'ทีดีอาร์ไอ' เสนอแผนปฏิรูปการศึกษาครบวงจร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
ในงานเสวนาสาธารณะทีดีอาร์ไอเรื่อง “ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างความรับผิดชอบ (accountability)” เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556  ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำทีมแถลงผลการศึกษาโครงการวิจัยยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างความรับผิดชอบ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
 
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ หัวหน้าคณะนักวิจัย ชี้ว่า ปัญหาของระบบศึกษาไทยไม่ได้เกิดจากการขาดทรัพยากรอีกต่อไป แต่เป็นปัญหาการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ใช้ทรัพยากรมากแต่ผลสัมฤทธิ์ต่ำ ดังที่ข้อมูลชี้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า และไม่น้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย ขณะที่รายได้ต่อเดือนของครูที่มีวุฒิการศึกษาปริญญาตรีและสอนในโรงเรียนรัฐก็เพิ่มสูงขึ้นจากประมาณ 1.5 หมื่นบาทในปี 2544 เป็นประมาณ 2.4-2.5 หมื่นบาทในปี 2553 และครูมีรายได้ไม่น้อยกว่าอาชีพอื่นอีกต่อไป แต่ในทางตรงกันข้าม ผลคะแนนการทดสอบมาตรฐานของนักเรียนไทยทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติกลับมีแนวโน้มลดต่ำลง
 
งานศึกษาของทีดีอาร์ไอตอบโจทย์ระบบการศึกษาไทยว่า ใจกลางของปัญหาคือการขาดความรับผิดชอบ (accountability) ของระบบการศึกษาตลอดทุกขั้นตอน นอกจากนั้น ระบบการศึกษาของไทยยังมีความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาในระดับสูง และระบบการเรียนการสอนไม่เหมาะกับบริบทของศตวรรษที่ 21
 
ดังนั้น หัวใจสำคัญของการปฏิรูประบบการศึกษาจึงอยู่ที่ (1) การสร้างระบบความรับผิดชอบ (accountability) เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยให้โรงเรียนมีความรับผิดชอบโดยตรงต่อผู้ปกครองและนักเรียนมากขึ้น โรงเรียนควรมีอิสระในการบริหารจัดการ และพ่อแม่สามารถเป็นผู้เลือกโรงเรียนให้ลูกตามข้อมูลคุณภาพของโรงเรียนที่ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะ (2) การปรับหลักสูตร สื่อการสอนและการพัฒนาครู เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้อย่างเหมาะสมกับบริบทของศตวรรษที่ 21  และ (3) การลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษา โดยปรับการจัดสรรงบประมาณให้พื้นที่ที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มมากขึ้น และสร้างระบบให้ความช่วยเหลือโรงเรียน ครูและนักเรียนที่มีปัญหา
 
 
งานวิจัยชิ้นนี้ เสนอแนวทางการปฏิรูประบบการศึกษา 5 ด้าน ได้แก่
 
(1)   หลักสูตร สื่อการสอน และเทคโนโลยี        
 
คณะนักวิจัยเสนอว่าให้ตั้งทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) เป็นเป้าหมายหลัก และปรับเนื้อหา สมรรถนะ (ทักษะ) และคุณลักษณะที่พึงปรารถนาของนักเรียนให้สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว โดยปฏิรูปหลักสูตรให้มีลักษณะกระชับ ช่างคิด และบูรณาการ อันได้แก่ เน้นแนวคิดหลักและคำถามสำคัญในสาระการเรียนรู้ เรียนรู้ผ่านโครงงานและการทำงานเป็นทีม สนับสนุนการใช้ ICT ในการหาความรู้ด้วยตนเอง พัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการคิดขั้นสูง และสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่างๆ เข้าด้วยกันได้ นอกจากนั้น หลักสูตรควรมีความยืดหยุ่นโดยให้แต่ละโรงเรียนสามารถพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทของตนได้  
 
ทั้งนี้ ควรมีการลดจำนวนชั่วโมงการเรียนในห้องเรียน และเพิ่มการใช้วิธีการสอนที่หลากหลาย เหมาะกับการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เช่น การเรียนรู้ผ่านโครงการและการแก้ปัญหา รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยีนำเสนอเนื้อหาอย่างทันสมัย มีปฏิสัมพันธ์ มีส่วนร่วม และใช้สนับสนุนการเรียนรู้ในรูปการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (constructivism) และการเรียนรู้ผ่านเครือข่าย (connectivism)
 
(2)   การปฏิรูประบบการวัดและประเมินผลการเรียน
 
คณะนักวิจัยเสนอให้มีการปฏิรูปการทดสอบมาตรฐานในระดับประเทศ โดยปรับจากระบบ O-NET และอื่นๆ ในปัจจุบัน มาเป็นการทดสอบเพื่อวัดความรู้ความเข้าใจและทักษะ (literacy-based test) ซึ่งสามารถประยุกต์เนื้อหาเข้ากับโจทย์จริงในชีวิตประจำวันได้ และนำผลการทดสอบมาตรฐานระดับประเทศแบบใหม่ไปสร้างความรับผิดชอบในระบบการศึกษา เช่น การประเมินผลงานของครู การประเมินสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและเข้าช่วยเหลือสถานศึกษาที่มีปัญหา และการประเมินผลและให้รางวัลแก่ผู้บริหารสถานศึกษา นอกจากนั้น ให้มีการปฏิรูประบบการจัดเก็บ เปิดเผย และรายงานผลการสอบต่อสาธารณะ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการกำหนดนโยบายของรัฐและการเลือกสถานศึกษาของผู้ปกครอง
 
