแพร่หลาย ทางสหประชาชาติมีการดำเนินมาตรการควบคุมผลประโยชน์ของทหาร หลายประเทศเองก็ดำเนินการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อกองทัพเมียนมา และพวกพ้อง 

มอทุนอ่อง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานแห่งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) กล่าวย้ำถึงปูมหลังของการรัฐประหารในเมียนมาว่า สถานการณ์ในเมียนมาตอนนี้ไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นจากสื่อทั้งหมด เพราะเมื่อทหารเมียนมาพยายามเปลี่ยนถ่ายอำนาจนั้น ไม่ใช่เพียงการควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นการโค่นล้มโดยระบอบประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้น ประชาชนจึงลุกขึ้นมาตอบโต้เป็นวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ไม่ใช่แค่ความต้องการให้รัฐบาลเลือกตั้งกลับมา แต่ประชาชนฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2551 ที่ถูกเขียนขึ้นโดยกองทัพด้วย 

นับแต่มีการรัฐประหาร บรรดานักธุรกิจ ชนชั้นกลาง ไปจนถึงเยาชนที่เติบโตมากับวัฒนธรรมฮิปฮอป มีบทบาทอย่างมาก พวกเขาอยู่แถวหน้าของการปฏิวัติในครั้งนี้ไม่ได้นำโดยชนชั้นสูง แต่นำโดยประชาชนทั่วไป 

ในแง่มุมทางเศรษฐกิจนั้นมีการประกาศจากธนาคารพัฒนาเอเชีย พวกเราไม่ได้เน้นเรื่องการเติบโต เพราะยิ่ง GDP เติบโตมากเท่าไหร่ สิ่งแวดล้อมก็ยิ่งถูกทำลายมากเท่านั้น ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB กล่าวว่า GDP ของเมียนมาจะลดลงกว่า 18% ค่าเงินเมียนมาสูญเสียมูลค่าไปกว่า 50% และยากที่เศรษฐกิจของเมียนมาจะกลับมาฟื้นตัวได้ 

แม้ทั่วโลกจะมีการรัฐประหารเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นไม่มากมายและรอบด้านเท่าเมียนมาในขณะนี้ ส่วนตัวคาดว่าเศรษฐกิจเมียนมาจะล่มสลายในไม่ช้า อีกทั้งสถานการณ์โควิด-19 ระลอกสามก็ทำให้ประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก 

วิธีการที่ใช้ในการปราบปรามประชาชนตอนนี้ก็รุนแรงมากจนส่งให้ภาคธุรกิจยอมรับไม่ได้ ภาคสาธารณสุขเองประชาชนไม่ใช้การรักษาจากโรงพยาบาล เพราะไม่มีหมอ แพทย์อาสาต่างๆ ที่ช่วยเหลือประชาชนในเรื่องโรคโควิด-19 ก็ถูกจับกันเป็นจำนวนมาก ประชาชนต้องดูแลกันเอง 

แม้ว่าเมียนมจะเปิดประเทศตั้งแต่ปี 2555 โดยมีมาตรการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ และมีโครงการพัฒนาต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาก แต่กฎหมายและกฎระเบียบที่คุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมก็ยังคงอ่อนแออยู่แล้ว หลังจากมีการรัฐประหารก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รัฐบาลพยายามเน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น เขื่อน ก่อนหน้าในรัฐบาล NLD ยังมีการเปิดให้มีการหารือกับประชาชนเกี่ยวกับโครงการขนาดใหญ่ แต่ตอนนี้ไม่มีการหารือใดๆ เกี่ยวกับโครงการที่จะส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม มีการเร่งรัดดำเนินโครงการลักษณะนี้ รัฐบาลตัดสินใจฝ่ายเดียว ทำได้ฝ่ายเดียว

รัฐธรรมนูญให้อำนาจปกครองและอำนาจศาลกับทหารอย่างมาก พอทหารรวบอำนาจได้ก็มีการแก้ไข ก้าวข้ามกฎหมายที่มีอยู่เดิม ละเลยกฎหมายที่มีการบัญญัติขึ้นในช่วงรัฐบาลประชาธิปไตย ไม่ใส่ใจความทุกข์ยากของประชาชน 

พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพพม่า และผู้นำคณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 64

มอทุนอ่อง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเมียนมาเป็นสมาชิกในความริเริ่มความโปร่งใสในอุตสาหกรรมสกัด (Myanmar Extractive Industries and Transparency Initiatives : MEITI) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับบริษัทที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมสกัดต่างๆ ได้ แต่พอมีการรัฐประหาร กระบวนการนี้ก็จบสิ้นลง รัฐประหารทิ้งขั้นตอนของ MITI ไปเลย

ในส่วนของผลกระทบทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น การรัฐประหารครั้งนี้ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติทั้งแร่และป่าไม้ซึ่งอยู่ในพื้นที่ชาติพันธุ์ต่างๆ ทรัพยากรเหล่านี้อยู่ในพื้นที่เขตภูเขา เพราะฉะนั้น การยกเลิกมาตรการสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของรัฐบาลทหารเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะประชาชนไม่สามารถทราบได้เลยว่าพวกเขาจะไปดึงเอานักลงทุนทั้งไทยและจีนต่างๆ เข้ามาในอุตสาหกรรมสกัดมากขึ้นหรือไม่

รัฐมนตรีช่วยพลังงานแห่งรัฐบาล NUG กล่าวว่า “การรัฐประหารทุกครั้งนั้นเกี่ยวพันกับโครงการขนาดใหญ่ทั้งสิ้น เพราะพวกเขาควบคุมสิ่งเหล่านี้ไว้ในมือ อาทิ โครงการท่อก๊าซที่ส่งก๊าซเข้ามาในประเทศไทย” การที่ทหารจะอยู่รอดได้ในอดีตในฐานะรัฐบาลจะยิ่งส่งผลกระทบต่อโครงการต่างๆ อย่างแน่นอน เช่น โครงการเขื่อนขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นบนลำน้ำหลายสาย พวกเขาต้องการเปิดเขตการค้าเสรี พยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยละเลยมาตรการ้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

“สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและรุนแรงนี้ทำให้นักลงทุนลังเลอย่างมาก เพราะหากว่าลงทุนไปแล้วในเรื่องของภาวะค่าเงินตกต่ำเช่นนี้ ก็จะทำให้เงินที่ได้มาไม่มีค่าเท่าเดิมอย่างที่คาดการณ์ไว้” รมช. พลังงาน แห่ง NUG คาดการณ์

นอกจากนี้ ทางมอทุนอ่องยังได้ให้ข้อมูลและความเห็นเพิ่มเติมว่าด้วยสภาพความขัดแย้ง และการปะทะทางอาวุธ โรคระบาด และความขาดแลนทั้งรายได้และอาหาร รวมถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ย่ำแย่อย่างมากในเมียนมาขณะนี้ ในอนาคตอาจส่งผลให้ “เมียนมาเป็นประเทศแรกที่มีผู้อพยพย้ายถิ่นจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ” 

ด้านซอตาโป จากองค์กร KESAN กล่าวถึงสถานการณ์และความคืบหน้าของโครงการพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ ของเมียนมาว่า ในรัฐกะเหรี่ยง กองทัพเมียนมาเข้ามาทิ้งระเบิดในหลายจุด มีการต่อสู้และใช้อาวุธต่อกองทัพชาติพันธุ์และประชาชนในพื้นที่ ส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นเป็นจำนวนมาก ตอนนี้มีมากกว่า 7,000-8,000 คนที่ต้องออกจากพื้นที่ไป ทหารพยายามพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะหลังเกิดรัฐประหารไม่สามารถควบคุมเศรษฐกิจประเทศได้ เพราะประชาชนไม่ยอม เพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อหารายได้ เช่น มีการสร้างเขื่อนฮัตจี คงจะมีการดำเนินการต่อไป เพราะอยู่ในแผนของทั้งพม่าและนักลงทุนในจีน ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะนำมาใช้ในประเทศ เพราะว่ารายได้ของประเทศของตอนนี้มีน้อย นักลงทุนและสถาบันการเงินพยายามที่จะหลีกเลี่ยงและหยุดให้ทุนแก่ทหาร ในพื้นที่ยังคงมีการต่อสู้อย่างมาก ในเขตนั้นมีผู้พลัดถิ่นมากกว่าแปดพันคน ทหารเข้ามาควบคุมพื้นที่ดังกล่าว ไม่มีองค์กรด้านมนุษยธรรมเข้ามาทำงาน แต่ว่ามีการแบ่งปันเรื่องอาหารหรือสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยหน่วยงานอาสาสมัครพยายามนำสิ่งของและความช่วยเหลือต่างๆ ไปให้ มีการสร้างถนนเข้าไปในพื้นที่ที่จะมีการสร้างเขื่อนฮัตจี โดยกองทัพเมียนมาบังคับใช้แรงงานจากผู้พลัดถิ่นเพื่อสร้างถนนสายนี้ด้วย

