Skip to main content
sharethis

การควบตำแหน่ง รมต. กลาโหมของยิ่งลักษณ์ อาจเป็นเพียงภาพเล็กๆ ของความพยายามต่อรองกับอำนาจทหารที่ เป็นปัจจัยอันดับ 1 ในปัจจัยวิเคราะห์เสถียรภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ว่าได้ พร้อมกับงบประมาณกองทัพที่เพิ่มขึ้นทุกปีตามมาด้วย 

หลังเหตุการณ์ พฤษภา 35 กองทัพถูกเรียกกลับเข้ากรมกอง บทบาทในทางการเมืองเริ่มลดน้อยลง รวมทั้งงบประมาณกองทัพที่ลดน้อยตามไปด้วย กองทัพจึงแทบจะไม่อยู่ในปัจจัยการวิเคราะห์เสถียรภาพของรัฐบาล หรือถึงอยู่แต่ก็อาจเป็นปัจจัยต้นๆ แต่หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย.49 กองทัพถูกจัดมาเป็นปัจจัยอันดับ 1 ในปัจจัยวิเคราะห์เสถียรภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ว่าได้ พร้อมกับงบประมาณกองทัพที่เพิ่มขึ้นทุกปีตามมาด้วย

 

ทหารอาชีพ?

ก่อนรัฐประหาร 19 ก.ย.49 มีการพูดถึงความเป็นทหารอาชีพของทหาร ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือ อย่างที่นักวิชาการรัฐศาสตร์ชาวอเมริกาคนสำคัญอย่าง ฮันติงตั้น (Samuel Phillips Huntington) เขียนไว้ใน The Soldier and the State: The Theory and Politics pf Civil-Military Relations. Cambridge: Harvard University Press. ปี 1957 ซึ่งอ้างถึงในบทความ “ว่าด้วยการแทรกแซงการเมืองของ "ชายบนหลังม้า" ที่เขียนโดย  พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เมื่อปลายปี 49 โดยฮันติงตั้น มองว่า "ความเป็นทหารอาชีพ จะไม่ทำให้ทหารยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะทหารในสังคมสมัยใหม่นั้นเป็นนักเทคนิคในการบริหารจัดการความรุนแรงของรัฐ ซึ่งต่างจากทหารเมื่อสองร้อยปีที่แลวที่เป็นนักรบรับจ้าง หรือทหารของพระราชา.."

ในขณะที่พิชญ์ เองกลับมองว่า "วิธีคิดของฮันติงตั้นวางอยู่บนความเชื่อที่ว่า "ความเป็นทหารอาชีพ" นั้นมีอยู่แบบเดียวคือต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือเป็นกลางทางการเมืองทั้งที่บ่อยครั้งความเป็นทหารอาชีพต่างหากที่ผลักดันให้ทหารยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะเขาจะเชื่อว่าเขาเป็นข้าฯรับใช้ประเทศชาติและองค์อธิปัตย์มากกว่ารัฐบาลที่ปกครองประเทศอยู่"

และความคิดของกองทัพที่สะท้อนออกมาผ่านโอวาทเนื่องในงานพิธีประกาศให้ปี 2555 เป็นปีแห่งการพัฒนาบุคลากรของกองทัพบก ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 23 เม.ย.55 ที่ว่า "ให้ทหารทุกนาย เป็นทหารมืออาชีพ พร้อมที่จะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะในเรื่องของภาษา พร้อมทั้งมีความจงรักภักดี เป็นทหารของพระมหากษัตริย์ และเป็นที่พึ่งของประชาชน.." นั้นแสดงให้เห็นว่าผู้นำกองทัพอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มองความเป็นทหารอาชีพหรือทหารมืออาชีพแบบเดียวกับฮันติงตั้น แต่มองแบบที่พิชญ์วิเคราะว่าทหารเชื่อว่าเขาเป็นข้าฯรับใช้ประเทศชาติและองค์อธิปัตย์หรือในที่นี้ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า “ทหารของพระมหากษัตริย์” มากกว่ารัฐบาลที่ปกครองประเทศอยู่

 

