Skip to main content
sharethis

เว็บไซต์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่ "รายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553" จำนวน 92 หน้า แล้ว ที่ http://www.nhrc.or.th/2012/wb/img_contentpage_attachment/692_file_name_9897.pdf
 


 

ท้ายรายงานฉบับดังกล่าว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สรุปบทเรียนต่อกลุ่มต่างๆ ดังนี้
ผู้ชุมนุม
1. ผู้จัดการชุมนุมต้องสร้างเจตจำนงร่วมกันในการชุมนุมโดยสงบและสันติ ตลอดจนดูแลให้มีอุดมการณ์ที่ถูกต้องในการรักษาระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

2. ผู้จัดการชุมนุมและผู้ร่วมชุมนุมต้องมีหน้าที่ร่วมกัน ทำให้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ยึดแนวทางสันติวิธีและเจรจาไกล่เกลี่ย ไม่ปลุกระดม อีกทั้งการชุมนุมนั้นต้องปราศจากอาวุธหรือสิ่งเทียมอาวุธทุกชนิดในพื้นที่การชุมนุม รวมถึงไม่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์หรือยั่วยุให้เกิดความรุนแรงทุกประเภท

3. ผู้จัดการชุมนุมและผู้ร่วมชุมนุมต้องชุมนุมในลักษณะที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั่วไป หรือให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น และต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมด้วย

ภาครัฐ
1. รัฐต้องดูแลการชุมนุมให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย เพื่อป้องกันมิให้กระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงกรอบแห่งกฎหมาย มาตรฐานสากล รวมถึงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ

2. ควรหลีกเลี่ยงการประกาศใช้กฎหมายพิเศษเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม เพราะไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลสถานการณ์การชุมนุมได้อย่างมีประสทิธิภาพ รัฐจึงจำเป็นต้องมีมาตรการกฎหมายที่เหมาะสมหรือกลไกเฉพาะเพื่อดูแลและรักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม

3. การดูแลสถานการณ์การชุมนุมโดยรัฐ ต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบเป็นการเฉพาะ ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวต้องมีแผนปฏิบัติการและขั้นตอนที่ชัดเจน มีเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะในการทำงานด้านมวลชน รวมถึงเครื่องมือที่เหมาะสม

อ่านความเห็นและข้อเสนอในรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ที่นี่


อนึ่ง ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 8 ก.ค.2554 หน้า 3 ได้เปิดเผย “ผลการตรวจสอบ กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.-19 พ.ค.2553” ของคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมหลักฐานกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งต่อมา น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ และประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ยอมรับว่า ฉบับร่างดังกล่าวเป็นของ กสม.จริง แต่เป็นเพียงร่างรายงานของ “คณะทำงาน” ซึ่งได้สำรวจ เก็บข้อมูล เบื้องต้นและยังต้องผ่านการพิจารณาของอนุกรรมการเฉพาะกิจอีก 3 ชุด และกรรมการสิทธิชุดใหญ่อีกจึงจะเป็นรายงานที่พร้อมเผยแพร่  นอกจากนี้ กสม. ยังชี้แจงกับพะเยาว์ อัคฮาค มารดาของพยาบาลอาสา กมนเกด อัคฮาด ซึ่งหนึ่งในหกผู้เสียชีวิตที่วัดปทุมฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 ด้วยว่าร่างรายงานที่หลุดออกไปยังมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และรับปากว่าจะแถลงความคืบหน้าทุกเดือน โดยจะแจ้งข่าวให้ผู้เสียหายทราบและร่วมเข้าฟังด้วย

 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net