นอกจากนั้น ในระดับโรงเรียน คณะนักวิจัยเสนอให้มีวิธีการวัดและประเมินผลที่หลากหลายตั้งแต่ แฟ้มงาน โครงงาน การสอบวัดความรู้ การแก้ไขปัญหาชีวิตจริง ในทางที่ช่วยพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของนักเรียน โดยการประเมินผลการเรียนในระดับโรงเรียนควรเป็นการประเมินผลเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และวิเคราะห์ผู้เรียน (formative test) ซึ่งเป็นการประเมินผลระหว่างทางตลอดการเรียนรู้
 
(3)   การปฏิรูประบบพัฒนาคุณภาพครู
 
ในส่วนของการฝึกอบรมครู คณะนักวิจัยเสนอว่า รัฐต้องปรับบทบาทจากผู้จัดหามาเป็นผู้กำกับดูแลคุณภาพและการจัดการความรู้ โดยให้โรงเรียนเป็นหน่วยพัฒนาหลัก ได้รับการจัดสรรงบประมาณและมีอำนาจในการตัดสินใจเลือกหลักสูตรและผู้อบรมเอง และให้ความสำคัญกับการนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติจริง การพัฒนาครูใหม่ และการสนับสนุนให้เกิดระบบชุมชนเรียนรู้ทางวิชาการร่วมกัน (Professional Learning Community)
 
ในส่วนของระบบผลตอบแทนครู คณะนักวิจัยเสนอให้การเลื่อนขั้นเงินเดือนและวิทยฐานะของครูส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับพัฒนาการของผลการทดสอบมาตรฐานแบบใหม่ของนักเรียน (โดยคำนึงถึงระดับตั้งต้นของคะแนน) เพื่อให้ครูรับผิดชอบต่อการพัฒนาคุณภาพนักเรียนมากขึ้น นอกจากนั้น การประเมินครูควรใช้วิธีสังเกตการณ์ร่วมกับการพิจารณาเอกสาร กำหนดให้มีการประเมินคงสภาพวิทยฐานะทุก 5 ปี และปรับลดงานธุรการของครูลง ให้เน้นหน้าที่ในการสอนเป็นสำคัญ
 
(4)   การประเมินคุณภาพสถานศึกษา
 
คณะนักวิจัยชี้ว่า ระบบการประเมินคุณภาพสถานศึกษาควรใช้การประเมินคุณภาพภายในของโรงเรียนเป็นหน่วยหลักในการประเมินเพื่อพัฒนาคุณภาพ ส่วนระบบการประเมินคุณภาพสถานศึกษาภายนอกของส่วนกลางควรเป็นเพียงหน่วยเสริม โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ควรปรับบทบาทมาเป็นหน่วยสนับสนุนด้านความรู้ให้แก่โรงเรียน กำหนดกฎกติกาขั้นต่ำเท่าที่จำเป็นเพื่อกำกับคุณภาพของการประเมินคุณภาพภายในของโรงเรียน และมีบทบาทในการประเมินตามระดับปัญหา (risk-based inspection) เพื่อแยกโรงเรียนที่มีปัญหามาให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาคุณภาพโดยคัดแยกจากคะแนนการทดสอบมาตรฐานระดับประเทศแบบใหม่ของนักเรียน รวมถึงมีบทบาทในการประเมินเฉพาะเรื่อง (thematic inspection) โดยเลือกบางประเด็น เช่น การใช้เทคโนโลยีประกอบการเรียนการสอน หรือสุ่มประเมินในระดับพื้นที่หรือประเทศ
 
(5)   การปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษา
 
งานวิจัยพบว่า ปัญหาด้านการเงินในระบบการศึกษาในปัจจุบันคือ งบประมาณส่วนใหญ่จ่ายไปยังฝั่งอุปทาน (สถานศึกษา) มากกว่าด้านอุปสงค์ (งบอุดหนุนรายหัว) ซึ่งไม่เอื้อต่อการสร้างความรับผิดชอบ และโรงเรียนรัฐได้รับการอุดหนุนมากกว่าโรงเรียนเอกชนเท่าตัว อีกทั้งเงินอุดหนุนดังกล่าวก็ไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในเขตร่ำรวยและยากจนเท่าที่ควร
 
คณะนักวิจัยจึงเสนอว่าการปฏิรูปควรมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรับผิดชอบและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ โดยมีการกำหนดเป้าหมายคะแนนการทดสอบมาตรฐานขั้นต่ำของนักเรียนที่ต้องการ และจัดสรรเงินอุดหนุนจำนวนมากกว่าให้แก่โรงเรียนในเขตพื้นที่ด้อยโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพยากร จากนั้น นำข้อมูลผลสอบมาตรฐานของนักเรียนที่เกิดขึ้นจริงเทียบกับคะแนนเป้าหมายที่กำหนดไว้เพื่อประเมินผลการทำงานและให้รางวัลแก่ผู้บริหาร นอกจากนี้ ในระยะยาวควรปรับเปลี่ยนงบประมาณด้านการศึกษาไปสู่ระบบการเงินด้านอุปสงค์มากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการสร้างความรับผิดชอบทางการศึกษา.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท