Skip to main content
sharethis

ศาลปกครองสงขลานัดอ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีสลายการชุมนุมชาวบ้านจะนะ เมื่อปี 2545 วันที่ 16 ม.ค.นี้ เอ็นจีโอหวังคำตัดสินจะสร้างบรรทัดฐานการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ต่อการชุมนุมโดยสงบของชาวบ้าน

 
 
 
“เราอยากปกป้องบ้านเกิด ปกป้องทรัพยากรที่สืบทอดมาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวด เอาไว้ให้ลูกหลาน” คำกล่าวของนางสุไรด๊ะห์ โต๊ะหลี ชาวบ้าน อ.จะนะ จ.สงขลา ผู้ร่วมในเหตุการณ์สลายการชุมนุมชาวบ้านจะนะ เมื่อปี 2545 หลังจากเดินทางมาร่วมรับฟังการพิจารณาคดีนัดแรกของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 13 ก.ย.54
 
นับตั้งแต่ปี 2546 ที่มีการฟ้องร้องของกลุ่มชาวบ้าน ในคดีหมายเลขดำที่ 454/2546 คดีหมายเลขแดงที่ 51/2549 เพื่อฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้คัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซ ไทย-มาเลเซีย เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.45
 
นางสุไรด๊ะห์ ย้ำด้วยว่า วันนั้นชาวบ้านไม่มีอาวุธ ชาวบ้านไม่ได้ไปรบ เพียงแต่ต้องการเข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นที่เดินทางไปที่โรงแรม เจบี.หาดใหญ่ จึงอยากไปพบเพื่อคัดค้านโครงการดังกล่าว
 
ขณะนี้ ศาลปกครองสงขลากำหนดนัดอ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีประวัติศาสตร์การละเมิดเสรีภาพการชุมนุม อันเกี่ยวเนื่องจากการใช้สิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน หลังผ่านมานานกว่า 10 ปี ในวันที่ 16 ม.ค.56 เวลา 9.30 น.ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลปกครองสงขลา
 
ด้าน น.ส.ศุภวรรณ ชนะสงคราม นักพัฒนาเอกชนในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา กล่าวตั้งความหวังว่า คำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ต้องรับผิดรับชอบ และไม่ละเมิดสิทธิในการชุมนุมโดยสงบภายใต้กรอบสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องชุมชน อีกทั้งสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการ ปกป้อง และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะมีมาตรฐานที่เปลี่ยนไปหลังจากนี้ด้วย
 
 
สำหรับลำดับเหตุการณ์ของคดีดังกล่าว เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.49 ศาลปกครองสงขลาได้มีคำพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ต้องชำระเงินแก่ชาวบ้าน รายละ 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ส่วนเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในสังกัดจังหวัดสงขลา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) และกระทรวงมหาดไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ไม่ปรากฏว่ามีส่วนร่วมในการกระทำละเมิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ด้วย จึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1
 
ต่อมา สตช.ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองสงขลาต่อศาลปกครองสูงสุด ในประเด็นว่าศาลปกครองสงขลาพิพากษาเกินกว่าคำร้องที่รับฟ้อง และการปราบปรามเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยมิชอบ
 
ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ก.ย.54 ในการพิจารณาคดีนัดแรกของศาลปกครองสูงสุด ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นให้ยืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสงขลา โดยคำแถลงมีสาระสำคัญคือ การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดเสรีภาพการชุมนุม เนื่องจากการชุมนุมของชาวบ้านเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แม้จะมีการยึดอาวุธ เช่น หนังสติ๊ก ด้ามไม้ มีดสปาต้า แต่มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับผู้มาชุมนุมจึงถือเป็นกรณีเฉพาะราย ส่วนกรณีการใช้ด้ามธงต่อสู้กับกระบองของตำรวจนั้น ถือเป็นอาวุธตามสภาพ ชาวบ้านไม่ได้มีเจตนาพกพาเพื่อก่อความรุนแรง
 
อย่างไรก็ตาม ความเห็นตุลาการผู้แถลงคดี แม้จะเป็นความเห็นตามกระบวนพิจารณาคดีปกครอง แต่ไม่ได้ผูกพันองค์คณะในการพิพากษาคดี
 
ส่วนประเด็นที่ทนายความผู้ฟ้องคดีจากโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (ENLAW) ตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นบรรทัดฐานต่อไป คือ การทำให้เห็นว่าการชุมนุมโดยสงบภายใต้กรอบสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร และเจ้าหน้าที่รัฐควรดำเนินการอย่างไรเมื่อเกิดการชุมนุมประท้วง
 
 
จากข้อมูลของโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (ENLAW) ระบุว่า เหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.45 บริเวณสะพานจุติ บุญสูง ใกล้โรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้รวมตัวกันชุมนุมโดยสงบ เพื่อเตรียมไปยื่นหนังสือเสนอข้อเรียกร้อง ให้รัฐบาลทบทวนการอนุมัติโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ต่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชิณวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งมีกำหนดการเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ณ โรงแรมดังกล่าว ในวันที่ 21 ธ.ค.45
 
เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมาถึงอำเภอหาดใหญ่ บริเวณถนนจุติอนุสรณ์ ใกล้โรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ ก็ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้กำหนดให้เส้นทางโดยรอบโรงแรมเป็นพื้นที่ รักษาความปลอดภัย โดยตั้งแผงเหล็กและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแถวปิดกั้นไว้บริเวณสะพานจุติ บุญสูง ซึ่งอยู่ห่างจากโรงแรมประมาณ 400 เมตร ผู้ร่วมชุมนุมจึงหยุดรอหน้าแผงเหล็กและรอการเจรจาเพื่อขอเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมเข้าไปบริเวณสวนหย่อมใกล้อาคารจอดรถของโรงแรม อันเป็นจุดนัดหมายที่ได้กำหนดไว้ก่อนแล้ว
 
แต่ในระหว่างที่กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านหยุดรอการเจรจา และกำลังจับกลุ่มกันรับประทานอาหาร และประกอบพิธีละหมาดตามหลักทางศาสนาอิสลามอยู่นั้น ในเวลาประมาณ 21.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เข้าสลายการชุมนุม และจับกุมผู้ชุมนุมบางส่วน เป็นเหตุให้มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ รถยนต์ที่ใช้เป็นพาหนะ ได้รับความเสียหาย และไม่สามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้
 
ต่อมา ผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมจึงได้ยื่นขอให้สภาทนายความดำเนินการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสงขลา เพื่อเรียกค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามที่มาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ได้รับรองและคุ้มครองไว้ โดยมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งถือเป็นคดีแรกที่มีการฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหายต่อหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ จากการละเมิดเสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ
 
 
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซ ไทย-มาเลเซีย ของบริษัททรานส์ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ถือเป็นการพัฒนาการใช้ประโยชน์ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพัฒนาร่วม (JDA) โดยการร่วมทุนระหว่าง ปตท.และบริษัทปิโตรนาส กาลิการี่ ของมาเลเซีย ในอัตราส่วน 50:50 มีมูลค่าการลงทุนราว 40,000 ล้านบาท
 
ตัวโครงการประกอบด้วยการวางท่อในทะเลจากแหล่งผลิตมาขึ้นฝั่งที่ อ.จะนะ ไปเชื่อมต่อกับระบบในประเทศมาเลเซียผ่านทางชายแดน อ.สะเดา จ.สงขลา รวมระยะทาง 353 กิโลเมตร แนวท่อก๊าซบนบกจะพาดผ่านพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ อ.จะนะ อ.นาหม่อม อ.หาดใหญ่ และอ.สะเดา ใน 15 ตำบล 49 หมู่บ้าน ส่วนโรงแยกก๊าซ เป็นโรงแยกขนาดกำลังผลิต 425 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน คาดว่าจะตั้งอยู่ในเขตคาบเกี่ยวระหว่างบ้านตลิ่งชันและบ้านโคกสักของ อ.จะนะ
 
กลุ่มชาวบ้านผู้คัดค้านโครงการดังกล่าวเห็นว่าการดำเนินโครงการฯ ซึ่งได้รับอนุมัติจากรัฐบาลนั้นเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบ กระบวนการจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบกระทำไปโดยไม่ชอบ อีกทั้งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก็จัดทำโดยคลาดเคลื่อน ไม่ครบถ้วนตามความเป็นจริง และมีหลักฐานหลักฐานน่าเชื่อถือได้ว่า ผลการดำเนินโครงการจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของชุมชน และเป็นการจัดการทรัพยากรของชาติที่ส่งผลเสียหายต่อส่วนรวม
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net