ในรัฐคะฉิ่น ทางเราทำงานอย่างใกล้ชิดหลังรัฐปะหาร พวกเขาต้องการใช้ทรัพยากรในที่ของตัวเอง โดยมีโครงการขนาดเล็กเพื่อขุดและร่อนแร่ ทางภาคประชาสังคมในเมียนมาพยายามติดตามโครงการพัฒนาต่างๆ แต่ก็เสี่ยงต่อการถูกโจมตีโดยทหารและกองกำลังกึ่งทหาร นี่คือสถานการณ์ที่ท้าทายอย่างมาก

ในพื้นที่รัฐฉาน มีการสร้างความร้อนในโรงงานความร้อนร่วมโดยใช้ปูนซีเมนต์ว่า โครงการดังกล่าวส่งผลกระทบด้านสุขภาพ และแหล่งน้ำในชุมชน หลังเกิดรัฐประหารองค์กรภาคประชาสังคมก็ไม่สามารถเข้าไปติดตามได้ ในพื้นที่ที่จีนเข้ามาลงทุน โครงการเหล่านี้เนื่องจากมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับนักลงทุนจีน เราจึงไม่สามารถติดตามหาข้อมูลได้ เพราะเราไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอ ในแม่น้ำสาละวิน มีแผนที่จะสร้างเขื่อนทั้งหมด 5 แห่ง โดยเขื่อนฮัตจีเป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งโครงการนี้ได้รับการอนุมัติไปแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการดำเนินโครงการ อย่างไรก็ตาม ทางชุมชนและภาคประชาสังคมในพื้นที่พบเห็นแรงงานชาวจีนเข้ามาในพื้นที่เป็นจำนวนมาก คาดว่าเพื่อรอการดำเนินโครงการ นอกจากนี้ ในพื้นที่ดังกล่าวก็มีการสร้างสะพานขึ้นมาใหม่ด้วย โดยสะพานนี้เป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เชื่อมโยงกับจีน

ทางด้านชายแดนไทยมีโครงการผันน้ำยวม ซึ่งในไทยเองก็ยังมีความขัดแย้งอยู่มาก แต่ชุมชนฝั่งรัฐกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่เองก็ยังไม่มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบที่ประชาชนจะได้รับแต่อย่างใด

ผศ.นฤมล ทับจุมพล จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงระบบการปกครองของเมียนมาว่า ก่อนหน้านี้เมียนมาเป็นรัฐสองระบบ (hybrid regime) แต่พอยึดอำนาจ รัฐประหารรัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชน เมียนมาก็ได้กลายเป็นรัฐอำนาจนิยมแบบรวมศูนย์เต็มรูปแบบ 

ผศ.นฤมล ทับจุมพล จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.นฤมล เสนอให้พิจารณาถึงองค์ประกอบ 3 ประการที่ทำให้เมียนมากลายเป็นรัฐอำนาจนิยมรวมศูนย์ในขณะนี้ว่า ประการแรก คือ การบริหารเครือข่ายความไว้วางใจต่างๆ เครือข่ายต่างๆ มีผลกระทบอะไรต่อการเมืองบ้าง เราจะเห็นว่ากลุ่มเหล่านี้มีอำนาจและพื้นที่ของพวกเขา 

อันที่สอง ความเหลื่อมล้ำ พวกเขาต้องการประคับประคองความไม่เท่าเทียมไว้ ทรัพยากรธรรมชาติส่วนใหญ่แม้จะอยู่ในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ แต่ก็จะมีความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ด้วย วิธีการหารายได้ของแต่ละกลุ่มก็มีความเหลื่อมล้ำกัน 

ประการที่สาม จะเห็นว่ามีอำนาจที่รวมศูนย์อยู่ จากเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่จากการรัฐประหารทำให้อำนาจของทหารครอบคลุมทุกอย่าง นี่ซึ่งคือปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่างๆ ของการพัฒนาประชาธิปไตย

ย้อนกลับไปปี 2010-2021 เมียนมามีการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาประเทศโดยเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ จะเห็นได้ว่ามีกระบวนการพัฒนาเมือง การขยายเครือข่ายสื่อมวลชนอย่างรวดเร็ว แต่ปัจจัยเหล่านี้ถูกควบคุมภายใต้อำนาจเดี่ยวรวมศูนย์ของกองทัพ อีกทั้งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสูงขึ้น เสรีภาพสื่อก็สูงขึ้น แต่แน่นอนว่าผลกระทบเชิงลบก็มีมากหลังจากมีการดำเนินโครงการขนาดใหญ่

หลังรัฐประหาร โครงการเหล่านี้ส่งผลกระทบร้ายแรงยิ่งขึ้น ตั้งแต่รัฐบาล NLD ก็มีการพูดกันเกี่ยวกับพัฒนาอุตสาหกรรมยุคใหม่ มีทั้งคนที่จะเข้ามาลงทุนโดยอาศัยโอกาสนี้ มีทั้งนักลงทุนที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก 

จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแม้เศรษฐกิจจะติดลบ แต่เชื่อว่าในอนาคตทหารจะพยายามหาทางฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่คิดว่าประชาชนและภาคประชาสังคมอาจจะหยุดยั้งการลงทุนที่เป็นทางการได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือการลงทุนอย่างไม่เป็นทางการ ดังนั้น การลงทุนจากต่างชาติจึงนับว่าเป็นกระดูกสันหลังเลยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา 

กลุ่มที่รวบอำนาจควบคุมทั้งนโยบายเศรษฐกิจและสังคมทุกทาง หลังรัฐประหารเราเห็นว่าที่ประกาศไว้ตอนแรกว่าจะเข้ามาแค่หนึ่งปีก็ขยายเป็นสองปี และมีการประกาศภาวะฉุกเฉินเรื่อย ๆ ประชาชนไมมีสิทธิใดๆ 

ฝ่ายต่อต้านถูกจับกุมจำนวนมาก ผู้นำพรรค NLD ถูกจับกุม นี่จะสร้างปัญหาให้ความขัดแย้งมีสูงขึ้น ไม่มีกระบวนการใดๆ ที่เชื่อถือได้ เพราะเมื่อมีการยืดเวลาประกาศภาวะฉุกเฉินก็ยิ่งมีการปะทะมากขึ้นเรื่อยๆ 

ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา การปะทะด้วยอาวุธไม่ได้เกิดแค่ในรัฐชาติพันธุ์ แต่เกิดในภูมิภาคต่างๆ ที่เป็นของคนพม่าด้วย เช่น สะไกน์ การปะทะโดยการใช้อาวุธส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง จะเห็นได้ว่ามีผู้พลัดถิ่นจำนวนมาก จะเห็นได้ว่ามีการจัดตั้งศูนย์พักพิงหรือศูนย์อพยพทั้งในเมียนมา และชายแดนไทย และบังคลาเทศเพิ่มขึ้นมาก และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจะมีคนที่อพยพออกนอกประเทศอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อหนีการประหัตประหารอันเกิดจากความรุนแรงทางอาวุธ 

“รัฐบาลไทยต้องให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยมีการจัดตั้งศูนย์พักพิงเพิ่มขึ้น เพราะจะต้องมีประชาชนจากเมียนมาหาทางหนีออกนอกประเทศอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” นฤมล กล่าว

ผู้อำนวยฝ่ายวิจัยจากสถาบันเอเชียศึกษาให้ความเห็นเกี่ยวกับอาเซียนว่า หากพิจารณานโยบายของไทยและอาเซียนจะเห็นว่า ไทยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในการรองรับผู้อพยพเข้ามา แต่คิดว่าในอนาคตจะต้องมีการจัดตั้งศูนย์ทางฝั่งของเมียนมา เพื่อรองรับสถานการณ์เหล่านี้

การล่มสลายของระบบสาธารณสุขในเมียนมาที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารและขบวนการอารยะขัดขืน การประท้วงการบริหารของทหารโดยข้าราชการและแรงงานในระบบ เท่าที่ทราบ คือมีผู้ติดเชื้อจากโควิดมากกว่าสองหมื่นคนต่อวัน 

สำหรับแรงงานเพื่อนบ้านชาวเมียนมาที่ทำงานในไทย ขณะนี้ก็ส่งเงินกลับบ้านได้ยาก เพราะระบบธนาคาร และการเงินล่ม ไม่สามารถส่งเงินในช่องทางที่เป็นทางการได้ นอกจากนั้น ระบบที่จะต้องติดต่อกับทางรัฐบาลต่างๆ เอกสารต่างๆ ก็ไม่มีบริการใดๆ ให้เลย

แม้การรัฐประหารจะผ่านมากว่า 7 เดือนแล้ว อาเซียนก็ไม่ทำอะไรที่เป็นรูปธรรมนอกจากประชุม หากพิจารณาถึงฉันทามติที่ออกมาจะเห็นว่าอาเซียนไม่สามารถบอกใครหรือฝ่ายใดให้หยุดใช้ความรุนแรงได้ การสนทนาเชิงสร้างสรรค์เองก็ไม่เกิดขึ้น ฉันทามติ 5 ข้อ กลายเป็นการผ่อนผันให้กองทัพเมียนมาให้ใช้ความรุนแรงต่อเนื่องยาวนานขึ้น และแม้อาเซียนจะมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีต่างประเทศของบรูไน ในฐานะประธานอาเซียนให้เป็นทูตอาเซียนในกรณีเมียนมา แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินงานใดๆ เพื่อให้สถานการณ์ในเมียนมาดีขึ้น

“อาเซียนกล่าวว่าจะมีการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อชาวเมียนมาผ่านศูนย์ประสานงานการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียน หรือ AHA Center เห็นบอกว่าจะมีการสนับสนุนด้านอาหาร แต่ก็ไม่เห็นมีการกระทำใดเกิดขึ้น มีแต่การช่วยเหลือที่มาจากองค์กรภาคประชาสังคม” นฤมล กล่าว 

การประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษ เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 64 เพื่อคลี่คลายวิกฤตการเมืองพม่า (ที่มา กระทรวงต่างประเทศ)
 

ผศ.นฤมล คาดการณ์แนวโน้มของการพัฒนาในเมียนมาว่าโครงการพัฒนาต่างๆ หลังจากการรัฐประหารจะเป็นการหารายได้ให้กับกองทัพเมียนมามากกว่าประชาชน “บางเขื่อนบนลำน้ำสาละวินน่าเศร้ามาก เพราะมีบริษัทจากไทยเข้าไปลงทุนด้วย หลังรัฐประหารโครงการเหล่านี้จะเป็นภัยคุกคามอย่างมากต่อประชาชน เพราะไม่สามารถตรวจสอบอะไรทหารได้เลย

หลังจากนี้เราคงจะเห็นวามไม่มั่นคงในชีวิตของประชาชนมากขึ้น เราเห็นการปะทะทางอาวุธ ระบบสาธารณสุขที่ล่มสลาย และความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิขั้นพื้นฐานขอองประชาชน สิ่งเหล่านี้จะสูญหายไป ความขัดแย้งระหว่างชุมชนอาจลดลง แต่ความขัดแย้งระหว่างรัฐชาติพันธุ์กับกองทัพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมียนมาจะกลับไปเป็นประเทศยากจนที่สุดในอาเซียน ประชาชนต้องกระเสือกระสนหาทางเอาตัวรอกด และก็คงมีการลักลอบเข้าเมืองและมีขบวนการค้ามนุษย์เกิดขึ้นแน่นอน

หมายเหตุ :  กิจกรรมเวทีอภิปราย หัวข้อ "เมียนมากับกระบวนการพัฒนาแบบย้อนกลับ : แนวโน้มโครงการพัฒนาขนาดใหญ่หลังรัฐประหารที่อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" เป็นส่วนหนึ่งของสัปดาห์สิ่งแวดล้อมแม่โขง-อาเซียน 2564 หัวข้อ “ออกแบบอาเซียนใหม่ เสียงประชาชนในโลกวิกฤต” ซีรีส์เสวนาและงานฉายภาพยนตร์ประเด็นสังคม-สิ่งแวดล้อมร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างวันที่ 24-30 ก.ย.นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท