Skip to main content
sharethis

 

เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญา ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.1121/2554 ซึ่งอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง จ.ส.ต.ปริญญา มณีโคตม์ ในข้อหามีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย พิพากษาจำคุก 10 ปี

โดยศาลอ่านคำพิพากษาระบุว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 53 ซึ่งผู้ชุมนุม นปช. มีการเคลื่อนขบวนผ่าน ถ.วิภาวดี ตำรวจจึงได้ตั้งด่านเพื่อตรวจค้นรถยนต์ที่ผ่านเข้า-ออกในบริเวณดังกล่าว ต่อมาเวลาประมาณ 16.00 น. มีรถมอเตอร์ไซด์คันหนึ่งซึ่งมีคนขับเป็นชายสวมหมวกกันน็อกสีแดง ตะกร้าด้านหน้ารถมอเตอร์ไซด์มีถุงสีดำ 1 ใบวางอยู่ และด้านท้ายรถมอเตอร์ไซด์บรรทุกกล่องซึ่งห่อหุ้มด้วยถุงสีดำเข้ามาในพื้นที่ ตำรวจจึงเรียกให้คนขับมอเตอร์ไซด์คันดังกล่าวหยุดเพื่อขอตรวจค้น คนขับยอมหยุดรถแต่ไม่ดับเครื่อง เมื่อตำรวจ 2 คนเข้าไปเรียกรถมอเตอร์ไซด์คันดังกล่าวจอดชิดริมขอบฟุตบาท แต่จังหวะที่ตำรวจเผลอ คนขับได้เร่งเครื่องเพื่อหลบหนี ตำรวจขับรถมอเตอร์ไซด์ติดตาม แต่ติดตามไม่ทันจึงเรียกให้ทหารที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุขับรถมอเตอร์ไซด์ติดตามรถมอเตอร์ไซด์คันดังกล่าว

คนขับรถมอเตอร์ไซด์คันดังกล่าวขับหนีเข้าไปทาง ถ.วิภาวดี และทำถุงสีดำซึ่งวางอยู่ตะกร้าด้านหน้ารถมอเตอร์ไซด์ตกพื้น ทหารจึงได้ยึดถุงสีดำดังกล่าวไว้ และติดตามรถมอเตอร์ไซด์คันดังกล่าวไปอีก เมื่อรถมอเตอร์ไซด์คันดังกล่าวหลบเข้าไปในซอยๆ หนึ่ง ทหารได้ติดตามไป แต่ปรากฏว่า คนขับได้ทิ้งรถมอเตอร์ไซด์จอดพิงกำแพงไว้ และทิ้งกล่องที่หุ้มด้วยถุงดำ, หมวกกันน็อก, เสื้อคลุม, ถุงมือ และวัตถุพยานอื่นๆ ไว้ ทหารจึงเรียกหน่วยเก็บกู้ระเบิดเข้ามาตรวจสอบ ปรากฏว่า พบกระเป๋าเงินอยู่ภายในถุงสีดำซึ่งอยู่ในตะกร้าด้านหน้าของมอเตอร์ไซด์ ภายในกระเป๋าเงินพบบัตรประจำตัวข้าราชการ, บัตรประชาชน และบัตรสมาชิกชมรมกีฬา ซึ่งปรากฏชื่อของจำเลยอยู่ และยังตรวจพบวัตถุระเบิดจำนวนมากอยู่ในกล่องที่หุ้มด้วยถุงดำอีกด้วย ทหารจึงได้แจ้งความต่อตำรวจ

ตำรวจได้ส่งของกลางที่ยึดได้ให้กับสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจเพื่อทำการตรวจสอบ ปรากฏว่า ระเบิดดังกล่าวเป็นระเบิด M79 ซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตได้ และยังตรวจพบ DNA ซึ่งตรงกับของจำเลยอยู่บนหมวกกันน็อกสีแดงอีกด้วย ตำรวจให้การยืนยันว่า เห็นใบหน้าของชายคนขับรถมอเตอร์ไซด์คันดังกล่าว แม้จะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาอันสั้น และมีฝนตกปรอยๆ ก็ตาม เนื่องจากเป็นเวลากลางวัน และยังได้ไปชี้ตัวจำเลยในเรือนจำธัญบุรีได้อย่างถูกต้องอีกด้วย

ศาลเห็นว่า คำให้การของตำรวจสอดคล้องกัน ยากที่จะเป็นการแต่งเรื่องขึ้น นอกจากนี้ DNA ที่ตรวจพบจากหมวกกันน็อกสีแดงเป็นสิ่งที่ยากที่จะปลอมแปลง คำเบิกความของตำรวจจึงรับฟังได้ ส่วนคำให้การของจำเลยที่ว่า วันดังกล่าวจำเลยได้รับการมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้แฝงตังเข้าไปในผู้ชุมนุม นปช. โดยไม่ได้ขับขี่มอเตอร์ไซด์ และคำให้การที่ว่า การตรวจพบ DNA บนหมวกกันน็อกสีแดงเกิดจากจำเลยถูกตำรวจหลอกให้สวมหมวกกันน็อกจนทำให้หมวกกันน็อกดังกล่าวติด DNA ของจำเลยนั้น ศาลเห็นว่า หากหมวกกันน็อกดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลยย่อมต้องไม่พบ DNA ของจำเลย อีกทั้งการกล่าวอ้างของจำเลยดังกล่าวเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ เท่านั้น

อัยการร้องขอให้ศาลนับโทษในคดีนี้ ต่อจากคดีหมายเลขดำที่ 3446/2553 และ 3447/2553 ของศาลธัญบุรีด้วยนั้น ศาลเห็นว่า คดีหมายเลขดำที่ 3446/2553 ของศาลธัญบุรี ศาลธัญบุรีได้พิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 54 และวันที่ 25 ก.ย. 55 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ดังนั้นจึงไม่มีโทษใดที่ต้องให้นับโทษต่อ ส่วน คดีหมายเลขดำที่ 3447/2553 ของศาลธัญบุรีนั้น ศาลธัญบุรีได้พิพากษาจำคุกจำเลย 10 เดือนเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 54 ซึ่งจำเลยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจนครบกำหนดโทษแล้ว และศาลได้ออกหมายปล่อยในคดีนี้แล้ว ดังนั้นศาลจึงให้ยกคำขอให้นับโทษของจำเลยต่อจากคดีเหล่านี้ ศาลจึงพิพากษาให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 10 ปี

นายสาคร ศิริชัย ทนายความจำเลยให้สัมภาษณ์ว่า ตนเองและจำเลยนอบรับคำพิพากษาของศาล และยืนยันที่จะอุทธรณ์ต่อไป เนื่องจากยังมีประเด็นที่น่าสงสัยอยู่อีกหลายประเด็น เช่น DNA ที่ถูกตรวจพบบนหมวกกันน็อกตรงกับของจำเลยนั้น แต่ในบรรดาวัตถุพยานที่ถูกตรวจพิสูจน์นั้นมีมากถึง 42 รายการ แต่มีเพียง 1 รายการเท่านั้นที่มี DNA ตรงกับของจำเลย นอกจากนี้ยังไม่ตรวจพบลายนิ้วมือของจำเลยอยู่ในวัตถุพยานใดๆ แม้แต่ชิ้นเดียว

นอกจากนี้ตำรวจที่อ้างว่า เห็นใบหน้าของคนขับรถมอเตอร์ไซด์อย่างชัดเจนนั้น ตนเองเห็นว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากช่วงเวลาระหว่างที่ตำรวจเรียกให้มอเตอร์ไซด์คันดังกล่าวหยุด และรถมอเตอร์ไซด์คันดังกล่าวขับหนีออกไปนั้นเป็นช่วงระยะเวลาเพียงสั้นๆ ไม่กี่วินาที ตำรวจที่ให้การไม่น่าจะจดจำใบหน้าของคบขับมอเตอร์ไซด์ได้ อีกทั้งระยะเวลาที่ตำรวจไปชี้ตัวจำเลยในเรือนจำก็เป็นช่วงระยะเวลาที่ทิ้งห่างจากวันที่เกิดเหตุกว่า 2 เดือน แต่ภาพของจำเลยนั้นปรากฏตามสื่อมวลชนเป็นจำนวนมากภายหลังจากที่จำเลยถูกจำกุม ตำรวจจึงน่าจดจำใบหน้าของคนขับรถมอเตอร์ไซด์สลับกับภาพของจำเลยตามสื่อมวลชนมากกว่า

ทั้งนี้ จากปากคำของจำเลย ระบุว่า เขาเกิดปี 2514 เป็นชาว อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จบการศึกษานักเรียนพลตำรวจ รับราชการตำรวจที่ สภ.คูคต (ปทุมธานี) เป็นเวลา 17 ปี

ปี 2548-2551 พธม. ชุมนุมกดดันรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตามสถานที่ต่างๆ เขาถูกเรียกตัวไปดูแลตามสถานที่ต่างๆ ที่มีการชุมนุมของ พธม.

เดือน ส.ค. 51 ผู้ชุมนุม พธม. บุกยึดทำเนียบรัฐบาล เขาถูกเรียกตัวไปดูแลทำเนียบรัฐบาล และบางครั้งก็ไปดูแลสนามบินสุวรรณภูมิด้วย ขณะนั้นตำรวจมีเพียงโล่และกระบองเท่านั้น พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้พกปืนแต่อย่างใด

7 ต.ค. 51 ช่วงเช้าเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุม พธม. กับตำรวจ เขาต้องหลบหนีออกมาอย่างจ้าละหวั่น ผู้ชุมนุมยึดโล่และกระบองจากตำรวจเป็นจำนวนมาก เขาระบุว่า ตำรวจคนหนึ่งถูกด้ามร่มแทงทะลุอกจนเป็นบาดแผลฉกรรจ์ และต้องถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง แต่ไม่ได้รับการดูแลรักษาเท่าที่ควรจึงถูกส่งตัวกลับมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ สร้างความรู้สึกน้อยใจให้กับเขาและตำรวจที่ดูแลพื้นที่ ช่วงสาย ตชด. เข้าสลายการชุมนุมของผู้ชุมนุม พธม. ด้วยแก๊สน้ำตา เขาต้องหลบออกจากพื้นที่ การสลายการชุมนุมยุติลงผู้ชุมนุม, ตำรวจ และ ตชด. ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

2 ธ.ค. 51 ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษายุบพรรคพลังประชาชน และพรรคที่เกี่ยวข้องส่งผลให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี วันรุ่งขึ้น (3 ธ.ค. 51) พธม. ประกาศยุติการชุมนุม ผู้ชุมนุมจึงสลายตัว เขาจึงยุติหน้าที่ดูแลทำเนียบรัฐบาล และกลับ สภ.คูคต

มี.ค.-เม.ย. 53 นปช. จัดการชุมนุมที่ ถ.ราชดำเนิน และสี่แยกราชประสงค์ เขาจึงถูกเรียกตัวให้ไปดูแลสถานที่ทั้ง 2 แห่ง  แต่ด้วยความชื่นชอบทำให้บ่อยครั้งเขายังคงอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมต่อในเวลานอกราชการ ต่อมารัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศ พรก.ฉุกเฉิน เขาจึงต้องออกจากพื้นที่ภายในไปอยู่พื้นที่รอบนอก และทหารถูกเรียกตัวเข้าไปพื้นที่ภายในแทน

28 เม.ย. 53 เขาถูกเรียกตัวให้ไปดูแล ถ.วิภาวดี

29 เม.ย. 53 ขณะที่เขากำลังขับรถกระบะจะไปเข้าเวรที่ สภ.คูคต ผ่าน ถ.ลำลูกกา รถของเขาติดสัญญาณไฟแดงที่สี่แยกใกล้คลอง 7 กลุ่มผู้ชายกว่า 10 คนเดินตรงมาล้อมรถและควบคุมตัวเขาไปยัง สภ.ลำลูกกา โดยระบุว่าเขาต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้าย สนับสนุนอาวุธให้ นปช.  

เขาถูกยึดโทรศัพท์มือถือ และถูกนำตัวเข้าห้องสอบสวนซึ่งมีทหารและตำรวจอยู่ในห้องหลายคน เขาถูกมัดมือไพล่หลังติดกับเก้าอี้ และมีเจ้าหน้าที่ 2 คนยืนซักถามเขา ตำรวจนำปืน M16 และเงินสดหลายแสนบาทมาให้เขาดู โดยอ้างว่า สิ่งเหล่านี้ถูกค้นพบในรถของเขา เขาให้การว่าเขาเคยเข้าร่วมชุมนุม แต่ไม่รู้จักแกนนำ การสอบสวนดำเนินไปอย่างเข้มข้นกว่า 1 ชั่วโมง เขาถูกสอบสวนกรณีการยิงระเบิด RPG ถล่มคลังน้ำมันของ ปตท. อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี (21 เม.ย. 53), การยิงระเบิด M79 หลายจุดในกรุงเทพ และความเกี่ยวข้องกับ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล เขาระบุด้วยว่าทุกครั้งที่เขาตอบคำถามไม่เป็นที่ พอใจ เขาจะถูกเจ้าหน้าที่ตบหรือเตะเขา แต่เขายังยืนยันที่จะปฏิเสธ ตำรวจจึงแจ้งข้อหาครอบครองอาวุธ และก่อการร้าย

เขาถูกนำไป สภ.คูคต ที่ทำงานของเขาเพื่อแถลงข่าว เมื่อถึง สภ.คูคต ตำรวจระบุเพิ่มเติมว่า พบระเบิด M79, ปืนอาก้า, M16 และอาวุธอีกหลายอย่างในรถยนต์สีแดงของเขาอีกคัน เขาและเพื่อนตำรวจยืนยันว่า รถคันนี้ถูกทิ้งไว้ที่นี่กว่า 2 ปี โดยไม่เคยมีใครเข้าไปแตะต้อง และปฏิเสธข้อกล่าวหา ตำรวจจึงแจ้งข้อหาครอบครองอาวุธเพิ่มเติม จากนั้นเขาถูกนำตัวมาแถลงข่าว สื่อมวลชนฝ่ายตรงข้ามพยายามกล่าวหาว่า เขาเป็น "เขี้ยวเล็บ" ของ นปช.

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จาก DSI มารับตัวเขาไปที่ DSI เพื่อสอบสวนเพิ่มเติม และแจ้งข้อหาเพิ่มเติมว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับระเบิด M79 จำนวน 62 ลูกที่คนร้ายทิ้งไว้ใกล้อนุสรณ์สถานแห่งชาติ (ถ.วิภาวดี) เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 53 เขาปฏิเสธเช่นเดียวกัน เขาถูกคุมตัวอยู่ในห้องขังของ DSI ส.ต.ต.บัณฑิต สิทธิทุม  (จำเลยอีกคนหนึ่งที่ถูกข้อหาก่อการร้ายและยิง RPG ใส่กระทรวงกลาโหม จำคุก 38 ปี) ถูกควบคุมตัวเข้ามาอยู่ในห้องขังเดียวกับเขา เขาถูกคุมขังที่ DSI เป็นเวลา 14 วัน ก่อนถูกส่งตัวไปเรือนจำธัญบุรี

หลายวันต่อมาเขาถูกส่งตัวมาที่ศาลธัญบุรี DSI ส่งฟ้องเขาในคดีครอบครองอาวุธ (รถเก๋งสีแดง) และวันรุ่งขึ้นเขาก็ถูกส่งฟ้องในคดีครอบครองอาวุธ และรับจ้างก่อการร้าย (รถกระบะ) แทนที่จะส่งฟ้องพร้อมกันในวันเดียว ส่งผลให้คดีที่ สภ.คูคต และ สภ.ลำลูกกา ต้องแยกออกเป็น 2 คดี  เดือน ก.พ. 54 เขาถูกส่งฟ้องศาลรัชดาในคดีครอบครองอาวุธ (อนุสรณ์สถานแห่งชาติ) ส่งผลให้คดีของเขาแบ่งออกเป็น 3 คดี 2 ศาล

เขาระบุด้วยว่าระหว่างที่เขาอยู่ในเรือนจำ เขาถูกเพื่อนนักโทษทำร้าย เพราะเข้าใจว่า เขาเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง จนต้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่เรือนจำ

14 ก.ค. 54 ศาลธัญบุรีพิพากษายกฟ้องในคดีครอบครองอาวุธ และรับจ้างก่อการร้าย (รถเก๋งแดง) ซึ่งต่อมาอัยการอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 55

22 ธ.ค. 54 ศาลธัญบุรีพิพากษายกฟ้องในข้อหาครอบครองอาวุธ แต่ลงโทษจำคุก 4 เดือนข้อหาปลอมแปลงทะเบียนรถกระบะ และลงโทษจำคุกอีก 6 เดือนข้อหาพกพาอาวุธในที่สาธารณะ รวม 10 เดือน

31 ม.ค. 56 ศาลอาญา (ถ.รัชดาภิเษก) พิพากษาลงโทษจำคุก 10 ปีจากข้อหาครอบครองอาวุธ M79 จำนวน 62 ลูก
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net