กองทัพในฐานะกลุ่มทุน

ประเด็นการเป็นกลุ่มทุนหรือเครือข่ายธุรกิจของกองทัพนั้น กานดา นาคน้อย ได้เขียนวิเคราะห์ไว้ในบทความ “เศรษฐศาสตร์สามัญสำนึก 55 ปีทุนกองทัพไทย” ถึง 2 ตอน เพื่อแสดงให้เห็นว่ากองทัพไม่ใช่เพียงบทบาทในเชิงปราบปรามของรัฐเท่านั้น แต่ยังมีฐานะเป็นกลุ่มทุน ซึ่งกานดา มองว่า กลุ่มทุนของกองทัพไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของทุนนิยมแบบไทยๆ บทบาทของธนาคารทหารไทยในฐานะธุรกิจที่สำคัญที่สุดของกองทัพ และการผูกขาดธุรกิจธนาคารพาณิชย์โดยกองทัพและครอบครัวไม่กี่ครอบครัว รวมถึงมีธุรกิจของกองทัพที่สำคัญรองลงมา กล่าวคือ ธุรกิจฟรีทีวีและธุรกิจวิทยุกระจายเสียง

และกานดายังมองถึงความสัมพันธ์ในฐานะกลุ่มทุนของกองทัพกับการรัฐประหารด้วยว่า การขยายทุนการขยายกิจการของกองทัพเข้าสู่ธุรกิจเหล่านี้ทำให้เกิดการสะสมทุน (Capital accumulation) ภายในกองทัพมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 กองทัพมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหมือนกลุ่มทุนอื่นๆในไทย ทำให้การป้องกันประเทศกลายเป็นกิจกรรมรองของกองทัพ กิจกรรมหลักของกองทัพคือการทำธุรกิจและทารัฐประหารเพื่อผลประโยชน์จากธุรกิจ ความเป็นกลุ่มทุนของกองทัพไทยคือปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ทำให้ไทยมีรัฐประหารบ่อยจนติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก และทำให้ศักยภาพของอุตสาหกรรมอาวุธไทยต่ำมาก ไทยไม่มีวันกลายเป็นทุนนิยมสากลตราบใดที่ธุรกิจของกองทัพไม่โดนแปรรูปให้เป็นเอกชน การแปรรูปธุรกิจของกองทัพสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้วยซ้ำ

นอกจากการที่กองทัพไทยไม่ได้มีอำนาจในฐานะกลไกของรัฐในเชิงปราบปรามแล้ว ยังมีอำนาจจากการเป็นกลุ่มทุน รวมทั้งแนวคิดที่ต่อต้านการแทรกแซงถวงดุลจากฝ่ายอื่นๆ โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองและรัฐบาล จากกระแสการต่อต้านบทบาทของรัฐบาลที่จะเข้ามาจัดการตำแหน่งต่างๆของกองทัพ เหล่านี้จึงทำให้กองทัพมีสถานะคล้ายรัฐอิสระขึ้นมา จึงสรุปได้ทัพยังคงมีความสามารถในการล้มหรือทำรัฐประหารอยู่ ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่มากหรือน้อยเท่านั้น อย่างที่ สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาหน่วยงานความมั่นคง และคอลัมนิสต์ที่เขียนเรื่องราวในแวดวงนี้มายาวนาน มองว่า “ผมพูดมาตั้งแต่หลังปี 2535 ว่าไม่เชื่อว่ารัฐประหารจะหมดไปจากการเมืองไทย เป็นแต่เพียงการทำจะทำได้ยากขึ้น  มันมีโอกาสที่จะเกิดรัฐประหารในอนาคตถ้าเราไม่จัดการอะไรเลย หรือใช้ภาษาทฤษฏีนิดหนึ่งคือ เราไม่จัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพ ให้มีกรอบที่ชัดเจนและมีบริบทความสัมพันธ์ที่แน่นอน นั่นหมายความว่าถ้าเราไม่จัดเราก็ปล่อยทุกอย่างเป็นเรื่องส่วนตัวมากเกิน ตัวแบบคือ นายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ เพราะเชื่อว่าด้วยความสัมพันธ์ที่ตัวเองมีกับผู้นำทหาร รัฐประหารก็จะไม่เกิด แต่สุดท้ายก็เกิด”

 

ความชันของงบกองทัพกับความราบรื่นของรัฐบาล

งานศึกษาของ แอนดรูว์ วอล์คเกอร์ นักวิชาการสาขามานุษยวิทยาประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งเผยแพร่ในมติชนออนไลน์ วันที่ 04 ก.ย. 53 ยืนยันว่าตัวเลขงบประมาณกองทัพเทียบกับผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (ดู กราฟ 1)

กราฟ 1 งบประมาณกองทัพต่อ GDP

จากกราฟที่แอนดรูว์ วอล์คเกอร์ ทำแสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์พฤษภา 35 งบประมาณทางด้านการทหารของไทยได้มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากที่เคยมากกว่า 2.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ก็ค่อยๆ ลดต่ำลงจนเหลือจำนวนน้อยกว่า 1.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปี 49 แต่หลังจากรัฐประหาร 19 ก.ย. เป็นต้นมา งบประมาณทางด้านการทหารของไทยกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกครั้งหนึ่ง โดยจากสถิติของธนาคารโลก งบประมาณของกองทัพไทยได้แตะถึงหลัก 1.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปี 51 และมีแนวโน้มพุ่งสูงถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี จากการประมาณการตัวเลขโดยอ้างอิงพ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 53

และความต่อเนื่องของการเพิ่มงบประมาณกองทัพนั้นก็ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยงบประมาณรายจ่ายประจำปี 57 ที่มีจำนวน 2.525 ล้านล้านบาท ได้ถูกเจียดไปให้กระทรวงกลาโหม ถึง 184,737.48 ล้านบาท ในขณะที่ปี 56 อยู่ที่ 180,491.53 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 4,245.94 ล้านบาท

ดังนั้นจากความต่อเนื่องของการขึ้นงบประมาณเลี้ยงดูปูเสื่อกองทัพนี้จึงอาจไม่ถือเป็นปัจจัยคุกคามต่อเสถียรของรัฐบาลนี้

 

กระแสรัฐประหารในอียิปต์ – คลิปถั่งเช่า

หลังจากรัฐประหารในอิยิปต์ล้มรัฐบาลประธานาธิบดีมอร์ซีเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สร้ากระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อกระบวนการดังกล่าวทั้งในระดับสากล ที่มีทั้งสนับสนุนและต่อต้าน รวมทั้งในไทยด้วยเช่นกันที่มีทั้งสนับสนุนแต่ต่อต้าน และแน่นอนที่ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือหยิบยกมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองภายในประเทศด้วย

แม้กระทั้งผู้นำฝ่ายค้านอย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ก็พูดถึงเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า อยากให้นายกฯ ย้อนกลับไปดูปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศตุรกี บราซิล และล่าสุดเกิดการปฏิวัติในอียิปต์  รวมถึงประเทศในอาเซียนด้วยกันที่มีการประท้วงรุนแรงมากขึ้น ทั้งที่เป็นประเทศที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลถูกเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบ  ไม่ใส่ใจกับการรักษาผลประโยชน์ผู้เสียภาษีอากร เกิดการทุจริต คอร์รัปชั่น ปิดกั้นเสรีภาพ ดังนั้นถ้านายกฯ ไปดูงานเรื่องนี้ ก็อยากให้กลับมาแก้ไขเงื่อนไขเหล่านี้ เพราะปัญหาของประเทศเราก็รู้ว่า กรุ่น ๆ อยู่ มีหลายกลุ่มที่รู้สึกไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ตรงกับทุกประเทศที่ตนหยิบยกมาคือ ทุจริต ปิดกั้นเสรีภาพ ใช้อำนาจในทางมิชอบ ดังนั้นถ้ารัฐบาลเดินหน้าทำตามนโยบายที่สัญญาเอาไว้ เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบ ไม่ทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย ไม่ท้าทายอำนาจตุลาการ ปัญหาความตึงเครียดก็จะไม่เกิด อีกทั้งยังลดความเสี่ยงต่อปัญหาการยึดอำนาจรัฐประหาร

เช่นเดียวกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองที่หยิบยกเหตุการณ์นี้มาสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มตนเองในการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พร้อมกับปูทางสร้างความชิบธรรมให้กับทหารออกมาเคลื่อนไหว แต่เหมือนว่ากระแสดังกล่าวลดลงจากเหตุการณ์ที่อิยิปต์เองที่หลังจากทหารทำรัฐประหารมีประชาชนที่สนับสนุนประธานาธิบดีมอร์ซีออกมาต่อต้าน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รวมไปทั้งคลิป “ถั่งเช่า” คลิปเสียงที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นเสียงของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร กับพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม ที่เนื่อหาการสนทนามีบางช่วงบางตอนแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันราบรื่นระหว่างรัฐบาลกับผู้นำกองทัพ ทำให้ผู้ที่เชียร์ทหารให้ออกมาล้มรัฐบาลค่อนข้างผิดหวังกับที่พึ่งของพวกเขาคือทหารด้วยเช่นกัน 

คลิกดูภาพใหญ่ที่นี่

 

การนั่งตำแหน่ง รมว.กลาโหมของยิ่งลักษณ์

หลังการปรับคณะรัฐมนตรี ตำแหน่งที่น่าสนจคือการนั่งรัฐมนตรีกลาโหมของนายกยิ่งลักษณ์ คู่ไปกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีรัฐมนตรีกลาโหมเป็นผู้หญิง แม้แต่วันแรกที่เข้ากระทรวง 11 ก.ค.ก็ถูก กลุ่มแนวร่วมคนไทยหัวใจรักชาติ นำโดยนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี และ พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ พร้อมด้วยแนวร่วม เดินทางมาชุมนุมที่หน้ากระทรวงกลาโหมเพื่อประท้วงการดำรงตำแหน่งดังกล่าวของนายก และหลังจากนั้น 20 ก.ค.ที่ผ่านมากลุ่มหน้าเดิมที่หลายคนร่วมชุมนุมคัดค้านการเข้ากระทรวงกลาโหมวันแรกของนายก โดยใช้ชื่อใหม่อย่าง “กองทัพประชาชน โค่นระบอบทักษิณ” ก็แถลงเปิดตัว พร้อมมีข้อเรียกร้องหนึ่งที่ต้องการให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ลาออกจากรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม โดยทันที พร้อมขู่ด้วยว่าจะมีการนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 4 ส.ค.นี้

อย่างไรก็ตามประเด็นการนั่งเก้าอี้ควบรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของนายกนั้น สุรชาติ บำรุงสุข ได้ให้สัมภาษณ์กับประชาไท ไว้ว่า เหมือนการตอกย้ำภาพเดิม รัฐบาลพลเรือนคงมีความประสงค์ที่อยากเห็นการจัดความสัมพันธ์ ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพเป็นไปได้ด้วยดี โดยอาศัยตัวนายกฯ รัฐมนตรีเข้ามานั่งเป็นประธานสภากลาโหมและดูแลกองทัพเอง พร้อมกับกล่าวด้วยว่าสิ่งที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ต้องทำในฐานะรัฐมนตรีกลาโหมคือ การสร้างการบริหารจัดการที่ดี กับการสร้างประชาธิปไตยสำหรับกระทรวงกลาโหมในอนาคต

 

โผทหาร

มีแนวคิดในทางเศรษฐศาสตร์การเมืองที่อธิบายการได้ประโยชน์จากการดำรงตำแหน่งต่างๆทั้งทางการเมืองและสังคมว่า ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (ECONOMIC  RENTS) ที่เป็นผลตอบแทนที่บุคคลได้รับมากเกินกว่าที่ควรจะได้หากดำเนินกิจกรรมตามปกติอย่างมีการแข่งขัน ดังนั้นผลประโยชน์ของกองทัพไม่เพียงในฐานะกลุ่มทุนอย่างที่กว่าในข้างต้นเท่านั้น หากแต่มีผลประโยชน์โดยตรงจากการดำรงตำแหน่งด้วย ด้วยเหตุนี้การจัดโผทหารจึงมีนัยะของการรักษาผลประโยชน์เหล่านั้น รวมไปถึงสร้างความได้เปรียบในการแสวงหาผลประโยชน์ต่อไปด้วย ด้วยเหตุนี้ฝ่ายต่างๆ ก็ต้องการมีสวนร่วมในการจัดสรรผลประโยชน์ตรงนี้ หากแต่ที่ผ่านมาอยู่ในมือของกองทัพกลุ่มต่างๆ เป็นสำคัญ แต่เมื่อนายกที่เป็นพลเรือนเข้ามาเป็น รมว.กลาโหมด้วย ประเด็นเหล่านี้จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดภายใต้วาทะกรรมที่ฝ่ายอนุรักษ์สร้างมาว่าเป็นการ “แทรกแซงข้าราชการ แทรกแซงกองทัพ” หรือ ล้วงลูก ซึ่งนายกฯ ก็ออกมาปัดตั้งแต่วันแรกที่เข้ากระทรวงว่าจะไม่มี ทั้งที่ความเป็นจริงฝ่ายการเมืองผู้เสนอนโยบายควรที่จะสามารถจัดการหรือกำหนดกับฝ่ายที่นำนโยบายไปปฏิบัติได้

ซึ่งสุรชาติ มองว่า ทฤษฎีที่ว่าการมาคราวนี้จะทำให้สัดส่วนของเสียงโหวต ในการลงเสียงใน พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม การตั้งนายทหารในกระทรวงกลาโหมเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าอาจจะไม่ค่อยเป็นจริงมากนัก เพียงแต่ก็น่าสนใจว่าการมาครั้งนี้โดยตัวของนายกรัฐมนตรีตัดสินใจเข้ามารับเอง มีความคาดหวังอะไร ดังนั้นโจทย์เรื่องโผทหารนั้นเป็นโจทย์เล็ก แต่บนบริบทที่มีความสัมพันธ์กันแบบหวาดระแวง เมื่อฝ่ายการเมืองหรือพลเรือนมานั่งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมก็มีความระแวง มาเพื่อทำโผ มาเพื่อรื้อโผ มาเพื่อจัดโผ

เมื่อนายกก็ยืนยันว่าจะไม่มีการลวงลูก ซึ่งตรงกับสิ่งที่ สุรชาติมองว่าเรื่อง “โผทหาร” ไม่ใช่จุดศูนย์กลางอย่างที่หลายคนเห็น เพราะนั่นเป็นโจทย์ระยะสั้นเกินไป และติดกับดักนำไปสู่การแตะเป็นหัก ดังนั้นการเมืองช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างไทย สุรชาติจึงไม่เชื่อว่ารัฐบาลพลเรือนสามารถจัดการเรื่องนั้นได้จริง  ผู้นำพลเรือนจึงควรหันไปทำเรื่องอื่นๆ ที่ใหญ่กว่าและไม่เป็นปมขัดแย้งรุนแรงกับกองทัพ แต่ขณะเดียวกันเรื่องเหล่านั้นก็สามารถจะปรับกระบวนทัศน์ ของกองทัพ ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสร้างประชาธิปไตยได้

 

สร้างประชาธิปไตยภายในเวทีในกองทัพภูมิต้านทานรัฐประหาร

ทั้งนี้กองทัพเองก็ไม่ได้มีกลุ่มเดียว เท่ากับว่ามีกลุ่มในกองทัพกลุ่มอื่นที่อาจจะอยู่เฉยๆ หรือออกมาขัดขวางหากทหารกลุ่มหนึ่งทำการรัฐประหารได้ การออกมารัฐประหารกองทัพไม่สามารถทำโดยลำพังโดยไม่มีความชอบธรรมหรือฝ่ายประชาชนบางส่วนสนับสนุนได้ และสถานการณ์ปัจจุบันต่างจากปี 49 ตรงที่ขณะนั้นไม่มีกลุ่มมวลชนจัดตั้งที่พร้อมจะต่อต้านหรืออกมาเคลื่อนไหวทันทีอย่างเสื้อแดงหากมีการทำรัฐประหาร และเมื่อมีมวลชนกลุ่มหนึ่งออกมาต้าน ย่อมมีความเป็นไปได้ที่จะมีทหารกลุ่มอื่นที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่ได้ประโยชน์จากการรัฐประหารออกมาสนับสนุนประชาชนเหล่านั้น ด้วยเหตุที่การรัฐประหารเป็นดีลหนึ่งทางธรุกิจในการจัดสรรทรัพยากร เมื่อประเมินแล้วต้นทุนสูงขึ้น ผลประโยชน์น้อยลง จากบทเรียนรัฐประหาร 49 โอกาสที่จะเกิดรัฐประหารจึงยากยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น

สิ่งสำคัญคือโจทย์ใหญ่ อย่างที่สุรชาติ กล่าวว่า “มันมีโอกาสที่จะเกิดรัฐประหารในอนาคตถ้าเราไม่จัดการอะไรเลย หรือใช้ภาษาทฤษฏีนิดหนึ่งคือ เราไม่จัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพ ให้มีกรอบที่ชัดเจนและมีบริบทความสัมพันธ์ที่แน่นอน นั่นหมายความว่าถ้าเราไม่จัดเราก็ปล่อยทุกอย่างเป็นเรื่องส่วนตัวมากเกิน ตัวแบบคือ นายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ เพราะเชื่อว่าด้วยความสัมพันธ์ที่ตัวเองมีกับผู้นำทหาร รัฐประหารก็จะไม่เกิด แต่สุดท้ายก็เกิด”

“เพราะฉะนั้นถ้าคิดย่างนี้การเมืองภาคพลเรือนสร้างประชาธิปไตยในเวทีนอกกองทัพ รัฐมนตรีกลาโหมในระยะเปลี่ยนผ่านภาระที่ที่ใหญ่ที่สุดคือการสร้างประชาธิปไตยภายในเวทีในกองทัพ ผมตอบด้วยคำตอบที่เห็นในละตินอเมริกา ถ้าบอกว่าทำไม่ได้ เราตอบจากของจริงด้วยบทบาทกองทัพในบราซิล กองทัพในอาเจนตินา กองทัพในเปรู เคยมีบทบาทสูงกว่ากองทัพไทยเยอะในทางการเมือง แล้วเกิดอะไรขึ้น ประเทศเหล่านั้นเป็นประชาธิปไตย หรือพูดในทางทฤษฎีคือเดินเลยระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไปแล้ว” สุรชาติ กล่าว

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :

- 9 สะดุดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตอน 1: พ.ร.บ. ปรองดอง + นิรโทษกรรม

http://prachatai.com/journal/2013/07/47808

- แอนดรูว์ วอล์คเกอร์, มติชนออนไลน์, นักวิชาการออสเตรเลียทดลองทำกราฟงบประมาณรายจ่ายของกองทัพไทย ชี้หลังปี 49 ตัวเลขพุ่งพรวด, วันที่ 04 กันยายน พ.ศ. 2553 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1283519233

- ข่าวสดออนไลน์, "ยิ่งลักษณ์" เทงบฯแสนล้าน ซื้อใจทหาร ต้านข่าวปฏิวัติ, วันที่ 02 มิถุนายน พ.ศ. 2556 เวลา 15:31 น. http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNM01ERTJNVGsxTUE9PQ==

- ผบ.ทบ.ย้ำกำลังพลต้องเป็นทหารมืออาชีพ ข่าวการเมือง วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ.2555 12:14น. http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=373961

- มติชนออนไลน์, "สุรชาติ บำรุงสุข" ชง10 โจทย์ใหญ่ ภารกิจ "นายกฯหญิง" ควบ "กลาโหม" ยุค เชื่อมต่อ “รบ.-กองทัพ” สัมภาษณ์พิเศษ โดย พนัสชัย คงศิริขันต์ / ปิยะ สารสุวรรณ 8 ก.ค.56 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1373191710

- กานดา นาคน้อย, เศรษฐศาสตร์สามัญสำนึก 55 ปีทุนกองทัพไทย, ตอนที่ 1 http://prachatai.com/journal/2012/03/39802 และ ตอนที่ 2 http://prachatai.com/journal/2012/04/40226

- ประชาไท, คุยกับสุรชาติ บำรุงสุข : 10 โจทย์ใหญ่กว่า ‘โผทหาร’ สำหรับรมว.กลาโหมใหม่, มุทิตา เชื้อชั่ง สัมภาษณ์ http://prachatai.com/journal/2013/07/47604

- ประชาไท,  ความเคลื่อนไหว กระทรวงกลาโหม-สนามหลวง http://prachatai.com/journal/2013/07/47672

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net